PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

สั่งเลิก กม.ขอทาน หลังใช้มากว่า 74 ปี - “วณิพก” ต้องขอท้องถิ่นแสดง

สั่งยกเลิก พ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ. 2484 หลังใช้มากว่า 74 ปี หวังเพื่อลดอัตราขอทานในประเทศไทย เน้นฟื้นฟูให้คนมีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ หวังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งกรรมการคุมฯ รมว.พม. นั่งประธานฯ เด็ดขาดห้ามมีขอทานทุกกรณี-ห้ามมอบทรัพย์สินให้-ห้ามกระการกระทำได้ให้ผู้อื่นเกิดความสงสารโดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทน-ไม่ให้มีการแสดงในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามผู้ฟัง ระบุ “กรณีวณิพก” ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพื่อขออนุญาตก่อนกำหนดพื้นที่ในการแสดง

                    
       วันนี้ (20 เม.ย.58) ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการแก้ไขจัดระเบียบขอทาน ยกเลิก พ.ร.บ.ขอทาน พ.ศ. 2484 ก่อนส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
       
       ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน พร้อมการระบุลักษณะผู้ที่เป็นขอทาน เช่น การกระทำที่ให้ผู้อื่นมอบทรัพย์สินให้โดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด การกระทำได้ให้ผู้อื่นเกิดความสงสารโดยไม่ได้มีการทำงานตอบแทนหรือด้วยทรัพย์สินใด รวมถึงไม่ให้มีการแสดงในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามผู้ฟังสมัครใจเป็นการขอทาน แต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน ซึ่งการเล่นดนตรีในที่สาธารณะต้องมีการขออนุญาตก่อน และกฎกระทรวงต้องมีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงด้วย
       
       นอกจากนี้ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ใช้บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริม กระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นขอทานหรือนำบุคคลอื่นเป็นประโยชน์ต่อการขอทานของตนด้วย
       
       อย่างไรก็ตาม พม.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการขอทานที่เป็นคนต่างด้าวให้ส่งกลับประเทศ ส่วนขอทานที่เป็นคนไทยให้พิจารณาดำเนินการฝึกอบรมและฝึกอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองต่อไปได้
       
       รายงานระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้หวังเพื่อลดอัตราคนขอทานในประเทศไทย โดยเน้นให้คนขอทานมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       
       ทั้งนี้ ให้ พม.รับไปพิจารณาศึกษาบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือบุคคลผู้ที่ทำการขอทานเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วยซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีทางเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรือผู้ซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้พ้นสภาพจากการเป็นคนขอทาน และดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับมาดำรงชีพในสังคมได้ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน
       
       ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้
       
       “1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการขอทานพุทธศักราช 2484
       
       2. กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมการขอทาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่กำหนด และให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการขอคณะกรรมการและให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
       
       3. กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดทำการขอทาน และกำหนดให้การกระทำดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
       
       - การขอทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยวาจา ข้อความ หรือแสดงกิริยาอาการใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ ทั้งนี้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใด หรือด้วยทรัพย์สินใดแต่ไม่รวมถึงการขอกันญาติมิตร หรือการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร
       
       - การกระทำใดเพื่อให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและมอบทรัพย์สินให้ โดยมิได้มีการตอบแทนด้วยการทำงานอย่างใดหรือด้วยทรัพย์สินใด
       
       4. กำหนดให้การเล่นดนตรีหรือการแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยขอรับทรัพย์สินตามแต่ผู้ชมหรือผู้ฟังจะสมัครใจให้ มิให้ถือว่าเป็นการขอทานแต่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
       
       5. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งตัวผู้ที่ทำการขอทานเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนวิกลจริต คนพิการหรือทุพพลภาพ ผู้เจ็บป่วยซึ่งไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนไม่มีญาติมิตรอุปการะเลี้ยงดูและไม่มีการเลี้ยงชีพอย่างอื่น หรือผู้ซึ่งอยู่ในสภาวะยากลำบากไปรับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์และให้พ้นความผิด
       
       6. กำหนดให้สถานสงเคราะห์พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะกับผู้ที่ทำการขอทานซึ่งเป็นบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะบังคับอยู่แล้ว เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร เพื่อประโยชน์ของผู้ทำการขอทาน สถานสงเคราะห์จะไม่ดำเนินการตามกฎหมายและรับตัวผู้ที่ทำการขอทานนั้นไว้ในความดูแลต่อไปก็ได้
       
       7. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำการขอทาน ผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์ซึ่งไม่ไปหรือหลบจากสถานสงเคราะห์ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ที่ถูกส่งตัวไปยังสถานสงเคราะห์หรือผู้ที่อยู่สถานสงเคราะห์ให้หลบหนี และผู้ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้อื่นขอทาน หรือนำบุคคลอื่นมาใช้ประโยชน์ในการขอทานของตน
       
       8. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่เล่นดนตรีหรือแสดงความสามารถอื่นใดในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ที่เล่นดนตรีหรือแสดงความสามารถในที่สาธารณะซึ่งได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด และผู้ซึ่งไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด”

เปลว สีเงิน "ทางเลือก-ทางรอด" ยิ่งลักษณ์

เปลว สีเงิน "ทางเลือก-ทางรอด" ยิ่งลักษณ์

มัน "ร้อนอากาศ" หรือผม "ร้อนรุ่มใจ" ไปเองก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเมื่อวาน (๑๙ เม.ย.๕๘) ต้องจุดเทียน "ระเบิดน้ำ" ลงไปแช่ใต้บาดาลคุยกับท่าน
มันร้อนได้-ร้อนดี ขนาดอยู่ใต้บาดาล น้ำมันพรายงี้...ไหลจ๊อกโครม..จ๊อกโครม โดยไม่ต้องใช้เทียนลน!
เขาว่าร้อนสุดในรอบร้อยปี เผอิญผมขาดอีกนิดหน่อยจึงจะครบร้อย อีกทั้งคนพูดอายุก็ยังไม่ถึงร้อย
จึงไม่อยากจะเชื่อ!
อีกอย่างหนึ่ง ผมคะเนว่า จะต้องมีร้อนกว่าเมื่อวานอีกแน่ และจะไม่ร้อนชนิดสูญเปล่า มีความน่าจะเป็นว่า ทั้งลมพายุ ทั้งไฟ ทั้งฝน เผลอๆ ธรณีด้วย จะโยกเสาเรือน
ไม่ใช่โหราว่า การบดขยี้ของมวลร้อน-มวลเย็นเบื้องบน ในขณะเบื้องล่างที่หลอมเหลวก็เคี่ยวจนคุคลั่ง เพียงแต่เรามองไม่เห็น
เมื่อทุกอย่างถึงพร้อม "ยมทูตใต้พิภพ" จะปรากฏ ไม่มีอะไรแปลก ทุกอย่างเป็นไปตามวัฏฏะของมัน ขณะนี้เข้าสู่โหมดของคำว่า
"ทำดี-ต้องดี, ทำชั่ว-ต้องชั่ว" แล้ว!
เมื่อวานเห็นฮือฮากันเรื่อง ป.ป.ช.สั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราว "นายธาริต เพ็งดิษฐ์" อดีตอธิบดี DSI พร้อมภรรยา "นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์"
คนจำนวนมากสะใจ แต่สำหรับผมไม่มีอะไรต้องสะหรือไม่สะ เพราะเชื่อมานานแล้ว ไม่ใช่เชื่อนายธาริตนะ
แต่เชื่อว่า....
"ยัง กัมมัง กะริสสันติ กัลยาณังวา ปาปะกังวา ตัสสะทายาทา ภะวัสสันติ"
"ใครทำกรรมสิ่งใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น"
ฉะนั้น ข้าวของทองเงินต่างๆ ที่ ป.ป.ช.อายัดไว้นั้น ก็โปรดเข้าใจกันให้ตรงว่า เพียง "อายัด" ยังไม่ได้ยึดเข้าหลวง
อายัดเพื่อให้เอาหลักฐานมาเคลียร์!
ป.ป.ช.ให้เวลา ๓๐ วัน ในการชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน รวมทุกรายการทั้งของผัว-ของเมีย ดูคร่าวๆ ตามที่ ป.ป.ช.แถลง ก็ไม่น่าเกิน ๑๐๐ ล้าน!
ไปหาอ่านรายละเอียดจากข่าวละกัน ผมมันคนแพ้ตัวเลข ขี้เกียจแจกแจง การอายัดนี้ ไม่ได้อายัดในความหมายว่านายธาริตส่อทุจริตคอร์รัปชัน
เปล่าทุจริต......!
เพียงแต่ ป.ป.ช.สงสัยในความร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น เมื่อสงสัย ก็ให้นายธาริตกับภรรยานำหลักฐานมาเคลียร์ในส่วนที่อายัดไว้
เคลียร์ว่า สมบัติเหล่านั้นได้มาโดยสุจริต มีที่มา-ที่ไป จะด้วยสองคนตายายเก็บออมจากเงินเดือน หรือจะด้วยขยัน ใช้เวลาว่างปลูกเผือก-ปลูกมันขาย สะสมวันละบาท-สองบาท ได้เกือบร้อยล้าน (เท่าที่ปรากฏ)
นั่นก็เคลียร์ไป.....

เคลียร์ได้ก็จบ เอาสมบัติคืนไป.....!

ถ้าเคลียร์ไม่ได้ หรือแค่ได้เคลียร์ แต่ ป.ป.ช.ไม่เชื่อในหลักฐานที่เคลียร์ ถ้าไปถึงขั้นชี้มูลว่ามีความผิด ก็ต้องเป็นไปตามกติกา
คือ "พักการปฏิบัติหน้าที่" จนกว่าคดีสิ้นสุด อย่างที่ยิ่งลักษณ์โดนมาแล้ว ความจริงสำหรับนายธาริต ทุกวันนี้ไม่ถูกพักก็เหมือนได้พักอยู่แล้ว
ก็มาฟังทางนายธาริตบ้าง เดี๋ยวจะว่า "ฟังความข้างเดียว" มาพูด ไม่เป็นธรรมกับเขา เมื่อวานเขาแจกแจงเรื่องให้นักข่าวฟังว่า
"............ทราบเรื่องมานานแล้ว ได้รับคำสั่ง ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ ๑๖ มีนา ก่อนที่ ป.ป.ช.จะแถลงในวันนี้ ในจำนวนทรัพย์สินที่อายัด แบ่งเป็นของผม ๑.๗ ล้าน ของภรรยา ๓๙.๒ ล้านบาท
หลังได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช.ให้ชี้แจงภายใน ๓๐ วัน เบื้องต้น ผมและภรรยาได้ขอเลื่อนการชี้แจงออกไปอีก ๓๐ วัน ก็จะครบกำหนดในวันที่ ๒๐ เมษานี้
ผมตั้งข้อสังเกตว่า ในปี ๒๕๕๒ ครั้งที่ผมได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ผมและภรรยาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้กับ ป.ป.ช. มีทรัพย์มูลค่า ๓๗.๓ ล้านบาท ผ่านไป ๕ ปีมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ ล้านบาท จึงไม่น่าเป็นการร่ำรวยผิดปกติ
ส่วนกรณีที่ถูกร้องให้ตรวจสอบทรัพย์สิน เพราะผมตกเป็นเป้าหมายถูกดำเนินการจากบทบาทอธิบดีดีเอสไอ ที่เข้าไปรับผิดชอบคดีสำคัญหลายคดี ทำให้ถูกฟ้องมากถึง ๓๐ คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว ๑๙ คดี"
เอ้า...ดูกันต่อไป วันนี้ก็ ๒๐ เมษา ครบกำหนดชี้แจงป.ป.ช.แล้ว คอยฟังทาง ป.ป.ช.ก็แล้วกันว่าจะมีคำสั่งอะไรออกมา
แต่ขอบอกไว้คำ....
ก่อนฟ้าผ่า มักนำร่องด้วยฟ้าแลบแปล๊บๆ อย่างนี้แหละท่านธาริต หมองูตายเพราะงู ฉันใด ผู้ช่ำชองกฎหมาย ก็มักตายด้วยกฎหมาย ฉันนั้น
ตอนนี้ เกือบทุกเรื่อง "ขมวดปม" เข้าทุกที ร่างรัฐธรรมนูญ "ร่างแรก" ก็วันนี้ (๒๐-๒๓ เม.ย.) สปช.จะเริ่มถกกัน ใครสนใจก็เร่ไปวงนี้
ส่วน "วงข้าว-วงคุก" เดือนหน้า "เดือนพฤษภา-อาถรรพณ์" ลืมได้ แต่พลาดไม่ได้
อังคารที่ ๑๙ พฤษภาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง "นัดพิจารณาคดีครั้งแรก" หลังจากประทับรับฟ้องคดี "อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
ละเลยไม่ดำเนินการยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวทำให้รัฐเสียหายกว่า ๖ แสนล้านบาท
นัดแรก ๑๙ พฤษภา "ยิ่งลักษณ์ต้องไปขึ้นศาล"!
ทำไมต้องไป...?
นางเอกยังไม่ต้องออกฉากไม่ได้หรือ "นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล" อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน บอกว่า
"วันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องเดินทางมาศาล เพราะเป็นข้อกำหนดของการพิจารณา ซึ่งจะมีการบรรยายฟ้องของฝ่ายโจทก์ และเปิดให้ฝ่ายจำเลยโต้แย้ง
แต่หากอดีตนายกฯ ไม่เดินทางมา ศาลก็จะพิจารณาออกหมายจับเพื่อให้นำตัวจำเลยมาศาล"
ประเด็นยิ่งลักษณ์จะยอมเข้าสู่กระบวนการศาลจนถึงที่สุด ให้เป็นไปตามที่เคยอ่านโพยออกโทรทัศน์ว่า "ยอมตายคาสนามประชาธิปไตย" หรือจะหอบผ้า-หอบผ่อน "หนีศาล" เจริญตามรอยพี่ชาย?
ได้ยินตลาดเขาต่อ-รองกันวุ่นไปหมด!
อันที่จริง เธอมีหลายทางให้เลือก บนฐานประมาณการด้านเวลาว่า ศาลอาจใช้เวลา ๗-๙ เดือนในการพิจารณาก่อนตัดสิน
จะเห็นว่า กรอบเวลาตัดสินคดีก็ตกปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ไล่เลี่ยกับเวลาคลอดรัฐธรรมนูญ-คลอดกำหนดวันเลือกตั้ง
ฉะนั้น ยิ่งลักษณ์มี ๗ ทางให้เลือก
๑.หนีก่อนประกัน
๒.ประกันก่อน-หนีทีหลัง
๓.รอดู "เลือกตั้ง-ตัดสิน" ไหนก่อน
๔.หวังมี "อำนาจซ้อนอำนาจ"
๕.หวัง "อำนาจนอก" เข้ามาช่วย
๖."เผาไปเลยพี่น้อง ภาค ๒" และ
๗.อยู่เป็น "นายกฯ หญิงคุกคนแรก"
ท่านว่าตัวยิ่งลักษณ์เองก็ดี คณะญาติ-คณะพรรคก็ดี จะตัดสินใจเลือกข้อไหน?
ยิ่งยอดฉัตรที่เจ้าขรัวนั่นใช้เดรัจฉานวิชาสลักชื่อ "เยาวภา-ยิ่งลักษณ์-สมชาย" หักงอลงมา ส่งสัญญาณดวงกุดจุ๊ดจู๋
ป่านนี้ แม่นางคงเอ๊ะเอ๋อเรอเปรี้ยว ยิ่งเวลากระชั้นเข้ามา จะเลือกทางไหน มันให้วุ่นวะ-วุ่นวายใจไปหมด!
คนที่ไม่เคยมี "คุก" เป็นเดิมพัน ย่อมไม่รู้หรอกว่าในสถานการณ์เช่นนี้มันกดดันขนาดไหน?
นอกจาก ๑๙ พฤษภา วันของยิ่งลักษณ์แล้ว...........
ถัดไปอีกเดือน "๒๙ มิถุนา" ก็จะเป็นวัน "บุญทรง เตริยาภิรมย์" กับพวก รวม ๒๑ คน ในฐานะผู้ต้องหาคดีทุจริตและฮั้วประมูลโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ!
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเช่นกัน ซึ่งนายบุญทรงกับแก๊ง "ต้องไปศาล"
ด้วยเหตุผลเดียวกับที่ "ยิ่งลักษณ์ต้องไปศาล" ในวันที่ ๑๙ พ.ค.นั่นแหละ!
เฮ้อ...วันนี้ "คุก" ล้วนๆ เลยนะ!

จดหมายเปิดผนึกถึง “พี่” ขรรค์ชัย บุนปาน “พี่” ปล่อยให้มี “คอลัมน์” หน้า 3 ไว้ทำไม.

จดหมายเปิดผนึกถึง “พี่” ขรรค์ชัย บุนปาน
“พี่” ปล่อยให้มี “คอลัมน์” หน้า 3 ไว้ทำไม..
ปล่อยให้มันทำลายเกียรติภูมิมติชน หรือ !
ผมคิดอยู่หลายตลบว่าควรจะเขียนบทความนี้ในลักษณะใด ลักษณะแรกเขียนแบบคนไร้การศึกษา ด่ากราดคนเขียน “คอลัมน์” ในหน้า 3 ไปจนถึงผู้บริหารที่ปล่อย “คอลัมน์” นี้ไว้
ลักษณะที่สองเขียนแบบผู้ดีที่ตักเตือน คนเขียน “คอลัมน์” และผู้บริหารที่ปล่อย “คอลัมน์” นี้ไว้ – แล้วผมก็ตัดสินใจใช้การเขียนในลักษณะที่สองครับ
ประการหนึ่ง ผมไม่เลวพอที่จะใช้สำนวนไพร่ใช้คำเสียดสีใส่ใคร ประการหนึ่ง ผมได้รับความเมตตาจาก “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย บุนปาน เปิดช่องให้ผม “แจ้งเกิด” ในวงการสื่อมวลชน
หากเขียนในลักษณะแรกผมก็ไม่ต่างจากคนเนรคุณ “พี่ช้าง” – ผมไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ หรือจะว่าไปมิได้จบปริญญาตรีเสียด้วยซ้ำไป
หากมิได้ “มือพี่ช้าง” เปิดประตูให้ก้าวเข้าไปสู่ หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน (ต้นแบบหนังสือพิมพ์มติชนวันนี้) เมื่อปี 2519 ผมก็คงไม่มีโอกาสโลดแล่นอยู่ในบรรณโลกกับเขาแน่
แม้การเริ่มต้นชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของผมที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายวัน จะอยู่ในบ้านหลังน้อยคือฝ่ายโฆษณา แต่ผมก็ลอบเข้าไปในบ้านใหญ่คือกองบรรณาธิการอยู่บ่อยครั้ง(ฮา)
เมื่อเป็นนักข่าวที่ประชาชาติ รายวันไม่ได้ ผมก็ไปเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย รายวัน ก่อนที่จะหวนกลับมาสู่ชายคาหนังสือประชาชาติอีกครั้ง เมื่อปรับแนวเป็น สื่อเศรษฐกิจ
สรุปคือ ผมได้กลับมาสู่ถิ่นเกิดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในคราวนี้ผมได้เป็นนักข่าวนักเขียนทำนิตยสารไลฟ์สไตล์ แถมในประชาชาติธุรกิจ ด้วยความภาคภูมิใจอย่างที่สุด ที่ได้อยู่ในค่ายที่เต็มไปด้วยคุณภาพ
ผมจำเป็นต้องย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 39 ปีที่แล้วให้ “พี่ช้าง” ขรรค์ชัย ค่อย ๆ นึกตาม จะได้นึกได้ว่า ผมเป็นใคร ทำไมจึงหาญกล้าส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “พี่” เยี่ยงนี้
พี่ช้างครับ หนังสือพิมพ์มติชน มีอายุยาวนานมาก เป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่ต่างจากสถาบันสื่อที่สร้างนักข่าวนักคิดนักเขียนกระจายไปอยู่สื่อต่าง ๆ ในขณะนี้เกือบทั้งหมด
มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลทั้งในวงการเมืองและเศรษฐกิจ ที่สามารถซึมลึกเข้าไปสู่มวลชนได้ไม่น้อยหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีที่มีลีลาเผ็ดมันและดุเดือดเลือดพล่าน
มติชนเป็นหนังสือพิมพ์ที่เคยนำเสนอข่าวที่แม่นยำ มีบทวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งเชื่อถือได้ มีบทสัมภาษณ์บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ
แต่วันนี้ “พี่ช้าง” รู้หรือไม่ว่า หนังสือพิมพ์ที่เคยเป็น “กระจกเงา” ที่ฉายภาพของสังคมได้อย่างคมชัดนั้น กำลังกลายเป็น “กระจกเงา” ที่ฉายภาพบิดเบี้ยว เหมือนสร้างภาพหลอน หลอกประชาชนไปแล้ว
ในแง่ข่าวทั่วไปผมไม่ใส่ใจเพราะจะเปลี่ยนไปตามกระแส แต่ในแง่ของบทสัมภาษณ์ในหน้า 2 ที่ “จองตัว” นักวิชาการไว้กลุ่มเดียว เพื่อแสดงความเห็นในทางการเมืองนั้น มันเหมือน “ยัดเยียด” ให้คนอ่าน
และที่ผมอยากพูดถึงก็คือ การปล่อยให้มี “คอลัมน์” ที่ไม่มีทั้งชื่อคอลัมน์ และชื่อคนเขียน เหมือนปล่อยให้คนหน้าตัวเมียแอบใช้สำนวนเสียดสีชาวบ้านนั้น – ผมคิดว่าน่าเกลียดมากครับพี่
วันนี้พี่ลองสอบถามฝ่ายจัดจำหน่ายดูเถิดว่ายอดขายของ มติชนรายวัน และมติชนสุดสัปดาห์ เป็นอย่างไร แต่เท่าที่ผมดูตามแผงหนังสือพิมพ์ที่ผมเคยภูมิใจ เหลือกองพะเนินครับพี่
ผมไม่เก่งกาจหรืออาจหาญเรียกร้องให้พี่ปรับปรุง มติชน หรอกนะครับ เพียงขอทำหน้าที่คนที่รู้คุณคนรายงานให้พี่ทราบถึงสิ่งที่มติชนเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง ด้วยความเคารพรักครับ !

'เอนก'วอนสปช.หนุนรัฐบาลผสม สร้างความ'ปรองดอง'ที่แท้จริง!!

'เอนก'วอนสปช.หนุนรัฐบาลผสม สร้างความ'ปรองดอง'ที่แท้จริง!!
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 20 เมษายน 2558 15:13:00 น.
20 เม.ย.58 ที่รัฐสภา นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการปฏิรูปและการปรองดอง ว่า การสร้างความปรองดองเริ่มจากการสร้างความเข้าใจของ 3 ฝ่าย คือ แดง เหลือง และฝ่ายที่สาม ให้เกิดความรู้รักสามัคคี นอกจากนั้น ยังได้วางกลไกต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ สร้างระบบเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสม เพราะจะใช้ระบบเดิมใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่า มีการพิจารณาจากเหตุความวุ่นวายในอดีตตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหากเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียว แล้วนำพรรคเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองเข้าร่วม และจะมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวนั้นเป็นไปได้ยากมาก ฉะนั้น จึงอยากขอให้สมาชิก สปช.สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างพรรคการเมืองและความปรองดองระหว่างสี
"ภาคใต้จะไม่เป็นของประชาธิปัตย์ ภาคเหนือและอีสานจะไม่เป็นของเพื่อไทย ทั้งหมดกรุงเทพฯ ไม่เป็นของประชาธิปัตย์ เกือบหมด ระบบนี้จะสร้างความปรองดองระหว่างกัน นานเหลือเกินที่กลายเป็นมายาคติว่าแต่ละภาคผูกขาดอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ระบบผสมจะทำให้ได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้น" นายเอนก กล่าว
นอกจากนั้น จะเกิดความปรองดองระหว่างตัวแทนของประชาชนในการเลือก ส.ว.เพราะจะมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากตัวแทนวิชาชีพ อดีตข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร กล่าวคือจะได้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม เข้าร่วมการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา เพราะ ส.ว.สามารถเสนอกฎหมายได้ด้วย อีกหนึ่งประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจของประชาชนมากขึ้น ประชาชนไม่ใช่เจ้าของประชาธิปไตยเพียง 4 นาที ที่ให้อำนาจนักการเมือง 4 ปี อีกต่อไป แต่ประชาชนจะมีอำนาจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านเวทีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และการลงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Impeachment List)
ฉะนั้น การให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น จะเป็นการปรองดองระหว่างประชาชนและรัฐบาลที่มาจากการเลือก เพราะในอดีตประชาชนสามารแสดงบทบาทได้ทางเดียวคือการเดินสู่ท้องถนน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดการปรองดองในอีกมติหนึ่ง
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมเสริมสร้างการปรองดองแห่งชาติ เพื่อดูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และเสนอกฤษฎีกาอภัยโทษ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับทุกคนให้เห็นถึงความแตกต่าง ส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถพูดว่าประเทศไทยเกิดสันติสุขได้โดยฝ่ายเดียว ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันให้ข้อคิดเห็น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นเอาไว้ การไม่บัญญัติรายละเอียดเพื่อเป็นการเปิดช่องให้ สปช.ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอวิธีการในส่วนดังกล่าว
"ประเด็นท้ายสุดการปฏิรูปคือการปรองดอง นานเหลือเกินที่เรามีความขัดแย้ง ระหว่างข้าราชการ ประชาชน นักการเมือง หวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะนำไปสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริง" นายเอนก กล่าว


โอเพ่นลิสต์" สิทธิประชาชนฉบับ"กมธ

หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติและบันทึกเจตนารมณ์ ถึงมาตรา 105 ซึ่งเดิมถูกร่างไว้ในมาตราที่ 107 แต่มาตรา 105 และ 106 ถูกตัดทิ้งทั้งมาตรา มาตรา 107 จึงขยับขึ้นมาอยู่ที่มาตรา 105
โดยมาตรา 105 กำหนดให้ วรรคแรก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้นโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งในที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯได้กำหนดเจตนารมณ์เพิ่มเติม เพื่อเป็นบันทึกความเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือเดิมจะเรียกว่า ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งยังคงเป็นปาร์ตี้ลิสต์ แต่ถูกกำหนดให้เป็นปาร์ตี้ลิสต์แบบโอเพ่น หรือที่เรียกว่า "แบบโอเพ่นลิสต์" ที่ให้สิทธิประชาชนจัดอันดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ ที่ประชุมได้กำหนดเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นภาคปฏิบัติ คือ กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่จัดลำดับ หรือระบุให้ผู้ใดเป็น ส.ส. ถือว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นสละสิทธิการจัดลำดับ โดยไม่ถือว่าบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย
ขณะที่ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ หนึ่งใน กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า เจตนารมณ์ของการเขียนบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 105 ซึ่งกำหนดให้สิทธิประชาชนจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ หรือแบบโอเพ่นลิสต์นั้นคือเราต้องการให้ประชาชนมีอำนาจเต็มที่ เพียงแต่เราไม่ต้องการให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพรรคการเมืองอาจจะส่งนายทุนพรรค หรือใครก็ตามที่พรรคอยากเสนอเข้ามาทำหน้าที่ก็ได้ การกำหนดบทบัญญัติลักษณะเช่นนี้เพื่อต้องการให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินและเลือกได้ว่าอยากให้ใครมีรายชื่อเป็นลำดับต้นๆ
เพราะรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนดให้มีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆนั้น ประชาชนอาจจะไม่รู้จักชื่อ ไม่เคยเห็นหน้าเลยหรือพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณสมบัติไม่ดีและไม่เหมาะสมก็ได้ แต่ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในลำดับกลางๆ อาจเป็นบุคคลที่ประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าท่า มีคุณสมบัติเหมาะสม ก็อาจจะเลือกคนนั้นก็ได้ ถ้าหากประชาชนเห็นตรงเหมือนกันหลายคน บุคคลนั้นก็สามารถมีรายชื่อขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ได้ จากนั้นก็ไล่เรียงรายชื่อไปตามคะแนนที่ได้รับจากประชาชน ดังนั้นในเจตนารมณ์จึงต้องบอกให้ชัดเจนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าคูหามีสิทธิที่จะเลือกคนที่รักและชอบในบัญชีรายชื่อแต่ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายนั้นไม่ได้เลือก ถือว่าเป็นการสละสิทธิการเลือกตรงจุดนี้ไป ถ้าไม่ใส่รายชื่อคนที่รักก็หมายความว่าจะเป็นบุคคลใดก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะระบุอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการไม่ได้ระบุรายชื่อลงไปนั้นจะไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย
ถ้าไม่ใส่รายชื่อถือว่ารู้สึกชอบกับรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำมา แต่ถ้ารู้สึกชื่นชอบกับสิ่งที่พรรคจัดทำมาก็สามารถใส่ลำดับที่หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่พรรคจัดทำมาเป็นลำดับที่หนึ่งก็ได้ถือเป็นการรักษาสถานะเดิมของพรรคการเมืองนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการยืนยันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายนั้นชื่นชอบกับรายชื่อที่พรรคได้จัดทำมาแล้ว วิธีการแบบนี้เป็นการเติมเต็มสิทธิให้ประชาชน แต่ถ้าไม่ได้เขียนหรือระบุสิ่งใดก็ไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย และไม่ได้เป็นการยืนยันว่าชอบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจัดทำมาด้วย แต่เป็นเพียงการสละสิทธิไม่เลือกสิ่งใดเลยเท่านั้นเอง
ด้าน นายปกรณ์ ปรียากร อีกหนึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า มาตราดังกล่าวนี้หมายความว่าเวลาที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกตั้งโดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อสามารถจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ชื่นชอบได้ด้วยว่าอยากจะให้ใครได้เป็นส.ส. ซึ่งหลักการนี้เป็นการกำหนดความชัดเจนในการให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเขียนแบบเดิมก็เหมือนว่าเป็นการให้อำนาจกับพรรคการเมืองมากจนเกินไป โดยพรรคการเมืองนั้นจะสามารถส่งใครเข้ามาเป็น ส.ส.ก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเลย เป็นการปิดกั้นไม่ให้ได้เลือกคนในบัญชีรายชื่อเลย รวมทั้งอาจมีการสอดไส้จนทำให้ได้ผู้ที่มีอายุน้อย ขาดประสบการณ์ ภูมิหลังเป็นอย่างไรประชาชนไม่มีทางทราบได้
สรุปว่า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น ในบัตรเลือกตั้งจะมีพรรคการเมืองให้เลือกตามปกติ แต่จะมีการเพิ่มเติมบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนด โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกใส่ตัวเลขลำดับของบุคคลที่ตัวเองต้องการลงในบัตรเลือกตั้งได้ แต่หากไม่ประสงค์จะระบุตัวบุคคล บัตรนั้นก็ไม่ได้ถือเป็นบัตรเสียแต่อย่างใด


เหตุที่มิตรของสหรัฐฯน้อยลง : นาโต้บอกว่า "ไม่สนใจในการต่อสู้แบบแฟร์ๆ"

เหตุที่มิตรของสหรัฐฯน้อยลง : นาโต้บอกว่า "ไม่สนใจในการต่อสู้แบบแฟร์ๆ"
---------------
นับวันพฤติกรรมและการแสดงออกของสหรัฐฯที่เผยให้โลกรู้ว่าสหรัฐฯนั้นนิยมเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆมันชั่งสวนทางและขัดกันกับหลักการประชาธิปไตยที่สหรัฐฯชูธงมาโดยตลอด นอกการพยายามออกกฎหมายเอารัดเอาเปรียบพันธมิตรของตัวเองในด้านการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐฯเองเลี่ยงที่จะให้คำว่า "free trade" ในการตั้งชื่อให้กับเขตการค้าพิเศษทั้งสองแห่งที่สหรัฐฯตั้งขึ้นร่วมกับประเทศต่างๆเช่น "Trans-Pacific Partnership" (TPP) และ "Trade and Investment Partnership" (TTIP) แล้ว

ก่อนนี้เรามักจะได้ยินคำว่า "Free-Trade Area" (FTA) กันอยู่บ่อยๆ แม้ว่าในชื่อนั้นจะหมายถึงเขตการค้าที่ปลอดภาษีหรือได้รับยกเว้นภาษีบางประการ แต่ด้วยเหตุที่ว่าคำว่า "free" ก็มีความหมายไปในทาง อิสระ เสรีภาพ ปราศจากการผูกมัด หรือพันธนาการด้วย แต่กฎหมาย TPA ของสหรัฐฯที่กำลังจะออกใช้กับอียูนั้นไม่มีส่วนไหนที่เป็นการสนับสนุนเรื่องเสรีภาพและประชาธิไตยของชาติอื่นเลย ด้วยเหตุนี้กระมังพักหลังนี้สหรัฐฯจึงพยายามเลี่ยงที่จะใช้คำว่า "free trade" ในการตั้งชื่อเขตการค้าต่างๆที่ตัวเองเป็นผู้กุมบังเหียน ในขณะที่รัสเซียและจีนซึ่งเป็นอดีตคอมมิวนิสต์และเป็นคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน กลับเลือกที่จะใช้คำว่า "free trade" ในการตั้งชื่อเขตการค้าเสรีหรือเขตการค้าพิเศษแทน โลกมันช่างกลับตาลปัตรกันจริงๆ

แม้กระทั่งเรื่องการเมืองและการสู้รบกัน สหรัฐฯก็ยังไม่ชอบวิธีการที่เรียกว่า "ยุติธรรม" เลย เกี่ยวกับกรณีรัสเซียนั้น ล่าสุดผู้บัญชาการกองทัพสหรัฯประจำยุโรป (นาโต้) ได้ออกมากล่าวว่า "พวกเรา (สหรัฐฯ) ไม่สนใจในการต่อสู้ที่ยุติธรรมกับใคร เราต้องการที่จะมีชัยเหนือกว่าในทุกด้าน ผมไม่คิดว่าพวกเราหล่นมาอยู่ข้างหลัง แต่รัสเซียปิดช่องว่างในด้านศักยภาพบางอย่างไปแล้ว เราไม่ต้องการให้พวกเขา (รัสเซีย) ปิดช่องว่างดังกล่าว"

นั่นแหละนิสัยสหรัฐฯ ผู้รักการรุกรานชาติอื่นเป็นชีวิตจิตใจ แม้บางคนจะมองว่านั่นเป็นเพียงวาทกรรมในการยั่วยุรัสเซีย เพื่อทำให้รัสเซียเปิดฉากโจมตีนาโต้ก่อน จากนั้นสหรัฐฯจะได้อ้างความชอบธรรมในการถล่มรัสเซีย เมื่อดูจากคำพูดของทั้งนักการเมือง นักการทหารจากฝั่งสหรัฐฯแล้ว คำพูดเหล่านี้สื่อฯตะวันตกไม่กล้าที่จะบอกว่ามันเป็น "ความก้าวร้าว" ของฝั่งสหรัฐฯเอง แต่พอปูตินชี้ว่าสหรัฐฯและอียูอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในไมดานที่ยูเครนนั้น สื่อฯภายใต้การควบคุมของรัฐบาลตะวันตกกลับพูดว่าปูตินก้าวร้าวซะงั้น เฮ้อ… อ่านข่าวจากสื่อฯตะวันตกแล้วเซ็งทู๊กกกกกที อ่านของรัสเซียกับจีนดีฝ่า
มาฟังเฮียปูตินพูดบ้างครับ... ปูตินพูดในสารคดีเนื่องในงานครบรอบ 15ปีการเป็นประธานาธิบดีของปูติน สมัยแรกปูตินดำรงตำแหน่งปธน.ของรัสเซีย 7 May 2000 - 7 May 2008 (8ปี) ต่อจากนั้น นายกฯดิมิทรี เมดเวเดฟคนปัจจุบันก็สลับขึ้นเป็นปธน.ของรัสเซียแทน (พรรคเดียวกัน United Russia) 7 May 2008 - 7 May 2012 (4ปี) โดยที่ปูตินเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้นายกฯรัสเซียแทน หลังจากที่เมดเวเดฟอยู่ครบวาระในสมัยแรก ก็มีการแข่งขันเลือกตั้งปธน.รัสเซียอีก ปูตินได้รับคัดเลือกให้เป็นปธน.จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากทางรัสเซียและทั่วโลกก็รู้กันว่า ดิมิทรี เมดเวเดฟนั้นคือเงาของปูติน ดังนั้นทางรัสเซียก็เลยจัดฉลองการเป็นปธน.ของรัสเซียให้กับปูตินรวมเป็น 15 ปีไปซะเลย (ตามรธน.ของรัสเซียนั้นปูตินจะอยู่ในตำแหน่งปธน.สมัยแรกของรอบที่สองไปอีกจนถึงปี 2018)

ในสารคดีดังกล่าวปูตินได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับท่าทีของอียูที่มีต่อรัสเซียเพื่อให้ประชาชนชาวรัสเซียและทั่วโลกตื่นรู้กับเจตนาที่แท้จริงของตะวันตกว่า "บางครั้งผมก็ได้รับความประทับใจที่ว่าพวกเขารักเราเมื่อพวกเราต้องการความช่วยเหลือที่จะถูกส่งมาให้กับพวกเรา ในกรณีนี้ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ในกรณีนี้พวกเขาได้ส่งมันฝรั่งมาให้เรา" (แปลว่าอะไรครับ?)

ปูตินกล่าวต่ออีกว่า "โลกได้ตัดสินใจแล้วว่ารัสเซียจะยุติการดำรงอยู่ของตัวเองในรูปแบบปัจจุบัน มีเพียงคำถามเดียวเท่านั้นที่ยังคงอยู่ก็คือว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร? และผลที่จะตามมาจะเป็นอย่างไร?" (ปริศนาอีกแล้ว...)

จากทั้งหมดที่ปูตินกล่าวมานี้ อ่านแล้วก็ชวนงงสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยติดตามสถานการณ์ของรัสเซียอย่างใกล้ชิด สื่อฯของรัสเซียถอดรหัสปริศนาปูตินออกมาว่า "ตกวันตกรักรัสเซียก็ต่อเมื่อรัสเซียต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเท่านั้น" และจากตรงนี้สื่อฯรัสเซียก็กระชับให้ได้ใจความสั้นๆและเข้าใจง่ายอีกว่า "ตะวันตกชอบที่จะเห็นรัสเซียอ่อนแอ-ปูติน" ชัดมะ? บางคนอาจจะยังสงสัยอยู่ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วย? โดยปรกติแล้วการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศนั้นมักจะมาเมื่อบางประเทศประสบหายนะภัยทางธรรมชาติหรือจากภัยสงครามเท่านั้น

แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้จะบอกว่ารัสเซียกำลังเจอมหันตภัยทางธรรมชาติก็คงไม่ใช่แน่นอน ความเป็นไปได้ก็มีแต่จากภัยสงครามที่นาโต้ปรารถนานักหนานั่นเอง การที่ปูตินบอกว่าตะวันตกชอบการให้ความช่วยเหลือนั้นไม่ใช่คำชมแน่นอน แม้ว่ามันจะฟังดูดีในภายนอก แต่มันเจ็บจี๊ดดดดไปถึงทรวงเลยหละสำหรับผู้นำชาติตะวันตกทั้งหลาย เพราะการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากตะวันตกที่จะมาถึงรัสเซียได้นั้น ก็ต่อเมื่อรัสเซียตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับยูเครนตะวันออกแล้วเท่านั้น นี่ปูตินเขาให้สติประชาชนของเขาอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ยุยงให้ชาวรัสเซียเกลียดชังชาวตะวันตก แต่พูดเพื่อให้รู้ทันเลห์ของมิตรบางประเภทนั่นเอง

ลองเปรียบเทียบศิลปะในการพูดระหว่างฝั่งสหรัฐฯ (นาโต้) กับของฝั่งรัสเซีย (ปูติน) ดูสิ มันคนละชั้นกันจริงๆ เหมือนใครนะ ที่ได้รับฉายาว่า "น้ำผึ้งอาบมีโกน (?)" อ้อ… "มีดโกนอาบน้ำผึ้ง" นั่นแหละๆ คนนั้นแหละ....
The Eyes
20/04/2558
-----------


บิ๊กตู่ ไม่ปฏิเสธรายงานข่าว บิ๊กจิ๋วเอี่ยวบึ้มสมุย บอกจนท.กำลังสอบอยู่

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 เมษายน ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. โดยกล่าวถึงความคืบหน้าเหตุระเบิดที่สมุยว่า ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในอดีตซึ่งต้องพิจารณาดูก่อนว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไรคำว่าการเมืองนั้นยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการเมืองนี้หรือการเมืองไหน มันอาจจะเป็นคนการเมืองเก่าก็ได้ที่ทำให้เกิดขึ้นว่า 1.เป็นเรื่องของการเมืองเพื่อสร้างความไม่สงบให้รัฐบาลมีปัญหาหรือไม่ 2.เรื่องของอิทธิพล และ 3.เรื่องธุรกิจส่วนตัว ซื้อรถราคาถูก ซื้อรถผี ตอนนี้เราต้องให้น้ำหนักกับทุกประเด็น อย่าเพิ่งไปลงชี้ชัดว่าเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยเราก็ควรดีใจว่าเราสามารถจับกุมได้และมีการสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือกระทำจริง มีการไปนำรถจากที่นั่นที่นี่มา
http://www.matichon.co.th/online/2015/04/14295251511429525226l.jpg

"สิ่งที่พิจารณาในขณะนี้คือทำไมจึงต้องมีการวางแผนซับซ้อนขนาดนั้นในเรื่องการไปซื้อรถมีการมอบหมายให้คนไปรับรถในที่ต่างๆ มีการเปลี่ยนสีรถ ซึ่งในปกติหากมีการก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไม่ทำซับซ้อนเช่นนี้ จะเป็นแค่ไปขโมยรถมาแล้วก็ไปก่อเหตุระเบิด ดังนั้นขึงต้องไปสอบต่อเพราะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และบังเอิญว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องสังกัดพรรคการเมืองเก่า เป็นอดีตส.ส."

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีรายงานข่าวว่าเกี่ยวโยงกับอดีตนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ผมก็รู้ตามที่พวกท่านรู้" เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำว่า "ก็รู้อย่างที่ท่านรู้นั่นแหละ แต่อย่ามาบอกว่าผมพูดก็แล้วกัน" 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ามีการรายงานว่าทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐานที่ปรากฎตามสื่อใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ก็เป็นไปตามข่าวที่สื่อมวลชนได้นำเสนอไว้ ซึ่งผมก็ดูตามนั้นว่าจริงหรือเปล่า ก็มีการเช็คกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เขาก็รายงานว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่"
เมื่อถามว่ามีการรายงานหรือไม่จะเชิญตัวผู้ที่มีชื่อว่าเกี่ยวข้องมาสอบสวนข้อเท็จจริงพล.อ.ประยุทธ์กล่าวประชดว่า เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องรายงาน เมื่อเขาได้ข้อมูลแล้วเจอหลักฐานอะไรก็คงปล่อยกลับบ้านให้ไปดูแลและพักผ่อน กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมีหลักฐานว่าโยงกับการเมืองและความมั่นคงเช่นนี้จะกระทบกับโรดแมปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "อย่ามาถามผม ถ้าถามผม ผมก็บอกมาทุกครั้งแล้วว่า โรดแมปก็คือโรดแมป ก็ต้องดูว่าปัญหาต่างๆ จะทำให้โรดแมปเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ และถ้าไปต่อไม่ได้ จะทำกันอย่างไร อยากถามว่า วันนี้ประเทศต้องการปฏิรูปหรือไม่ ถ้าต้องการปฏิรูปก็จำเป็นจะต้องมีกลไกพิเศษขึ้นมาเพราะถ้าจะปล่อยให้เป็นแบบเดิม มันก็คงได้ผลแบบเดิม บางคนบอกว่า ให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 บ้าง บางคนก็บอกให้เอาปี 2550 มาใช้บ้าง ไม่ต้องไปเขียนใหม่ให้เมื่อย แต่ผมอยากถามว่าแล้วมันทำได้หรือไม่ อย่างความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ในเรื่องว่าควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ขอร้องว่าอย่านำเรื่องนี้มาปนกันและอย่านำมาทวงถามกับผมว่าจะปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ได้ เพราะผมยึดอำนาจมาแล้ว มันคนละเวลากัน ผมไม่ต้องการทำอะไรให้วุ่นวาย พยายามทำทุกอย่างให้เดินหน้าไปได้ และเท่าที่อยู่ทำงานมา 6 เดือน ทุกอย่างก็ชัดเจนแล้วอย่าบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน ไม่มีความก้าวหน้าเพราะงานที่สำเร็จแล้วก็มี อยู่ระหว่างดำเนินการก็มี เป็นแผนงานในอนาคตที่จะเริ่มต้นใหม่ก็มี มีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ไม่ใช่ว่าผมสั่งไปเรื่อย พูดไปเรื่อย เหมือนที่สื่อวิพากษ์วิจารณ์"

ตะลึง!เทสโก้สุดอ่วมขาดทุน2.4แสนล้านบ. ปิดกว่า40สาขา ผู้บริหารใหม่ลั่น"ขอกู้ชื่อคืน"

"เมโทร ยูเค"รายงานว่า เทสโก้ ห้างค้าปลีกชื่อดัง เตรียมออกแถลงการณ์ในช่วงสัปดาห์นี้ เพื่อรายงานผลประกอบการที่ขาดทุนถึง 5 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสน 4 หมื่นล้านบาท เพียงหนึ่งเดือนให้หลังประสบปัญหาที่ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าในเครือต้องปิดตัวลง 43 แห่ง

นายไคลฟ์ แบล็ก จากบริษัทโบรกเกอร์หุ้น ชอร์ แคปิตอล ระบุว่าแถลงการณ์ดังกล่าวถือเป็นการเปิดเผยตัวเลขขาดทุนที่น่าตกตะลึง สำหรับบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่รายนี้ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการฟื้นภาวะภาวะฉาวโฉ่จากคดีอื้อฉาวใหญ่ หลังยอมรับว่ามีการแจ้งกำไรเกินจริง ถึง 264 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1 หมื่น 2 พันล้านบาท

นายแบล็กยังระบุอีกว่า ภายในเวลาไม่นาน เทสโก้ได้เติบโตจากบริษัทขายของชำสัญชาติอังกฤษที่มีความแข็งแกร่งพอตัว ก้าวเข้าสู่บริษัทห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ทว่าในตอนนี้บริษัทเองจำเป็นต้องปรับสมดุลบัญชีและมุ่งแก้ไขเรื่องรายจ่ายของบริษัท ขณะที่นายเดฟ ลูอิส ผู้บริหารรายใหม่ของเทสโก ซึ่งเข้ารับตำแหน่งต่อจาก นายฟิลิป คลาร์ก ออกมาเปิดเผยว่าตนเองจะทำให้บริษัทกลับมามีชื่อเสียงในฐานะมหาอำนาจทางการค้าอีกครั้ง

ผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล ติงร่าง รธน.ใหม่ 7 ประเด็น

ผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล ติงร่าง รธน.ใหม่ 7 ประเด็น

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม
สรุปความเห็นผู้พิพากษา 3 ชั้นศาล เห็นต่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 7 ประเด็น ค้านเพิ่มสัดส่วนบุคคลภายนอกในองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษา หวั่นเปิดทางแทรกแซงศาล พร้อมเสนอคดีอาญานักการเมืองอุทธรณ์ได้ในหลักเกณฑ์เดียวกับการอุทธรณ์คดีทั่วไป แต่ต้องยื่นด้วยตัวเอง แนะเพิ่มถ้อยคำชัดเจนให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่ หนุนผู้พากษาสิ้นอายุราชการตอน 65 และให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสถึงอายุ 70
       
       ที่ห้องประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (20 เม.ย.) นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาความเห็นของผู้พิพากษาจาก 3 ชั้นศาล ประมาณ 427 คน ในประเด็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อภิปรายระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ ก่อนลงมติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่
       
       ต่อมาเวลา 14.30 น.นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงผลของที่ประชุมว่า ที่ประชุม ก.ต. และ ก.บ.ศ. ยังมีความเห็นแตกต่างจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในประเด็นหลัก 7 ประการ ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 225 ที่บัญญัติเกี่ยวกับองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่งตามวรรคหนึ่ง กำหนดให้ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาล ซึ่งแต่เดิมกำหนดสัดส่วนให้มีผู้ทรงคุณวุฒิไว้เพียง 2 คน ดังนั้น หากร่างใหม่บัญญัติไว้ดังกล่าว แล้วมีการออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนในส่วนนี้จะกระทบทำให้เกิดการแทรกแซงของ ก.ต. ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานบุคคลและกระทบต่อความอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการได้ เนื่องจากอัตราส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นอัตราส่วนที่ทำให้เปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการได้อันอาจมีผลทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซง รวมตลอดถึงให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการจนสามารถใช้อิทธิพลอันเกิดจากการแทรกแซงนั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงผลของคดีให้สนองตอบต่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และยังอาจกระทบกระเทือนต่อการอำนวยการยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกด้วย ในอดีตที่ผ่านมาสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียงสองคนซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและทำให้เกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างเพียงพอแล้ว เพราะในรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเพียง 2 คน ก็สืบเนื่องจากหลักการที่ต้องการให้มีคนนอกเข้ามารับฟังการดำเนินงานของศาลยุติธรรม ไม่ใช่เข้ามาเป็นสัดส่วนเหมือนร่างรัฐธรรมนูญใหม่
       
       นอกจากนั้น การกำหนดให้ ก.ต.ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ก็เป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจาก ก.ต. เป็นผู้ได้รับเลือกจากผู้พิพากษาหรือตุลาการ ซึ่ง ก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานบุคคลก็จะต้องอาศัยผู้ที่สั่งสมประสบการณ์และมีความต่อเนื่องในการทำงานย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ราชการมากกว่า โดยที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏว่าการดำรงตำแหน่งของ ก.ต.ได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องแต่อย่างใด ดังนั้น ที่ประชุมเสียงข้างมากจึงไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติในมาตรานี้
       
       ประเด็นที่ 2 การวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา 222 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ประกอบด้วย ประธานศาลที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิอื่นทางนิติศาสตร์อย่างน้อย 3 คนแต่ไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยให้หน่วยธุรการของศาลยุติธรรมและศาลปกครองสลับกันทำหน้าที่คราวละ 1 ปีและให้กรรมการเลือกประธานกรรมการเองนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเดิมประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งประธานศาลฎีกาถือว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้งในทางคดี แต่เข้ามาช่วยวินิจฉัยทางวิชาการที่เป็นการตีความข้อกฎหมายเพื่อชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล และมีผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น เพราะการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจตุลาการ โดยหลักควรเป็นเรื่องที่ศาลที่เกี่ยวข้องพิจารณาวินิจฉัยปัญหากันเอง ล่าสุดแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศสก็มีการแก้ไขกฎหมายให้กรรมการมีองค์ประกอบเฉพาะผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยตัดสัดส่วนของรัฐมนตรียุติธรรมให้ออกจากคณะกรรมการ ดังนั้น การที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นกรรมการนั้นจะทำให้มีคนนอกเข้ามารับทราบและล่วงรู้เกี่ยวกับสำนวนคดี จึงควรกำหนดให้องค์ประกอบคณะกรรมการมาจากผู้พิพากษาและตุลาการที่เกี่ยวข้องเป็นหลักตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในส่วนนี้ เพราะการกำหนดสัดส่วนในลักษณะดังกล่าวเสมือนเป็นการตีความเจตนารมณ์ผิด เพราะการชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาลเป็นการตรวจสอบเรื่องในสำนวน จึงไม่ควรให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง
       
       นายภัทรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 3 ร่างมาตรา 240 เกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งที่ประชุมไม่ขัดข้องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้การพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในศาลฎีกา แต่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ของสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ผู้ต้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์ได้อย่างน้อย 1 ชั้นศาล ดังนั้น ศาลยุติธรรมจึงตั้งข้อสังเกตการณ์ยื่นอุทธรณ์ว่า เดิมรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้ผู้ต้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ในประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องปรากฏว่าเป็นหลักฐานใหม่ และมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน ก็น่าจะเป็นการกำหนดที่มีข้อจำกัดเกินไป จึงเห็นควรว่าการยื่นอุทธรณ์น่าจะใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ในคดีทั่วไป คือ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยไม่ต้องถึงขนาดมีหลักฐานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ แต่ผู้ต้องคดีที่ต้องการยื่นอุทธรณ์ไม่ว่าตัวจะอยู่ในประเทศหรือหลบหนีไปต่างประเทศจะต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง
       
       ส่วนประเด็นที่ 4 มาตรา 241 ที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งตาม (1) กำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิ แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติไม่มีความชัดเจนเรื่องอำนาจในการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ว่าจะให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจดังกล่าวด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงอยากให้เพิ่มถ้อยคำให้ชัดเจนว่าให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติ นอกจากนี้ ตามมาตรา 241 วรรคสอง กำหนดให้ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดเฉพาะวิธีพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคไว้ด้วย ทำให้คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทั้งๆ ที่คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิอย่างมาก จึงควรบัญญัติให้สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งต่อศาลฎีกาได้ด้วย
       
       เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 5 เรื่องหลักประกันความอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ตามมาตรา 219 วรรคหก ที่กำหนดให้การลงโทษทางวินัยผู้พิพากษา ซึ่งเดิม ก.ต. ที่ได้รับการเลือกจากผู้พิพากษาทุกระดับชั้นจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาที่ถูกลงโทษทางวินัยได้อยู่แล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมีการกำหนดให้อุทธรณ์การลงโทษวินัยไปยังศาลฎีกาได้โดยตรงอีก ซึ่งเดิมศาลฎีกาทำหน้าที่พิพากษาคดี ดังนั้น จะทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมเสียไปตุลาการโดยองค์กรบริหารงานบุคคลของศาลต้องมีหลักประกันในการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยตรงไปยังศาลสูงสุดที่ผู้พิพากษาและตุลาการนั้นสังกัดอยู่แต่ในระบบของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการทำงานคนละหน้าที่ ถือเป็นการทำงานที่ผิดฝั่งผิดฝา ที่ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีทั่วไปมาพิจารณาโทษทางวินัย ซี่งมี ก.ต.ที่ทำหน้าที่บริหารงานยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาอยู่แล้ว
       
       ขณะที่ประเด็นที่ 6 เรื่องการกำหนดระยะเวลาของกระบวนพิจารณา ตามมาตรา 218 วรรคสอง จะกำหนดให้ศาลกำหนดระยะเวลาขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนพิจารณาของศาลเอาไว้ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยตามแนวคิดดังกล่าว แต่ขอให้มีการกำหนดระยะเวลาทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะขั้นตอนของศาลเท่านั้น จึงอยากให้ตัดคำว่าศาลออกไป โดยใช้คำว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแทน ส่วนวรรคสาม ที่กำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาต้องให้ความร่วมมือกับศาล แต่ในคดีมีผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาหลายฝ่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ คู่ความ คู่กรณี ทนายความ จึงควรบัญญัติคำเหล่านี้เพิ่มไปด้วย สำหรับตามวรรคสี่ กำหนดหลักการเรื่องการแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัยและต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ที่ประชุมเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี แต่การกำหนดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำพิพากษาและคำสั่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะนั้น ทำให้เกิดข้อกังหาว่าอะไรคือประโยชน์สาธารณะ ในที่ประชุมจึงเห็นควรให้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่จะถือว่าเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะไว้ โดยควรเพิ่มเติมข้อความในวรรคสี่ว่า “ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
       
       นายภัทรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้าย เรื่องอายุของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ตามมาตรา 226 วรรคสอง กำหนดให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แต่อาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้จนมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์นั้น ที่ประชุมเห็นพ้องด้วย แต่ต้องการให้เขียนถ้อยคำชัดเจนลงไปว่าการสิ้นสุดอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปีจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ แล้วสามารถไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสจนอายุ 70 ปีบริบูรณ์ และควรกำหนดให้ผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์สามารถสมัครใจไปเป็นผู้พิพากษาอาวุโสได้
       
       นอกจากนี้ ที่ข้อสังเกตว่าตามที่มีกระแสข่าวให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ให้ผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วย เพราะผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสามารถ ทำให้คดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกาพิจารณาเสร็จสิ้นไปด้วยความรวดเร็ว ส่วนศาลชั้นต้นก็มีการตั้งผู้พิพากษาอาวุโสเป็นหัวหน้าองค์คณะอยู่แล้ว รวมทางอธิบดีและรองอธิบดีศาลจะตรวจสอบร่างคำพิพากษาก่อนจะอ่านให้คู่ความฟัง ดังนั้น จึงควรให้มีผู้พิพากษาอาวุโสปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกชั้นศาล
       
       “เหตุผลที่ต้องประชุมวันนี้เพื่อแสดงจุดยืนของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเราพยายามยึดถือและยึดมั่นประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และศาล ดังนั้น จึงต้องแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในเรื่องใด แต่ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ต้องการให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวเมื่อถามว่า นายดิเรก ประธานศาลฎีกา มีความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ท่านประธานศาลฎีกาก็ได้อยู่ในที่ประชุมด้วย ซึ่งท่านก็ได้รับทราบมติและความเห็นของที่ประชุมต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับศาลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน โดยในบางประเด็นศาลยังมีความเห็นแตกต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ทางศาลจึงต้องมีการประชุมอย่างเร่งด่วนเพื่อแสดงจุดยืนว่ามีความเห็นด้วยหรือมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นไหนและอย่างไรบ้าง โดยหลังจากที่ประชุมได้สรุปมติความเห็นต่างนี้แล้ว ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะทำหนังสือเพื่อสรุปในประเด็นความเห็นที่แตกต่างไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
       
       เมื่อถามว่า หากศาลได้ยื่นข้อเสนอความเห็นต่างไปยัง สปช.แล้ว แต่ทาง สปช.ยืนยันตามร่างเดิม ไม่พิจารณาแก้ไขตามข้อเสนอของศาลจะดำเนินการอย่างไร นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตามหลักแล้วคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอภิปรายวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เพื่อลงมติจะรับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกหรือไม่ จึงยังสามารถดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ทัน โดยที่ประชุมของศาลได้ร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ ยึดหลักเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หากมีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไขก็ควรจะต้องแก้ไข คงไม่ปล่อยให้เวลาผ่านเลยไป
       
       เมื่อถามว่า มีทางสำนักงานศาลยุติธรรมมีความคาดหวังกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ทางสำนักงานศาลยุติธรรมคาดหวังว่าทาง สปช. จะรับฟังข้อเสนอและความเห็นที่แตกต่างของทางสำนักงานศาลฯ ที่เห็นควรจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในบางประเด็น ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิชาการและข้อกฎหมาย พร้อมทั้งชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นหากรัฐธรรมนูญมีการบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อศาลและการพิจารณาคดีของศาลอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ถ้าหากจะให้ตนเข้าชี้แจงต่อ สปช. ก็พร้อมที่จะเข้าชี้แจงในทุกประเด็น
       
       เมื่อถามว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ระบุถึงการอุทธรณ์และการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนั้นได้พูดถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยอย่างกว้างๆ ซึ่งไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมอาจจะร่างกฎหมายลูกเพื่อบัญญัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร่วมทั้งในคดีเลือกตั้งด้วย ส่วนกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภายในระยะเวลา 30 วัน
       
       เมื่อถามว่าหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรรับอุทธรณ์หรือไม่ นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น ได้บัญญัติไว้ว่าให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ ซึ่งทางศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะบัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาในการอุทธรณ์ ส่วนจะมีการตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ขึ้นมาใหม่หรือจะใช้องค์คณะเดิมนั้น ก็คงจะต้องหารือกันอีกครั้ง แต่ทางศาลเห็นว่าองค์คณะที่พิจารณาเรื่องอุทธรณ์นั้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับองค์คณะ 9 คนในการพิพากษาคดีดังกล่าว 

(ข้อมูล)ปปช.แจ้งอายัดทรัพย์"ธาริต"

(19 เมย.) ที่สำนักงาน ป.ป.ช.- นายวิชา มหาคุณ กล่าวถึงกรณีกล่าวหา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดี DSI. ร่ำรวยผิดปกติจากตำแหน่งหน้าที่ และบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่า เรื่องนี้มี นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี
.
โดยล่าสุด ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.มีมติส่งหนังสือแจ้งนายธาริต ให้มายื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมตามระบบ โดยเป็นการกำหนดให้ยื่นย้อนหลังระหว่างช่วงนั้นถึงช่วงนี้ ซึ่งเป็นรายละเอียดในหนังสือ เพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีที่นายธาริตเคยยื่นไปแล้วอย่างไร มีความผิดปกติ บกพร่องหรือไม่ และที่ประชุม ป.ป.ช.ยังได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์ชั่วคราวนายธาริตฯ ไว้เป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้แก่ เงินฝาก ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ รวมมูลค่า 40,954,720.58 บาท
.
โดยมีรายการดังต่อไปนี้
1.รายการทรัพย์สินของ นายธาริตฯ มูลค่ารวม 1,706,441.63 บาท ดังนี้
- 1.1 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 บัญชี
- 1.2 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 บัญชี
- 1.3 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 บัญชี
- 1.4 ที่ดินในอ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 2 ไร่ 38 ตารางวา
- 1.5 ทรัพย์สินในตู้นิรภัยของ ธ.ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักธุรกิจรัชดาภิเษก ตู้นิรภัยเลขที่ 047 ตามสัญญาเช่าตู้นิรภัยลงวันที่ 20 ธันวาคม 2555
.
2.รายการทรัพย์สินของ นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ มูลค่ารวม 39,248,278.95 บาท ดังนี้
- 2.1 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 บัญชี
- 2.2 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 บัญชี
- 2.3 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.ธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 4 บัญชี
- 2.4 เงินฝากในบัญชีเงินฝาก ธ.ยูโอบี จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 บัญชี
- 2.5 ที่ดิน อ.เมือง จ.ปทุมธานี จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 3 งาน 84 ตารางวา
- 2.6 ที่ดิน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 50 ตารางวา
- 2.7 บ้านเลขที่ 414 ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี จำนวน 1 หลัง
- 2.8 บ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น เลขที่ 444 และสิ่งปลูกสร้างไม่มีเลขที่ จำนวน 5 หลัง หมู่ที่ 11 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
- 2.9 รถยนต์ยี่ห้อ MERCEDES BENZ รุ่น E 250 เลขทะเบียน ญฉ 414 กรุงเทพมหานคร
- 2.10 รถยนต์ยี่ห้อ TOYOTA รุ่น ALPHARD เลขทะเบียน ฆฐ 515 กรุงเทพมหานคร
.
นอกจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้มีคำสั่งให้ นายธาริต แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ภายใน 30 วัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 79 ด้วย
.
กรณีนี้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายธาริต และพบว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าร่ำรวยผิดปกติ จึงดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หลังจากนั้นมีพฤติการณ์เชื่อว่าอาจมีการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินดังกล่าว จึงต้องออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ก่อน ทั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตในโครงการต่างๆ แต่อย่างใด


ขนลุกไปกับสัญลักษณ์ลึกลับ และการทำนายโลกปี 2015 บนปกนิตยสารระดับโลก The Economist !!

ขนลุกไปกับสัญลักษณ์ลึกลับ และการทำนายโลกปี 2015 บนปกนิตยสารระดับโลก The Economist !!

นิตยสาร ดิ อิคอนอมิสต์  (The Economist) ตีพิมพ์เล่มนิตยสารใหม่ ภายใต้ชื่อ “The World in 2015” (โลกในปี 2015) ที่มาพร้อมกับภาพปกดีไซน์สุดประหลาด อันประกอบไปด้วย “เมฆรูปเห็ด- ฉายาเรียกควันระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้ถล่มเกาะฮิโรชิม่า และนางาซากิสะเทือนโลกเมื่อยุคสงครามเย็น- หรือ กระดานเกมที่มีชื่อว่า “Panic” (ตื่นตระหนก) อันปรากฏชื่อของผู้ร่วมเล่น อย่าง “สหภาพ VS จีน” เป็นต้น  
โดยปกติ ผู้เขียนจะอุทิศตนในการเขียนบทความทั้งดุ้นให้กับการวิเคราะห์ที่มาที่ไปของ สำนักพิมพ์ แต่นี่ไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่ไหน นี่คือ ดิ อิคอนอมิสต์  และใครๆ ก็รู้ว่า นิตยสารชื่อนี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มคนชั้นสูงของโลกนี้ (the world elite)
เดอะ อิคอนอมิสต์  มีหุ้นส่วนร่วมกับ เครือข่ายครอบครัวร๊อตไชด์แห่งอังกฤษ (Rothschild family) ตระกูลร่ำรวยควบคุมการคลังโลก ผู้เป็นเจ้าของตลาดค้าทองคำลอนดอน ปล่อยและทำกำไรจากเงินกู้ในสงครามเกือบทั้งหมดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ฯลฯ และมีหัวหน้ากองบรรณาธิการคือ นาย จอห์น มิกเกิลท์เวท  ผู้ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม Bilderberg หรือ การประชุมลับประจำปี ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1954 เพื่อการปรึกษาหารือ อย่างเป็นส่วนตัวระหว่าง 120- 150 ผู้นำทางการเมือง และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม, ด้านการเงิน, ด้านวิชาการ และด้านสื่อระดับสากล อันมีจุดประสงค์ เพื่อระดมความคิดวางนโยบายให้แก่โลก โดย 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุมจะมาจาก ยุโรป และที่เหลือจะมาจาก อเมริกาเหนือ และ 1 ใน 3 จะเป็นนักการเมืองและรัฐบาล ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากด้าน อื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า ผลการประชุมของพวกเขาย่อมถูกปิดเป็นความลับ ดังนั้นจึงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า คนของนิตยสาร The Economist ย่อมรู้เห็นถึงสิ่งที่คนส่วนมากไม่รับรู้ ด้วยเหตุนี้เอง ดีไซน์แปลกๆ อันเกี่ยวข้องกับ“การทำนายโลกในปี 2015” ที่เผยอยู่บนปกนิตยสารดังกล่าวนี้ จึงค่อนข้างที่จะน่าสนใจอยู่ไม่มากก็น้อย
ปกนิตยสารที่ดูน่าขนลุกขน พองนี้ ประกอบไปด้วยภาพนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงมากมาย และ ภาพการ์ตูนที่บ่งบอกคาเร็กเตอร์ต่างๆ รวมไปถึงไอคอนที่มีชื่อเสียงต่างๆ ที่เชื่อกันว่า จะเป็นข่าวดังระดับโลกอย่างแน่นอนในปี 2015 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ภาพปกนี้ ได้รวมภาพวาดต่างๆ ที่แสดงให้เห็นอย่างสุดโต่งถึงสัญลักษณ์อันส่อความหมายบางอย่าง นัยว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในแผนการคุมโลกของพวกคนชั้นสูงเหล่านั้น และนี่คือภาพปกดังกล่าว:
ec1
เมื่อลองมองดูแวบแรก แน่นอนเราจะเห็น ภาพนักการเมืองชั้นสูงมากมาย อย่างโอบาม่า และปูติน หรือจะเป็น ภาพของไอ้มนุษย์แมงมุม จากภาพยนตร์ สไปเดอร์แมนภาคใหม่ แต่เมื่อมองอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบเห็น องค์ประกอบอื่นๆ ที่ค่อนข้างจะรกหูรกตา แถมยังมีมากเกินไปอีกด้วย เช่น:

Two-Faced Globe (ภาพโลก 2 หน้า)
ec2
ตาม ที่มองเห็นได้ คือ สายตาของใบหน้าข้างหนึ่งของโลกจะมีความเยือกเย็น และเพ่งไปทางทิศตะวันตก ขณะที่ใบหน้าอีกข้างหนึ่ง มีลักษณะหน้าตาฉุนเฉียว แสดงอาการ โกรธเป็นฟืนไฟ – หรือนี่จะเป็นสัญลักษณ์อันชี้ให้เห็นว่า จะเกิด การเผชิญหน้ากัน ระหว่าง ตะวันออก กับ ตะวันตก? กระนั้น ภาพปกนี้ก็ยังประกอบไปด้วยสัญลักษณ์อื่นๆ อีก ที่พาดพิงไปถึง “การลุกขึ้นของตะวันออก”  ทว่าสิ่งที่น่าขบคิดที่สุด เห็นจะเป็นภาพ เมฆรูปเห็ด ที่ตั้งอยู่อย่างพอดิบพอดีใต้รูปโลกหน้าโกรธ รวมไปถึงภาพ ดาวเทียมสอดแนมที่กำลังถูกปล่อยขึ้นไปสู่ชั้นอวกาศด้วย
ec3
ดาวเทียมสอดแนม กับ สงครามนิวเคลียร์

The Color of the Faces (สีของใบหน้าบุคคลต่างๆ)
เมื่อ เราลองมองดูใกล้ๆ เราจะเห็นหน้าตาของบุคคลสำคัญต่างๆของโลก ปรากฏอยู่บนภาพปกนิตยสาร เดอะ อิคอนอมิสต์ ฉบับนี้ ซึ่งภาพของบางคนจากพวกเขา ถูกกำหนดให้มีสีสัน ในขณะที่อีกบางคนจะอยู่ในรูปของภาพขาว-ดำ … ทำไมหรือ?
ec4
จาก หมู่ของผู้ที่อยู่ในรูปของภาพขาว-ดำ ได้แก่ ปูติน, เมอเคล, โอบาม่า, ฮิลารี่ คลินตัน เดวิดคาเมรอน ฯลฯ ส่วนผู้ที่อยู่ในรูปสี มี เดวิด เบลน, เด็กหนุ่มสวมหมวกแก็ปที่ถือป้ายเบนเนอร์คำว่า “สิงคโปร์” (สิงคโปร์คือ เจ้าภาพซีเกมส์ประจำปี 2015) จากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างคร่าวๆ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ที่อยู่ในรูปขาว-ดำ ก็คือสมาชิกส่วนหนึ่งจากสมาคมของกลุ่มคนชั้นสูง (ตรงนี้รวมไปถึง นักรบ ISIS ที่เป็นไปได้ว่า กำลังทำงานให้กับพวกเขา) ส่วนพวกที่อยู่ในรูปสีก็คือ “คนนอก” หรือนี่คือการมองโลกในมุมของพวกคนชั้นสูง?

Pied Piper (ไพด์ ไพเพอร์)
ec5
การ ปรากฏตัวของ ไพด์ ไพเพอร์ (Pied Piper) ตัวละครหนึ่งในนิทานปรัมปรา และในบทกลอนเก่าแก่ของเยอรมัน โดย โรเบิร์ต บราวนิง  ทำให้ธีมของปกนิตยสารฉบับนี้ดูซับซ้อนขึ้นอย่างสิ้นเชิง  ไพด์ ไพเพอร์แห่ง ฮามาลิน เป็นชายคนหนึ่งที่ใช้เครื่องดนตรีฟลุท หรือขลุ่ยวิเศษของเขา เป่าทำนอง หลอกล่อให้เด็กๆแห่งเมือง ฮามาลิน ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง และหายสาบสูญไปตลอดกาล
ec6ภาพไพด์ เพเพอ กำลังเป่าขลุ่ยวิเศษของเขา หลอกล่อเด็กๆแห่งเมือง ฮามาลิน

ว่า กันว่า ตัวละครในนิทานปรัมปราจากยุคกลางนี้ เป็นตัวแทนของ มัจจุราชที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ด้วยโรคระบาดหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ บ้างก็ว่า เป็น สัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่ออพยพผู้คนจำนวนมาก ซึ่งมันค่อนข้างจะเหมาะเจาะที่จะชี้ว่า ตัวละครนี้ กำลังฉายให้เราเห็นภาพ เยาวชนในปัจจุบัน ที่กำลังถูกหลอกล่อด้วยบทเพลงต่างๆ จากสื่อมวลชน ตามที่เราเห็นได้จากภาพปก คือจะ มีเด็กผู้ชายตัวน้อยคนหนึ่งกำลังยืนอยู่ใต้ขลุ่ยของไพด์ ไพเพอร์อย่างพอดิบพอดี

Clueless Boy (เด็กชาย ผู้ไร้เดียงสา)
ec7
ตาม ที่กล่าวไว้ ข้างใต้ภาพ ไพด์ ไพเพอร์ เราจะเห็นเด็กชายคนหนึ่ง ที่มีลักษณะหน้าตาแสดงความงงงวยเป็นอย่างมาก กำลังยืนมองดูเกม ที่ถูกเรียกว่า “Panic” หรือ ตื่นตระหนก ซึ่งบนกระดานเกมปรากฏคำว่า “Federal Reserve” หรือ สหภาพ และ “Chi” ที่น่าจะมาจาก China หรือ จีน อยู่ตรงส่วนบน ขณะที่มีคำว่า “Green light!” หรือ ไฟเขียว และ SIS ที่น่าจะมาจาก ISIS หรือไม่ก็ Crisis ที่แปลว่า วิกฤตกาล อยู่ตรงส่วนล่าง เด็กน้อยกำลังยืนดูกระดานเกมชิงไหวพริบนี้อย่างงงงวย เหมือนกับที่ มวลชนตาดำๆ มากมายกำลังมองดูสถานการณ์มากมายที่ถูกเผยแพร่จากสื่อมวลชนอย่างไร้เดียงสา และตามชื่อของเกมนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเป้าหมายของมันคือการทำให้โลกทั้งใบปั่นป่วน หรือตื่นตระหนกด้วยวิกฤตการณ์มากมาย ที่ถูกสุ่มให้เกิดขึ้นโดยผู้ที่ควบคุมเกมนี้นี่เอง- และนี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่บนปกนิตยสารที่ตระกูล ร็อตไซด์เป็นเจ้าของกิจการ

Crop-O-Dust
ec8
ข้าง หน้าของปูติน มีรูปเครื่องบินเล็กๆลำหนึ่ง ซึ่งบนลำตัวของมันมีคำเขียนว่า Crop-O-Dust ที่อ้างอิงไปถึงคอนเซป crop dusting หรือก็คือ “กรรมวิธี พ่นยายาฆ่าแมลงต่างๆบนไร่ธัญพืชด้วยเครื่องบิน” ซึ่งตามภาพเราจะเห็น เด็กผู้ชายคนหนึ่งกำลังนั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ ภายใต้ภาพเครื่องบินลำนั้นอย่างน่าพิศวง
ec9
เด็ก คนนี้กำลังนั่งกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชามโต อยู่ใต้เครื่องบิน crop-o-dust – หรือจริงๆแล้ว เขากำลังบริโภค ยาพิษที่ถูกพ่นผ่านเครื่องบินลำนั้น?

China (จีน)
ec10
หมี แพนด้าสวมใส่กางเกงสปีโด ลายธงชาติจีน ในท่าเบ่งกล้าม แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาพนี้กำลังพูดถึงบทบาทความจริงที่ว่า จีนกำลังรวบรวมอำนาจอยู่ในขณะนี้ และข้างๆของหมีแพนด้า ก็คือ นักมวยปล้ำซูโม่ ที่กำลังถือถ่านไฟฉายขนาดใหญ่ อันที่ระบุสัญลักษณ์ขั้วบวก-ลบ ชัดเจน – หรือเหล่านี้คือการเปรียบเปรยว่า ความเป็นที่นิยมของชาติมหาอำนาจกำลังจะถูกสับเปลี่ยนจาก ชาติตะวันตก มาเป็นชาติตะวันออก?

Ghost (ผี)
ec11
โผล่ มาจากทางด้านหลังขาของโอบาม่า คือ ผีตนหนึ่งกำลังอ่านแม็กกาซีน ที่มีชื่อว่า “Holiday” (วันหยุด)     – ทำไมผีตนนี้ หรือแน่นอน คือสัญลักษณ์ของคนที่ตายไปแล้ว ถึงคิดแผนการไปเที่ยววันหยุด? หรือภาพนี่กำลังแสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า มวลชนจะเผชิญกับวิกฤตความยากลำบาก ขนาดที่ว่า เวลาเดียวที่พวกเขาจะมีโอกาสหยุดงาน คือตอนที่พวกเขาได้ตายจากไปแล้วเท่านั้น? – หรือนี้จะเกี่ยวพันกับผู้คนนับไม่ถ้วนที่ต้องจบชีวิตลงจากการเดินทาง (ทางอากาศ) ผ่านมาในปี 2014…

Turtle (เต่า)
ec12
ยืน อยู่เบื้องหน้าของทุกๆอย่าง ด้วยสายตาเพ่งตรงเข้ากระชากวิญญาณผู้อ่าน คือเต่า ตัวที่มีเส้นกำกับรอบๆ เน้นตัวมันอยู่- มันมีความหมายว่าอย่างไร?
ตาม ที่ทราบกันว่า “เต่าดุ” คือ สัญลักษณ์ ของสมาคมเฟเบียน สมาคมสังคมนิยม มหาอำนาจสุดโต่ง ในอังกฤษ มีประวัติการทำงานช้านานมากว่า ศตวรรษ ด้วยกับจุดประสงค์หลักคือ เพื่อก่อตั้ง รัฐบาลหนึ่งเดียวของโลกใบนี้
ec13คติพจน์ของ สมาคมเฟเบียนคือ “คราเราบุก เราบุกอย่างแข็งขัน”  

ซึ่ง โดยพื้นฐานแล้ว ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังสังคมนิยมเฟเบียน ก็คือ พิมพ์เขียวของ อะไรในปัจจุบันที่เราเรียกมันว่า “ระเบียบโลกใหม่” นั่นเอง
สมา คมเฟเบียนเคยให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยในแผนการสร้างสังคมด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งยังผลักดันให้มีการปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ให้ดีขึ้นตาม นิยามของพวกเขา โดยอนุญาตให้คนที่มียีนส์ที่เป็นที่ต้องการเท่านั้นสามารถมีลูกได้  โลโก้ดั่งเดิมของสมาคมเฟเบียน คือรูปหมาป่าในชุดขนแกะ (ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนเดาเอาว่า มันคงจะไม่ใช่โลโก้ดีเด่นที่สามารถปกปิดความเป็นหมาป่าของสมาคมนี้ ต่อมวลชนได้สักเท่าไหร่…ก็ไม่รู้สินะ)
ec14โลโก้ดั่งเดิมของสมาคมสังคมนิยม เฟเบียน

นำพา กฎเกณท์หรือระบบ ระเบียบ ต่างๆของโลกนี้ก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่พวกคนชั้นสูงได้กระทำมา ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน นี่กระมัง คงจะเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไม เจ้าเต่าดุตัวนี้ จึงถูกจัดวางให้อยู่เบื้องหน้าความยุ่งเหยิงทั้งหลายบนหน้าปก นิตยสารของสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการประชุมลับ Bilderberg นี้

11.3 and 11.5
ec15
ใน มุมขวาล่างของภาพปก เราจะเห็นสัญลักษณ์ที่มีความกำกวมมากยิ่งขึ้นไปอีก คือ มีพะเนินทรายถูกวางกองอยู่บนพื้น เยื้องมาข้างหน้าพะเนินทราย มีลูกธนูสองดอกถูกปักอยู่ ซึ่งบนตัวลูกธนูจารึกหมายเลข 11.5 และ 11.3 – หรือตัวเลขเหล่านี้คือ วันที่ ที่เราควรจะต้องจดจำ? แล้วทำไมมันถึงอยู่ข้างๆกับพะเนินทราย? แล้วถ้าหากคุณลองตีความ องค์ประกอบในส่วนนี้เป็นระยะพิกัด มันกำลังชี้ไปสถานที่แห่งหนึ่งในประเทศไนจีเรีย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ปรากฏและองค์ประกอบต่างๆในภาพส่วนนี้ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่เข้าใจได้โดย“คนที่รู้” เท่านั้น
และนั่น ที่ยืนอยู่ข้างหน้าพะเนินทรายก็คือ “อลิซในแดนมหัศจรรย์” กำลังจ้องมองดู แมว เชสเชียร์ แคท
ec16
ตาม ที่รู้กันดีว่า แมวตัวนี้เป็นหนึ่งในตัวละครเอกของนวนิยาย และภาพยนตร์ชื่อดัง อลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ที่มีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง คือ สามารถล่องหน หายไปทั้งตัว และจะเหลือทิ้งไว้เพียงแต่ รอยยิ้มยียวนเท่านั้น ดังนั้น เราจึงสามารถมองทะลุเห็นโลกอีกโลกหนึ่ง ณ ที่นี่ คือ โลกแห่งแฟนตาซี, ภาพลวงตา หรือ โลกแห่งมายา  ตามที่อลิซ -หรือ ตัวแทนของมวลชนส่วนมาก- เข้าใจได้  เรายังเห็นภาพปรากฏของ เดวิด เบลน ประกอบอยู่ข้างหลังแมวเชสเชียร์อย่างไม่จำเป็นอีกด้วย –หรือ เขาคือ ผู้วิเศษ (นักมายากล) เหมือนกับแมววิเศษตัวนี้? …. อย่างไรก็ดี มันค่อนข้างจะเห็นได้ชัดว่า ภาพปกนี้กำลังนำเสนอภาพผสมกันระหว่าง เหตุการณ์ในความเป็นจริง กับเรื่องราวในนวนิยาย
อีกสัญลักษณ์ที่ สังเกตเห็นได้บนปกนิตยสาร ดิ อิคอนอมิสต์ ฉบับนี้ คือ หมูออมสินติดปีก ที่บินมาจาก กระเป๋าเสื้อของ เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับหนังชื่อดัง หรือ นายแบบในภาพที่สวมใส่ ครีเอชั่นเสื้อผ้าจาก Alexander McQueen ดีไซน์เนอร์ชื่อดังที่เป็นที่โปรดปรานของคนชั้นสูง (ผู้ที่เสียชีวิตลงในสภาพการณ์ที่ผิดปกติ) ไปจนถึงภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจชาวเอเชีย สวมใส่หน้ากากเพื่อปกป้องตัวเองจากโรคระบาด ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิต

สรุป
ดิ อิคอนอมิสต์ไม่ใช่หนังสือพิมพ์กระจอกๆ ที่ตีพิมพ์คำทำนายประจำปีแปลกๆ เพียงแค่อยากจะขายหนังสือจากบริษัทตัวเองให้ได้เพิ่มขึ้น ทว่า มันคือนิตยสารที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มชนชั้นสูงที่คอยวางนโยบาย กำหนดทิศทางต่างๆให้กับโลกใบนี้ และทำให้มั่นใจว่า นโยบายเหล่านี้จะถูกนำมาใช้จริง อีกทั้ง หนึ่งในหุ้นส่วนหลักของ สำนักพิมพ์ ที่ตีพิมพ์ เดอะ อิคอนอมิสต์ ก็คือตระกูลร่ำรวย ร็อตไซด์ แห่งอังกฤษ รวมไปถึงหัวหน้าของบรรณาธิการ ที่เป็นถึงหนึ่งในผู้มีสิทธิ์ เข้าร่วมการประชุมลับ Biderberg ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ เดอะ อิคอนอมิสต์ มีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นทางการ กับผู้ที่มีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยน “คำทำนาย” ให้กลายเป็น “เรื่องจริง” นั่นเอง..


ที่มา: จากเว็ปไซด์ที่มีสโลแกนว่า “ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่กฎหมาย สัญลักษณ์ต่างหากที่ล้างหัวคุณ!!” http://vigilantcitizen.com
(http://vigilantcitizen.com/vigilantreport/economist-2015-cover-filled-cryptic-symbols-dire-predictions/)