PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

'เอนก'วอนสปช.หนุนรัฐบาลผสม สร้างความ'ปรองดอง'ที่แท้จริง!!

'เอนก'วอนสปช.หนุนรัฐบาลผสม สร้างความ'ปรองดอง'ที่แท้จริง!!
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 20 เมษายน 2558 15:13:00 น.
20 เม.ย.58 ที่รัฐสภา นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของการปฏิรูปและการปรองดอง ว่า การสร้างความปรองดองเริ่มจากการสร้างความเข้าใจของ 3 ฝ่าย คือ แดง เหลือง และฝ่ายที่สาม ให้เกิดความรู้รักสามัคคี นอกจากนั้น ยังได้วางกลไกต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ สร้างระบบเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสม เพราะจะใช้ระบบเดิมใช้ไม่ได้ เนื่องจากว่า มีการพิจารณาจากเหตุความวุ่นวายในอดีตตั้งแต่สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหากเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้เกิดพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียว แล้วนำพรรคเล็กที่ไม่มีอำนาจต่อรองเข้าร่วม และจะมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคเดียวนั้นเป็นไปได้ยากมาก ฉะนั้น จึงอยากขอให้สมาชิก สปช.สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อสร้างความปรองดองระหว่างพรรคการเมืองและความปรองดองระหว่างสี
"ภาคใต้จะไม่เป็นของประชาธิปัตย์ ภาคเหนือและอีสานจะไม่เป็นของเพื่อไทย ทั้งหมดกรุงเทพฯ ไม่เป็นของประชาธิปัตย์ เกือบหมด ระบบนี้จะสร้างความปรองดองระหว่างกัน นานเหลือเกินที่กลายเป็นมายาคติว่าแต่ละภาคผูกขาดอยู่กับพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น ระบบผสมจะทำให้ได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้น" นายเอนก กล่าว
นอกจากนั้น จะเกิดความปรองดองระหว่างตัวแทนของประชาชนในการเลือก ส.ว.เพราะจะมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากตัวแทนวิชาชีพ อดีตข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร กล่าวคือจะได้บุคคลที่เป็นตัวแทนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม เข้าร่วมการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา เพราะ ส.ว.สามารถเสนอกฎหมายได้ด้วย อีกหนึ่งประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจของประชาชนมากขึ้น ประชาชนไม่ใช่เจ้าของประชาธิปไตยเพียง 4 นาที ที่ให้อำนาจนักการเมือง 4 ปี อีกต่อไป แต่ประชาชนจะมีอำนาจโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านเวทีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคประชาชน สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และการลงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (Impeachment List)
ฉะนั้น การให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้น จะเป็นการปรองดองระหว่างประชาชนและรัฐบาลที่มาจากการเลือก เพราะในอดีตประชาชนสามารแสดงบทบาทได้ทางเดียวคือการเดินสู่ท้องถนน แต่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้อย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดการปรองดองในอีกมติหนึ่ง
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมเสริมสร้างการปรองดองแห่งชาติ เพื่อดูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง และเสนอกฤษฎีกาอภัยโทษ รวมถึงสร้างความเข้าใจกับทุกคนให้เห็นถึงความแตกต่าง ส่งเสริมให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ คณะ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถพูดว่าประเทศไทยเกิดสันติสุขได้โดยฝ่ายเดียว ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันให้ข้อคิดเห็น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นเอาไว้ การไม่บัญญัติรายละเอียดเพื่อเป็นการเปิดช่องให้ สปช.ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอวิธีการในส่วนดังกล่าว
"ประเด็นท้ายสุดการปฏิรูปคือการปรองดอง นานเหลือเกินที่เรามีความขัดแย้ง ระหว่างข้าราชการ ประชาชน นักการเมือง หวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะนำไปสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริง" นายเอนก กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น: