PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ที่ปรึกษารองนายกฯจวก "คน ปชป."มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำยังเดินหน้า

จวก "คน ปชป."มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำยังเดินหน้า
Cr:ผู้จัดการ
“ไพศาล”จวก คน ปชป.มั่ว! ปล่อยข่าว“จีนยกเลิกรถไฟทางคู่กับไทย” ย้ำโครงการยังคงเดินหน้าตามแผนที่รัฐบาลแถลงไว้“บิ๊กตู่” ย้ำไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ใคร แต่ต้องเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ ร่วมลงทุนร่วมสร้างระบบเครือข่ายให้ได้ สั่งคมนาคม ชี้แจงการกู้เงินหลายครั้ง ให้ประชาชนเข้าใจ หลัง ไฟเขียวทำสัญญากู้ไจก้า 1 หมื่นล้านบาท เร่ง “รถไฟสายสีแดง” ระยะ 2
วันนี้(9 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ต้องมีการลงทุนถนน เส้นทาง ซึ่งตนบอกว่าต้องชัดเจน อย่าให้มาพูดว่าการทำรถไฟทั้ง 3-4 ขนาดไปโยงถึงใคร เส้นทางเหล่านี้จะเชื่อมต่อไปประเทศเพื่อนบ้านและติดต่อประชาคมโลกจึงต้องทำ ส่วนในประเทศนั้น ขนาด 1 เมตรก็พอแต่ต้องเป็นเส้นทางคู่ให้ได้แล้วกัน ส่วนการลงทุนด้วยรถไฟความเร็วสูงต้องคิดมา ถ้าประเทศไหนสนใจก็มาเจรจาพูดคุยต่อไป
“ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ใคร แต่ต้องเจรจาแบบรัฐต่อรัฐให้ได้ รวมถึงการลงทุนร่วมที่จะต้องสร้างระบบเครือข่ายให้ได้ทั้งรถไฟ รถยนต์และรถไฟฟ้า โดยตนต้องการให้เมืองขยายออกไปเชื่อมไปยังปริมณฑลไม่ใช่มาแออัดอยู่ในกรุงเทพฯ”
ด้าน นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วน ตำหนินักวิชาการการเมืองที่อ้างว่าเป็นเชี่ยวชาญเรื่องรถไฟ ระบุว่า “จีนยกเลิกโครงการรถไฟทางคู่กับไทยแล้ว” ว่า “จากการตรวจสอบ ยืนยันว่าจีนไม่ได้ยกเลิกโครงการรถไฟทางคู่ ไทยจีน และโครงการดังกล่าวยังคงเดินหน้าตามแผนที่รัฐบาลแถลงไว้”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า “ผิดหวัง! จีนไม่ร่วมลงทุนรถไฟไทย-จีน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อขอให้รัฐบาลจีนร่วมลงทุนด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ”
อีกด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในร่างสัญญาการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะที่ 2 ในวงเงิน 38,203 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ที่ไทยได้เคยกู้เงินจากญี่ปุ่นมาแล้ว 63,018 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทย 22,783 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2552 และการกู้เงินในระยะที่ 1 จะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้
"กระทรวงการคลังได้เสนอขอความเห็นชอบในร่างสัญญากู้เงินจากไจก้าที่เป็นของรัฐบาลญี่ปุ่น และขออนุมัติกู้เงินในนามของรัฐบาลไทย โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการและส่งต่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้กู้ยืมเงินต่อจากกระทรวงการคลัง ซึ่งครม.ก็มีมติเห็นชอบตามนั้น" รองโฆษกฯ ระบุ
สำหรับสัญญาการกู้เงินในโครงการระยะที่ 2 นี้ เป็นการกู้เงินในระยะเวลา 20 ปี ปลอดหนี้ 6 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.40% อย่างไรก็ดี จากโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงนี้ มีการกู้เงินรวมทั้งสิ้น 42,783 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินจากต่างประเทศ(ไจก้า) 32,783 ล้านบาท และการกู้เงินในประเทศอีก 10,000 ล้านบาท
"นายกฯ ปรารภว่าให้กระทรวงคมนาคมนำรายละเอียดของรถไฟสายสีแดงที่มีการกู้เงินหลายๆ ครั้ง มาทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจน ว่าโครงการนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อไร จะเสร็จสิ้นเมื่อไร และมีแผนการกู้เงินอีกกี่ครั้ง พร้อมกับเน้นย้ำว่าต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในต่างจังหวัดด้วยว่าประชาชนในต่างจังหวัดจะมีส่วนตรงนี้มากเพียงใด ต้องชี้แจงว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการระบบขนส่งในพื้นที่ชุมชนเมือง ถ้าไมลงทุนทำ จะมีปัญหาจราจร ความคับคั่ง และเรื่องอื่นๆ ตามมา ซึ่งถือว่าวางรากฐานด้านคมนาคมเป็นการลงทุนที่มีความเหมาะสมต่อผลตอบแทนในระยะยาว" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ.

ไม่มีความคิดเห็น: