PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

สถานการณ์ข่าว2มี.ค.58

สปช./กมธ.ยกร่างฯ

เทียนฉาย นัดสมาชิกประชุม สปช. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ขณะ บวรศักดิ์ งดพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีคำสั่งนัดสมาชิกประชุมในเวลา 11.00 น. เพื่อพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณา ประธานการประชุมจะให้ตัวแทนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รายงานความคืบหน้า ขณะเดียวกัน วันนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ งดการประชุมพิจารณารายมาตรา เนื่องจากให้กรรมาธิการที่เป็นสมาชิก สปช. ได้เข้าร่วมประชุม สปช. เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญ เพราะพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีความสอดคล้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ
------------------------
พล.ท.นคร ยัน ยกร่าง รธน.รายมาตราเรียบร้อยเกือบ 100% แล้ว เหลือแค่บทเฉพาะกาล "ทิชา" ลาออกไม่กระทบ เดินหน้าทำงานต่อตามกรอบ ใครเข้ามาแทน เป็นเรื่องของ สปช.

พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การพิจารณาเนื้อหายกร่างรายมาตราถือว่าเสร็จสมบูรณ์เกือบครบถ้วนแล้ว เหลือเพียงบทเฉพาะกาลเท่า
นั้น และในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ก็จะเป็นขั้นตอนของการทบทวนเนื้อหา ในมาตราต่าง ๆ เพื่อความรอบคอบ และถูกต้อง ก่อนที่จะส่งให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่ยืนยันว่าเนื้อหาทั้งหมดยังสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ หากมีข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นใหม่ ๆ เข้ามา พร้อมย้ำว่า การยกร่าง รธน.ใหม่นี้ ยึดผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ พล.ท.นคร ยังกล่าวถึงกรณีการลาออกจากกรรมาธิการยกร่าง รธน. และ สปช. ของ นางทิชา ณ นคร ว่า เรื่องสาเหตุ หรือเหตุผลนั้น ไม่สามารถตอบแทนได้ แต่เบื้องต้น กมธ.ยกร่าง ที่เหลือจะต้องเดินหน้าทำงานต่อไป ซึ่งมองว่าการที่ กมธ.ลาออกไป 1 คนไม่ได้กระทบการทำงาน ส่วนจะมีการแต่งตั้งเพิ่มหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ สปช.จะพิจารณาเสนอตามกรอบระยะเวลา 15 วันต่อไป
-----------------------------
สมาชิก สปช. ทยอยเข้าสภาแล้ว เพื่อประชุมกรรมาธิการ 17 คณะ ก่อนพิจารณา พ.ร.บ.คุณธรรมฯ

บรรยากาศก่อนการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะเริ่มขึ้นในเวลา 11.00 น. เพื่อพิจารณารายงานพิจารณาศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.
.... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว ล่าสุด สมาชิก สปช. ทยอยเข้าสภาแล้ว โดยก่อนประชุม สปช. ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 18 คณะ ในการติดตามความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปแต่ละด้านและสามารถทำงานสอดคล้องกับโรดแมปที่วางไว้ ขณะเดียวกัน ถึงแม้วันนี้งดการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่คณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาบทบัญญัติรายมาตรา ที่มี นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน ได้นัดประชุมระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม เพื่อยกร่างบทเฉพาะกาลที่มีกว่า 10 มาตรา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาวันที่ 5 มีนาคมนี้
-------------------
คำนูณ รายงานคืบหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะ สปช.เตรียมสรรหาบุคคลเป็นกรรมาธิการยกร่างแทน ทิชา ณ นคร

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ล่าสุด เปิดการประชุมแล้ว โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณารายงานศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนรายงานความคืบหน้าของการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตรา ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวดผู้นำการเมืองที่ดี เพื่อต้องการสร้างพลเมืองให้เข้มแข็งเป็นใหญ่ มีการวางรากฐานผู้นำการเมืองที่ดี ตรงตามเจตนารมณ์ 4 ประการ ของการเขียนรัฐธรรมนูญนี้ คือ ต้องสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด สมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติ

นอกจากนี้ นายเทียนฉาย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า พรุ่งนี้จะพิจารณาเลือกบุคคลเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แทน นางทิชา ณ นคร ที่ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ โดยต้องดำเนินการเลือกภายใน 15 วัน
----------------------------
สปช.ถกร่างพรบ.สมัชชาฯ-กมธ.รธน.แจงคืบหน้า

สภาปฏิรูปแห่งชาติแห่งชาติ นัดประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยประธานคณะกรรมการที่เสนอเรื่องนี้ ระบุว่า สามารถดำเนินการทันที โดยไม่
ต้องรอรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ขณะเดียวกัน ตัวแทนจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อที่ประชุม สปช.การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันต์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ....ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายเทียนฉาย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า พรุ่งนี้ จะพิจารณาเลือกบุคคลเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แทนนางทิชา ณ นคร ที่ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ โดยต้องดำเนินการเลือกภายใน 15 วัน

 จากนั้น นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนรายงานความคืบหน้าของการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตรา ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี หมวดผู้นำการเมืองที่ดี เพื่อต้องการสร้างพลเมืองให้เข้มแข็งเป็นใหญ่ มีการวางรากฐานผู้นำการเมืองที่ดี ตรงตามเจตนารมณ์ 4 ประการ ของการเขียนรัฐธรรมนูญนี้ คือ ต้องสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด สมดุล  หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติ

ขณะเดียวกัน นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล กล่าวก่อน การประชุม สปช.เพื่อพิจารณารายงานเรื่อง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติในวันนี้ว่า คณะกรรมการ ได้นำข้อห่วงใยของสมาชิกจากการรับหลักการครั้งที่ผ่านมา มาศึกษาและปรับแก้เป็นรายงานนำเสนอ สปช.ฉบับที่ 2

โดยวันนี้ที่ประชุมจะเปิดลงมติรับรองหรือไม่รับรองใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย การรับรองรายงานฉบับที่ 2 / หลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ
-------------------------------
"นิพิฏฐ์" เฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า ทำไมที่มาและอำนาจ-หน้าที่ของ ส.ส.จึงสำคัญ ระบุเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและถือว่าใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ส.ส.นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" โดยตั้งคำถามว่า ทำไมที่มาและอำนาจ-หน้าที่ของ ส.ส.จึงสำคัญ พร้อมอธิบายว่า ในระบอบประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์) ที่มาของ ส.ส. รวมทั้งการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของ ส.ส.สำคัญที่สุด เพราะ ส.ส.เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนและถือว่าเป็นตัวแทนที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นอำนาจขั้นต้น หรือปฐมภูมิ (Primary Power) ที่จะก่อตั้งอำนาจอื่น ๆตามมา เช่น อำนาจบริหารก็ถูกก่อตั้งขึ้นมาจากอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารจึงเป็นเพียงอำนาจขั้นที่ 2 หรือทุติยภูมิ (Secondary Power) จึงถูกแต่งตั้งและยกเลิกได้โดยอำนาจนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย (ที่สมบูรณ์) จึงให้ความสำคัญกับอำนาจนี้ที่สุด จนมีคำกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่ยอมรับกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายนั้นมาจากความยินยอมพร้อมใจจากตัวแทนของข้าพเจ้า" หรือ "ข้าพเจ้าไม่ยอมจ่ายภาษีและข้าพเจ้าไม่ยอมให้จ่ายเงินภาษีที่เก็บจากข้าพเจ้าเว้นแต่ผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนของข้าพเจ้าเท่านั้น"

ระบอบที่มีการลิดรอนสิทธิและอำนาจหน้าที่ของตัวแทนประชาชนที่เป็นอำนาจปฐมภูมิ (Primary Power) ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแน่นอน หลักการนี้ใช้ได้ทั่วโลก เว้นแต่ประเทศไหนที่กำลังจะเบี่ยงเบนหลักประชาธิปไตยเท่านั้น
------------------------
ผบ.สส.เตือนอย่ากลัว รธน.แก้ไขไม่ได้ เน้นย้ำกองทัพสนับสนุนรัฐบาล - คสช.เต็มที่ ปัดหารือโยกย้ายนายพลกลางปี

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3/2558 ว่า ในวันนี้ได้เน้นย้ำกับทุกเหล่าทัพให้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการยกร่างอยู่นั้น เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับคนไทยและประเทศไทย

ส่วนประเด็นที่มีการวิจารณ์กันถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า อย่าไปกลัวว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขไม่ได้ เมื่อใช้ไปสิ่งใดที่ไม่ดีก็สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องของการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลกลางปีแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องของแต่ละเหล่าทัพที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
-----------------------
"บวรศักดิ์" อัดสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับเสนอข่าวบิดเบือนปม "ทิชา" ลาออก ย้ำ รธน.ใหม่ ปชช.เป็นใหญ่ 

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวชี้แจงกรณีถูกหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเสนอข่าวไม่ตรงกับความเป็นจริงในลักษณะบิดเบือนให้เกิดความเสียหาย โดย
ระบุว่า ตนคัดค้านสิทธิสตรีจนเป็นสาเหตุให้ นางทิชา ณ นคร ลาออกจากการเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สมาชิก สปช. ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากตนสนับสนุนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด

นอกจากนี้ยังมีการเขียนบทความในทำนองให้สังคมเข้าใจผิดว่าตนดูถูกคนไทยว่าไม่พร้อมที่จะใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกัน โดยยันยืนว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองเป็นอย่างมาก ในการแถลงชี้แจงของผู้บริหารหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงถึงความรู้สึกผิดแต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวให้มีความครบถ้วน รอบด้าน ถูกต้องและปราศจากอคติอีกด้วย
-----------------------
"วิษณุ" งดแสดงความเห็น "ทิชา" ลาออก สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ชี้เป็นหน้าที่ คสช. พิจารณาคัดเลือกใหม่ 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการลาออกของ นางทิชา ณ นคร คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า เป็นการตัดสินใจส่วนตัว ตนเองไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่ามีความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการ จนทำให้ต้องลาออกหรือไม่ ทั้งนี้ คณะกรรมธิการคงต้องพิจารณาเลือกบุคคลมาแทน นางทิชา ส่วนในตำแหน่ง สปช. เป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่จะพิจารณาคัดเลือกโดยสามารถเลือกจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเปิดรับสมัครใหม่ ซึ่งในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเลือกคนมาแทนทันที เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าสมาชิก สปช. ต้องมีจำนวน ไม่เกิน 250 คน ซึ่งหากจำนวนไม่ครบก็ถือว่าไม่ผิดกฎหาย
--------------------------
มท.1 ขอยอมรับที่มานายกฯ อย่าขยายแตกปม "ทิชา" ขอให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย รับฟังวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของเหตุผล

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายการวิพากษ์วิจารณ์การยกร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นข้อยุติในขั้นตอนของ กมธ.ยกร่างฯ แล้ว และต่อไปจะเป็นการแจ้งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบและดำเนินการเดินหน้าตามขั้นตอนของ กมธ.ยกร่างฯ ต่อไปส่วนเรื่องที่มาของนายกฯ จะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่นั้น พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่าแม้จะมีข้อยุติจะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย รับฟัง และวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของเหตุผล เพราะหากจะให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละฝ่ายก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่จบสิ้น

ดังนั้นจึงอยากให้สังคมยอมรับผลที่ออกมา ซึ่งความเห็นต่างสามารถเกิดขึ้นได้แต่ขอให้ไม่ลุกลามไปสู่ความรุนแรง ส่วนควรทำประชามติเพื่อให้สังคมยอมรับหรือไม่นั้น เห็นว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะทำหรือไม่

//////////////
เคลื่อนไหวนายกฯ

นายกฯ เข้าทำเนียบแล้ว สวมชุดข้าราชการสีกากีตามปกติ คาดติดตามงานด้านต่าง ๆ ไม่มีวาระประชุมเป็นทางการ

ความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาลล่าสุดในช่วงเช้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เดินทางเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว โดยแต่งชุดข้าราชการสีกากีตามปกติในวันจันทร์ ซึ่งคาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาปฏิบัติงาน รวมถึงติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติงานของฝ่ายต่าง ๆ ตามปกติ เนื่องจากในช่วงเช้าวันนี้ ไม่มีวาระการประชุมอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ส่วนความเคลื่อนไหวอื่นที่น่าสนในทำเนียบรัฐบาลวันนี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2558 ที่ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1
------------------------
//////////////

พล.อ.วรพงษ์ เตรียมเป็นประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3/2558 ที่กองทัพเรือ ก่อนเริ่มประชุมสักการะ "กรมหลวงชุมพรฯ"

พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3/2558 ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการนี้กองทัพเรือได้จัดให้มีพิธีถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภรกรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ บริเวณลานหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน

นอกจากนี้ กองทัพเรือจัดพิธีมอบเครื่องหมายความสามารถนักบินกิตติมศักดิ์กองทัพเรือแด่ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งพิธีมอบเครื่องแบบ
นายทหารสัญญาบัตรกองทัพเรืออีกด้วย
------------------------
น.พ.พลเดช ระบุ วันนี้ สปช.จะรับรองหลักการ 3 เรื่องของร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ก่อนเสนอ ครม.

นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอรายงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการจะนำเสนอรายงานฉบับที่ 2 ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดทำเพิ่มเติมตามข้อเสนอแนะที่สมาชิก สปช. ได้อภิปรายในการประชุมขั้นหลักการในวาระแรก เพื่อให้รายงานเกิดความสมบูรณ์มากขึ้น พร้อมกันนี้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ.... โดยตนจะเป็นผู้นำเสนอรายงานฉบับดังกล่าวก่อนจะเปิดโอกาสให้สมาชิกได้อภิปรายและลงมติโดยการลงมติในวันนี้จะเป็นการรับรอง 3 เรื่อง คือ รับรองหลักการรายงานฉบับที่ 2 รับรองหลักการร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และรับรองเพื่อรับเรื่องดังกล่าวนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป
--------------------------
น.พ.พลเดช ชี้ พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรม ตั้งเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาคุณธรรมจริยธรรม แนะควรเกิดก่อน มี รธน.

น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมเพื่อต้องการให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาคุณธรรมจริยธรรม เนื่องจากเครื่องมือที่ประเทศไทยมีอยู่ขณะนี้นั้นเอาผิดได้เฉพาะบุคคลที่หลักฐานว่ากระทำความเท่านั้น โดยไม่มีเจตนาที่จะตั้งหน่วยงานดังกล่าวมาแทนสำนักงานคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ถูกยุบรวมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่อย่างใด เพียงแต่หวังให้เข้ามาทำงานร่วมกันกับองค์กรอิสระเท่านั้น เพราะสมัชชาคุณธรรมถือเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจแบบอ่อนที่ทำหน้าที่ในการตรวจและรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดจองผู้กระทำความผิดพิจารณาจัดการต่อไป โดยไม่มีอำนาจในการพิจารณาถอดถอนใครออกจากตำแหน่ง

พร้อมกันนี้ น.พ.พลเดช กล่าวว่า ในการจัดทำงานและร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรม ได้มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่ปรึกษา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าสมัชชาคุณธรรมนูญควรจะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญโดยให้เป็นองค์กรอิสระ แต่หากถึงที่สุดแล้ว จะบัญญัติให้สมัชชาคุณธรรมเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็จะทำให้มีอำนาจมากยิ่งขึ้น
---------------------------
สปช.เตรียมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ขณะตัวแทน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานคืบหน้ารายมาตรา

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ล่าสุด ประธานการประชุมกดสัญญาณเรียกเข้าห้องประชุมแล้ว เพื่อเตรียมพิจารณารายงานศึกษา เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ของคณะกรรมการการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีหลักการให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เนื่องจากคนไทยล้วนมีความปรารถนาอย่างเดียวกัน คือ ต้องการอยู่ในสังคมที่ดีงามและมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน แต่กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอและเหมาะสมต่อการสร้างเสริมสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวแทนรายงานความคืบหน้าของการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราต่อที่ประชุม สปช.
-----------------------
สปช.ถกร่างสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต่อเนื่อง สมบัติ แนะกำหนดมาตรฐานคุณธรรมต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ล่าสุด อยู่ระหว่างให้สมาชิกอภิปรายแสงความเห็นต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยสมาชิก สปช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน
เพื่อให้มีกลไกใหม่ตรวจสอบการทุจริต เริ่มจาก นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เห็นว่า การกำหนดมาตราฐานคุณธรรมต้องสร้างความเข้าใจกับสังคม เพื่อให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช. เห็นด้วยกับหลักการและเชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาทุจริตทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ควรมีแนวทางที่เป็นตัวอย่างว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อชี้วัดว่าการทำงานได้ผลจริง ส่วนวาระการดำรงตำแห่งที่ไม่มีกำหนดนั้น ควรเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นได้ทำงานโดยให้กำหนดวาระละ 6 ปี แต่ดำรงตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระกัน


/////////////////////
พล.อ.อนุพงษ์ พร้อมเป็นพยานให้ "อภิสิทธิ์" หาก ป.ป.ช. อนุญาต ไม่เห็นด้วยหากนำประเด็น "ทิชา" มาสร้างความขัดแย้ง

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้เป็นพยานในคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ว่า ไม่ทราบว่านายอภิสิทธ์จะสามารถร้องขอในเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการให้เป็นพยานก็พร้อมให้ความร่วมมือ

นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นางทิชา ณ นคร กมธ.ยกร่างฯ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลาออก ว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และไม่เห็นด้วยหากคนไทยนำประเด็นดังกล่าวมาสร้างเงื่อนไขและกลับมาขัดแย้งกันอีก

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลและ คสช.จะดูแลความสงบเรียบร้อย ให้การดำเนินงานเป็นไปตามโรดแมป อย่างเช่น ความเห็นต่างของการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่นายกรัฐมนตรียึดประเทศชาติเป็นหลักและกลับไปทบทวนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
-------------------
"ไพบูลย์" รับหนังสือจากพระครูวิโรจน์ธรรมานุกูล ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม - เตรียมจัดรับฟังความเห็นมาตรการปฏิรูปกิจการสงฆ์ของทุกฝ่าย

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา รับหนังสือจาก พระครูวิโรจน์ธรรมานุกูล อดีตเจ้าอาวาสวัดกระทิง จังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เดินทางร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรณีถูกเจ้าคณะสงฆ์จังหวัดจันทบุรีปลดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกระทิง

โดย นายไพบูลย์ ระบุว่า จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า เรื่องดังกล่าวนั้นมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ กระบวนการปลดเจ้าอาวาสไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รวมถึงการรวมศูนย์อำนาจอันนำไปสู่ปัญหาแก่คณะสงค์ซึ่งต้องติดตามเพื่อให้ความเป็นแก่ทุกฝ่ายต่อไป

พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นมาตรการปฏิรูปกิจการสงฆ์ของทุกฝ่าย ทั้งพระสงฆ์ ประชาชน นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อรวบรวมและสรุปเสนอต่อที่ประชุม สปช.พิจารณา โดยจะจัดขึ้นในทุกวันอังคารของทุกสัปดาห์ ติดกัน 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม นี้
////////////////////
คดีชายชุดดำ

ศาลอาญา นัดสอบคำให้การคดีชายชุดดำครอบครองอาวุธสงคราม ป่วนการชุมนุมปี 53 วันนี้ 09.00 น.

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดสอบคำให้การจำเลย ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี อายุ 45 ปี ชาวกรุงเทพฯ, นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 24 ปี ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา อายุ 33 ปี ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย อายุ 45 ปี ชาวกรุงเทพฯ และ นางปุนิกา หรือ อร ชูศรี อายุ 39 ปี ชาวกรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะ หรือชุมชน และมีอาวุธเครื่องกระสูนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 53 จำเลยทั้ง 5 ราย กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ร่วมกันพกอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79, ปืนเอ็ม 16, ปืนเอชเค (HK) 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถ.ตะนาว, ถ.ประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

โดยคดีดังกล่าว อัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ขณะที่จำเลยทั้งหมดไม่เคยรับการปล่อยชั่วคราวตั้งแต่ชั้นฝากขัง อย่างไรก็ตาม ศาลนัดตรวจหลักฐานวันนี้ เวลา 09.00 น.
--------------------
ศาลอาญา เลื่อนนัดตรวจพยานคดีชายชุดดำครอบครองอาวุธสงคราม ป่วนการชุมนุมปี 53 เป็น 23 มี.ค. นี้

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดสอบคำให้การจำเลยในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี อายุ 45 ปี ชาวกรุงเทพฯ, นายปรีชา หรือ ไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 24 ปี ชาวเชียงใหม่, นายรณฤทธิ์ หรือ นะ สุริชา อายุ 33 ปี ชาวอุบลราชธานี, นายชำนาญ หรือ เล็ก ภาคีฉาย อายุ 45 ปี ชาวกรุงเทพฯ และ นางปุนิกา หรือ อร ชูศรี อายุ 39 ปี ชาวกรุงเทพฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะ หรือชุมชน และมีอาวุธเครื่องกระสูนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตาม พ.ร.บ อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ 2490

จากกรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 53 จำเลยทั้ง 5 ราย กับพวกที่ยังหลบหนี และพวกที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว ร่วมกันพกอาวุธ เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิด ที่สามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินให้เกิดความเสียหายได้ อาทิ เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79, ปืนเอ็ม 16, ปืนเอชเค (HK) 33 หรือปืนอาก้า ซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ไปตามบริเวณแยกคอกวัว ถ.ตะนาว, ถ.ประชาธิปไตย แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร

โดยคดีดังกล่าว คดีนี้ดีเอสไอได้เสนอพนักงานอัยการว่า เห็นควรให้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 ราย ข้อหาก่อการร้ายเพิ่ม ซึ่งอัยการ อยู่ระหว่างพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าข่ายในข้อหาดังกล่าวหรือไม่ ศาลจึงเลื่อนการตรวจหลักฐานออกไป เป็นวันที่ 23 มี.ค. นี้ เวลา 13.30 น.
---------------

ศาลอาญายกฟ้องหนุ่มแนวร่วม พธม.ถูกกล่าวหาลักรถตู้ทำเนียบรัฐบาล ปี 51 ช่วงการชุมนุมชี้จำเลยไม่มีส่วนร่วมในการทำความผิด


นางสาวพวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า วันนี้ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้พิพากษายกฟ้อง ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเอกพล น้อยเงิน อายุ 33 ปี แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ และรับของโจร

จากกรณี เมื่อช่วงปี 2551 ในขณะที่จำเลยมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล และขณะนั้นจะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ แล้วมีบุคคลที่ชื่อ นายเค ไม่ทราบชื่อ และนามสกุลจริง ขับรถตู้เข้ามาสอบถามมวลชน ว่า ใครจะเดินทางลงใต้ ปรากฏว่า มีบุคคลประสงค์จะเดินทางลงใต้รวม 20 คน เมื่อรถลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก็มีผู้โดยสารทยอยลงกันไปจนหมด เหลือ นายเค กับ นายเอกพล บ้านสุดท้ายที่ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นายเค อ้างว่า ไม่มีเงินเติมน้ำมันจึงฝากรถไว้ที่บ้าน นายเอกพล จากนั้นก็ไม่กลับมารับรถอีกเลย จำเลยจึงแจ้งความให้ตำรวจตรวจสอบก็พบว่าเป็นรถที่ถูกขโมยมาจากทำเนียบรัฐบาล จึงได้นำรถกลับไปตรวจสอบ ส่วน นายเอกพล ถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุมได้เมื่อปี 2556

โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เชื่อว่าจำเลยไม่ทราบว่ารถตู้นั้นได้มาจากการลักทรัพย์ และจำเลยไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง

//////////////////////////
คลองถม

ทหาร ตร. และเทศกิจจัดระเบียบคลองถมห้ามผู้ค้าไม่ได้รับอนุญาต คืนทางเท้า แก้จราจร

บริเวณลานอเนกประสงค์ หน้าโรงพยาบาลกลาง ได้มีกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น.6 เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ได้เตรียมแถวขบวนชุดปฏิบัติการจัดระเบียบผู้ค้าบริเวณโดยรอบคลองถมของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

ทั้งนี้ การจัดระเบียบจะมีการดำเนินการกับกลุ่มผู้ค้าโดยรอบคลองถม ซึ่งทำการค้าโดยไม่รับอนุญาตตามกฎหมาย ทั้งพื้นที่ภายในและถนนโดยรอบคลองถม เพื่อป็นการจัดระเบียบ รวมถึงเป็นการปรับภูมิทัศน์ คืนทางเท้าให้ประชาชนและการแก้ไขปัญหาการจราจร สำหรับพื้นที่ในการจัดระเบียนครั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดกองอำนวยการร่วม ซึ่งมีจำนวนกว่า 20 จุด อาทิ ถนนมหาจักร ถนนหลวง ถนนคำรพ ถนนราชสุขุม ถนนเสือป่า ถนนยมราชสุขุม ถนนเจริญกรุง รวมถึง แยกวรจักร

ซึ่งในวันนี้ เวลา 10.00 น. ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ประธานที่ปรึกษา กทม ดร.วัลลภ สุวรรณดี และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. พร้อมด้วย กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บริหาร กทม. ประกอบด้วยสำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและการขนส่ง สำนักโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม จะร่วมปล่อยขบวนแถวชุดปฏิบัติการจัดระเบียบกลุ่มผู้ค้าย่านคลองถม
/////////////////
คดีสจล.

อดีตอธิการ สจล. เข้าร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คดี สจล. หลังอ้างว่า ตร. ยังสอบสวนไม่ครบถ้วน

นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. ที่ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันลักทรัพย์และความผิดฐานอื่น ๆ รวม 5 ข้อหา เดินทางมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบกรณีกระบวนการสอบสวนในคดียักยอกทรัพย์ของ สจล. เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการสอบสวนข้อเท็จจริง และมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่ไม่ได้มีการสอบสวนผู้ที่มีความเกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียม

โดย นายถวิล ร้องขอให้ตรวจสอบอดีตอธิการบดีที่รับตำแหน่งก่อนหน้าและอธิการบดีที่รับตำแหน่งหลังตนเอง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน รวม นายถวิล เป็น 3 คน เนื่องจากตามรายงานของ สจล. ปรากฏว่าคดีที่เกิดขึ้นและมีพฤติการณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2557 ซึ่งคาบเกี่ยวการบริหาร 3 ชุด

อีกทั้งมองว่าไม่ได้มีการสอบสวนผู้บริหารอีก 2 คนอย่างเท่าเทียมกัน แต่กลับพุ่งเป้ามาที่ผู้บริหารชุดของตนเพียงชุดเดียว ประกอบกับทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดส่งเอกสารหลักฐานให้กับพนักงานสอบสวนเพียงแค่ร้อยละ 30 จากหลักฐานทั้งหมดที่มี จึงคาดว่ามีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้นำส่งเอกสารส่วนใหญ่อีกกว่าร้อยละ 70

ด้าน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจแผ่นดินที่มารับเรื่อง เปิดเผยว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป เพื่อที่จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่ นายถวิล ตั้งข้อสงสัย และมีการสอบสวนอย่างครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยจะดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด
////////////////////////
เศรษฐกิจ เป้าส่งออกวูบ

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาด การส่งออกไตรมาสแรกปี 58 อาจติดลบ ร้อยละ 2 เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอ แต่ยังคงเป้าทั้งปีขยายตัวได้ ร้อยละ 1.1-1.5


นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 อาจมีแนวโน้มติดลบ ร้อยละ 2 จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของไทย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับค่าเงินยุโรปอ่อนค่าลง ร้อยละ 20 และจากการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP จึงทำให้โอกาสการค้าขายการส่งออกไปยังยุโรปทั้งในรูปของเงินยูโรหรือดอลลาร์สหรัฐดำเนินการได้ยากขึ้น

นอกจากนี้ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ทำให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย อย่างไรก็ตาม พบว่าตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดในประเทศกลุ่ม CLMV ยังสามารถฟื้นตัวได้ ซึ่ง สรท.ยังคงเป้าการส่งออกทั้งปี 2558 อยู่ที่ ร้อยละ 1.1 - 1.5 โดยจะติดตามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและจะประเมินยอดการส่งออกเป็นประจำทุกไตรมาส โดย สรท.คาดหวังนโยบายการลงทุนของภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 2 จะฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออก
/--------------------
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผย กกร. เตรียมประชุมพรุ่งนี้ปรับลดเป้าส่งออกต่ำกว่า 3.5% หลัง ศก.โลกชะลอ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันพรุ่งนี้ 3 มี.ค. จะมีการหารือถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการส่งออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอ รวมทั้งค่าเงินบาทของไทยที่ยังแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการ กกร. อาจปรับเป้าหมายตัวเลขการส่งออกของไทยลดลง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ส่วนจะปรับลดเท่าใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันทั้ง 3 สถาบันอีกครั้ง รวมทั้งจะหารือความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของภาคเอกชนไทย

ขณะที่แนวโน้มอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ยังอยู่ที่เป้าหมายเดิมร้อยละ 3.5 แต่จะมีการปรับเป้าหรือไม่ คงต้องหารือในที่ประชุมร่วม 3 สถาบันอีกครั้ง โดยปัจจัยสำคัญที่สุดในการพิจารณาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณ การดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของภาคประชาชน
--------------------------
สรท.เผยส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 3.46 แม้รถยนต์ส่งออกสูงสุดอันดับ 1 พบตลาดจีนหดตัวสูง 19.69%

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่า 17,249 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.46 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทอยู่ที่ 563,218 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.34 อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 1 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 16.07 มีมูลค่า 1,857 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัวสูงสุดจากปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 21.17 ส่วนสินค้าที่มีอัตราการหดตัวสูงสุด ได้แก่ ยางพารา ร้อยละ 40.6 น้ำมันสำเร็จรูป ร้อยละ 28.11 โดยสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงตามราคาตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกที่สำคัญในเดือนมกราคม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ขณะที่ตลาดจีนหดตัวสูงถึงร้อยละ 19.69 จากเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลง และปัญหาโครงสร้างเรื่องของกำลังการผลิตส่วนเกิน และสินค้าคงเหลือจำนวนมากในประเทศ
-----------------------
สรท.เสนอผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ เพิ่มขีดความสามารถของไทย พร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.เสนอการผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติ เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล และให้เป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของไทย ทั้งการหาตลาดใหม่ มุ่งเน้นทำการค้าและการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในกลุ่ม Emerging Market ที่มีศักยภาพการเติบโต การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทันต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงการค้าของโลก และตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงสร้างข้อมูลเดิมและข้อมูลใหม่ เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ทางการค้า อาทิ วิเคราะห์ตลาดการค้า คู่แข่ง ความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการแข่งขันของไทย

นอกจากนี้ สรท.จะติดตามถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก ซึ่งประกอบด้วยความผันผวนของค่าเงินจากการใช้นโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ และนโยบาย QE การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานในการผลิตทั่วโลก (Global Supply Chain) โดยจีนและสหรัฐอเมริกาจะใช้กำลังการผลิตในประเทศมากกว่าการนำเข้าต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การค้าโลกลดลง รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะขับเคลื่อนด้วยภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบทางการค้า (Non-Tariff Barriers) แนวโน้มของราคาสินค้าและการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดต่ำลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การค้าของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่โดยมีการย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับไปประเทศของตน
----------------------------
พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 58 ลงเหลือ ร้อยละ 0.6-1.3 ขณะที่เงินเฟ้อ ก.พ. ติดลบ ร้อยละ 0.52

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ว่า อัตราเงินเฟ้อขยายติดลบ ร้อยละ 0.52 จากราคาพลังงาน อาทิ แก๊สโซฮอล์ 91 95 E20 น้ำมันดีเซล รวมทั้ง ค่าโดยสารสาธารณะปรับตัวลดลง และอาหารสด ผลไม้บางส่วนปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปี ติดลบ ร้อยละ0.47โดยทางกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2558 ใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.8-2.5 โดยปรับลดเหลือ ร้อยละ 0.6-1.3 โดยมีสมมติฐานมาจากราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 32-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 3-4
---------------------
พณ.เชื่อไทยจะไม่เข้าสู่สถานการณ์ภาวะเงินฝืด แต่คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดแน่นอน โดยเห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจากนี้ไปจะเริ่มมี
สัญญาณปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มประเทศที่มีความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาวมีมาก และอาจทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับยังมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เริ่มทยอยลงทุน และประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น แต่จะเป็นการใช้สอยอย่างระมัดระวัง

โดยคาดว่าไตรมาสแรกคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะติดลบอยู่ที่ ร้อยละ 0.4 มาจากปัจจัยของสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ต่ำลง การปรับลดค่าเอฟที และมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ในช่วงไตรมาส 2 ไปจนถึงไตรมาส 4 ทางกระทรวงพาณิชย์คงยังไม่สามารถที่จะประเมินได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ยังคงต้องติดตาม ทั้งราคาน้ำมัน รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ยังต้องติดตาม