ย้อนเส้นทาง เรือเหาะใต้ 350 ลบ. ราชินีโรงจอด 8 ปี ฉบับเข้าใจง่าย

หลังจากมีกระแสข่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ได้ปลดประจำการณ์ เรือเหาะตรวจการณ์ ที่กองทัพบกได้จัดซื้อสมัย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ บิ๊กป๊อก ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เนื่องจากหมดอายุการใช้งาน ท่ามกลางกระแสโจมตีของหลายฝ่ายที่ระบุว่า เป็นการจัดซื้อที่ไม่คุ้มค่ากับราคา 350 ล้านบาท และมองว่าแพงเกินจริง เนื่องจากเรือเหาะที่มีขนาดใกล้เคียงกันมีราคาเพียง 30-50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทางกองทัพบกก็ได้ออกมาตอบโต้และยืนยันตลอดว่า เรือเหาะดังกล่าวสามารถใช้งานได้จริง ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่มีการจัดซื้อนั้น
วันนี้ (14 ก.ย.60) ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จึงขอไล่ลำดับเหตุการณ์สำคัญตั้งแต่การจัดซื้อเรือเหาะในปี 2552 จนถึงปัจจุบันว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนี้
10 มี.ค.52 พรรคประชาธิปัตย์ (ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้น) อนุมัติงบ 350 ล้าน แบ่งเป็นราคาบอลลูน 260 ล้าน กล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันกลางคืน 70 ล้าน ส่วนที่เหลือ 20 ล้าน เป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น จัดหาเรือเหาะตรวจการณ์ เพื่อใช้ในกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อใช้ในภารกิจความไม่สงบในภาคใต้ โดยระบุคุณสมบัติว่า สามารถบินได้พ้นรัศมีของปืน M16

28 มิ.ย.52 เรือเหาะตรวจการณ์ถูกส่งถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
18 ธ.ค.52 เรือเหาะเข้าประจำการ ณ โรงจอดภายในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 อย่างเป็นทางการ (พล.ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
15 ม.ค.53 กองทัพกำหนดให้เป็นวันเริ่มนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการเป็นครั้งแรก แต่ประสบปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงยังไม่มีการรับมอบสินค้าอย่างเป็นทางการ
5 มี.ค.53 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะจัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน พบว่ามีปัญหาหลายอย่าง ในส่วนกล้องและตัวบอลลูน ตัวเรือเหาะบินได้ 1 ใน 3 ของสเปกไม่พ้นระยะยิง ด้าน บิ๊กป๊อก โบ้ยให้กรรมการตรวจรับเรือเหาะรับผิดชอบหากพบว่าเรือเหาะบินไม่ได้ ลั่นจัดซื้อ "เหมาะสม ถ้าไม่เหมาะสมจะสั่งซื้อได้อย่างไร"
5 มี.ค.53 พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก ปัดข่าวนายทหาร 2 นาย ซึ่งเป็นกรรมการตรวจรับเรือเหาะ ขอลาออกเนื่องจากไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับโครงการที่เป็นปัญหา ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง
9 มี.ค.53 บิ๊กป๊อก ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพเรือเหาะอีกครั้ง พบปัญหาหลายอย่าง แต่ยืนยันว่าระบบยังใช้งานได้ดี ระบุ โครงการจัดซื้อโปร่งใส หาก สตง.-ป.ป.ช. ตรวจสอบว่ามีการโกงก็พร้อมเข้าคุกทันที
11 มี.ค.53 ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย กังขากองทัพบกไม่ยอมชี้แจงการจัดซื้อเรือเหาะ อ้าง ผบ.ทบ. ติดภารกิจ (อ่านข่าวคลิก)
27 พ.ค.53 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะลงนามรับมอบ “บอลลูน”
9 มิ.ย.53 รองเจ้ากรมท่าบำรุงทหารบก แถลงโต้ข่าววิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อเรือเหาะ โดยเฉพาะเรื่องบินต่ำกว่าสเปก คือบินได้เพียง 1 กม. โดยระบุว่าสเปกจริงบินได้ 3 กม. แต่เมื่อติดกล้องและรวมคนขับเข้าไปแล้วจึงทำให้บินต่ำลง
23 ก.ค.53 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะ ลงนามรับมอบเรือเหาะตรวจการณ์ทั้งระบบ ทั้งที่ยังมีคำถามค้างคาใจจากหลายฝ่าย ด้านโฆษกพรรคเพื่อไทย ฉะกองทัพบกงุบงิบงบประมาณจัดซื้อเรือเหาะ ใช้งบไม่โปร่งใส กันสื่อไม่ให้เข้าสังเกตการณ์
23 ก.ค.53 กองทัพบกเสนอเรื่องให้บริษัทผู้ผลิต นำเรือเหาะลำใหม่เปลี่ยนลำเดิม เหตุมีรอยปริแตก รั่วซึม
3 ส.ค.53 พล.อ.อนุพงษ์ โต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจัดซื้อเรือเหาะทุจริต ยันเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการใช้งานไม่ต้องห่วง เนื่องจากอยู่ในช่วงรับประกัน
30 ก.ย.53 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน พล.อ.อนุพงษ์ ที่เกษียณอายุราชการ
18 ก.พ.54 เจ้าหน้าที่นำเรือเหาะขึ้นบินตรวจการณ์และทดสอบขีดความสามารถ ใช้กล้องอินฟาเรดเก็บภาพพื้นที่ จ.ปัตตานี บินไกลสุดในรอบ 7 เดือน (อ่านข่าวคลิก)
20 ก.พ.54 กองทัพบกขอเปลี่ยนผ้าใบบอลลูนจากบริษัทผู้ผลิต
16 มี.ค.54 พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเรือเหาะครั้งสุดท้ายก่อนใช้งานจริง
17 มี.ค.54 พรรคเพื่อไทย (ฝ่ายค้านในขณะนั้น) อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซัดซื้อเรือเหาะมีประสิทธิภาพไม่คุ้มราคา

11 ต.ค.54 พล.อ.ประยุทธ์ เล็งใช้เรือเหาะตรวจการณ์ บินสำรวจพื้นที่น้ำท่วมปี 54
13 ธ.ค.55 เรือเหาะประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ เนื่องจากนักบินไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจสำรวจความปลอดภัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
18 ก.ค.56 มทภ.4 ยันยังไม่เซ็นจำหน่ายเรือเหาะ เผยขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมความเสียหายจากอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.55
5 ก.ย.57 เรือเหาะลงจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนา ม.6 ต.ยะรัง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เนื่องจากเกิดลมแรงทัศนวิสัยไม่อำนวย ก่อนบินกลับฐานโดยไม่ได้รับความเสียหาย

14 ก.ย.60 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ปลดประจำการเรือเหาะตรวจการณ์หลังใช้งาน 8 ปี และไม่มีแผนจัดซื้อใหม่.