PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

ข้อเสนอม.270อันตราย

Pornson Liengboonlertchai

ข้อเสนอที่ให้ใช้ ม.270 ของรัฐธรรมนูญมาเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการออกกฎหมายต่างๆ ทั้งนี้เพราะเรื่องเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลในอนาคต หากพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่พึงเสนอให้กระทำและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
.
1.ม.270 อยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นการ "เฉพาะเรื่อง" กล่าวคือ วุฒิสภามีอำนาจร่วมพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ไม่ใช่การตราตัวบทกฎหมายทั่วๆ ไป
.
2.การอาศัย ม.270 เป็นฐานอำนาจในการออกกฎหมายคือการตีความให้กฎหมายทุกฉบับเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศทั้งหมด การตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งต่อ "เหตุผลของเรื่อง" (Nature of things) ที่ใช้กำกับในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ม.270 เอง กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากตีความเช่นนี้ ต่อไปการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจะมาใช้และอ้างอิง ม.270 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นอันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง
.
3.การตีความเช่นนี้ส่งผลเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตามหลักวิชาอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตีความอันมีลักษณะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยพฤตินัย (De Facto Constitutional Amendment) เพราะเป็นการขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภาในการตรากฎหมายอย่างชัดแจ้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้และความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วยกันอีกด้วย อันอาจส่งผลกระทบและความเสียหายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
.
เราพึงต้องตระหนักด้วยว่าปัญหาหนึ่งของวิกฤติระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคือ การ (พยายาม) ตีความ หรือบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง (Constitutional fidelity) ดังนั้น จึงพึงหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมอีกครับ

ไพศาล เตือนอย่าเร่งกกต.สอบกรณีหุ้นธนาธรมากระวังพลาด

เรื่องการถือหุ้นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของคุณธนาธรนั้น
ประเด็นเรื่อง ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์เป็นประเด็นสำคัญที่สุด แต่พูดถึงกันน้อยมาก ซึ่งจะไปว่ากกต. ว่าดองเรื่องไม่ได้เพราะมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่ ท่านต้องรอบคอบ มิฉะนั้นก็หงายท้องเอาง่ายๆ
1 แม้บริษัทจะมีชื่อว่า Media แต่จะเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์หรือไม่ ต้องดูการทำธุรกิจว่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรือไม่ 
เช่นเดียวกับกิจการที่ตั้งชื่อร้านว่า รุ่งฟ้าอาภรณ์ แต่ถ้าขายข้าวมันไก่ ก็เป็นธุรกิจขายข้าวมันไก่ ไม่ใช่ธุรกิจรับตัดเสื้อผ้า
2 บริษัทที่ถือหุ้นนั้น ทำธุรกิจอะไร?ตามข่าวที่ปรากฏอาจเป็นอย่างมากแค่รับจ้างพิมพ์สิ่งพิมพ์ ที่เป็นข่าวก็ไม่ใช่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ แต่เป็นธุรกิจรับจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจ้างทำของ
3 การจะเป็นความผิดหรือต้องห้ามการสมัครรับเลือกตั้งนั้น หากเป็นบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องเป็นบริษัทที่กำลังดำเนินธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ถ้าเลิกกิจการไปแล้วหรือเลิกทำธุรกิจไปก่อนแล้วก็ไม่ใช่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อีกต่อไป
ประเด็นนี้กกต. จะต้องพิจารณาใคร่ครวญและมีพยานหลักฐานให้พร้อม
มิฉะนั้นแล้วก็จะตายน้ำตื้น!
ที่เที่ยวพูดกันไปพูดกันมาแล้วตั้งข้อสงสัยเรื่องการโอนหุ้นนั้น ก็ต้องรู้ก่อนว่าบริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทในตลาดหุ้นเอกสารหลักฐานทั้งหมดจัดทำโดยบริษัทและอยู่ที่บริษัท คนนอกยากที่จะมีหลักฐานไปหักล้าง จึงไม่ง่ายที่จะมีพยานหลักฐาน ดังที่มีการพูดจากัน!
ดังนั้นอย่าเพิ่งไปด่าหรือเร่ง กกต.ท่านเลย ให้เวลาท่านหาพยานหลักฐานให้เต็มที่จะดีกว่า
อย่าลืมว่าในกกต.นั้นมีอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีฝีมืออยู่ถึง 2 คน ท่านเชี่ยวชาญเรื่องพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเป็นอย่างดี
และหนึ่งในนั้นก็คือศิษย์ร่วมสำนักของผมเอง!

สอนมวย 'ไพบูลย์' แพ้ก็คือแพ้ ถ้าประชาชนเลือกไม่เลือก ก็ตามนั้น!

ประชาธิปัตย์ สอนมวย 'ไพบูลย์' แพ้ก็คือแพ้ ถ้าประชาชนเลือกไม่เลือก ก็ตามนั้น!
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ว่า จะหารือเรื่องการจัดประชุมใหญสามัญประจำปีในวันที่ 24 เม.ย. นี้ และการหารือเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค รวมถึงข้อเสนอการปฏิรูปพรรคบางส่วน
เช่นการจัดตั้งสำนักงานวิจัยและพัฒนานโยบาย และจัดตั้งสำนักงานพัฒนาสาขาและสมาชิก ทั้งนี้มีแนวโน้มที่จะเสนอ ให้ตั้คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคขึ้นมา 1 คณะ เพื่อดูแลรับผิดชอบการเลือกหัวหน้าพรรค โดยข้อบังคับพรรคระบุไว้ชัดเจนว่าต้องคำนึงถึงการหยั่งเสียงซึ่งมีระบบไพรมารีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อาจจะใช้วิการแตกต่างจากครั้งที่แล้วเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานการณ์บ้านเมือง
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า แต่อาจจะทำแบบย่อส่วนคือการใช้โซเชียลเข้ามาช่วย โดยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารที่ต้องพิจารณาว่าจะมี กกต.พรรคเข้ามาดูแลเหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่ ถ้ามีต้องเป็นหน้าที่ กกต.พรรคที่ต้องจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งต้องมีการกำหนดวันรับสมัคร และคุณสมบัติของหัวหน้าพรรค
โดยต้องเป็นการเลือกตั้งที่เปิดกว้าง เพื่อให้เป็นตัวอย่างทางการเมือง พร้อมระบุ การเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเกิดขึ้นภายใน 7 วัน หลังกกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค. เพราะมีภารกิจที่จะต้องรับรอง ส.ส. และประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาจุดยืนพรรคว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่
นายอลงกรณ์ยังกล่าวถึง ความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกพรรคว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ว่าเป็นแนวคิดส่วนตัวของแต่ละคน ยืนยันว่า ประชาธิปัตย์มีขั้วเดียว เมื่อมีมติพรรคออกมาอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตามมติพรรค ใครที่ไม่ปฏิบัติตาม จะถูกกรรมการจริยธรรมวินัยพรรค หรือถูกภาคทัณฑ์ ประชาธิปัตย์ต้องไม่มีงูเห่าโดยเด็ดขาด
หากใครที่ดำเนินการในลักษณะเป็นงูเห่า เชื่อว่าพรรคจะมีมาตรการเด็ดขาด แม้ในรัฐธรรมนูญจะให้เอกสิทธิ์ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอิสระ แต่ข้อบังคับพรรคเขียนไว้ชัดเจน ว่าต้องเคารพมติพรรค หากอ้างรัฐธรรมนูญทั้งหมด ใครก็อ้างได้
นายอลงกรณ์ระบุว่า วันนี้ยังไม่มีขั้วใดขั้วหนึ่งที่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล กกต.ก็ยังพิจารณาคดีทุจริตการเลือกตั้งอยู่ ดังนั้นเสียงที่เห็นยังไม่เป็นทางการ จึงอยากให้รอการรับรองผลการ และรับรองผลมาอย่างไร ก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน
ถ้าระบบประชาธิปไตยเดินหน้าในระบบรัฐสภาอย่างนี้ก็จะไม่มีการรัฐประหารและรัฐสภาจะเดินหน้าไปเอง พร้อมระบุอย่าพึ่งไปตัดสินใจว่า เป็นรัฐบาลปริ้มน้ำ เพราะเสียงยังไม่นิ่ง ในการตัดสินใจว่าร่วมกับใคร ให้รอหลัง 9 พ.ค.
แนะ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รู้จักความพ่ายแพ้
ส่วนแนวคิดของนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรรคประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้ใช้มาตรา 270 ให้ ส.ว. มาร่วมโหวตงบประมาณร่วมกับ ส.ส.นั้น นายอลงกรณ์ระบุว่า คิดแผลงๆกันตลอดเวลา ถ้าทุกคนยึดมั่นในระบบรัฐสภา ประเทศก็เดืนหน้าไปได้ แพ้เลือกตั้งก็คือแพ้ ประชาชนเลือกก็คือเลือก
ต้องเลิกแบ่งขั้วกันได้แล้ว ประชาชนเลือกใครมากกว่าก็ให้จัดตั้งรัฐบาล บริหารราชการแผ่นดิน ดีก็อยู่ได้ ทำไม่ดีก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ จึงอยากให้เพลาๆกันหน่อยที่เสนอความคิดแหวกแนวระบบรัฐสภา เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และไม่เป็นผลดีต่อการเมืองในอนาคต และขออย่าใช้วิชามารใดๆ ทั้งงูเห่า และทุกวิธีที่จะทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่วงจรอุบาทว์อีก

4 องคมนตรี “คนดี คนเก่ง” ทั้งทหาร-พลเรือน ถูกนักการเมือง เสนอว่า เหมาะเป็น นายกฯคนกลาง

เมื่อ ชื่อ 4 องคมนตรี “คนดี คนเก่ง” ทั้งทหาร-พลเรือน ถูกนักการเมือง เสนอว่า เหมาะเป็น นายกฯคนกลาง ในสถานการณ์พิเศษ หากต้องมี รัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลปรองดอง หรือ รัฐบาลพิเศษ....หากถึง”ทางตัน”....แต่ บิ๊กตู่ ยังเต็งหนึ่ง นายกฯรัฐบาลผสม
น่าสนใจ .....จากการที่ นายเทพไท เสนพงศ์ แกนนำ พรรคประชาธิปัตย์ ตอกย้ำให้น้ำหนัก กับ “รัฐบาลแห่งชาติ” หรือ “รัฐบาลปรองดอง” เป็น “ทางออก “ให้การเมือง ที่อาจถึง “ทางตัน” จากรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดปัญหาหลังการเลือกตั้ง.....
ตัองยอมรับว่า กกต. ถูกวิจารณ์ และตั้งคำถาม อย่างหนัก ในการจัดเลือกตั้ง การนับคะแนน การคำนวณสูตรปาร์ตั้ลิสต์ และการ “สอย” สส. ก่อนการรับรองผล อย่างเป็นทางการ ใน9 พค.นี้ ความวุ่นวายที่จะตามมา .... และความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น จาก การที่ “ธนาธร-ปิยะบุตร” แห่งพรรคอนาคตใหม่ โดนคดี
นายเทพไท แนะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ-รัฐบาลปรองดอง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนและแก้รัฐธรรมนูญ ให้รัฐบาลนี้มีวาระ 2 ปีแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่
โดย บุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง ต้องเป็นคนที่เข้าได้กับทุกฝ่าย ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง มี 4 คน
1. บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี อดีต ผบ.ทบ. แม้จะเป็นทหารแต่มีหลักประชาธิปไตย ค่อนข้างชัดเจน
2. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ที่ผ่านมาเป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง มีประสบการณ์การปกครองค่อนข้างสูง
3. นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD)
4. นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคปชป. อดีตนายกฯ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และถือเป็นบุคคลที่ทำงานภายในสภามานาน
ไม่แค่นั้น ยังมีการปล่อย ชื่อของ ดร.กบ อำพน กิตติอำพน องคมนตรี ผู้มากประสบการณ์ในการบริหารงาน อดีตเลขาฯครม.หลายสมัย และอดีต ผอ.PMDU ยุค บิ๊กตู่ ก่อนเป็นองคมนตรี
หรือแม้แต่ ชื่อ บิ๊กต๊อก พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และอดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล คสช. ที่มีความเด็ดขาด และ เป็นที่ ไว้วางฯ และเป็น พี่เลิฟ ของ บิ๊กแดง พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และ เป็น น้องรัก นายกฯบิ๊กตู่
น่าแปลก ที่ชื่อของ นายกฯคนนอก คนกลาง ถูกเสนอ ถูกปล่อยชื่อ ออกมา ส่วนใหญ่ เป็นองคมนตรี ที่ล้วนเป็น คนดี คนเก่ง ที่ได้รับการคัดเลือก ไปปฏิบัติหน้าที่สำคัญ
จนทำให้ วันนี้ ทั้ง พลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร งดตอบ หรือให้ความเห็น เรื่องรัฐบาล แห่งชาติ
แต่ สัปดาห์ที่แล้ว พลเอกประยุทธ์ ระบุว่ารัฐบาลแห่งชาติ ไม่ได้มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนุญ จะเป็นไปได้อย่างไร. ไม่ใช่ใครอยากจะกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่ ก็ได้ตามใจ และทำให้คิดว่า คนเสนอแนวคิดนี้ หวังผลอะไร
ก่อนที่ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน พรรคพลังประชารัฐ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ มาตลอด จะบอกว่า เป็นแผนสกัด พลเอกประยุทธ์
แต่ดูท่าว่า ที่เสนอๆ กันออกมานั้น ไม่น่าจะเป็น รัฐบาลแห่งชาติ หริอรัฐบาลปรองดอง ..,..แต่น่าจะหมายถึง รัฐบาลพิเศษ เสียมมากกว่า เพราะ ชื่อนายกฯ ส่วนใหญ่เป็น องคมนตรี
แต่กระนั้น ชื่อของ พลเอกประยุทธ์ ยังคงเต็งหนึ่ง ในสูตรพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ จัดตั้งรัฐบาลผสม เสียงปริ่มน้ำ......
แต่ก็ไม่มี ใครรู้ว่า ปลายทาง อะไรจะเกิดขึ้น .....เพราะเรื่องคาดไม่ถึง ในยุคนี้ เกืดขึ้น ได้เสมอ !!!

งานเข้ามิ่งขวัญ

“สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์” คนที่ถูก ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ กล่าวหาว่าครอบงำพรรคเศรษฐกิจใหม่ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทที่ค้างภาษีนำเข้า กรมศุลฯสั่งล็อค ห้ามจดชำระบัญชีฯ เมื่อปี 2559

อ้างอิงข่าว
18 เม.ย. 2562 ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ยื่นยุบพรรคตัวเอง พร้อมขอ กกต.งดประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ อ้าง “มิ่งขวัญ” ผิดนัดประชุมผู้สมัคร ส.ส.พรรค หลังช่วยค่าใช้จ่ายคนละ 1.5 หมื่น ปล่อย “สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์” กรรมการ บ.ไทยวัฒนา แอสเซ็ท ซึ่งเป็นคนนอกครอบงำ-ชี้นำ
*****************
1 ส.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา นายวิชัย มากวัฒนสุข ผู้อำนวยการส่วนคดีแพ่งและคดีปกครอง ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองข้อมูลธุรกิจ เพื่อขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและระงับการขีดชื่อออกจากทะเบียน นิติบุคคล จำนวน 47 รายโดยให้เหตุผลว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิติบุคคล จำนวน 47 ราย ที่กรมศุลกากรส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระงับรับจดทะเบียน มีบริษัทจดทะเบีบนในตลาดหลักทรัพย์ 3 รายคือ บริษัท สวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ จำกัด(มหาชน) บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)
ผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ 14 ราย อาทิ บริษัท จูบิลี่ไลน์ จำกัด บริษัท เมก้า เวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (นาย สุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ ถือหุ้นใหญ่)

จับตา'บิ๊กป้อม'ประชุม ก.ตร.ตั้งผบช.สตม.แทน'บิ๊กโจ๊ก'

จับตา'บิ๊กป้อม'ประชุม ก.ตร.ตั้งผบช.สตม.แทน'บิ๊กโจ๊ก'


    
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 10.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 4/2562 ที่ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยมีวาระสำคัญการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษตร. ยศ พล.ต.อ. 4-5 ตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิตร. ยศ พล.ต.ท. ประมาณ 20 ตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิตร. ยศ พล.ต.ต. ประมาณ 30 ตำแหน่ง นอกจากนี้คาดว่าจะพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) แทน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผบช.สตม. ที่ถูกโยกย้ายเป็นข้าราชการพลเรือนด้วย

กกต. ชี้แจงกรณีวันเลือกตั้ง ไม่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

กกต. ชี้แจงกรณีวันเลือกตั้ง ไม่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
​ตามที่นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และเผยแพร่ข้อความ ของจดหมาย ลงใน Facebook ส่วนตัว สรุปใจความว่า "วันเลือกตั้ง เป็นวันที่ หกสิบเอ็ด นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ. ศ. 2562 ใช้บังคับ" นั้น
​สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอชี้แจงว่า ตามมาตรา 102 และมาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีที่ใช้ในภาวะปกติ แต่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น จะต้องเป็นไปตามบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนไว้โดยเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 268 ซึ่งบัญญัติให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน
นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ อย่างสมบูรณ์ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ดังนั้น กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งสอดคล้องกับ บทเฉพาะกาล แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 171
ดังนั้น การกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทุกประการ

กกต.ส่อไม่รับรอง”ธนาธร” 9 พฤษภา!

กกต.ส่อไม่รับรอง”ธนาธร” 9 พฤษภา!

ปัญหาคุณสมบัติความเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต่อการถือครองหุ้น บริษัทวีลัค มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัททำสื่อ อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ กำลังถูกสำนักงานคณะกรรมการ กกต.ที่มี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เป็นเลขาธิการ ตั้งชุดสืบสวนสอบสวน ก่อนจะส่งเรื่องให้ 7 กกต.ชุดใหญ่วินิจฉัยว่า คุณสมบัติมีปัญหาหรือไม่
หากเห็นว่าเป็นปัญหาตามที่สื่อเสนอข่าว ก็จะมีมติส่งให้ศาลฎีกาแผนกเลือกตั้งตัดสิน เหมือนกับกรณีอื่น ๆ ที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ แต่หาก 7 กกต.เห็นว่า หลักฐานและข้อมูลที่มีการนำเสนอตามข่าว และที่สำนักงาน กกต.ของ จรุงวิทย์ เสนอขึ้นไป ไม่มีมูล ก็จะมีมติจำหน่าย(ยุติเรื่อง) ที่ร้องเรียนขึ้นมา
นี่คือขั้นตอนปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ต้องเดินไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระทำเหมือนกับผู้สมัครทุกคนที่ถูกร้องเรียนหรือ กกต.ตรวจพบ มิสามารถเลือกปฏิบัติได้ เพราะหาก กกต.เลือกปฏิบัติ ผู้ร้องอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา ก็จะไปฟ้องร้องเอาผิดกับ กกต.ในข้อหาความผิดตามมาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ที่มี “คุก” มาให้เห็นหลายคดีมาแล้ว
ปัญหาในขณะนี้คือ ความล่าช้าในการทำงานตรวจสอบเรื่องนี้ ของสำนักงานเลขาธิการ กกต.ที่จรุงวิทย์ กุมบังเหียน ทั้งที่เรื่องนี้นักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้แต่ กกต.บางคนยังบ่นว่าการตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ยาก เพราะตรวจสอบจากเอกสารเป็นสำคัญ ว่าในวันสมัคร ส.ส. 6 กุมภาพันธ์ 2562 ธนาธร ยังถือครองหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่หรือไม่ เอกสารทางราชการนั้น ธนาธรถือครองหุ้นจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 หลังวันสมัคร ส.ส.
แต่คำให้สัมภาษณ์ และเอกสารของธนาธร ระบุว่า เขาขายหุ้นให้มารดา ตั้งแต่ 8 มกราคม 2562 ก่อนการสมัคร ส.ส.จึงไม่มีอะไรซับซ้อน ที่อนุกรรมการสืบสวนสอบสวนที่จรุงวิทย์ ตั้งมาสอบสวนเบื้องต้น ต้องใช้เวลานานมาก จนทำให้เสียเวลาแผ่นดิน และทำให้ประเด็นนี้เป็นข้อกังขาของสังคมนานเกินไป และหากต้องใช้เวลามากไปกว่านี้ กกต.ควรจะใช้ดุลพินิจเปลี่ยนผู้รับผิดชอบต่อทั้งคดีนี้และสำนักงาน กกต. ด้วยเหตุทำเรื่องง่ายๆ ให้กลายเป็นเรื่องยาก
มีคำถามว่า หาก กกต.พิจารณาไม่ทันวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 วันที่ กกต.กำหนดเป็นเส้นตายในการรับรองส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ตามรัฐธรรมนูญ หรือมีมติส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง “จวนเจียน” จนทำให้ศาลตัดสินไม่ทัน แล้วจะทำอย่างไร ต้องรับรอง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปก่อนไหม
ในทางปฏิบัติ เมื่อมีข้อสงสัยและอยู่ในระหว่างการสอบสวน หรือมีมติส่งให้ศาลพิจารณาแล้ว กกต. มีอำนาจ “ไม่รับรอง” ความเป็น ส.ส.ของธนาธร ไว้ก่อน จนกว่าจะมีข้อยุติ ธนาธรก็จะเป็น 1 ในร้อยละ 5 ที่กกต.รับรองทีหลังได้ หากพบว่าไม่มีปัญหาในคุณสมบัติแล้ว เพราะถ้า “รับรองไปก่อน” ทั้งๆ ที่มีข้อกังขา ความเสียหายจะเกิดกับแผ่นดิน

ปรีชา สุวรรณทัต:ข้อพึงสังวรถึง พล.อ.ประยุทธ์-ผู้สนับสนุนให้เป็นนายกฯ

ข้อพึงสังวรถึง พล.อ.ประยุทธ์-ผู้สนับสนุนให้เป็นนายกฯ

โดยศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต

 18 เมษายน 2562 เวลา 14:51 น.

"...แต่ขณะนี้กำลังมีการบิดเบือนนที่ฉกรรจ์ โดยจะอ้าง ตะแบงนำบทเฉพาะการณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อให้วุฒิสมาชิก 250 เสียงมาร่วมพิจารณาลงมติกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนให้กฎหมายงบประมาณปี 2563 ผ่านความเห็นชอบเช่นเดียวกับการสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี..."


ผมเคยเขียนบทความพร้อมข้อเสนอแนะการแก้ไขไว้ในหลายบทความในกรณีที่พบว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีได้มีการกระทำที่เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญโดยร่วมกันในการแปรญัตติลดหรือตัดทอนรายจ่ายตามข้อผูกพันที่ตั้งไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้นำไปจัดสรรเพิ่มขึ้นในงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นว่าถ้าไม่รีบดำเนินการแก้ไขในชั้นที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ จะเกิดปัญหาความรับผิดรัฐธรรมนูญตามมาภายหลัง

แต่ข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่ได้รับการไยดีหรือแม้จะชี้แจงออกมาแต่ประการใด กรณีนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบดี เพราะเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณปี 2560 ที่มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

บัดนี้ แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่การกระทำความผิดนั้นสำเร็จเด็ดขาดไปแล้วแต่ยังคงเป็นความผิดอยู่จนถึงปัจจุบันและ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่เมื่อใด และจะมีการเสนอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ตาม กรณีที่มีการกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โฮชา เป็นนายกรัฐมนตรีเข้าชื่อกันได้หนึ่งในสิบหรือจำนวน 50คน ส่งกรณีที่กระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นที่ผมจะแยกแยะวิเคราะห์ให้เห็นต่อไป

แต่ในชั้นนี้ขอนำมาตรา 144 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาให้ท่านอ่านกันก่อน เพราะมาตรานี้ยาวมากมีทั้งในส่วนที่เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและมีหลายวรรคหลายตอนที่เพิ่มเติมความรับผิดเข้ามาใหม่ที่ผมได้ “หมายเหตุ” ไว้ในท้ายวรรคนั้นแล้ว

มาตรา 144 ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจํานวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เงินส่งใช้ต้นเงินกู้

(2) ดอกเบี้ยเงินกู้

(3) เงินที่กําหนดให้จ่ายตามกฎหมาย

ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย จะกระทํามิได้

หมายเหตุ มาตรา 144 วรรคหนึ่งและสองนี้ได้เคยบัญญัติมาแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2521-2540และ2550

“.... ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา เห็นว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคสอง ให้เสนอความเห็นต่อศาลฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการกระทําที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติตามวรรคสอง ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทําดังกล่าวเป็นอันสิ้นผล ถ้าผู้กระทําการ ดังกล่าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้กระทําการนั้นสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น แต่ในกรณีที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้กระทําการหรืออนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตําแหน่งทั้งคณะนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ของรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และ ให้ผู้กระทําการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย

หมายเหตุ ความในวรรคสาม ตั้งแต่คำว่า “....ถ้าผู้กระทำ....ถึง....ชดใช้เงินคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย”และวรรคต่อๆไปจนจบมาตรานี้เป็นบทบัญญัติใหม่ เพิ่งเติมมาในรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ที่ได้กำหนดโทษการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาและคณะรัฐมนตรีถึงขั้นถูกถอดออกจากตำแหน่งและถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

".... เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจัดทําโครงการหรืออนุมัติหรือจัดสรรเงินงบประมาณโดยรู้ว่ามีการดําเนินการ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ถ้าได้บันทึกข้อโต้แย้งไว้เป็นหนังสือหรือมีหนังสือ แจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ให้พ้นจากความรับผิด

การเรียกเงินคืนตามวรรคสามหรือวรรคสี่ ให้กระทําได้ภายในยี่สิบปีนับแต่วันที่มีการจัดสรร งบประมาณนั้น

ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติได้รับแจ้งตามวรรคสี่ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดําเนินการสอบสวนเป็นทางลับโดยพลัน หากเห็นว่ากรณีมีมูล ให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดําเนินการต่อไปตามวรรคสาม และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและศาลรัฐธรรมนูญ หรือบุคคลใดจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้งมิได้"

จะเห็นได้ว่ามาตรา 144นี้มีความยาวมากมีถึงหกวรรค ผมจึงได้นำมาให้ศึกษาอ่านกันก่อนที่จะพิจารณาต่อไปว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรัฐมนตรี ได้มีการกระทำที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 อย่างไร? จะต้องรับผิดประการใดบ้าง ?

อนึ่ง มีประเด็นสำคัญตามมาในกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะมีสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงสนับสนุน และท่านมีหน้าที่จะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563ที่มีวงเงินถึง 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุลถึง 450,000ล้านบาท ที่ท่านได้ทำไว้แล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่  แต่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 143 และ144 ที่วุฒิสมาชิก 250 คน ที่สนับสนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น ไม่มีอำนาจที่จะสนับสนุนท่านได้ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ในชั้นรับหลักการ การแปลญัตติในวาระที่ 1 2 และ 3 เพราะต้องพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เท่านั้น เมื่อผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเสนอต่อวุฒิสภาที่มีอำนาจจำกัดเพียง “ให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ” เท่านั้น โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆมิได้ และต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน

แต่ขณะนี้กำลังมีการบิดเบือนที่ฉกรรจ์ โดยจะอ้าง ตะแบงนำบทเฉพาะการณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อให้วุฒิสมาชิก 250 เสียง มาร่วมพิจารณาลงมติกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนให้กฎหมายงบประมาณปี 2563 ผ่านความเห็นชอบเช่นเดียวกับการสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

จะวิเคราะห์ชี้ให้เห็นในบทความนี้ในครั้งต่อไปครับ

ที่มา : อิศรา
https://www.isranews.org/isranews-article/75711-prayutchan.html?fbclid=IwAR2jOVvUVxb33S7gbrVVKAIQooDlMKkQQS2_RLEN8QXYTf5gx1NLdqVOfkc

'ปิยบุตร'ถูก-กม.ผิด ชู3นิ้วรับทราบข้อกล่าวหา ยืนยันศาลต้องวิจารณ์ได้

 "ปิยบุตร" ชู 3 นิ้ว เข้า ปอท.รับทราบข้อกล่าวหา แฟนคลับแห่ให้กำลังใจ  "UNOHCR-อังคณา" นำทีมสิทธิมนุษยชน แต่ไร้เงาทูตฝรั่งมุง  หลังพิมพ์ลายนิ้วมือเจ้าตัวปฏิเสธทุกข้อหา ลั่นกฎหมายทุกฉบับมอบอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการและกำหนดให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ บ่นตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ถูกแจ้งความแล้วหลายคดี โดยหัวหน้า คสช.ที่เป็นคู่แข่งส้มหวาน
    จากกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในข้อหาดูหมิ่นศาลและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากการอ่านแถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่คัดค้านมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมานั้น 
    เมื่อวันที่ 17 เมษายน เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยทีมทนายความ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ความผิดตาม ป.อาญาฯ ม.198 ฐานดูหมิ่นศาล และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีมวลชนเดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก
    ทั้งนี้ ก่อนถึงเวลานัดหมาย ได้มีแกนนำพรรคอนาคตใหม่ อาทิ พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค, น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค พร้อมผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมารอให้กำลังใจนายปิยบุตรด้วย โดยนายปิยบุตรได้ขอบคุณผู้สนับสนุนทุกๆ คนที่มาให้กำลังใจ พร้อมชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช.ด้วย 
    นายปิยบุตรได้ขอบคุณกองเชียร์และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ หรือ UNOHCR และนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ รวมทั้งอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ นักเคลื่อนไหวกลุ่มอยากเลือกตั้ง ที่เข้ามาสังเกตการณ์ 
    เขากล่าวว่า มาครั้งนี้เพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้รับมอบอำนาจจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ มาร้องทุกกล่าวโทษตนในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ป.อาญาฯ มาตรา 198 ความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 (2) นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน 
ข้องใจ คสช.เป็นคนฟ้อง
    อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจกับกระบวนการยุติธรรมของตำรวจ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนที่จะมาเป็นนักการเมืองตนก็เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นปกติ ไม่เคยถูกร้องทุกข์มาก่อน แต่พอตั้งพรรคอนาคตใหม่ได้ไม่ถึงปี กลับถูกกล่าวหามากกว่าพรรคการเมืองอื่น โดยในครั้งนี้จึงต้องดูข้อเท็จจริงว่าตนกระทำความผิดอย่างไร เพราะมั่นใจว่าไม่มีถ้อยคำไหนที่ตนสร้างความเกลียดชัง
    นายปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา พ.อ.บุรินทร์ จะมาแจ้งความด้วยตนเอง ไม่ได้รับมอบอำนาจจากคสช. แต่ครั้งนี้ไม่ทราบว่าผู้ใหญ่คนไหนที่มอบอำนาจให้ พ.อ.บุรินทร์มาร้องทุกข์ตน 
    "ยืนยันว่าการถูกแจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับพรรคอนาคตใหม่อย่างแน่นอน"
    เขาบอกว่า ได้มีการพูดคุยกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่บ้างแล้ว และมีการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
    นายปิยบุตรยังกล่าวอีกว่า ตนไม่ทราบว่าจะมีผู้สังเกตการณ์จากสถานทูตหรือองค์กรระหว่างประเทศเดินทางมา แต่ได้มีการสอบถามว่าตนถูกดำเนินคดีเพราะอะไร ซึ่งได้มีการสอบถามทุกพรรคการเมือง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศบริเวณอาคารศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารบี มีการตรวจเข้มบุคคลที่จะเข้ามาในพื้นที่โดนการตรวจบัตรประชาชน ถ่ายภาพบุคคลและตรวจสแกนกระเป๋า  รวมทั้งประสานตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องเข้ามาดูแลความเรียบร้อยด้วย
    ขณะที่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์เผยว่า ได้ขอกำลังตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ร่วมตำรวจ บก.ปอท. มาทำการตั้งโต๊ะตรวจสแกนบัตรประชาชนทุกคนที่จะเข้ามาที่ บก.ปอท. ป้องกันมือที่สามและเหตุอื่นๆ ส่วนขั้นตอนจะแจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นสอบปากคำและปล่อยตัวนายปิยบุตรกลับไปทันที ยืนยันเจ้าหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
    สำหรับผู้สังเกตการณ์ มีนางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR) จำนวน 2 คน มาร่วมสังเกตการณ์ และเข้ารับฟังการรับทราบข้อหาด้วย 
    ในการรับทราบข้อกล่าวหาดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ และมีรายงานว่าก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือ นายปิยบุตรได้ถอดแหวนแต่งงาน พร้อมกับบอกว่าเดี๋ยวจะเลอะ
    ต่อมานายปิยบุตรเปิดเผยหลังเข้าพบพนักงานสอบสวนฯ ว่าได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะเขียนคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 9 วัน หรือวันที่ 25 เม.ย. และต้องหารือกับทนายก่อนว่าจะเดินทางมาด้วยตนเองหรือไม่ 
กฎหมายบอกให้วิจารณ์ศาลได้
    ส่วนกรณี พ.อ.บุรินทร์ได้แจ้งความเอาผิดตนนั้นพบว่าเป็นฝ่ายกฎหมาย คสช.​ ได้เป็นผู้มอบอำนาจมาให้ร้องทุกข์ โดยตนตั้งข้อสังเกตว่าคนมาแจ้งความเป็นคน คสช. และหัวหน้า คสช. ก็เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคู่แข่งของพรรคอนาคตใหม่
    "สำหรับกฎหมายทุกฉบับมอบอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ และกำหนดให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้" 
    เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่บอกว่า ในข้อหามาตรา 198 ดูหมิ่นศาล ซึ่งตามกฎหมายอาญานั้นสามารถให้บุคคลใดแจ้งความร้องทุกข์ก็ได้ และอาจเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต เนื่องจากหากตนผิดจริงก็จะเป็นบรรทัดฐานวิพากษ์วิจารณ์องค์กรต่างๆ เพราะทำให้บุคคลที่สามสามารถแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดได้ โดยตนคิดว่ากฎหมายยังมีข้อบกพร่อง
    สำหรับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.อ.บุรินทร์แจ้งความเอาผิดตนนั้น จากการตรวจสอบข้อความที่ถูกกล่าวอ้างที่เป็นความผิด ไม่พบว่ามีคำที่ตนพูดและไม่มีถ้อยคำใดแสดงถึงการดูหมิ่นศาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตนได้ลงมาเล่นการเมืองแล้ว ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นจริง
    ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ตอนแรกขอพนักงานสอบสวนขยายระยะเวลา 15 วันแต่ทางพนักงานสอบสวนชี้แจงว่ามีการเร่งรัดจากผู้ใหญ่จึงไม่สามารถขยายเวลาได้ เมื่อมีการถามว่าข้อหามาตรา 198 ดูหมิ่นศาล อย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ โดยช่วงเวลาเพียง 9 วัน อาจจะไม่ทันต่อการส่งคำให้การ และอาจร้องขอต่อชั้นอัยการอีกครั้งหาก พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปเรียบร้อยแล้ว
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และแกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย (กตป.) ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า “วันนี้จะตามข่าวอาจารย์ปิยบุตรครับ อยากทราบว่าตั้งข้อหาอะไรกันแน่ คงต้องช่วยกันติดตามและวิจารณ์เรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้มีการใช้การดำเนินคดีอาญาเพื่อเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง #หยุด คสช.ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม"
    น.ส.หฤทัย ม่วงบุญศรี หรือ อุ๊ นักร้องชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ผู้ไม่ประสงค์ดีต่อประเทศไทยมีอยู่จริง มีเครือข่ายทั้งในประเทศโยงใยไปถึงต่างประเทศ จุดประสงค์เพื่อทำลายความมั่นคงของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของต่างชาติ และคนบางจำพวกที่ไม่หวังดีกับประเทศชาติ 
    การใช้สื่อ เพื่อทำลายประเทศไทย การใช้สื่อเพื่อให้คนเกิดความเกลียดชังต่อสถาบันหลักของชาติ 
การใช้สื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย การใช้สื่อ เพื่อให้เกิดเป็นกระแสชังชาติ ให้คนในชาติเสื่อมศรัทธาในความเป็นชนชาติไทย และนี่จะเป็นบทพิสูจน์ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่คนไทยจะต้องประสบพบเจอ และจะต้องก้าวข้ามพวกมันไปให้ได้!
    เธอระบุว่า ขออนุญาตนำบทความของท่านอาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา ที่ให้คนไทยได้ฉุกคิด และให้สังคมไทยได้ตั้งคำถาม ว่าเกิดอะไรขึ้น! เพื่อเป็นการสังเกตการณ์ไปพร้อมๆ กัน จงอย่ากะพริบตา! และอย่าชะล่าใจพวกมันโดยเด็ดขาด หมายเหตุ ใครไม่เกี่ยว ไม่ต้องร้อนตัว ไม่ต้องดิ้น ไม่ต้องเดือดร้อน อยู่เฉยๆ
    ด้าน พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวในที่ประชุมสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงติดตามสถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รักษาความสงบอยู่ พร้อมกำชับกระทรวงการต่างประเทศว่า หากมีความจำเป็นให้แจ้งสถานทูตต่างๆ ให้เข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ.

'เรืองไกร'ยื่นล้มพ.ร.ป.เลือกตั้ง



ศาล รธน.ชุดเล็กเสียงแตก ส่งชุดใหญ่วินิจฉัยคำร้อง กกต. กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์   24 เม.ย. ด้าน "เรืองไกร" เห็นด้วยกับ กกต. สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ถึงทางตัน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ป.เลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ เพราะบัญญัติคำว่า ส.ส.พึงมีได้ในเบื้องต้น หาก กกต.คำนวณครบ 150 คนอาจขัดรัฐธรรมนูญ
    
เมื่อวันที่ 17 เมษายน การประชุมศาลรัฐธรรมนูญคณะเล็ก 4 คน จาก 9 คน ประชุมพิจารณากรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องมาให้พิจารณาวินิจฉัยว่า กกต.จะสามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่
    ในการประชุม ตุลาการ 4 คนเสียงแตกว่าจะรับหรือไม่รับเรื่อง กกต.ไว้วินิจฉัย โดยมีความเห็นต่างกัน จึงต้องส่งเรื่องนี้ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ในวันพุธที่ 24 เมษายนนี้
    ทั้งนี้ ตุลาการที่เห็นว่าไม่ควรรับวินิจฉัยมองว่า กกต.จะต้องเลือกแนวทางปฏิบัติเอง หากมีผู้ร้องว่าแนวทางนั้นไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงจะเป็นหน้าที่ของศาลไปวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังถือว่าไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
    ขณะที่ตุลาการที่เห็นว่าควรรับวินิจฉัยมองว่า การเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีข้อความไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ หากศาลรับวินิจฉัยก็จะทำให้ กกต.ไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย
    นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 เม.ย.62 เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 เนื่องจากข้อความในกฎหมายดังกล่าว วรรคหนึ่ง (2) ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) กรณีกำหนดการคำนวณ ส.ส.พึงมีได้ แต่ในกฎหมายลูกกลับปรากฏคำว่า ส.ส.พึงมีได้ในเบื้องต้น
    นอกจากนี้ยังเห็นว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็ขัดกันเอง คือวรรค 3 กับวรรค 1 (4) และมาตรา 91 วรรค 1 (4) ของรัฐธรรมนูญกับ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) ขัดกับมาตรา 83 วรรค 1(2) ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    “เพราะถ้า กกต.จะคำนวณให้ครบ 150 คน ก็อาจขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรค 1(4) จึงเห็นด้วยกับสิ่งที่ กกต.ออกมาระบุว่าถึงทางตันแล้ว จนต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย"
    นายเรืองไกรกล่าวว่า ประเด็นทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลเลือกตั้งร้อยละ 95 ไม่ทันวันที่ 9 พ.ค. และถึงแม้จะประกาศผลได้แต่จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อก็อาจจะมีจำนวนไม่ถึง 150 ทำให้ ส.ส.โดยรวมมีจำนวนไม่ถึงร้อยละ 95 จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน ซึ่งอาจทำให้เปิดประชุมสภาครั้งแรกไม่ได้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วนมาจากการร่างรัฐธรรมนูญไม่รอบคอบ และนำความไม่รอบคอบนั้นมาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เมื่อมีการเลือกตั้งจริงทำให้เกิดการตีความจากหลายฝ่ายจนเกิดความสับสนวุ่นวาย
    เขากล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ป.กกต.ในการออกประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยเห็นว่าการที่ กกต.ใช้จำนวนราษฎรซึ่งไม่ได้มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณหาจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีนั้น อาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 86 ประกอบมาตรา 85 หรือไม่ และอาจเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นคุณเป็นโทษกับผู้สมัครพรรคการเมืองใด
เร่งดูใบเหลืองส้มแดง
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ กกต.ในช่วงนี้ว่า กกต.คงพะวงกับการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากเกินไปจนไม่ได้พูดถึงบางเขตการเลือกตั้งที่มีการร้องเรียน ไม่ทราบว่าในเขตใดบ้างที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ขณะนี้เวลาล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ดูวันเวลาที่พอมีอยู่คือวันที่ 28 เม.ย. คือวันที่เหมาะสมในการเลือกตั้งใหม่ กรณีที่มีการแจกใบเหลืองหรือใบส้ม ขณะนี้ กกต.ควรต้องประกาศแล้วว่ามีเขตใดบ้างที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ 
    เขาบอกว่า อยากให้ กกต.ประกาศให้ประชาชนรับทราบโดยเร็ว เพราะวันที่ 21 เม.ย. จะมีการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วยแล้ว หากจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งเขต วันที่เหมาะสมคือ 28 เม.ย. จากนั้น กกต.จะมีเวลาคิดคำนวณ ส.ส.จนถึงวันที่ 9 พ.ค. 10 กว่าวันเท่านั้น
    “กกต.ควรเร่งการดูเรื่องร้องเรียนในแต่ละเขตว่ามีเขตใดจะถูกใบเหลือง ใบส้มหรือใบแดงหรือไม่ ถ้าหากเลยวันที่ 28 เม.ย. จะเข้าสู่ช่วงพระราชพิธีมหามงคลอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่ควรเอาเรื่องการเมืองเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ไปทำในเวลานั้น และหากล่าช้าไปอีก จะเลยกำหนดการประกาศรับรองผลในวันที่ 9 พ.ค. ผมจึงอยากให้ กกต.รีบประกาศและดำเนินการให้เสร็จก่อน พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับเวลาที่มีอยู่” นายสมศักดิ์กล่าว
    ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Somchai Srisutthiyakorn แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเนื้อหาดังนี้
    หลายอย่างที่เมื่อเปลี่ยน กกต.ชุดใหม่แล้วไม่มีการสานต่อ การที่ คสช.มีคำสั่ง ม.44 ปลดผม และการที่ กรธ.ออก พ.ร.ป.กกต.ให้มีการเซตซีโร กกต.ชุดเดิมออกทั้งชุด เป็นผลทำให้การเตรียมการหลายอย่างที่ได้ดำเนินการใน กกต.ชุดที่แล้วไม่มีการสานต่อ
         1.การเตรียมการให้มีตัวแทนองค์การเอกชนเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งครบ 100% ในทุกหน่วยเลือกตั้ง ได้ถูกยกเลิก
         2.Application ดาวเหนือ เพื่อแจ้งที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ไปใช้สิทธิ์ ได้ถูกยกเลิก
          3.Application ตาสับปะรด เพื่อให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้งผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่มีการบำรุงรักษา ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงการเลือกตั้ง
แออัดในการใช้สิทธิ์
          4.โครงการให้คนไทยในต่างประเทศ สำหรับประเทศที่มีความพร้อมและมีการทดสอบการใช้แล้วใน 3 ประเทศ คือ นอร์เวย์ จอร์แดน และญี่ปุ่น (โอซากา) สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ตได้ ถูกยกเลิกไป
          5.ข้อเสนอให้มีการนับคะแนนที่สถานทูต แทนที่จะต้องส่งบัตรกลับประเทศให้ทันเวลาปิดหีบ ไม่มีการเจรจากับกระทรวงต่างประเทศต่อ จึงยังคงใช้วิธีการเดิม คือ ต้องส่งบัตรกลับประเทศไทยแล้วมีปัญหากรณีบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์
          6.ระบบการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นการ ที่เรียก rapid report ที่ทำขึ้นใน กกต.ชุดที่แล้วในช่วงออกเสียงประชามติ แม้มีการสานต่อ แต่ขาดระบบการกำกับดูแลที่ดี ทำให้กลายเป็นปัญหาการรายงานที่คลาดเคลื่อน และสร้างความสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป
          7.แนวคิดเกี่ยวกับขยายวันและเวลาในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า เป็น 2 วัน ถูกลดลงเหลือวันเดียว ทำให้เกิดการแออัดในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
         8.ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง จนถึงปัจจุบันยังไม่อยู่ในสถานะที่สมบูรณ์ 100% ยังเป็นระบบที่เขย่งกันระหว่างข้อมูลที่พรรคการเมืองมี และ ข้อมูลที่ กกต.มี
          9.การริเริ่มให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ แบบ touch screen เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม ได้ถูกยกเลิกไป
        การให้ข้อมูลทั้งหมดนี้ เพื่อให้ กกต.ได้ทราบว่ามีสิ่งใดที่เคยริเริ่มทำในชุดที่แล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการต่อ แต่หากเป็นสิ่งที่ กกต.ชุดปัจจุบันได้ทราบแล้ว และตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อ ก็เป็นสิทธิ์และอำนาจที่ชอบธรรมในการตัดสินใจ
เก่งใช้เงินอย่างเดียว
    นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระหว่างที่สังคมให้ความสนใจเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและบทสรุปของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตีความการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามที่ กกต.ยื่นเรื่องมาอย่างไรนั้น ประเด็นที่น่าสนใจและควรมีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม นั่นคือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โค้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการลงนามเอกชนรับงาน 20 สัญญา รวมมูลค่า 1.3 แสนล้านบาทว่ามีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน
    การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ แม้จะมีข้อแก้ตัวว่าสามารถทำได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ แต่ในสายตาของสังคมกลับมองไปในทิศทางตรงกันข้ามว่าไม่สมควร เนื่องจากไม่มีสภาของประชาชนตรวจสอบ จนถึงกับมีการพูดกันว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารงานไม่เป็น เก่งอย่างเดียวคือเรื่องใช้เงิน
    นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือกรณีที่ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วม ครม.-พวก ลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เหตุข้อกล่าวหาไม่มีมูล สะท้อนให้เห็นว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย และมุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่า ซึ่งไม่ควรนำองค์กรตรวจสอบมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เพราะทำให้นโยบายดีๆ ต้องหยุดชะงัก ฉุดประเทศล้าหลังประชาชนเป็นผู้รับความเสียหาย
    “แม้การคืนความยุติธรรมให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะจะล่าช้าไป แต่ก็ได้พิสูจน์ให้สังคมได้เห็นอย่างชัดเจน การทำหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ก็ตีตกข้อกล่าวต่างๆ ไปแล้วถึง 4 คดี และยังเหลือคดีที่อยู่ในการพิจารณาอีก 7 กรณี ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาด้วยความยุติธรรมเหมือนในกรณีดังกล่าว” นางลดาวัลลิ์กล่าว.

มิ่งขวัญสะอึก! ผู้สมัครส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ ยื่นยุบพรรคตัวเอง แฉถูกคนนอกครอบงำ


18 เม.ย.62 - ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ผู้สมัครพรรคเศรษฐกิจใหม่ นำโดยนางสาวอุลัยพร ไตรวงค์ย้อย นายประยงค์ สร้างศรีหา และ นายคมกฤษ สุภักดี ยื่นหนังสือถึงประธานกกต. ขอให้ยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ และระงับการประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากถูกครอบงำจากบุคคลภายนอกที่สั่งการชี้นำ ไม่ให้พรรคสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ
ในเอกสารคำร้องระบุว่า การส่งผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตทั้ง 350 เขต นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้ให้เงินค่าสมัครส.ส.จำนวนคนละ 15,000 บาท โดยนัดกับว่าที่ผู้สมัครว่าหลังการประกาศรับรองผู้สมัครนายมิ่งขวัญ จะนัดประชุมผู้สมัครเพื่อแนะแนวทางกับผู้สมัครอีกครั้ง แต่ปราฏว่านายมิ่งขวัญ ไม่ได้นัดประชุมผู้สมัครแต่อย่างใด จนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครได้สืบทราบมาว่าการที่นายมิ่งขวัญ ไม่ได้นัดประชุมผู้สมัคร เป็นเพราะนายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ กรรมการบริษัทไทยวัฒนา แอสเซ็ท จำกัด พร้อมพวก ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ได้บงการควบคุม ครอบงำ ชี้นำพรรค  ไม่ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นอิสระ เช่น การสนับสนุนงบหาเสียงของผู้สมัคร การจัดทำป้ายหาเสียง รวมถึงจัดตั้งแกนนำต่างๆ เกิดจากการกระทำของนายสุทัศน์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้คำร้องยังระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงขอให้กกต.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมสั่งระงับการประกาศคะแนนเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต และ การประกาศผลการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ จนกว่าจะมีการวินิจฉัยแล้วเสร็จ และขอให้มีคำสั่งยุบพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วย