PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

โฆษกกอ.รมน. แจง ใช้บัตรปชช.ตอบ 6 คำถาม"บิ๊กตู่" ไม่ได้เอาไปทำอะไร

อย่า วอรี่!! ...โฆษกกอ.รมน. แจง ใช้บัตรปชช.ตอบ 6 คำถาม"บิ๊กตู่" ไม่ได้เอาไปทำอะไร แค่ป้องกัน เวียนเทียน ชวนมาตอบ ที่ศูนย์ดำรงธรรม787 แห่ง

พลตรีพีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที้(กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณี 6 คำถามของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า กอ.รมน.ได้ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนมาตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ
โดยขอให้ประชาชนนำบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่นๆที่แสดงตัวตนติดตัวมาด้วย
ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าการที่ใช้เลขบัตรประชาชนนั้นคือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น เพราะต้องการให้แต่ละบุคคลได้แสดงความคิดเห็นเพียงครั้งเดียว
ในส่วนของประชาชนที่ตอบคำถามนายกรัฐมนตรี4 ข้อไปก่อนหน้านี้ก็สามารถเดินทางมาตอบคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรีได้อีก ที่ศูนย์ดำรงธรรม787 แห่ง
ส่วนประเด็นที่คสช.เตรียมจะปลดล็อกให้สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้นั้น ขณะนี้กอ.รมน. ยังไม่ได้รับคำสั่งให้สนับสนุนเรื่องนี้ อย่างใด

"บิ๊กตู่" ติด "ดาบ " กอ.รมน.จัดการ "จนท.รัฐ" ทุจริต ในระดับผู้ปฏิบัติงาน

"บิ๊กตู่" ติด "ดาบ " กอ.รมน.จัดการ "จนท.รัฐ" ทุจริต ในระดับผู้ปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ทั้ง ในระดับ กอ.รมน.ภาคและ จังหวัด สั่ง"ขันเชาะเนาะ" จัดระเบียบสังคม ห้ามมี ส่วย
พลตรี พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผอ.รมน. ได้สั่งการให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( กอ.รมน. ) เพิ่มมาตรการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น
โดยให้ กอ.รมน. กวดขันและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในระดับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง กับผลประโยชน์หรือปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน และให้รายงานผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ได้สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการประสานงานกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด , ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการเข้มงวดกวดขันปฏิบัติงานตามนโยบาย และให้ทุกหน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบตามห้วงระยะเวลา
พลตรี พีรวัชฌ์ กล่าวว่า เราจะเข้าไปตรวจสอบ การทุจริต ในทุกระดับ โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาขน แจ้งเบาะแส. มาที่ สายด่วน 1374
ส่วนเรื่องการจัดระเบียบสังคม ที่มีการร้องเรียนว่า กลับมาเหมิอนเดิม มีการเรียกรับผลประโยชน์ นั้น โฆษก กอ.รมน. กล่าวว่า ตรงนี้. เรามีการขันเชาะเนาะ ในการตรวจสอบเข้มงวด ไม่ให้มี แต่หากประชาชนมีข้อมูล ช่วยแจ้ง และเป็นหูเป็นตา ให้ด้วย

พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าวว่า เรื่องการจัดระเบียบสังคมนั้น กอ.รมน.ได้ตรวจสอบไม่ให้เกิดการฉ้อฉล โดยเฉพาะสถานบันเทิง และกลุ่มต่างๆในสังคม ดูแลให้เกิดความเรียบร้อยในพื้นที่
ส่วนกรณีที่มีการลักลอบเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆนั้น กอ.รมน.ได้ตรวจสอบและติดตามพฤติกรรม พร้อมทั้งได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตาและแจ้งเบาะแส เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งอาจจะตรวจสอบได้ไม่ครอบคลุม หากประชาชนให้ความร่วมมือถือเป็นเรื่องดี สามารถแจ้งข้อมูลได้ยังกอ.รมน.จังหวัด
ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชา ได้เน้นย้ำให้กอ.รมน.ขันน็อต โดยประสานงานกับตำรวจในพื้นที่
และขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามระเบียบ เพื่อไม่ให้สิ่งที่ คสช.เคยจัดระเบียบสังคม เช่น การห้ามขายของบนทางเท้า การบุกรุกพื้นที่สาธารณะ กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีก
นอกจากนี้ กอ.รมน.ยังประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)และพนักงานสอบสวนในพื้นที่ติดตามพฤติกรรมของมาเฟียข้ามชาติ ซึ่งจากงานด้านการข่าวพบว่ามีปัญหาเฉพาะที่ เช่น เมืองพัทยา และ อ.หัวหิน ซึ่งตอนนี้ได้แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว
ยืนยันว่าการปฏิบัติต่อกลุ่ม ต้องสงสัยว่าเป็นมาเฟียข้ามชาติ จะยึดตามหลักกฎหมาย หากมีหลักฐานชัดเจนว่าส่อกระทำความผิด ก็จะดำเนินการทันที
ส่วนเรื่องการก่อการร้ายนั้นจากการตรวจสอบยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย

บิ๊กตู่ ฟัง โพลล์ !!

บิ๊กตู่ ฟัง โพลล์ !!
"บิ๊กป้อม" เชื่อ"บิ๊กตู่"ฟังเสียงประชาชน ปรับครม.แต่ไม่การันตี จะดีขึ้นหรือไม่ แล้วแต่คนดู เพราะถ้าไม่ชอบ ก็บอกว่า ไม่ดี /ยันไม่เสนอแนะนายกฯ ให้ตัดสินใจเอง ปัดตอบ โพลล์ให้ ปรับ"บิ๊กฉัตร"ออก/ ไม่สนใครว่า เป็น"ตัวถ่วงรัฐบาล" ใครอยากพูด ก็พูดไป
พลเอกประวิตร รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย เรื่องการปรับ ครม.กับ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ เพราะยังไม่คุยกับนายกฯ และให้นายกฯตัดสินใจ และจะไม่เสนอแนะตำแหน่งใดๆ ในครม.
เมื่อถามว่า ปรับ ครม.แล้วจะดีขึ้น หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า แล้วแต่คนดู คนพูด เพราะไม่ชอบกัน ก็บอกว่า ไม่ดี
เมื่อถามว่า นายกฯจะฟังผลโพลล์ หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ฟังๆๆ ผลโพลล์
ส่วนการที่โพลล์ อยากให้ปรับ พลเอกฉัตรชัย รมว.เกษตรฯนั้น พลเอกประวิตร ปฏิเสธที่จะตอบ โดยกล่าวว่า ไม่รู้ ไม่รู้
ส่วนทีมเศรษฐกิจ จะต้องปรับด้วยหรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้สิ เรื่องเศรษฐกิจ
ส่วนที่ใครหาว่า เป็น"ตัวถ่วงรัฐบาล"นั้นน้อยใจหรือไม่ พลเอกประวิตร .บอก โอ้ย!! ตัวถ่วง ตัวเถิ่ง อะไร ไม่มีหรอก ก็พูดกันไป ใครอยากพูด ก็พูดไป

คสช. เตรียม ปลดล็อค!!

คสช. เตรียม ปลดล็อค!!
"บิ๊กป้อม" เผย คสช.เตรียม ปลดล๊อค กิจกรรมทางการเมือง ในระดับหนึ่งก่อน ในเร็วๆนี้ สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนเท่านั้น ถ้าจะต้องเลือก เราก็จะปลดล็อค ให้ แต่ก็ขอความร่วมมือ ในการหาเสียงระดับท้องถิ่น ว่า อย่าสร้างความขัดแย้ง หรือโจมตี คสช.

"บิ๊กป้อม"-ตัวถ่วง-เรือสำเภา-เรือแป๊ะ

"บิ๊กป้อม"-ตัวถ่วง-เรือสำเภา-เรือแป๊ะ
ใคร นะว่า "บิ๊กป้อม" เป็น "ตัวถ่วง" รัฐบาล ??
"เสธ.ต้อง"พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษก กลาโหม และโฆษกประจำตัว บิ๊กป้อม เปรยว่า. รู้จัก"เรือสำเภา" มั้ย
เรือสำเภา เนี่ย จะต้อง มีอะไรไว้ถ่วงเริอ มีหินถ่วง หรือ เวลา เอาสินค้าไปส่งแล้ว ขากลับแล่นเรือเปล่า ไม่ได้ ก็ต้องซื้ออะไรมาถ่วง เพิ่อให้เรือแล่นไปได้อย่างมั่นคง เริอสำเภา ต้องมี ตัวถ่วง แต่ เป็นการ "ถ่วง" ให้เกิดความมั่นคง
ไม่ใช่ถ่วงความเจริญ แต่ ถ่วงให้ มั่นคง
เข้าใจ ตรงกัน นะ!!555
เรือสำเภา คือ เรือแป๊ะ !!

สุดปลาบปลื้ม !! "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" ทรงชื่นชม"ตูน บอดี้ สแลม"



สุดปลาบปลื้ม !! "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" ทรงชื่นชม"ตูน บอดี้ สแลม"
ที่วิ่งเพื่อหารายได้ให้ 11 โรงพยาบาลและทำให้ประชาชน ทั้งประเทศเห็นตัวอย่างของ ความดี และการทำเพื่อส่วนรวม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต. รองราชเลขานุการในพระองค์ฯ อัญเชิญพระราชณกระแสรับสั่ง ชื่นชมและให้กำลังใจ แก่ "ตูน " ทั้งนี้การวิ่งของ "ตูน" อยู่ในพระเนตรพระกรรณ์ ตลอด
พร้อมทั้งอัญเชิญดอกไม้ และสิ่งของพระราชทาน ให้แก่ "ตูน" เพิ่อเป็นกำลังใจ ในการทำความดี มี จิตใจเป็น"จิตอาสา"ที่ไม่หวังผลตอบแทน และเป็นตัวอยางที่ดี แก่เยาวขน ในการทำเพิ่อส่วนรวม และการออกกำลังกาย
ทั้งนี้ พล.อ.ท.ภักดี จะอัญเชิญ พระราชกระแสรับสั่ง ดอกไม้และ สิ่งของพระราชทาน ไปมอบให้ ด้วยตนเอง ในวันที่ 15 พย.นี้ ที่ โรงแรมบรรจงบุรี สุราษฏร์ธานี

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี สถ. เคลียร์ปมเลือกตั้งท้องถิ่น

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี สถ. เคลียร์ปมเลือกตั้งท้องถิ่น



เสียงปี่กลองด้านการเมืองเริ่มบรรเลงขึ้นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลเริ่มขยับ ส่อว่าจะยอมให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขึ้นมาก่อนการเลือกตั้งสนามใหญ่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ให้สัมภาษณ์ มติชนŽ ถึงความพร้อม และสิ่งที่ต้องทำหากรัฐบาลกำหนดในมีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

๐ความพร้อมในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตามกฎหมาย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ได้เป็นคนดำเนินการจัดเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงแต่ว่ากฎหมายได้เปิดช่องว่าในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น กกต.อาจจะจัดเอง หรืออาจมอบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการก็ได้ หาก กกต.มอบให้หน่วยงานอื่นจัดการ คงเป็นกระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า กกต.จะมอบหรือไม่มอบอะไรอย่างไร แต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา กกต.ก็มอบให้เราเป็นผู้ดำเนินการ
เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ยังไม่มีความชัดเจน เราทราบเพียงจากข่าวที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าอาจมีการเลือกตั้งของท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งในระดับชาติ การเลือกตั้งระดับชาติก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร อาจจะรู้คร่าวๆ ว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเห็นว่ายังมีเวลาอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย มีการเตรียมกฎหมายเพื่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แก้ในส่วนของคุณสมบัติของผู้สมัครต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อกำหนดที่สำคัญว่าจะต้องดูคุณสมบัติของผู้นำท้องถิ่น ในมาตรา 252 กำหนดว่า ผู้แทนหรือผู้นำของท้องถิ่นจะมาจากการเลือกตั้ง จะต้องมีคุณสมบัติที่ไม่ส่งผลเสีย มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต หรือว่าผลประโยชน์ขัดแย้ง ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะคุณสมบัตินี้กำหนดคล้ายๆ ส.ส.
กฎหมายที่เราต้องมาพิจารณามี เช่น พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พ.ร.บ. เทศบาล พ.ร.บ. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือเมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

๐นอกจากกฎหมายที่กล่าวมาแล้ว ยังมีส่วนอื่นที่ต้องพิจารณาก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกหรือไม่

มีข้อเสนอที่เรารับมาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คือการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น โดยเสนออยากให้รวมเป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่น ที่จะรวม อบต. อบจ. เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เข้ามาอยู่ในประมวลกฎหมายฉบับนี้ ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินว่ามีการเสนอแนวคิดปรับ ควบรวม ยุบ องค์กรต่างๆ ทั้งหมดจะอยู่ในประมวลกฎหมายท้องถิ่นฉบับนี้

๐ประมวลกฎหมายท้องถิ่นจะมุ่งเน้นไปที่อะไร

สถ.ในฐานะผู้ปฏิบัติเห็นว่า อปท.บางส่วนมีปัญหา เช่น จำนวนสมาชิกของ อบต. มีมากและน้อยเกินไป บางตำบลมี 27 หมู่บ้าน จึงต้องมีสมาชิก 54 คน ถือว่าเป็นจำนวนเยอะมาก และมีผลเสียเนื่องจากฐานะการเงินการคลังของ อบต.นั้นไม่ดีเท่าที่ควร และหากนำเงินไปจ่ายงบประมาณประจำหมด คงไม่ไหว การพัฒนาแก้ไขปัญหาจะทำได้น้อย และจำนวนสมาชิกมากเกินไป ก็จะมีปัญหาในการทำงาน คุยกันไม่รู้เรื่อง
นอกจากนี้ยังมีบางตำบลมีอยู่ 2-3 หมู่บ้าน ถือว่าน้อยเกินไปสำหรับการตั้งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลต้องมีนายก อบต. รองนายก อบต. ปลัด เจ้าหน้าที่ และอื่นๆ ดังนั้น เราจึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยน แต่รัฐบาลจะเห็นอย่างไรนั้นยังไม่รู้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้เราต้องการประมวลกฎหมายท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางส่วน ในรายละเอียดจะอยู่ที่รัฐบาล หากบางส่วนยังจะให้เหมือนเดิม เช่น กทม. เมืองพัทยา จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ทันที หลังแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัคร มีไม่กี่มาตรา
ดังนั้น ถ้าถามใจกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมคงต้องการให้ประมวลกฎหมายฉบับใหม่มีความชัดเจนก่อน
๐แนวทางในการปรับ อบต.จะเป็นอย่างไร

มีหลายรูปแบบ โดยเป็นข้อเสนอจาก สปท.และส่วนอื่นๆ แต่ทุกรูปแบบยังไม่ตกผลึกเพราะผู้จะเคาะเรื่องนี้จริงๆ ไม่ได้อยู่ที่กรม แต่ยังมีกระทรวง ครม. ต้องพิจารณาอีก แต่ที่เราต้องเสนอก็เพราะเห็นว่าองคาพยพของ อบต.นั้นใหญ่ไป เกินกำลังบุคลากรมีมากเกินไป สุดท้ายจะไปไม่ไหว

๐ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้ อบต.ยกระดับเป็นเทศบาล

มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่กรมจะเสนอเพียงหลักการกว้างๆ ให้กระทรวงได้ช่วยระดมสมอง วันนี้ก็มี อบต.ตำบลวังเหนือ ที่ จ.ลำปาง ได้รวมกับเทศบาลตำบลวังเหนือ เพราะมีปัญหาอย่างที่กล่าวมา คือคนน้อย ชาวบ้านจึงเสนอให้รวมกันดีกว่า ปัจจุบันยังมีอีกมากที่ชาวบ้านเห็นว่าจะต้องรวมกัน

๐คาดว่าประมวลกฎหมายท้องถิ่นจะแล้วเสร็จเมื่อใด

ในเดือนพฤศจิกายนนี้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของกรม แต่ยังมีขั้นตอน
อื่นๆ อีก เช่น ส่งให้ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงตรวจสอบ ก่อนทำความเห็นเสนอปลัด เสนอรัฐมนตรี ระหว่างทางคงต้องมีการปรับแก้ เพราะยอมรับว่าไม่เก่งในการยกร่างประมวลกฎหมาย เราทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านกระทรวงมหาดไทยได้ในเดือนธันวาคม ก่อนเสนอให้ ครม.ได้พิจารณาในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2561 และ ครม.จะส่งให้ สนช.ต่อไป

๐ถ้ารัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ คิดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้เมื่อไร

ต้องดู 2 อย่างประกอบกัน 1.เรื่องที่อาจเห็นว่าต้องคงไว้ เช่น รูปแบบของ กทม. เมืองพัทยา อบจ. เหล่านี้แก้เฉพาะประเด็นคุณสมบัติของผู้สมัครให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ 2.เรื่องที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเช่น อบต.อาจต้องรอการพิจารณาก่อนหรือไม่ก็ได้

๐เพราะอะไรรัฐบาลจึงต้องการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ

คิดว่าตรงตามหลักการเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประชาธิปไตย ส่งเสริมการเลือกตั้งกับประชาชน เพราะการจะเรียนรู้นั้นก็ต้องเริ่มจากเล็กๆ ก่อน นอกจากประชาชนจะได้เรียนรู้แล้ว คนทำงานเองจะมีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนด้วยเช่นกัน เหมือนกับที่ผมได้รับมอบหมายจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ดูแลปัญหาขยะ การแก้ไขปัญหาก็ต้องเริ่มจากตัวเอง ครอบครัว ต่อด้วยชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ฯลฯ เพราะถ้าเริ่มจากเรื่องใหญ่ก่อน ก็อาจมีปัญหาติดขัดได้ ทั่วประเทศมี อปท.ตอนนี้ทั้งหมด 7,852 แห่ง รวม กทม.และพัทยาแล้ว ทั้งหมดเลือกตั้งพร้อมกันได้ แต่จะทำอย่างนั้นให้ปวดหัวไปทำไม ดังนั้นจึงจะต้องทยอยเลือกตั้งทีละระดับ ถามว่ากาที 4 ใบ กับกาครั้งละใบ อะไรจะดีกว่ากัน บางทีเราจะต้องยอมเสียเวลาบ้างเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ป้องกันความสับสนด้วย
๐เรื่องคุณสมบัติใหม่ที่ค่อนข้างจะยากกว่าเก่า ตรงนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่
เขาต้องการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องยอมว่าคนจะมาเป็นตัวแทนในระดับท้องถิ่นก็ควรเป็นคนที่มีคุณสมบัติมากกว่าชาวบ้านเขาหน่อย ดังนั้น ผมว่ายอมรับได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด แต่มาตรา 252 ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด กฎหมายลูกของท้องถิ่นจึงต้องระบุ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เราต้องทำ ควรทำกฎหมายแม่ให้เรียบร้อย กำหนดคุณสมบัติให้เรียบร้อย คนที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดยิ่งดีสำหรับประชาชน คนที่คุณสมบัติไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้มาสมัคร ชาวบ้านอาจจะมีตัวเลือกน้อยลง แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีๆ

๐แต่จะทำให้สรรหาคนเข้ามายาก

ไม่ยากหรอก ประเทศไทยเราคนดีๆ เยอะ ส่วนคนที่คุณสมบัติไม่ครบสามารถเป็นผู้สนับสนุนผู้ที่มีคุณสมบัติได้ เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่หัวเดียวกระเทียมลีบ แต่มีพวกได้ เพียงแต่กฎหมายต้องการให้คนที่มีคุณสมบัติมาเป็นผู้แทนเพราะต้องรับผิดชอบคนจำนวนมาก

๐ขณะที่ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะให้ดำเนินการเลือกตั้งได้เมื่อใดทางกรมจะมีการเตรียมการอย่างไรบ้าง

สถ.ทำหน้าที่ของเรา เช่น ประมวลกฎหมายท้องถิ่น งานในหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ศึกษาหาความรู้ซึ่งเราไม่ได้ถือตัวว่าเราเป็น สถ. ก็ประสานขอความรู้จาก กกต.เป็นระยะอยู่ตลอด ในขณะเดียวกันแม้จะยังไม่แน่นอนว่าเราจะได้ทำงานนั้น หรือไม่ได้ทำงานนั้น แต่เราก็ต้องมานั่งคิดก่อนว่า ถ้าเป็นเราทำ เราจะทำอย่างไร ก็ต้องมีการระดมสมอง และพูดคุยกัน โดยเราต้องวางแผนว่าหากได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เราต้องทำอะไรบ้าง ต้องดูเรื่องอะไรบ้างก็ทำการบ้านตลอด สถ.ต้องพร้อมตลอด ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ให้มีข้อผิดพลาด

๐มีเสียงสะท้อนจากท้องถิ่นอย่างไรบ้างในเรื่องของการเลือกตั้ง

ท้องถิ่นเขาก็อยากเห็นความชัดเจนของประมวลกฎหมาย เพราะท้องถิ่นเองเขารู้ว่ามีการเสนอให้มีการปฏิรูป คิดว่าอีกไม่นานก็ชัด ทั้งนี้ เรื่องการเลือกตั้ง หากพูดโดยรวมเขาก็อยากเลือกอยู่แล้วเพราะว่าตอนนี้เขาพ้นตำแหน่งและยังรักษาการอยู่ คนที่แพ้ครั้งที่แล้วก็อยากมาแก้มือ ผมก็อนุมานเอาว่า เขาก็อยากให้มีความชัดเจนว่าเป็นอย่างไร แล้วกติกาจะว่าอย่างไรก็ว่ากัน

เสียงสะท้อน กระแส ปรับครม. พุ่งเป้า รวมศูนย์ สู่ “เศรษฐกิจ”

09.00 INDEX เสียงสะท้อน กระแส ปรับครม. พุ่งเป้า รวมศูนย์ สู่ “เศรษฐกิจ”


ไม่ว่ากรุงเทพโพล ไม่ว่านิด้าโพล ไม่ว่าสวนดุสิตโพล คะแนนออกมาตรงกันในเรื่อง “ปรับครม.”

1 ถึงเวลาแล้วสำหรับ”ประยุทธ์ 6″

ขณะเดียวกัน 1 เป้าพุ่งไปยัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง

ถือได้ว่าเป็นกระทรวง “เศรษฐกิจ”

ความรู้สึกทั้ง 2 นี้สอดรับกับ “กระแส” อันอึกทึก ครึกโครมในสังคมนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นมา

แนวโน้ม คือ อยากให้ “ปรับใหญ่”

เหมือนกับจะดังอึงคนึงจาก “นักการเมือง” ไม่ว่าจะพรรคเพื่อ ไทย ไม่ว่าจะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะพรรคชาติไทยพัฒนา

สะท้อนกังวลในเรื่อง “เศรษฐกิจ”

หากติดตามการไหวเคลื่อนของ”ข่าวเศรษฐกิจ”ไม่ว่าจะ”สื่อกระจก” ไม่ว่าจะ “สื่อกระดาษ”จะสัมผัสได้

แนวทาง 1 ภาวะเศรษฐกิจ “ดียิ่ง”

แนวทาง 1 ภาวะเศรษฐกิจ”ย่ำแย่ยิ่ง”

เสียงที่ว่า “ดียิ่ง”มาจากทางด้านรัฐบาล ผ่านความสำเร็จของสิ่งที่เรียกว่า “ประชารัฐ”

เสียงที่ว่า “ย่ำแย่ยิ่ง”มาจากทางด้าน”นักการเมือง”

แต่เมื่อผ่านการสำรวจ”ความรู้สึกของประชาชน”โดยกระบวน การในทางสถิติและการวัดผล ไม่ว่าบทสรุปจากกรุงเทพโพล ไม่ว่าบทสรุปจากนิดาโพล ไม่ว่าบทสรุปจากสวนดุสิตโพล

“สวนทาง”กับข่าวที่ออกมาจากด้าน”รัฐบาล”

เพราะเสียงเรียกร้องให้ปรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับกระทรวงพาณิชย์ ปรับกระทรวงการคลัง

สะท้อนความกังวลในเรื่อง”เศรษฐกิจ”

ต้องยอมรับว่ากลไกทางด้าน”การประชาสัมพันธ์”ของภาครัฐเมื่อประสานกับกลุ่มทุนใหญ่เครือข่าย”ประชารัฐ”

อยู่ในลักษณะ”ครอบงำ” พื้นที่เกือบทั้งหมด

เสียงสะท้อนอันปรากฏผ่าน”โพล”สำนักต่างๆอย่างเกือบจะเป็นเอกภาพจึงไม่ควรมองข้ามอย่าถือว่าเป็นดั่ง”เสียงนกเสียงกา”

ยิ่งหากมองผ่านปัญหา”ราคาสินค้าเกษตร” มองผ่านปัญหาเนื่องแต่”น้ำท่วม” ยิ่งน่าห่วง น่ากังวล

ก้าวใหม่ ก้าวใหญ่ “คสช.” รุกทาง “การเมือง” รุก พรรคการเมือง

ก้าวใหม่ ก้าวใหญ่ “คสช.” รุกทาง “การเมือง” รุก พรรคการเมือง


เหมือนกับว่าการไม่ยอม “ปลดล็อก” พรรคการเมือง พร้อมกับการเสนอ 6 คำถามในเรื่องพรรค ในเรื่องการเลือกตั้งจะเป็นการ “รุก” ในทางการเมือง

เพราะใน 6 คำถามมี “เป้าหมาย” แจ่มชัด

เพราะภายในเป้าหมายของ 6 คำถามนั้นก็ดำเนินไปอีหรอบเดียวกับ 4 คำถามเมื่อเดือนพฤษภาคม สรุปตามสำนวนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คือ การ “ด้อยค่า” พรรคการเมือง

ความหมายของ 2 จังหวะก้าวนี้จึงเท่ากับเป็นการประสานและร่วมมือกัน 1 เพื่อกีดกันและ “กำจัด” กรอบให้กับพรรคการเมือง

1 เพื่อเปิดทางสะดวกให้กับตนเอง

มองอย่างผิวเผิน มองอย่างหยาบๆ นี่ย่อมเป็นกระบวนการ “รุก” แต่ก็เป็นการรุกอย่าง Premitive เป็นการรุกในแบบ “บุพกาล”

ผลเป็นอย่างไรก็คงรู้กันแล้ว

ปฏิกิริยา “โต้กลับ” ที่สำคัญมิใช่มาจากพรรคเพื่อไทย มิใช่มาจาก นปช.คนเสื้อแดง หากแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่มาจากบางส่วนของ กปปส.

 "หงุดหงิด” กันถ้วนหน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับระบุว่าเป็นคำถามที่ไม่ควรถาม นายถาวร เสนเนียม ถึงกับไขรหัสออกมาว่าเท่ากับเป็นการ “เปิดหน้า”

ล่อนจ้อน เปล่าเปลือย

อย่าลืมว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งอยู่ในสถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ภายใน “ศอฉ.” มีใครบ้าง ย่อมรู้กันอย่างดี

อย่าลืมว่า นายถาวร เสนเนียม คือ กำลังสำคัญของ กปปส.ภายใต้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 กระทั่งดำเนินมาตรการ “ชัตดาวน์” ในเดือนมกราคม 2557

หากไม่มี “กปปส.” รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คงไม่ “เรียบโร้ย”

ความหวาดกลัวต่อคะแนนและความนิยมที่พรรคเพื่อไทยสืบทอดมาจากพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย เป็นความหวาดกลัวที่เข้าใจได้

เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็กลัวเหมือนกัน

เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เคลื่อนไหวจากพื้นฐานนี้ เพราะ กปปส.ก็อาศัยเงื่อนไขนี้ในการต่อยอด

แต่ 6 คำถามดำเนินไปในแบบ “ติเรือทั้งโกลน”

เพราะมติ คสช.ไม่ยอม “ปลดล็อก” พรรคการเมือง มิได้ “มัดตราสัง” แต่เฉพาะพรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ก็ติดร่างแหไปด้วย

หรือว่า “คสช.” มีความมั่นใจจาก 3 ปีที่เข้ามา

มั่นใจว่าจะสามารถชูธงต้าน “พรรคใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยล้วนต้องกำราบให้ราบคาบ

ถามว่าพรรคการเมืองอื่น “รอด” หรือ

หากถือว่า 2 มาตรการนี้จาก คสช.และรัฐบาลคือ มาตรการ “รุก” ตลอด 2 รายทางก็มากด้วยศัตรูมากด้วยปรปักษ์ เท่ากับเป็นการขยายแนวรบ

ไม่มีใครรู้ว่าจังหวะก้าวต่อไปของ คสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นอย่างไร จะมีอีก 6 คำถามหรือไม่

ทั้งหมดคล้ายกับจะสำแดงความมั่นใจ

มั่นใจในความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง

แต่ความมั่นใจนี้ก็มีรากฐานมาจาก “ความกลัว”

อภิสิทธิ์แฉได้ข้อมูลเกณฑ์คนตอบ 6 คำถาม ชี้ยุคนี้คนกลัว ไม่มีใครกล้าตอบตรงๆ

อภิสิทธิ์แฉได้ข้อมูลเกณฑ์คนตอบ 6 คำถาม ชี้ยุคนี้คนกลัว ไม่มีใครกล้าตอบตรงๆ


“มาร์ค”แฉได้ข้อมูลหลายพื้นที่เกณฑ์ “ผู้นำ-ประธานชุมชน”ตอบคำถาม 6 ข้อ เชื่อไม่มีใครตอบไม่ถูกใจคนถาม เหตุกลัวถูกเชิญปรับทัศนคติ

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง 6 คำถามของนายกฯว่า รูปแบบการตั้งคำถามแบบนี้และมีกลไกรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ที่จะตอบคำถามต้องแสดงตัวมีบัตรประชาชน ต้องเข้าใจว่าตรงนี้ไม่สามารถที่จะวัดความคิดเห็นตามหลักวิทยาศาสตร์ หลักสถิติ หรือหลักการการสำรวจความคิดเห็นที่ถูกต้องได้ เพราะชัดเจนว่าคำตอบแบบไหนจะถูกใจหรือไม่ถูกใจคนถาม เพราะเป็นคำถามนำถึง 6 คำถาม ขอถามว่าในยุคปัจจุบันนี้ คนที่ตอบคำถามไม่ถูกใจ จะกล้าไปตอบหรือไม่ เนื่องจากหากตอบไปตรงๆ เผลอๆ ถูกเชิญไปปรับทัศนคติก็ได้

“มีคนส่งข้อมูลมาให้ผม ซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่ว่าในหลายพื้นที่กำลังมีการเกณฑ์ให้ผู้นำ ประธานชุมชนต่างๆ ไปตอบคำถาม ถ้าไปไม่ได้ให้ส่งตัวแทนไป ซึ่งไม่ทราบว่าใครสั่ง ยังตรวจสอบไม่ได้ ผมถึงบอกว่าในที่สุดการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นการค้นหาคำตอบที่แท้จริงจากสังคม เพราะถ้านายกฯอยากจะถามควรถามเรื่องปากท้องจริงๆ ซึ่งจะได้ทั้งใจ ได้ทั้งประโยชน์ หรือการตั้งคำถามอะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาจะเป็นประโยชน์มากกว่า และในภาพรวมจะไม่เป็นผลดีทั้งก่อนการปลดล็อกและหลังการปลดล็อก เราจะสร้างช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับ คสช.ทำไม ตรงนี้คือสิ่งที่ไม่เหมาะสม ส่วนการที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น จะต้องไม่ใช่การสนับสนุนโดยอำนาจรัฐบาล คสช. ถ้าทำเช่นนี้จะเป็นการทำลายพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย และเป็นการทำลายการปฏิรูปการเมือง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

อภิสิทธิ์จี้อย่าใช้ระบบบังคับบัญชาแบบทหารมาแก้ปัญหาความเดือดร้อนราคายางตก

อภิสิทธิ์จี้อย่าใช้ระบบบังคับบัญชาแบบทหารมาแก้ปัญหาความเดือดร้อนราคายางตก


“อภิสิทธิ์”แนะรัฐแก้ปัญหายางพาราเชิงรุก ชี้หาก รมว.เกษตรฯ-ผู้ว่าการยางแก้ปัญหาไม่ได้ ควรให้คนอื่นมาทำเหมาะกว่า

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเชิญแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารว่า คงเป็นวิธีการจัดการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งไม่ประสงค์จะเห็นการชุมนุม เพราะถือว่าการชุมนุมเกิน 5 คนเป็นความผิดต่อคำสั่งของ คสช. แต่เรื่องนี้มีหลายแง่มุม คือการที่ประชาชนแสดงออกโดยมีเหตุจูงใจที่หลากหลาย แต่กรณีชัดเจนว่าเกิดจากความเดือดร้อนของประชาชน และพยายามจัดระเบียบโดยการให้ไปร้องศูนย์ดำรงธรรม หรือทำหนังสือร้องเรียน ซึ่งเชื่อว่ามีการทำกันอยู่ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อไม่มีการตอบสนอง ปัญหาไม่คลี่คลาย ก็เป็นธรรมชาติของผู้เดือดร้อนที่คิดว่าทำอย่างไรถึงจะแสดงออกให้ทราบถึงพลังและจำนวนคนที่เดือดร้อนอยู่ เพื่อเป็นเสียงหนึ่งที่บอกให้รัฐบาลรับรู้ว่าถึงเวลาต้องแก้ไขปัญหาแล้ว ส่วนที่ว่าธรรมชาติของทหาร ผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องฟังผู้บังคับบัญชานั้นปัญหาของประชาชนจะใช้ระบบบังคับบัญชาเพื่อแก้ไขปัญหาคงจะไม่ได้

“ทำไมเรื่องนี้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะราคาแย่จริง ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการพูดว่าจะแก้ปัญหา แต่จริงๆ ไม่เกิดผล ข้อเสนอหนึ่งคือ การเอายางพาราไปใช้ในกิจการของรัฐสร้างถนน สนามกีฬา ซึ่งก็มีการตอบสนอง แต่เกิดน้อยมาก มีแต่ระดับท้องถิ่นที่เอาไปทำ ทำไมระดับประเทศทำไม่ได้ ดังนั้นรัฐจะต้องแสดงความเป็นผู้นำ ถ้าบอกว่าถนนทุกเส้นต้องใช้ ก็ใช้ไม่ใช่น้อย เพียงแต่ถึงเวลาจริงๆ รัฐบาลไม่ได้ติดตาม ผมเคยเสนอว่าควรจะเป็นมติออกมาว่าต้องใช้ ถ้าจะไม่ใช้ต้องรายงานมา ถ้าเปลี่ยนมาใช้ยางพารา ผู้ที่เคยทำถนนให้กับรัฐก็อาจจะกระทบคือเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมมันเดินยาก ผมอยากจะเห็นทีท่าของรัฐบาลกับ คสช. ควรออกมาในเชิงรุก ไม่ควรรอให้ถึงวันนี้ เพราะเห็นปัญหาแล้วก็น่าจะประกาศออกมาเลยว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ถ้าบอกว่าที่ทำอยู่ดีแล้ว ผมว่ามันยากที่จะทำให้มีความราบรื่น” นายอภิสิทธิ์กล่าว

ส่วนการเสนอให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจความรู้สึก เวลาที่มีการบริหารและไม่ถูกใจหรือไม่ได้ผล หลักการบริหารก็คือการเปลี่ยนแปลงบุคคล แต่ตนไม่ไปก้าวล่วงตรงนี้ เพราะถือว่าถ้าเปลี่ยนคนแล้วนโยบายยังเหมือนเดิม ก็ได้ผลเท่าเดิม และเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ หรือผู้ว่าการยางฯ ตนก็พอรู้จักคุ้นเคยอยู่ อยากจะกระตุ้นให้ท่านมาฟัง หรือถ้าท่านไม่ฟัง ท่านคิดว่าไม่สามารถตอบสนองหรือปรับเปลี่ยนได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาแล้วว่า ถ้าคนอื่นเข้ามาจะเหมาะกว่าหรือไม่ ตนเชื่อว่ายังมีอีกหลายหนทางที่จะแก้ปัญหาได้ และอยากให้รับฟังเกษตรกรด้วย และเห็นว่าเรื่องของประกันรายได้สามารถเอามาใช้กับยางพาราได้

คำถาม-คำตอบ โดย ปราปต์ บุนปาน

คำถาม-คำตอบ โดย ปราปต์ บุนปาน



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)
คำถาม 6 ข้อ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ฝากไปยังประชาชน (อันเป็น “ภาคต่อ” จากคำถาม 4 ข้อ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา) นั้นเต็มไปด้วยแง่มุมน่าสนใจ

ที่แฝงไว้ด้วยความไม่เชื่อมั่น-ไม่ไว้วางใจในนักการเมืองและพรรคการเมืองหน้าเดิม

การพยายามเปรียบเทียบระหว่าง “จุดเด่น” ของ คสช. และ “จุดด้อย” ของนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

รวมถึงการหยั่งเชิงสำรวจความนิยมที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลทหาร, การบ่งบอกเป็นนัยถึง “ความสำเร็จ” ของรัฐประหารปี 2557 และความเป็นไปได้ที่ คสช. อาจจะเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองบางพรรค ในการเลือกตั้งทั่วไปหนหน้า

ไม่เพียงแต่เนื้อหาของคำถาม 6 ข้อจะน่าสนใจ

ทว่า ปฏิกิริยาเบื้องต้นที่มีต่อคำถามของนายกฯ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ไม่ต้องมองไปถึงกลุ่มคนที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ของ คสช. เด่นชัด

เพราะแค่ลองฟังเสียงของหัวหน้าพรรคการเมืองที่มิได้มีภาพขัดแย้งกับกองทัพอย่างชัดเจน เราก็จะได้พบ “ความเห็นต่าง” ตลอดจน “คำถามอื่นๆ” ที่สะท้อนกลับไปยังคำถาม 6 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี
เช่น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นอกจากจะเห็นว่าการตั้งคำถามลักษณะนี้ ก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่าง คสช. กับนักการเมือง หรือเป็นการที่ คสช. ดึงตัวเองเข้ามาเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งแล้ว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังฝากคำถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลายข้อ ทั้งการขอให้ระบุว่านักการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อด้อยค่า รัฐบาล คสช. นั้นหมายถึงใครบ้าง?

ทำไมรัฐบาลต้องเหมารวมว่าการวิจารณ์ต่างๆ เป็นการกระทำเพื่อด้อยค่า คสช.?

นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกประการของนายอภิสิทธิ์ที่อาจนำมาแปรเป็นคำถามได้ ก็คือ หากการสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งของ คสช. เป็นการกระทำที่อิงการใช้อำนาจรัฐ นั่นจะถือเป็นเรื่องขัดกับหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?

คล้ายกันกับความเห็นของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหากมองเผินๆ อาจดูเป็นการตอบโต้คำถาม 6 ข้อ จากนายกรัฐมนตรี อย่างดุเดือดพอสมควร

แต่ในการตอบโต้ก็แฝงไว้ด้วยคำถามชวนคิดอย่างน้อยๆ 2-3 ข้อ ได้แก่ คสช. มั่นใจแค่ไหน ว่าตนเองไม่ได้กระทำในสิ่งที่ตนกำลังดูแคลนอีกฝ่ายหนึ่งอยู่?

คสช. พร้อมจะยอมรับได้หรือไม่ หากมีผู้แสดงความเห็นดูถูกหรือรังเกียจคนที่ไม่ได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย? (เช่นเดียวกันกับที่มีการดูถูกและรังเกียจฝั่งนักการเมือง)
และหากผลลัพธ์ทางการเมือง ณ ขั้นท้ายสุด ไม่เป็นไปตามที่ตนเองคาดหวังเอาไว้ คสช. พร้อมจะกล้าแอ่นอกรับผิดชอบหรือไม่?

เหล่านี้ คือ ตัวอย่าง “คำถาม” ที่สะท้อนกลับไปยัง “คำถาม 6 ข้อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์

ส่วน “คำถาม” ของประชาชนอีกหลายสิบล้านคน และ “คำตอบ” ที่พวกเขาจะมอบให้นายกรัฐมนตรี
รัฐบาล และ คสช. นั้น คงไม่สามารถพึ่งพากลไกการรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงมหาดไทยและศูนย์ดำรงธรรมเพียงองค์ประกอบเดียวได้

แต่คงเป็นดังที่หลายคนเสนอความคิดเอาไว้บ้างแล้วว่า คสช. จะได้รับทราบ “คำตอบ” ที่มีต่อคำถามของตน และได้ตระหนักรับรู้ถึง “คำถาม” หรือข้อสงสัยอื่นๆ ที่ประชาชนมีต่อ คสช. อย่างชัดเจนกระจ่างแจ้งจริงๆ

ก็ต่อเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยปราศจากความไม่เชื่อมั่นหรือความหวาดกลัวใดๆ

เหมือนกับที่คำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ลงท้ายด้วยข้อความว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ”

………………….
ปราปต์ บุนปาน

ติดกับดักกันเอง

ติดกับดักกันเอง

นานๆจะเห็นอาการ “ของขึ้น”

จับอารมณ์ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้า ทีมเศรษฐกิจ ที่ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2018 : An Era of Transformation” เมื่อสัปดาห์ก่อน

บอกว่า อยากให้คนไทยหลับตาคิดแล้วเปรียบเทียบ 3 ปี ที่แล้วกับขณะนี้ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

โดยไล่จากความวุ่นวายเกือบจลาจลกับบ้านเมืองที่ปกติผลงานใคร เศรษฐกิจโตเพียง 0.8 กับในปัจจุบันที่วิ่งมาถึง 3.7 และมีทีท่าจะไปถึงร้อยละ 4 จากประมาณการทุกสถาบันเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ แม้จะยังมีปัญหาฐานรากที่ต้องร่วมกันแก้ไข ใครทำ

โดนขย่มว่ารัฐบาลถังแตก หนี้พุ่ง แล้วเราได้ติด 10 อันดับของเวิลด์ อีคอนโนมิคฟอรัม ได้อย่างไร และการจัดอันดับที่ดีขึ้นทั้ง imd wef และ world bank แปลว่าอะไร ผลงานใคร โครงสร้างพื้นฐานที่หยุดชะงักมาตลอด 10 ปี วันนี้ถูกทะลุทะลวงทั้งโครงการรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ ผลงานใคร

การจุดพลุ 4.0 หนทางใหม่ด้วยแนวทางใหม่ นักลงทุนที่แห่กันมา เพราะเขามั่นใจใช่ไหม เทียบกับ 3 ปีที่แล้วที่คิดแต่จะหนีจากไทยใช่ไหม กินบุญเก่าอีสเทิร์นซีบอร์ด ตั้งแต่สมัย “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีใครคิดไหม จนกระทั่งเกิดโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) จนสร้างการยอมรับจากนักลงทุนทุกประเทศ ผลงานของใคร ทำง่ายหรือ

ปีนี้ถึงต้นปีหน้า อินเตอร์เน็ตลงครบทุกหมู่บ้านที่ต่อยอดไปให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงแหล่งข้อมูล คนจนคนด้อยโอกาสเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุข ชุมชนสามารถทำการค้าออนไลน์ไปสู่โลก ผลงานใคร บัตรคนจนที่จะช่วยผู้ยากไร้และร้านค้าประชารัฐที่จะเชื่อมชุมชน เอาสินค้าชุมชนมาขายร้านธงฟ้าให้คนมาซื้อ ใครทำ การวางฐานสตาร์ตอัพ การเชื่อมโยงการสื่อสารออนไลน์กับธุรกิจการเงินหรือ fintech ใครทำ ฯลฯ

ดร.สมคิดพูดด้วยน้ำเสียงดุดันจริงจัง คนฟังนึกแล้วเห็นภาพตาม

เอาเนื้องานที่เป็นรูปธรรมมายืนยันค้ำคอพวกปากหอยปากปู แก้เกมคนของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ที่ผลิตวาทกรรมซ้ำๆ ล็อกเป้าถล่มทีมเศรษฐกิจ

“สมคิด” ก็ชั้นเชิงพอตัวไม่กลัวนักการเมืองอยู่แล้ว

แต่ที่ออกแนวเซ็งๆแต่พูดตรงๆไม่ได้ ก็ช็อตที่ ดร.สมคิดบอกให้ดูตัวอย่างของจีน เขาสร้างระบบการเมืองจนสามารถนำคนดี คนเก่งทั้งประเทศมาคัดกรองนำพาประเทศ ของเราบอกปฏิรูปการเมืองแต่ลอกแบบต่างประเทศมา แล้วเน้นแต่แก้รัฐธรรมนูญ นอกจากไม่สามารถระดมคนเก่งคนดีมานำพาประเทศ

กลับทำให้พวกเขาหลีกหนีเงื่อนไขที่ยุบยิบยุ่งยาก

แน่นอน ในมุมนี้กัปตันทีมเศรษฐกิจน่าจะโยงไปถึงการปรับ ครม.ที่รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจส่อหลุดเก้าอี้หลายคน เพราะมีปัญหาถือหุ้นผิดรัฐธรรมนูญที่ “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกแบบมาด้วยความภาคภูมิใจ
แต่กลายเป็นออกฤทธิ์ใส่พวกเดียวกัน ติดกับดักเป็นพวงเลย.

กำปั้นหยก
mudlek@thairath.co.th

พรรค "ประชารัฐ"

พรรค "ประชารัฐ"

เบียดซีนข่าวปรับ ครม.ตกขอบไปเลย กับมุกที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ปล่อย “6 คำถาม” ออกมาทดสอบความคิดเห็นประชาชนคนไทย

หยั่งกระแสแบไต๋ท่าทีทางการเมืองชัดซะยิ่งกว่าชัด

โฟกัสแค่ 3 ข้อแรก วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆที่มีคุณภาพให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปบ้างหรือไม่ การที่มีแต่พรรคการเมืองหน้าเดิมๆแล้วเป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่

ข้อสอง การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ ของ คสช.ใช่หรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว และข้อสาม สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลดำเนินการไปช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่

สรุปความตามภาษาทางการเมืองได้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แต่จะประกาศหนุนพรรคการเมืองที่น่าจะตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเบียดสู้กับขาใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย

เป็นสัญญาณให้กองเชียร์ “นายกฯลุงตู่” ได้รับรู้

พร้อมกับในทางลับ ก็ให้เป็นที่รู้กันในหมู่กองทัพ มหาดไทย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการฝ่ายปกครอง จะต้องออกแรงลุ้นค่ายการเมืองไหนแทบไม่ต้องบอก

แต่โดยยุทธศาสตร์จริงๆน่าจะมุ่งไปที่การดึงดูดพลังเงียบส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ปักใจขั้วการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ได้พิจารณาเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างการเลือกนักการเมืองอาชีพกลุ่มเดิมๆ ตามวิถีทางประชาธิปไตยที่ได้ยอมรับตามหลักสากล แต่ไม่มีหลักประกันจะกลับมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เดินหน้านิรโทษล้างมลทินกันแบบสุดซอย ลากเอาม็อบมาปิดบ้านปิดเมืองกันอีกหรือไม่

กับการเลือกพรรคการเมืองใหม่ที่แฝงพลังอำนาจพิเศษ เพื่อให้ทีมงาน “นายกฯลุงตู่” ได้คืนความสุขแบบสุกๆดิบๆกันต่อไป ตามสูตรประชาธิปไตยครึ่งใบที่ถูกออกแบบไว้รองรับบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูป

การเมืองเลือกตั้งรอบต่อไป หนีไม่พ้นฟอร์มนี้

นั่นก็ไม่แปลก จับอาการนักการเมืองอาชีพดิ้นพล่านเป็นไส้เดือนถูกขี้เถ้าจริงๆ และดูเหมือนฝั่งประชาธิปัตย์จะออก อาการหนักกว่าพรรคเพื่อไทย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กระโดด ออกมากระแทก “ลุงตู่” แบบไม่กั๊กท่าทีอีกต่อไป นั่นก็เพราะสูตรนี้ประชาธิปัตย์จะกระเทือนฐานเสียงคนชั้นกลางมากกว่าฝั่งเพื่อไทยแน่

และนั่นหมายถึงโอกาสยิ่งริบหรี่ ที่ “หนุ่มมาร์ค” จะลุ้นกลับมาแก้มือนายกฯอีกรอบ

ในเครื่องหมายคำถาม พรรคการเมืองนอมินี “ลุงตู่” ใครจะเป็นหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

แต่ชื่อพรรคน่ะพอเดากันได้ ประเมินจากช่วง 3 ปีกว่าของรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” ที่เดินหน้าสารพัด
นโยบายมาตีตลาดประชานิยมของแบรนด์ทักษิณ ตีกินกระแสมาอย่างต่อเนื่อง

ค่าย “ประชารัฐ” นี่แหละ ติดหูชาวบ้านแล้ว ไม่ต้องโปรโมตเลย.

กำปั้นหยก

ดูหน้าไพ่ก่อนเลือกตั้งใหญ่

ดูหน้าไพ่ก่อนเลือกตั้งใหญ่

คาดการณ์ได้ แต่ไม่เท่าของจริง

เป็นอันว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ คสช.ตัดสินใจที่จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญปี 60

ประเด็นกฎกติกาที่ปรับปรุงกันใหม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งสอดรับกับการเลือกตั้งใหญ่ตามวิถีทางประชาธิปไตย

เรื่องนี้ได้มีการระบุแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งไม่ครบทุกระดับ ที่เหลือจะเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว
เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนเท่านั้น

ประเด็นน่าจะขึ้นอยู่กับว่า แบบไหนจะมีความพร้อมก่อน และไม่ทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายทางการเมือง และปลดล็อกการเมืองระดับไหน

ถ้าชี้ให้ตรงกับเป้าหมาย น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า ผลการเลือกตั้งระดับไหน ผลที่จะออกมานั้นสามารถวัดแนวโน้มทางการเมืองในอนาคตต่อไปได้

และจะควบคุมเสียงผลการเลือกตั้งใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล อบจ. กทม. และเมืองพัทยา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้นน่าจะมีการดำเนินการก่อน เพราะผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้น ส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ในพื้นที่ กทม.อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคะแนนนิยมส่วนตัวของคนกรุงเทพฯ แต่ยังมีส่วนพ่วงในเรื่องของพรรคบ้าง

แต่ผู้ว่าฯ กทม.ก็มีส่วนในการสร้างคะแนนนิยมให้กับผู้สมัคร ส.ส.ด้วย

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้น ที่ผ่านมาผลจะออกมาหลาย ลักษณะ และขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับไหนเท่านั้น

บางพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องความนิยมตัว แต่บางพื้นที่ก็ต้องอิงการเมืองระดับชาติ

เพราะไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. เทศบาล ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่แยกไม่ออก ระหว่างท้องถิ่นกับระดับชาติ

ยิ่งการเมืองท้องถิ่นระยะหลังจะเห็นได้ว่าอิงกับการเมืองระดับชาติมากทีเดียว ทั้งด้านการสนับสนุน การใช้อิทธิพล เครือญาติ พรรคพวก อิทธิพลท้องถิ่น

เมื่อก่อนหน้านี้ นักการเมืองระดับท้องถิ่นจะเป็นบันไดก้าวไปสู่นักการเมืองระดับชาติ แม้ว่าเริ่มต้นจะไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแต่อย่างใด

แต่เมื่อการเล่นการเมืองระดับต้องสังกัดพรรคการเมืองจึงมี ความจำเป็นที่จะต้องเดินเข้าสู่พรรคการเมือง
จะเป็นพรรคไหน อย่างไร นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องตัดสินใจเอง แต่เงื่อนไขหนึ่งก็คือ คาดหวังว่าจะได้รับการเลือกตั้ง

อีกทั้งจะได้รับการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระยะหลังมานี้ ทำให้องคาพยพการเลือกตั้งท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะอิทธิพลการเมืองระดับชาติควบคุมกลไกทั้งหมด มีผู้สนับสนุนพรรคการเมืองอย่างชัดเจนและมั่นคง

การเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติจึงกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

ผลที่ออกมาสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เหนือ-อีสาน เพื่อไทยได้ทั้งหมดคือระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ถามว่าการที่ คสช.ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน คำตอบที่จะได้ต้องบอกว่าคล้ายๆกับการทำ “เวิร์กช็อป” ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ก็ว่าได้ เพื่อจะได้รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร

เพราะการคาดการณ์นั้นไม่ชัดเจนเท่ากับการได้ดูตัวจริง ของจริง.

“สายล่อฟ้า”

ใครจะเข้าวิน

ใครจะเข้าวิน

การสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 7 คน ที่จะเสียบแทน 5 เสือ กกต.ชุดเดิม ที่โดนเซ็ตซีโร่กระเด็นตกเก้าอี้ยกทีม

ปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. รวมทั้งสิ้น 41 คน

มากกว่าที่ประเมินไว้เท่าตัว

โดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมี นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน จะต้องเร่งพิจารณาคัดเลือก กกต.ให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงเดือน

คือต้องได้เห็นโฉมหน้า 7 เสือ กกต.ใหม่แน่นอน ก่อนเส้นตายวันที่ 12 ธันวาคม

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า ผู้สมัคร ชิงตำแหน่ง กกต.ทั้ง 41 คน จะมีลุ้นได้รับลากตั้งเป็น กกต.ใหม่เพียง 5 คน

ส่วนโควตา กกต.ที่เหลืออีก 2 คน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเป็นผู้คัดเลือกเอง

ถ้าดูสัดส่วนผู้สมัคร 41 คน ต้องแย่งชิงโควตา กกต.ที่ว่างอยู่ 5 ตำแหน่ง

เท่ากับ 8 คน เอา 1 คน

สมมติว่าหลังตรวจสอบคุณสมบัติ

ผู้สมัครทั้ง 41 คนแล้ว มีผู้สมัครขาดคุณสมบัติ หรือคุณสมบัติไม่ตรงสเปกเสีย 6 คน

ทีนี้ก็จะเหลือผู้สมัคร 35 คน ที่ได้สิทธิ์ลงแข่งวิ่งมินิมาราธอนชิงเก้าอี้ กกต.ที่ว่างล่อตะเข้อยู่ 5 ตัว

อัตราการเบียดบี้ชิงเก้าอี้ กกต.ชุดใหม่จะเหลือ 7 คน เอา 1 คน

ง่ายกว่าแทงหวยใต้ดินก็แล้วกัน

“แม่ลูกจันทร์” สำรวจรายชื่อผู้รับการสรรหาเป็น กกต.ทั้ง 41 คน ปรากฏว่า มี “คนดัง” แห่ไปยื่นใบสมัครเป็น กกต.มากหน้าหลายตา

ถ้าวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ “คนดัง” ย่อมได้เปรียบ “คนไม่ดัง” เป็นธรรมดา

ยกเว้นคนที่ชื่อไม่ดัง (แต่บังเอิญมีแบ็กดี) ย่อมมีโอกาสเป็นม้ามืดแซงเข้าป้าย (แบบไม่รู้ว่ามายังไง) ได้เหมือนกันนะท่านผู้ชม

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า คน 7 คน ที่จะได้รับการสรรหาเป็น กกต.ชุดใหม่ ทำหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งยาวไปอีก 7 ปี

มีอำนาจชี้อนาคตการเมืองไทยว่า พรรคใดจะได้ ส.ส.กี่คน? ขั้วใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล?

คนที่จะผ่านการสรรหาเป็น 7 เสือ กกต.ต้องไม่ธรรมดาแน่นอน

อย่างไรก็ดี ถ้าเอารายชื่อผู้เข้ารับการสรรหาเป็น กกต. 41 คน มาขยํารวมกัน จะเจอรายชื่อกระเด้งเข้าตาไม่น้อยกว่า 10 คน

ตัวอย่างเช่น...

1, นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
2, พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีตรอง ผบ.ตร.
3, นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดมหาดไทย
4, นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตอธิบดีกรมที่ดิน
5, พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช.
6, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
7, นายธานี สามารถกิจ อดีตผู้ว่าฯ ปทุมธานี ระยอง บุรีรัมย์
8, พล.ท.ศานิต สร้างสมวงษ์ อดีตหัวหน้าศาลทหารสูงสุด
9, นายเกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษา อาวุโส อดีตประธานแผนกคดีเศรษฐกิจในศาลฎีกา
10, นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และรองประธานมูลนิธิองค์การกลางเพื่อประชาธิปไตย

นี่คือรายชื่อ 10 ตัวเก็งที่กระเด้งเข้าตา “แม่ลูกจันทร์”

เชื่อว่าใน 10 รายชื่อข้างต้นต้องมีคนที่จะผ่านการสรรหาเป็น กกต.ชุดใหม่รวมอยู่ด้วยแบเบอร์!!

แต่ใครบ้างจะอยู่ในโผ 5 ชื่อสุดท้ายที่ได้นั่งเก้าอี้ กกต.??

ตรงนี้แหละที่มันยากเกินกว่าจะคาดเดา

ฉะนั้น อย่าไปเสียเวลาเดา...เอาเวลาไปช็อปช่วยชาติดีกว่านะโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

พลิกโฉมหน้าการเมืองหลังโรดแม็ป คสช. : ปักหมุดยุทธศาสตร์ชาติ

พลิกโฉมหน้าการเมืองหลังโรดแม็ป คสช. : ปักหมุดยุทธศาสตร์ชาติ

“ผมพร้อมทำงานช่วยนายกรัฐมนตรี เพื่อประเทศชาติ”

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปลือยใจเปิดอกให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ถึงความมุ่งมั่นการทำงานในช่วงที่เป็นรัฐมนตรี

กลับถูกมองในเชิงลบว่า ไร้ฝีมือในการบริหารงาน แต่สามารถประคองตัวอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้ทุกครั้งที่มีการปรับ ครม. เพราะมีสายสัมพันธ์พิเศษเป็นถึง “เพื่อนสนิท-ถุงเงินถุงทอง” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เจ้าตัวก็ยอมรับอย่างสนิทใจว่าเป็นทั้ง “เพื่อนสนิท-ถุงเงินถุงทอง”

แล้วนิยามคำว่า “เพื่อนสนิท-ถุงเงินถุงทอง” จำกัดใจความแค่ไหน ติดตามธงคำตอบได้ระหว่างบรรทัดต่อบรรทัด โดย พล.อ.ฉัตรชัย เปิดฉากถึงการวางยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อปฏิรูปเกษตรเชิงโครงสร้าง
สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก เช่น ปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ผลักดันสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตอนนี้มี 6 แสนคนเป็นอนาคตเกษตรของไทย จัดทำโซนนิ่งการเกษตร การทำเกษตรรวมกลุ่มเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้ทางอ้อม

พร้อมวางยุทธศาสตร์น้ำเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยปรับยุทธศาสตร์น้ำเป็น 20 ปีตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี มีกรอบแก้ปัญหาน้ำทุกมิติ โดยเฉพาะการป้องกันน้ำท่วมและน้ำแล้ง เชื่อมโยงภาคการเกษตร

2 ปีที่ผ่านการบริหารจัดการน้ำได้เพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ-ระบบระบายน้ำ-กระจายน้ำ ประเทศไทยมีพื้นที่ทำเกษตร 129 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานแค่ 29 ล้านไร่ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังน้อย วันนี้เราสามารถเพิ่มพื้นที่เขตชลประทานเทียบเท่า 10 ปีย้อนหลัง

การระบายน้ำก็เช่นเดียวกัน ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เอาแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมมาเปรียบเทียบให้ดู จะเห็นว่าปีนี้ดีบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนระบายน้ำ ทำให้ความเสียหายของพื้นที่เกษตรและพื้นที่เมืองลดไป ทั้งที่ในปีนี้ปริมาณฝนตกใกล้เคียงปี 54
แม้แต่การช่วยเหลือประชาชนในช่วงเกิดภัยพิบัติ รัฐบาลนี้ก็ทำได้ดีกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆมา

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำก็เหมือนกัน ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็น รมว.เกษตรฯมีหน้าที่กำกับนโยบาย จะไปล้วงลูกไม่ได้ ผิดกฎหมาย

วันนี้ขอชี้ให้เห็นการผลิตยางในประเทศไทยและในโลก หลายประเทศที่ไม่เคยปลูกก็ปลูกเอง ทั้งอินเดีย กัมพูชา ลาว จีน ปริมาณยางเกิดขึ้นมาก โจทย์นี้ต้องนำมาแก้ โดยมีนโยบายลดการส่งออก และส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ เป้าหมาย 30 เปอร์เซ็นต์ และจะทำอย่างไรให้พื้นที่ปลูกยางพาราลดลง พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวนยาง

เกษตรกรก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด นำศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสร้างความเข้มแข็ง เชื่อมั่นว่าการแก้ปัญหาอย่างจริงจังจะสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร

ขอยกตัวอย่างมาเลเซียที่เลิกปลูกยางมา 20 ปี แล้วหันนำเข้าจากไทยและไปปลูกปาล์มแทน

จะเห็นได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำทุกอย่างเพื่อช่วยเกษตรกรและชาวสวนยาง

แต่คนที่ชอบออกมาวิจารณ์ เลือกหยิบบางประเด็นมาพูด มีเป้าหมายอะไรกันแน่

สมัยก่อนเคยแก้ปัญหาลงลึกถึงฐานราก หรือชอบใช้นำงบประมาณเข้าไปจัดการ

ขณะที่การแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หมักหมมมานาน ก็ได้แก้เป็นขั้นเป็นตอนเหลือตอนปลายแล้ว ไอยูยู (เป็นกฎระเบียบคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ประกาศใช้ว่าด้วยการประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม) บอกว่าไทยทำไม่ถูก แต่ผมไม่มองว่าเป็นเรื่องหนักสำหรับเรา เพราะไม่ได้เอาไอยูยูเป็นตัวตั้ง แต่จะต้องทำให้ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน มีจำนวนเรือและเครื่องมือจับปลาที่เหมาะสม

ทำแบบนี้ไอยูยูย่อมเห็นชอบด้วยอยู่แล้ว

เรื่องแบบนี้พูดหลายครั้ง แต่ไม่ได้ลงข่าว ข่าวที่ออกไปกลับกลายเป็นว่าผมอยากพัก

ทำไมถึงถูกโจมตีให้ถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า อาจจะเห็นว่าผมใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี จึงต้องการตีให้กระทบต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีเพื่อนน้อยลง

และเชื่อว่าวันนี้สิ่งที่ทำไปหลายโครงการ มันไปกระทบฐานเสียงของพรรคการเมือง ทั้งที่ผมไม่ได้เล่นการเมือง เช่น โครงการ 9101 ประสบความสำเร็จมาก มี 24,000 กว่าโครงการ คนนับล้านได้ประโยชน์
แต่โครงการนี้มีเรื่องร้อง เรียนว่าทุจริต พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า ต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีร้อยกว่าจุดที่มีเรื่องร้องเรียนจาก 24,000 กว่าโครงการ พอตรวจสอบพบว่าเป็นความขัดแย้งภายในท้องถิ่นนั้นๆ

อย่าลืมว่าโครงการนี้โอนเงินตรงไปถึงมือเกษตรกร การทุจริตระหว่างคนจ่ายกับคนรับเลิกไปได้เลย

ถึงได้บอกว่าโครงการนี้และยังมีโครงการอื่นๆอีกที่เราเดินหน้า

ล้วนกระทบต่อฐานเสียง นักการเมืองจึงโจมตีให้ออกจากตำแหน่ง

คนที่อยากให้ผมออกจากตำแหน่งขอถามว่ามีกี่คน ขอให้ไปถามเกษตรกรดูบ้าง

มีเกษตรกรบอกว่าถ้ามี รมว.เกษตรอย่างผมตั้งนานแล้ว ประเทศไทยคงไม่ตกอยู่ในสภาพเยี่ยงนี้ พวกที่ออกมาพูดถ้าแก้ปัญหาเกษตรกรตั้งแต่ระดับฐานรากเหมือนในยุคนี้ เกษตรกรคงมีความกินดีอยู่ดี ไม่เดือนร้อน

วันนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย

ทำไมบางฝ่ายเรียกร้องให้เอามืออาชีพเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทนที่นายทหาร พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า ถ้าเอามืออาชีพเข้ามารับรองการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คงใช้วิธีแก้แบบเดิมๆโดยการประกันราคาหรือรับจำนำ

ไม่เหมือนในยุคนี้มีทหารเป็นรัฐมนตรี ได้วางยุทธศาสตร์และแปรเป็นแผนปฏิบัติเพื่อให้เกษตรกรและประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ฉะนั้นการปรับหรือไม่ปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ผมไม่รู้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยขอตำแหน่งจากท่านตั้งแต่สมัยเป็นทหารแล้ว

ทีมข่าวการเมือง ถามว่ามีบางฝ่ายมองว่าเป็น “ถุงเงินถุงทอง” ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า ตั้งแต่เป็น รมว.เกษตรฯไม่เคยเห็นสักบาท ไปแอบถามคนในกระทรวงได้

เรื่องทุจริตกับผมไม่มีทาง ถ้าทำผิด ถ้าโกงกินรับรองบนแผ่นดินนี้ผมอยู่ไม่ได้

“แต่ที่ถูกมองเป็นถุงเงิน เพราะผมเป็นเหรัญญิกรุ่นตท.12 นายกฯเป็นประธานรุ่น

เขาไว้ใจ เพราะผมเป็นคนละเอียด ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง ทำงานเพื่อรุ่น

และยังเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ช่อง 5 คนไม่รู้ก็หยิบมาปะติดปะต่อบอกเป็นถุงเงิน

เป็น รมว.พาณิชย์ รมว.เกษตรฯ ไม่เคยได้รับผลประโยชน์แม้แต่นิดเดียว

แถมกำชับในที่ประชุมทุกสัปดาห์ว่าอย่ามีการทุจริตนะ

ถ้าเกิดขึ้นแล้วลงมาถึงผม มีคำตอบเดียว ท่านไม่ต้องมาพูด

หรือถ้าท่านไม่ทำ ต้องสั่งลูกน้องไม่ทำด้วย

อาจจะมีประปรายก็ต้องไปไล่กัน สำหรับผมร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มี”

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ในฐานะที่เป็นเพื่อนกับนายกฯ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำให้การปรับ ครม.แต่ละครั้งก็ยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า ผมรู้จักท่านนายกฯ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 เป็นเพื่อนกันมา 40 กว่าปี ผมรู้ดี ท่านนายกฯ ไม่ใช่แค่กับผม แต่กับทุกคน

เพื่อนคือเพื่อน งานคืองาน เวลาทำงานไม่มีเพื่อน เพื่อนเอาไว้เวลาพักผ่อนเท่านั้น

ในฐานะเพื่อนเป็นห่วงนายกฯในเรื่องอะไร พล.อ.ฉัตรชัย บอกว่า ท่านรับผิดชอบงานที่ใหญ่มาก เครียดกับงานก็เป็นห่วงสุขภาพของท่าน รู้จักท่านมาทั้งชีวิตเป็นคนทุ่มเท รักประเทศและสถาบัน ยอมแม้กระทั้งชีวิตของท่าน

ขณะที่ท่านก็เป็นห่วงมากว่าการทำงานของพรรคการเมืองที่เกิดหลังโรดแม็ป จะนำไปสู่การสร้างประเทศชาติอย่างไร จะบริหารประเทศอย่างไร จะขับเคลื่อนไปตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

ฉะนั้นอยากเห็นพรรคการเมืองมีเป้าหมายชัดเจนที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

นักการเมืองที่เข้ามารับผิดชอบบ้านเมือง จะต้องไม่เล่นการเมืองเพื่อสร้างฐานเสียงให้กลับเข้ามาอีก

แต่จะต้องยึดประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

ความสุขจะเกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติเจริญขึ้น.

ทีมการเมือง

6 คำถาม "ประยุทธ์" จุดพลุปะทะนักการเมือง : หนีวิกฤติศรัทธา เดินหน้าอำนาจ

6 คำถาม "ประยุทธ์" จุดพลุปะทะนักการเมือง : หนีวิกฤติศรัทธา เดินหน้าอำนาจ

ภาพความสวยงามผุดขึ้นในเมืองไทย

ห้วงเวลานี้ทุกสายตาโฟกัสไปที่คนชื่อ “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ศิลปินนักร้องดัง ที่กำลังวิ่งจากใต้สุดของประเทศ อ.เบตง จ.ยะลา สู่เหนือสุดของประเทศ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ตามโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ระดมเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาลรัฐ 11 แห่งทั่วประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือผู้จุดประกายอย่างแท้จริง

กับสิ่งที่คนไทยคนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึง “หน้าที่พลเมือง” ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละทั้งแรงกาย แรงใจทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติส่วนรวม

ท่ามกลางกระแสตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นหลาม

“ตูน บอดี้สแลม” ได้สร้างปรากฏการณ์กระตุ้นพลังแฝงในสังคม กระตุกอารมณ์คนทั่วประเทศให้ก้าวข้ามบริบทเดิมๆของสังคมไทยที่ชอบคิดแต่ธุระไม่ใช่

ตามภาพของผู้คนจำนวนมากที่รอรับนักร้องดังตลอด 2 ข้างทาง พร้อมกับยอดเงินบริจาคที่ทะลุหลักร้อยล้านอย่างรวดเร็ว เป็นคำตอบได้อย่างดี

“ตูน บอดี้สแลม” ได้นำสังคมก้าวข้ามบริบทเดิมๆ ไปแล้ว แต่การเมืองเรื่องของเกมอำนาจประเทศไทย
ยังหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ

ในจังหวะสถานการณ์ต่อเนื่องกับกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี ภายหลังตำแหน่งว่างลงจากการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีต รมว.แรงงาน ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.

มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคต

ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พยายามรวบรัดตัดความ จำกัดวงแรงกระเพื่อมของการปรับ ครม.ที่หนีไม่พ้นภาวะทางใจของคนที่ผิดหวัง ท่ามกลางกระแสข่าวจากวงใน วงนอก ช่วยกันใส่ฟืน โหมเติมเชื้อไฟ โดยเฉพาะนักการเมืองทั้งค่ายประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่อาศัยโหนกระแสตามท้องเรื่อง “ปล่อยของ” ผ่านสื่อ
“เสี้ยม” ให้ทีมงานรัฐบาลแตกคอกัน

และนั่นก็โยงเป็นเหตุผลว่าด้วยการยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมตามเหตุผลที่ “นายกฯลุงตู่” ได้แจกแจงผ่านเอกสาร ยืนกรานคสช. ได้ประเมินสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย

จึงขอให้การปลดล็อกที่พูดกันรอไปอีกระยะ อย่าตื่นเต้นกังวล

งานนี้ส่อเค้ายื้อแบบไม่กำหนดเวลา ตามภาวะปัจจัยแทรกไม่อยู่ในวิสัยที่ “บิ๊กตู่” ควบคุมได้ นั่นก็กระตุกเสียงโหวกเหวกโวยวายของนักการเมืองทุกป้อมค่ายไล่บี้ไล่กดดันกันไม่ลดละ

แต่ในจังหวะที่กระแสจับจ้องไปที่การปลดล็อกกฎเหล็กพรรคการเมืองและคิวปรับ ครม. มันก็มีประเด็นแทรกคิวมาสร้างความฮือฮากว่า แทบจะกลบปมปลดล็อกและเบียดข่าวปรับ ครม.ไปเลย

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปล่อย “6 คำถามถึงพี่น้องประชาชน”

คำถามข้อที่ 1 คือเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่ ตนไม่ได้ว่าใคร สื่ออย่าเขียนให้ทะเลาะกัน เพราะตนพูดกับประชาชนไม่ได้พูดกับนักการเมือง

คำถามข้อที่ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคใดหรือตนจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์ของตนหรือไม่ แล้วตนต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ก็เปล่า เพราะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ เนื่องจากตนไม่ได้ลาออก (ลาออกจากนายกฯ) ก็จบแล้ว สิทธิ์ของตนมีไม่ใช่หรือ ตนจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆมาตนก็ไม่สนับสนุน

คำถามข้อที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ดำเนินการ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ โดยคำถามย่อย

1.เห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่าง เป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU, ICAO ฯลฯ หรือไม่

2.เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศเพื่อให้การเมืองไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่

3.การทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด มิใช่ทำแต่ตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้ หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่สนับสนุน รวมทั้งต้องทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดความต่อเนื่องใช่หรือไม่

คำถามข้อที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลในอดีต ที่วันนี้พูดว่าเอารัฐบาลในอดีตสมัยโน้นสมัยนี้มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ มันเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์ภายนอกและประชาชนเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์วันนี้โซเชียลมีเดียพัฒนามากไปหรือไม่ มันเป็นคนละเวลาหมด ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตก็ดีอยู่แล้วในบางรัฐบาล หรือบางช่วง แต่วันนี้อย่าลืมว่า คสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาในสถานการณ์อะไร เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

คำถามข้อที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

คำถามข้อที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใด พรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช. รัฐบาล รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงช่วงนี้มาก ผิดปกติเพราะอะไร

แบไต๋ แบะท่าโชว์แผนงานทางการเมืองเป็นนัย

โฟกัส 3 ข้อแรก สรุปความตามภาษาทางการเมืองได้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แต่จะประกาศหนุนพรรคการเมืองที่น่าจะตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเบียดสู้กับขาใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย
เป็นสัญญาณให้กองเชียร์ “นายกฯลุงตู่” ได้รับรู้

พล.อ.ประยุทธ์ปูทางสู้ในเกมเลือกตั้ง ตามยุทธศาสตร์การลากยาวอำนาจในห้วงเปลี่ยนผ่าน

และนั่นก็กระตุกอาการนั่งไม่ติดของนักการเมืองอาชีพทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยรีบแย่งกันออกมาตอบ 6 คำถามของ “นายกฯลุงตู่” ก่อนประชาชน โดยเฉพาะคนพรรคประชาธิปัตย์ออกอาการเต้นผางมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หัวหอกนำทีมเอง

ทั้งด่า ทั้งขู่ ทั้งดักคอ พล.อ.ประยุทธ์อย่าคิดสืบทอดอำนาจ

ประชาธิปัตย์อาละวาดใส่ “6 คำถาม” สะท้อนความหวั่นไหวในฐานะของป้อมค่ายที่ได้รับผลกระทบ มากสุด หากมีการก่อกำเนิดของพรรคการเมืองมาแบ่งแต้มไปช่วย “นายกฯลุงตู่”

งานนี้เหมือนจะรู้ตัวแล้วว่า คสช.ไม่เลือกใช้เป็นฐาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่ากันตามหลักการมันก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดกับยุทธศาสตร์ในการสื่อสารตรงกับประชาชน อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งทุ่นท้าย 6 คำถาม อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่ตนถามเพราะอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจ

นี่ก็เหมือนกับการย้ำผลประชามติรัฐธรรมนูญให้ลึกไปอีกขั้น

มันมีร่องรอยอยู่แล้วตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสสูงในการกลับมาเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ไปสู่การปฏิรูปประเทศ

เรื่องของเรื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองเอง

ก็โวยได้ไม่เต็มปากเต็มคำ ในเมื่อพฤติกรรมในอดีตมันยังหลอนชาวบ้าน กับการแก่งแย่งอำนาจและ ผลประโยชน์กันทุกวิถีทาง สู้กันในเกมสภาไม่พอ ลากออกมาสู้กันบนถนน ปลุกม็อบปิดบ้านปิดเมือง ทำประเทศเกือบเป็นรัฐล่มสลาย

ถึงวันนี้ประชาชนยังไม่ไว้วางใจ นักการเมืองหน้าเดิมจะกลับมาลากประเทศลงเหวอีกหรือไม่

นี่คือจุดที่ทำให้ “นายกฯลุงตู่” มั่นใจ โยน 6 คำถามมาตอกย้ำประตูฝาโลง

แต่ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหาร คสช. เองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่กุมสภาพความเหนือกว่า สักเท่าไหร่ ตามปรากฏการณ์เชิงกระแสที่ทีมงาน “ลุงตู่” ก็เริ่มเผชิญกับแรงเสียดทาน ผจญภาวะขาลง สังคม

ไม่ไว้วางใจกับพฤติกรรมแฝงผลประโยชน์ของคนรอบข้างผู้นำ

ชักจะไม่แตกต่างจากที่ด่านักการเมืองสักเท่าไหร่ คนเริ่มรู้สึกหนีเสือปะจระเข้

ในเหลี่ยมที่มองได้ว่า การจุดพลุ “6 คำถาม” มาปะทะกับนักการเมือง ก็คือจังหวะของการชิ่งหนีวิกฤติศรัทธา เพื่อกรุยทางเดินหน้าอำนาจต่อไป

ตามเงื่อนไขสถานการณ์มาถึงจุดท้าทาย กงล้อทางการเมืองไทยจะหมุนข้ามวัฏจักรเดิมๆพ้นหรือไม่
ทั้งหมดทั้งปวง มันก็อยู่ที่ประชาชนเองต้องสำแดงความเป็นเจ้าของประเทศ

ไม่ว่านักการเมือง หรือทหาร ถ้าเจอด่านคนไทย “กาบัตร” เลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ

ต่อไปก็ไม่ต้องเสียเวลามาคอยตอบคำถามกัน.

“ทีมการเมือง”

อีก‘ไต๋’ที่แทรกให้อ่าน

อีก‘ไต๋’ที่แทรกให้อ่าน

ทิ้งไพ่ เปิดไต๋ โยนหินถามทาง กระตุ้นขอไอเดียชาวบ้าน

สารพัดเสียงสะท้อน 6 คำถามจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. โยนออกมา

โฟกัสแค่ 3 คำถาม “จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง นักการเมืองหน้าใหม่ในการเลือกตั้งหรือไม่–คสช.จะหนุนพรรคใด ได้หรือเปล่า–สิ่งที่ คสช.ทำมา 3 ปี เสียงเชียร์มีมากแค่ไหน”

เท่านี้ก็กลายเป็นวาระร้อนทะลุปรอท แซงคิวปรับ ครม.ที่ถึงเวลานี้ก็น่าจะต้องรอกันไปอีกพักใหญ่

เพราะก่อนขึ้นเครื่องบินไปประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. ต่อด้วยประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 13-14 พ.ย.

“บิ๊กตู่” ตอบสั้นๆว่า “ยัง” กับคำถามถึงการทูลเกล้าฯ รายชื่อ ครม.ใหม่

ถึงแม้จะเริ่มมีรายการแพลมโผออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังแค่กระเซ็นกระสายรายวัน

ปมร้อน “6 คำถามผู้นำ” ที่แทรกเข้ามา กระตุ้นเสียงสะท้อนกระหึ่มจากคนการเมือง

รีบสแกนไต๋ แปลความลูกเล่นล่าสุดของผู้นำกันคึกคัก

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทางเดียวกัน คิวนี้ “บิ๊กตู่” หงายไพ่แล้ว เตรียม “ต่อตั๋ว” สืบทอดอำนาจ
กดหัว ครอบงำ ฉวยโอกาส ชี้นำ

ถึงแม้ “บิ๊กตู่” จะเคลียร์ “ไม่มีเจตนาทางการเมือง” ไม่ต้องการขัดแย้ง เป็นศัตรูกับใคร

ขณะที่คนในห้องเครื่อง คสช.ปฏิเสธเหยงๆ คสช.ไม่คิด “สืบทอดอำนาจ”

รวมทั้งที่กระเตงผู้นำเข้าเอวทันที “ซือแป๋ มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธาน กรธ.ชี้แจงแทน 6 คำถามไม่ได้เป็นการชี้นำ ครอบงำ หรือใช้กลไกรัฐบังคับใคร “ทุกคนมีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมือง”

ส่วนเรื่องเป็นการได้เปรียบเสียบเปรียบระหว่าง คสช.กับพรรคการเมือง ก็เหมือนรัฐบาลกำลังจะหมดวาระ แล้วหาเสียงให้เลือกพรรคของตัวเองอีกเพื่อจะสานงานต่อ

มองคิวฉวยจุดได้เปรียบ เป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง

อีกรายที่ออกมาเนิบนิ่มแต่มีปมแหลมๆตลอด ยอดเนติบริกร “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย นอกจากช่วยเคลียร์ปม 6 คำถาม ก็แค่นายกฯ อยากทราบว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร

ยังเปิด “ไต๋เก่า” ที่หลุดมาแล้วหลายรอบ กับคิว “ปลดล็อกท้องถิ่น”

โดยระบุว่า คสช.ดูมาเป็นระยะๆ กำลังพิจารณาว่าจะหารือกับกระทรวงมหาดไทย อาจจะต้องปลดล็อกให้เลือกตั้งท้องถิ่นบางระดับก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนจะเป็นเลือกตั้งระดับ อบต. อบจ. เทศบาล กทม. เมืองพัทยา ยังไม่ชัด

ตามรูปการณ์ ไต๋ “คลายล็อก” เปิดเลือกตั้งท้องถิ่นนำร่อง นอกจากเหตุผลทางฉากหน้าเพื่อเตรียมความพร้อม เช็กกลไก กรรมการกลาง ระบบจัดการเลือกตั้งก่อนเลือกตั้ง ส.ส.

ทำงานตามสัญญาณเข้าเป้าแค่ไหน

ยังต้องมองไปถึงแผนอำนาจพิเศษ “วางเกมไว้ยาว”

สะท้อนจากเวลานี้ทั้งเปิดโปรโมชั่นถี่ยิบ หลังจากโปรยอัดฉีดรากหญ้ามาต่อเนื่อง

โยงมือไม้ “กลไกพิเศษ” คุมงบฯก้อนโต หว่านโปรยลงลึก ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ

นอกจากกลไกข้าราชการ ยังมี กอ.รมน.พื้นที่ย่อยประจำจุด มี กอ.รมน.จังหวัดคุมโซนอีกชั้น

บิ๊กท็อปบูตทำงานประกบพ่อเมืองแต่ละพื้นที่

ครบทั้งสรรพกำลัง กลไกจัดตั้ง ติดอาวุธเสบียงอัดฉีดจากหน่วยเหนือ

เพียงแต่ที่ว่านี้ ยังเป็นแค่ที่ “ดร.วิษณุ” เปิด “ไต๋เดิม” สุดท้ายยังคงต้องรอผู้นำกลับมาเคาะโต๊ะ

หงายไพ่อีกใบ ขยับ “ไต๋ใหม่” ไขล็อกท้องถิ่นให้ชัดๆอีกที.

ทีมข่าวการเมือง