PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

คสช. ลงนามคำนั่ง ม.44 จำนวน 2 ฉบับ มุ่งเปิดทางคณะ ปยป. ทำงาน

โฆษกรัฐบาล เผย หัวหน้า คสช. ลงนามคำนั่ง ม.44 จำนวน 2 ฉบับ มุ่งเปิดทางคณะ ปยป. ทำงาน และตั้งคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 


พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ลงนามในคำสั่งหัว คสช. ตาม มาตรา 44 จำนวน2ฉบับ ประกอบด้วย
1. การเร่งรัดและเปิดทางให้คณะทำงานในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อมีประกาศออกมา และ
2. เรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการบริหารพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักพภาพ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์อย่าง ท่าอากาศยาน ท่าเรือ การจราจราที่คล่องตัว ที่ดินเปล่า เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยมีเลขาธิการของคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก  และมีอำนาจในการอนุมัติ เช่น การจัดตั้งโรงงานในรูปแบบ One stop service เพื่อให้การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นไปด้วยความรวดเร็ว  

ทั้งนี้ การอนุมัติดังกล่าวขึ้นอยู่กับกฏหมายของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย เป็นเพียงการขออนุญาตและการอำนวยความสะดวกเท่านั้น เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

อนิจจัง ไม่เที่ยง ชะตา ร่างรัฐธรรมนูญ เส้นทาง การเมือง

ชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ก็ดำเนินไปในลักษณาการเดียวกันกับชะตากรรมอันเกิดขึ้นกับ “ร่างรัฐธรรมนูญ”
สะท้อนลักษณะซึ่งเป็น “พลวัต”
แม้จะมีอำนาจอันแข็งแกร่งจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นเหมือนดั่ง “เกราะ” คุ้มกัน
แต่ก็ต้อง “แก้ไข” มาแล้วถึง 3 หน
ขณะเดียวกัน ความพยายามในการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มีเป้าหมายเพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” ขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและวางรากฐานประเทศไทย
แต่คำว่า “ถาวร” ก็ดำเนินไปอย่างมี “พลวัต”
ตัวอย่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่เรียกว่า “ถาวร” พอถึง พ.ศ.2489 ก็ต้องยุติบทบาทลงชั่วคราว
และก็มีโอกาสหวนคืนอีกในเดือนธันวาคม 2494
ดำรงอยู่อย่างนานกระทั่งถึงรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 ก็ถูกเข้ามาแทนที่โดย “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2502”
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ชะตากรรม” ของ “รัฐธรรมนูญ”
 ต้องยอมรับว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ภายหลังสถานการณ์รัฐประหารมีพื้นฐานมาจากบทบัญญัติมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
ดำเนินการตามสโลแกน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
เบื้องต้นขับเคลื่อนโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน
ทุ่มเททำงานตาม “คำชี้แนะ” อย่างซื่อสัตย์และมั่นคง
มั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถสนองเจตจำนงและความต้องการของ “คสช.” ในฐานะเจ้าของ “เรือแป๊ะ” ได้อย่างครบถ้วน
แต่พอถึงเดือนกันยายน 2558 ก็ถูก “คว่ำ”
เป็นการคว่ำโดยที่ประชุมใหญ่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามโพยอัน “กระซิบ” ด้วยเสียงอันดังมาจากเจ้าของ “เรือแป๊ะ”
นานอีกหลายเดือนกว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเข้าใจ
เข้าใจว่าเหตุใดชะตากรรมของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” จึงลงเอยอย่างนั้น เหตุใด “คสช.” จึงไม่อยากให้เดินหน้าต่อไป
นั่นก็คือ “เขาอยากอยู่ยาว”
 คล้อยหลังการคว่ำ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยมอบหมายให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
ดำเนินการ “ยกร่าง” โดยมีการสืบทอดทิศทาง
1 จากมาตรา 35 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และ 1 จากเนื้อหาด้านหลัก อันดำรงอยู่ใน“ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
และ 1 เป็นไปตามความต้องการของ “คสช.” ครบถ้วน
 เส้นทางของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ค่อนข้างราบรื่นเพราะสามารถผ่านการทำ “ประชามติ”ท่ามกลางความพอใจของ “กองเชียร์”
มีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าจะสามารถประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560
แต่แล้วผลสะเทือนจาก “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับผ่านประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ก็ทำให้มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 3
แก้ไขเพื่อที่จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติม “ร่างรัฐธรรมนูญ”
ชะตากรรมของ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศและบังคับใช้
ไม่มีใครบอกได้ว่า “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นอย่างร่างของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือไม่
เพราะยังไม่มีการประกาศและบังคับใช้ สถานะจึงเป็นเพียง “ร่างรัฐธรรมนูญ”

โอกาสที่จะเกิดการแก้ไขอันนำไปสู่การแก้ไขก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่

“สุเทพ” ลั่นไม่ร่วมเซ็น MOU ชี้ไม่ใช่ทางออกสร้างปรองดอง

“สุเทพ” ลั่นไม่ร่วมเซ็น MOU ชี้ไม่ใช่ทางออกสร้างปรองดอง แนะต้องทำให้คนในชาติเคารพกฎหมาย
เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(กปปส.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยจะให้พรรคการเมืองต่างๆรวมถึงกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นแย้งกับรัฐบาลมาร่วมแสดงความคิดเห็นหาทางออกเพื่อความปรองดองของประเทศ และการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกัน ว่า ตนในฐานะตัวแทนมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ขอสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาล ทั้งในด้านของยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพราะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ที่ต้องการเห็นประเทศไทยมีการปฏิรูปไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อให้เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มีพระกษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งการตั้ง ป.ย.ป.นั้นมีหัวใจหลักใน 3 ด้านคือ ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศไทย และการปรองดอง ซึ่งในส่วนของการสร้างความปรองดองนั้น ยอมรับว่ายังมีความกังวลอยู่
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า หัวใจหลักที่สำคัญของการปรองดองคือ จะต้องรณรงค์ให้ประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง และต้องปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งหวังว่าการปรองดองจะทำให้ทุกอย่างสงบสุข เรียบร้อย และประเทศเจริญก้าวหน้า เดินไปข้างหน้าได้ ส่วนการจับมือเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันนั้น ตนเห็นว่าคงไม่ใช่วิธีที่จะสร้างความปรองดองได้ เพราะความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ประชาชนทุกคนในชาติต้องสามัคคีกัน และไม่เห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรม โดยอ้างความปรองดอง หรือการออกกฎหมายลบล้างความผิดต่างๆในอดีต เช่น การกระทำความผิดตามมาตรา112 การกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น การกระทำความผิดอาญาต่างๆ เป็นต้น เพราะจะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการปรองดอง

“ผมและมูลนิธิมวลมหาประชาชน ฯ จะไม่ไปร่วมลงนาม เอ็มโอยู อย่างแน่นอน เพราะมองว่าการลงนามนั้นไม่ใช่ประโยชน์หรือทางออกของการปรองดองอย่างแท้จริง เชื่อว่าหากแค่ทำการลงนามเอ็มโอยู จะไม่ได้ผลและความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่หากมีการเชิญผมไปร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกของความปรองดองผมก็ยินดีที่จะเข้าร่วม”นายสุเทพ กล่าว

"บิ๊กป้อม" ใช้ ขุนพลกลาโหม-น้องรัก คุมกลไกสร้างความปรองดอง

"บิ๊กป้อม" ใช้ ขุนพลกลาโหม-น้องรัก คุมกลไกสร้างความปรองดอง ตามแผน ปยป. ตั้ง "บิ๊กช้าง"ปธ.อำนวยการ"บิ๊กณัฐ-วัลลภ"คุมและ4 คณะอนุกรรมการ-รับฟังความเห็น-จัดทำความเห็นร่วม-จัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์-การประชาสัมพันธ์ รวม98 คน รอเข้าครม.-คสช.อนมัติรายชื่อ
คณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 19 คน มี บิ๊กช้าง พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม เป็นประธาน ร่วมด้วย ปลัดมหาดไทย ผบ.สูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. รองปลัดกห. หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม โฆษกกห. และ พลโท ณัฐ อินทรเจริญ รองเสธ.ทบ./ผอ.ศูนย์ปรองดอง คสช.(ผอ.ศปป.) น้องรัก บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร ที่คุมด้านปรองดอง ใน ปยป.
โดยมี 4 คณะอนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น จำนวน23 คน มี พลเอกวัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม โฆษกกห. เป็นประธาน ร่วมด้วย ร่วมตัวแทนเหล่าทัพ ตำรวจ ระดับพลโท หน่วยละ2 คน ผอ.ศูนย์ปรองดองฯ ตัวแทน กรมพระธรรมนูญ มหาดไทย
/คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คนและ/คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และ/คณะอนุกรรมการ ด้านการประชาสัมพันธ์ 17คน

"บิ๊กป้อม"ขอ3เดือนปรองดอง



เชื่อมั่ยล่ะว่า ทำได้!!
บิ๊กป้อม ขอเวลา 3 เดือน เชิญพรรคการเมือง-นักการเมือง-กลุ่มการเมือง มาคุยทีละพรรค รับฟังความเห็นใน 10 หัวข้อ รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และให้ลงสัตยาบัน ทำสัญญาประชาคม จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ...มั่นใจทำได้ ปรองดองได้ แม้มีเสียงวิจารณ์ว่า จะล้มเหลว ทำไม่สำเร็จ ก็ตาม เชื่อนักการเมืองเข้าใจ ยอมรับนักการเมือง ก็อยากเลือกตั้ง ถาม คุณคิดว่า เดินไปได้มั้ยล่ะ

แก้ รธน.-โรดแมปขยับ สัญญาณเข้ม เลือกตั้งต้นปี 2561

(มติชน/15ม.ค.60)

วันที่ 13 มกราคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเรื่องด่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่‚) พ.ศ. …
ใช้เวลาพิจารณา 2 ชั่วโมง 40 นาที ผ่าน 3 วาระรวด
เนื้อหาที่แก้ไข ประกอบด้วย 1.การเพิ่มข้อความใหม่ในวรรคสาม มาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี
2.การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯกลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด
เหตุผลการแก้ไข นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอต่อที่ประชุม สนช.ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติขึ้นทูลเกล้าฯวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 โดยอยู่ระหว่างในพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณาภายใน 90 วัน
ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ สมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ
เมื่อรัฐบาลพิจารณาข้อสังเกตร่วมกับ คสช.แล้ว เห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอดำเนินการ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วค่อยแก้ไข แม้กลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยาก เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมบางข้อความ บางมาตรา หรือบางหมวด ต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ จะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาว และกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมาหลายเรื่อง
หากสามารถปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จสิ้นขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง จะเป็นการเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น
รัฐบาลจึงขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่่วคราว พ.ศ.2557
ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาวาระ 1 วาระ 2 และวาระ 3 สุดท้ายมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 228 ต่อ 0 งดออกเสียง 3
การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ทำให้กระบวนการพิจารณาและแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการไปได้ โดยขยับโรดแมปเลือกตั้งจากเดิมออกไปนิดหน่อย
ทั้งนี้ โรดแมปเดิม เมื่อนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ กรธ.ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 8 เดือน แต่ขณะนี้ กรธ.ได้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น 4 ฉบับเอาไว้แล้ว
หากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กรธ.สามารถส่งร่างฯให้ สนช.พิจารณา ซึ่งต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน บวกอีก 30 วัน
จากนั้นให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน และต้องมีเวลาพิจารณารับรองผล ก่อนจะจัดตั้งรัฐบาล
คาดว่าจะเลือกตั้งได้ประมาณปลายปี 2560 แต่รัฐบาลอาจมีขึ้นในปี 2561
แต่เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ปี 2557 แล้ว ตามมาตรา 4 ระบุว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญ หากพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน
แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ
เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ
เท่ากับว่า หากมีข้อสังเกตส่งให้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีต้องขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญคืนมา
และแก้ไขแล้วทูลเกล้าฯใหม่ภายใน 1 เดือน
เมื่อทูลเกล้าฯขึ้นไปให้แล้ว พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาภายใน 90 วัน หากโปรดเกล้าฯประกาศใช้ก็เริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญ
แต่ถ้าพ้น 90 วัน ร่างที่แก้ไขนั้นก็ต้องตกไป
ดังนั้น ถ้าพิจารณาตามกำหนดการ เป็นไปได้ว่าโรดแมปใหม่อาจจะขยับออกไปไม่เกิน 1 เดือน
การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นต้นปี 2561
สําหรับทีมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้เตรียมคณะทำงาน ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธาน กรธ. นายอัชพร จารุจินดา กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแล้ว รัฐบาลก็พร้อมดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ทันที
การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ครั้งนี้ แม้จะทำให้โรดแมปเลือกตั้งขยับออกไป
แต่ก็เป็นการขยับที่สร้างความเชื่อมั่นว่า ไทยจะมีเลือกตั้ง
เท่ากับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต้องบริหารประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
ระหว่างนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ต้องแก้ไขปัญหาประเทศ
แต่มิใช่ปัญหาเรื่องโรดแมป หากเป็นปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชน
ทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งภาคใต้กำลังเผชิญหน้ากับอุทกภัย และต่อไปมีแนวโน้มว่าภาคอีสานและกลางอาจต้องพบกับภัยแล้ง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาหลายปี
เกิดขึ้นและสั่งสมมาตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งรุนแรง ผนวกกับยุโรปและสหรัฐอเมริกาเผชิญวิกฤต
ยิ่งเมื่อไทยแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการปฏิวัติ การส่งออกและการลงทุนก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง
เศรษฐกิจไทยซึมยาว
ในระยะเวลา 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจึงต้องทยอย “คืนความสุข” ให้ประชาชนในด้านต่างๆ
หาวิธีการและลงมือกระทำเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง

ทำให้ได้ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ยึดอำนาจ

นพดล ชี้ การปรองดองมีกระบวนการมากกว่าแค่ จับนักการเมืองเซ็นเอ็มโอยู

“นพดล” ชี้ กระบวนการการปรองดองมีมากกว่าการให้นักการเมืองเซ็นเอ็มโอยู
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สังคมเริ่มพูดและอยากเห็นการปรองดอง แม้ว่าความเห็นยังหลากหลายว่าปรองดองคืออะไร และต้องดำเนินการเรื่องใดก่อนหลัง ตนเห็นว่ากระบวนการปรองดองมีมากกว่าการให้นักการเมืองมาเซ็นเอ็มโอยู เพราะมีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เริ่มตั้งแต่ 1. การสร้างความสมานฉันท์ ลดความเกลียดชังระหว่างกลุ่มต่างๆ เช่น หลีกเลี่ยงวาทกรรมสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชซึ่งเพิ่มมากขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ การเคารพสิทธิและความเห็นที่แตกต่างของบุคคลอื่น ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องปลูกจิตสำนึกและรณรงค์ต่อเนื่อง แม้ยากแต่ควรทำ 2.การสร้างวัฒนธรรมและกลไกระงับความขัดแย้งภายใต้หลักนิติธรรม คือการทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียม 3.การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น จะทำอย่างไรให้นักการเมืองเคารพการตัดสินใจของประชาชน ให้โอกาสรัฐบาลบริหารประเทศ การเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองของประชาชน และเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น

“การสร้างความปรองดองจะสำเร็จได้ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย กรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นควรรับฟังความเห็นให้มากและสามารถไปพิจารณารายงานและผลการศึกษาเรื่องการปรองดองของคณะกรรมการหลายชุดในอดีต นอกจากนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเปิดใจรับฟังฝ่ายต่างๆ อย่าพึ่งถือข้อสรุปของตนเองมาจากบ้าน“ นายนพดล กล่าว

สปท.การเมืองตั้งอนุ กมธ.รับฟังความเห็นพรรคการเมืองสร้างปรองดอง

สปท.การเมืองตั้งอนุ กมธ.รับฟังความเห็นพรรคการเมืองสร้างปรองดอง
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่าเป็นการดีที่รัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพดำเนินการเรื่องสร้างความปรองดอง เบื้องต้นถือว่าได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายค่อนข้างดี การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการทำข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย จะทำในรูปแบบสัจจะวาจาหรือสัตยาบันก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคตขึ้นมาอีก นอกเหนือจากกลไกเรื่อง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่มีอยู่

นายเสรีกล่าวต่อว่า ในส่วน สปท.การเมืองพร้อมสนับสนุนช่วยรัฐบาลสร้างความปรองดอง โดยในการประชุม สปท.การเมือง เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการรวบรวมข้อเสนอการแก้ปัญหาความขัดแย้ง มีนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธานอนุ กมธ. ไปทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหาความขัดแย้ง และแนวทางการสร้างความปรองดองจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เคยเสนอรายงานการสร้างความปรองดอง โดยจะทำหนังสือสอบถามความเห็นให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช้วิธีเชิญมาให้ข้อมูล ซึ่งคณะอนุ กมธ.ชุดดังกล่าวจะไปหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อฟังแนวนโยบายเรื่องความปรองดองของรัฐบาล ให้การทำงานของ สปท.การเมืองและรัฐบาลมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคณะอนุ กมธ.จะใช้เวลารวบรวมความเห็นจากพรรคการเมือง 1 เดือน เพื่อเสนอความเห็นต่อที่ประชุม สปท.การเมือง และที่ประชุม สปท. ก่อนส่งข้อมูลไปให้ ป.ย.ป.เพื่อพิจารณาต่อไป

เปิดโครงสร้าง คกก.เตรียมปรองดอง ปลัดกห.นั่งประธาน ตั้ง4คณะอนุฯ ทหาร พรึบ!

เปิดโครงสร้าง คกก.เตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ตั้ง “ปลัดกลาโหม” นั่ง”ปธ.อำนวยการ พร้อมตั้ง คณะอนุกรรมการ 4 ชุด ระดมนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญ ทหาร-ตร. รับฟังความเห็น-จัดทำความเห็นร่วม
เมื่อวันที่ 17 มกราคม รายงานข่าวเปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมพร้อมเสนอรายชื่อและโครงสร้างคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง จำนวน 19 คน อาทิ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธาน ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย มี ผบ.สส. ,ผบ.ทบ. ,ผบ.ทร. ,ผบ.ทอ. ,ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกลาโหม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ผอ.ศปป.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และพล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
โดยมี 4 คณะอนุกรรมการ คือคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น จำนวน 23 คน มี พล.อ.วัลลภ เป็นประธาน รวมถึงตัวแทนเหล่าทัพระดับพล.ท.หน่วยละ2 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผอ.ศปป. ตัวแทนกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คน คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายของวันนี้ (17 มกราคม) พล.อ.ชัยชาญ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหารจากกรมกิจการพลเรือนทหาร ผู้อำนวยการการศึกษายุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้แทนจากกรมกิจการพลเรือนทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ เจ้ากรมเสมียนตรา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนอำนวยการกองงบประมาณ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้คณะกรรมการอำนวยการจะประชุมเพื่อพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การดำเนินงานในเรื่องความปรองดองสมานฉันท์และกรอบเวลา 2.การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการและคณะทำงานซึ่งอยู่ระหว่างการจัดร่างคำสั่งแต่งตั้งแนวทางการดำเนินการ 3.ประเด็นคำถามการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เข้าร่วมประชุม

“บิ๊กตู่” เผยลงนามขอพระราชทานร่างรธน. กลับมาแก้ไขแล้วคาดใช้เวลา 1 เดือน

“บิ๊กตู่” เผยลงนามขอพระราชทานร่างรธน. กลับมาแก้ไขแล้วคาดใช้เวลา 1 เดือน

เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 17 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ตนเองได้ลงนาม และทูลเกล้าฯ ไปแล้ว เพื่อขอรับพระราชทานร่างรัฐธรามนูญ ลงมาเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ก็จะ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวก็เพื่อให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมา 11 คน อีกทั้งต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ อาลักษณ์ได้ลงในสมุดไทยด้วย เพราะมีส่วนที่ต้องแก้ไข ตามประเพณีคาดว่าไม่เกิด 1 เดือน

บิ๊กตู่ลั่นตัวผมเป็นกลาง ไม่ขัดแย้งใคร ลุยทำสัญญาประชาคม หยุดขัดแย้ง ไม่ขวางเลือกตั้ง

‘บิ๊กตู่’เผยผลประชุม คสช.ออกมาตรา 44 ตั้งกรรมการ ป.ย.ป.ทำงาน 3 ด้าน เผย’ประวิตร’คาดใช้เวลาหารือทุกภาคส่วน 3 เดือน บอกอย่าเพิ่งใจร้อนเรื่องการนิรโทษไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนปี 57 วอนสื่ออธิบายต่างชาติ รบ.ไม่ปิดกั้นสื่อ-การเมือง-น.ศ. ชี้ สัจจะวาจา พูดแล้วต้องทำ เช่น หยุดขัดแย้ง ไม่ขวาง ลต. สั่ง กก.ปรองดองรับฟังการเมืองทีละพรรค ตัดปัญหาทะเลาะกัน
เมื่อเวลา 14.10 น. วันที่ 17 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม คสช. ว่าวันนี้ถือเป็นการประชุม คสช.นัดพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องการพิจารณามาตรา 44 จำนวน 2 เรื่อง เรื่องแรกที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งมี 3 ด้านเพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ คือคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนในส่วนของรองนายกรัฐมนตรี เดิมมาอยู่ในกล่องนี้ ซึ่งก็มีทั้งงานด้านฟังก์ชั่น และงานนโยบาย ส่วนที่สองคืองานด้านการปฏิรูป จะนำแผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าส่วนไหนรัฐบาลทำแล้ว และอะไรที่อยากให้ทำต่อ จะเอามาพิจารณา และเกลา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เนื่องจากมีการพิจารณาเรื่องกฎหมาย และการทำงานตามรูปแบบด้วย คณะกรรมการปรองดอง ซึ่งทุกคนให้ความสนใจในเรื่องของการปรองดอง อย่างไรก็ตาม การปรองดองอยู่ที่จิตใจของคนที่จะมาปรองดอง และคนที่จะมาพูดคุย ไม่ใช่ว่าคณะกรรมการชุดนี้ หรือตนเองจะมาบังคับได้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ เพื่อประเทศไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม
“ขอย้ำว่ารัฐบาล คสช. และตัวผมเองไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร อย่าเข้าใจผิด หลายคนบอกว่ารัฐบาลต้องเป็นกลาง ซึ่งเราก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นกลางจะทำงานได้หรือ ซึ่งคำว่าเป็นกลางของผมคือทำงานได้กับทุกภาคส่วน ซึ่งผมให้นโยบายกับ พล.อ.ประวิตร ว่าจะต้องทำอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ความเห็นของนักการเมืองที่เสนอเข้ามานั้น จะมีผลกระทบอะไรกับการทำงาน ปยป.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนิรโทษ รวมถึงเรื่องของกฎหมาย ยังไม่ได้พูดถึงในวันนี้ เราพูดแต่เพียงว่าต้องใช้หลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ต้องให้ทุกพรรคได้พูดออกมา ทั้งเรื่องความขัดแย้ง การปรองดอง และความคิดต่างๆ ของแต่ละพรรค ทุกกลุ่มการเมือง เพราะปัจจุบัน มีทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง และทราบกันดีว่ามีความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ทุกคนต้องชี้แจงได้ว่าจะปฏิรูปประเทศ และปรองดองอย่างไร ต้องหารือด้วยว่าวันข้างหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร ส่วนปัญหาในอดีตที่ผ่านมาค่อยไปหาวิธีแก้ไข ในทางกฎหมายก็ไปว่ากันอีกครั้ง อย่าเพิ่งเอาเรื่องของนิรโทษ หรือเรื่องอะไรมาพูดกันก่อน เพราะถ้านำมาพูดก่อนก็ทะเลาะกันทุกที ที่ผ่านมาก็มีปัญหาตั้งแต่ปี 2557 ในเรื่องนิรโทษ และการปรองดอง เอาไว้ทีหลังค่อยว่ากัน
“วันนี้เราต้องทำให้ภาคประชาสังคม ประชาชน ทุกคนในประเทศรู้ก่อนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรค เป็นอย่างไร ต้องการอะไร และจะปฏิรูปประเทศกันหรือไม่ ที่สำคัญจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร แล้วใครที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่ผม หรือรัฐบาลนี้ รวมถึงไม่ใช่เพราะผมเข้ามาจึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ผมเข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งก็เห็นอยู่แล้ว ตั้งแต่ตนเองเข้ามาทุกอย่างก็เงียบ หยุดทุกอย่าง ผมถึงเข้ามาแบบนี้ ซึ่งผมก็ต้องทำหน้าที่นี้ต่อไป จนกว่าคณะกรรมการชุดนี้จะสรุปผลต่างๆ ขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรแล้วไปดำเนินการต่อ และเรื่องแบบนี้ไม่ได้จบภายใน 1-2 วัน” นายกฯกล่าว
นายกฯกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าจะต้องใช้เวลาในการหารือพูดคุย ประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อยุติ ว่าใครต้องการอะไร อย่างไร ปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วก็ปฏิรูปลงมา จากนั้นไปว่ากันต่อในขั้นที่ 2 และ 3 อย่าใจร้อน เรื่องนี้ถ้าใจร้อนแล้ว มีเรื่องทุกที
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนคำสั่งมาตรา 44 อีกฉบับ เกี่ยวกับคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจำเป็นต้องมีคณะทำงาน 2 ระดับ โดยระดับบนเป็น ครม.กำหนดนโยบาย ระดับล่างเป็นคณะกรรมการพื้นที่ ไม่เช่นนั้นพื้นที่ของ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จะเกิดไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องทำให้เกิดมูลค่าในการลงทุนสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งเดิมมีศักยภาพด้านสาธารณูปโภคอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องขยายให้กว้างขวางขึ้น หากไม่ใช้คำสั่งมาตรา 44 ต้องรอ พ.ร.บ.อีกหลายเดือนกว่าจะออก แต่คำสั่งมาตรา 44 นั้นก็สอดคล้องกัน และวันนี้หลายประเทศสนใจที่จะมาลงทุน หลายโครงการ ถ้าเราทำเสร็จเขาก็จะตัดสินใจมาภายในปี 2560 นี้
“ฉะนั้น ขอให้ช่วยกัน อย่าเอาปรองดองมาเป็นประเด็น พอมาตีว่าปรองดองจะเสร็จสำเร็จไหม เราต้องคาดหวังว่าจะสำเร็จ อยากให้คนไทยทุกคนมองแบบนั้น แต่หากมองเรื่องปรองดอง ปฏิรูปไม่สำเร็จ แล้วจะทำอะไร ทุกคนต้องช่วยกันให้สำเร็จ ผมกำลังทำประเทศ ผมก็ต้องเชื่อมั่นว่าผมจะทำได้ จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ร่วมมือกับผม ไม่ใช่ผมคนเดียวที่จะไปสั่งปฏิรูปทั้งหมดไหว ข้าราชการเป็นล้านคน ทุกคนต้องมีแนวคิดเหมือนผม เราจะต้องปฏิรูปและปรองดองเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องสมบูรณ์ และต้องสร้างการรับรู้กับต่างประเทศตั้งแต่วันนี้ ว่านี่คือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ แต่ที่เขาบอกว่ารัฐบาลไม่เปิดเวทีให้ใครพูด จริงๆ แล้วเปิดมาตลอด สื่อก็ว่าผมได้ อดีตพรรคการเมืองก็ว่าผมทุกวัน แล้วผมไปปิดกั้นตรงไหน ช่วยอธิบายสิ สื่อจะวิพากษ์วิจารณ์อะไรผมก็ได้ ผมก็หงุดหงิดนิดหน่อย แต่ไม่ได้ไปทำอะไรสักอย่าง ส่วนนักศึกษาที่แสดงความเห็นกรณีอยู่ในสถานที่รโหฐานของเขา หากมีการขออนุญาตมาก็ให้ ไม่ปิดกั้นอะไร ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างการรับรู้ให้ต่างประเทศเข้าใจ เพราะจะกลายเป็นว่าผมไปละเมิดสิทธิไม่ให้แสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ใจ ก็ทำได้ แต่ถ้าโจมตีรัฐบาล ไม่มีประเทศไหนเขายอมหรอก หรือเราจะเอาแบบนั้น ตอนนี้ผมกำลังทำสิ่งที่แตกต่างทำไมไม่ดู ซึ่งท่านก็ต้องให้กำลังใจตนเพื่อขอความร่วมมือกับประชาชนให้ได้ ไม่ใช่ฟังทางนู้นทางนี้ แล้วมาไล่รัฐบาล ต่างชาติเขาจะเข้าใจ และมาลงทุนหรือไม่ เขาก็มาเจรจากับผมทุกประเทศ เพียงแต่รอดูว่ามันจะปรองดองกันได้ไหม นั่นคือประเด็นสำคัญที่ต้องช่วยกัน อย่ามาบอกว่าไม่สำเร็จหรอก แล้วใครที่จะเป็นคนปรองดอง ผมเหรอ” นายกฯกล่าว
นายกฯกล่าวต่อว่า ตนเป็นคนอำนวยความสะดวก จัดเวทีการพูดคุยกันให้ได้ แต่ไม่ใช่คุยกัน 3-4 คนแล้วจบ แล้วไปสู่การใช้กฎหมายเลอะเทอะไปหมด แบบนั้นไม่ได้ ประเทศชาติต้องตัดสินใจด้วย โดยประชาชน ประชาสังคม ต้องร่วมตัดสินใจ ฉะนั้น การลงสัจจะวาจา จริงๆ แล้ว ตนแปลให้เป็นแบบไทยๆ หากเป็นเอ็มโอยู ส่วนใหญ่เป็นการลงนามความร่วมมือทางด้านธุรกิจเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่อันนี้เป็นเรื่องภายในประเทศ ใช้เรียกให้เบาลง ที่เขาเรียกว่าสัญญาประชาคม ที่เป็นสัจจะวาจา คือพูดแล้วต้องทำ เช่น จะไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป ไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง ว่าไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายหนึ่งต่อต้าน พอต่อต้านพรรคการเมืองจบ ก็มีกลุ่มการเมืองเข้ามาอีก วันนี้ตนคิดให้หมด แล้วมาถามกัน

นายกฯกล่าวว่า เรื่องการปรองดองไม่ใช่เฉพาะแค่นักการเมือง แต่มีเรื่องที่ดิน เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ตนสั่งการไปแล้วทำทั้งหมด ซึ่งมีประมาณ 10 หัวข้อที่ฝ่ายการเมืองพูด โดยจะให้ประชาชนรับทราบด้วย ในสิ่งที่ทุกพรรคพูด จะให้มาทีละพรรค เพราะถ้าให้มาพร้อมกันคงไม่ได้พูด ก็ทะเลาะกันอีก จึงต้องให้มาทีละพรรค ทางคณะกรรมการจะสรุปอีกทีว่าจะทำอะไรอย่างไร เรื่องกฎหมายนั้นเอาไว้ทีหลัง

เตรียมถก กก.กฤษฎีกาพิเศษนัดแรก “มีชัย” แจง เบี้องต้น ยังไม่ได้รับข้อสังเกตแก้รธน.

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 17 มกราคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะคณะทำงานกฤษฏีกาชุดพิเศษ เพื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ กรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขหรือเติมข้อความใด ว่า เย็นวันนี้คณะทำงานกฤษฏีกาได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากรอบและการทำงาน รวมถึงระยะเวลาที่ต้องพิจารณา โดยเบื้องต้นคาดว่า คณะทำงานฯ จะมีเวลาทำงานประมาณ 15 วัน จากระยะเวลาทั้งสิ้น 30 วันเพราะต้องเผื่อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณาด้วย ส่วนประเด็นข้อสังเกตนั้น ตนยังไม่ทราบว่าทางสำนักราชเลขาธิการจะมีข้อสังเกตใดๆ ที่มาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่นายกฯจะขอรับพระราชทานคืนมาหรือไม่ ดังนั้น ตนยังประเมินไม่ได้ว่าการแก้ไขหรือเติมข้อความใดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติจะมีความยากหรือง่ายเพียงใด
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติต้องสอดคล้องกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่4 หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าจะมีประเด็นดังกล่าวในข้อสังเกตหรือไม่ แต่หากมีต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันในเนื้อความของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติด้วย เนื่องจากตามความของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ในประเด็นดังกล่าวอ้างไปยังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนจะมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากข้อสังเกตเป็นสำคัญ
เมื่อถามต่อถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การปรองดองและการปฏิรูปของรัฐบาล นายมีชัย กล่าวว่า ถือว่าเป็นการทำงานล่วงหน้าก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ถือว่าสามารถทำได้และไม่มีผลกระทบภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งได้วางหลักการและแนวทางต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูป ปรองดอง และยุทธศาสตร์ชาติแล้ว เพราะหากคณะทำงานของรัฐบาลได้พิจารณาเนื้อหาสามารถส่งต่อให้กับคณะกรรมการด้านต่างๆ ตามที่มีกฎหมายซึ่งออกตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดได้ และหากเนื้อหาที่เสนอโดยคณะกรรมการของรัฐบาลมีความสอดคล้องคณะกรรมการตามกฎหมายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่สามารถนำไปสานต่อได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือน มีนาคมนี้ กรธ. โดยคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของอดีตส.ส. อดีต ส.ว. นักการเมือง ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ต่อร่าง พ.ร.บว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดย วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์จัดที่จ.อุดรธานี วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ จัดที่จ.เชียงใหม่ วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์จัดที่จ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และวันที่ 4-5 มีนาคมนี้ จัดที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อนำความเห็นที่ได้นำไปประกอบการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ต่อไป

ปัจจัยเอื้อต่อการปรองดอง

2 ชั่วโมง 329 ล้านบาท

ยอดบริจาคเงินในรายการ “ประชารัฐร่วมใจ ช่วยอุทกภัยภาคใต้” ที่ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. นั่งเป็นโอปะเรเตอร์รับสายโทรศัพท์บริจาคด้วยตัวเอง ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์

ตามปรากฏการณ์คนไทยไม่เคยทิ้งกันยามยาก

นี่คือคุณสมบัติพิเศษมากกว่าชนชาติอื่น และต้องถือเป็นพื้นฐานสำคัญ ตามเงื่อนสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่โหมดของการปรองดอง

ในอารมณ์ที่รู้สึกได้ถึงบรรยากาศที่เอื้อมากกว่าในรอบหลายปีที่พยายามกันมา

ตามน้ำเสียงตอบรับเชิงบวกเริ่มดังกว่าเสียงโวยวายเชิงลบ

สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับกระบวนการขับเคลื่อนที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ช็อตที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดปีใหม่ร่าง “โมเดล” ปฏิรูปและปรองดอง

เป็นพิมพ์เขียว “นำร่อง” พร้อมมอบธงให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

เดินหน้าวางแผนงาน จัดโครงสร้าง ป.ย.ป.

โดยการประสานกับทีมงานแม่น้ำ 5 สาย ไล่ตั้งแต่ คสช. คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เพื่อนำแผนนโยบายปรองดองไปสู่ภาคของการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งแน่นอน ตามกระบวนการก็คงจะนำมาผสมผสานกัน

ทั้งสูตรปรองดองฉบับของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายเสรี สุวรรณภา
นนท์ เป็นประธาน ที่เสนอให้ “พบกันครึ่งทาง”

ไม่นิรโทษกรรม แต่เปิดให้คนหนีกลับมาสู้คดี

หรือแม้แต่ข้อมูลในส่วนของกองทัพบกที่มีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปฯ ซึ่งล่าสุด

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ก็ยอมรับว่าในภาพรวมดีขึ้นการแบ่งแยกสีและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของประชาชนน้อยลงแต่อาจมีความคิดเห็นแตกต่างเรื่องการเมืองอยู่บ้าง เมื่อมีคณะกรรมการปรองดองชุดนี้ขึ้นมาดำเนินการในระดับนโยบายก็เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเดินไปสู่แนวทางที่ดี

สรุปก่อนจะมีผลในทางปฏิบัติ คงต้องปรับจูนกันตามเงื่อนไข

ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยกระบวนการของ ป.ย.ป.นั่นก็ด้านหนึ่ง แต่หน่วยขับเคลื่อนทางลึกจริงๆน่าจะอยู่ที่ “หัวหน้าทีมเตรียมงานสร้างความปรองดอง” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและ รมว.กลาโหม ที่ได้รับธงมอบหมายภารกิจสำคัญจาก “นายกฯลุงตู่”ในฐานะ “พี่ใหญ่” ผู้กว้างขวางในทุกวงการ

ด้วยพื้นฐานบุคลิกของ พล.อ.ประวิตรเป็นคนที่เชื่อมต่อได้ทุกจุด โดยเฉพาะกับนักการเมืองที่ต่อสายตรงได้ทุกป้อมค่าย สายสัมพันธ์เชื่อมถึงระดับแกน

ตามปรากฏการณ์ที่สะท้อนจากแนวคิดเบื้องต้น พล.อ.ประวิตรเตรียมส่งเทียบเชิญทุกป้อมค่าย ขั้วขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายมาตั้งวงพูดคุย

พร้อมลงนามใน “เอ็มโอยู” หรือข้อตกลงยุติความขัดแย้ง

ท่ามกลางเสียงขานรับจากทุกป้อมค่าย เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ กลุ่มเสื้อแดง นปช.ก็แบะท่าพร้อมคุย ขณะที่ฝ่ายม็อบ กปปส.ก็ไม่ขัด

เรื่องของเรื่อง หลักของการปรองดองมันต้องมีการคุยกันทั้งวงนอก และล็อบบี้กันวงใน

ตามสูตรพบกันครึ่งทาง ไม่มีใครได้ทั้งหมดและเสียทั้งหมด

ทั้งหมดทั้งปวง โดยกระบวนการเดินประสานทางลึกของ “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตรที่ตีคู่ไปกับการขับเคลื่อนกระบวนการปรองดองของ ป.ย.ป.

ปรองดองรอบนี้มีสัญญาณคลื่นความถี่ชัดขึ้นตามลำดับ

ประกอบกับปัจจัยสำคัญที่จะส่งแรงบวกเสริมให้กับโหมดปรองดองรอบนี้ นั่นก็คือ ความสง่างามของงานพระราชพิธีสำคัญทางประวัติศาสตร์

ภาพของแต่ละขั้วขัดแย้งหันกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นบรรยากาศความสามัคคี

มันเป็นอะไรที่สวยงาม คนไทยปรองดองช่วยกันดำรงไว้ซึ่งสถาบัน.
ทีมข่าวการเมือง

สัญญาณพิเศษสร้างสะพานปรองดอง : พลิกโฉมหน้าประเทศ

สัญญาณพิเศษสร้างสะพานปรองดอง : พลิกโฉมหน้าประเทศ


เป็นปีแห่งการปฏิรูปและปรองดอง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยกำหนดโครงสร้างตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนทำงานคู่ขนานอีก 4 สาย

สายแรก คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ
สายที่สอง คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ
สายที่สาม คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
และสายที่สี่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคณะทำงานศึกษาประเด็นกฎหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการสร้างสังคมสันติสุข ในคณะกรรมาธิการการเมือง (กมธ.) ได้จังหวะส่งรายงานผลการศึกษา พร้อมแนบร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อนำเข้าที่ประชุม สนช. ก่อนเสนอให้รัฐบาล

ประจวบเหมาะพอดีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กำลังขมวดผลการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง เพื่อนำเข้าที่ประชุม สปท.ก่อนส่งไม้ต่อให้รัฐบาล

คณะกรรมการทำงานแต่ละชุดที่ คสช.ตั้งขึ้น มีตัวแทน คสช. รัฐบาล สนช. และ สปท.เข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์อยู่ด้วย และฝ่ายการเมืองแต่ละค่ายก็ออกมาขานรับ แต่ในรายละเอียดยังต้องปรับจูนคลื่นให้ไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อทุกถนนทุกสายมุ่งสู่สถานีปลายทางสร้างความปรองดอง

นับจากนี้ไปการเดินไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ด้านการเมือง สปท. ที่มีตัวแทนคู่ขัดแย้งทุกสีอยู่ใน กมธ.ได้ศึกษาถึงทางออกของประเทศ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง อยู่ในแผนด้านปฏิรูปการเมือง
ในวาระสุดท้ายก่อนที่ สปท.จะพ้นหน้าที่ หลังรัฐธรรมนูญฉบับประชามติบังคับใช้และ
มีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปภายใน 120 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องเดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จ

กมธ.ศึกษาเรื่องนี้ เริ่มจากมิติสภาพปัญหา สาเหตุความขัดแย้งที่นำสังคมเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและเผชิญหน้าอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2548-2557 ส่วนใหญ่นักการเมืองเป็นต้นตอของความแตกแยก

เพราะต้องการแสวงหาหรือช่วงชิงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมทางการเมือง ทำให้นักการเมืองแต่ละค่ายไม่อาจแสวงหาจุดร่วมด้วยการประนีประนอมกันได้
นำไปสู่การปลุกมวลชนโดยผ่านกระบอกเสียงของฝ่ายตัวเอง ใช้วาทกรรมตอกลิ่มความขัดแย้ง เพื่อเอาชนะทางการเมือง และให้หลุดพ้นจากการถูกกล่าวหา หรือถูกดำเนินคดีต่างๆ กลายเป็นปัญหาความมั่นคง บั่นทอนเสถียรภาพ และศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความทุกข์ยากกับประชาชน
การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มจากการวางเป้าหมายให้ชัดเจนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างไรไม่ให้มีปัญหา ไม่เช่นนั้นเสนอทางออกรูปแบบต่างๆ แต่มีบางฝ่าย บางพวกไม่เห็นด้วยก็ยากที่จะเดินหน้าไปสู่ทางออกของประเทศได้

ฉะนั้นวันนี้จะต้องสร้างหลักการและมาตรการขึ้นมาใหม่ ใช้หลักการทั่วไปเหมือนเดิมไม่ได้ เช่น การยุติคดี การลดหย่อนผ่อนโทษ การพักโทษ การรอลงอาญา หรือไกลไปถึงการนิรโทษกรรมที่ถูกปฏิเสธมาตลอด

ข้อเสนอดังกล่าวจะมีคำถามตามมาตลอดว่า จะสร้างความเสียหายให้แก่กระบวนการยุติธรรม คำถามเหล่านี้มีลักษณะถามให้ปรองดองหรือถามให้ตีกัน ถ้าถามให้เกิดความปรองดองควรวางหลักเอาไว้ว่า อะไรที่ผ่อนปรนได้ให้นำหลักนั้นมาใช้ แต่ถ้าถามให้ทะเลาะกันต่อ คือ เสนอทางออกอย่างไรก็ไม่ยอมรับสักอย่าง ผิดไปหมด

ขอให้ตกลงกันให้ดี หาทางลดทิฐิ ลดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน และร่วมแรงร่วมใจหาทางออก เพราะแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่คดีความ ขอให้ดูมิติอื่นๆที่จะเสนอแก้ไขไปพร้อมๆกัน เช่น การสร้างความสงบในบ้านเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมจะเป็นใบเบิกทางแก้ปัญหาความแตกแยกและสร้างความปรองดอง

คดีความที่เกิดขึ้นในทางการเมืองเป็นสากลทั่วโลก ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ความคิดเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง เพราะเป็นการแสดงออกทางอุดมคติ อุดมการณ์ทางการเมือง

ฉะนั้นคดีที่เกิดขึ้นขอให้แบ่งเป็นคดีของผู้ชุมนุม ถ้าเป็นกฎหมายทั่วไปเหมือนเป็นความผิดร้ายแรง เช่น คดีก่อการร้าย คดีกบฏ คดีขัดคำสั่งของฝ่ายบริหารหรืออำนาจรัฐ ถ้าเป็นการกระทำหรือชุมนุมไม่ได้มีความผิดถึงขั้นก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ทรัพย์สิน เช่น การปิดสนามบิน การบุกทำเนียบรัฐบาล เราต้องให้โอกาสว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง

ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการเผาทรัพย์สิน เผาสถานที่ราชการ มีมือเผาจริงและผู้ที่ยุยงกองเชียร์ให้เผาถูกดำเนินคดี ทางออกควรลงโทษเฉพาะมือเผา ผู้ที่ยุยงหรือเป็นกองเชียร์แม้มีข้อหาหนักร้ายแรง
แต่ควรให้โอกาส การเจรจาปรองดองถึงจะเริ่มต้นได้

ขณะที่คดีของระดับแกนนำหรือผู้สั่งการ หากเป็นความผิดอาญาไม่ร้ายแรง ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะให้โอกาสแกนนำหรือผู้สั่งการ จำหน่ายคดีผู้นั้นออกจากสารบบความไปชั่วคราวหรือยุติคดี ปล่อยตัวให้ได้รับอิสรภาพ

ภายใต้เงื่อนไขห้ามไม่ให้จำเลยผู้นั้นกระทำความผิดใดๆ จะไปกระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวาย ปลุกปั่น ปลุกระดม สร้างความไม่สงบในบ้านเมืองอีกภายในช่วง 5 ปี แต่แกนนำหรือผู้สั่งการที่คิดว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด จะต่อสู้คดีต่อไปก็ได้

คดีที่แกนนำหรือผู้สั่งการทำความผิดอาญาร้ายแรง ศาลก็ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ส่วนผู้ที่ทำผิดหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร มีจำนวนไม่น้อยไปเปิดสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ผ่านโซเชียลมีเดีย จัดรายการต่อต้านรัฐ ยุยงส่งเสริมสร้างความแตกแยก ควรเปิดให้โอกาสกลับมาต่อสู้คดีและให้โอกาสได้รับการประกันตัว ไม่ใช่ถูกขังยาว

ข้อเสนอเหล่านี้ เมื่อทุกฝ่ายยอมรับได้ควรใช้มาตรการทางกฎหมายพิเศษ ไม่ถึงขั้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประเดี๋ยวจะถูกต่อต้านเหมือนที่ผ่านๆมาหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนเหล่านี้ทำผิดแล้วไม่ได้รับผิดตามกฎหมาย จะเคยตัว อนาคตข้างหน้าจะกลับมาทำผิดอีก

และในอนาคตควรมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก เช่น นอกจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ควรมีกฎหมายห้ามกระทำการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความแตกแยก หรือเกลียดชังต่อกัน
ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทางแพ่ง อาญา และทางการเมือง อาทิ หากผู้ที่กระทำผิดเป็นนักการเมืองให้ตัดสิทธิทางการเมือง10 ปีหรือตลอดชีวิต เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี

วันนี้บรรยากาศและข้อเสนอของทุกฝ่ายกำลังเข้าสู่โหมดปรองดอง เชื่อว่าโอกาสที่จะปฏิรูปการเมือง แก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งใหญ่

ไม่เช่นนั้นผลการเลือกตั้งออกมา ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนชนะ อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกมาต่อต้าน สถานการณ์จะกลับไปสู่สภาพเดิมๆ

ในที่สุดประชาชนจะทนทุกข์ทรมานต่อไปอีก 10–20 ปี

ข้อเสนอเหล่านี้ฝ่ายที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะยอมรับได้อย่างไร นายเสรี บอกว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วย ขอให้เสนอกลับมาว่า ทางออกดีกว่านี้ ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้ามีอะไรบ้าง ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง แต่ไม่ยอมเสนอทางออกที่ดีคืออะไร

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า คสช. รัฐบาล สนช.และ สปท.เดินหน้าเรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน ทาง สปท.ได้รับสัญญาณพิเศษมาอย่างไร นายเสรี บอกว่า เรื่องนี้ไม่บังเอิญ ทุกฝ่ายได้จังหวะเสนอไปในทิศทางเดียวกันพอดี

และรัฐบาลประกาศชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะเริ่มเดินหน้าปรองดองปี 2560 ขณะที่ สปท.หลังจากเสนอทางออกไปหลายรูปแบบแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องสานต่อภารกิจให้จบ
หวังว่าสิ่งที่เสนอไปจะเป็นบันไดขั้นแรกให้ก้าวเดินไปสู่เป้าหมาย

เพราะข้อเสนอตอนนี้อยู่ในช่วงจังหวะที่เหมาะสม

ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง–สร้างความปรองดอง.

ทีมการเมือง

"สัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบรรณ"



"สัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบรรณ"
บิ๊กตู่ หนุนแนวคิดบิ๊กป้อม นักการเมืองลงนามปรองดอง ลั่นผมไม่ได้ต้องการจะปรองดองกับคนโน้นคนนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นใครคนไหน แต่ผมมองประเทศชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีแนวคิดให้พรรคการเมืองมาลงสัตยาบรรณร่วมกันเพื่อความปรองดอง ว่า เรื่องปรองดองยังไม่ได้ทำ อยู่ระหว่างการเริ่มตั้งคณะกรรมการ

เรื่องนี้ได้ฟังมาจากพล.อ.ประวิตร มีความคิดแบบนั้นแล้วดำริขึ้นมา ก็ต้องดูว่าถ้าจะต้องทำกัน แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะทำหรือไม่ทำ เพียงแต่มีแนวคิดขึ้นมา ก็โอเค หลังได้ฟังในขั้นต้น

โดยพล.อ.ประวิตร มีแนวคิดเรียกพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาคุยกัน ว่าอะไรที่จะร่วมมือกันได้บ้าง และอะไรที่จะไม่ทำอีก เช่น การทำให้เกิดปัญหากับประชาชน จะไม่ทำอีกได้หรือไม่

เขาเรียกว่าเป็นสัจจะสัญญา แต่ไม่ใช่สัตยาบรรณ เป็นสัจจะวาจาทำนองนั้น คือพูดแล้วต้องไม่ลืม ต้องทำตามนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าหรือเปล่า แต่อย่าเอามาพันกัน ซึ่งมีหลายเรื่องหลายประเด็น ผมได้ให้แนวนโยบายไปว่าการปรองดองมีหลายมิติ และมีคดีความมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา คดีแพ่ง คดีการเมือง แต่ละอย่างจะทำกันอย่างไร ระหว่างนี้ก็สร้างการรับรู้กับสังคม ประชาชน ให้รู้ว่าเขาคิดกันมาแบบนี้ ไม่ใช่งุบงิบทำ มันทำไม่ได้” นายกฯ กล่าว

ถามว่าหากฝ่ายการเมืองจะมีเงื่อนไขต่อรอง นายกฯ กล่าวว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข ขั้นแรกเท่าที่ตนคุยกับพล.อ.ประวิตร จะเป็นการเรียกทุกพรรคมาคุยและเสนอความคิดเห็นมา และบันทึกไว้ ซึ่งจะฟังทุกพรรคทุกคนที่พูด

จากนั้นนำมารวบรวมดูว่าอันไหนควรนำมาปฏิบัติหรือนำมาทำ ทั้งนี้ต้องดูฝ่ายกฎหมายด้วย ไม่ใช่พูดกับคณะนี้แล้วไปชี้ผิดชี้ถูกมันไม่ใช่ ต้องหาประเด็นและแนวทางให้เจอ โดยความคิดเห็นของทุกภาคส่วน กลุ่มไหนมีปัญหา ก็ให้เสนอของเขามา เราก็นำมากลั่นกรอง สิ่งไหนที่ตรงกัน ก็ต้องดูว่าจะนำไปสู่กระบวนการทางกฎหมายได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องเลือกว่าจะทำอันไหน แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะทำด้วยกฎหมายหรืออะไรก็ตาม สังคมต้องยอมรับ โดยบังคับกันไม่ได้อยู่แล้ว เข้าใจกันหรือไม่ เดี๋ยวก็บานปลายกันไปอีก

“ผมไม่ได้ต้องการจะปรองดองกับคนโน้นคนนี้ ผมไม่ได้มองว่าเป็นใครคนไหน แต่ผมมองประเทศชาติ ปัญหาทุกปัญหาของประเทศชาติจะต้องได้รับการแก้ไข นี่คือการปรองดอง อย่าไปมองเรื่องนิรโทษกรรม ลดโทษ ยังไม่ถึงตรงนั้น ฟังดูก่อนว่าเขาเดินหน้าไปอย่างไร เวลานี้มีคณะกรรมการหลายคณะ”

ตะลึง พ.ต.อ.ดุษฎี เผย แก๊งดอกเบี้ยโหดวิชัย มีนักการเมืองหญิงชื่อดังอยู่เบื้องหลัง

ตะลึง พ.ต.อ.ดุษฎี เผย แก๊งดอกเบี้ยโหดวิชัย มีนักการเมืองหญิงชื่อดังอยู่เบื้องหลัง


ยุทธการกวาดล้างผู้มีอิทธิพล ตามนโยบายของคสช. ที่นำโดย นายกรัฐมนตรีลุงตู่ ที่ในหะแรก เหมือนจะเป็นเพียง แคมเปญเรียกคะแนนนิยมในระยะสั้นๆ ไม่ต่างจาก สารพัดนโยบายจัดระเบียบสังคมต่างๆ ที่นำมาใช้ก่อนหน้านี้
แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ทันทีที่...
ชายผู้ห้าวหาญ นามว่า พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ย่างสามขุม ส่งชื่อ นายวิชัย ปั้นงาม นายทุนเงินกู้ใหญ่ยักษ์บิ๊กเบิ้มคับสยามประเทศไปให้กับ ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ของ คสช.!
วิชัย ปั้นงาม คือใคร? มีใครอยู่เบื้องหลังอีกทีหรือไม่? ...นั่นคือเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
หากแต่ที่แน่ๆ หลัง มีชื่อ วิชัย ปั้นงาม โผล่ขึ้นมา...ฉับพลันแทบจะในทันที ก็เกิดวลีเด็ดสะท้านสยามประเทศขึ้นมาแทบจะในทันที
“จะให้พี่ช่วยดูแล ยังไงไหม?”
ใครกันน้อ ที่เป็นคนเอ่ยวลีเด็ดนี้กับ ชายผู้ห้าวหาญ นามว่า “พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ” ถึงห้องทำงานในกระทรวงยุติธรรม...กระทรวงที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวไทยทุกผู้ทุกนาม...
ใครกันน้อ? ที่กล้าหาญชาญชัยได้ถึงขนาดนี้...
ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ไปทะลวงทุกมิติในการบุกทลายเครือข่ายเงินกู้ดอกเบี้ยสุดโหด ที่กดขี่ข่มเหงพี่น้องประชาชนนับเป็นแสนๆ คน มาเป็นเวลานาน กอบโกยเงินจากการรีดนาทาเร้นด้วยดอกเบี้ย สูงถึงปีละมากกว่า 300%
ย้ำอีกครั้ง มากกว่า 300% ต่อปี! .... มีเงินหมุนเวียนในระดับนับพันล้านบาท มีเครือข่ายเกือบทุกจังหวัดในประเทศไทย บางจังหวัดมีมากกว่า 1 สาขา แถมมีข้าราชการ เข้าไปมีเอี่ยวขอรับการ “ดูแล” นับพันคน
และที่สำคัญไปกว่านั้น...
1 ใน 3 นายทุนผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง ที่ชักใยบงการ นายวิชัย ปั้นงาม ที่ในเวลานี้ ถูกออกหมายจับไปแล้ว
เป็น...นักการเมืองหญิงชื่อดังซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคมเสียด้วย...
เอาล่ะ เกริ่นกันมามากพอแล้ว เราไปฟังเรื่องทั้งหมดนี้จากปาก ชายผู้ห้าวหาญที่ฟันดาบอาญาสิทธิ์ใส่เครือข่ายรีดนาทาเร้นพี่น้องประชาชนใหญ่ที่สุดในประเทศกันดีกว่า

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เริ่มต้นการให้สัมภาษณ์พิเศษ กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงการรุกฆาตเช็กบิล เครือข่ายดอกเบี้ยโหดระดับประเทศ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เวลา 13.00 น. ที่ห้องทำงานกระทรวงยุติธรรม ว่า...
เดิมทีเดียวจริงๆ กระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ตั้งแต่ 25 ธ.ค.2558 ...ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล ทำให้เมื่อรัฐบาลสั่งการให้ส่งรายชื่อบรรดาผู้มีอิทธิพลไปยังศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพื่อตรวจสอบ...
แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ รายชื่อที่บรรดาหน่วยงานราชการส่งไปส่วนใหญ่ กลับไม่ได้ตรงกับรายชื่อที่ทางดีเอสไอ กำลังเข้าตรวจสอบ!
ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม จึงได้ส่งรายชื่อ ที่กำลังเฝ้าติดตามเพื่อดำเนินการ ไปยังศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพิ่มเติมอีก 3,000 กว่ารายชื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มของ นายวิชัย ทั้งหมดนั่นเอง!
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสังเกตอยู่เหมือนกันว่า เหตุใดรายชื่อ ผู้มีอิทธิพล ที่หน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะตำรวจ ส่งไปให้กับรัฐบาลเพื่อทำการปราบปราม จึงไม่ปรากฏรายชื่อซ้ำกับที่ทางกระทรวงยุติธรรม กำลังเฝ้าติดตามอยู่เลย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนแท้ๆ!
และนั่นแหละ เมื่อปรากฏชื่อของ วิชัย ปั้นงาม ออกไป จึงเป็นที่มาของ วลี “จะให้พี่ช่วยดูแลยังไงไหม”
รองปลัดยุติธรรม เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟัง เมื่อมาถึงโมเมนต์การเผชิญหน้าครั้งประวัติศาสตร์นี้ว่า...
“เมื่อข่าวแพร่กระจายออกไป ก็ปรากฏ “คนมีสี” ผู้หนึ่ง มาขอพบถึงห้องทำงานที่กระทรวงยุติธรรม ก็ห้องนี้แหละ” พูดพลาง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้ห้าวหาญ ก็ชี้นิ้วให้ทีมข่าวเฉพาะกิจดูถึงจุดที่เกิดเหตุไปด้วย!
ซึ่งคำถามแรกที่ถาม หลังเจอกันในครั้งนั้น ก็คือ
“รายชื่อที่ส่งไป มี วิชัย เกี่ยวข้องไหม?”
ได้ยินดังนั้น พี่...ก็เลยตอบไปตรงๆ เลย ว่า “มี!” (เสียงสูง)...
ซึ่งยังไม่ทันสิ้นเสียงดี บุคคลท่านนี้ ก็ตอบช้าๆ แบบเน้นเสียง มาทันทีว่า
“จะให้พี่ช่วยดูแลยังไงไหม?”
เมื่อจบประโยคที่ว่า รองปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงตอบไปด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่เชือดเฉือนเข้าไปถึงขั้วหัวใจว่า
“พี่ไม่ต้องมาดูแลผมหรอก! พี่จะดูแลยังไงไหว?...เพราะคนที่พี่ต้องดูแล มีมากถึง 1.7 - 2 แสน คนแบบนี้”
จากนั้น ก็ตามด้วยประโยคที่เข้มแข็งและดุดัน ตอบโต้กับ ฝ่ายตรงข้ามให้เงียบเสียงลงทันทีว่า
“ต่อจากนี้ไป เราสองคน...ต่างคนต่างอยู่! หากพี่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา นายวิชัย ก็ทำไป แต่ผม ก็ขอทำหน้าที่ของผม ไม่ต้องมาดูแลห่วงใยเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหรอก!” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นชัดเจน ใบหน้าเรียบเฉย แต่นัยน์ตาดุดันแข็งกร้าว เล่นเอา ทีมข่าวฯ ที่สัมภาษณ์ ถึงกับหนาวไปถึงกระดูกสันหลัง
จากนั้น รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ได้เล่าถึงการดำเนินการต่อไปว่า...
ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี พ.ศ.2557 หากใครจำได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีความพยายามดำเนินคดีกับเครือข่ายของ นายวิชัย มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถหาหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงตัวของ นายวิชัย และ “3 ผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริง” ได้
เนื่องจากการวางระบบของเครือข่ายนี้ มีการ “Cut out” คอยสกรีนไว้อยู่ ฉะนั้น ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงสามารถจับกุมได้แต่ตัวเล็กตัวน้อยเท่านั้น
ฉะนั้น การทำงานของกระทรวงยุติธรรม จึงมุ่งไปที่ “ระดับบนมาล่าง”
ใช้การทำงานในทางลับ พยายามเจาะเครือข่ายเงินกู้นอกระบบของ นายวิชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 แล้ว จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จ สามารถเจาะเซิร์ฟเวอร์ของแก๊งนี้ได้เป็นผลสำเร็จ จนสามารถล่วงรู้ถึงการวางโครงข่าย
และใกล้ที่จะถึงตัว...บุคคล 3 คน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริง เหนือ นายวิชัย อีกที แล้ว...
วิชัย แค่ตัวหลอก ตัวจริงคือ?
หลังได้ยินคำถาม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เปิดเผยกับทีมข่าวฯ โดยขยับมือเข้าไปที่กองเอกสารกองโตที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ พร้อมกับ ชี้นิ้วลงไปที่ รายชื่อบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งตรงกับ นักการเมืองหญิงชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม ซึ่งมีไฮไลต์สีเหลืองคาดอยู่ พร้อมกับถามทีมข่าวฯ ว่า “เห็นแล้วใช่ไหม”
เซิร์ฟเวอร์ หลักฐานชิ้นสำคัญ รู้ข้อมูลบุคคลร่วมขบวนการทั้งเครือข่าย
พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวกับทีมข่าวต่อไปว่า การที่เราสามารถเจาะเข้าเซิร์ฟเวอร์ระบบของเครือข่ายดังกล่าวได้ จึงทำให้เราสามารถรู้ชื่อของบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายนี้ ได้เกือบทั้งหมด มีหลักฐานการโอนธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงรายชื่อลูกหนี้ หรือก็คือ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งนี้ ที่มีมากถึง 2 แสนคน!
“พี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งนี้ น่าเห็นใจมาก ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ และเกษตรกร ที่ต้องการหาทุนไปประกอบอาชีพ แต่กลับโดนแก๊งนี้ ขูดเลือดขูดเนื้อ คิดดอกเบี้ยสูงถึง ร้อยละ 20 ต่อ 25 วัน หรือ มากกว่า 300% ภายใน 1 ปี!” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าวด้วยน้ำเสียงทอดถอนใจ
รหัสลับ VC8 ใช้ เฟซบุ๊ก ไลน์ สั่งการเครือข่าย
นายวิชัย จะมี code name ประจำตัวว่า VC8 เวลาจะสั่งการเครือข่ายให้ดำเนินการอย่างใดๆ ก็ตาม จะใช้วิธีการสื่อสาร ผ่านเฟซบุ๊ก และ ไลน์ เป็นหลัก ซึ่งต่อมา การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สาวไปถึงบรรดาผู้ร่วมขบวนการต่างๆ ด้วย
ระบบสวัสดิการเครือข่าย บริษัทถูกกฎหมาย ยังต้องอึ้ง!
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวกับทีมข่าวต่อไปว่า น้องรู้ไหม?... เครือข่ายนี้ มีระบบสวัสดิการให้กับพนักงานในแก๊งด้วย...มีทั้ง ค่าเช่าสำนักงานของแต่ละเครือข่ายที่อยู่ในหลายจังหวัด ค่าน้ำค่าไฟสำนักงาน ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ใช้สำหรับตระเวนเก็บดอกเบี้ยลูกหนี้ ค่าน้ำมัน ค่าตั๋วเครื่องบิน สำหรับเวลาเดินทางมาประชุมสัมมนาประจำเดือน ตามโรงแรมต่างๆ แม้กระทั่งค่ารักษาพยาบาล
และที่เด็ดกว่านั้น คือ หากเครือข่ายไหน สามารถทำยอดหนี้สูญ ได้ลดลงในแต่ละเดือน จะได้รับสวัสดิการเพิ่มเติมอีกด้วย เรียกว่า เปย์กันชนิด บริษัทที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะไม่สามารถให้สวัสดิการเครือข่าย ได้ถึงขนาดนี้ ด้วยซ้ำไป!
โดนข้อหาหนัก อั้งยี่ซ่องโจร - ฟอกเงิน
คนที่อยู่ในเครือข่ายทั้งหมด จะโดนตั้งข้อหาอั้-งยี่ซ่องโจร ขณะเดียวกัน คนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางด้านการเงินที่ผิดกฎหมาย รวมถึง กลุ่มคนที่สนับสนุนด้านการเงินทุน แม้กระทั่ง คนที่ร่วมในขบวนการโอนถ่ายทรัพย์สินของ นายวิชัย หลังถูกตั้งข้อหา ทั้งหมดนี้ จะโดนตั้งข้อหา ฟอกเงิน
ตะลึง! มีข้าราชการ ร่วมแก๊ง นับ 1,000 คน
และจากการตรวจสอบระบบเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว จนถึงขณะนี้ มีหลักฐานว่ามีชื่อของข้าราชการ ที่รับการโอนเงินจากขบวนการของนายวิชัย เข้าบัญชีตัวเอง เป็นรายเดือน มากกว่า 1,000 คน
“มันไม่ใช่เงินน้อยๆ เลยนะน้อง พี่ประเมินคร่าวๆ ไว้ว่า เครือข่ายนี้ น่าจะมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 1 พันล้านบาท เป็นอย่างต่ำ นอกจากนี้ ยังพบรายชื่อของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหมายเลขโทรศัพท์ ที่รับเงินเป็นรายวัน อีกจำนวนหนึ่งด้วย!” รองปลัดยุติธรรม กล่าวด้วยน้ำเสียงแฝงไปด้วยความเจ็บปวด ก่อนกล่าวต่อไปว่า...

“...เท่าที่ทราบ เนื่องด้วย เอกลักษณ์ของแก๊งดอกเบี้ยโหดกลุ่มนี้ คือ จะใช้รถจักรยานยนต์ยี่ห้อเดียวกัน เสียงดัง ราคาสูง แถมมีทะเบียนจังหวัดเดียวกัน 1,600 คัน สวมหมวกกันน็อก ออกตระเวนเก็บดอกเบี้ยลูกหนี้ ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นโพรงให้กระรอกน้อยใหญ่ในคราบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เข้าหากินชนิดเป็นล่ำเป็นสัน
เพราะสามารถสังเกตได้ง่ายขนาดนี้ ตำรวจกลุ่มหนึ่งจึงสบโอกาสเหมาะ เวลาแก๊งนี้ ไปตระเวนเก็บดอกเบี้ยรายวันลูกหนี้ ก็จะไปดักรออยู่ ตรอก ซอก ซอย ของหมู่บ้านต่างๆ ที่พวกนี้ไป เพื่อคอยไถเงินต่ออีกทอดด้วย!”
ด้วยเหตุที่มี เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาเกี่ยวข้องในเครือข่ายแบบนี้ เมื่อสามารถรวบรวมหลักฐานได้ครบและเตรียมจะบุกเข้าจับกุม จึงต้องเรียกใช้บริการของ ตำรวจที่เคยร่วมมือกัน ทลายเครือข่ายของ นายสยาม หรือ สุภาพ ทรัพย์วรสิทธิ์ เจ้าของฉายา ‘ภาพ 70 ไร่’ เจ้าพ่อคนดังคลองเตย มาดำเนินการจับกุมครั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทยในครั้งนี้
“ในเมื่อเราไว้ใจใครไม่ได้ เพราะรู้มาแล้วว่า มีตำรวจนอกแถวจำนวนหนึ่งไปเข้าร่วมในขบวนการ ไม่รู้เลยว่าใครเป็นใคร พี่เลยต้องใช้ พนักงานสอบสวนคดี ภาพ 70 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน มาเป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ รวมถึงคนที่มีใจที่พร้อมจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจจริงๆ มาจัดการ เพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหล”
“เมื่อมั่นใจแล้ว ในวันที่บุกปฏิบัติการค้น บ้านนายวิชัย ที่ จ.ปทุมธานี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พี่ถึงได้โทรศัพท์ไปหา “คนมีสี” ที่มาพบที่ห้องทำงาน แล้วบอกไปยังปลายสายที่รับว่า “พี่ ผมมาบุกค้นบ้านวิชัยแล้วนะ ฝากบอกไปถึงเขาด้วย หนีได้ก็หนีไป แต่จะยอมตายอยู่ที่ญี่ปุ่น หรือ จะกลับมาสู้คดี ก็คิดดูเอาเอง” น้ำเสียงจริงจังดุดันเคลือบแฝงไปด้วยแววตาเหี้ยมเกรียม ฉายออกมาจาก พ.ต.อ.ดุษฎี ในประโยคนี้
วิชัย กุญแจสำคัญ ผู้กุมความลับ จะได้ตัวมาดำเนินคดีหรือไม่?
“พี่บอกไว้ตรงนี้ก่อนเลยว่า จะได้ตัวหรือไม่ได้ตัว นายวิชัย ขบวนการนี้ จะต้องถูกทลายแน่นอน!”
“เขาติดกับของเรานะ การที่เดินทางหนีออกไปต่างประเทศแบบนี้ แถมยังเป็นการเดินทางไปแบบมีการ แสตมป์หนังสือเดินทาง เพราะหากตอนนี้ คิดที่จะเดินทางกลับประเทศ ก็จะต้องมีการแสตมป์หนังสือเดินทางกลับ หากไม่ทำเช่นนั้น ก็จะโดนดำเนินคดีเพิ่มอีก 1 คดี คือ หลบหนีเข้าเมือง” รองปลัดยุติธรรม ลั่นวาจา กับ ทีมข่าวฯ
วิชัย กลับมาประเทศไทยแล้ว หรือ ยังอยู่นอกประเทศ
“...พี่ยัง 50-50 นะ เพราะอย่างไรก็ดี เบื้องต้นเชื่อว่า นายวิชัย จะต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกลับไปหา กลุ่มก๊วนของเขาให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ ให้เหล่าบรรดาลูกหนี้ทั้งหลายอีกตั้งแสนกว่าคน ยังต้องยำเกรงอยู่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ควรพึงได้จากลูกหนี้เหล่านี้เอาไว้ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นด้วยว่า ยังมี คอนเนกชั่น ที่สามารถ ประสานกับเหล่าข้าราชการส่วนหนึ่งได้อยู่ สำหรับเป็นแนวทางในการต่อสู้คดี
ส่วนจะกลับมามอบตัวเมื่อไหร่? ส่วนตัวเชื่อว่า หาก นายวิชัย สามารถประสานงานจุดที่ว่านี้ได้ลงตัว จนมั่นใจได้ว่า มีแววที่จะชนะคดีได้ ก็คงติดต่อจะมามอบตัวเอง แต่หากยังไม่มั่นใจ ก็คงยังไม่คิดจะเข้ามามอบตัว”
อย่างไรก็ดี ที่ต้องให้ความสำคัญลำดับแรกในเวลานี้ ก็คือ จะทำอย่างไร?... ไม่ให้เครือข่ายนี้ สามารถมีเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น รถจักรยานยนต์ หรือ รถยนต์ สำหรับออกไปรังแกชาวบ้านได้ อันดับที่ 2 ก็คือ จะต้องแยกบรรดาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ที่มีอยู่ราว 1.7 แสนคน สามารถไปได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนของรัฐ ลำดับต่อมา ต้องพยายามสืบเสาะหาทรัพย์สินทั้งหมดของขบวนการนี้ เพื่อดำเนินการ “ยึดทรัพย์” ต่อไป เพื่อถอนรากถอนโคนให้สิ้นซาก จะได้ไม่สามารถไปรังแกประชาชนได้อีกต่อไป!
เฉียบขาดหนักแน่นพอไหม? แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์
ปทุมธานี เชียงใหม่ แชมป์เหยื่อดอกเบี้ยโหด VC8
หากถามว่า จังหวัดไหนมียอดลูกหนี้ของเครือข่ายนี้มากที่สุด เท่าที่ตรวจสอบพบว่า จ.ปทุมธานี และ จ.เชียงใหม่ จะมียอดลูกหนี้สูงสุด รองลงมาจากนั้น จะเป็นจังหวัดแถบภาคอีสาน เป็นส่วนใหญ่
มั่นใจ เอาผิดได้ยกแก๊ง ตามเช็กบิล ยึดทรัพย์
“ผมมั่นใจ ว่าจะสามารถเอาผิดขบวนการนี้ได้ยกแก๊ง เพราะที่ผ่านมา ทั้งผมและทีมงาน ก็เคยทำคดีที่คล้ายๆ กันนี้มาแล้ว คือ คดีของ ภาพ 70 ไร่ ที่มีการดำเนินการจับกุม จนกระทั่งสามารถดำเนินคดีเจ้าตัวและผู้ร่วมขบวนการ ให้ไปชดใช้กรรมในคุกมาแล้ว แถมแต่ละคน ก็ติดคุกคนละหลายๆ ปี ทรัพย์สินก็ถูกยึดไว้ได้ด้วย”
ห่วงไหม? เจอตอ คดีพลิกกลายเป็นมวยล้ม!
“ไม่มีหรอกน้อง!” พ.ต.อ.ดุษฎี เน้นเสียงอย่างหนักแน่น
“ตอนนี้มันเป็นข่าวใหญ่โตไปแล้ว ฉะนั้น เขาก็จะต้องนิ่ง ไม่มีใครกล้าขยับแน่นอน เพราะกลัวจะโดนสาวมาถึงตัว เชื่อเถอะจวนตัวจริงๆ ก็คงจะมีแต่คนโดดหนี เหมือนคราว ภาพ 70 ไร่ แน่นอน และจนถึง ณ เวลานี้ ไม่มีใครพยายามมาติดต่อ เพื่อขอเคลียร์อะไร อีกแล้ว! และหากจะมาขอเคลียร์...
...พี่ก็ไม่มีอะไรจะให้เคลียร์ อยู่แล้วด้วย...”
ลำบากใจไหม ต้องเอาผิด ตำรวจ ด้วยกัน
ไม่เลย! พี่มาอยู่ กระทรวงยุติธรรม แล้ว ต้องทำอะไรตรงไปตรงมา หากมาอยู่แล้ว เป็นที่พึ่งประชาชนไม่ได้สิ นั่นแหละถึงต้องลำบากใจ...พี่อยากบอกว่า...
“โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่ได้สอนให้คนออกมาประพฤติชั่วนะ แต่สอนให้ออกมาดูแลประชาชน เป็นที่พึ่งของประชาชน แต่หากมีพวกเอานอกตำรามาใช้ ก็ไปว่าเขาไม่ได้ แต่ในเมื่อคุณทำผิด คุณก็ต้องรับโทษในส่วนนั้นไป!”
เจาะเบื้องลึก ตามรอยสืบสวน ขบวนการดอกเบี้ยโหดระดับประเทศ
แหล่งข่าวในทีมสืบสวน ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจว่า ยุทธการบุกทลายเครือข่ายเงินกู้ดอกเบี้ยโหด ที่มีเครือข่ายระดับประเทศและมีเงินหมุนเวียนนับพันล้านบาทนี้ เริ่มต้นขึ้น หลังมีประชาชนจำนวนมาก ส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์แก้ไขปัญหาลูกหนี้นอกระบบ กระทรวงยุติธรรม ว่า ถูกกลุ่มนายทุนโหด คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดในหลายๆ จังหวัด
ซ้ำร้าย เมื่อมีการร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ก็มักจะไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การดำเนินคดีในกรณีที่ถูก ลูกสมุนของเครือข่ายดังกล่าว ข่มขู่ คุกคาม แม้กระทั่งทำร้ายร่างกาย ในบันทึกของโรงพักบางแห่ง ก็มักจะเป็นการดำเนินคดีในคดีแพ่งเท่านั้น แต่ในทางคดีอาญา ส่วนใหญ่มักไม่พบว่ามีการดำเนินคดีอย่างเป็นจริงเป็นจัง หรือแม้กระทั่งบันทึกการสอบสวน ด้วยเหตุนี้ ศูนย์แก้ไขปัญหาลูกหนี้นอกระบบ จึงเริ่มต้นแกะรอยหาเครือข่ายดังกล่าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 จนเริ่มได้ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายนี้มาเป็นระยะๆ
กระทั่ง...รัฐบาลลุงตู่ ประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล! อย่างจริงจัง
ทหารบุกทลายโต๊ะบอลเถื่อน จ.ปทุมธานี พบเบาะแสสำคัญ!
เมื่อรัฐบาล เริ่มมีการดำเนินการกับบรรดาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หลายๆแห่ง ในคราวหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่ทหาร บุกทลายโต๊ะบอลเถื่อนแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี
หลักฐานชิ้นสำคัญ ที่นำไปสู่การเปิดโปงขบวนการรีดนาทาเร้นประชาชน ก็มาอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ในที่สุด!
เพราะในการจับกุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหาร สามารถยึดโน้ตบุ๊กเครื่องหนึ่ง ที่มีข้อมูลระบบบางอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งแตกต่างไปจากโน้ตบุ๊กเครื่องอื่นๆ ที่มีแต่เพียงข้อมูลการพนันฟุตบอล จึงได้ส่งมาที่ ศูนย์แก้ไขปัญหาลูกหนี้นอกระบบ กระทรวงยุติธรรม เพื่อตรวจสอบ!
ทุกอย่างจึงโป๊ะเชะ!
แฮกเข้าระบบเครือข่ายสำเร็จ ปริศนาทุกอย่างไขกระจ่างแล้ว!
หลังใช้เวลาเข้าตรวจสอบโน้ตบุ๊กของกลางได้เพียงไม่นาน ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถแฮกแฝงเข้าไประบบออนไลน์ ที่เครือข่ายรีดนาทาเร้นประชาชน ใช้รายงานข้อมูลในการจัดเก็บเงินกู้ดอกเบี้ยโหด รวมถึงสถานที่ตั้งของสำนักงาน ข้อมูลตัวตนของเครือข่ายทั้งหมด ไม่เว้นแม้กระทั่ง ชื่อ-นามสกุลจริง เลขที่บัตรประชาชน!
ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวมาอยู่ในมือ เจ้าหน้าที่จึงเร่งปฏิบัติการในเชิงลึก เพื่อหวังเช็กบิลขบวนการนี้ ปลดแอกให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ทันที!
บุกล้อมที่ประชุมสัมมนาประจำปี หวัง เด็ดหัวแกนนำรวบทีเดียวทั้งเครือข่าย
เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถแกะรอยมาได้ระยะหนึ่งและมีข้อมูลแน่นปึ้กไว้ในมือเพียงพอแล้ว ก็ถึงวันที่หวังจะปิดบัญชีขบวนการนี้ทันที หลังได้ข้อมูลมาว่า เครือข่ายดอกเบี้ยโหดรายนี้ จะจัดประชุมสัมมนาประจำปี ซึ่งจะมีทั้งระดับแกนนำและระดับตัวเป้งๆ มารวมตัวกันที่โรงแรมหรูหราแห่งหนึ่ง
จึงมีการส่งเจ้าหน้าที่แอบแฝงตัวเข้าไปสอดแนมเพื่อหวังรวบตัวทีเดียวทั้งเครือข่าย แต่น่าเสียดาย...กลุ่มคนร้ายเกิดไหวตัวทัน!
จนมีการประกาศ ยกเลิกการจัดงานสัมมนาดังกล่าวทันที ทั้งๆ ที่ได้มีการจ่ายเงินในระดับ 7 หลัก เพื่อบำเรอความสุขให้บรรดาเครือข่ายทั้งหมดไปแล้ว และหลังจากนั้น แม้เจ้าหน้าที่จะเฝ้ารอคอยอยู่นานเท่าไร เครือข่ายนี้ ก็ไม่ได้มีการจัดประชุมสัมมนาในลักษณะดังกล่าวอีกเลย
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น...เครือข่ายดอกเบี้ยโหดระดับประเทศนี้ ยังได้สั่งเปลี่ยนแปลงพาสเวิร์ดทั้งหมดที่ใช้ในการเข้าระบบออนไลน์ของเครือข่ายเสียด้วย!
เมื่อฝ่ายตรงข้ามเริ่มรู้ตัวแบบนี้...เจ้าหน้าที่จึงไม่มีทางเลือก คำสั่งบุกยึดเซิร์ฟเวอร์ ยึดหลักฐานชิ้นสำคัญที่มีข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ในมือ ก่อนถูกล้างข้อมูล จึงถูกสั่งการลงมาในทันที!
นั่นแหละ...จึงเป็นที่มาของวลี “จะให้พี่ช่วยดูแลยังไงไหม?” ของ “คนมีสี” ที่บุกพบ ดุษฎี ถึงห้องทำงานกระทรวงยุติธรรมในที่สุด
เปิดระบบ เครือข่ายดอกเบี้ยโหด
หลังการติดตามสืบสวนเป็นเวลากว่า 2 ปี ทำให้ทราบว่า เครือข่ายนี้ แบ่งระดับการทำงานออกเป็นดังนี้
  • สายการบังคับบัญชาประกอบด้วย
หัวหน้าศูนย์ นามเรียกขาน บัญชี
รองหัวหน้าศูนย์ นามเรียกขาน ผู้ตรวจสอบบัญชี
หัวหน้าสาย ทำหน้าที่ ขับขี่จักรยานยนต์ ออกตระเวนเก็บดอกเบี้ยรายวันกับลูกหนี้
คู่สาย ทำหน้าที่ นั่งประกบไปกับหัวหน้าสายในการตระเวนออกเก็บดอกเบี้ย
  • เครือข่าย ศูนย์เงินกู้ดอกเบี้ยโหด
มีอยู่ทุกจังหวัด บางจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆ มีหลายสาขา เช่นที่ จ.อุดรธานี พบว่า เงินที่ส่งเข้ามายังส่วนกลาง บางวัน มียอดเงินสูงถึงกว่าสิบล้านบาท
  • การรายงานยอดเงินผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์
เมื่อมีการล็อกอินเข้าสู่ระบบ บรรดาหัวหน้าศูนย์ จะต้องมีการรายงานยอดเงินทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน เช่น ยอดดอกเบี้ย ส่วนที่จัดเก็บเงินได้ในแต่ละวัน ตัวเลขผู้ที่เข้ามาขอกู้เพิ่มเติม จำนวนวงเงินที่ปล่อยให้กู้ เข้ามายังส่วนกลางทั้งหมดเพื่อทำการสรุปยอดในแต่ละวัน
  • อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการทำงาน
จักรยานยนต์ ยี่ห้อ ฮอนด้า CBR ทะเบียน จังหวัดอุทัยธานีทุกคัน โน้ตบุ๊ก โดยทั้งหมด จะมีการสั่งซื้อโดย นายวิชัย แต่แอบแฝงโดยการใส่ชื่อ ของ ญาตินายวิชัย เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่อีกที
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลของเครือข่าย ที่ข่มเหงรังแกประชาชน หากินด้วยการทำนาบนหลังคนไทยด้วยกันเองมาเป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใด กล้าเงื้อมเข้าไปปลดแอกชาวบ้านตาดำๆ ผู้ไร้ทางเลือก ต้องทนแบกรับอยู่ จนกระทั่งได้มาพบกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ จาก รัฐบาลลุงตู่ ดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม และผู้ชายที่ชื่อ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
ในเมื่อ...เริ่มต้นการก้าวย่างล้างบาง ช่วยประชาราษฎร์ จนประชาชนโห่ร้องต้อนรับ พร้อมส่งเสียงเชียร์เอาใจช่วยกันอึกทึกครึกโครมเสียขนาดนี้แล้ว จะไม่รีบ ปิดบัญชี ล้างบางคนชั่วให้หมดไปจากแผ่นดิน เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน ตามภาระหน้าที่และคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับ พวกเราคนไทย เลยเชียวหรือ? เพราะนั่นคือ หน้าที่ของรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม ที่ควรลงมือทำใช่หรือไม่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน