PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

′ซูจี′เดินทางเยือนจีนเป็นทางการครั้งแรกตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ผู้นำฝ่ายค้านพม่า วัย 69 ปี เดินทางเยือนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติที่เคยแน่นแฟ้นกลับเย็นชา โดยจีนเป็นพันธมิตรสำคัญที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าในช่วงที่ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ขณะที่นางซูจีถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านเป็นเวลาหลายปี 
 
นายนิโคลัส ฟาร์เรลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียระบุว่า นางซูจีจะไม่ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ในอดีตที่จีนเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่ามาบดบังผลประโยชน์ในทางปฏิบัติ เนื่องจากรู้ว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญต่อพม่าในอนาคต และถึงตอนนี้ซูจีเป็นนักการเมืองที่มีหน้าที่ในการต้องชนะเลือกตั้ง 
 
นางซูจีเดินทางเยือนจีนครั้งนี้พร้อมกับตัวแทนพรรคเอ็นแอลดีกลุ่มหนึ่งจากคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยพรรคเอ็นแอลดีเปิดเผยว่า นางซูจีมีกำหนดจะพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่่ เค่อเฉียงของจีนด้วย

ปชป. ฟันธงประชามติแค่โยนหินถามทางการปฏิรูป เพื่อปูทางให้สืบทอดอำนาจอยู่ต่อ

รองโฆษก ปชป. ฟันธงประชามติแค่โยนหินถามทางการปฏิรูป เพื่อปูทางให้สืบทอดอำนาจอยู่ต่อ ยันแค่เป็นหมากที่ให้ สปช.กลับเข้ามาทำงาน ...
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 58 นายประมวล เอมเปีย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีผลการประชุม คสช.และ ครม.ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 46 ให้ขยายเวลาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จาก 60 วัน เป็น 90 วัน ว่า เป็นไปตามที่คาดหมายที่ขยายยืดเวลาออกไป ก็ไม่ว่ากัน แต่การที่กำหนดให้สามารถเพิ่มประเด็นคำถามในการทำประชามติว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ฟันธงได้ว่า ต้องเป็นคำถามโยนหินที่มีการสร้างกระแสสังคมในเวลานี้ว่า อยากให้มีการปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งหรือไม่ เป็นไปตามขบวนการจัดตั้ง ที่จะปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจตามที่สังคมกำลังวิจารณ์หรือไม่
นายประมวล กล่าวต่อว่า แต่ที่น่าอนาจใจคือ การกำหนดเปิดช่องทางให้ สปช.สิ้นสุดลงทันทีเมื่อ พิจารณาว่ารับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับให้สมาชิก สปช.สามารถกลับเข้ามาเป็นสมาชิกในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้อีก ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาดังกล่าว 200 คน ก็ฟันธงได้เช่นกันว่า จะมีแต่คนหน้าเดิมประเภทอวย ผู้มีอำนาจมานั่งในสภาขับเคลื่อนฯ ก็เปลี่ยนแค่หมวก เปลี่ยนชื่อมานั่งต่อ โดยอ้างว่าต้องทำงานเพื่อปฏิรูปให้เสร็จสิ้น แต่ถามว่า 1 ปีที่ผ่านไปกับการกินเงินหลวงเดือนละกว่าแสนบาท ปีละล้านกว่า ทำหน้าที่แค่พูดน้ำไหลไฟดับ แต่ผลงานไม่มีจะชี้แจงสังคมได้อย่างไร แต่ละคนเคยเดินตลาดไปไถ่ถามทุกข์สุข แก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านบ้างหรือไม่ ถ้าชาวบ้านอยู่ดีมีสุข นายกฯจะอยู่กี่ปีก็อยู่ไปเลย ไม่มีใครว่า.

“มาร์ค” เชื่อ ถ้าทำประชามติถาม"บิ๊กตู่"อยู่2ปี ผ่านแบบลูกผีลูกคน ประเทศวุ่นแน่


http://www.matichon.co.th/online/2015/06/14339278571433927895l.jpg

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน  ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมการพัฒนาข้าราชการในตำแหน่งวิทยากรให้เป็นนักวิชากรนิติบัญญัติ ในหัวข้อ “บทบาทของฝ่ายบริหาร มุมมองของฝ่ายนิติบัญญัติ” 

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบรรยายตอนหนึ่งว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชามติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมาก เพราะจะมีกลุ่มการเมืองเข้ามา ทั้งที่กระบวนการประชาธิปไตยของเราเดินมาระดับหนึ่งแล้ว ขออย่ามองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายไปหมดตนแพ้เลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ยังไม่เคยพูดว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่เมื่อได้เสียงมาแล้วเอาไปทำอะไร ตอนนี้สถิติการร่างรัฐธรรมนูญของเราแย่ลง เพราะเราใช้เวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญมาก ห้องสมุดจะรกและเต็มไปด้วยรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ยาวขึ้นเรื่อยๆ และหลายเรื่องไม่ควรเขียน แต่ก็เขียน


นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าการพูดเรื่องการต่ออายุรัฐบาลให้บริหารประเทศต่อไปอีก 2ปีนั้น รัฐบาลได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่ออยู่แล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสปช. เพื่อขอความเห็นชอบว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเริ่มกระบวนการทำประชามติประมาณปลายปี ออกกฎหมายลูก และเตรียมการเลือกตั้ง โดยใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ แต่ไม่ได้หมายความจะผ่านความเห็นชอบสปช.และผ่านประชามติ เพราะโอกาสที่ไม่ผ่านก็มี และหากไม่ผ่านก็คงไม่มีใครว่าอะไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ก็มีคนคัดค้านมาก และถ้าไม่ผ่านก็เริ่มต้นกระบวนการใหม่ ซึ่งก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ หากต้องประชามติจริง จะเกิดความวุ่นวายอย่างมาก เพราะการไปทำประชามติโดยถามประชาชนว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่ออีก 2 ปี หรือ ไม่ควรอยู่  นั่นคือ การหมายความว่า จะเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้นายกฯอยู่และไปปราศรัยทั่วประเทศใช่หรือไม่ แต่ถ้าบอกว่าไม่ให้ ครั้งนี้ต่างชาติจะออกมาแน่ เพราะเขาจะบอกว่านอกจากปฏิวัติแล้วยังมาประชามติปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจอีก


“ถ้าให้ผมประเมินอาจจะผ่านแต่ผ่านด้วยคะแนนแบบ 55-45 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบางภาคไม่เอาด้วยจะปกครองอย่างไร เพราะต่างจังหวัดอาจจะไม่บอกว่านายกฯ เป็นคนไม่ดี แต่ประชาชนจะถามว่านายกฯ รับได้หรือไม่ถ้าอยู่ต่ออีก 2 ปี ราคาข้าว 6,000 บาท ผมว่านายกฯ คิดหนัก เพราะตอนนี้ต่างจังหวัดเศรษฐกิจจะตายหมดแล้ว
ผมไม่เข้าใจคนเสนอว่าคิดอย่างไร คนเราจะตายเพราะคนที่รัก ไม่ใช่คนที่เกลียด ถ้าทำประชามติจริงดีไม่ดีรัฐบาลไม่ได้อยู่ต่อ 2 ปี แต่ถ้าอยู่แบบธรรมชาติ และมีคำตอบว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ มีวิธีจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำใหม่ดีขึ้น กระชับขึ้น ประชาชนรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำประชามติแล้วบอกอยู่ 2 ปี ไม่รู้ตกลงจะได้อยู่กี่ปีกันแน่ ถ้าบอกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่พอ ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ต้องอยู่อีกปีแล้วถึงจะพอ เพราะประเทศจะต้องยุ่ง วุ่นวายมาก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เกิดเหตุระเบิดเพลิงไหม้คลังน้ำมันยูเครนมหาศาลมาก

Cr:ทหารปฏิรูปประเทศไทย
วันที่ 10 มิ.ย.58 ตูม..เกิดเหตุระเบิดเพลิงไหม้คลังน้ำมันยูเครนมหาศาลมาก
ได้เกิดเหตุไฟไหม้ ที่คลังเก็บน้ำมันของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในหมู่บ้านซึ่งห่างจากเมืองหลวงกรุงเคียฟ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 40 กม. ของยูเครน ข้ามวันข้ามคืนก็ดับไม่ได้ ไฟได้ลุกลามไปยังแท็งค์เก็บน้ำมันขนาดใหญ่ถึง 16-17 แท็งค์
แต่ละแท็งค์บรรจุน้ำมันถึง 900 คิวบิคเมตร มีผู้เสียชีวิต 1-3 ราย ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าดับเพลิง มีอีก 6 รายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากไฟไหม้ พี่หมีขาวรัสเซียได้เสนอตัวเพื่อช่วยดับไฟ 
ัแต่ทางรัฐบาลยูเครนปฏิเสธ

รัฐบาลยูเครนยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นเป็นการก่อการร้าย และได้เรียกกองกำลัง National Guards หลายร้อยนายรวมตัวกันไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุ แต่น่าแปลกที่กลับมีเหตุระเบิดคลังน้ำมันอีกจุดที่อยู่ห่างออกไป โดยไม่รู้สาเหตุว่าทำไม
เหตุการณ์นี้มันแปลกและผิดปกติมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างหนักของยูเครน และคล้ายเป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อทำลายหลักฐานอะไรสักอย่าง
@ เสธ น้ำเงิน2
สั่งซื้อหนังสือแฉ ความลับ คลิ๊กไปที่ https://t.co/KxhM77h8oO


ใบตองแห้ง:อยู่ต่อ’ ไม่เห็นยาก ทายท้าวิชามาร

2015-06-10 07:31:00



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอให้สื่อหยุดถามเรื่องอยู่ต่อ 2 ปี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยืนยันว่าจะไม่มีการต่ออายุรัฐบาล ทุกอย่างเดินไปตามโรดแม็พ เลิกพูดกันได้แล้ว
อ้าว...แล้วใครพูดก่อน ถ้าไม่ใช่แม่น้ำ 5 สาย สนช. สปช. ส.พล. แล้วพอมีคนจุดกระแส ใครล่ะเผลอ “เด้งรับ” ตามศัพท์หนังสือพิมพ์ บอกถ้าอยากให้อยู่ต่อก็ไปหาทางมา จนพุทธอิสระล่า 5 หมื่นชื่อเสนอทำประชามติ
แต่พอมีคนค้านมากๆ ท่านก็ได้สติ เห็นท่าไม่ดีจะถูกติฉินนินทา บอกหยุดพูดหยุดถามดีกว่า ดีครับ และน่าจะปรามพวกกองเชียร์ไม่ลืมหูลืมตาด้วย ทีหน้าทีหลังอย่าเสนออะไรให้เผลอไผลอีก
แล้วเห็นไหมว่าการเปิดให้คนค้านก็มีด้านดี เพราะคนที่ค้านด้วยความรักและหวังดีก็เยอะ เช่น พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ บอกว่าความจริง พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถอยู่ต่ออยู่แล้ว “ตามธรรมชาติ” อย่าผลักให้ตกหลังเสือตายตอนจบด้วยวิธีนี้เลย
ส่วนคนที่ไม่รักไม่หวังดี เขาไม่ค้านหรอก ยุส่งด้วยซ้ำ ฮิฮิ
พล.ท.นันทเดชพูดถูกว่ายังไง คสช.ก็อยู่ต่อโดยธรรมชาติ เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำประชามติ อย่างเร็วสุดกว่าจะมีเลือกตั้งก็เดือนสิงหา-กันยา 2559 นั่นหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญต้องผ่าน สปช.และผ่านประชามติ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยกร่างใหม่
สปช.ทั้งหลายที่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ ไม่เห็นยาก ก็เสียสละหน่อยสิครับ ช่วยกันยกมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แล้วตายตกไปตามกัน ทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่สรรหา สปช. สรรหากรรมาธิการ กว่าจะเสร็จทุกขั้นตอน ก็เลือกตั้งปลายปี 2560 โน่น
แต่ทำแบบนั้นพวกท่านต้องตกเก้าอี้ใช่ไหมล่ะ ถึงต้องมาหาข้ออ้าง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แล้วหาทางล่อใจให้ท่านนายกฯ “อยากอยู่ต่อ”
ขอทักท้วงด้วยความหวังดีอีกคน ฮิฮิ ว่าเมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงอาการ “อยาก” เมื่อนั้นแย่เลยนะครับ อย่าลืมว่าจุดแข็งอย่างหนึ่งของท่านคือ ท่านพูดเสมอว่าไม่อยากมีอำนาจ ไม่อยากทำรัฐประหาร ไม่อยากเป็นนายกฯ แต่จำเป็นต้องทำเพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อรักษาความสงบ ทุกวันนี้ก็อยากกลับบ้านไปใช้ชีวิตหลังเกษียณกับครอบครัวเสียเร็วๆ
สังคมไทยนี่แปลกอย่าง ใครไม่อยากมีอำนาจ มักอยู่ได้นาน แต่ใครแสดงความต้องการทะยานอยาก มักไปไม่รอด
ฉะนั้น หนทางที่ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่ออย่างสง่างาม ก็คืออ้างความจำเป็นต้องทำเพื่อชาติบ้านเมือง แล้วอยู่ “ชั่วคราว” ไปเรื่อยๆ บ่นไปเรื่อยๆ ว่าอยากกลับบ้านเต็มทนแต่กลับไม่ได้ หนทางนี้อาจอยู่ไป 3-4 ปีก็ได้ แต่ถ้าเผลออยาก “ค้างคืน” เมื่อไหร่ เสือก็สะบัดเมื่อนั้น
การอยู่ต่อไม่ใช่เรื่องยากหรอกครับ ที่มันลำบากคือ “ทางลง” ต่างหาก เพราะยิ่งอยู่ยาวก็ยิ่งลงยาก เพราะยิ่งอยู่ยาวยิ่งต้องใช้อำนาจมาก เมื่อใช้อำนาจมากก็คลายอำนาจยาก ถอยยาก นี่คือสัจธรรมของอำนาจ
รัฐบาลทุกชุดมีขาขึ้นขาลง รัฐบาลจากเลือกตั้งเมื่อถึงขาลง ก็มี “ทางลง” คือยุบสภาหรือลาออก แต่รัฐบาลจากรัฐประหารมีทางลงทางเดียวคือ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วมีเลือกตั้ง
ถ้ารัฐบาลจากรัฐประหารบริหารประเทศไปเรื่อยๆ แล้วเกิดวิกฤต โดยรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มี ไม่สามารถกลับสู่เลือกตั้งได้ เคยคิดไหมว่าประเทศจะเป็นอย่างไร ขออย่าให้ไปถึงจุดนั้นก็แล้วกัน
                                                                                                               ใบตองแห้ง

“นายช่างรังวัด ส.ป.ก.โคราช” ชิงยื่นลาออกราชการ หนีปัญหาฮุบป่าเขาใหญ่ขาย 155 ไร่

Cr:ผู้จัดการ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ด่วน! “นายช่างรังวัด ส.ป.ก.โคราช” ชิงยื่นใบขอลาออกจากราชการหนีปัญหาฮุบป่าเขาใหญ่ 155 ไร่ จัดสรรขายไร่ละ 10 ล้านบาท อ้างไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ระบุขอลาออกตั้งแต่ 8 ก.ค. 2558 ด้านทางจังหวัดฯ ลงนามเสนอให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ต้นสังกัดพิจารณา รองผู้ว่าฯ ชี้ชิงลาออกช่วงมีปัญหาคาดไม่ได้รับอนุมัติ แต่อาจให้พักราชการไว้ก่อน

วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี นางพรทวี สุตันติราษฎร์ นายช่างรังวัดสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา หรือ ส.ป.ก.นครราชสีมา ได้นำ ส.ค. 1 เลขที่ 19 หมู่ 3 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 30 ไร่ ไปออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเนื้อที่กว่า 155 ไร่ บริเวณใกล้ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในนามชื่อของสามี และออกโฉนดรุกล้ำเขตปฏิรูปที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มากกว่า 130 ไร่ เพื่อจัดสรรขายให้แก่ข้าราชการหลายคน ราคาไร่ละกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งทาง ส.ป.ก.ได้สั่งย้ายนางพรทวีไปช่วยราชการพร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขณะที่นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามความเห็นชอบเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเพราะได้มาโดยมิชอบไปแล้ว ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

ล่าสุด นางพรทวี สุตันติราษฎร์ นายช่างรังวัดสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นใบลาออกจากราชการแล้ว ตามหนังสือขอลาออกจากราชการ เขียนที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เรื่อง ขอลาออกจากราชการ เรียน เลขาธิการ ส.ป.ก. ลงชื่อโดย นางพรทวี สุตันติราษฎร์ นายช่างสำรวจชำนาญงาน

โดยเนื้อหาหนังสือลาออกระบุว่า ด้วยข้าพเจ้า นางพรทวี สุตันติราษฎร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายช่างชำนาญงาน กลุ่มงานช่างและรังวัด ส.ป.ก.นครราชสีมา มีความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัว จึงเรียนมาเพื่อขอลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558

ทั้งนี้ สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ได้ทำบันทึกข้อความ เลขที่ นม. 0017.5/ ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2558 เรื่อง ขออนุญาตลาออกจากราชการ ของนางพรทวี ดังกล่าว เรียน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้เสนอหนังสือขออนุญาตออกจากราชการ ราย นางพรทวี สุตันติราษฎร์ กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลได้ตรวจสอบแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในกรณีขออนุญาตลาออกจากราชการของข้าราชการระดับชำนาญงาน จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ลงชื่อ นายอัสนีย์ เชาว์วาทิน หัวหน้ากลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา

ขณะที่ นายบุญยืน คำหงส์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามในหนังสือดังกล่าวแล้ว และส่งให้สำนักงานเลขาธิการปฏิรูปที่ดินส่วนกลางดำเนินการพิจารณาต่อไป

นายบุญยืน คำหงส์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง คือ ส.ป.ก. ไม่ได้เป็นหน่วยงานระดับจังหวัด ฉะนั้นเมื่อมีข้าราชการลาออกก็ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดพิจารณา ทางจังหวัดไม่มีอำนาจ แต่เนื่องจากหน่วยงานที่นางพรทวีสังกัดอยู่ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จึงรายงานมาให้จังหวัดทราบเท่านั้น แต่การลงความเห็นว่าจะให้ออกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางส่วนกลางจะพิจารณา โดยทางจังหวัดไม่มีอำนาจ
“แต่การที่มายื่นใบลาออกในช่วงที่กำลังมีปัญหาและเป็นข่าวระดับประเทศนั้น คาดว่าต้นสังกัดน่าจะไม่อนุมัติ อาจจะมีการสั่งพักราชการไว้ก่อนก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทาง ส.ป.ก.จะดำเนินการ” นายบุญยืนกล่าว


17สัญญานอันตราย ฟองสบู่ประเทศไทยกำลังจะแตก?

[นับเวลาถอยหลัง] 17 สัญญาณอันตราย! ฟองสบู่ประเทศไทยกำลังจะแตก
10/06/2015 09:11 น. | โพสโดย thip thip

จริงหรือไม่? กับความลือที่ว่า ประเทศไทยกำลังจะเผชิญหน้ากับช่วงเวลาฟองสบู่แตก เหมือนกับที่เคยเป็นมาตั้งแต่ในปี 2540 ฝันร้ายครั้งนี้จะกลับมาเยือนคนไทยอีกครั้งหรือไม่ และเราจะตั้งรับกับมันได้อย่างไร เรามาดูกันดีกว่าว่าในตอนนี้เริ่มมีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกให้รู้ว่า ฟองสบู่กำลังกลับมาแล้ว

วิธีส่วนใหญ่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทำกันเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มธุรกิจต่าง ๆในขณะนี้ ก็คือสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่า คุณต้องเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตได้แล้ว ดูสิว่าสัญญาณที่ว่านี้
คืออะไรบ้าง

1. Honda เพิ่มวันหยุดยาว ในเดือนเมษายน พฤษภาคม กรกฎาคม สิงหาคม ที่มีวันหยุดติดต่อกันถึง 10 วัน และหยุดทุกวันเสาร์- อาทิตย์
2. Toyota เริ่มทยอยปลดพนักงานระดับ Supervisor ไป 1 lot แล้ว เนื่องจากเเบกรับภาระขาดทุน ไม่ไหว รถที่ผลิตออกมาจอดเต็ม Stock ขายไม่ได้
3. GM ปลดพนักงาน Sup ออกหมดเเล้ว เเละแบรนด์เนมที่เป็นของ Isuzu ให้นำกลับไป ประกอบที่สำโรงเเล้วเพื่อลด Cost ส่วน บริษัทแม่ GM ที่อเมริกา ทางรัฐบาลของสหรัฐ อุ้มไว้เเล้ว หากไม่อุ้ม

อีก 3 เดือนข้างหน้า GM จะล้มละลาย
4. Nissan ลดการผลิตลง 50% เเละกำลังลดพนักงานออกชุดเเรกในเดือนหน้า
5. Misubishi ยังมียอดขายที่ต่างประเทศอยู่บ้าง จะกระทบจริงเดือน มค. ปีหน้า
6. AAT กำลังทำกิจกรรมลดต้นทุนอย่างหนัก ทั้งไม่ให้มี OT ทำกิจกรรรม Balance งานใหม่ทั้งระบบเพื่อลดค่าใช้จ่าย เเละยังไม่ปลดคน ปีหน้าไม่เเน่
7. Fujisu เอาออกไปแล้ว 300 คน
8. Sieko Instrument เอาออกไปแล้ว 400 คน
9. Statschippac ตั้งแต่เดือนหน้า หยุดทำงานทุกๆวันจันทร์
10.TOT เท 9 พันล้านโละพนักงานอีกกว่า 3,500คน ลดภาระเงินเดือนที่จ่ายปีละ 1.4 หมื่นล้าน
11. Sumsung  LG ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปเวียดนาม และยกเลิกสายการผลิต tv ในไทย
12. อินโดนีเซียปิดน่านน้ำ ส่งผลให้แรงงานประมงกว่า 3,000 อัตรา จ่อตกงาน ธุรกิจประมงขาดทุนยับ!!
12.การบินไทยปรับลงพนักงานอีกกว่า 5,000 อัตรา หลังขาดทุนต่อเนื่อง!!
13.เครือ EU ยกเลิกการนำเข้าสินค้าประมงไทย สิ้นเดือนนี้! หากไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ / ประชาธิปไตยได้
14.ธุรกิจท่องเที่ยวชั้นเฟริสคราส จ่อเจ๊งยับ!! หลังหลายประเทศ ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย เนื่องจากยังไม่ยกเลิกกฏอัยการศึก!
15. โรงแรมใหญ่ๆ ในประเทศไทยทะยอยปิดตัว หลังนักท่องเที่ยวหดหาย แบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ยกตัวอย่าง รร. เก่าแก่ อย่าง อิมพีเรียล ควีนปาร์ค ที่ ปิดตัวลงเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
16. Nikon, TOYOTA ย้ายฐานการผลิตจากไทยแต่เริ่มไปเปิดฐานการลงทุนใหม่ ที่ประเทศลาว โดยเริ่มบุกตลาดด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร และ พลังงาน
17.หลายบริษัทยักษ์ใหญ่  ขนาดกลาง เริ่มปรับลดโอที หลังประสบปัญหาขาดทุน/ยอดสั่งซื้อลดลงต่อเนื่อง

นี่เป็นเพียงลางบอกเหตุที่อาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ในอนาคต ขอให้ผู้อ่านทุกท่านใช้วิจารณญาณไตร่ตรองกันให้ดี และหวังว่าเราทุกคนจะสามารถเดินต่อไปอย่างเข็มแข็งได้ด้วยกันในภายภาคหน้า

ข้อมูลจาก คุณ Louisphigo49 (กลุ่มช่วยเหลือแบ่งปัน 12 มี.ค.2558)
เรียบเรียงข้อมูลโดย ThaiJobsGov.com

เขย่าครม.!แก้รธน.ปูทาง“สมคิด”่นั่งรองนายกฯเศรษฐกิจ-“หม่อมอุ๋ย”อยู่หรือไป?

เขย่า ครม. ! จับกระแสแก้ รธน.ชั่วคราวปี’57 เปิดทาง “สมคิด” นั่งเก้าอี้รองนายกฯ แก้ปัญหาพิษเศรษฐกิจ จับตา “หม่อมอุ๋ย” อยู่หรือไป ?
PIC momoui somkid 10 6 58 1
10มิ.ย.2558 : สำนักข่าวอิสรา
เป็นข่าวคึกโครมระดับ “พาดหัวไม้” หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ!
ภายหลัง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เนติบริกรใหญ่ เปิดเผยผลการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบ “แก้ไข” รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 
หลังจากที่ “คาราคาซัง” และถูกสังคมจับจ้องมาเป็นเวลาเนิ่นนาน ภายหลังถูกกระแสกดดันเรื่องการทำ “ประชามติ” ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ”
สำหรับประเด็นที่ต้องการปรับแก้นั้น ซอยย่อยออกเป็น 7 ประเด็น 
โดยเฉพาะที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ได้แก่ กรณีหากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. 
พร้อมตั้ง “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน โดยสมาชิกอาจเคยเป็น สปช. หรือไม่เคยก็ได้ และให้ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก
ขณะเดียวกันหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้น “ประชามติ” ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นใหม่อีก 21 คน ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ และให้ทำประชามติอีกครั้ง 
ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า อาจเป็นการสืบทอดอำนาจ สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ! 
อย่างไรก็ดีมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ แต่หลายฝ่ายไม่ใคร่สนใจนักคือ การแก้ไขคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ผู้ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่อยู่ระหว่างการถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถเป็น สนช. ได้
เปิดทางให้ “บ้านเลขที่ 111 & 109” พาเหรดตบเท้าสามารถนั่ง “เก้าอี้” รัฐมนตรีได้อีกครั้ง !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯ ระบุว่า สนช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 9 ข้อ โดยในข้อ 4 ระบุว่า ห้ามเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ขณะที่ในมาตรา 20 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม จำนวน 6 ข้อ โดยในข้อ 4 ระบุว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8
กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ เมื่อแก้ไขมาตรา 8 ให้ สนช. ที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง จะผูกพันกับมาตรา 20 ที่ระบุถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีด้วย 
เท่ากับว่า รัฐมนตรีสามารถได้มาจากบุคคลที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้งได้นั่นเอง ! 
สำหรับบุคคลที่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ได้แก่ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสินยุบพรรคเมื่อปี 2549 และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่ถูกตัดสินยุบพรรคเมื่อปี 2551
สามารถกระโดดเข้าร่วมบริหารประเทศกับ “รัฐบาลบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ทันที
คำถามคือไฉนจึงต้องเปิดทางให้กระทำเช่นนี้ ?
หากใครยังจำกันได้ มี “อดีตบิ๊กรัฐมนตรี” คนสำคัญใน “รัฐบาลทักษิณ” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รายหนึ่ง เข้าร่วมกับ คสช. ด้วย
ใช่แล้ว นั่นคือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยยุค “ทักษิณ”
ปัจจุบัน “สมคิด” ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ คสช.
และมีบทบาทอย่างมากในการวางทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจให้กับ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ในช่วงหลายเดือนหลังมานี้
อย่างไรก็ดีย้อนไปก่อนหน้านี้ช่วง คสช. เพิ่งฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่ ได้เชิญให้ “สมคิด” เข้ามานั่งที่ปรึกษา และเปิดทางให้“หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับ “สมคิด” กันมานาน นั่งเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจแทน
กระทั่งในช่วงตั้ง “รัฐมนตรีช่วย” ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงการคลัง ก็มีรายงานข่าวแจ้งว่าเกิดการ “แย่งชิง” โควตากันระหว่างสาย “หม่อมอุ๋ย” กับสาย “สมคิด” จนทำให้ คสช. ต้องปวดหัวกันมาแล้ว
ท่ามกลางการดิ่งลงของภาวะเศรษฐกิจที่นับวันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเป็น “ไฟสุมอก” ของรัฐบาลชุดนี้
จน “สมคิด” ต้องออกมาให้คำแนะนำในที่ประชุม คสช. ช่วงครบ 1 ปี ให้เร่งตกลงทำสัญญาในโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
แก้ “พิษเศรษฐกิจ” ที่กำลังยักแย่ยักยันในขณะนี้ 
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีเตรียมส่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฯให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาภายใน 1-2 วันนี้ หากผ่านจะสามารถประกาศใช้ได้ทันที
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า จะมีการปรับเปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจ” เป็นคนอื่นหรือไม่ หรือว่าจะตั้งมาควบคู่กับ “หม่อมอุ๋ย” ช่วยกันบริหารประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
แต่ต้องไม่ลืมว่า หากปรับรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจเป็น "สมคิด" แต่มือไม้ของ "หม่อมอุ๋ย" ที่นั่งเป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงเศรษฐกิจยังอยู่เช่นเดิม ?
ถ้าหาก คสช. เลือก "สมคิด" ก็จำเป็นต้องมีการ "ผ่าตัด" ครม. กันขนานใหญ่ เลยทีเดียว
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงข้างต้นจะเป็นอย่างไร
ปัญหาปากท้องประชาชน เป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไปแล้ว !

ผู้ว่าโคราชตั้งกก.สอบปืนM16ของอส.หาย80กระบอก

10 มิ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของ อส.ทั่วทั้ง 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา เข้ามาตรวจสอบที่กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดนครราชสีมาที่ 1 เพื่อลงบันทึกรายการอาวุธปืนทั้งหมด โดยมีตัวแทนจากฝ่ายปกครองและตำรวจ พร้อมกำลังเจ้าหน้าหลายฝ่ายกว่า 50 นาย ร่วมตรวจสอบและลงทะเบียนอาวุธปืนทั้งหมด เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ามีการสูญหายจริงหรือไม่
เบื้องต้นพบว่า อาวุธปืนเอ็ม 16 สูญหาย จำนวน 80 กระบอก คาดว่าจะเกิดการสูญหายสะสมมาตั้งแต่ปี 56 - 57 แต่ยังไม่ทราบสาเหตุ โดย นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อความชัดเจน โดยล่าสุด นายประภาส รักษาทรัพย์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา รายงานเรื่องนี้ไปยังกองทัพภาคที่ 2 พร้อมประสานตำรวจภูธรภาค 3 ร่วมสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอสรุปจำนวนอาวุธปืนที่สูญหายที่แน่ชัดอีกครั้ง และเร่งสืบหาผู้ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการทางวินัย

ที่ปรึกษารองนายกฯจวก "คน ปชป."มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำยังเดินหน้า

จวก "คน ปชป."มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำยังเดินหน้า
Cr:ผู้จัดการ
“ไพศาล”จวก คน ปชป.มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำโครงการยังคงเดินหน้าตามแผนที่รัฐบาลแถลงไว้“บิ๊กตู่” ย้ำไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ใคร แต่ต้องเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ ร่วมลงทุนร่วมสร้างระบบเครือข่ายให้ได้ สั่งคมนาคม ชี้แจงการกู้เงินหลายครั้ง ให้ประชาชนเข้าใจ หลัง ไฟเขียวทำสัญญากู้ไจก้า 1 หมื่นล้านบาท เร่ง “รถไฟสายสีแดง” ระยะ 2
วันนี้(9 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ต้องมีการลงทุนถนน เส้นทาง ซึ่งตนบอกว่าต้องชัดเจน อย่าให้มาพูดว่าการทำรถไฟทั้ง 3-4 ขนาดไปโยงถึงใคร เส้นทางเหล่านี้จะเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้านและติดต่อประชาคมโลกจึงต้องทำ ส่วนในประเทศนั้น ขนาด 1 เมตรก็พอแต่ต้องเป็นเส้นทางคู่ให้ได้แล้วกัน ส่วนการลงทุนด้วยรถไฟความเร็วสูงต้องคิดมา ถ้าประเทศไหนสนใจก็มาเจรจาพูดคุยต่อไป
“ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ใคร แต่ต้องเจรจาแบบรัฐต่อรัฐให้ได้ รวมถึงการลงทุนร่วมที่จะต้องสร้างระบบเครือข่ายให้ได้ทั้งรถไฟ รถยนต์และรถไฟฟ้า โดยตนต้องการให้เมืองขยายออกไปเชื่อมไปยังปริมณฑลไม่ใช่มาแออัดอยู่ในกรุงเทพฯ”
ด้าน นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วน ตำหนินักวิชาการการเมืองที่อ้างว่าเป็นเชี่ยวชาญเรื่องรถไฟ ระบุว่า “จีนยกเลิกโครงการรถไฟทางคู่กับไทยแล้ว” ว่า “จากการตรวจสอบ ยืนยันว่าจีนไม่ได้ยกเลิกโครงการรถไฟทางคู่ ไทยจีน และโครงการดังกล่าวยังคงเดินหน้าตามแผนที่รัฐบาลแถลงไว้”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า “ผิดหวัง! จีนไม่ร่วมลงทุนรถไฟไทย-จีน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อขอให้รัฐบาลจีนร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ”
อีกด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในร่างสัญญาการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 ในวงเงิน 38,203 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ที่ไทยได้เคยกู้เงินจากญี่ปุ่นมาแล้ว 63,018 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 22,783 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2552 และการกู้เงินในระยะที่ 1 จะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้
"กระทรวงการคลังได้เสนอขอความเห็นชอบในร่างสัญญากู้เงินจากไจก้าที่เป็นของรัฐบาลญี่ปุ่น และขออนุมัติกู้เงินในนามของรัฐบาลไทย โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการและส่งต่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้กู้ยืมเงินต่อจากกระทรวงการคลัง ซึ่งครม.ก็มีมติเห็นชอบตามนั้น" รองโฆษกฯ ระบุ
สำหรับสัญญาการกู้เงินในโครงการระยะที่ 2 นี้ เป็นการกู้เงินในระยะเวลา 20 ปี ปลอดหนี้ 6 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.40% อย่างไรก็ดี จากโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงนี้ มีการกู้เงินรวมทั้งสิ้น 42,783 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ(ไจก้า) 32,783 ล้านบาท และการกู้เงินในประเทศอีก 10,000 ล้านบาท
"นายกฯ ปรารภว่าให้กระทรวงคมนาคมนำรายละเอียดของรถไฟสายสีแดงที่มีการกู้เงินหลายๆ ครั้ง มาทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน ว่าโครงการนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อไร จะเสร็จสิ้นเมื่อไร และมีแผนการกู้เงินอีกกี่ครั้ง พร้อมกับเน้นย้ำว่าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในต่างจังหวัดด้วยว่าประชาชนในต่างจังหวัดจะมีส่วนตรงนี้มากเพียงใด ต้องชี้แจงว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการระบบขนส่งในพื้นที่ชุมชนเมือง ถ้าไมลงทุนทำ จะมีปัญหาจราจร ความคับคั่ง และเรื่องอื่นๆ ตามมา ซึ่งถือว่าวางรากฐานด้านคมนาคมเป็นการลงทุนที่มีความเหมาะสมต่อผลตอบแทนในระยะยาว" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ.

“ปิยสวัสดิ์” ย้ำ “มนตรี โสตางกูร” ผู้ต้องหาหมิ่น ม.112 ไม่ได้เป็นบอร์ด ปตท.แล้ว

“ปิยสวัสดิ์” ย้ำ “มนตรี โสตางกูร” ผู้ต้องหาหมิ่น ม.112 ไม่ได้เป็นบอร์ด ปตท.แล้ว พบนั่ง 2 บอร์ดใหญ่ 3 สมัยซ้อน
Cr:ผู้จัดการ
“ปิยสวัสดิ์” ย้ำ “มนตรี โสตางกูร” ผู้ต้องหาหมิ่น ม.112 ไม่ได้เป็นบอร์ด ปตท.แล้ว หลังขาดประชุม 2 ครั้ง ผิดข้อกำหนดการเป็นบอร์ดของ ปตท. เปิดประวัตินั่ง บอร์ดหลายชุด ตั้งแต่ ปี 2551-2556 นอกจากนั่ง บอร์ด ปตท. สามสมัย ปี 54/55/56 ยังพบเป็นบอร์ด กสท. อีก 3 สมัย ในยุครัฐบาลเพื่อไทย

วันนี้(10 มิ.ย.) กรณี พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)พร้อมด้วยพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงว่า ศาลอาญารัชดาภิเษก และ ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติหมายจับ นายมนตรี โสตางกูร ตำแหน่งกรมวังผู้ใหญ่ สำนักพระราชวัง อดีตกรรมการบอร์ดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

จากการตรวจสอบของตำรวจพบว่านายมนตรี มีพฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูง และขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ให้แต่งตั้งตัวเองเป็นคณะกรรมการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสื่อสาร นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพฤติกรรมแอบอ้างในลักษณะดังกล่าวในเรื่องของผลประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งยังมีการเรียกรับเงินค่าดำเนินการจัดซื้อที่ดิน ใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ด้าน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันไม่ได้เป็นบอร์ด ปตท.ตั้งแต่ปลายปี 2557 หลังจากขาดการประชุม 2 ครั้ง ซึ่งผิดข้อกำหนดการเป็นบอร์ดของ ปตท. โดยขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งบอร์ดทำงานแทน คือ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

มีรายงายว่า ขณะที่ เวปไซด์ ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อมา พบว่า ถูกลบออกจากหน้าเวปแล้วwww.pttplc.com/th/About/.../Committee_MontriS.aspx เผยแพร่ว่า นายมนตรี โสตางกูร มีตำแหน่ง ในปตท. ในตำแหน่ง กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ ไม่พบว่า มีการถือหุ้น Holding (%)
ส่วนคุณวุฒิการศึกษา/ประวัติการอบรม จบ การศึกษา พาณิชยศาสตรและการบัญชี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
MBA, Northrop University, Los Angeles, California, U.S.A.
ประวัติการอบรม ในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 9 (วตท.9)
ประสบการณ์การทำงาน
2551 - 2552 เป็นกรรมการบริหาร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
2551 - 2553 เป็นกรรมการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
2551 - 2554 เป็นกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
2551 - 2554 เป็น กรรมการบริหาร การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2535 - ปัจจุบัน เป็น กรรมการผู้จัดการ Prestige Direct Marketing Co., Ltd.
ขณะที่เวปไซด์
ระบุตำแหน่ง คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ของนายมนตรี โสตางกูร ประกอบด้วย ปี พ.ศ.2554/55/56 มีตำแหน่ง เป็นกรรมการอิสระ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปี 2554/55/56 เป็นกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
พบว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ช่วงนั้น คือ นาย พิชัย นริพทะพันธุ์ ดำรงตำหน่งถึง มกราคม พ.ศ. 2555 นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ดำรงตำแหน่งถึงตุลาคม พ.ศ. 2555 และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ดำรงตำแหน่งถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที คือ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ปี พ.ศ.2551/52/54 เป็น กรรมการการเคหะแห่งชาติ , ปี พ.ศ.2552/53 เป็น กรรมการการประปาส่วนภูมิภาค
ปี พ.ศ.2552 เป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
และเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการชุดที่หนึ่ง (1 ตุลาคม 2551 - 2 มีนาคม 2552) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2547 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
ปี พ.ศ.2550-51 มีตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
ส่วนตำแหน่งในหน่วยงานอื่นๆ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรสทิจ ไดเรคท์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด.

รัฐบาลทหารไทยกับการพูดอย่างทำอย่าง


ในช่วงปีแรกหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารไทยสั่งเรียกตัวบุคคล อย่างน้อย 751 คน ทั้งที่เป็นปัญญาชน แกนนำการเมือง และผู้ที่ถูกรัฐบาลทหารมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม บุคคลเหล่านี้ถูกควบคุมตัว สอบปากคำ ข่มขู่ หรือตักเตือนให้ยุติการต่อต้านรัฐประหาร มีบางส่วนถูกตั้งข้อหาในเวลาต่อมา แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากเซ็นชื่อในหนังสือ สัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารอีก
รัฐบาลทหารบอกกับคนไทยว่าการเรียกตัวบุคคลเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่อ “ปรับทัศนคติ”
ในช่วงปีแรกของรัฐบาลทหาร มีการลงโทษอย่างรวดเร็วต่อผู้ทีแสดงความเห็นต่อต้านในประเทศ และมักลงโทษอย่างเปิดเผย มีการขัดขวางหรือยกเลิกการประชุมทางวิชาการและสาธารณะในประเด็นการเมือง หรืออย่างน้อยมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยสอดส่องข้อมูล ทั้งยังมีการฟ้องคดีต่อบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีรายงานข่าวอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการฟ้องคดีนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยแทบไม่คำนึงถึงกระบวนการอันควรตามกฎหมาย การแย่งชิงทรัพยากรเกิดขึ้นทั่วประเทศ สร้างผลกระทบอย่างมากต่อที่ดินและการดำรงชีวิตของพลเมืองในชนบท พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นการ “สมานฉันท์”
“ปฏิรูป” เป็นอีกคำหนึ่งที่รัฐบาลนี้ใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านคำสั่งของรัฐบาลทหารหรือตามที่กำหนดไว้ในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ แต่แทนที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไป 30 ปี ทั้งในแง่พัฒนาการของประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และบทบาทของทหารกับการเมือง

พวกเขาผลักดันการ “ปฏิรูป” แบบนี้ภายใต้คำขวัญ “เดินหน้าประเทศไทย” “คืนความสุขให้คนในชาติ” แม้จะมีข่าวการกดขี่ปราบปราม ความอยุติธรรม และข่าวร้ายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ คสช. การสมานฉันท์หมายถึงการขจัดความขัดแย้งทางสังคมหรือการเมืองในภายนอก การปรับทัศนคติหมายถึงการยอมรับความเห็นตามที่กำหนดโดยรัฐบาลทหารอย่างดุษฎี ส่วนปฏิรูปหมายถึงการย้อนเวลากลับไปก่อนจะมีระบอบประชาธิปไตย การพูดอย่างทำอย่างแบบที่ออแวลล์กล่าวไว้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้ระบอบคสช.

การพูดอย่างทำอย่างไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่หรือเกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย ในปี 2553 รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการประท้วงของคนเสื้อแดงใจกลางกรุงเทพฯ เขาเรียกการปราบปรามครั้งนั้นว่าเป็น “การขอคืนพื้นที่” ภายใต้ “ระบอบใหม่ - New Order” รัฐบาลอินโดนีเซียในช่วงปี 2508-2541 สั่งคุมขังประชาชนหลายหมื่นคนในคุกที่อยู่บนเกาะ พวกเขาเรียกว่าเป็น “โครงการด้านมนุษยธรรม - Humanitarian Project” จะในอดีตหรือปัจจุบัน การใช้วาทศิลป์เหล่านี้ไม่สามารถปกปิดความรุนแรงที่อยู่เบื้องหลังความจำเป็นที่ต้องการสร้างคำที่มีความหมายคลุมเครือเลย
การพูดอย่างทำอย่างของรัฐบาลทหารไทยในปัจจุบัน แตกต่างจากการใช้วาทศิลป์ในยุคเดิมอยู่บ้างบางประการ

ประการแรก การพูดอย่างทำอย่างของรัฐบาลทหารประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เพราะมีผู้สนับสนุน พวกเขาเป็นผู้มีอิทธิพลและร่ำรวยในสังคมไทย คนเหล่านี้มีความเข้าใจคล้ายคลึงกันในแนวคิดหลัก ๆ สำหรับรัฐบาลทหารและบรรดาผู้สนับสนุน ประชาธิปไตยของพวกเขาหมายถึงระบอบปกครองของคนดีที่ไม่โกง เป็นผู้ที่สามารถทำให้เกิด “ความสามัคคี” ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย พวกเขาเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” การมีรัฐบาลของ “คนดี” ที่ปกครองประเทศในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พวกเขาให้ความใส่ใจกับวิธีการปกครองน้อยกว่าศีลธรรมจรรยา ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งพวกเขามองว่าส่งผลให้เกิดระบอบที่ชาวบ้านที่โง่เขลาเลือกตั้งนักการเมืองเข้ามาโกงกินบ้านเมือง ถือว่าเป็นมรดกของการเมืองโบราณแบบพุทธ อย่างไรก็ดี คำว่า “ธรรมภิบาล” ในภาษาไทยซึ่งแปลมาจาก “good governance” มีความหมายว่า “การกำกับดูแลโดยธรรม” หรือการกำกับดูแลโดยกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ “ความสามัคคี” ซึ่งหมายถึงการรักษาระเบียบสังคม และการปราศจากความขัดแย้งร้ายแรง กลายเป็นหลักการสำคัญของการกำกับดูแลโดยธรรม ภายใต้กรอบความคิดเช่นนี้ ความสมานฉันท์ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจริงหรือความยุติธรรม แต่กลับหมายถึงความสามัคคีที่เห็นได้จากภายนอกโดยมีการกลบเกลื่อนเสียงที่เห็นต่างและซุกอยู่ใต้พรม

ประการที่สอง มีช่องว่างใหญ่หลวงในแง่ความเข้าใจถ้อยคำเหล่านี้ เปรียบเทียบระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารฝ่ายหนึ่งกับผู้ที่เห็นต่างและประชาคมนานาชาติอีกฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลทหารทราบดีว่าประชาชนจำนวนมากต่อต้านการปกครองของตนเอง และไม่ได้หลงเชื่อไปกับการพูดอย่างทำอย่างของพวกเขาแม้เพียงชั่วขณะเดียว

รัฐบาลทหารตระหนักดีถึงความบกพร่องเช่นนี้ แต่ยังคงใช้วิธีพูดอย่างทำอย่างเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้สนับสนุนฝ่ายตนเอง เป็นเหตุให้รัฐบาลทหารต้องหาทางจัดการกับช่องว่างระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนตนเองกับฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะประชาคมนานาชาติ ฝ่ายที่ส่งเสียงวิจารณ์ในประเทศต้องเผชิญกับการคุกคาม การจับกุม และการคุมขัง เมื่อต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กับทั้งองค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทช์ และรัฐบาลจากทั่วโลก รัฐบาลทหารทำได้แค่ปฏิเสธอย่างรวบรัดว่าไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เคยจำกัดเสรีภาพ และไม่เคยแทรกแซงประชาธิปไตย การปราบปรามภายในประเทศอย่างเข้มงวดพร้อมกับการเพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์ของประชาคมนานาชาติ ต่างมุ่งตอบสนองความต้องการที่จะกระชับและตอกย้ำความสนับสนุนในประเทศของตนเอง

ประการที่สามและสำคัญสุด การพูดอย่างทำอย่างอย่างต่อเนื่องและซ้ำซาก ประกอบกับการใช้กฎหมายเอาผิดผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร เป็นการปิดกั้นไม่ให้เกิดความจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อความรุนแรงลอยนวลพ้นผิด ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันใช้ถ้อยคำบิดเบือนอ้างว่าการควบคุมตัวและทรมานเป็น “การปรับทัศนคติ” เป็นการใช้แนวทางเดิมแบบที่เคยเป็นมา ซึ่งในอดีตรัฐไทยได้เคยปราบปรามพลเมืองมาในหลายเหตุการณ์ รวมทั้งการสังหารประชาชน โดยไม่ต้องกังวลว่าต้องรับผิด ล่าสุดในกระบวนการประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเหตุให้มีการฟ้องคดีอาญานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและพรรคพวกเมื่อปลายปี 2556 ต่อศาลอาญาในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาจากการปราบปรามนองเลือดเมื่อปี 2553 พวกเขาอ้างว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุม เพียงแต่มุ่ง “ขอคืนพื้นที่” ของผู้ชุมนุม แต่ตามเงื่อนไขกฎหมายที่ยังคลุมเครือ ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องคดีต่อพวกเขา ภายหลังรัฐประหารล่าสุด

รัฐบาลทหารในปัจจุบันยังคงยืนยันว่า พวกเขาเป็นนักปฏิรูปที่ทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อสร้างความสมานฉันท์ และคืนความสุขให้กับคนไทย และอ้างว่าตนเองไม่ได้เป็นเผด็จการ พวกเขารู้ดีว่าระบบตุลาการถือหางพวกเขาอยู่ หรือไม่ก็สามารถใช้ประโยชน์เพื่อทำให้การพูดอย่างทำอย่างของพวกเขาชอบด้วยกฎหมาย และสามารถปลดเปลื้องความรับผิดใดๆ

แต่ในขณะที่เสียงต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการประท้วงอย่างสงบในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของรัฐประหารซึ่งนำไปสู่ การจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษากว่า 50 คน เริ่มทำให้เห็นรอยร้าวบนฉากหน้าแห่งความปรกติที่รัฐบาลทหารใช้วาทศิลป์แบบพูดอย่างทำอย่างสร้างเอาไว้ แม้จะมีการปล่อยตัวนักศึกษาโดยไม่ตั้งข้อหา แต่เพิ่งมีการตั้งข้อหาในตอนนี้ การชะลอการออกหมายเรียกนักศึกษาอย่างน้อย 11 คน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อพวกเขาในวันที่ 8 มิถุนายน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมของการพูดอย่างทำอย่าง รัฐบาลทหารคงหวังว่าจะลดกระแสความไม่พึงพอใจลงได้บ้าง พวกเขาอาจหวังว่าประวัติศาสตร์การลอยนวลพ้นผิดที่ผ่านมา คงทำให้เขามีเวลาเหลือเฟือที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป

รัฐบาลทหารปัจจุบันใช้การพูดอย่างทำอย่างเป็นยุทธศาสตร์หลักในการปกครองประเทศ และเปลี่ยนให้เป็นศิลปะแห่งความเหลวไหล คนที่ใส่ใจต่อคนไทยอย่างพวกเรา คงต้องให้ความหมายที่แท้จริงต่อคำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งไม่มีอะไรต่างไปจากคำที่ใช้เรียกขานเผด็จการแบบในอดีตนั่นเอง

ปรับวิธี‘ถวายสัตย์’ ต่อหน้ารัชทายาท-ผู้แทนพระองค์แก้รธน.7ประเด็นจับตาประชามติ

ครม.และ คสช.เคาะแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 7 ประเด็น ปรับวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมปลดล็อกผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถนั่งเก้าอี้ "รมต.-สนช." ได้ และจัดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ่วงอีก 2 คำถาม คาดถามปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและนิรโทษกรรม "วิษณุ" ระบุคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขัดเกลาคำถาม ลั่นใช้งบ 3 พันล้านบาทต้องทำให้คุ้ม
เมื่อวันอังคาร(9มิ.ย.58) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามความในมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกติกาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 1.ต้องเป็นความเห็นชอบของ ครม.และ คสช. 2.จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับการแก้ไข เพื่อใช้แทนฉบับเก่าแล้วส่งไป สนช. โดย สนช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
นายวิษณุกล่าวต่อว่า 3.สนช.มีอำนาจพิจารณาเพียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของร่างคือ ครม.และ คสช. 4.ความเห็นของ สนช.ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมดคือ 111 เสียงขึ้นไป จากนั้นให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 15 วัน คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ก่อนวันที่ 21 หรือ 23 กรกฎาคม 2558
รองนายกฯ ระบุด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอไปยัง สนช.นั้น มีทั้งหมด 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช.จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็น ไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงทำให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสามารถเข้ามาเป็น สนช. และกรรมการอื่นๆ หรือแม้แต่ ครม.ก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ เพราะถ้าใช้คำว่าถูกเพิกถอนสิทธิ์แล้วไม่ให้เข้ามาเป็น สนช. ก็จะเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม ดูจะไม่ค่อยปรองดองเท่าที่ควร
"ประเด็นที่ 2 ในตำแหน่งบางตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป จึงแก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณนอกจากการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังสามารถถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์" นายวิษณุระบุ
นายวิษณุกล่าวว่า ในข้อ 3 ได้มีการขยายเวลาการทำงานให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เดิมที่ต้องพิจารณาข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งมองว่าเวลาดังกล่าวกระชั้นชิดเกินไป จึงขยายให้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน โดยให้ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้มีมติว่าจะขยายเวลาหรือไม่ กี่วัน แล้วแจ้งให้ สปช.รับทราบ
4.เมื่อ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดหลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไข โดยผ่านความเห็นชอบของ สนช. แต่ถ้ามีการขัดขวางการทำประชามติ กกต.ไม่สามารถกำหนดโทษได้ ต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาบังคับใช้ ส่วนจะทำประชามติเมื่อใดนั้น กำหนดให้ต้องมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ครัวเรือน หรือประมาณ 19 ล้านครัวเรือน จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน ซึ่งคาดว่าจะออกเสียงประชามติได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559
“นอกเหนือจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการสอบถามประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดย สปช.และ สนช.สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1 คำถาม จากนั้นให้ส่งมายัง ครม.ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็จะให้ กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าผลของประชามติของคำถามอื่นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องคำถามอื่นภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสอดคล้องกับประชามติหรือไม่ จากนั้นส่งมาให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย” นายวิษณุกล่าว
ประเด็นที่ 5 นายวิษณุบอกว่า เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อลงมติเสร็จถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเคยเป็น สปช.ชุดเดิมก็ไม่ขัดข้อง ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอีก โดยอายุของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ จะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญฉบับระบุ
รองนายกฯ ด้านกฎหมายกล่าวอีกว่า ในประเด็น ที่ 6 ถ้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ก็ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน กรรมการ 20 คน ซึ่งอาจตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนเดิมได้ด้วย เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็อาจจะมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา และประเด็นที่ 7 แก้ไขถ้อยคำภาษา เลขมาตราที่เคลื่อน
นายวิษณุคาดว่าจะส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภาย 1-2 วันนี้ โดยที่ สนช.ไม่สามารถปรับแก้ร่างนี้ได้ เพียงแค่เสนอแนะตั้งข้อสังเกตได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48 มาตรา ซึ่งมาตรา 44 ก็ยังมีอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดให้ถามคำถามอื่นได้ควบคู่กับการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงคำถามที่ว่าจะให้ คสช.และรัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปีด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ อาจเป็นคำถามอื่น ซึ่งประเด็นถามให้อยู่ต่อ 2 ปีหรือไม่ก็ถามได้ แต่คำถามนี้ต้องผ่านด่าน สปช.และ สนช.ให้ได้ก่อน เพราะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เมื่อผ่านแล้วก็ต้องมาผ่านด่าน ครม. ซึ่ง ครม.จะไปดัดแปลงคำถามหรือถามด้วยก็ไม่ได้ ครม.ดูแค่ว่ามาถูกกาลเทศะหรือไม่ ในภาวะที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ซึ่งในเมื่อจะเสีย 3,000 ล้านบาทในการทำประชามติแล้วก็ต้องให้คุ้ม
เมื่อถามว่า หากเป็นคำถามต่ออายุรัฐบาลจริง จะเป็นเรื่องผลทับซ้อนของ ครม.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามว่าถามเป็นหรือไม่
ถามว่า การทำประชามติถามเรื่องนิรโทษกรรมได้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า "เป็นต้น"
ต่อคำถามที่ว่า หากการทำประชามติครั้งที่ 2 ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาใหม่ 21 คน ไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุตอบว่า เรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.และ คสช.มีการสอบถามเหมือนกัน ตรงนี้คงจะไม่มีการตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ ร่างเสร็จแล้วทำประชามติอีก แต่อาจจะหยิบยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาปรับใช้ แต่เวลานี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาคิดตอนนี้ เพราะผลยังไม่ออกมา
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างครม.และ คสช. ตอนหนึ่งถึงประเด็นการถามในประชามติว่า "เราให้เขาคิดมาก่อน ปกติเขาถามอะไรที่ผ่านมา ผมเป็นประชาชนก็เลือกตั้ง ลงประชามติจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือมีข้อ 2 ข้อ 3 ก็ไปหามา"
“ไม่รู้ ก็ผมไม่รู้นี่ไงเล่า ก็ให้เขาไปทำมาสิ ทำไมผมต้องสั่งทุกเรื่องหรือไง เข้าห้องน้ำต้องเช็ดก้นก่อนออกมาหรือไง ปัดโธ่ ผมพูดข้อเท็จจริงไม่ได้โมโหเลย เพียงแต่ถามคำถามที่วนไปวนมา ผมขี้เกียจ แล้วท่านก็มาได้อารมณ์หงุดหงิด มีรูปชี้นิ้ว หน้างอ หน้าหงิก นายกฯ หงุดหงิด เรื่องการต่ออำนาจ ต่อทอดไปเรื่อยเปื่อย เขียนนิยายไปเรื่อย” นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวเสียงดังเมื่อถูกถามว่า มีการทำประชามติเพื่ออยู่ต่อหรือไม่
สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและระยอง ของนายกรัฐมนตรีวันที่ 10 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ทำไม ต้องกลัวใครอีก ก็ไปตรวจดูพื้นที่ ดูแลการปลูกป่า การบริหารจัดการน้ำ แล้วมันจะมีอะไรเกินไปกว่านั้น ใครจะมาทำร้ายผม เรื่องนี้มีกำหนดเวลา แผนการอยู่แล้ว เดี๋ยวโฆษกก็แถลง ท่านมาถามเหมือนคราวที่แล้วที่จะมีการประชุม ครม.นอกสถานที่ที่ จ.เชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนนี้ว่าผมกลัวหรือไม่ ก็ถามกันแบบนี้ล่ะ ทำไม ผมจะเลือกไปไหนไม่ได้หรือ"
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทำให้นายกฯ เสียสมาธิหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวตัดบทด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “ไม่มี มีก็จับ ไม่สนใจ ไม่ตอบ ถามเรื่องอื่น ถ้าไม่มีพอแล้ว กลับบ้าน”
วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้นำรายชื่อ 50,000 รายชื่อยื่นต่อ ครม. สปช. และ สนช. เพื่อให้มีการทำประชามติถามประชาชนด้วยว่าต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ปฏิรูปก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่
พระพุทธะอิสระกล่าวว่า วันนี้นำรายชื่อจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ มามอบให้แก่ สปช.และ สนช.เพื่อทำประชามติ ให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินงานต่อเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยการรวบรวมรายชื่อในครั้งนี้ใช้เวลา 2 วัน ซึ่งมีมากกว่าจำนวนที่นำมายื่น ทั้งนี้ ขอร้องไม่ให้ถอดสมัชชาคุณธรรมและสมัชชาพลเมือง ซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนออกจากรัฐธรรมนูญ
“รายชื่อที่มามอบคือ 5 หมื่นชื่อ แต่ถ้าไม่พอจะเอามาให้ 5 ล้าน เพื่อให้กำลังใจคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาล คิดว่าถ้าเลือกตั้งแล้วยังปฏิรูปไม่สำเร็จ เราไม่มั่นใจและไม่ศรัทธาต่อพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะปฏิรูปได้สำเร็จตามเป้าของภาคประชาชน แต่เชื่อใจในรัฐบาล คสช. จึงขอร้องให้ปฏิรูปก่อนจึงจัดการเลือกตั้ง” พระพุทธะอิสระกล่าวและว่า การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลคสช.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การขอให้มีการเปิดช่องทางทำประชามติเพื่อทำความคิดเห็นของประชาชนในปัญหาสำคัญ โดยปัญหาหนึ่งในหลายเรื่องคือ ประชาชนควรมีสิทธิ์และแสดงความคิดเห็นว่าให้ปฏิรูปประเทศก่อนจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ โดยการดำเนินการจัดทำประชามตินั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องทำในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ประชาชนอยากให้รัฐธรรมนูญปี 2557 ระบุช่องทางทำประชามติเรื่องสำคัญต่างๆ ด้วยนอกจาก รธน. แค่เปิดช่องทางให้เท่านั้น ซึ่งหลังจากวันนี้เป็นเรื่องของประธาน สปช. โดยจะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวกรณีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่ออีก 2 ปีว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าจะอยู่สืบทอดอำนาจต่อไป ก็อาจจะถูกคนบางกลุ่มเอามาเป็นเงื่อนไขเบี่ยงเบนประเด็นว่าตระบัดสัตย์ ต้องการมีอำนาจ เสพติดอำนาจ ออกมาเคลื่อนไหวสร้างปัญหาให้เกิดแรงกระเพื่อมได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร กลุ่มใดก็ตามรวมทั้งแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องแสดงออกถึงความจริงใจ มุ่งมั่นทุ่มเท ประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าจะจัดการปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ อะไรให้เสร็จบ้างนับแต่เวลาบัดนี้.