PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

โอเพ่นลิสต์" สิทธิประชาชนฉบับ"กมธ

หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติและบันทึกเจตนารมณ์ ถึงมาตรา 105 ซึ่งเดิมถูกร่างไว้ในมาตราที่ 107 แต่มาตรา 105 และ 106 ถูกตัดทิ้งทั้งมาตรา มาตรา 107 จึงขยับขึ้นมาอยู่ที่มาตรา 105
โดยมาตรา 105 กำหนดให้ วรรคแรก การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้นโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งในที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯได้กำหนดเจตนารมณ์เพิ่มเติม เพื่อเป็นบันทึกความเข้าใจว่า การเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หรือเดิมจะเรียกว่า ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งยังคงเป็นปาร์ตี้ลิสต์ แต่ถูกกำหนดให้เป็นปาร์ตี้ลิสต์แบบโอเพ่น หรือที่เรียกว่า "แบบโอเพ่นลิสต์" ที่ให้สิทธิประชาชนจัดอันดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ ที่ประชุมได้กำหนดเจตนารมณ์เพื่อให้เป็นภาคปฏิบัติ คือ กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่จัดลำดับ หรือระบุให้ผู้ใดเป็น ส.ส. ถือว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นสละสิทธิการจัดลำดับ โดยไม่ถือว่าบัตรเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย
ขณะที่ พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ หนึ่งใน กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า เจตนารมณ์ของการเขียนบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 105 ซึ่งกำหนดให้สิทธิประชาชนจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อให้เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ตามลำดับที่ประชาชนต้องการได้ หรือแบบโอเพ่นลิสต์นั้นคือเราต้องการให้ประชาชนมีอำนาจเต็มที่ เพียงแต่เราไม่ต้องการให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ซึ่งพรรคการเมืองอาจจะส่งนายทุนพรรค หรือใครก็ตามที่พรรคอยากเสนอเข้ามาทำหน้าที่ก็ได้ การกำหนดบทบัญญัติลักษณะเช่นนี้เพื่อต้องการให้อำนาจประชาชนเป็นผู้ตัดสินและเลือกได้ว่าอยากให้ใครมีรายชื่อเป็นลำดับต้นๆ
เพราะรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนดให้มีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆนั้น ประชาชนอาจจะไม่รู้จักชื่อ ไม่เคยเห็นหน้าเลยหรือพิจารณาแล้วเห็นว่าคุณสมบัติไม่ดีและไม่เหมาะสมก็ได้ แต่ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในลำดับกลางๆ อาจเป็นบุคคลที่ประชาชนพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าท่า มีคุณสมบัติเหมาะสม ก็อาจจะเลือกคนนั้นก็ได้ ถ้าหากประชาชนเห็นตรงเหมือนกันหลายคน บุคคลนั้นก็สามารถมีรายชื่อขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ได้ จากนั้นก็ไล่เรียงรายชื่อไปตามคะแนนที่ได้รับจากประชาชน ดังนั้นในเจตนารมณ์จึงต้องบอกให้ชัดเจนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าคูหามีสิทธิที่จะเลือกคนที่รักและชอบในบัญชีรายชื่อแต่ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายนั้นไม่ได้เลือก ถือว่าเป็นการสละสิทธิการเลือกตรงจุดนี้ไป ถ้าไม่ใส่รายชื่อคนที่รักก็หมายความว่าจะเป็นบุคคลใดก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะระบุอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งการไม่ได้ระบุรายชื่อลงไปนั้นจะไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย
ถ้าไม่ใส่รายชื่อถือว่ารู้สึกชอบกับรายชื่อที่พรรคการเมืองจัดทำมา แต่ถ้ารู้สึกชื่นชอบกับสิ่งที่พรรคจัดทำมาก็สามารถใส่ลำดับที่หนึ่งในบัญชีรายชื่อที่พรรคจัดทำมาเป็นลำดับที่หนึ่งก็ได้ถือเป็นการรักษาสถานะเดิมของพรรคการเมืองนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นการยืนยันว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายนั้นชื่นชอบกับรายชื่อที่พรรคได้จัดทำมาแล้ว วิธีการแบบนี้เป็นการเติมเต็มสิทธิให้ประชาชน แต่ถ้าไม่ได้เขียนหรือระบุสิ่งใดก็ไม่ถือว่าเป็นบัตรเสีย และไม่ได้เป็นการยืนยันว่าชอบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจัดทำมาด้วย แต่เป็นเพียงการสละสิทธิไม่เลือกสิ่งใดเลยเท่านั้นเอง
ด้าน นายปกรณ์ ปรียากร อีกหนึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า มาตราดังกล่าวนี้หมายความว่าเวลาที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกตั้งโดยเฉพาะการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อสามารถจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ชื่นชอบได้ด้วยว่าอยากจะให้ใครได้เป็นส.ส. ซึ่งหลักการนี้เป็นการกำหนดความชัดเจนในการให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะถ้าเขียนแบบเดิมก็เหมือนว่าเป็นการให้อำนาจกับพรรคการเมืองมากจนเกินไป โดยพรรคการเมืองนั้นจะสามารถส่งใครเข้ามาเป็น ส.ส.ก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเลย เป็นการปิดกั้นไม่ให้ได้เลือกคนในบัญชีรายชื่อเลย รวมทั้งอาจมีการสอดไส้จนทำให้ได้ผู้ที่มีอายุน้อย ขาดประสบการณ์ ภูมิหลังเป็นอย่างไรประชาชนไม่มีทางทราบได้
สรุปว่า ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น ในบัตรเลือกตั้งจะมีพรรคการเมืองให้เลือกตามปกติ แต่จะมีการเพิ่มเติมบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนด โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกใส่ตัวเลขลำดับของบุคคลที่ตัวเองต้องการลงในบัตรเลือกตั้งได้ แต่หากไม่ประสงค์จะระบุตัวบุคคล บัตรนั้นก็ไม่ได้ถือเป็นบัตรเสียแต่อย่างใด


ไม่มีความคิดเห็น: