PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

สัญญาณพิเศษสร้างสะพานปรองดอง : พลิกโฉมหน้าประเทศ

สัญญาณพิเศษสร้างสะพานปรองดอง : พลิกโฉมหน้าประเทศ


เป็นปีแห่งการปฏิรูปและปรองดอง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยกำหนดโครงสร้างตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนทำงานคู่ขนานอีก 4 สาย

สายแรก คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ
สายที่สอง คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ
สายที่สาม คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง
และสายที่สี่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคณะทำงานศึกษาประเด็นกฎหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการสร้างสังคมสันติสุข ในคณะกรรมาธิการการเมือง (กมธ.) ได้จังหวะส่งรายงานผลการศึกษา พร้อมแนบร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เพื่อนำเข้าที่ประชุม สนช. ก่อนเสนอให้รัฐบาล

ประจวบเหมาะพอดีที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กำลังขมวดผลการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง เพื่อนำเข้าที่ประชุม สปท.ก่อนส่งไม้ต่อให้รัฐบาล

คณะกรรมการทำงานแต่ละชุดที่ คสช.ตั้งขึ้น มีตัวแทน คสช. รัฐบาล สนช. และ สปท.เข้าไปร่วมวงศ์ไพบูลย์อยู่ด้วย และฝ่ายการเมืองแต่ละค่ายก็ออกมาขานรับ แต่ในรายละเอียดยังต้องปรับจูนคลื่นให้ไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อทุกถนนทุกสายมุ่งสู่สถานีปลายทางสร้างความปรองดอง

นับจากนี้ไปการเดินไปสู่ความปรองดองได้อย่างไร นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ด้านการเมือง สปท. ที่มีตัวแทนคู่ขัดแย้งทุกสีอยู่ใน กมธ.ได้ศึกษาถึงทางออกของประเทศ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง อยู่ในแผนด้านปฏิรูปการเมือง
ในวาระสุดท้ายก่อนที่ สปท.จะพ้นหน้าที่ หลังรัฐธรรมนูญฉบับประชามติบังคับใช้และ
มีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปภายใน 120 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะต้องเดินหน้าเรื่องนี้ให้สำเร็จ

กมธ.ศึกษาเรื่องนี้ เริ่มจากมิติสภาพปัญหา สาเหตุความขัดแย้งที่นำสังคมเข้าสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและเผชิญหน้าอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2548-2557 ส่วนใหญ่นักการเมืองเป็นต้นตอของความแตกแยก

เพราะต้องการแสวงหาหรือช่วงชิงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แสวงหาผลประโยชน์จากกิจกรรมทางการเมือง ทำให้นักการเมืองแต่ละค่ายไม่อาจแสวงหาจุดร่วมด้วยการประนีประนอมกันได้
นำไปสู่การปลุกมวลชนโดยผ่านกระบอกเสียงของฝ่ายตัวเอง ใช้วาทกรรมตอกลิ่มความขัดแย้ง เพื่อเอาชนะทางการเมือง และให้หลุดพ้นจากการถูกกล่าวหา หรือถูกดำเนินคดีต่างๆ กลายเป็นปัญหาความมั่นคง บั่นทอนเสถียรภาพ และศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดความทุกข์ยากกับประชาชน
การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มจากการวางเป้าหมายให้ชัดเจนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างไรไม่ให้มีปัญหา ไม่เช่นนั้นเสนอทางออกรูปแบบต่างๆ แต่มีบางฝ่าย บางพวกไม่เห็นด้วยก็ยากที่จะเดินหน้าไปสู่ทางออกของประเทศได้

ฉะนั้นวันนี้จะต้องสร้างหลักการและมาตรการขึ้นมาใหม่ ใช้หลักการทั่วไปเหมือนเดิมไม่ได้ เช่น การยุติคดี การลดหย่อนผ่อนโทษ การพักโทษ การรอลงอาญา หรือไกลไปถึงการนิรโทษกรรมที่ถูกปฏิเสธมาตลอด

ข้อเสนอดังกล่าวจะมีคำถามตามมาตลอดว่า จะสร้างความเสียหายให้แก่กระบวนการยุติธรรม คำถามเหล่านี้มีลักษณะถามให้ปรองดองหรือถามให้ตีกัน ถ้าถามให้เกิดความปรองดองควรวางหลักเอาไว้ว่า อะไรที่ผ่อนปรนได้ให้นำหลักนั้นมาใช้ แต่ถ้าถามให้ทะเลาะกันต่อ คือ เสนอทางออกอย่างไรก็ไม่ยอมรับสักอย่าง ผิดไปหมด

ขอให้ตกลงกันให้ดี หาทางลดทิฐิ ลดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน และร่วมแรงร่วมใจหาทางออก เพราะแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ใช่แค่คดีความ ขอให้ดูมิติอื่นๆที่จะเสนอแก้ไขไปพร้อมๆกัน เช่น การสร้างความสงบในบ้านเมือง ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมจะเป็นใบเบิกทางแก้ปัญหาความแตกแยกและสร้างความปรองดอง

คดีความที่เกิดขึ้นในทางการเมืองเป็นสากลทั่วโลก ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ความคิดเห็นทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง เพราะเป็นการแสดงออกทางอุดมคติ อุดมการณ์ทางการเมือง

ฉะนั้นคดีที่เกิดขึ้นขอให้แบ่งเป็นคดีของผู้ชุมนุม ถ้าเป็นกฎหมายทั่วไปเหมือนเป็นความผิดร้ายแรง เช่น คดีก่อการร้าย คดีกบฏ คดีขัดคำสั่งของฝ่ายบริหารหรืออำนาจรัฐ ถ้าเป็นการกระทำหรือชุมนุมไม่ได้มีความผิดถึงขั้นก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ทรัพย์สิน เช่น การปิดสนามบิน การบุกทำเนียบรัฐบาล เราต้องให้โอกาสว่าเป็นความผิดไม่ร้ายแรง

ถ้าเป็นคดีเกี่ยวกับการเผาทรัพย์สิน เผาสถานที่ราชการ มีมือเผาจริงและผู้ที่ยุยงกองเชียร์ให้เผาถูกดำเนินคดี ทางออกควรลงโทษเฉพาะมือเผา ผู้ที่ยุยงหรือเป็นกองเชียร์แม้มีข้อหาหนักร้ายแรง
แต่ควรให้โอกาส การเจรจาปรองดองถึงจะเริ่มต้นได้

ขณะที่คดีของระดับแกนนำหรือผู้สั่งการ หากเป็นความผิดอาญาไม่ร้ายแรง ให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะให้โอกาสแกนนำหรือผู้สั่งการ จำหน่ายคดีผู้นั้นออกจากสารบบความไปชั่วคราวหรือยุติคดี ปล่อยตัวให้ได้รับอิสรภาพ

ภายใต้เงื่อนไขห้ามไม่ให้จำเลยผู้นั้นกระทำความผิดใดๆ จะไปกระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวาย ปลุกปั่น ปลุกระดม สร้างความไม่สงบในบ้านเมืองอีกภายในช่วง 5 ปี แต่แกนนำหรือผู้สั่งการที่คิดว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด จะต่อสู้คดีต่อไปก็ได้

คดีที่แกนนำหรือผู้สั่งการทำความผิดอาญาร้ายแรง ศาลก็ดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ส่วนผู้ที่ทำผิดหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร มีจำนวนไม่น้อยไปเปิดสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ผ่านโซเชียลมีเดีย จัดรายการต่อต้านรัฐ ยุยงส่งเสริมสร้างความแตกแยก ควรเปิดให้โอกาสกลับมาต่อสู้คดีและให้โอกาสได้รับการประกันตัว ไม่ใช่ถูกขังยาว

ข้อเสนอเหล่านี้ เมื่อทุกฝ่ายยอมรับได้ควรใช้มาตรการทางกฎหมายพิเศษ ไม่ถึงขั้นออกกฎหมายนิรโทษกรรม ประเดี๋ยวจะถูกต่อต้านเหมือนที่ผ่านๆมาหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนเหล่านี้ทำผิดแล้วไม่ได้รับผิดตามกฎหมาย จะเคยตัว อนาคตข้างหน้าจะกลับมาทำผิดอีก

และในอนาคตควรมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก เช่น นอกจาก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ควรมีกฎหมายห้ามกระทำการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความแตกแยก หรือเกลียดชังต่อกัน
ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษทางแพ่ง อาญา และทางการเมือง อาทิ หากผู้ที่กระทำผิดเป็นนักการเมืองให้ตัดสิทธิทางการเมือง10 ปีหรือตลอดชีวิต เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่ดี

วันนี้บรรยากาศและข้อเสนอของทุกฝ่ายกำลังเข้าสู่โหมดปรองดอง เชื่อว่าโอกาสที่จะปฏิรูปการเมือง แก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองได้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งใหญ่

ไม่เช่นนั้นผลการเลือกตั้งออกมา ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนชนะ อีกฝ่ายจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกมาต่อต้าน สถานการณ์จะกลับไปสู่สภาพเดิมๆ

ในที่สุดประชาชนจะทนทุกข์ทรมานต่อไปอีก 10–20 ปี

ข้อเสนอเหล่านี้ฝ่ายที่มีส่วนได้เสียทางการเมืองจะยอมรับได้อย่างไร นายเสรี บอกว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วย ขอให้เสนอกลับมาว่า ทางออกดีกว่านี้ ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้ามีอะไรบ้าง ไม่ใช่ค้านทุกเรื่อง แต่ไม่ยอมเสนอทางออกที่ดีคืออะไร

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า คสช. รัฐบาล สนช.และ สปท.เดินหน้าเรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน ทาง สปท.ได้รับสัญญาณพิเศษมาอย่างไร นายเสรี บอกว่า เรื่องนี้ไม่บังเอิญ ทุกฝ่ายได้จังหวะเสนอไปในทิศทางเดียวกันพอดี

และรัฐบาลประกาศชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าจะเริ่มเดินหน้าปรองดองปี 2560 ขณะที่ สปท.หลังจากเสนอทางออกไปหลายรูปแบบแล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องสานต่อภารกิจให้จบ
หวังว่าสิ่งที่เสนอไปจะเป็นบันไดขั้นแรกให้ก้าวเดินไปสู่เป้าหมาย

เพราะข้อเสนอตอนนี้อยู่ในช่วงจังหวะที่เหมาะสม

ที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง–สร้างความปรองดอง.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: