PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รู้จัก บรรพต ให้มากขึ้น จากปากคำของ หัสดิน อุไรไพรวัน




เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทหารกรมทหาราบที่ 11 รอ. คุมตัว นายหัสดิน อุไรไพรวัน อายุ 64 ปี หรือผู้ใช้นามแฝง "บรรพต" ผู้ต้องหาผลิตและเผยแพร่คลิปวีดีโอหมิ่นเบื้องสูง ส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.)  เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา 

ในช่วงแถลงข่าว เจ้าหน้าที่ ได้เปิดโอกาสให้ นายหัสดิน  กล่าวเปิดใจกับสื่อและตอบข้อซักถาม 


นายหัสดิน อุไรไพรวัน หรือ บรรพต กล่าวว่า    ขอบคุณ ทหาร ตำรวจ และกอ.รมน.ที่สนธิกำลังจับกุมตน ขอบคุณที่ทหารภายใต้เผด็จการดูแลตนอย่างดีขณะควบคุม  สอบถามตนด้วยดี ไม่มีการทำร้ายคนที่ควบคุมอย่างที่เคยปรากฏในโลกโซเชียลมีเดียแต่อย่างใดและเชื่อว่าเมื่อถูกควบคุมตัวด้วยตำรวจจะดูแลตนอย่างดีเช่นกัน

“ผมเป็นตัวโจกของเรื่องทั้งหมดและทำให้คนอื่นๆที่ถูกจับกุมและครอบครัวเดือดร้อนเสียหาย ตอนนี้รู้สึกเบื่อหน่าย อยากเลิก ขอไถ่บาปให้ตัวเอง และไปรับฐานานุกรรมตามที่ตัวเองควรได้รับ ขอบอกถึงการเสพสื่อขอให้ทุกท่านเสพอย่างมีตรรกะ    เหตุผล ต่อจิ๊กซอว์เอาเอง เสพอย่างระวังอย่าตกเป็นเครื่องมือคนอื่น  และที่อยากบอกเหล่าวิทยากรทั้งหลายที่ทำแบบผม ถ้าคิดว่าจะมอบตัวขอให้ติดต่อมาทาง โฆษกตร. รับรองว่าไม่มีการทารุณกรรมแน่นอน

จากนี้ผมต้องไปรับกรรมตามที่ตัวเองทำ ไม่รู้จะได้รับการอภัยโทษเมื่อไหร่ ผมย้ำอีกครั้งผมคือบรรพต ไม่ใช่อากง (นายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง นักโทษในความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112) ใครก็ตาม ทั้งเอ็นจีโอ หรือกลุ่มไหน อย่าเอาโมเดล    กรอบความคิด (paradigm)  ของอากงมาใช้กับผม คนที่จะเข้าเรือนจำไปหาผม เพื่อจะพบผมแล้วแสวงหาผลประโยชน์จากผมขอให้หยุดเลย ไม่ต้องมาทำแบบนี้” นายหัสดิน

จริงๆ แล้ว   คลิปที่เผยแพร่นอกจากเรื่องการเมืองแล้วยังมีเรื่องอายุรเวชศาสตร์ด้วย มีคุณธรรมโลก ประวัติศาสตร์โลก แต่ในเรื่องที่หมิ่นเหม่ตนคงไม่เหมาะจะตอบขณะอยู่ในสถานะผู้ต้องหา

นายหัสดินกล่าวว่าไม่มีทุนจากแหล่งใดสนับสนุนมีรายได้จากการทำเสื้อขาย โดยเสื้อก็ไม่มีการหมิ่นฯแต่อย่างใด  มีคนศรัทธาในตนจำนวนหนึ่งทำให้เสื้อขายได้ ไม่ถึงกับรวยแต่พอมีรายได้มาแบ่งปันกัน  ทั้งนี้ในการอัดเสียง แปลงเสียง ใส่ดนตรี ฝากลิงค์ แชร์ในโซเซียลต่างๆในชื่อบรรพต ทำด้วยตัวเองคนเดียวทั้งหมด  ศึกษาการทำแบบครูพักลักจำ ทั้งนี้มีคนอื่น วิทยากรลักษณะนี้คนอื่นๆพยายามมาลิงค์มาร่วม แต่ตนไม่ยอมรับ

นายหัสดิน กล่าวว่า เหตุที่ใช้ชื่อบรรพต เพราะในชีวิตมีไอดอล 2 คน คนแรกคือนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ตนจึงมีวิธีพูดคล้ายคลึงนายสมัครมาก อีกคนคือดร.บรรพต วีระสัย ซึ่งตนชื่อชอบสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นคนมีความรู้แตกฉานในพุทธศาสนา ตนทึ่งและพยายามเลียนแบบ ทุกวันนี้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีครูบาอาจารย์เป็นสงฆ์หลายรูป

“ตอนนี้ผมหลง หลงผิดขอไถ่บาป อยากให้ทุกอย่างมันค่อยๆ สงบลง    คนอื่นๆ ที่ถูกจับก่อนหน้านี้จะได้สบายใจขึ้น เขาเป็นเพียงผู้ศรัทธาและงมงายในตัวผม ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับผม” นายหัสดินกล่าว และว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใด พยายามเข้ามาลิงค์ตนบล็อกหมดทั้งอาจารย์ชูพงศ์ นายสุรชัย กลุ่มการเมืองหลายฝ่ายพยายามติดต่อดึงตนไปเป็นแนวร่วมบ่อยครั้งแต่ตนไม่เอาด้วย  ตนยอมรับว่าหลงตัวเองหนักมาก 

คสช.ชี้แจงสถานการณ์การเมืองกับฑูต25ปท.

คสช. ชี้แจงสถานการณ์ความมั่นคงไทยต่อผู้ช่วยทูตทหารนานาชาติ ยืนยันยังคงกฏอัยการศึกเพราะสถานการณ์ละเอียดอ่อน ด้านต่างชาติจี้ถามเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งไทยย้ำปรับบทบาทให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการประชุมชี้แจงสถานการณ์ความมั่นคงของไทยต่อผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศกว่า 25 ประเทศ โดยมี พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร รองเสนาธิการทหารบก พร้อมด้วย พล.ท.ปณต แสงเทียน เจ้ากรมข่าวทหารบก เป็นประธานการประชุมชี้แจง ซึ่งนับเป็นการเรียกผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศเข้าชี้แจงครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ คสช.เข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าสังเกตการณ์การประชุมชี้แจงดังกล่าว และไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้ช่วยทูตทหารนานาชาติหลังการประชุม
พล.ท.ศุภกร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้พบผู้ช่วยทูตทหารต่างชาติ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นที่นานาชาติมีข้อสงสัยแบบหน้าต่อหน้า เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ทั้งนี้ผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศบางส่วนมองว่าการที่ไทยคงกฎอัยการศึกไว้ไม่น่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ เพราะเป็นการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงว่า ได้อธิบายถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ยังมีความจำเป็น เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังคงละเอียดอ่อน ซึ่งปัจจัยหลักในการประกาศใช้ก็เพื่อห้ามไม่ให้มีการชุมนุม และเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิด พร้อมกันนี้ขอยืนยันว่า การคงกฏอัยการศึกก็เพื่อให้การบริหารประเทศมีความเป็นเอกภาพเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้ช่วยทูตทหารจากประเทศต่าง ๆ ได้มีการตั้งคำถามเพิ่มเติมถึงการปฏิรูปกองทัพไทย ซึ่งทางกองทัพบกชี้แจงว่า มีการปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน เช่น การดูแลเรื่องยาเสพติด แก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและประชาชน
พ.อ.วินธัย ยังกล่าวว่า การชี้แจงครั้งนี้ผู้ช่วยทูตทหารจากประเทศต่าง ๆ ไม่ได้พูดถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอลี้ภัยทางการเมืองแต่อย่างใด โดยเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงไม่มีเจตนาขอลี้ภัยตามกระแสข่าว เพราะมีการแสดงความพร้อมในการสู้คดี แต่หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องการขอลี้ภัยจะทำได้หรือไม่นั้น คงต้องดูที่ขั้นตอนและเงื่อนไขในเรื่องดังกล่าวต่อไป


การลี้ภัยทางกรเมืองของ"ทักษิณ"

การลี้ภัยทางการเมือง การส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเเละความผิดทางการเมือง

บทความ "ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช" อธิบายหลักการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและข้อสังเกตุต่อจดหมาย "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่แฝงประเด็นข้อกฎหมายอาจต้อง "ถอดรหัส" ต่อไป
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


บทนำ
การปฎิเสธที่จะมารายงานตัวต่อศาลของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี พ... ทักษิณ ชินวัตร โดยอดีตนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะขอลี้ภัยทางการเมืองเเทนนั้น ได้ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ประชาชนเเละสื่อเเขนงต่างๆ มากว่าเรื่องลี้ภัยทางการเมืองเป็นอย่างไร รัฐบาลไทยจะใช้ช่องทางการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้หรือไม่ ข้อเขียนนี้จะอธิบายหลักการการสำคัญเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวดังนี้

การลี้ภัยทางการเมือง (Political Asylum)
การลี้ภัยทางการเมืองของบุคคลนั้นเป็นที่รับรองทั้งในตราสารระหว่างประเทศอย่างปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากล(Universal Declaration of Human Rights) มาตรา 14 (1) ที่รับรองว่าบุคคลมีสิทธิที่จะเเสวงหาที่ลี้ภัยจากการประหัตประหาร (หรือการคุกคามรวมถึงกฎหมายภายในของรัฐ เช่นรัฐธรรมนูญ (หรือกฎหมายพื้นฐานของประเทศเยอรมัน(มาตรา 16 (2) รัฐธรรมนูญของอิตาลี (มาตรา 10) รัฐธรรมนูญสาธารณะรัฐเชก (มาตรา 43) เป็นต้น ในขณะที่บางประเทศได้รับรองสิทธิการลี้ภัยไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เช่น ใน Refugee Act ของสหรัฐอเมริกา

การลี้ภัยทางการเมืองนั้นเป็นนิติสัมพันธ์สองฝ่ายระหว่างบุคคลที่ขอสิทธิลี้ภัยกับประเทศที่รับคำร้องการขอลี้ภัย ในทางกฎหมายต่างฝ่ายต่างมีสิทธิด้วยกันทั้งคู่ กล่าวคือ บุคคลทั่วไปมีสิทธิที่จะร้องขอการลี้ภัย (right to Seek Asylum) ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสิทธิของรัฐที่จะให้หรือไม่ให้การลี้ภัยเเก่บุคคลนั้น (the Right of State to Grant Asylum) การให้การลี้ภัยหรือไม่เป็นดุลพินิจของรัฐ ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศเเละกฎหมายภายในใดที่กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะให้ที่ลี้ภัยทางการเมือง การที่บุคคลใดจะได้รับสิทธิลี้ภัยทางการเมืองหรือไม่ย่อมเป็นไปตามกฎหมายเเละกฎระเบียบรวมถึงดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นๆ เช่นในประเทศฝรั่งเศสหน่วยงานที่ชื่อว่า French Office for the Protection of Refugees and Stateless Persons มีหน้าที่พิจารณาเรื่องการลี้ภัย

ส่วนเงื่อนไขที่บุคคลจะอยู่ในข่ายที่จะได้รับสิทธิลี้ภัยนั้น ส่วนใหญ่กฎหมายของเเต่ละประเทศจะอิงหรืออาศัยคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยค.. 1951 รวมทั้งพิธีสาร ค.. 1967 เป็นเเนวทางในการพิจารณา ส่วนเรื่องขั้นตอนวิธีการการขอเเละการอุทธรณ์เป็นไปตามกฎหมายภายในของเเต่ละประเทศ เงื่อนไขประการสำคัญที่ผู้ร้องจะได้รับสิทธิการลี้ภัยก็คือ ความเกรงกลัวว่าจะถูกประหัตประหาร (Persecute) โดยมีการเลือกปฎิบัติด้วยเหตุผลทางชาติพันธุ์ (race) ศาสนา(religion) สัญชาติ (Nationality) การเป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เเละความคิดเห็นทางการเมือง (Political opinion)ซึ่งคำว่า "ความคิดเห็นทางการเมือง" นั้นมีความหมายกว้าง

สำหรับตัวอย่างของการให้สิทธิลี้ภัยทางการเมืองนั้น เช่น กรณีที่ประเทศฝรั่งเศสให้สิทธิเเก่ นาย Irakli Okruashvili อดีตรัฐมนตรีของจอร์เจียเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งกรณีของนาย Irakli Okruashvili ก็มีประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเหมือนกัน

การส่งผู้ร้ายข้ามเเดน (Extradition)
การส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาคมระหว่างประเทศใช้ในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาที่หนีไปประเทศอื่น โดยปกติเเล้ว อำนาจอธิปไตยของรัฐย่อมจำกัดเฉพาะภายในดินเเดนหรืออาณาเขตของตนเท่านั้น ตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐหนึ่งจะใช้อำนาจอธิปไตยเหนือกว่าอีกรัฐหนึ่งโดยที่รัฐนั้นไม่ยินยอมไม่ได้ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยได้ไปอยู่ต่างประเทศ รัฐเจ้าของสัญชาติของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยจะส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปจับกุมในต่างประเทศไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ดังนั้น รัฐเจ้าของสัญชาติจึงต้องร้องขอให้มีการช่วยเหลือที่จะติดตามจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยมาให้ โดยปกติเเล้ว ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนจะกระทำในรูปของสนธิสัญญาทวิภาคีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ซึ่งเป็นฐานของความร่วมมือระหว่างรัฐที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน(Requesting state) กับรัฐที่ถูกร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามเเดน (Requested state) อย่างไรก็ดี หากไม่มีสนธิสัญญาระหว่างกัน รัฐก็สามารถใช้ "หลักต่างตอบเเทน" (Reciprocity) ได้ (ซึ่งผิดกับกรณี "การโอนตัวนักโทษที่ต้องมีสนธิสัญญาระหว่างรัฐที่ร้องขอกับรัฐที่ได้รับการ้องขอเสมอ)

อย่างไรก็ดี เเม้จะมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามเเดนก็ตามก็มิได้หมายความว่า เมื่อมีการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนเเล้ว รัฐที่ได้รับการร้องขอจะต้องส่งให้ตามคำร้องเสมอ โดยปกติเเล้ว ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนหรือกฎหมายภายในเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนจะระบุเงื่อนไขหรือเกณฑ์ที่ใช้พิจารณารวมถึงข้อยกเว้นบางประการด้วย เกณฑ์หรือเงื่อนไขของการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนที่สำคัญคือ

ประการเเรก ความผิดที่จะส่งให้เเก่กันได้นั้นต้องเป็นความผิดของทั้งสองประเทศคือทั้งของประเทศที่ร้องของเเละประเทศที่ได้รับการร้องขอ ไม่ว่าจะเรียกฐานความผิดในชื่อใดก็ตาม เกณฑ์นี้นักกฎหมายเรียกว่า Double-criminality หรือ Double-jeopardy

ประการที่สอง โทษขั้นต่ำของฐานความผิด (เช่น ต้องไม่ต่ำกว่า 1 ปี)

ประการที่สาม ความผิดที่จะถูกดำเนินคดีได้เมื่อมีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนตามคำขอนั้น รัฐที่ร้องขอจะพิจารณาคดีเเละลงโทษได้เฉพาะความผิดที่ร้องขอเท่านั้น จะไปดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนไม่ได้ เกณฑ์ข้อนี้มีไว้เพื่อป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีในควาผิดที่ไม่อาจส่งผู้ร้ายข้ามเเดนให้เเก่กันได้ เเต่รัฐได้อาศัยช่องทางของการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ในความผิดฐานหนึ่งเพื่อไปดำเนินคดีหรือลงโทษในอีกความผิดฐานหนึ่ง เกณฑ์นี้เรียกว่า"Speciality"

ความผิดทางการเมือง (Political Offences)
เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ประเทศตะวันตกหลังการปฎิวัติฝรั่งเศสว่า การเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เเตกต่างกันเป็นสิ่งปกติในสังคมระบอบประชาธิปไตยเเละเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญยิ่ง ดังนั้น หากบุคคลได้กระทำความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองเเล้ว ความผิดทางการเมืองย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะส่งผู้ร้ายข้ามเเดน

ปัญหาก็คือสนธิสัญญาทวิภาคีส่งผู้ร้ายข้ามเเดนก็ดี กฎหมายภายในของรัฐเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนก็ดี ไม่ได้มีการให้คำนิยามว่า ความผิดทางการเมืองคืออะไร โดยปกติเเล้ว การพิจารณาว่าความผิดใดเป็นความผิดอาญาธรรมดาหรือความผิดทางการเมืองนั้น เป็นดุลพินิจหรือเป็นปัญหาการตีความขององค์กรตุลาการของรัฐที่ได้รับการร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดน ไม่เกี่ยวกับรัฐที่ร้องขอเเต่อย่างใด ปัญหาขอบเขตของความหมายความผิดทางการเมืองนั้นเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากอยู่มิใช่น้อยเนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้พิจารณานั้นมีอยู่หลายเกณฑ์ เเละในหลายกรณีศาลก็มิได้อาศัยเกณฑ์หนึ่งเกณฑ์ใดเป็นปัจจัยชี้ขาด เเต่ศาลอาจพิจารณาเกณฑ์อื่นๆ ควบคู่กันไป อีกทั้งทางปฎิบัติของเเต่ละประเทศก็มีความเเตกต่างกันไปด้วย การกระทำบางอย่างอาจมองว่าเป็นความผิดทางการเมืองอย่างเเจ้งชัด เช่น การประท้วงทางการเมือง การก่อกบฎ การต่อสู้เพื่อเเย่งชิงอำนาจทางการเมืองหรือต่อสู้เรียกร้องเอกราช การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง เป็นต้น การกระทำเหล่านี้นักกฎหมายใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า "Incident test"

อย่างไรก็ดี ความผิดทางการเมืองในปัจจุบันมิได้จำกัดเเค่ "ความผิดทางการเมือง" (political offence) เเต่เพียงอย่างเดียวเเต่อาจรวมถึง "ความผิดที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดทางการเมือง" (an offence connected with a political offence) ด้วยอย่างเช่น กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามเเดนระหว่างประเทศอังกฤษกับไอร์เเลนด์ ฉะนั้น ปัจจุบัน นักกฎหมายบางท่านจึงใช้คำว่า ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง (Political character) เเทน

นอกจากนี้ ความผิดทางการเมืองมิได้จำกัดเพียงเเค่ "การกระทำ" (act) ของผู้กระทำเเต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เข้าใจกัน เเต่รวมถึงปัจจัยอย่างอื่นด้วย เช่น เเรงจูงใจของรัฐบาลที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนว่ามีเเรงจูงใจทางการเมืองเเอบเเฝงหรือไม่ ที่เรียกว่า "Political Motive of the Requesting State" หรือ การปฎิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trail) หากศาลพิจาณาเเล้วเห็นว่า สิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ของจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวว่าจะถูกละเมิด ศาลก็อาจปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจะเลยจะต้องเเสดงให้ศาลเห็นว่า สิทธิการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมหรือสิทธิมนุษยชนอื่นๆของตนจะถูกละเมิดได้

ยิ่งไปกว่านั้น ศาลของหลายประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับระบอบการปกครองของประเทศที่ร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนด้วยว่ามีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากน้อยเเค่ไหน มีการรับรองหลักนิติรัฐหรือไม่ เกณฑ์นี้เรียกว่า "the Political Structure of the Requesting Stateเกณฑ์นี้ศาลอังกฤษเคยใช้ในคดี Kolczynski โดยศาลอังกฤษปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามเเดนไปให้ประเทศโปเเลนด์ ซึ่งพิจารณาตามมาตรฐานของประเทศอังกฤษ (หรือประเทศตะวันตกเเล้ว โปเเลนด์ในเวลานั้นยังไม่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานของประเทศตะวันตก

ข้อสังเกตจดหมาย (ที่ไม่ธรรมดาของอดีตนายกรัฐมนตรี
จดหมายที่อดีตนายกรัฐมนตรีส่งตรงมาจากกรุงลอนลอนนั้น หากคนธรรมดาทั่วไปอ่านคงคิดว่าเป็นการระบายความในใจต่อพี่น้องประชาชน เเต่หากพิจารณาเนื้อความอย่างละเอียดเเล้ว จดหมายนี้ยังเเฝงประเด็นข้อกฎหมายต่างๆไว้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องต้อง "ถอดรหัสต่อไป

บทส่งท้าย
การใช้สิทธิลี้ภัยทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ตามที่รับรองไว้ในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ส่วนจะได้สิทธิลี้ภัยหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเเละขั้นตอนของประเทศอังกฤษ หากประเทศอังกฤษให้สิทธิลี้ภัยเเก่อดีตนายกรัฐมนตรีเเล้วจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่นั้นน่าคิดไม่น้อย เเต่หากรัฐบาลไทยใช้ช่องทางของการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนโดยที่ศาลอังกฤษปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามเเดนโดยเห็นว่าเป็นความผิดทางการเมืองหรือเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คืออาจมี "เครื่องหมายคำถามมากมายเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเเละหลักนิติรัฐของประเทศไทยว่าได้มาตรฐานอย่างประเทศตะวันตกหรือไม่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

คนไทยลี้ภัยต่างประเทศในปี2557จำนวนมาก

คนไทยขอลี้ภัยในต่างประเทศ สู้..เพื่อประชาธิปไตยให้แผ่นดินแม่ สู้..อย่างไร


การจะตอบคำถามที่ว่า “ทำไมต้องหลบลี้ หนีภัย ไปอยู่ต่างประเทศ” ของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขณะนี้น่าจะได้คำตอบและยอมรับตัวเองแล้วว่าเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อาจจะมึนงง สับสน ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไรกับอนาคตหรือชีวิตของตัวเอง เมื่อไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย กับการรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
คนไทยที่ออกไปลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศอาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยของชาวต่างชาติ หรือรัฐบาลต่างประเทศมากนัก เพราะตลอดเวลากว่าร้อยที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยผ่านวิกฤติสงครามกลางเมือง หรือ สงครามระหว่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนเป็นจำนวนมากมาก่อน
หากบอกว่า เป็นคนไทย จะขอลี้ภัยทางการเมือง สำหรับชาวต่างชาติที่ไม่ได้สนใจ หรือไม่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทย ระยะ 7-10 ปีที่ผ่านมา อาจจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย จึงต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศอื่น
เพราะความรู้สึก หรือการรับรู้ของคนเกือบทั่วโลกที่ว่า ประเทศไทยเป็นสยามเมืองยิ้ม คนไทยรักสงบ ประเทศไทยไม่เคยมีความขัดแย้งรุนแรงกับใคร หรือไม่เคยขัดแย้งกันเองในหมู่คนไทยด้วยกัน
ต่างชาติไม่เคยเห็นภาพคนไทยต้องหอบลูกจูงหลานหนีตาย ไปพึ่งใบบุญประเทศอื่น มีแต่คนบ้านเมืองอื่นมาพึ่งใบบุญประเทศไทย ตามการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยที่ผ่านมา
แต่ปัจจุบัน ประเทศไทย สังคมไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนแปลงไปแล้วด้วยหลายเหตุ หลายปัจจัย
ความจริงแล้ว ประเทศไทยและสังคมไทย เป็นสังคมปิดมาโดยตลอด จะด้วยความหวาดกลัวจากยุคล่าอาณานิคมที่ยังหลงเหลือติดค้างไม่ได้จางหายก็มีส่วนอยู่มาก ความหวาดกลัวนี้ถูกแทรกซึม เร้นแฝงอยู่ในระบบการศึกษา ค่านิยมและประเพณีวัฒนธรรมที่บ่มเพาะความเป็นคนไทยมาโดยตลอด
คนไทยยังไม่ไว้วางใจคนเชื้อชาติอื่น ศาสนาอื่น อาจจะมีความเป็นมิตรไมตรี ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่จะให้ไว้ใจ เชื่อมั่นคงไม่ใช่
เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป ความเป็นโลกาภิวัตน์เข้ามาแทนที่ การไหลทะลักเข้ามาของทุนนิยมเสรี หลักคิด ความเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพ การต่อสู้เรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเจริญก้าวหน้าทางการสื่อสารของมวลมนุษยชาติ
ทำให้สังคมปิดแบบไทยๆ จึงถูกบีบคั้น ถูกกดดัน จากโลกภายนอกอย่างรุนแรงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และอย่างที่พวกเราคนไทยได้เห็นประจักษ์แก่สายตาแล้วในขณะนี้
การต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย กลุ่มผู้มีอำนาจที่ควบคุมโครงสร้างสังคมไทยในเกือบทุกมิติ ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้ซึมซับการต่อสู้ของบรรพบุรุษที่เคยต่อสู้กับฝรั่งมาแล้วในยุคล่าอาณานิคม จึงปฏิเสธกระแสโลกยุคใหม่ กลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์และมีอำนาจที่ต้องรักษาไว้ ก็รวมกลุ่มกัน เพื่อต่อรองและต่อสู้ซึ่งกันและกัน
ส่วนประชาชนที่ถูกบังคับกล่อมเกลาให้อยู่กับความเป็นสังคมไทยแบบปิดก็ต่อสู้อยู่กับกลุ่มประชาชนคนไทยที่ต้องการปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับกระแสโลกยุคใหม่ ที่ให้โอกาส ให้สิทธิเสรีภาพในการดำรงชีพมากกว่าสังคมไทยในอดีต
ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้เอง จึงบังเกิดเป็นสี เป็นขั้ว เป็นพรรค เป็นสถาบัน เป็นภาค เป็นจังหวัด ลึกลงไปถึงเป็นครอบครัวเสียด้วยซ้ำ
แม้จะไม่ใช่สงครามกลางเมือง แต่ก็เริ่มส่งสัญญาณที่น่าเป็นห่วงและน่ากลัว เชื่อว่าคนไทยทุกคน ทุกกลุ่มก็เห็นสัญญาณอันตรายนี้ แต่เพราะอะไร ถึงไม่ผนึกกำลังกันหยุดยั้ง ป้องกัน หนำซ้ำกลับแก้ปัญหา หาทางออกให้กับประเทศด้วยวิธีการที่สวนทางกับกระแสโลกยุคใหม่เข้าไปอีก นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว กลับยิ่งสร้างปมปัญหาใหม่ ที่จะเพิ่มเชื้อไฟให้วิกฤติความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทย ณ เวลานี้อยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่า “ฟ้าต่ำ หินแตก และแยกแผ่นดิน” เป็นประเทศที่ยังมองไม่เห็นอนาคต
คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมอยู่กับอนาคตที่มืดมน ไม่เห็นแสงสว่างเลยต้องอพยพหลบหนี ทิ้งแผ่นดินของตัวเองกันออกมา
“เราพยายามเคลื่อนไหว เรียกร้องเพื่อกระตุ้นเตือนสังคมไทยแล้วว่า การจะแก้ปัญหาของประเทศ จะต้องเป็นไปในแนวทางที่โลกเขายอมรับ เราไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร เพราะเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม พวกเราจึงเคลื่อนไหวคัดค้าน เพื่อสะท้อนให้คนไทยได้เห็น แต่สุดท้ายก็ถูกกล่าวหา จึงไม่อาจจะที่อยู่สู้ที่เมืองไทยต่อไปได้” ความรู้สึกของนักศึกษาคนหนึ่งที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านการทำรัฐประหารในประเทศไทย และได้หลบหนีมาอยู่ในอเมริกา และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอลี้ภัยทางการเมือง
คนไทยที่หนีภัยทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศขณะนี้ ไม่มีใครทราบจำนวนที่ชัดเจน และส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยตัวเอง เพราะนอกจากอยู่ระหว่างการขอวีซ่าเพื่อลี้ภัยการเมืองแล้ว พวกเขายังมีพ่อแม่ ญาติพี่น้องที่เมืองไทย การเคลื่อนไหว หรือการให้สัมภาษณ์ใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทย เกรงจะเกิดผลกระทบกับครอบครัว ญาติพี่น้องที่เมืองไทย
อาจจะเรียกได้ว่า ปี พ.ศ.2557 น่าจะเป็นปีที่มีกลุ่มคนไทยหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อขอลี้ภัยการเมือง อยู่ในต่างประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้ เพราะมีหลายกลุ่ม หลายคณะ หลายอาชีพ ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทางตรงคือเข้ามาพร้อมๆ กับการยื่นเรื่องขอวีซ่าลี้ภัยทางการเมืองทันที (Asylum Visa)
ซึ่งวีซ่าประเภทนี้ รัฐบาลของประเทศที่จะยื่นขอ จะต้องทำการพิสูจน์ทั้งหลักฐาน การสัมภาษณ์เจาะลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า หากบุคคลที่ยื่นขอ เดินทางกลับประเทศตัวเองแล้ว จะไม่ปลอดภัยถึงขั้นต้องเสียชีวิต ติดคุก หรือถูกทำร้ายทำร้ายหรือไม่
ขณะเดียวกัน บุคคลที่ยื่นขอจะต้องไม่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรง เป็นสมาชิกของกลุ่มองค์กรที่ใช้ความรุนแรง มีคดีอาญชกรรมติดตัว หากพิสูจน์ ตรวจสอบด้วยพยานหลักฐานที่ชัดเจนแล้วก็ได้รับอนุมัติในเวลาเพียงไม่นาน
ส่วนกลุ่มที่ลี้ภัยการเมืองทางอ้อม ก็อาจจะหอบเงินเข้ามาทำธุรกิจ ลงทุนในจำนวนเงินที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ กำหนด หรืออาจจะมาเป็นโรบินฮู้ดไปก่อนแล้วค่อยๆ หาช่องทางเพื่อที่จะอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ และอีกฐานะหนึ่งคือ เลขาธิการองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Free Thai Organisation for Human Rights and Democracy) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วขณะนี้ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องหนีออกมาต่อสู้ในต่างประเทศว่า “หัวใจสำคัญที่ผมตัดสินใจหนีออกมาสู้ในต่างประเทศ เพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เราต้องการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม กี่ปี่มาแล้ว กี่ครั้งมาแล้ว ที่ประเทศไทยเกิดการทำรัฐประหาร แต่สุดท้ายประเทศก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แสดงว่ามันต้องมีอำนาจอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องการให้คนไทยเป็นเจ้าของอธิปไตยอย่างแท้จริง หรือไม่ต้องการที่ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ”
ความเป็นอดีตนักการเมือง ออกมาเป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในต่างประเทศ อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่ชอบธรรมในการเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ เพราะอาจจะถูกมองว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
“ผมลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะเดินทางออกนอกประเทศไทยด้วยซ้ำ และตอนนี้ ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับพรรคเพื่อไทยอีกแล้ว หรือแม้แต่กับกลุ่ม นปช. ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันอีกแล้ว ผมเคลื่อนไหวในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเอง” นายจารุงพงศ์ กล่าวยืนยันจุดยืนและสถาภาพของตัวเองในขณะนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่า หากเมืองไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ก็จะไม่เล่นการเมืองอีกต่อไปแล้วเช่นกัน
พร้อมทั้งย้ำด้วยว่า การถือกำเนิดขึ้นขององค์การเสรีไทยฯ ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือใดๆ จากพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือตระกูลชินวัตร
“คุณทักษิณเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐประหาร มีชะตากรรมเดียวกับคนไทยที่ถูกยึดอำนาจไป ซึ่งคุณทักษิณ ไม่ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรเสรีไทยเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านใด เราเป็นกลุ่มคนไทย ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ประชาชน นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ที่รักในประชาธิปไตย และมีเป้าหมายเดียวกันคือการคัดค้านรัฐประหาร ต้องการให้ประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เรารวมตัวกัน สนับสนุนช่วยเหลือกันเอง ดูแลกันเอง โดยได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญ” นายจารุพงศ์ชี้แจง
กลุ่มคนไทยที่ทำธุรกิจ ทำงาน เป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว และมีหัวใจรักประชาธิปไตย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ที่คอยให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวขององค์การเสรีไทยฯ และกลุ่มคนไทยผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง
“ไม่ชอบเผด็จการ ไม่ชอบความไม่ถูกต้อง ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้เสียที ประเทศเรายังพัฒนาไปไม่ถึงไหนเพราะอะไร เพราะประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง นี่คือสิ่งที่ผลักดันให้เราออกมาต่อสู้” คุณศักดิ์ เครือข่ายเสรีไทยฯ จากประเทศเบลเยียมบอกกล่าวถึงความรู้สึก และให้ข้อมูลด้วยว่า มีคนไทยที่หนีออกมาอยู่ในประเทศเบลเยียมหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประมาณสิบคน บวกกับกลุ่มคนไทยที่มาก่อนหน้านี้อีกเป็นจำนวนหลายร้อยคนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย แต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะแสดงตัว จะแสดงออกผ่านเฟซบุ๊ก หรือ โซเซียลมีเดียกันมากกว่า เพราะยังมีความกลัวและไม่มั่นใจ แต่เชื่อว่านับจากนี้ไป ก็จะมีการเคลื่อนไหวที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
คุณแพท เครือข่ายเสรีไทยฯ ในสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้ต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมาโดยตลอด และจะต่อสู้ต่อไป คนไทยในเบลเยียมมีเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศเผด็จการ แต่ยังรวมตัวกันไม่ได้ และไม่กล้าเปิดเผยตัว ที่เปิดเผยตัวมีเพียงแกนนำไม่กี่คน แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวจะได้รับการสนับสนุนจากคนที่ไม่พร้อมที่จะออกมา
คุณต้น เครือข่ายเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา บอกว่า ต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาเป็นเวลา 14-15 ปีแล้ว เคยถูกจับกุม คุมขังในเมืองไทยมาแล้วด้วย การที่เข้าร่วมต่อสู้ให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นครั้งสำคัญในชีวิต เพราะถือเป็นการต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ต่อสู้กับความอยุติธรรมในประเทศไทยอย่างเป็นระบบครั้งแรก
“ผมอยู่ในต่างประเทศมาก่อน ผมเห็นประเทศอื่นเขาพัฒนาก้าวหน้าไปกว่าเรามากแล้ว ทั้งๆ ที่บางประเทศเคยล้าหลังกว่าเรามาก แต่ดูประเทศไทยของเราในวันนี้สิ ผมรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือน้อยอกน้อยใจแทนคนไทยทั้งประเทศ ทุกครั้งที่เห็นพลเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีชีวิตอย่างสุขสบาย มีความมั่นคงในอาชีพการงาน ได้รับการดูแลในแง่สวัสดิการจากรัฐบาลเป็นอย่างดี เขาอยู่ในประเทศของเขา อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่คนไทยในประเทศไทย ทำไมถึงอยู่ในบ้านเมืองตัวเองอย่างไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีและเกียรติยศในความเป็นเจ้าของประเทศมาโดยตลอด..ทำไม” คุณต้นเปรียบเทียบอย่างน้อยอกน้อยใจ
คุณต้นกล่าวว่า สิ่งที่เครือข่ายเสรีไทยจะต้องทำ คือการเปิดเผยความจริงให้ชาวโลกได้รับรู้ ให้สังคมโลกเห็นความอยุติธรรมในประเทศไทย การที่คนไทยถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพและถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะต้องร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย
“ประเทศไทยของเราในเวลานี้ ถูกควบคุม หรือยึดครองไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร หรือโอกาสของการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกำมือของผู้มีเงินมีอำนาจเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ คนส่วนน้อยควบคุมเกือบทุกอย่าง ดังนั้น คนไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งพลังของชาวต่างชาติที่เขารักประชาธิปไตย ต้องรวมเป็นพลังเพื่อแก้ปัญหานี้ในประเทศไทยให้ได้ ผมเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้ว เราจะเป็นฝ่ายชนะ” คุณต้นกล่าว
คุณลุงวู้ดดี้ อายุ 70 กว่าปีและเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เครือข่ายเสรีไทยฯ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 14 ตุลา 16 ความตั้งใจของคนไทยในอเมริกา คือการต่อต้านกับเผด็จการที่ไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย อันนี้ชัดเจน ประเทศไทยเริ่มต้นเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งสมัยคุณชาติชาย สมัยคุณทักษิณ แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐประหารไปเสียทุกครั้ง
“คนไทย และประเทศไทย ไม่ควรจะตกอยู่ในวังวนนี้อีกแล้ว ผมสู้มาเยอะแล้ว ถึงตอนนี้ผมไม่กลัวอะไรอีกแล้ว จะสู้จนชีวิตจะหาไม่ จะสู้กับมันจนวันตาย เพื่อให้คนไทยได้อิสรภาพ และเสรีภาพกลับคืนมา เมื่อเราได้เห็นความเจริญของประเทศที่พัฒนามาแล้ว ผมต้องการเห็นเมืองแม่ของเรา มีการพัฒนาประเทศให้เจริญเหมือนประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนาแล้วบ้าง เราจะต้องไม่ให้ลูกหลานของเราต้องมามีชะตากรรมเหมือนกับเรา เราจะต้องต่อสู้เพื่อเขาและเพื่ออนาคตของเขา” คุณลุงวูดดี้กล่าว
คุณรัฐ เครือข่ายเสรีไทยจากประเทศไทย กล่าวว่า เห็นภาพการทำร้ายประชาชนครั้งแรกในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้เห็นความอยุติธรรมในประเทศไทย จากนั้นเริ่มชัดเจนมากขึ้น เมื่อเกิดการทำร้ายประชาชนในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 และเห็นการต่อสู้ของประชาชนตัวเล็กๆ อย่างคุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ รวมทั้งเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ทำให้ตาสว่างขึ้น จึงเข้าร่วมที่จะเคลื่อนไหวให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย
“การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในประเทศไทยเวลานี้ ยังมีอยู่ และมีจำนวนมากด้วย แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน จะเคลื่อนไหวผ่านการใช้ไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นหลัก เพราะถ้าออกมาแล้วจะโดนจับ ถามว่า อยากออกมามั้ย ก็อยากจะออกมา แต่ยังมีกฎอัยการศึก บางคนเมื่อออกมาแล้วก็ถูกจับกุม หรือโดนติดตามตัว มากๆ เข้าก็จะฝ่อไป หรือท้อไปกันเยอะ บางคนคิดว่า สู้ไปก็ไม่ชนะ ที่สำคัญขณะนี้ เราขาดแกนนำที่จะออกมาสู้ ถ้ามีแกนนำ จะทำให้เกิดเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆ ได้มาก” คุณรัฐกล่าว
การพูดคุยกันของกลุ่มบุคคลที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ ที่เข้าร่วมเครือข่ายเสรีไทย และกลุ่มเคลื่อนไหวจากประเทศไทย หลายคน ไม่เคยร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.มาก่อน เพียงแต่เป็นผู้ติดตาม บางประเด็นก็เห็นด้วย และบางประเด็นก็ไม่เห็นด้วยกับ นปช. บางคนระบุชัดเจนว่าไม่ชอบ และไม่พอใจ พรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ และ กลุ่ม นปช. อยู่หลายเรื่อง
สิ่งที่คนกลุ่มนี้รู้สึกร่วมกันคือ การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ให้กับแผ่นดินแม่ของตัวเอง ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อ นปช. ไม่ได้รับใช้พรรคเพื่อไทย และไม่ได้เป็นทาส พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่ถูกกล่าวหาจากคนไทยบางกลุ่ม และรัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไทย นี่เป็นประเด็นสำคัญ
ส่วนวิธีการและรูปแบบการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มนั้น ก็จะเป็นอิสระจากกัน ไม่ติดยึดอยู่กับองค์การเสรีไทยฯ แต่มีเป้าหมายร่วมกันคือ การจะปลดแอกประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากพันธนาการที่กดหัว หรือ กดทับคนไทยอยู่ในขณะนี้