PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

MOU

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดย ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันฯ กับ หน่วยปฏิบัติการฟิสิกส์อนุภาคอลิซแห่งองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น โดย ดร. เปาโล จิวเบลลิโน ผู้อำนวยการจากอลิซ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ณ วังสระปทุม กรุงเทพมหานคร
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นประธานการลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กับหน่วยปฏิบัติการฟิสิกส์อนุภาคอลิซ แห่งองค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น สมาพันธรัฐสวิส ณ วังสระปทุม ในครั้งนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอลิซ ได้ริเริ่มความร่วมมือทางวิชาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยสถาบันฯ ได้ร่วมดำเนินโครงการยกระดับระบบติดตามภายใน (Inner Tracking System หรือ ITS) ของ อลิซ โดยได้เข้าร่วมกลุ่มการพัฒนา ตรวจสอบคุณสมบัติของเซนเซอร์ประเภทซิลิกอนสำหรับ ITS ระบบใหม่ และสร้างสถานีทดลองที่สามารถผลิตลำอิเล็กตรอนที่มีพลังงาน 1 GeV
นอกจากนี้ สถาบันฯ ได้ประสบความสำเร็จในการตรวจสอบคุณสมบัติของชิพต้นแบบเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้เข้าเป็นสถาบันฯ ในความร่วมมือของอลิซ โอกาสที่อลิซมอบให้ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ไทยผ่านกระบวนการวิจัยขั้นสูงทางฟิสิกส์อนุภาคและเครื่องเร่งอนุภาค อีกทั้งถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานทั้งสองในการยืนยันเจตนาอันคงมั่น ที่จะคงความร่วมมือที่ดีต่อกัน และสรรสร้างความร่วมมือทางวิชาการใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกัน และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อความก้าวหน้าแห่งวงการวิทยาศาสตร์ไทย
ในการนี้ ดร. เปาโล จิวเบลลิโน ได้กราบบังคมทูลว่า งานการทดลองของอลิซ (ALICE experiment) หน่วยงานภายใต้เซิร์น เป็นเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยสถาบันวิจัยต่างๆ 169 แห่ง จาก 42 ประเทศ อลิซมีความภาคภูมิใจในการต้อนรับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนสู่ชุมชนวิจัยของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการร่วมงานกันอย่างต่อเนื่องและบรรลุผล สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเป็นผู้ร่วมงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมเพื่อตรวจสอบอนุภาค คือ ระบบติดตามภายใน (Inner Tracking System-ITS) ระบบใหม่ ของอลิซ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่สำคัญของเทคโนโลยีด้านตัวตรวจวัดอนุภาค ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์กับสาขาอื่นๆ ได้ อาทิ ด้านยารักษาโรค เป็นต้น และจากความสำเร็จที่ผ่านมา จึงมีการดำเนินความร่วมมือในแบบสมาชิกอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการบริหารความร่วมมือแห่งอลิซ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ความร่วมมือของอลิซกับสถาบันในประเทศไทยนั้น เป็นความสำเร็จที่โดดเด่น จนสามารถกล่าวได้ในฐานะเป็นโมเดล แก่ประเทศอื่นๆ และจากความร่วมมือที่เกิดขึ้น นับเป็นโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และยังเป็นเครื่องมือสู่การวิจัยที่ก้าวหน้าด้านฟิสิกส์อนุภาค อันจะนำไปสู่ประโยชน์ที่เกิดผลต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ระดับสากลต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: