PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

นายกฯลงนาม ทูลเกล้าฯ ถอดยศ "พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร" แล้ว ยันไม่กลั่นแกล้ง

นายกฯลงนาม ทูลเกล้าฯ ถอดยศ "พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร" แล้ว ยันไม่กลั่นแกล้ง ยึดตามขั้นตอน เมื่อ สตช.เสนอมา ส่วน เรียกคืน เครื่องราชย์ฯ เป็นขั้นต่อไป
พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามทูลเกล้าฯถอดยศทพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตาม ที่ สตช.เสนอมาแล้ว
"ขอสื่อมวลชนอย่าให้ความสนใจ เพราะการถอดยศ ที่เป็นไปตามกระบวนการ ไม่มีการกลั่นแกล้ง และขอให้มองที่สาเหตุ กติกา ขั้นตอน ไม่ใช่มองที่ตัวบุคคล"
ส่วนกรณียกเลิกพาสปอร์ตของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทย นั้น รองโฆษกณ กล่าว ว่า ไม่ได้เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่หากมีสิ่งที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกระทบต่อการทำงานของ คสช. เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและที่ผ่านมาได้มีการตักเตือนไปแล้ว
พลตรีวีรชน ยังกล่าวถึงกลุ่มเคลื่อนไหวที่ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด แต่ได้ปล่อยให้เป็นไปตามหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ซึ่งจะผ่านหรือไม่ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ส่วนกรณีที่มีกลุ่มต่างๆออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ขอให้เข้าใจว่าขณะนี้บ้านเมืองยังไม่ปกติ และไม่ถึงเวลาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในตอนนี้

นศ.วปอ.57 เสนอ ยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคง ยก ระดับ กอ.รมน. เป็นกระทรวง

นศ.วปอ.57 เสนอ ยุทธศาสตร์ชาติ ความมั่นคง ยก ระดับ กอ.รมน. เป็นกระทรวง/ ส่วนนักเรียนวิทยาลัยการทัพ เสนอยุทธศาสตร์ทหาร "กองทัพอเนกประสงค์"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ หัวหน้า คสช. พร้อม ครม.รมต.รองนายกฯนาย สมคิด ผบ.สส. ตัวแทน ผบ.เหล่าทัพ ฝ่ายทหาร ทั้ง พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร ผบสส. พลเริอเอกไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบทร. พลเอกธีรชัย นาควานิช ว่าที่ ผบทบ.พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง เสธ.ทอ. ร่วมฟังการแถลงยุทธศาสตร์ชาติ 2559-2563 และยุทธศาสตร์ทหาร ของ นศ.วปอ.57
ก่อนหน้า ร่นสยกฯจะกล่าว นั้น โดย นศ.วปอ.เสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคง ด้วยการเสนอตั้ง กระทรวง กอ.รมน. เพื่อดูแลความมั่นคงทั้งหมด ที่ซับซ้อน หลากหลายขึ้นมาก พร้อมการกำหนดนโยบาย ด้านไซเบอร์
พร้อมเสนอ ตั้งกกล.ทางเรือ อาเซี่ยน ให้ประเทศสมาชิกส่งกำลัง เรือ กำลังพล งบประมาณ หมุนเวียน กันมาปฏิบัติหน้าที่ ทั้งเรื่องภัยพิบัติ โจรสลัด การก่อการร้ายในทะเล
ขณะที่ยุทธศาสตร์ ทหาร โดย นักเรียนทหาร ทั้ง จาก วิทยาลัยเสนาธิการทหาร วิทยาลัยการทัพบก (วทบ) วิทยาลัยการทัพเรือ(วทร )และ วิทยาลัยการทัพอากาศ(วทอ) ได้เสนอให้ กองทัพ เป็น "กองทัพอเนกประสงค์ " เพราะทำทุกภารกิจ ทั้งการปกป้องสถาบัน แ้องกันจากภัยคกคามทหาร แก้ปัญหาทุกระดับขัดแย้ง และภัยคุกคาม ไม่ตามแบบ ภาคใต้ การคุ้มครอง ผลประโยชน์ของชาติ ทางบก ทางทะเล และห้วงอากาศ สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน มิตรประเทศ การช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรม สงครามไซเบอร์ และต้องมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย อุตสาหกรรมป้องกีนประเทศ Network centric
พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี บ่น บนเวที แถลงยุทธศาสตร์ชาติ ของ นศ.วปอ. บอก ปวดหัว โดนด่าว่า ได้ประโยชน์ รธน.หาว่าผมเหยียบเรือสองแคม ผ่าน หรือ ไม่ผ่าน ผมก็ได้ประโยชน์ เปรย แนวคิดของผม และ สปช.ในเรื่อง รธน.ตรงกัน ก็หาว่าผมได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์อะไรวะ
ยัน ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นนักการทหาร แต่มาทำหน้าที่ทางการเมือง
ใครว่าเป็นนายกฯดี สนุก ไม่เห็นสนุกเลย กลับบ้านมีแต่ทุกข์ ไม่สนุก ไม่สุข ไลน์มาแล้วเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยันไม่เคยคิดอยากอยู่นาน หรืออยู่เกินโรดแมพ เลือกตั้ง 2559 เปรยเมืองไทย ไม่มีเงิน งบฯ ติดกับดัก เหน็บมีคนรวยเยอะ แต่ไปอยู่ตปท.หลายคน รวยมาก แต่มันใช้เงินไม่ได้ ยันต้องปราบคอรัปชั่น ปลูกฝังเด็ก โตยังไงไม่โกง
ยัน ผมเป็นคนโวยวาย เสียงดัง เพราะผมไม่กลัว เพราะผมไม่มีเบื้องหลัง หรือไม่มีแม้แต่ ใต้เท้า เป็นนายกฯไม่ได้สักบาท
เผย อดทนกับการเมือง มาตลอด แต่ 6 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ทนไม้ไหว โดนด่าทั้งสองฝ่าย
นายกฯ เผยคาดโทษ กต.และ ทูตในตปท.ห้ามรับนาย-เมียนาย ไปเที่ยว รับแขก แจกของ ผมวางสายไว้หมดแล้ว ก.ต่างประเทศตัองทำเชิงรุก สถานทูตต้องรู้เศรษฐกิจ
— กับ Wassana Nanuam

'แม้ว'ส่งสัญญาณหลังคสช.ไล่บี้ จ่อบินฮ่องกงปักหลักสู้อีกเฮือก

'แม้ว'ส่งสัญญาณหลังคสช.ไล่บี้ จ่อบินฮ่องกงปักหลักสู้อีกเฮือก

วันศุกร์ ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558, 16.34 น.
4 ก.ย.58 แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมเดินทางมาปักหลักที่เกาะฮ่องกง ในช่วงวันที่ 18 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยจะมาตั้งหลักต่อสู้อีกครั้ง หลังจากที่โดนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) งัดคดีต่างๆ ที่เป็นชนักของตัวเองและครอบครัว รวมทั้งเครือข่ายถูก คสช.ไล่บี้ ต่างทยอยติดคุกกันเป็นแถว
อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญฉบับเรือแป๊ะที่วางอำนาจให้ คสช.ยังคุมเกมประเทศยาว ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ด้วย 32 อรหันต์ ใช้สูตรโปลิตบูโรปกครองคอยกำกับรัฐบาลอีกชั้น เป็นเหมือนซูปเปอร์รัฐบาล แน่นอนว่า หากทางพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ จะนิ่งรอไปอีก 5 ปี ก็คงจะหมดฐานเสียง หมดโอกาส ทุกประตูถูกปิดที่จะเดินทางกลับประเทศ และที่สำคัญ ขณะนี้คดีใหญ่ๆ ก็เริ่มเห็นคำตอบ ทั้งคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ โดนอีกคดี และยังพ่วงคดีฟอกเงิน นายพานทองแท้ ชินวัตร และเลขาฯ ของครอบครัว ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังเล่นงานอีกเด้ง อีกทั้งคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขึ้นสู่ศาล ให้ลุ้นกันในเร็วๆ นี้ พร้อมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาขู่ให้จ่ายค่าเสียหายโครงการ
"จากนี้สัญญานชัดเจนว่า คสช.เร่งเดินหน้าไล่ล้างตระกูลชินวัตร ซึ่งไม่ว่าจะถูกบีบอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเตรียมดิ้นสู้ และไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปสู่การทำประชามติหรือไม่ คาดว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างเร็วภายในปี 2562" แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย กล่าว

"ดีเอ็นเอ"ยัน! "ยูซุฟู"ไม่ใช่ชายเสื้อเหลือง แฉเคยซื้อชิ้นส่วนบึ้มผ่านเน็ตในไทย

วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 08:15:59 น มติชน


http://www.matichon.co.th/online/2015/09/14413296321441329647l.jpg

วันที่ 3 ก.ย.58 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ  ผู้ช่วยผบ.ตร.และ โฆษก ตร. กล่าวว่า วันนี้ศาลจังหวัดมีนบุรีได้ออกหมายจับ นายไมไรลี ยูซุฟู  เชื้อชาติจีน สัญชาติจีน อายุ 26 ปี ในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ นายยูซุฟู คือผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถควบคุมตัวได้ที่บริเวณด่านตรวจบ้านป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ขณะกำลังเดินทางออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตามการออกหมายจับครั้งนี้เป็นไปตามคำให้การของพยานบุคคลที่เห็นนาย ไมไรลี ยูซุฟู  เข้าออกห้องเช่าย่านหนองจอกและพยานหลักฐานที่ตรวจพบที่ห้องพักเลขที่ 414 พูลอนันต์อพาร์ตเม้นท์ ย่านหนองจอก รวมทั้งจากผลตรวจดีเอ็นเอลายนิ้วมือแฝงบนถังบรรจุอุปกรณ์ที่ใส่สารประกอบระเบิดซึ่งพบในห้องดังกล่าว

“จากข้อมูลของตำรวจคิดว่าชายคนนี้ไม่ใช่ชายเสื้อเหลืองและเสื้อฟ้าที่นำระเบิดไปวางในที่เกิดเหตุแยกราชประสงค์แต่อาจทำหน้าที่เกี่ยวกับวัตถุระเบิดอยู่ในขบวนการนี้ มีบทบาทสำคัญ โดยการออกหมายจับครั้งนี้ยึดตามพาสปอร์ตที่ติดตัวเขา โดยระบุสัญชาติจีน อยู่ที่เมืองซินเจียง ขณะนี้ได้ส่งพาสปอร์ตส่งให้ทางสถานทูตจีนตรวจสอบเพื่อยืนยันอีกครั้ง ขณะที่ชายคนดังกล่าวสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย ประกอบกับภาษาท้องถิ่นซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาใด” พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าว

พล.ต.ท.ประวุฒิ  กล่าวถึงกรณีการตรวจค้นบ้านเช่า ที่ราชอุทิศ 34 ย่านมีนบุรีช่วงบ่ายวันนี้ว่า เจ้าหน้าที่สืบทราบมาว่า นางสาววรรณา ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าบ้านหลังกล่าวดังกล่าวเอาไว้ เป็นหนึ่งในจำนวนหลายที่พักที่น.ส.วรรณาติดต่อเช่า  โดยพบว่ามีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดแวะเวียนเข้าออกอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเข้าไปค้นก็พบวัตถุต้องสงสัย เป็นแกลลอนบรรจุสารเคมีบางอย่าง ซึ่งเป็นของเหลว จำนวน 7 แกลลอน ที่อาจใช้ผลิตระเบิดได้ โดยขณะนี้ได้ประสานให้หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดไปตรวจสอบอย่างละเอียดว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นสารที่ใช้ผลิตระเบิดหรือไม่ต่อไป

 โฆษกตร.กล่าวด้วยว่า ติดต่อ น.ส.วรรณาได้ครั้งสุดท้ายเมื่อ วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา  และขาดการติดต่อไป ทั้งนี้ได้ประสานหมายจับไปยังตำรวจสากล และประเทศตุรกีแล้ว แต่ยังไม่มีการแจ้งกลับมาว่าพบ น.ส.วรรณาและสามี อย่างไรก็ตามขณะนี้ทั้งตุรกี และจีนให้ความร่วมมือในการประสานข้อมูลอย่างดี

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าจากการตรวจสอบพบว่าช่วงเช้าวันที่17 สิงหาคม กลุ่มผู้ร่วมขบวนการรวมตัวกันที่ย่านมีนบุรี ก่อนที่จะกระจายลงพื้นที่ย่านบางคอแหลม สถานีรถไฟหัวลำโพง และสี่แยกราชประสงค์ โดยบริเวณสี่แยกราชประสงค์คนร้ายเดินทางมาที่เกิดเหตุจำนวนสองคนรวมถึงชายเสื้อเหลืองด้วยจากนั้นชายที่มากับชายเสื้อเหลืองได้เดินทางออกจุดเกิดเหตุก่อนเพียงไม่นานเรียกรถแท็กซี่จากบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุบริเวณศาลท้าวมหาพรหม

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่าจากการตรวจสอบหลักฐานที่ยึดมาได้ภายในห้องพักพูลอนันต์อพาร์ตเมนต์ พบว่านายยูซุฟ มีไรลี เป็นผู้สั่งซื้อเคมีภัณฑ์และชิ้นส่วนวัตถุประกอบระเบิดผ่านทางอินเตอร์เน็ตอยู่สองครั้งคือเดือน กรกฏาคม และสิงหาคม

ยกฟ้อง "นพดล ปัทมะ" รอดคดีเขาพระวิหาร ไม่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่



ศาลฎีกาฯ ลงมติ 6 ต่อ 3 พิพากษายกฟ้อง "นพดล ปัทมะ" รอดคดีเขาพระวิหาร ไม่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ยันปฏิบัติสมเหตสมผล ไม่ใช่สนธิสัญญา จึงไม่ต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณา ชี้ไม่เอี่ยวปม "ทักษิณ" เจาะน้ำมันเขตทับซ้อนทางทะเล
 PIC nopadoll 4 9 58 1
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
จากการที่นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาต่อรัฐสภาฯ 
ศาลระบุว่า คดีนี้ประเด็นให้วินิจฉัย 2 ประเด็น ประเด็นแรก คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมฯดังกล่าว ถือเป็นสนธิสัญญา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาต่อรัฐสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 วรรคสอง ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยึดอำนาจและทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้ แต่ คสช. ได้ออกคำสั่งรับรองอำนาจของศาล และหาได้มีผลกระทบต่อการพิจารณาคดี เนื่องจาก คสช. ไม่ได้ประกาศลบล้างการกระทำของจำเลย (นายนพดล) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับศาลฎีกาฯ
ประเด็นที่สอง จำเลยปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีนี้จำเลยปฏิบัติสมเหตุสมผล และออกคำสั่งที่เป็นประโยชน์ และพึงระมัดระวังต่อราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเคยเบิกความ ระบุว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ไม่มีผลกระทบเรื่องเขตแดน นอกจากนี้จำเลยยังปรึกษาคณะทำงาน รวมถึงข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ตลอด ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้าน เท่ากับว่าไม่ได้เป็นการริเริ่มทำแถลงการณ์ร่วมฯเอง ชี้ให้เห็นว่าเป็นการกระทำโดยเปิดเผย ปกป้องอธิปไตยของชาติ
ส่วนกรณีที่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรนั้น ศาลเห็นว่า แม้จะเป็นวาระจร แต่ก็เคยนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบก่อนหน้านี้แล้วถึง 2 ครั้ง จึงไม่พอฟังได้ว่ารีบเร่งอย่างผิดปกติ
ส่วนกรณีที่นายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว. และนางรสนา โฆษิตตระกูล อดีต ส.ว. เห็นว่า การลงนามดังกล่าวของจำเลย ส่งผลประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนนั้น เป็นเพียงการรับทราบจากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับผลประโยชน์ในการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงยังไม่มีพยานหลักฐานว่า ปัจจุบันมีบริษัทจากทั้งตัวแทนฝั่งไทย และฝั่งกัมพูชา เข้าไปดำเนินการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ไม่นำแถลงการณ์ร่วมฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้น ศาลเห็นว่า กรณีนี้ข้าราชการระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ถ้าเป็นสนธิสัญญา ทางกรมฯจะดำเนินการยื่นเรื่องส่งให้รัฐสภาพิจารณาอยู่แล้ว แต่แถลงการณ์ร่วมฯดังกล่าว ไม่ใช่ จึงไม่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้นการลงนามของจำเลยจึงสมเหตุสมผล ถูกต้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศประเมินไว้ว่า ไม่กระทบต่อเขตแดน รวมถึงสิทธิพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 
ศาลฎีกาฯ จึงมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พิพากษาให้ยกฟ้อง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ภายหลังจากรับทราบคำพิพากษา นายนพดล ปัทมะ ได้แสดงรอยยิ้มพึงพอใจต่อคำพิพากษาของศาลฯที่ออกมาในครั้งนี้   

ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญหลายประการขัดหลักประชาธิปไตยชัดเจน





ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญหลายประการขัดหลักประชาธิปไตยชัดเจน ขณะที่นายกตั้งคำถามความชั่วร้ายในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบก็มี
ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ กล่าวในการเสวนาวิชาการที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ่ายวันนี้ว่าเขาอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บนพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบสากล ซึ่งมีหลักการ 5 ประการ ได้แก่ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน ต้องมีการปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีหลักนิติธรรมตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย ต้องมีหลักการมีส่วนร่วม และต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้
ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรา 3 ของร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งเขาเห็นว่านี่คือหลักการใหญ่ที่สุด ดังนั้นบทบัญญัติข้อไหนขัดกับหลักข้อ 3 ถือว่าใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาเห็นว่าบางบทบัญญัตินั้นผิดหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 อย่างชัดเจน บทบัญญัติข้อแรกคือที่มาของวุฒิสมาชิก ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนแรกมาจากกการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ส่วนนี้เป็นประชาธิปไตย แต่อีก 123 คนมาจากการสรรหา ศ.ดร.ลิขิตกล่าวว่าทันทีที่มีการใช้วิธีการสรรหาก็ขัดหลักอำนาจอธิปไตยทันที และจำนวน 123 มากกว่า 77 ดังนั้นเมื่อมีการลงมติก็ไม่สามารถคานกันได้
“แม้จะเป็นคนที่มาเพื่อประโยชน์ชาติ แต่ไม่ใช่ประเด็น เพราะขาดหลักการสำคัญคือการมาจากประชาชน”
ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์กล่าวว่าบทบัญญัติต่อมาที่ผิดหลักอธิปไตยเป็นของปวงชน คือมาตรา 23 ซึ่งเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้หากเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งที่ผ่านมาวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเป็นวิกฤตที่สร้างขึ้นมาไม่ได้เกิดเองโดยธรรมชาติ แต่เป็นวิกฤตเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะเอาคนนอกมาเป็นนายก และนี่ขัดกับหลักการในมาตรา 3 และเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่หนักที่สุด
ศ.ดร. ลิขิตชี้ว่าบทบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนข้อที่ 3 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดที่สุดเพราะคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถควบคุมฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งได้ กลายเป็นพี่ใหญ่หรือบิ๊กบราเธอร์มากำกับดูแล
“บิ๊กบราเธอร์นี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลย นี่เป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบเท่านั้น คือเป็นประชาธิปไตยเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์” ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า ประเทศไทยกับสังคมไทยจะไปทางไหน และประชาธิปไตยไทยจะไปทางไหน แต่คนที่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นักการเมืองทุกฝ่ายต้องคิดดีๆ ผิดพลาดไม่ได้ เพราะจะเสียหายอย่างมหาศาล
อีกด้านหนึ่ง ช่วงเที่ยงของวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องที่ตนสั่งไม่ได้ แต่อยู่ที่ประชาชนว่าเรียนรู้ที่จะอยู่กันอย่างไรในอนาคต และตั้งคำถามกลับด้วยว่า ความชั่วร้ายต่างๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบได้เช่นกัน
“ไม่ใช่ผมสั่งหรือไม่สั่ง แต่อยู่ที่พวกท่านจะเรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต จะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง จะอยู่ท่ามกลางการเมืองที่ไม่เหมือนปัจจุบัน ถ้าจะเอาแบบนั้นก็เอา แต่สิ่งที่จะเตือนไว้คือ รัฐธรรมนูญมีอยู่หลายหมวด หลายมาตรา อย่าไปดูแต่ 1 2 3 4 5 ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นมันก็คงจะไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อให้พูดให้เป็นมันก็ไม่เป็น แต่ความชั่วร้ายที่มันเกิดขึ้นที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบมันจะมีหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว
(ภาพ ศ.ดร. ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตสาขารัฐศาสตร์ ในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ประมวลผลงานบิ๊กตู่

มีคนเริ่มประมวลผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บ้างแล้วผ่านทางโลกโซเชียลว่า ทำไปหลายงานสำคัญๆด้วย กัน


1.จับมือวางระเบิดราชประสงค์ ๒
2.ออกหมายจับเพิ่มเติมไปอีก ๘
3.ถอนหนังสือเดินทางจาตุรนต์
4.เซ็นรับทราบถอดยศทักษิณชินวัตร
5.ขอนักธุรกิจญี่ปุ่นช่วยตามตัวปวิน
6.ลดราคาสลากเป็น ๘๐ บาททั่วประเทศ
7.เพิ่มรางวัลสามตัวหน้าทำสลากขายดี
8.ให้ผู้ขายสลากซื้อตรงได้จากกรุงไทย
9.ลดเวลาเรียนเพิ่มกิจกรรมเสริมทักษะ
10อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านแบบมีการตรวจสอบ
11สั่งผบ.ตร.ห้ามพูดเรื่องบ่อนกาสิโน
12จัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์และรถตู้
13จัดระเบียบอุทยานนำรายได้เข้าชาติ
14จัดระเบียบร้านค้าริมชายหาดทั่วประเทศ
15จัดระเบียบร้านค้าริมทางเท้าทั่วกทม.
16เปิดเส้นทางเดินเท้าบริเวณตลาดคลองถม
17จัดระเบียบร้านเหล้ารอบสถานศึกษา
18เจิมคนเขียนลมเปลี่ยนทิศไทยรัฐ
19ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยต่ำสุดในรอบสิบกว่าปี
20ประหยัดเงินใต้โต๊ะลงกว่าปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ล้าน
21ขุดบ่อน้ำรับภัยแล้วกว่า ๒,๐๐๐ บ่อทั่วประเทศ
22ประเทศสงบไม่มีเดินประท้วงข้างถนนรายวัน
23ปิดสถานีวิทยุชุมชนปลุกระดมการเมืองเสียสิ้น
24ปิดเวบไซต์ไม่เหมาะสมไปอีกกว่า ๑,๒๐๐ เวบ
25ปราปเด็กแว้นบอยสก๊อยเกิร์ลปวนเมืองเข้าคุก
26ออกกฎถ้าเด็กแว้นโดนจับพ่อแม่ก็จะโดนด้วย
27จับอาวุธสงครามได้ทั้กลางเมืองและทั่วประเทศ
28ตำรวจไหนทำผิดกฎหมายลุงย้ายเรียบ
29จับบิ๊กกิ๊กตำรวจตัวโคตรใหญ่เข้าคุก
30ยึดที่ดินครอบครองผิดกม.คืนจากนายทุน
31เอาที่ดินกลับมาเป็นของรัฐได้กว่า ๘๐,๐๐๐ ไร่
32ผลักดันกฎหมายสำคัญรวมแล้วอีกกว่า ๘๐ ฉบับ
33โยกย้ายดำเนินการทางวินัยข้าราชการทุจริต
34แก้ไขปัญหาประมงและธุรกิจการบินผิดกฎหมาย
35เดินหน้าแก้ปัญหาค้ามนุษย์จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว
36นักการเมืองทำผิดเดินคอตกเข้าคุกเป็นแถว
37ได้คะแนนนิยมสูงกว่ายิ่งลักษณ์และอภิสิทธิ์
38แถมไม่ตั้งน้องชายตัวเองเป็นผบ.ทบ.ด้วยนะเออ
ยุคไหนแซ่บเท่ายุคนี้ไม่มีอีกแล้ว

รายงาน: ข้อมูลเบื้องต้นการซ้อมทรมานผู้ต้องขังคดีอาวุธ หลังรัฐประหาร 2557



รายงาน: ข้อมูลเบื้องต้นการซ้อมทรมานผู้ต้องขังคดีอาวุธ หลังรัฐประหาร 2557

หากสังเกตให้ดี เหตุผลหลักที่คณะรัฐประหารประกาศต่อสาธารณะเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องคอรัปชั่น ดังที่เคยปรากฏในการยึดอำนาจครั้งก่อน แต่เป็นเรื่อง ‘ความรุนแรง’ (อ่านประกาศคสช.ฉบับที่1)
รูปธรรมสำคัญที่ทยอยตามติดมา คือ การจับกุมผู้ต้องหาคดีอาวุธหนักต่างๆ ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลทางเดียวจากฝ่ายเจ้าหน้าที่โดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม
การจับกุมมีทั้งส่วนที่แถลงข่าวและไม่แถลงข่าว โดยมากมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ตำรวจแถลงว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ที่ผ่านมา แม้ ผบ.ตร.จะยืนยันว่าไม่มีการจับแพะ ข่มขู่ ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพก็ตาม แต่ข้อมูลหนึ่งที่พอเป็นเบาะแสความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการได้ คือ รายงานของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ออกมาในวาระครบ 100 วันการรัฐประหาร รายงานนี้ระบุว่า
“ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธสงคราม มีอย่างน้อย 14 กรณี ที่มีการซ้อมทรมาน ทั้งการทำร้ายร่างกายและพูดจาข่มขู่ เพื่อให้ผู้ถูกกักตัวให้การซัดทอดหรือรับสารภาพว่าได้เคยทำการก่อเหตุความไม่สงบในจุดต่างๆ ในช่วงการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกจับกุมหรือกักตัวเป็นคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการ์ดเสื้อแดง”
รายงานของประชาไทชิ้นนี้พยายามตรวจสอบข้อมูลชั้นต้นในบางกรณี เพื่อเปิดพื้นที่ข้อมูลข่าวสารหลายทางให้สังคมได้ร่วมพิจารณาตรวจสอบการได้มาซึ่งข้อมูลของเจ้าหน้าที่ อันเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม และข้อมูลทั้งหมดได้รับอนุญาตจากแหล่งข้อมูลให้ทำการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว

ขั้นตอนก่อน ‘รับสารภาพ’

ผู้ต้องหาคดีอาวุธโดยส่วนใหญ่ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว เมื่อถึงชั้นสอบสวนของตำรวจก็จะรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม เราพบว่าการข่มขู่คุกคามก่อนหน้าการรับสารภาพมีหลายรูปแบบ บางส่วนได้รับเพียงถ้อยคำข่มขู่ ขณะที่มีอย่างน้อย 3 รายที่ระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายระหว่างควบคุมตัวโดยกลุ่มบุคคลที่พวกเขาคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนจะถูกส่งตัวให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและนำไปฝากขังยังเรือนจำ หลายรายสั่งฟ้องยังศาลทหารแล้ว บางรายสั่งฟ้องยังศาลอาญาปกติ  ลักษณะร่วมของการถูกควบคุมตัวก่อนถึงมือพนักงานสอบสวนคือ การพันธนาการ การใช้ถุงผ้าดำคลุมศีรษะหรือใช้ผ้าปิดตา นำไปยังสถานที่ที่ไม่อาจรู้ว่าที่ใด สำหรับบางคนมีการจับกุมผู้ที่ติดตามไปด้วยและแยกคุมขังก่อนปล่อยตัวผู้ติดตาม
ชัชวาล ปราบบำรุง
อายุ: 45 ปี
อาชีพ: ช่างเครื่องเย็น
วันที่ถูกทหารจับกุม:  6 ก.ค.2557
วันที่ออกหมายจับ: 14 ก.ค.2557 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้
วันที่ตำรวจแจ้งข้อหา (และแถลงข่าว):  15 ก.ค.2557
ระยะเวลาถูกควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา: 9 วัน
ข้อหา:
ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันให้ก่อเหตุระเบิดจนน่าเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น มีและใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ มีและพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามนำอาวุธปืนเครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดออกนอกเคหะสถานตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร
(ตามรายงานข่าวระบุว่าเขาถูกกล่าวหาว่าอยู่ในกลุ่มบุคคลที่ยิง M79 ใส่บิ๊กซี ราชดำริ ระหว่างมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เมื่อ 24 ก.พ.2557 มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย)
พฤติการณ์การจับกุม:
เขาและภรรยาถูกจับกุมกลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเดินทางไปทำธุรกรรมด้านที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือได้เข้าล้อมและควบคุมตัวขึ้นรถตู้ ระหว่างการเดินทางที่คาดว่าน่าจะเป็นการเข้ากรุงเทพฯ เขาถูกปิดตาโดยตลอดและถูกข่มขู่ว่าให้สารภาพมาให้หมดไม่เช่นนั้นภรรยาของเขาที่เดินทางมาด้วยกันและถูกคุมตัวแยกในรถอีกคันอาจจะไม่ปลอดภัย
เมื่อถึงที่หมายเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คนประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายเป็นระยะ อีกราว 3-4 ชม. ก่อนจะถูกนำตัวเข้าไปในอาคารและเดินลงด้านล่างซึ่งคาดว่าอาจเป็นห้องใต้ดิน มีการนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก อีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด
เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาจำนวนมากพร้อมกับผู้ต้องหารายอื่นอีก 3 คน
ขณะที่ภรรยาของเขาที่เดินทางมาด้วยกัน แม้จะไม่ใช่เป้าหมายของการจับกุมแต่ก็ถูกคุมตัวไว้หลายวันเช่นกันก่อนจะปล่อยตัว ไม่มีการทำร้ายร่างกายนอกจากปิดตา และแยกคุมตัวเดี่ยวในห้องปิดตายที่ไม่รู้เวลากลางวันหรือกลางคืนโดยมีเจ้าหน้าที่หญิงคอยเฝ้ายาม และมีการสอบสวนหลายครั้ง
นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี
อายุ: 45 ปี
อาชีพ: พนักงานหน่วยศึกษานิเทศ กรมอาชีวศึกษา เคยทำงานขับรถตู้เส้นทางรามอินทรา-สีลม โดยมีรถตู้เป็นของตนเอง
วันที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่อแบบจับกุม: ค่ำวันที่ 5 ก.ย.2557

วันที่ตำรวจแถลงข่าว:  11 ก.ย.2557

ระยะเวลาถูกควบคุมตัวก่อนแจ้งข้อหา: ราว 6 วัน

ข้อหา: ร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่นายทะเบียน ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ /พกพาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร
(ผู้ต้องหาถูกนำตัวมาแถลงข่าวพร้อมกับคนอื่นๆ อีกรวมเป็น 5 ราย ในช่วงแรกสื่อทุกสำนักลงข่าวตามการให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ตร.ว่าเป็นกรณียิงต่อสู้ทหารในวันที่ 10 เม.ย.จนเป็นเหตุให้พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และพลทหารเสียชีวิต แต่ต่อมา พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รองผู้บังคับการปราบปราบ ยืนยันว่าเป็นคนละกรณี ไม่เกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า)
พฤติการณ์การจับกุม:
เขาถูกชาย 3  คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ พร้อมข่มขู่ไม่ให้ภรรยาของเขาแจ้งความ ไม่เช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยของครอบครัว หลังจากนั้นเขาถูกนำไปกักตัวไว้ที่สถานที่แห่งหนึ่ง
การสอบสวนมีตั้งแต่คืนแรก ระหว่างการสอบมีการใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน มีการตบหัวและตบปาก นอกจากนี้ยังถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้พูดตามที่ผู้สอบสวนต้องการ มุ่งเน้นให้รับสารภาพเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่นโดยนำรูปใบหน้าคนมาให้ดูพร้อมซักถามว่ารู้จักหรือไม่
เขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้นแต่ขณะเดียวกันก็จะถูกใส่กุญแจมือตลอดการนอน
วันรุ่งขึ้นเขายอมรับสารภาพตามที่ผู้สอบสวนต้องการทุกประการเพราะเกรงว่าจะโดนทำร้ายอีก จากนั้นจึงมีการเซ็นชื่อรับสารภาพและรับรองว่าใบหน้าต่างๆ นั้นตรงกับรายชื่อของผู้สอบจริง
บัญชา  โคตรภูธร
อายุ: 28 ปี
อาชีพ:  รับเหมาก่อสร้าง
วันที่ถูกจับกุม: 22 ก.ค.2557
วันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา: 23 ก.ค.2557
รวมระยะเวลาถูกคุมตัวก่อนแจ้งข้อกล่าวหา:  1 คืน
ข้อหา: ปล้นทรัพย์ (หมายจับคดีเก่า)
พฤติการณ์การจับกุม:
เขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมกลางดึกขณะอยู่กับเพื่อนนับสิบในบ้านหลังหนึ่ง เขาและเจ้าของบ้านถูกนำตัวขึ้นรถ ระหว่างเดินทางถูกปิดตาและไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าไปที่ใด เมื่อถึงที่หมายเขาถูกเตะ ตบ และมีการข่มขู่ให้ให้ข้อมูลว่าใครอยู่ในขบวนการค้ายาบ้าง และเมื่อบอกว่าไม่รู้ก็จะถูกรุมเตะ หลังจากโดนทำร้ายอยู่ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นเขาถูกถีบลงหลุมและมีการเทดินถมจนเหลือแต่ศีรษะ ระหว่างนั้นมีการข่มขู่พร้อมตบหน้าด้วยปืน ราวครึ่งชั่วโมงจึงถูกนำตัวขึ้นมา เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ราวเที่ยงคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะโดนซ้อมโดนปิดตา คาดเดาจากเสียงว่าเป็นชายราว 4-5 คน วันรุ่งขึ้นจึงถูกนำตัวไปส่งตำรวจยังสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ของกลางที่พบในบ้านคือ กัญชา 2 ห่อ ใบกระท่อม 100 กว่าใบ

ภาพรวมคดีอาวุธ

ข้อมูลจากเว็บไซต์อินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ซึ่งดำเนินการรวบรวมคดีต่างๆ หลังการรัฐประหาร ทั้งคดี 112 การเรียกเข้ารายงานตัวตามประกาศ คสช. การชุมนุมฝ่าฝืนกฎอัยการศึก และคดีอาวุธอันเกี่ยวพันกับการเมือง ระบุว่า มีผู้ต้องหาคดีอาวุธอันเกี่ยวพันกับการเมืองรวม 53 ราย ส่วนใหญ่คดีขึ้นสู่ศาลทหาร และมีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการประกันตัว
นักกฎหมายจากไอลอว์ระบุว่า ลักษณะข้อหาครอบครองอาวุธจะขึ้นสู่ศาลทหาร เนื่องจากการครอบครองนั้นนับถึงปัจจุบันที่มีประกาศ คสช.แล้ว ส่วนคดีที่ก่อเหตุตามพื้นที่ต่างๆ ในช่วงการประท้วงทางการเมืองถือว่าเป็นเหตุที่เกิดก่อนการรัฐประหารจะขึ้นสู่ศาลยุติธรรมปกติ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ในคดีอาวุธมีปัญหาไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว รวมทั้งการหาทนายความในการต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นคดีหนักและเกี่ยวพันกับการเมือง

ศาลสั่งประหารชีวิต 4 ผู้ต้องหาคดีระเบิด M 79 หน้าบิ๊กซี

ศาลสั่งประหารชีวิต 4 ผู้ต้องหาคดีระเบิด M 79 หน้าบิ๊กซี รับสารภาพเหลือจำคุกตลอดชีวิต

4 ก.ย. 2558 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง มีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดียิงระเบิด M 79 ลงหน้าห้างบิ๊กซี ราชดำริ ศาลตัดสินประหารชีวิตในคดีร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนพกพากอาวุธไปที่สาธารณะลง 2 ปี แต่สารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์ จึงลด 1 ใน 3 ร่วมกันฆ่าเหลือตลอดชีวิต พกพาอาวุธเหลือ 1 ปี 4 เดือน แต่ศาลให้ลงตลอดชีวิตอย่างเดียว
ส่วนเรื่องซ้อมทรมานศาลว่าเป็นเพียงการอ้างลอยโดยเท่านั้น ไม่พิจารณา และ พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี นั้นอ้างว่าในระหว่างที่เขาสอบสวนไม่มีการซ้อม เพราะเป็นตำรวจยศสูงจึงเชื่อถือได้
สำหรับคดีนี้ ชัชวาล ปราบบำรุง จำเลยที่ 1, สมศรี  มาฤทธิ์ จำเลยที่ 2, สุนทร ผิผ่วนนอก จำเลยที่ 3 และทวีชัย วิชาคำ จำเลยที่ 4 ซึ่งอัยการยื่นฟ้องว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยใช้เครื่องยิงกระสุนระเบิด M79 ยิงกระสุนระเบิดขนาด 40 มม. ตกลงไปที่บริเวณหน้าห้าง Big C สาขาราชดำริ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 ก.พ. 2557 ซึ่งคดีนี้ศาลได้สืบพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีผู้ได้รับบาดเจ็บร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก 1 ราย

ย้อนรอยบทเรียน "พระวิหาร" ถึงวันพิพากษา ชี้ชะตา "นพดล"


ปฏิบัติการกัมพูชาขึ้นทะเบียน "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลก เกี่ยวข้องกับ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นั่งควบรมว.กลาโหมเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบแผนที่ ที่กัมพูชาจัดทำขึ้นเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อเสนอต่อยูเนสโกประกอบการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมทั้งเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ว่าไทยได้ "สนับสนุน" กัมพูชา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ที่มี นายสมัคร นั่งหัวโต๊ะ ก็เคาะมติเห็นชอบตามที่ นายนพดล เสนอมาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า"จะต้องไม่กระทบเขตแดนของไทย"
หากใครได้ติดตามสถานการณ์ในขณะที่ไทยและกัมพูชา ต้องส่งทนายขึ้นให้ถ้อยคำต่อศาลโลกกรณีดังกล่าวในช่วงนั้น ก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของนายนพดล ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทาง หลากอิริยาบถ ทั้งการตอบคำถามกับผู้สื่อข่าว ที่ต่างก็ยกหูกรี๊งกร๊างหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของนายนพดลเอง ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่มองในมุมเห็นด้วยกับการลงนามดังกล่าว และผู้ไม่เห็นด้วยที่เข้ามา "ไล่บี้" จี้เอาคำตอบต่างๆ นานา กลายเป็นข่าวดังสะท้านฟ้า จนลามไปสู่หูตาประชาคมชาวโลก ณ ห้วงเวลานั้น
ชนวนวาทกรรม"ขายชาติ"
ชนวนวาทกรรม "ขายชาติ"
สำหรับปมร้อนคดีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ต้องเท้าความจากประเด็นการยื่นจดทะเบียนตัว "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลกของ "กัมพูชา" ก่อน โดยมีรัฐบาลนายสมัคร กระทำหน้าที่บริหารประเทศในขณะนั้น ทั้งนี้ ก่อนคณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินชี้ขาด ให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาได้สำเร็จนั้น ได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 นั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินว่าการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เข้าข่ายมีความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งรัฐบาลนายสมัครได้ละเลย จนทำให้เพิ่มข้อสงสัยตามมาอีกว่า การเร่งรีบสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาของรัฐบาลไทยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในครั้งนั้น มีวาระ "ซ่อนเร้น" มากกว่าที่รัฐบาลอ้างเหตุหรือไม่
ซ้ำร้ายหลังคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในวันที่ 7 ก.ค. 2551 ภายใต้มติดังกล่าวยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจาก 7 ประเทศ ร่วมพิจารณาพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท เพื่อเสนอแผนบริหารจัดการภายในเดือน ก.พ.ปี 2552 ด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนในพื้นที่ทับซ้อนพ่วงตามไปด้วย
โดยกระแสการ "คัดค้าน" การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชา จุดชนวน "ลุกลาม" ไปทั่วประเทศ จนผู้คนจากหลายองค์กรต่างออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย "ยุติ" การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อดินแดนของไทยในอนาคต แต่รัฐบาลไทยในสมัยนั้น กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน จนส่งผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อีกทั้งกัมพูชาส่งกองกำลังทหารเข้ายึดปราสาทพระวิหาร จนเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย โดยกัมพูชาได้ส่งกำลังทหารเข้ายึด ปราสาทสด๊กก๊อกธม, ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาควาย เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือขอบขัณฑสีมาไทย รวมถึงไทยยังถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากผู้นำรัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย ทั้งนี้ในระดับนานาชาติฝ่ายกัมพูชายังได้ร้องต่อเวทีการประชุมอาเซียน กล่าวหาว่าไทย "รุกล้ำดินแดน" เหนืออธิปไตยเขมร รวมทั้งได้ยื่นเรื่องให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นำประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมาพิจารณาในระดับพหุภาคีด้วย
นอกจากนี้การดำเนินการของรัฐบาลไทย แทนที่จะดำเนินการใน "เชิงรุก" แต่กลับวิ่งไล่ตามหลังกัมพูชา จนทำให้รัฐบาลของนายสมัครเสื่อมศรัทธาลงเป็นลำดับ และถูกขยายข้อครหาเพื่อแลกผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมืองข้ามชาติ เข้าข่ายส่อพิรุธ
กรณีปราสาทพระวิหารได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในขณะนั้นอย่างรุนแรง ถึงขั้นรัฐบาลต้องยอมให้มีการเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายประเด็นนี้อย่างร้อนแรง รวมถึงมีการตอบโต้ทางการทูตต่อกันหลายครั้งหลายครา แต่ที่สำคัญเลยประเด็นนี้ถูกยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีอาญาในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูก "คัดค้าน" อย่างหนักหน่วง แต่รัฐบาลของนายสมัครก็ได้เห็นชอบให้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จนได้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 และได้มีการแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า "แผนที่" เป็น "แผนผัง"
"นพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ"
ทบทวนคดีก่อนวัน "ดีเดย์"
โดยคดีในชั้นศาลฎีกาฯ นั้น เริ่มจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนคณะรัฐมนตรียุคของ "นายสมัคร" ทั้งคณะ กรณีทำให้ประเทศชาติเสียอาณาเขต ในปี 2551 จากนั้นเดือน ก.ย. ปี 2552 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด นายนพดล และ นายสมัคร กรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร และส่งคดีให้อัยการสูงสุด (อสส.) ในปีเดียวกัน จนถึงเดือนกันยายนปี 2554 อสส.มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี จนทำให้ ป.ป.ช.ต้องออกโรงฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาด้วยตนเอง ซึ่งนับจากการร้องต่อ ป.ป.ช.จนถึงขั้นตอนนี้ ใช้เวลาไปเกือบ 4 ปีเต็ม
จนในวันที่ 26 เมษายน 2556 ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง "นายนพดล" ตามที่ ป.ป.ช.ส่งทนายมายื่นและนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในปีเดียวกัน ด้วยข้อกล่าวหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่นำเรื่องการลงนามดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา"
ทั้งนี้ กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวในครั้งนั้น ย่อมเกี่ยวโยง นายนพดล ลงนามออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ทั้งๆ ที่ในสมัยที่ "รัฐบาลขิงแก่" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ บริหารประเทศ ได้ดำเนินการ "คัดค้าน" พร้อมกับเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา จนทำให้ในปี 2550 คณะกรรมการมรดกโลกไม่กล้าชี้ขาดขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา จนต้องเลื่อนการประชุมออกไป 
แต่เมื่อ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา ต่อมาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 จึงมีมติรับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามเป้าประสงค์ของกัมพูชา แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเป็น "โมฆะ" ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานหรือยับยั้งมติของคณะกรรมการมรดกโลกลงได้ 
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ทนายความกัมพูชาได้หยิบยกเอาการสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของไทย ไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ศาลเข้าใจว่า ไทยเคยยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร อยู่ภายใต้อำนาจ "อธิปไตย" กัมพูชา ดังนั้นจึงไม่มีการคัดค้านการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ที่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้เพื่อให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์ 
ปม"พระวิหาร"บนเวทีโลก
แม้ภายหลัง นายนพดล จะออกมายืนยันเสียงแข็ง โดยปฏิเสธว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะมีการยกเลิกไปแล้วนั้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูถ้อยแถลงการณ์จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 31 ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ก็จะพบว่า มีมติที่ 2.4 ระบุไว้ชัดเจนว่า "กัมพูชาและไทยเห็นพ้องกันว่า กัมพูชาจะเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขัน (Active Support) จากไทย"
จนทำให้ตัวแทนจากรัฐบาลไทยในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงขั้นลุกจากเก้าอี้เดินวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา เนื่องจากวาทกรรมดังกล่าวกระทบต่อพื้นที่โดยรอบปราสาท ซึ่งเป็นของไทย ดังนั้นกัมพูชาจึงมิอาจได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถยื่นเอกสารเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 ได้
แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ช่วงเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา นายนพดล ก็ได้เจรจาและลงนามย่อในร่างแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทได้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา 6 สัปดาห์ ตามข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ข้อที่ 45 ซึ่งระบุว่า "การแจกจ่ายเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการในประเทศภาคีพิจารณานั้น จะต้องส่งถึงคณะกรรมการก่อนประชุมอย่างน้อย 6 สัปดาห์"
ซึ่งปรากฏว่ากัมพูชาได้นำร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ที่มีลายเซ็นของ นายนพดล ไปใช้ประกอบเอกสารอ้างอิง เพื่อยื่นเสียงต่อคณะกรรมการให้เห็นว่า ไทยมีการแสดงออกถึงการ "สนับสนุน" อย่าง "แข็งขัน" ต่อกัมพูชาโดยมี "ลายลักษณ์อักษร"
ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมอาจไม่ใช่สิ่งเดียว ที่ทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้โดยตรง แต่ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ นายนพดล ลงชื่อย่อกำกับไว้นั้น ก็ช่วยให้กัมพูชายื่นเอกสารได้ "ทันเส้นตาย" ก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งนำมาสู่ประเด็นใหม่ในด้านความ "ขัดแย้ง" ด้วยกำลังทหาร ซึ่งนำมาสู่การร้องขอตีความในภายหลัง
จนท้ายที่สุด นายนพดล ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ทนแรงเสียดทานทางการเมืองไม่ไหว ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2551 ทันทีที่เดินทางกลับจากการร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ทะลุถึงจุดเดือด
"พื้นที่ทับซ้อน ปราสาทเขาพระวิหาร"
โดยไฮไลต์สำคัญของคำฟ้อง ป.ป.ช.ระบุเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่า การลงนามของนายนพดลนั้น มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบท "เปลี่ยนแปลง" อาณาเขตประเทศไทย หรือมีความ "สุ่มเสี่ยง" ที่จะทำให้ไทย "เสียดินแดน" โดยคำฟ้องระบุว่า การแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญา ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ด้วยการยอมรับอำนาจ "อธิปไตย" ของกัมพูชาให้อยู่เหนือ "ซากปราสาทพระวิหาร"
ล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานเพิ่มเติมถึงคดีดังกล่าวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 และ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับจากมีผู้ร้องให้มีการไต่สวนคดีจนถึงปัจจุบัน ก็ใช้เวลาไปแล้วกว่า 7 ปี ส่วนจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และมีบทสรุปอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันในวันที่ 4 ก.ย. นี้ ว่าสุดท้ายแล้ว นายนพดล จะหลุดพ้นจากปมกล่าวหาว่าได้หรือไม่ ???

ประยุทธ์ขู่ฟ้องคอลัมนิสต์ ‘ลม เปลี่ยนทิศ’ หากยังไม่หยุดเขียนโจมตี

“เอาคืนบ้าง” ประยุทธ์ขู่ฟ้องคอลัมนิสต์ ‘ลม เปลี่ยนทิศ’ หากยังไม่หยุดเขียนโจมตี

2 ก.ย.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระหว่างที่เป็นเป็นประธานประชุมติดตามผลการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึง คอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” โดย ลม เปลี่ยนทิศ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่า ได้พูดคุยหลายครั้งแล้ว มีการรับปาก แต่ยังคงเขียนโจมตีอยู่ ถ้ายังไม่หยุดก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปฟ้องร้องเพื่อเป็นการเอาคืนบ้าง ให้เป็นแบบอย่างว่าการใช้สื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนเป็นอย่างไร
“รัฐบาลพยายามทำงานเต็มที่ แต่ยังมีสื่อบางฉบับ อย่างคอลัมน์ลมเปลี่ยนทิศ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล เขียนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีรัฐบาล ทั้งที่เรียกมาตักเตือนหลายครั้งแล้ว ซึ่งทุกครั้งก็รับปากจะไม่ทำอีก แต่ยังคงเขียนโจมตีอยู่ ถ้ายังไม่หยุด ก็จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปฟ้องร้อง เพื่อเป็นการเอาคืนบ้าง ให้เป็นแบบอย่างว่า การใช้สื่อสร้างความเข้าใจผิดต่อประชาชนเป็นอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว