PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2562

ปิยบุตร'งัดทั้งใบเสร็จทางด่วนยันตั๋วเครื่องบินฟอกขาว'พ่อฟ้า'โอนหุ้นถูกต้อง



22 เม.ย.62- ที่พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค แถลงกรณีการถือหุ้นในบริษัท วีลัค-มิเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคว่า  เมื่อมีคนไปแจ้งคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) พรรคอนาคตใหม่รวมถึงนายธนาธรได้เตรียมหลักฐานเพื่อชี้แจงต่อกกต.ตามกระบวนการ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อจาก กกต. และเห็นว่ามีการเผยแพร่ข่าวว่าสำนักงานกกต. อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องนี้อยู่และบางสำนักได้เขียนข่าวขอให้กกต.มีมติให้ทันในวันที่ 9 พ.ค. ทำให้มีแรงกดดันไปที่กกต.มากขึ้น และสื่อสำนักนั้นยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าว กกต.ว่าวันนี้จะมีการประชุมของคณะกรรมการช่วยตรวจสอบที่กกต.ตั้งขึ้นมา และจะมีมติในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้
"พรรคกังวลใจว่าการพิจารณาของกกต. อาจขัดกฎหมายที่การพิจารณาจะต้องรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่การพิจารณาเพียงเอกสารคำร้องที่สื่อรายงานเพียงอย่างเดียว คงจะไม่เกิดความเป็นธรรม นอกจากนี้ก่อนที่นายธนาธรจะเดินทางไปยุโรปได้เตรียมเอกสารและได้มอบอำนาจให้ตัวแทนทีมกฎหมายของพรรคไปยื่นเอกสารที่ กกต.และขอโอกาสเข้าไปชี้แจงแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการประสานจาก กกต."
นายปิยบุตร กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. ถือครองหุ้นในกิจการสื่อมวลชน รวมถึงเมื่อเป็นส.ส.แล้ว ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ห้ามถือครองหุ้นเฉพาะตอนที่ได้รับตำแหน่งส.ส.แล้ว ซึ่งตนมองว่าข้อห้ามควรมีตอนที่มีอำนาจแล้ว เพราะตอนเป็นผู้สมัครไม่มีใครทราบว่าจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ แต่เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เข้าไปครอบงำสื่อ ซึ่งนายธนาธรก็เตรียมตัวในเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี และขออย่าสับสนปนเปตามสื่อบางสำนักรายงาน ว่าการถือครองหุ้นเป็นการเข้าไปแข่งขันกับสัมปทานของรัฐ
"การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ของนายธนาธร และนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา ให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรเสร็จสิ้นเสร็จตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2562 ซึ่งมีเอกสาร เช็คขีดคร่อมการชำระค่าหุ้น ใบหุ้น และตราสารโอนหุ้น ที่แสดงว่ามีการโอนหุ้นจริง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรค 2 ระบุว่าการโอนหุ้นจะมีผลสมบูรณ์ด้วยการลงรายมือชื่อ ของผู้โอน ผู้รับโอน และพยาน ซึ่งแสดงว่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว และในมาตรา 1129 วรรค 3 ระบุว่า หากจะให้การโอนหุ้นจะมีต่อบุคคลภายนอก จะต้องมีการจดแจ้งในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งการดำเนินการโอนหุ้นของนายธนาธร และภรรยา ไปยังนางสมพร ได้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายเรียบร้อยแล้วนับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 นายธนาธรจึงไม่ได้ถือหุ้นนี้อีกต่อไป"
เลขาฯพรรค อนค. กล่าวว่า กรณีสื่อบางสำนักยังพยายามขุดคุ้ยและระบุว่า ในวันที่ 8 ม.ค.นายธนาธร ไม่ได้ร่วมประชุมผู้ถือหุ้นนั้น ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงเช้านายธนาธรยังคงลงพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ และเดินทางกลับมากรุงเทพด้วยรถตู้ในช่วงบ่าย และมีหลักฐานในเสร็จ easy  pass ในการเดินทางในช่วงเวลา 15.00 น. และนายธนาธรมีภารกิจเดินทางสนามบินดอนเมืองต่อไปยังนครศรีธรรมราช ในวันที่ 9 มกราคม ดังนั้นหลักฐานทั้งหมดนี้แสดงว่า ช่วงเช้าปราศรัยและช่วงบ่ายเดินทางกลับมาร่วมประชุม ข้อเท็จจริงนี้หวังว่าสื่อคงมีใจที่เป็นธรรมและกระจ่างชัด ไม่ควรที่จะตั้งข้อสงสัยอีก
จากนั้นในวันที่ 14 มกราคม 2562 นางสมพรได้โอนหุ้นให้กับนายทวีและนายปิติ (นายเอและนายบี) ซึ่งเป็นหลานชายของนางสมพร เพื่อต้องการให้เข้ามาดูแลกิจการและติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ค้างชำระ ตามที่ฝ่ายบัญชีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด  แนะนำว่า หนี้ค้างชำระน่าจะมีการติดตามทวงคืนได้ ยังไม่ให้ปิดบริษัท ทำให้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด  กลับมามีผู้ถือหุ้น 10 คน ต่อมาในวันที่ 18 ม.ค. น.ส.รวิพรรณ ได้ลงนามลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และให้มีผลในวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งมีการประชุมผู้ถือหุ้นโดยมีวาระ เรื่องแจ้งการลาออกของนายทวีและนายปิติ แจ้งการถือครองหุ้น และมีมติเลิกกิจการบริษัท เนื่องจากฝ่ายบัญชีพบว่า หนี้ที่มีอยู่เป็นหนี้ NPL หรือหนี้เสีย กว่า 11 ล้านบาท จึงตัดสินใจมีมติปิดบริษัท 
จากนั้นในวันที่ 21 ม.ค. นายทวีและนายปิติ รวมถึงผู้ถือหุ้นอีก 3 คน ได้โอนหุ้นคืนให้กับนางสมพรให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารบริษัท ทำให้เหลือหุ้นเพียง 5 คน และวันที่ 21 มี.ค. ทางบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้นำเอกสารไปยื่นต่อกรมธุรกิจการค้า ตาม มาตรา 139 วรรค 2 ที่กำหนดให้ยื่นสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นปีละ 1 ครั้ง ภายหลังจากการประชุมสามัญในวันที่ 19 มี.ค.2562 
"เรื่องนี้ควรจบตั้งแต่ 8 มกราคม ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจอีกแล้ว  แต่ในเมื่อยังสืบสาวราวเรื่อง พรรคก็ต้องชี้แจงต่อ และในการตามสืบเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเอกชนไปได้ แต่ในเมื่ออยากจะตรวจสอบก็เอาไปดูกัน และพยานหลักฐานก็ชัดเจนทั้งหมด มีข้อสงสัย ของสื่อบางสำนักและผู้สนใจ ว่า โอนหุ้นเสร็จในวันที่ 8 มกราคม แต่ไปยื่นวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งสมัครส.ส.ไปแล้ว ขอบอกว่า การโอนหุ้นมีผลทางกฎหมายไปหมดแล้ว เป็นเพียงขั้นตอนการแจ้ง ไม่เกี่ยวกับการถือหุ้นของนายธนาธรเลย ประเด็นปัญหาเรื่องนี้ไม่ควรจะบายปลายขนาดนี้" 
ถามว่า เกรงว่า กกต.จะประวิงเวลาในการตรวจสอบจนไม่สามารถรองรับสถานะ ส.ส. ของ นายธนาธร ในวันที่ 9 พ.ค. หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า หากพิจารณาด้วยจิตใจเป็นธรรม เมื่อเห็นหลักฐานการโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. เห็นแค่นี้ต้องมีมติทันทีแล้วว่า เรื่องนี้ไม่มีมูล จากหลักฐานต่างๆครบถ้วน และไม่มีเหตุผลอื่นใดเลยที่ต้องตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบ นอกจากนี้การที่ทางคณะกรรมการดังกล่าวไปขอหลักฐานตามหน่วยงานๆ ตามที่ปรากฎออกมาเป็นข่าว แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับยังไม่ได้รับโอกาสชี้แจงเลย ทั้งที่เรื่องนี้ควรจบไปตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งเราต้องขอความเป็นธรรมในการนำเอสารหลักฐานจากทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาพิจารณาด้วย 
ซักว่า ได้เผื่อใจไว้หรือไม่ว่า นายธนาธร อาจไม่ได้เป็น ส.ส. นายปิยบุตร กล่าวว่า ไม่เคยกังวล หากบ้านเมืองนี้ปกครองกันโดยยึดกฎหมาย และความยุติธรรมอย่างแท้จริง หากองค์กรที่ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระ เป็นอิสระอย่างแท้จริง ตนมั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางทำอะไรได้ อย่างไรก็ตกแน่นอน
ถามต่อว่า หากกกต.มีมติออกมา เป็นใบส้ม จากกรณีดังกล่าว ทางพรรคจะดำเนินการอย่างไนต่อไป นายปิบุตร กล่าวว่า เรามั่นใจ ว่า กกต.เป็นธรรม เช่นเดียวกับเอกสารหลักฐานทั้งหมด เรียนง่ายๆว่า ให้สื่อมวลชนไปถามผู้เชี่ยวชาญที่เขียนกฎหมายหุ้นส่วน ปัญหาคือ ที่ผ่านมามีสื่อบางสำนักเสนอข่าวนี้อยู่ฝ่ายเดียว เนื้อหาข้อเท็จจริงก็ไม่ได้มีอะไรเยอะ แค่พาดหัวคนละแบบกันในแต่ละวัน จนคนสับสนว่าเรื่องนี้คือเรื่องอะไร แต่เราก็แน่ใจว่าจะไม่โดนใบส้มอะไรทั้งสิ้น

'เรืองไกร'ยื่นศาลรธน.ไม่ให้รับคำร้อง กกต.วินิจฉัยสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์

22 เม.ย.62- ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)​เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ   ขอให้ไม่รับพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ที่ขอให้ศาลฯวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถดำเนินการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 128   ที่การคิดคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคน ได้หรือไม่   และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่  เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้า  ลักษณะเป็นการขอคำปรึกษา ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้ในคำสั่งที่ 1/2561 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2561  เรื่อง กกต.ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกกต.ตามรัฐธรรมนูญ  กรณี กกต.แต่ละคนจะใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกหรือระงับการเลือกตั้ง  ของหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งที่พบการกระทำความผิด  

โดยในคำสั่งดังกล่าวศาลเห็นว่า ตามคำร้องของกกต.ยังเป็นเพียงข้อสงสัย ข้อหารือ หรือการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.  คำร้องของ กกต. จึงไม่เข้าด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย   ไม่รับวินิจฉัยคำร้อง  ที่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ว่า กกต.จะสามารถดำเนินการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ  ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 128  โดยการคิดคำนวณดังกล่าว  อาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรคที่มีจำนวน ส.ส.  ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน  ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหนึ่งคนได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ได้ข่าวว่าทางองค์คณะศาลรัฐธรรมนูญชุดเล็กมีความเห็นว่าจะรับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ซึ่ง กกต.ได้ยื่นเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่แปลก   ถ้าเทียบกับสมัยไทยรักษาชาติ(ทษช.)​  เพราะตอนนั้นศาลทั้งมีแถลงข่าว   แต่การที่ กกต.ยื่นเรื่องนี้ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต.จะใช้สูตรใดมาคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ  เป็นเหตุให้ผู้รู้มากมายทั้งฝ่ายกฎหมาย ครม. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  หรือกระทั้งอาจารย์ผู้รู้ช่วยกันวิจารณ์   ตนมองว่าเรื่องนี้มันวินิจฉัยได้ไม่ยาก และทำให้สภาวะการเมืองไม่ต้องมาฝันหวานกัน  ที่ฝันว่าข้างนั้นข้างนี้จะตั้งรัฐบาล   ซึ่งคำร้องของตนนี้อาจจะทำให้ฝันสลายก็ได้  เพราะถ้ายื่นไปแล้วศาลเห็นด้วย การที่กกต.จะรับรอง ส.ส.เขตให้ได้ร้อยละ 95 ก่อนแล้วค่อยมารับรองส.ส.บัญชีรายชื่อคงจะไม่ทันวันที่ 9 พ.ค.  ฉะนั้นถ้าจะยืดอายุต่อเวลาก็ต้องไปเอาความเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมาดู   ตนก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยว่า กกต.ยังมีเวลา   แต่ถ้า กกต.ไม่มั่นใจและประกาศผลไม่ทัน  เลือกตั้งครั้งนี้ก็อาจจะทำให้บรรดาพรรคการเมืองฝันไม่ใกล้ความจริงมากหนักก็ต้องขออภัยที่คำร้องของตนจะไปกระตุ้นอารมณ์ของใคร แต่ตนไม่ใช่งูเง่างูเขียวเป็นเพียงคนร้องคนหนึ่งเท่านั้น
"เรื่องนี้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญถือตามเหตุเดิมนั้นก็ไม่น่าจะรับคำร้องของ กกต.   ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย.นี้   องค์คณะชุดเล็กจะส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหญ่พิจารณานั้น   ต้องบอกว่าท่านคงรับเรื่องนี้ไม่ได้   ถ้าดูตามมาตรฐานของศาล   เว้นแต่จะมีเหตุผลอย่างอื่น  ซึ่งถ้าองค์คณะศาลฯทั้ง 9 ท่านรับ ท่านก็ต้องแสดงความเห็นส่วนตัวทั้ง 9 คน"

7พรรคเล็กชงตั้งรัฐบาล'สามัคคีสร้างชาติ'พร้อมชงสูตรปาร์ตี้ลิสต์



22 เม.ย.62- ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  กลุ่มรวมพลังพรรคพรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วยพรรคภาคีเครือข่ายไทย  พรรคแผ่นดินธรรม  พรรคพลังไทยดี พรรคพลังแผ่นดินทอง พรรคภารดรภาพ พรรคกรีน  และพรรคประชาไทย  เข้ายื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลที่เหมาะสมและเป็นธรรม  

โดยกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าภายหลังการเลือกตั้งผ่านมาแล้ว  1 เดือน ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าพรรคใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล แม้จะมีการเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา แต่ก็มีการมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีฝ่ายค้าน    ดังนั้นกลุ่มรวมพลังพรรคการเมืองขอเสนอตั้งรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติ  เพื่อยุติความขัดแย้งทั้งหมด โดยพรรคการเมืองใดจะประสงค์ร่วมรัฐบาลให้ไปลงชื่อร่วมกัน  ส่วนพรรคใดที่มีแนวทางไม่ตรงกับกลุ่มร่วมรัฐบาลก็มาร่วมเป็นฝ่ายค้านได้   ซึ่งรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติ ก็เป็นไปรัฐธรรมนูญ มาตรา  3 , 5, 8 และ 265   นอกจากนี้ยังขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาเพื่อเสนอชื่อเป็น ส.ว.ให้นำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบารมีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ส.ว.จำนวน  250 คน  ตามพระราชอัธยาศัย เพื่อความเป็นกลางในการทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี   ทั้งนี้ทางกลุ่มจะนำแนวคิดรัฐบาลสามัคคีสร้างชาติไปหารือร่วมกับ 20 พรรคเมืองต่อไป
ขณะเดียวกันกลุ่มดังกล่าว ยังเสนอสูตรวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้การเมืองพ้นจาการติดล๊อค เนื่องจากสูตรวิธีการคำนวณที่ออกมาก่อนหน้านี้ ได้ ส.ส.ไม่ครบ และการคำนวณที่ไม่ลงตัว  เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 137 คน  ซึ่งมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงมีถึง  26 คน   ดังนั้นการใช้สูตรในปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ เพราะไม่เป็นธรรม  กลุ่มจึงขอเสนอสูตรการคำนวณ โดยตัดคะแนนของพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวนกว่า  7.9 ล้านคะแนนออกไป  ก็จะเหลือคะแนน 27 ล้าน    และไม่นำ ส.ส.เขต จำนวน 137 มาร่วมคำนวณ  ดังนั้นตัวเลขที่จะต้องนำมาใช้คำนวณจริง  คือ คะแนน  27,612,017 หารด้วย  363  จะเท่ากับคะแนนเฉลี่ย  76,066 คะแนน  จากนั้นนำคะแนนของแต่ละพรรคมาหารด้วยค่าเฉลี่ยใหม่ 76,066 ก็ได้จำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค  ซึ่งจะมีพรรคที่ได้ ส.ส.พึงมีตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป 15 พรรค  ได้ ส.ส.478 คน  จะเหลือเศษ 22 คน  จึงให้ไปจัดสรรให้กับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.พึงมีน้อยกว่า 1 คน  นับตั้งแต่พรรคในลำดับที่ 16 ถึง 37  ซึ่งจะเป็นการรับรองว่าทุกคะแนนเสียงจะไม่ตกน้ำ  และจะได้ ส.ส.ครบ 500 คน  จำนวน 37 พรรค  และสูตรนี้ก็ยังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“บิ๊กตู่”ปัด ค่าโง่โฮปเวลล์ไม่เกี่ยวตนเอง ให้ไปด่ารัฐบาลต้นเหตุ


“บิ๊กตู่”ปัด ค่าโง่โฮปเวลล์ไม่เกี่ยวตนเอง ให้ไปด่ารัฐบาลต้นเหตุ




ปัดค่าโง่โฮปเวลล์ไม่เกี่ยวตนเอง ให้ไปด่ารัฐบาลต้นเหตุ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 เมษายน ที่โรงแรมอินโดจีน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช. ) ให้สัมภาษณ์สื่อมวชชน ภายหลังเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันนายกรัฐมนตรีกัมพูชา


เมื่อถามถึงกรณีศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้รัฐคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญา รวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมถึงค่าธรรมเนียมศาล ภายใน 180 วัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดี๋ยวรอฟังคำพิพากษาก่อน ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง และเขายังเจรจากันอยู่ โครงการนี้ใครทำ และรัฐบาลไหนแก้ รัฐบาลนี้ต้องมาแก้ไง หลายเรื่องแล้วที่รัฐบาลแก้ไป ทั้งใช้มาตรา 44 เป็นการแก้ปัญที่เกิดขึ้นมาแล้ว และแก้ไม่ได้ เข้าใจหรือยัง ถ้าบอกว่าไม่ต้องแก้ ให้ปล่อยอย่างนี้ ก็จะโดนเขาฟ้องมากขึ้นไปเรื่อยๆ เอาหรือไม่ รัฐบาลนี้แก้ยังโดนด่าเลย ไม่ใช่รัฐบาลนี้ไม่แก้ ต้องไปด่าคนไม่แก้สิ

ปัดวิ่งเต้น-ใช้เส้นสาย! 'บิ๊กติ๊ก'ยันทำตามขั้นตอน ชนะประมูลสร้างอาคาร'ทภ.3'


"บิ๊กติ๊ก"ลั่น!ตนเป็นทหารเก่า ลูกชายจะทำอะไรยึดระเบียบ-ความถูกต้อง แจงชนะประมูลสร้างอาคารทภ.3ไม่ได้วิ่งเต้น-ใช้เส้นสาย ยันทำตามขั้นตอน

22 เม.ย.62 พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่บุตรชายชนะการประมูลการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 14 จ.ตาก ของกองทัพภาคที่ 3 จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า อยากให้สื่อมวลชนช่วยไปดูข้อเท็จจริงว่าบุตรชายของตนได้ทำตามขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ ในฐานะที่ตนเป็นทหารเก่า เขาจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องยึดความถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบตามที่หน่วยงานต่างๆ กำหนดไว้ไม่ได้ไปวิ่งเต้นหรือใช้เส้นสาย หรือการไปประมูลใช้ชื่อของตนหรือของคนอื่น ซึ่งสื่อมวลชนนำไปลงกันเองทั้งนั้น จนทำให้คนเข้าใจผิด

ทั้งนี้ พล.อ.ปรีชา เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก่อสร้างของบุตรชายคนโตก็เคยชนะการประมูลการก่อสร้างในโครงการสำคัญของกองทัพภาคที่ 3 และของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่ง

โครงการโฮปเวลล์

โครงการโฮปเวลล์ หรือ โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (อังกฤษBangkok Elevated Road and Train System - BERTS) เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง ของนายกอร์ดอน วู
โครงการก่อสร้างประกอบด้วย โครงสร้างยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ (Grade Crossing) เพื่อลดปัญหาการให้รถยนต์ต้องหยุดรอรถไฟ ก่อสร้างคร่อมทางรถไฟที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระยะทางทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท และให้ผลตอบแทนรายปี 30 ปี รวม 53,810 ล้านบาท โดยโฮปเวลล์จะได้รับสิทธิสร้างถนนยกระดับ เรียกเก็บค่าผ่านทาง คู่ขนานกับทางรถไฟยกระดับ และได้รับสัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับด้วย และสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์สองข้างทาง คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ 
โครงการโฮปเวลล์เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยผู้รับสัมปทานจะมีรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าผ่านทาง และรายได้จากอสังหาริมทรัพย์ตลอดเส้นทาง ผลการประมูล บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิงส์ ของนายกอร์ดอน วู เป็นผู้ชนะเหนือคู่แข่งคือ บริษัทลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากแคนาดา มีการลงนามในสัญญาโดยนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคกิจสังคม กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 [2] อายุของสัมปทาน 30 ปี มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 – 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ในระยะแรกใช้ชื่อโครงการว่า Railways Mass Transit (Community Train) and Urban Free System (RAMTUFS)
แผนงานการก่อสร้าง แบ่งเป็น 5 ระยะ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร ประกอบด้วย [3]
การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาในการส่งมอบพื้นที่บริเวณริมทางรถไฟ ประกอบกับเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร เหมือนในช่วงแรกของรัฐบาลชาติชาย ทำให้แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง ปัญหาเรื่องจุดตัดกับโครงการถนนยกระดับวิภาวดีรังสิต (ดอนเมืองโทลล์เวย์) และการก่อสร้างล่าช้าจนอัตราคืบหน้าของงานไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับรัฐบาล
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เข้ามาตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมดที่มีเงื่อนไขการผูกขาด โครงการโฮปเวลล์ ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ถูกตรวจสอบโดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และได้ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมกับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน และจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานคร ขึ้นมาดำเนินการแทน เมื่อ พ.ศ. 2535
ในรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยที่ 1 โครงการโฮปเวลล์ได้รับการผลักดันต่อโดยพันเอกวินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ยังประสบปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ ปัญหาเรื่องเงินทุน แหล่งเงินกู้ หลักทรัพย์ค้ำประกันสัญญา และปัญหาเรื่องแบบก่อสร้าง ระยะห่างระหว่างรางรถไฟ กับไหล่ทางมีน้อยเกินไปเพราะข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยสากล[ต้องการอ้างอิง]
อย่างไรก็ตามประเด็นหลัก ที่โครงการไม่สามารถถูกดำเนินการไปต่อได้ เนื่องมาจากการที่ไม่มีการระบุไว้ในสัญญาว่าโครงการจะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด เป็นผลให้บริษัทโฮปเวลล์ มีสิทธิ์อันชอบทำที่จะไม่ทำโครงการให้แล้วเสร็จ
ต่อมาในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2540 [4]
โครงการการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์ สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังดำเนินการก่อสร้างเป็นเวลา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13.77 % ขณะที่แผนงานกำหนดว่าควรจะมีความคืบหน้า 89.75% กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2541 โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วย ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยถือว่าโครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วมาพัฒนาต่อ จากผลการศึกษาสรุปว่าจะนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต
บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
คณะอนุญาโตตุลาการประกอบด้วย นายสมศักดิ์ บุญทอง รองอัยการสูงสุด ในฐานะตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย, รองศาสตราจารย์วีระพงษ์ บุญโญภาส อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนจากโฮปเวลล์ฯ และนายถวิล อินทรักษา อดีตผู้พิพากษา เป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการ [5] ได้วินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย คืนเงินชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ให้กับบริษัท [6]
โดยในปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของ โครงการโฮปเวลล์ ที่ถูกทิ้งร้างมาหลายปี เพื่อใช้ในการสร้างทางวิ่งของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายท่าอากาศยานดอนเมือง และในส่วนที่ทรุดโทรมหรือผุพังก็จะดำเนินการตัดทิ้ง เพื่อหล่อตอม่อใหม่ให้กับทางวิ่งของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม

ด่วน!! สั่ง ‘รฟท.’ จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้านคดีโฮปเวลล์


ด่วน!! สั่ง ‘รฟท.’ จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้านคดีโฮปเวลล์


“ศาลปกครองสูงสุด” สั่ง “รฟท.” ปฏิบัติตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ จ่ายคืนเงิน 12,000 ล้านบาทให้บริษัทโฮปเวลล์
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษา ศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้องมีผลให้กระทรวงคมนาคม โดยการ รถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้อง ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551

โดย รฟท. ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาทที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ

ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

รัฐเสียค่าโง่'โฮปเวลล์'1.2หมื่นล้าน!ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ

รัฐเสียค่าโง่'โฮปเวลล์'1.2หมื่นล้าน!ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ


2 เม.ย.62 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ศาลปกครองสูงสุด พิพากษากลับคำพิพากษา ศาลปกครองชั้นต้น ให้บังคับคดีโฮปเวลล์ ตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่ายค่าโง่  รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
///


///
คดีคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง เนื่องจากศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว ระยะเวลาของการเสนอข้อพิพาทจะครบกำหนดห้าปี คือ ในวันที่ 30 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเกินกว่ากำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่อระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเป็นเรื่องสำคัญ ถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ดังนั้น ศาลจึงเห็นว่าในกรณีนี้ คณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ 
การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทดังกล่าวไว้พิจารณาและต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 และการที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นข้อเรียกร้องแย้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังกล่าว เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการรับข้อเรียกร้องแย้งของผู้ร้องทั้งสองไว้พิจารณา และต่อมามีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด