PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

"อนาคตใหม่ที่ใกล้อัสดง"

ก็ว่าแล้ว.....
    ลองพี่เลี้ยง "ออกอาการ" ซะขนาดนั้น
    เท่ากับกลิ่นแพ้โชยมาก่อนเปิดหีบ! 
    แล้วผลเป็นไงล่ะ......?
    ปิดหีบปุ๊บ "เพื่อไทย" ของสมพงษ์และสุดารัตน์ก็แหกโค้งปั๊บ "สมศักดิ์ คุณเงิน" เบอร์ ๒ พรรค "พลังประชารัฐ"
    "เข้าป้าย" ขึ้นแท่นเป็น ส.ส.เขต ๗ ขอนแก่น 
    เรียบร้อยโรงเรียนลุงไปแล้ว!
    "เพื่อไทย" แพ้เลือกตั้งให้ "พลังประชารัฐ" ในอีสาน
    นั่นบ่งบอกถึงอะไร?
    ถ้าถาม "แปลกใจ" มั้ย?
    สำหรับผม "ไม่แปลก" เหมือนกับ "ไม่แปลก" ที่เห็น "ธนาธร" ปลุกเร้า "ลงถนน" จนเกรงว่าความเครียดจะลงหำ
    ก็คงจนตรอกเต็มที และคิดว่า.......
    ดิ้นก็ตาย ไม่ดิ้นก็ตาย ฉะนั้น ดิ้นดีกว่า เผื่อฟลุก!?
    แต่ดูแล้วปฏิบัติการจงใจ "หยามกฎหมาย" ครั้่งแล้ว-ครั้งเล่าของทอนกับคณะ 
    บวกอหังการท้าหมิ่นทั้ง ๑๐ ทิศ ด้วยวางตำแหน่งตัวเองเป็น "พ่อทุกสถาบัน"
    "ฟลุกยาก" นะทอน!
    ที่ตำรวจเรียกไปรับทราบข้อหาคดี "แฟลชม็อบ" ๒๗ ธันวา.นั่นสิวๆ
    แต่ที่เป็นสิวหัวช้าง จน "อนาคตใหม่" ต้องโพสต์เฟซฯ ป่าวร้องไปยังบรรดาอสุราฤทธิ์เป็นการด่วนเมื่อวาน (๒๒ ธ.ค.๖๒) นั่นแสดงว่า "เริ่มหวั่นไหว" จนอาการออก
    จะลอกจากเพจอนาคตใหม่มาให้อ่าน ดังนี้
    “มาแรงแซงทางโค้งอีกคดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้เปิดไต่สวน-เตรียมนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี “อิลลูมินาติ” ยุบพรรค อนค.     โดยคดีนี้ สืบเนื่องเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ ณฐพร โตประยูร ได้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตัดสิทธิ์และยุบพรรคอนาคตใหม่
    เนื่องจากเป็นปฏิปักษ์-ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่า “คดีอิลลูมินาติ”     
    โดยล่าสุด 19 ธันวาคม 2562 ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องของพรรค อนค. ผู้ถูกร้อง ที่ขอให้เปิดไต่สวนพยาน
    และหลังจากนี้ จะเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือศาลรัฐธรรมนูญจะนัดวันอ่านคำวินิจฉัยคดีดังกล่าว ร่วมจับตาการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป 
    บางท่านคงงง...........
    ว่ามันเป็นคดีอะไร หนักหนาถึงขั้นอนาคตใหม่ต้องตีเกราะเคาะไม้ระดมพลขนาดนี้เชียวหรือ?
    ตอบแทนก็ได้ว่า คดีนี้ ค่อนข้าง "หนัก" และ "หนา" เอาการ!
    ลำดับความกันหน่อย......
    คือเมื่อเดือนกรกฎา. ๖๒ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 
    ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรมนูญ ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ 
    ว่าการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิยบุตร แสงกนกกุล และกรรมการบริหารพรรค 
    เข้าข่ายใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่?
    ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว มีมติ "เสียงข้างมาก" ๕ ต่อ ๔ ให้รับคำร้องไว้พิจารณา 
    พร้อมแจ้งให้อนาคตใหม่ ธนาธร, ปิยบุตร และ กก.บห.พรรค ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ วัน 
    ๒๒ พ.ย.๖๒ อนาคตใหม่ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙
    รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙ บอกว่า...........
    "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
    ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
    ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
    การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง"
    ข้อเท็จจริง คือ คดีนี้ ก่อนถึงศาลรัฐธรรมนูญ 
    นายณฐพรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญไปร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคสองก่อนแล้ว 
    แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน ๑๕ วัน 
    นายณฐพรจึงไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ตามมาตรา ๔๙ วรรคสาม 
    คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีทั้งสิ้น ๓ ข้อ 
    ๑.ผู้ถูกร้องที่ ๑ (พรรคอนาคตใหม่) กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๑๔ (๑)
    ๒.ผู้ถูกร้องทั้ง ๔ กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙  ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๙๒ (๑) (๒) และ 
    ๓.ยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิผู้ถูกร้องที่ ๒-๔ (ธนาธร-ปิยบุตร-กก.บห.) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๙๒ (๑) และ (๒)
    และเมื่อ ๑๙ ธ.ค. คือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานี่เอง ศาลมีหนังสือตอบพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร, ปิยบุตร และ กก.บห.พรรค ว่า
    ตามที่เขาทั้ง ๔ ได้ยื่นคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีของผู้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว
    และผู้ถูกร้องทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนพยานและคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยาน ฉบับลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นั้น
    ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน
    ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง 
    จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอทั้งสองฉบับดังกล่าว
    ครับ.....
    จึงตกใจไข่หดกันไปทั้งพรรค เพราะศาลบอกว่า
    "คดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการไต่สวน"
    หมายความว่า........
     พรรคอนาคตใหม่ นับ ๕..๔..๓..๒..๑ แอคชั่น ไว้ได้เลย!
    มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีว่า......
    "หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัยโดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้"
    นั่นหมายความว่า ถ้าศาลพิจารณาวินิจฉัยแล้ว สมมุติว่าผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ และตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา ๑๔ (๑)
    ก็จะเจอ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา ๙๒ (๑) (๒) พรรคอนาคตใหม่ ธนาธร-ปิยบุตร-กก.บห.พรรค รวมทั้งช่อ
    "ปิดฉาก" ไปเลย!
    พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา ๙๒ (๑) (๒) บอกว่า....
    เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
    (๑) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
    หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
    (๒) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
..............................
    เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง 
    และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
    เอาละ...........
    รู้เป็นแนวทางไว้พอหอมปาก-หอมคอ ส่วนหวยจะออกอย่างไร ก็ตามดูไปเรื่อยๆ ละกัน
    ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจ ที่เห็น ทั้งทอน ทั้่งอองตวน ทั้งช่อ เป็นปลาดุกดิ้นอยู่ขณะนี้
    ก่อนลงหม้อ........
    ขอยักเงี่ยงซักที-สองที ก็เท่านี้แหละ!

“ธณิกานต์”เผย“พีระพันธุ์” มอบวิสัยทัศน์การทำงาน ชู รธน.ต้องเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์

วันที่ 24 ธ.ค. 62  น.ส. ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐและในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการลงมติคัดเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆในการขับเคลื่อนการทำงานของคณะฯ และ การวางกรอบประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาศึกษาพิจารณาเป็นหลัก 

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า เป็นนิมิตรหมายใหม่ของการประชุมที่ให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้จะทำหน้าที่ประธานฯ ตามที่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 6 วรรค 2 ได้กำหนดไว้ว่า “ให้ผู้ถูกเสนอชื่อตามวรรคหนึ่ง กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนด โดยไม่มีการอภิปราย” ซึ่งผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ มี 2 ท่าน คือ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายโภคิน พลกุล ผลการลงคะแนน นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งได้มอบวิสัยทัศน์กรอบการทำงานของ กมธ. ชุดนี้ให้ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง


มารู้จักกับ MYbank ธนาคารออนไลน์ของ “แจ็ค หม่า” 4 ปี ปล่อยสินเชื่อเกือบ 9 ล้านล้านบาทแล้ว

มารู้จักกับ MYbank ธนาคารออนไลน์ของ “แจ็ค หม่า” 4 ปี ปล่อยสินเชื่อเกือบ 9 ล้านล้านบาทแล้ว

Brand Inside พาไปทำความรู้จักกับ MYbank ธนาคารออนไลน์ของ Jack Ma ที่มีอายุ 4 ปี ปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า 9 ล้านล้านบาท แถมหนี้เสียต่ำกว่า 1%
แจ็ค หม่า Jack Ma
ภาพจาก Shutterstock
ปกติแล้วเราจะรู้จัก Jack Ma ว่าเป็นเจ้าพ่อในธุรกิจ E-commerce แต่เขายังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลายๆ อย่างเช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ฯลฯ แต่วันนี้ Brand Inside จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในธุรกิจด้านการเงิน นอกเหนือจาก Alipay ที่มีชื่อว่า MYbank ที่พึ่งมีอายุของธุรกิจเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น แต่ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 9 ล้านล้านบาท

SME จีนขอกู้ธนาคารยาก

ปัญหาของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในประเทศจีนคือความลำบากในการไปขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในประเทศจีน และโอกาสที่จะโดนตีตกเรื่องของเงินกู้สูงมาก โดย 60% ของเศรษฐกิจแต่ MYbank นั้นสามารถมาเติมเต็มสิ่งนี้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศจีน รวมไปถึงเกษตรกรจีนที่ต้องการขอกู้เช่นกัน
ปัจจุบันอย่างที่เราได้เห็นๆ กันว่าประเทศจีนได้ปฏิวัติและพัฒนาเรื่องของระบบจ่ายเงินไปมาก เช่น ระบบ QR Code ฯลฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปได้ไกลจากเรื่องของการพัฒนาเรื่องระบบจ่ายเงินต่างๆ
โดย MYbank จะใช้การประมวลผลแบบเรียลไทม์จากระบบคลาวด์ของ Alibaba ในการคำนวณหาเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ย จากปัจจัยถึง 3,000 เรื่อง เช่น Transaction ในการรับจ่ายเงินจากร้านค้า พฤติกรรมต่างๆ และระบบ Social Credit ฯลฯ โดยผู้กู้เพียงแค่ติดตั้ง Application ของ MYbank และยื่นขอเงินกู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาอนุมัติสินเชื่อแค่ 3 นาทีเท่านั้น! เมื่ออนุมัติเสร็จแล้วก็จะมีเงินโอนมาที่ Alipay ทันที
MYbank Alibaba Jack Ma
ภาพจาก MYbank

ขอกู้เงินได้ง่ายกว่า

สำหรับโอกาสในการกู้เงินกับ MYbank นั้นถือว่ามากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินปกติทั่วๆ ไปในประเทศจีน ซึ่งโดยปกติแล้วกิจการขนาดขนาดเล็กมีโอกาสโดนธนาคารปฎิเสธสินเชื่อสูงถึง 80% นอกจากนี้ต้นทุนสำหรับในการปล่อยกู้ลูกค้าในแต่ละรายนั้น MYbank อยู่แค่เพียง 3 หยวนต่อราย เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่ 2,000 หยวน ทำให้ธนาคารมักจะไม่ปล่อยให้สินเชื่อผ่านง่ายๆ เพราะต้นทุนที่สูงกว่า
วงเงินเฉลี่ยที่ลูกค้าของ MYbank กู้อยู่ที่ประมาณ 11,000 หยวน ต่ำกว่าเพดานของธนาคารกลางจีน หรือ PBoC กำหนดไว้ที่ 10 ล้านหยวน โดยลูกค้าไม่ต้องใช้สินทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของ MYbank ยังอยู่ที่ประมาณ​ 5.35% เท่านั้น

แข็งแกร่งใช่ย่อย

ความแข็งแกร่งของ MYbank ถือว่าแข็งแกร่งไม่น้อย เมื่อตัว MYbank ล่าสุดในปี 2018 มีเงินกองทุนสูงถึง 12.1% โดยทางหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศจีนต้องการเงินกองทุนขั้นต่ำสำหรับสถาบันการเงินประเภทนี้อยู่ที่ประมาณ 10.5%
นอกจากนี้ MYbank ยังมีต้นทุนในการปล่อยกู้ต่ำมากๆ อย่างที่ได้กล่าวไป ทำให้ในปีที่ผ่านมา MYbank มีรายได้ของบริษัทอยู่ที่ 6,280 ล้านหยวน หรือประมาณ 28,070 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 670 ล้านหยวน หรือเกือบๆ 3 พันล้านบาท
สำหรับผู้ถือหุ้นของ MYbank ประกอบไปด้วย Ant Financial เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดที่ 30% รองลงมาเป็นกลุ่ม Fosun ถือหุ้นสัดส่วน 25% และรวมไปถึงผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์อย่าง Wanxiang Group ถือหุ้น 18%
MYbank Alibaba Jack Ma
ภาพจาก MYbank

คู่แข่งเริ่มมากขึ้น

เมื่อความนิยมใน MYbank เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธนาคารใหญ่ๆ ในประเทศจีนนั้นลงมาเล่นในตลาดนี้มากขึ้นเช่นกัน โดย Construction Bank นั้นพึ่งที่จะเปิดตัว Application เหมือนกับ MYbank โดยสามารถอนุมัติวงเงินได้สูงสุดถึง 5 ล้านหยวน หรือประมาณ 22 ล้านบาท ขณะที่บริษัทประกันภัยรายใหญ่ของจีนอย่าง Ping An ก็ลงมาเล่นในบริการนี้ด้วย
ไม่ใช่แค่ธนาคารในประเทศจีนที่ต้องโดดลงมาเล่นกับบริการนี้เท่านั้นแต่คู่รักคู่แค้นอย่าง Tencent ก็มีบริการเหมือนกับ MYbank เช่นกัน แถมยังก่อตั้งก่อน MYbank ด้วย โดยชื่อว่า WEbank ขณะที่บริษัทอื่นๆ เช่น Baidu ก็เริ่มสนใจมาทำธุรกิจประเภทนี้ในปี 2017 เช่นกัน

เตรียมระดมทุนเพิ่ม

สำนักข่าว Reuters ได้รายงานว่า MYbank เตรียมที่จะระดมทุนด้วยมูลค่ากว่า 871 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท เพื่อที่จะขยายธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME ในประเทศจีนต่อไป โดยปัจจุบันนั้น MYbank มีลูกค้าเกือบๆ 16 ล้านรายในประเทศจีน

มองให้กว้าง: 3 สาเหตุเพื่อไทยแพ้พลังประชารัฐ

มองให้กว้าง: 3 สาเหตุเพื่อไทยแพ้พลังประชารัฐ  

23 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดขอนแก่น ได้ประกาศผลการเลือกตั้งซ่อม สส. ขอนแก่นเขต 7 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 อย่างเป็นทางการว่า สมศักดิ์ คุณเงิน ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะ ธนิก มาสีพิทักษ์ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วยคะแนน 40,252 คะแนน ต่อ เพื่อไทย 38,010 คะแนน ท่ามกลางผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 61.38 เปอร์เซ็นต์
ด้วยผลลัพธ์เช่นนี้เอง เกิดคำถามตามมาไม่น้อยต่อพื้นที่หัวใจของพรรคเพื่อไทยว่า สาเหตุของความพ่ายแพ้มาจากอะไร ทั้งที่พื้นที่เดียวกันนี้เคยยืนหยัดปฏิเสธอำนาจจากคณะรัฐประหารมาได้หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิเสธไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คสช. เมื่อปี 2559 หรือกระทั่งการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภาพสะท้อนจากการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดนี้เป็นสัญญาณบอกทิศทางของการเมืองอีสานได้อย่างไรบ้าง
ผืนดินอีสานนับว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีนักการเมืองในฐานะตัวบุคคลผูกขาดชัดเจนมาอย่างน้อยที่สุดคือหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 การแข่งขันในยุคพรรคการเมืองหลายพรรคระหว่างปี 2535-2540 ล้วนสับเปลี่ยนแข่งขันไปมาจนภาคอีสานกลายเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลนับตั้งแต่ ชาติไทย ความหวังใหม่ ไทยรักไทย พลังประชาชน มาจนถึงเพื่อไทย พร้อมๆ กับสั่งสอนผู้แทนที่ ‘แปรพรรค’ มาหลายต่อหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในปี 2550 และปี 2554
กระนั้นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่หนองเรือ-มัญจาคีรี ก็อาจจะแง้มให้เห็นรางๆ แล้วว่าภูมิทัศน์การเลือกตั้งในยุครวมศูนย์อำนาจหลังรัฐประหาร 2557 และอิทธิพลของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เริ่มเคลื่อนไปจากภาพเดิมที่คุ้นชินตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผล 3 ประการถัดจากนี้

1. ไม่ใช่ส่งเสาไฟฟ้าลงจะได้เป็นผู้แทนฯ

“แม้ว่าความนิยมที่มีต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในหมู่ผู้เลือกตั้งของภาคอีสานจะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่เราจะต้องระมัดระวังที่จะไม่พูดเกินไปเกี่ยวกับอิทธิพลของพรรคที่มีต่อผู้เลือกตั้ง มีหลายกรณีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทยซึ่งชนะเลือกตั้งในปี 2544 แต่แพ้ในปี 2548 อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านี้เสียที่นั่งของตัวเอง อันเนื่องมาจากพวกเขาไม่มีผลงาน”1
คำเตือนมาจากอดีตอันใกล้ของ สมชัย ภัทรธนานันท์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอีสานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยในการชนะการเลือกตั้งของผู้แทนจากพรรคไทยรักไทย แม้กระทั่งในช่วงที่พีคที่สุดคือ 2546-2548 นั้นมิได้มีปัจจัยใดโดดเด่นชี้ขาด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของพรรคหรือความนิยมส่วนบุคคล เพราะหากนักการเมืองของพรรค ‘ไม่มีผลงาน’ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการ อาทิ ความสามารถส่วนบุคคล นโยบายพรรคการเมือง เครือข่ายทางการเมือง อำนาจทางการเมือง เป็นต้น ก็ล้วนต้องเผชิญความยากลำบากบนสังเวียนเลือกตั้ง กรณีนี้ต้องตระหนักว่าเกิดขึ้นใต้กติกาการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งสะท้อนเสียงของประชาชนได้ชัดเจนกว่ากติกาในรัฐธรรมนูญ 2560
มาถึงในส่วนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system-MMA) กำหนดให้เหลือบัตรเลือกตั้งมีเพียงใบเดียว อันเป็นการเลือก สส. ในระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน และยังมีการคำนวณแบบใหม่เข้ามาใช้ ด้วยการนำผลรวมของคะแนนการเลือกตั้งในระดับเขตของแต่ละพรรคการเมืองมารวมเป็นผลรวมของทั้งประเทศ เพื่อหาสัดส่วนที่นั่งทั้งหมดที่แต่ละพรรคควรได้ ส่งผลให้พรรคการเมืองใหญ่อ่อนแอหรือพูดให้ชัดกว่านั้นตาม อัลเลน ฮิคเคน (Allen Hicken) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิเคราะห์ไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อลดทอนอำนาจของพรรคเพื่อไทย”2
ลักษณะที่สำคัญของการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 จึงเป็นการทำลายการเมืองแบบอุดมการณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้คือการเมืองสีเสื้อ (เหลือง-แดง) คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร 2519 เมื่อพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายถูกยุบ พร้อมๆ กับการแบ่งปันอำนาจบางส่วนจากรัฐบาลเผด็จการมาสู่นักการเมืองท้องถิ่น เจ้าพ่อภูธร และนายทุนท้องถิ่น3 การแข่งขันเช่นนี้เองจึงทำให้การเลือกตั้งเสียงของประชาชนไม่ถูกสะท้อนออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่ปัจจัยหลายตัวที่เคยเป็นสิ่งสำคัญในการเป็นผู้แทนฯ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายพรรคหรือความสามารถของผู้สมัคร ก็ไม่ได้โดดเด่นชัดเจนฉีกจากกัน สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือกลไกของรัฐและตำแหน่งแห่งที่ของผู้สมัครที่เอื้อต่อการได้มาซึ่งผลประโยชน์ในพื้นที่

2. นักการเมืองภูธรในอุปถัมภ์ของทุนผูกขาด

ในแง่นี้ ความเปลี่ยนแปลงของการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่ง ‘ธนกิจการเมือง’ (money politics) ที่ไม่ได้มีความหมายตื้นๆ เพียงแค่การซื้อเสียง หากแต่รวมถึงการตอบแทนผลประโยชน์ทั่วไประหว่าง ผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้ออกเสียง ก็กลับมาอีกครั้ง ลักษณะเช่นนี้เคยมีบทบาทสำคัญและหายไปหลังการมาถึงของนโยบายพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงคะแนนของประชาชนแทน ผลการเลือกตั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ยืนยันให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างชัดเจน
ก่อนหน้านั้นนโยบายของพรรคการเมือง ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนาจของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการต่อรองของมุ้ง-นักการเมือง-เจ้าพ่อ-ข้าราชการ-กองทัพ และขาดซึ่งเอกภาพที่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง
ระบบการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2540 (รวมถึง 2550) เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การเลือกตั้งเปลี่ยนมาสู่การคิดค้นนโยบายใหม่ๆ นำเสนอให้กับประชาชนตัดสินใจ ข้าราชการ และมาเฟียท้องถิ่นถูกลดความสำคัญลงไป ผลประโยชน์เฉพาะหน้าไม่ใช่ปัจจัยหลักในการได้มาซึ่งผู้แทนฯ อีกต่อไป เห็นได้จากการเลือกตั้งอย่างน้อย 3 ครั้งหลังสุด พรรคการเมืองที่ใช้งบประมาณหาเสียงสูงสุดกว่าพรรคอันดับสองเกือบเท่าตัว ไม่สามารถคว้าชัยชนะเลือกตั้งได้เลย
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พาการเมืองไทยกลับไปสู่สภาวะที่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเข้ามามีบทบาทนำในการได้มาซึ่งผู้แทนฯ อีกครั้ง
‘ผลงาน’ ที่จับต้องได้จึงสัมพันธ์กับการได้เป็นผู้แทนฯ ฝ่ายรัฐบาลอย่างแนบแน่น เพราะพรรคการเมืองที่อย่างน้อยคนอีสานเลือกไม่สามารถสร้างสรรค์นโยบายออกมาตอบสนองต่อประชาชนได้ พรรคที่ชื่นชอบถูกสกัดด้วยกลไกต่างๆ ประชาชนจะต้องจำใจเลือกนักการเมืองไปตามผลประโยชน์เฉพาะหน้า ด้วยเหตุที่ว่าอำนาจที่แท้จริงยังไม่ได้อยู่ที่ผู้แทนฯ ที่เขาเลือก การเลือกตั้งไม่มีความหมาย แต่กลับไปสู่ยุคข้าราชการ-กองทัพ-เอ็นจีโออำมาตย์ ต่อรองกันเองเงียบๆ โดยไร้การตรวจสอบ
ขณะเดียวกันทุนผูกขาดขนาดใหญ่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะชื่นชอบ รธน. ฉบับนี้ อันเนื่องมาจากแนวโน้มใน 2 มิติต่อไปนี้ ในด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญนี้สร้างระบอบการเมืองที่ทุนใหญ่กับขุนนางสามารถต่อรองได้ง่ายขึ้น (เพราะคนแบ่งเค้กมีจำนวนน้อย) และสองระบบเศรษฐกิจจะเอื้อต่อสัมปทานผูกขาดได้มากกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีที่เคยมีมาตลอด 20 ปี

3. กลไกการเลือกตั้งที่เอื้อให้เสียงประชาชนถูกบิดเบือน

หลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารเป็นฝ่ายทำงานในพื้นที่ฝ่ายเดียวมาตลอด 5-6 ปี มีการรวมศูนย์อำนาจและสืบทอดอำนาจออกมาเป็นพรรคพลังประชารัฐ เล่นในเกมส์รัฐธรรมนูญที่กำหนดองค์กรทางการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการแพ้-ชนะการเมืองอย่างมหาศาล
ในแง่นี้แล้วผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงเสนอว่ากรณีของพรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะคล้ายกับพรรคสามัคคีธรรม (พรรคสามัคคีธรรม-พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหาร รสช. ในปี 2535) เราอาจจะถือว่ามีส่วนที่ถูกครึ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือพลังอำนาจของทุนผูกขาดซึ่งได้ดึง สส. จากพรรคเพื่อไทยไปจำนวนมาก ยังไม่รวมถึงอดีตสมาชิกขบวนการคนเสื้อแดงซึ่งเคยเป็นแนวหน้าในการต่อต้านอำนาจนอกระบบอีกด้วย
นอกจากนั้นพรรคพลังประชารัฐยังได้พยายามดึงอดีตผู้แทนฯ ในพื้นที่ที่มีฐานเสียงแน่นหนาให้เข้ามาอยู่ชายคา ซึ่งล้วนเป็น สส. ที่เคยได้รับการเลือกตั้งหรือบางคนเคยเป็นระดับรัฐมนตรี ซึ่งการมาของพวกเขายังทำให้ระบบหัวคะแนนที่ยังคงแน่นหนาได้รวมกับกลไกของรัฐบาลในพื้นที่ โดยกลไกรัฐบาลได้ถูกรวมศูนย์ไปพร้อมๆ กับการยุติการเลือกตั้งท้องถิ่นตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้เป็นลักษณะของเครือข่ายหนึ่งของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ที่สามารถโน้มน้าวคะแนนเสียงได้
ภายใต้กติกาเช่นนี้แล้ว ‘การเปลี่ยนค่าย’ ของผู้แทนเดิมจึงต่างออกไปจาก การเลือกตั้ง 2550 และ 2554 เพราะขณะที่การเลือกตั้งปี 2550 เป็นการรัฐประหารเพียง 1 ปี ก็กลับมามีการเลือกตั้ง ขณะที่ระบอบเผด็จการทหารยังไม่ได้ทำงานพื้นที่ยาวนานเพียงพอ หรือเข้าไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ อีกทั้งคณะรัฐประหารก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเล่นการเมืองเอง
ขณะที่การเลือกตั้ง 2554 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ถูกทำลายรุนแรงเช่นหลังรัฐประหาร 2557 ซึ่งคณะรัฐประหารมีการใช้คดี ‘นิติยุทธ์’ (lawfare) เข้ามาเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักหน่วง การทุบด้วยระยะเวลานานและแรงก็เพียงพอให้เกิดพรรคการเมืองที่ยืนหยัดยาวนานอ่อนแรงลงในปัจจุบัน ภาพที่ว่าใครย้ายออกจากพรรคทักษิณสอบตกหมด จึงอาจจะเป็นภาพที่ไม่เข้มขลังเช่นเดิม ส่วนผลการเลือกตั้งถือว่าเป็นชัยชนะถาวรของฝ่ายสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารแล้วหรือไม่นั้น คำถามนี้ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ

เชิงอรรถ

  1. Somchai, Phatharathananunth. ‘The Thai Rak Thai party and elections in north-eastern Thailand.’ Journal of Contemporary Asia 38.1 (2008), pp. 106-123.
  2. Line Today, ‘นักวิชาการสหรัฐฯ เชื่อ รบ.อยู่ไม่ครบเทอม ชี้ รธน.ออกแบบมาลดอำนาจเพื่อไทย’
  3. Prajak Kongkirati, ‘Bosses, Bullets, and Ballots: Electoral Violence and Democracy in Thailand 1975–2011.’ PhD diss., Australian National University, 2013, pp. 103-108