PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

กิจกรรม24มิ.ย.

24 มิถุนา 2475: รำลึกวันแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เช้าตรู่วันนี้ 24 มิ.ย. อันเป็นวันครบรอบเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปทำความสะอาดหมุดคณะราษฎรอันเป็นสัญญลักษณ์ของคณะผู้ก่อการ ในระหว่างนั้นเกิดความวุ่นวายเล็กน้อย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวชายรายหนึ่งที่แสดงอาการไม่เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมดังกล่าว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังเข้าควบคุมตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ไม่ให้ร่วมกิจกรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายสิรวิชญ์ และอนุญาตให้ทำกิจกรรมในเวลาต่อมา
นายสิรวิชญ์และผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมแถลงว่า คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 84 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันประชาชนยังคงต้องต่อสู้ เรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ แม้ว่าเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 จะเกิดจากน้ำมือของคณะทหารและข้าราชการบางส่วน แต่มาวันนี้ ประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกไปถึงประชาชนแล้ว
หมุดคณะราษฎรถูกลงบริเวณข้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ช่วงย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย. 2475 เป็นสถานที่ที่คณะราษฎรประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่หมุดมีจารึกข้อความว่า “ณ ที่นี้ คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง”

ญี่ปุ่นประชุมด่วนอังกฤษถอนตัวจาก EU เงินเยนกระฉูด หุ้นกราวรูด

ญี่ปุ่นประชุมด่วนอังกฤษถอนตัวจาก EU เงินเยนกระฉูด หุ้นกราวรูด
        รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกประชุมฉุกเฉินหลังชาวอังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินเยนทุบสถิติสูงกว่า 35.30 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นนิกเคอิร่วงต่ำที่สุดในรอบหลายปี
       
       นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะ ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะทุกวิถีทางเพื่อเรียกคืนเสถียรภาพในตลาดเงินหลังจากชาวอังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่าผลประชามติในครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตลาดเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก
       
       ผลการลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรปของชาวอังกฤษ ทำให้ค่าเงินเยนพุ่งสูงขึ้นไปถึงกว่า 35.30 บาทต่อ100เยน ซึ่งถือว่าแพงที่สุดในรอบหลายปี ขณะที่ตลาดหุ้นกรุงโตเกียวทำสถิติลดต่ำที่สุดในรอบปี โดยดัชนีนิเคอิลดลงกว่า 1,300 จุดไปปิดที่ 14,952, ซึ่งถือเป็นการลดลงมากที่สุดในวันเดียวยิ่งกว่าเหตุวิกฤตการเงินของสหรัฐฯเมื่อปี 2008 
ญี่ปุ่นประชุมด่วนอังกฤษถอนตัวจาก EU เงินเยนกระฉูด หุ้นกราวรูด
        นายทาโร อะโซ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น รวมทั้งนายฮะรุฮิโคะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ต่างแสดงความกังวลถึงสถานการณ์ในตลาดเงินขณะนี้ และระบุว่าจะต้องหารือกับสมาชิกกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือ จี 7 เพื่อกู้คืนเสถียรภาพทางการเงิน
       
       อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในญี่ปุ่นประเมินว่าเป็นเรื่องยากมากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นและอีก 6 ชาติอุตสาหกรรมจะสามารถหยุดยั้งความปั่นป่วนในตลาดเงินได้ เพราะจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาอีกมากมายจากการถอนตัวจาก EU ของอังกฤษ 
ญี่ปุ่นประชุมด่วนอังกฤษถอนตัวจาก EU เงินเยนกระฉูด หุ้นกราวรูด
        อังกฤษเป็นฐานสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากในสหภาพยุโรป อีกทั้งเป็นที่หมายการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากสหรัฐ จีน และเนเธอร์แลนด์
       
       สถิติของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นและธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในอังกฤษอยู่ที่เกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปีที่แล้ว
       
       เงินทุนของญี่ปุ่นร้อยละ 32 ลงไปที่ภาคการเงินการคลังและประกัน ส่วนเงินทุนร้อยละ 14 ไปที่ภาคการทำเหมือง ซึ่งรวมถึงโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันทะเลเหนือ. 

ออง ซาน ซูจี ชี้สันติภาพจะเกิดได้ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน


นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษที่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 300 คน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเป็นวันที่สอง โดยระบุว่าสันติภาพในประเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกลุ่มต่าง ๆ ที่มีความเห็นขัดแย้ง จะหันมาไว้เนื้อเชื่อใจกัน
นางซูจีกล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาพยายามหาทางแก้ข้อพิพาทให้กลายเป็นมิตรภาพ และความไว้เนื้อเชื่อใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ บุคคล หรือแม้แต่ประเทศ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทัพเมียนมายังสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและต้องการแยกตัวเป็นอิสระ ขณะที่นางซูจีพยายามดึงให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาร่วมเจรจาสันติภาพ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ในช่วงเย็นวันนี้นางซูจี จะพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในประเด็นด้านแรงงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยจะมีการลงนามในเอกสาร 3 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน , บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา และบันทึกความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทางการไทยประเมินว่า มีแรงงานพม่าอยู่ในไทย 1.4 ล้านคน แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าน่าจะสูงกว่านั้นอย่างน้อยสองเท่าตัว

ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว 13 นักกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่าง รธน.

เพิ่มเติมข้อมูลเวลา 18.52 น.
ศาลทหารไม่ให้ประกันตัว 13 นักกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่าง รธน. ด้านยูเอ็นแถลงเป็นห่วงกรณีไทยจับกุมนักกิจกรรม 20 รายภายใน 2 วัน
เมื่อเวลา 18.50 น. นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษชน แจ้งว่าศาลทหารกรุงเทพฯ ปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาทั้ง 13 คนที่ทำกิจกรรมแจกใบปลิวและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวานนี้ โดยระบุว่ามีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัว
ส่วนนักกิจกรรม 7 คน ที่ถูกควบคุมตัวจากการทำกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อนุสาวรีย์พิทักษ์ประชาธิปไตย วงเวียนหลักสี่ บางเขน ยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาฝากขัง
ก่อนหน้านี้ ในช่วงบ่าย สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงกังวลต่อการจับกุมนักกิจกรรม 13 คนที่เขตอุตสาหกรรมบางพลีวานนี้ และนักกิจกรรมอีก 7 ราย ที่จัดกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลักสี่ เช้าวันนี้ ชี้เจ้าหน้าที่ของไทยใช้กำลังอย่างไม่มีความเหมาะสม และเรียกร้องให้มีปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมทั้งสองกรณีทันที และไม่มีการตั้งข้อหา
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ แถลงย้ำข้อเรียกร้องของนายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่อรัฐบาลไทยให้มีการถกเถียงสาธารณะอย่างเสรี เท่าเทียมและหลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ”
“ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการถกแถลง และการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศของพวกเขาด้วย” ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติย้ำข้อเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ และระบุว่ามีความห่วงใยในการใช้กำลังเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีความเหมาะสมในการจับกุมนักกิจกรรมในวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน โดยชี้ว่ามีกรณีหนึ่งนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกบีบคอโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการจับกุม พร้อมทั้ง เรียกร้องให้มีปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมทั้งสองกรณีโดยพลันโดยไม่มีการตั้งข้อหา
ทั้งสองกรณี เกิดขึ้นในช่วงสองวันที่ผ่านมา โดยวานนี้ เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวนักกิจกรรม และนักสหภาพแรงงานรวม 13 ราย ขณะเดินรณรงค์แจกใบปลิวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. นี้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง แจ้งข้อหากระทำผิดพระราชบัญญัติประชามติ 2559 โทษจำคุก 10 ปี
ผู้ต้องหาทั้งหมดประกอบด้วยนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและโท 10 คน ได้แก่ นายรังสิมันต์ โรม นายนันทพงศ์ ปานมาศ นายกรกช แสงเย็นพันธ์ นายวรวุฒิ บุตรมาตร นายสมสกุล ทองสุกใส นายอนันต์ โลเกตุ น.ส. พรรทิพย์ แสงอาทิตย์ นายธีรยุทธ นาบนารำ นายยุทธนา ดาศรี นายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ และนักสหภาพแรงงาน 3 คน ได้แก่ นางสาวกรชนก ชนะคูณ นางสาวเตือนใจ แวงคำ นางสาวปีใหม่ รัฐวงษา
อีกกรณี คือนิสิตจากกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่รวม 7 คน ได้แก่ น.ส.อรัญญิกา จังหวะ นาย เกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์ นาย กานต์ สถิตศิวกุล นายอุทัย ช่วยตั้ว นายคุณภัทร คะชะนา และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนควบคุมตัวขณะทำกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วงเวียนหลักสี่ โดยเตรียมพานสีทองไปวางที่อนุสาวรีย์ดังกล่าว ทั้ง 7 รายถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และผิด พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากจัดกิจกรรมโดยไม่ได้ขออนุญาต
ผู้ถูกจับกุมทั้ง 20 คนถูกนำตัวมายังศาลทหารเพื่อฝากขังในบ่ายวันนี้ โดยบางส่วนยืนยันจะไม่ขอประกันตัว
ภาพ: นักกิจกรรมที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถูกตำรวจนำตัวมาขึ้นศาลทหารเพื่อขอฝากขังบ่ายนี้ โดยมีเพื่อนๆ และอาจารย์มารอให้กำลังใจ

ความกังวลจากสำนังานข้าหลวงใหญ่กรณีการจับกุมนักกิจกรรมรณรงค์ประชามติในไทย

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงความกังวล กรณีการจับกุมนักกิจกรรมรณรงค์ประชามติ
*****************************************************************
‪#‎NEWSROOM‬ ‪#‎TV24‬ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความกังวลต่อการจับกุมนักกิจกรรม 13 คนจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทหารที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าห้าคนขึ้นไป เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรมจำนวนสิบสามคนถูกจับกุมย่านอุตสาหกรรมบางพลีในจังหวัดสมุทรปราการ ในจำนวนนี้แปดคนเป็นนักศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อีกสามคนเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน พวกเขาถูกจับกุมจากการเผยแพร่ใบปลิวที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ นักกิจกรรมแปดคนกำลังถูกส่งตัวไปขึ้นศาลทหารในขณะที่ห้าคนได้รับการประกันตัว
ในวันที่ 24 มิถุนายน นักศึกษาจำนวนเจ็ดคนถูกจับกุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกำลังถูกควบคุมตัวจากการจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการทำประชามติ ภายใต้พระราชบัญญัติประชามติ การรณรงค์สนับสนุนหรือต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายซาอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ย้ำข้อเรียกร้องที่เขามีก่อนหน้านี้ให้มี “การถกเถียงสาธารณะอย่างเสรี เท่าเทียมและหลากหลายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญ” นอกจากนี้ นายซาอิด ยังเสริมว่า ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการถกแถลง และการวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องภายในประเทศของพวกเขาด้วย
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความห่วงใยในการใช้กำลังเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีความเหมาะสมในการจับกุมนักกิจกรรมในวันที่ 23 และ 24 มิถุนายน ในกรณีหนึ่งนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกบีบคอโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการจับกุม
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เรียกร้องให้มีปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมทั้งสองกรณีโดยผลันโดยไม่มีการตั้งข้อหากับพวกเขา

ตลาดหุ้นอ่วมเจอ Negative Surprise ผลลงประชามติอังกฤษเลือก Leave จากอียู

  นักวิเคราะห์ประเมินดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลง ขณะที่ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) เลือกที่จะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากนักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจต่อสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย และอาจจะมีแรงขายสินค้าโภคภัณฑ์ออกมา 
       
       นักวิเคราะห์ระบุว่า กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เศษฐกิจของอังกฤษอ่อนแอลง กระทบต่อค่าเงินปอนด์ หรือยูโรที่จะอ่อนค่า แต่น่าจะมีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยจำกัด อีกทั้งน่าจะยังเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ (Domestic Play) ตามแรงซื้อที่กลับเข้ามา
       
       น.ส.ธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้ดิ่งลงตามผลคะแนนที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษต้องการจะออกจากอียู ซึ่งทำให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้นด้วย พร้อมให้จุด Cut loss ไว้ที่ 1,395 จุด ซึ่งจะเป็นแนวรับด้วย หากหลุดจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,360 จุด ส่วนแนวต้านให้ไว้ที่ 1,410 จุด
       
       ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย ทำให้ถือว่าตลาดฯ ไม่ถูก เมื่อมีปัจจัยลบเข้ามาก็มีการทยอยขายออกมาก่อน ภาพที่เป็น Negative ทำให้ตลาดฯ ซึมตัวลงก่อน
       
       อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังสามารถลงทุนหุ้นจำพวก Domestic Play ได้ เพราะยังได้แรงหนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐบาล พร้อมระบุนักลงทุนที่ถือเงินสดรอเลือกหุ้นซื้อได้เลยในช่วงที่ตลาดฯปรับตัวลงหนักเช่นนี้
       
       ด้าน นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวว่า ผลประชามติที่ออกมาอังกฤษต้องการจะออกจากการเป็นสมาชิกในอียู ซึ่งจะต้องใช้เวลา 2 ปีถึงจะออกจริง ดังนั้น ผลกระทบในระยะ 1-2 ปีคงจะยังไม่เห็น แต่จะเห็นจริงหลังจาก 2 ปีไปแล้ว
       
       ดังนั้น สิ่งที่อังกฤษจะได้รับผลกระทบเป็นเรื่องของสิทธิพิเศษต่างๆ จะหายไป การค้าของอังกฤษคงจะแย่ลง เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ นอกจากนี้ ศูนย์การทางการเงินหลายๆ อย่าง อาจจะต้องย้ายออกจากอังกฤษ เพราะต่อไปการเข้า หรือออกกลุ่มประเทศในอียู คงจะต้องทำการขออนุญาตก่อน
       
       ส่วนในระยะสั้นภาพเป็น Negative สิ่งที่จะได้เห็นเป็นเรื่องของ Currency Market ซึ่งอาจส่งผลในระยะ 1-3 วันหรืออาจเป็นสัปดาห์ แต่เชื่อว่าผลกระทบคงจะไม่มาก เพราะได้มีการเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ระยะสั้นจะได้เห็นเงินปอนด์อ่อนค่าลง อันเป็นผลจากเศรษฐกิจของอังกฤษที่จะแย่ลง แม้แต่เงินยูโรก็จะอ่อนค่าลงเช่นกัน เพราะนักลงทุนจะมุ่งเข้าหาสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรของสหรัฐฯ และเงินเยน ซึ่งคงจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินเยนแข็งค่าขึ้น
       
       นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า คงจะเป็น Negative Surprise ซึ่งพวกสินค้าโภคภัณฑ์จะถูกขายเพื่อลดความเสี่ยงออกมา แต่เชื่อว่าแม้ตลาดฯ จะมีการปรับฐาน แต่ดัชนีฯ ก็ยังจะสามารถยืนเหนือระดับ 1,400 จุดได้ ส่วนหุ้นที่จะเป็นบวกจะอยู่ในกลุ่ม Domestic Plays อย่างหุ้นในกลุ่มแบงก์ หุ้น KAMART KKP เป็นต้น
       
       ด้านนายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีนี้เป็น Negative Surprise ซึ่งทำให้ตลาดฯ น่าจะปรับตัวลงมาก อย่างไรก็ดี ตลาดฯ ยังสามารถที่จะเล่นเทรดดิ้งได้ เพราะเรื่องของอังกฤษไม่ได้ทำให้ตลาดหุ้นไทยแย่ โดยยังคงแนะนำเล่นหุ้นจำพวก Domestic Play เป็นหลัก
       
       บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า ประเด็น Brexit มีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นไทยจำกัดมาก โดยให้น้ำหนักกับกลุ่มธนาคาร ค้าปลีก ปิโตรเคมี รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เพราะแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/59 จะเติบโตเด่นในรอบนี้
       
       ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การที่อังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู จะทำให้ SET Index น่าจะมีโอกาสปรับลดลง โดยหุ้นที่มี Market Cap ขนาดใหญ่น่าจะมีแรงขายออกมา โดยเฉพาะหุ้นที่มี Beta สูง แต่ Upside เหลือน้อย ได้แก่ JAS SCB BAY STEC BLA VGI THAI และตรงกันข้ามให้สลับมาสะสมหุ้นที่มีความ P/E ต่ำ ผันผวนน้อย และยังมี Upside 

รวบนิสิตจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย ขู่ฟ้องหมดสภาพนิสิต


รวบนิสิต-นักกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ตำรวจไม่ยอมให้มีทนาย แต่ให้อาจารย์เข้าเป็นพยานแทน ขู่ไม่ยอมจะฟ้องอาญาให้หมดสภาพนิสิต ด้านแมน ปกรณ์ ย้ำนี่คือความเป็นเผด็จการของ คสช. ฝ่ายโหวตโนถูกเลือกปฏิบัติ
24 มิ.ย. 2559 มีการจัดกิจกรรมขึ้นหลายแห่งเพื่อเป็นการรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยที่อนุสาวรียร์ปราบกบฏ (หลักสี่) มีการรวมตัวของนิสิต กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือเอ็นดีเอ็ม (New Democracy Movement: NDM) เพื่อจัดกิจกรรม ‘ปัดฝุ่นประชาธิปไตย’ และรำลึกถึงคณะราษฎร

แต่ภายหลังการจัดกิจกรรม เวลา 10.05 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรม รวม 7 คนขึ้นรถและพาไปที่ สน.บางเขน ประกอบด้วย 1.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 2.เกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 3.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 4.กานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 5.อุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 6.คุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4 และ 7.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ทั้งนี้เจ้าหน้าตำรวจยังได้นำรถของชนกนันท์มาตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือของนิสิต นักศึกษาคนอื่นๆ ไว้ด้วย
ต่อมา ผู้จัดกิจกรรมเรียกร้องขอให้มีทนายมาเป็นพยานตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตและพยายามจะให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นพยานแทน ทั้งมีการบอกว่า ถ้าไม่ยอมจะฟ้องคดีอาญาทำให้หมดสถานภาพนิสิต

เวลา 14.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังนำตัวทั้ง 7 คนเข้าห้องสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหา โดยแหล่งข่าวในพื้นที่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาทั้ง 7 คนในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 เรื่องชุมนุมเกิน 5 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและเตรียมนำตัวส่งศาลทหารภายในวันนี้ ทั้งนี้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ยกเว้นชนกนันท์ ได้เตรียมขอประกันตัวในชั้นศาล

ช่วงเที่ยงวันนี้ นักกิจกรรมรวมตัวหน้าศาลทหาร เรียกร้องปล่อยเพื่อนที่ถูกจับกุม
ด้านปกรณ์ อารีกุล หรือแมน ปกรณ์ หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า การดำเนินการจับกุมนิสิตนักศึกษา นักกิจกรรม และสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จากกรณีการรณรงค์โหวตโนเมื่อวานนี้ (23 มิถุนายน 2559) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และกรณีการจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตยในวันนี้ เป็นการตอกย้ำความเป็นเผด็จการของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปกรณ์ยืนยันว่า ขบวนการประชาธิปไตยใหม่จะยังคงรณรงค์โหวตโนต่อไป แม้จะถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเห็นว่าเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีพื้นที่ในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ กรธ. ก็ควรมีพื้นที่ในการแสดงออกเช่นกัน

“เมื่อมีการรณรงค์จากฝ่ายเรา มีการจับกุมด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ใช่ พ.ร.บ.ประชามติ ผมคิดว่าเป็นอีกครั้งที่เราถูกเลือกปฏิบัติ ทำไมเวลาคนอื่นออกไปแสดงความคิดเห็นสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ คสช. กลับไม่มีความเห็นอะไรเลย” ปกรณ์กล่าว
 


เวลา 16.03 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าตำรวจ สน.บางเขน นำตัว 7 นิสิต-นักศึกษาที่ทำกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ มาขออนุญาตฝากขังที่ศาลทหารแล้ว

ค่าเงินปอนด์ตกฮวบถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หลังผลประชามติชี้ชัดสหราชอาณาจักรจะแยกตัวจากอียู

ค่าเงินปอนด์ตกฮวบถึงระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หลังผลประชามติชี้ชัดสหราชอาณาจักรจะแยกตัวจากอียู
เงินปอนด์มีค่าอ่อนตัวลงมาต่ำสุดในรอบ 31 ปี วันนี้ (24 มิ.ย.) ในช่วงหนึ่งของการซื้อขาย ค่าเงินปอนด์ 1 ปอนด์เท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 1.3305 ดอลลาร์ หรือตกลงกว่า 10%
ก่อนหน้าที่ผลการนับคะแนนจะออกมา ค่าเงินปอนด์ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ 1.50 ดอลลาร์สหรัฐฯเพราะนักลงทุนเชื่อว่าประชามติจะออกมาให้สหราชอาณาจักรรวมอยู่กับอียูต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฎข่าวผลการนับคะแนนออกมาในเวลาต่อมาว่าฝ่ายเสนอให้แยกได้คะแนนมากกว่า ค่าเงินปอนด์เริ่มลดลงแล้วหลังจากนั้นก็ตกฮวบ นับเป็นการลดค่าที่หนักสุดในรอบหนึ่งวันของเงินปอนด์ นอกจากนั้นเงินปอนด์อ่อนค่าลงด้วยถึง 7% เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโร
นักลงทุนระบุว่าภาวะค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วในวันเดียวในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่เมื่อปี พ.ศ.2528 หลายคนบอกว่ายังไม่เคยเห็นอาการตระหนกของตลาดเช่นนี้มาก่อนในรอบหลายปีนี้
ส่วนเงินยูโรอ่อนค่าลงด้วยถึงร้อยละ 3.33 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าตลาดหุ้นลอนดอนจะกระเทือนหนักด้วย นักลงทุนคาดการณ์ว่าเมื่อเปิดตลาดมา ดัชนีหุ้น FTSE น่าจะร่วงไม่ต่ำกว่า 7%

บทวิเคราะห์ Brexit ผลกระทบหลังอังกฤษถอนตัวจาก EU


5775
ในที่สุด ผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ (Leave or Remain) ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่าย “ออก” อย่างเฉียดฉิว ด้วยสัดส่วน “ออก” 51.9% และ “อยู่” 48.1%
Brand Inside ขอวิเคราะห์ผลกระทบจากการโหวตออก Brexit ดังนี้
ภาพจาก 10 Downing
ภาพจาก 10 Downing

ทำไมฝ่ายโหวตออกถึงชนะ?

ก่อนหน้านี้ นักการเมืองกระแสหลักของอังกฤษ ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แห่งพรรคอนุรักษ์นิยม รวมถึงบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจทั่วโลก และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ต่างก็เสนอให้ชาวสหราชอาณาจักรเลือกจะ “อยู่” กับยุโรปต่อไป
แต่เมื่อผลจบลงด้วยการ “ออก” จาก EU คำถามแรกคือเกิดอะไรขึ้น ทำไมพลเมืองครึ่งประเทศถึงเลือกจะออกจาก EU
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักมองคล้ายๆ กันว่า ฝ่ายที่ต้องการออกจาก EU ให้น้ำหนักกับเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องเป็นสำคัญ ถึงแม้การก่อตั้ง EU ช่วงประมาณ 20 ปีแรก (นับจากสนธิสัญญา Maastricht ในปี 1992) จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น 2 ครั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2007-2008 ที่กระทบสถาบันการเงินในอังกฤษมาก และวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปช่วงหลังปี 2010 เป็นต้นมา) ทำให้เศรษฐกิจของยุโรปฝืดเคืองลง
ผลกระทบที่ชัดเจนคือประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน หรือแม้แต่กลุ่มที่ยังมีงานทำ ก็มีสภาพเศรษฐกิจในการดำรงชีวิตประจำวันที่ลำบากขึ้นมาก ปัจจัยเศรษฐกิจเป็นลบที่ยืดเยื้อยาวนานแบบนี้ ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในสภาพของรัฐที่เป็นอยู่ ไม่พอใจชนชั้นสูงที่ร่ำรวยและไม่ได้รับผลกระทบมากนัก (anti-establishment) ไม่พอใจผู้อพยพ (immigrant) ที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในประเทศ และประชาชนส่วนหนึ่งก็เริ่มใฝ่ฝันถึงความรุ่งเรืองในอดีต ยุคก่อนที่จะรวมเป็น EU
การแยกตัวออกจาก EU เป็นสิ่งที่พูดกันมากในช่วงวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรป เพราะการใช้นโยบายเศรษฐกิจและค่าเงินแบบเดียวกันทั้งยุโรป อาจไม่ยืดหยุ่นพอสำหรับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก กรณีของกรีซเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ถึงแม้กรีซจะไม่ได้แยกตัวออกจาก EU ในท้ายที่สุดก็ตาม แต่ปัญหาของกรีซก็แสดงให้คนในยุโรปเห็นว่า การอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันตามวิสัยทัศน์ของ EU ไม่ได้มีแต่ผลดีเสมอไป
ภาพจาก UK Parliament
ภาพจาก UK Parliament
แต่กรณีของสหราชอาณาจักร ที่ไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับ EU มากนัก (ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรมที่อาจแตกต่างจากยุโรปภาคพื้นทวีปอยู่พอสมควร) และไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโรมาตั้งแต่ต้น ก็ย่อมมีโอกาสจะแยกตัวออกจาก EU ได้ง่ายกว่าถ้าหากโอกาสเอื้ออำนวย
ความอึดอัดทางเศรษฐกิจของประชากรยุโรปถูกแสดงออกผ่านการเมืองได้ชัดเจน เพราะในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา พรรคฝ่ายขวาของยุโรปที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหรือชาตินิยม เน้นผลประโยชน์ของประชากรหรือชาติพันธุ์ในประเทศตัวเอง ต่างได้เสียงข้างมากในรัฐสภาทั้งระดับประเทศและระดับยุโรป ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และสนับสนุนวิสัยทัศน์ “ยุโรปหนึ่งเดียว” เริ่มเสื่อมถอยลง เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้มากนัก
การโหวตประชามติของสหราชอาณาจักรครั้งนี้ ถึงแม้พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีคาเมรอน จะครองเสียงข้างมากในสภา แต่เอาเข้าจริงแล้วก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวา-กลาง และมีจุดยืนประนีประนอมมากกว่า ทางพรรคเองไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ก็ต้องการให้ประเทศอยู่กับ EU ต่อไป ในขณะที่พรรคขวาสุดขั้วอย่าง UK Independence Party (UKIP) ก็มีท่าทีชัดเจนว่าต้องการโหวตออกจาก EU
การโหวตออกของประชาชนสหราชอาณาจักร จึงถือเป็นภาพสะท้อนว่าวิถีทางแบบ “ปัจจุบัน” ที่อิงกับ EU นั้นไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจอีกต่อไป จึงส่งผลให้ประชาชนเกินครึ่งเลือกจะกลับไปสู่ “อดีต” อันรุ่งเรืองของสหราชอาณาจักรที่อยู่ด้วยตัวเองลำพัง ถึงแม้ไม่มีอะไรยืนยันว่า “อดีต” แบบเดิมจะเป็น “อนาคต” ที่ดีแค่ไหน แต่การเสี่ยงเดินไปตายดาบหน้า ก็น่าจะดีกว่า “ปัจจุบัน” ที่ยังไม่เห็นอนาคตอันสดใสเลย
วิดีโอรณรงค์ให้โหวตออกจาก EU ของพรรค UKIP เปรียบเทียบการอยู่ใน EU เหมือนไก่ที่ถูกขังอยู่ในกรงแออัด ในขณะที่อากาศข้างนอกสดใส

ผลกระทบระยะสั้น

ผลการโหวต Leave ย่อมจะสร้างแรงสะเทือนกับการเมืองภายในประเทศเป็นอย่างแรก ถึงแม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างก็มีจุดยืน Remain แต่เมื่อฝ่าย Remain แพ้โหวต การสนับสนุนทางการเมืองจึงย่อมสวิงกลับไปยังฝ่าย Leave
สิ่งแรกที่ต้องจับตามองคือการลาออกของนายกรัฐมนตรี David Cameron ที่มีจุดยืนฝั่ง Remain (แม้จะมีเสียงสนับสนุนให้เขานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปก็ตาม) ผลที่ตามมาคือฝ่าย Leave ในพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองเสียงข้างมาก จะขึ้นมามีอำนาจแทน ทิศทางการเมืองของประเทศในระยะสั้นจึงขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ว่าจะตอบสนองต่อผลโหวต Leave อย่างไรบ้าง
การลาออกของ Cameron จะมีผลในเดือนตุลาคม 2016 ซึ่งในระยะอีกประมาณ 3 เดือนต่อจากนี้ จะเป็นช่วงเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ภายในประเทศ และอีกสักระยะเราจะเห็นตัวเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นว่า นายกอังกฤษคนใหม่คือใคร
ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แสดงให้เห็นทันทีเมื่อเงินปอนด์มีค่าตกหนักครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี และเราคงเห็นภาวะผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกไปอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มสงบลง เหตุสำคัญเป็นเพราะการลงประชามติโหวตออกจาก EU ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้ตลาดเองก็ไม่ทราบว่าจะรับมือกับสภาวะนี้อย่างไร
การโหวตออกของอังกฤษ เป็นภาพสะท้อนของความไม่พอใจในปัจจุบัน แต่กลับไม่ได้แสดงให้เห็นว่าต้องการอนาคตอย่างไรกันแน่ (บอกได้แค่ว่าจะ “ออก” แต่ออกไปแล้วจะทำอะไรต่อ ภาพยังไม่ชัดเจน) ซึ่งในระยะสั้นเราจะเห็นสภาวะ “ฝุ่นตลบ” ท่ามกลางความมึนงงไปอีกสักพักใหญ่ๆ
David Cameron นายกรัฐมนตรีผู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐอาณาจักร)
David Cameron นายกรัฐมนตรีผู้ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ (ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐอาณาจักร)

ผลกระทบระยะยาว

ผลกระทบในระยะยาวคือ สหราชอาณาจักรจะเริ่มปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอิงตามกรอบกฎหมายของรัฐสภายุโรป (EU Directives) อีกต่อไป แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องใช้เวลานานและค่อยเป็นค่อยไป (CNBC วิเคราะห์ว่าอาจใช้เวลาถึง 2 ปี กว่าจะได้ออกจาก EU จริงๆ)
ข้อดีคือกฎระเบียบบางส่วนจะยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ในอีกทาง ภาวะเศรษฐกิจที่เคยได้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของ EU เช่น ตลาดรวม ก็จะหมดไป อังกฤษจะต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้จากสภาพตลาดในประเทศเพียงลำพัง (single market)
รัฐบาลชุดใหม่ย่อมจะมีทีท่าต่อนโยบายเรื่องผู้อพยพที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะต่อให้คนอังกฤษกลุ่มหนึ่งไม่พอใจต่อผู้อพยพมากแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าผู้อพยพเหล่านี้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอยู่มากแล้ว การไล่ผู้อพยพเหล่านี้ออกไปจากประเทศ ย่อมต้องตอบคำถามให้ได้ว่าตำแหน่งงานที่ว่างลงเหล่านั้นจะหาใครมาทำแทน
ผลการโหวตที่แพ้ชนะกันอย่างฉิวเฉียด สร้างรอยร้าวอันรุนแรงในสังคมของสหราชอาณาจักร เพราะกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันทั้งอายุ พื้นที่ ระดับรายได้ มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รอยร้าวครั้งนี้จะฝังลึกและกลายเป็นชนวนความแตกแยกในสังคมของสหราชอาณาจักรไปอีกนาน ในระยะยาวแล้วน่าจะเป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต
สิ่งที่น่าจับตาอีกประเด็นคือการแยกตัวของสกอตแลนด์ หลังจากการลงประชามติในปี 2014 จบลงด้วยชาวสกอตแลนด์ 55% เลือกจะอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรต่อไป แต่ในการโหวตออกจาก EU ปี 2016 ครั้งนี้ สกอตแลนด์กลับมีความเห็นที่แตกต่างจากอังกฤษและเวลส์ นั่นคือเสียง 62% ของสกอตแลนด์เลือกจะอยู่กับ EU ต่อไป (รวมถึงไอร์แลนด์เหนือที่ 55.8% เลือกอยู่กับ EU เช่นกัน)
มุมมองของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ที่แตกต่างจากอังกฤษและเวลส์ ย่อมส่งผลให้ในอนาคตอีกไม่ไกล เราอาจได้เห็นการแยกตัวของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ออกจากสหราชอาณาจักรได้เช่นกัน
แผนที่การโหวตแยกตัวออกจาก EU แยกตามแคว้น (สีเหลืองคือ Remain สีน้ำเงินคือ Leave) ภาพจาก BBC
แผนที่การโหวตแยกตัวออกจาก EU แยกตามแคว้น (สีเหลืองคือ Remain สีน้ำเงินคือ Leave) ภาพจาก BBC

อังกฤษต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ในระยะยาว

กล่าวโดยสรุปแล้ว การโหวต Leave ครั้งนี้มีที่มาจากความอึดอัดทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และฝ่ายโหวต Leave เสนอความหวังเรื่องเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเมื่อออกจาก EU เป็นจุดขายในการชนะโหวตครั้งนี้
แต่สุดท้ายในระยะยาวแล้ว ไม่ว่าจะอยู่หรือออก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น สหราชอาณาจักรจะต้องแสดงให้เห็นว่าการออกจาก EU สามารถช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้จริงๆ อย่างที่คิดกันหรือไม่ ผ่านการปฏิรูปกรอบกฎหมายและนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีแรกหลังออกจาก EU
มิฉะนั้น อังกฤษก็จะอยู่ในสภาวะ “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” เช่นกัน

กลุ่ม นศ.ที่ร่วมกิจกรรม "24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย

นักศึกษาที่ร่วมเสนา"24 มิถุนายน ปัดฝุ่นประชาธิปไตย ณ.อนุสารีย์ปราบกบฎ บางเขน ขึ้นศาลทหาร ด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558
....................
1. น.ส.อรัญญิกา จังหวะ อายุ 21 ปี นิสิตคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3
2. นาย เกษมชาติ ฉัตรนิรัติศัย อายุ 21 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
3. น.ส.สุทธิดา วัฒนสิงห์ อายุ 21 ปี นิสิตคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3
4. นาย กานต์ สถิตศิวกุล อายุ 19 ปี นิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 2
5. นายอุทัย ช่วยตั้ว อายุ 21 ปี นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 3
6. นายคุณภัทร คะชะนา อายุ 21 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4
7. น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ อายุ 23 ปี สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่
(ภาพ:สงวน คุ้มรุ่งโรจน์)

เมื่อ"อังกฤษ"ตัดสินใจทิ้ง"ปัจจุบัน"เพื่อรำลึกถึง"อดีต"

Chai Seeho

เมื่อ"อังกฤษ"ตัดสินใจทิ้ง"ปัจจุบัน"เพื่อรำลึกถึง"อดีต"
เราคงเคยได้ยินชื่อเหล่านี้...
เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ผู้ค้นพบและตั้งกฎแรงโน้มถ่วง,ค้นพบทฤษฎีเกี่ยวกับการหักเหของแสง,ตั้งกฎการเคลื่อนที่
วิลเลียม ฮาร์วีย์ (William Harvey) ผู้ค้นพบการไหลเวียนของโลหิตในร่างกายมนุษย์
ไมเคิล ฟาราเดย์ (Micheal Faraday) ผู้พบว่าอำนาจแม่เหล็กเหนื่ยวนำทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้สร้างเครื่องไดนาโม
ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ผู้ตั้งทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (Alexander Fleming) ผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะ ชื่อ"เพนนิซิลลิน"
วิลเลียม เชกสเปียร์ ( William Shakespeare) กวีเอกของโลก
เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ผู้ประพันธ์เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes)
เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) เจ้าของผลงานนิยายชื่อดัง เจมส์ บอนด์ 007 (James Bond 007)
จอห์น เมนาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ผู้ริเริ่มทฤษฏี ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นคนแรกและได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค”
อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ได้รับสมญา "บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์"
นึกออกไหม....อะไรเหมือนกัน
คำตอบก็คือ พวกเขาทั้งหมดเป็น"ชาวอังกฤษ"
นี่จึงไม่ต้องบอกว่าในอดีต...อังกฤษ"ยิ่งใหญ่"แค่ไหน

วันนี้ ผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักรที่จบลงโดยฝ่าย"ออก"ชนะอย่างเฉียดฉิว ด้วยสัดส่วน 51.9% ต่อ 48.1% แปลว่าอะไร
คำตอบสั้นๆของผมก็คือ คนอังกฤษส่วนใหญ่(คือเกินครึ่ง) อยากกลับไปเป็น"อังกฤษ"มากกว่าจะเป็น"อียู"ที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตในวันนี้ โดยเฉพาะเรื่อง"เศรษฐกิจ" ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการอยากหวนไปสู่วันชื่นคืนหวานของชาวอังกฤษ ไม่ใช่หวานอมขมกลืนอยู่แบบทุกวันนี้
กรณีของ"กรีซ" เป็นตัวอย่างที่ทำให้คนอังกฤษตัดสินใจ"ออก" เพราะเห็นแล้วว่า สุดท้าย"อียู"ไม่มีน้ำยาที่จะช่วย
แถมอาจจะลากอังกฤษลงคลองไปด้วย พวกเขาจึงเลือกร้องเพลง "ถอยดีกว่า..ไม่เอาดีกว่า.."
การออกจากอียูวันนี้(แม้อาจจะไม่ทันที) ถึงแม้จะไม่มีอะไรยืนยันว่าจะยิ่งใหญ่แบบ"อดีต" หรือ"อนาคต" จะกลับมารุ่งเรือง(แบบอดีต)หรือไม่ แต่พวกเขาเห็นแล้วว่า"ปัจจุบัน"รุ่งริ่ง...จึงขอเสี่ยงตายดีกว่าตายวันนี้
พวกเขาเลือกที่จะ"ออก"ทั้งๆที่ไม่รู้จะเริ่มแบบไหน
เรียกว่าวันนี้ คนอังกฤษเองก็ยังงงกันทั้งประเทศ
ตอนนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในเรื่องเศรษฐกิจก็คือภาวะเศรษฐกิจที่เคยได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกอียูจะหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีส่งออกสินค้าไปขายอียูหรือขนาดตลาด ที่อังกฤษจะต้องขายเองและขายแข่งกับสมาชิกอียู ซึ่งเป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่รู้ว่า"ใคร"จะมาเป็นนายกฯแทน"เดวิด คาเมรอน" ที่ลาออกทันทีที่ผลโหวตออกมา โดยบอกว่าเขาไม่มีความสามารถพอที่จะนำพาประเทศไปในยุคต่อไป ...ยุคโดดเดี่ยวตัวเอง
แต่คนอังกฤษก็มีสิทธิ์"ฝันหวาน"ว่าการงานของพวกเขาจะไม่มี"คนอียู"มา"แย่งงาน"
นี่รวมถึงฟุตบอลอย่างพรีเมียร์ลีก ที่คงจะเริ่มเจรจากันในเร็วๆนี้ว่าอีกกี่ปีที่กฎนักเตะอียูไม่ถือเป็นโควตานักเตะต่างประเทศต้องยกเลิก(ยังไงคงไม่เริ่มซีซันใหม่ที่จะเปิดในเดือนสิงหาคมแน่นอน)
ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจผลการโหวตครั้งนี้ก็คือ ผลการโหวตของชาวสหราชอาณาจักร ..
เพราะการโหวตวันนี้ คนอังกฤษและเวลส์ ส่วนใหญ่ลงมติ"ออก" ขณะที่คนสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ เลือกที่จะ"อยู่"กับอียูต่อ
จำได้ไหม ...ไม่นานมานี้ มีการโหวตเรื่อง"สก๊อตแลนด์"ขอออกสหราชอาณาจักร แต่ผลปรากฎว่าชาวสก๊อตแลนด์ 55% เลือกจะอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรต่อไป
การโหวตของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ที่ต่างจากอังกฤษและเวลส์ เชื่อว่าเราอาจได้เห็นการแยกตัวของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือออกจากสหราชอาณาจักรในอนาคต
ที่สำคัญก็คือ ทันทีที่ผลโหวตออกมาว่า"สหราชอาณาจักร"ไม่เป็นสมาชิก"อียู" ...โลกก็เปลี่ยนไปแล้ว