PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558

ย้อนรอยบทเรียน "พระวิหาร" ถึงวันพิพากษา ชี้ชะตา "นพดล"


ปฏิบัติการกัมพูชาขึ้นทะเบียน "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลก เกี่ยวข้องกับ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้นได้เสนอให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นั่งควบรมว.กลาโหมเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบแผนที่ ที่กัมพูชาจัดทำขึ้นเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อเสนอต่อยูเนสโกประกอบการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมทั้งเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ว่าไทยได้ "สนับสนุน" กัมพูชา ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ที่มี นายสมัคร นั่งหัวโต๊ะ ก็เคาะมติเห็นชอบตามที่ นายนพดล เสนอมาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า"จะต้องไม่กระทบเขตแดนของไทย"
หากใครได้ติดตามสถานการณ์ในขณะที่ไทยและกัมพูชา ต้องส่งทนายขึ้นให้ถ้อยคำต่อศาลโลกกรณีดังกล่าวในช่วงนั้น ก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของนายนพดล ในฐานะอดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องในหลายช่องทาง หลากอิริยาบถ ทั้งการตอบคำถามกับผู้สื่อข่าว ที่ต่างก็ยกหูกรี๊งกร๊างหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ของนายนพดลเอง ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่มองในมุมเห็นด้วยกับการลงนามดังกล่าว และผู้ไม่เห็นด้วยที่เข้ามา "ไล่บี้" จี้เอาคำตอบต่างๆ นานา กลายเป็นข่าวดังสะท้านฟ้า จนลามไปสู่หูตาประชาคมชาวโลก ณ ห้วงเวลานั้น
ชนวนวาทกรรม"ขายชาติ"
ชนวนวาทกรรม "ขายชาติ"
สำหรับปมร้อนคดีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ต้องเท้าความจากประเด็นการยื่นจดทะเบียนตัว "ปราสาทพระวิหาร" เป็นมรดกโลกของ "กัมพูชา" ก่อน โดยมีรัฐบาลนายสมัคร กระทำหน้าที่บริหารประเทศในขณะนั้น ทั้งนี้ ก่อนคณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินชี้ขาด ให้ปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาได้สำเร็จนั้น ได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 นั้น เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินว่าการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เข้าข่ายมีความผิดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งรัฐบาลนายสมัครได้ละเลย จนทำให้เพิ่มข้อสงสัยตามมาอีกว่า การเร่งรีบสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาของรัฐบาลไทยในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในครั้งนั้น มีวาระ "ซ่อนเร้น" มากกว่าที่รัฐบาลอ้างเหตุหรือไม่
ซ้ำร้ายหลังคณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในวันที่ 7 ก.ค. 2551 ภายใต้มติดังกล่าวยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจาก 7 ประเทศ ร่วมพิจารณาพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท เพื่อเสนอแผนบริหารจัดการภายในเดือน ก.พ.ปี 2552 ด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนในพื้นที่ทับซ้อนพ่วงตามไปด้วย
โดยกระแสการ "คัดค้าน" การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชา จุดชนวน "ลุกลาม" ไปทั่วประเทศ จนผู้คนจากหลายองค์กรต่างออกมาประท้วง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย "ยุติ" การสนับสนุนการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลต่อดินแดนของไทยในอนาคต แต่รัฐบาลไทยในสมัยนั้น กลับทำเป็นทองไม่รู้ร้อน จนส่งผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศ
อีกทั้งกัมพูชาส่งกองกำลังทหารเข้ายึดปราสาทพระวิหาร จนเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย โดยกัมพูชาได้ส่งกำลังทหารเข้ายึด ปราสาทสด๊กก๊อกธม, ปราสาทตาเมือนธม, ปราสาทตาควาย เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือขอบขัณฑสีมาไทย รวมถึงไทยยังถูกกล่าวหาอย่างรุนแรงจากผู้นำรัฐบาลกัมพูชาอีกด้วย ทั้งนี้ในระดับนานาชาติฝ่ายกัมพูชายังได้ร้องต่อเวทีการประชุมอาเซียน กล่าวหาว่าไทย "รุกล้ำดินแดน" เหนืออธิปไตยเขมร รวมทั้งได้ยื่นเรื่องให้ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นำประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมาพิจารณาในระดับพหุภาคีด้วย
นอกจากนี้การดำเนินการของรัฐบาลไทย แทนที่จะดำเนินการใน "เชิงรุก" แต่กลับวิ่งไล่ตามหลังกัมพูชา จนทำให้รัฐบาลของนายสมัครเสื่อมศรัทธาลงเป็นลำดับ และถูกขยายข้อครหาเพื่อแลกผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมืองข้ามชาติ เข้าข่ายส่อพิรุธ
กรณีปราสาทพระวิหารได้ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลในขณะนั้นอย่างรุนแรง ถึงขั้นรัฐบาลต้องยอมให้มีการเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายประเด็นนี้อย่างร้อนแรง รวมถึงมีการตอบโต้ทางการทูตต่อกันหลายครั้งหลายครา แต่ที่สำคัญเลยประเด็นนี้ถูกยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีอาญาในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะถูก "คัดค้าน" อย่างหนักหน่วง แต่รัฐบาลของนายสมัครก็ได้เห็นชอบให้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จนได้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2551 และได้มีการแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า "แผนที่" เป็น "แผนผัง"
"นพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ"
ทบทวนคดีก่อนวัน "ดีเดย์"
โดยคดีในชั้นศาลฎีกาฯ นั้น เริ่มจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนคณะรัฐมนตรียุคของ "นายสมัคร" ทั้งคณะ กรณีทำให้ประเทศชาติเสียอาณาเขต ในปี 2551 จากนั้นเดือน ก.ย. ปี 2552 ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด นายนพดล และ นายสมัคร กรณีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร และส่งคดีให้อัยการสูงสุด (อสส.) ในปีเดียวกัน จนถึงเดือนกันยายนปี 2554 อสส.มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี จนทำให้ ป.ป.ช.ต้องออกโรงฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาด้วยตนเอง ซึ่งนับจากการร้องต่อ ป.ป.ช.จนถึงขั้นตอนนี้ ใช้เวลาไปเกือบ 4 ปีเต็ม
จนในวันที่ 26 เมษายน 2556 ก็มีข่าวปรากฏออกมาว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง "นายนพดล" ตามที่ ป.ป.ช.ส่งทนายมายื่นและนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในปีเดียวกัน ด้วยข้อกล่าวหา "ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่นำเรื่องการลงนามดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา"
ทั้งนี้ กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียวในครั้งนั้น ย่อมเกี่ยวโยง นายนพดล ลงนามออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ทั้งๆ ที่ในสมัยที่ "รัฐบาลขิงแก่" ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ บริหารประเทศ ได้ดำเนินการ "คัดค้าน" พร้อมกับเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา จนทำให้ในปี 2550 คณะกรรมการมรดกโลกไม่กล้าชี้ขาดขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามข้อเสนอของกัมพูชา จนต้องเลื่อนการประชุมออกไป 
แต่เมื่อ นายนพดล ไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา ต่อมาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 จึงมีมติรับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามเป้าประสงค์ของกัมพูชา แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวเป็น "โมฆะ" ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถต้านทานหรือยับยั้งมติของคณะกรรมการมรดกโลกลงได้ 
ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ทนายความกัมพูชาได้หยิบยกเอาการสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของไทย ไปใช้ประโยชน์ในการสู้คดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อโน้มน้าวให้ศาลเข้าใจว่า ไทยเคยยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร อยู่ภายใต้อำนาจ "อธิปไตย" กัมพูชา ดังนั้นจึงไม่มีการคัดค้านการขึ้นทะเบียนดังกล่าว ที่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ในส่วนนี้เพื่อให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกได้อย่างสมบูรณ์ 
ปม"พระวิหาร"บนเวทีโลก
แม้ภายหลัง นายนพดล จะออกมายืนยันเสียงแข็ง โดยปฏิเสธว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะมีการยกเลิกไปแล้วนั้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูถ้อยแถลงการณ์จากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 31 ณ เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ก็จะพบว่า มีมติที่ 2.4 ระบุไว้ชัดเจนว่า "กัมพูชาและไทยเห็นพ้องกันว่า กัมพูชาจะเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ 32 ด้วยการสนับสนุนอย่างแข็งขัน (Active Support) จากไทย"
จนทำให้ตัวแทนจากรัฐบาลไทยในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ถึงขั้นลุกจากเก้าอี้เดินวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา เนื่องจากวาทกรรมดังกล่าวกระทบต่อพื้นที่โดยรอบปราสาท ซึ่งเป็นของไทย ดังนั้นกัมพูชาจึงมิอาจได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถยื่นเอกสารเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2551 ได้
แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ช่วงเวลา 6 สัปดาห์ ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา นายนพดล ก็ได้เจรจาและลงนามย่อในร่างแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา เพื่อสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทได้ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา 6 สัปดาห์ ตามข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ข้อที่ 45 ซึ่งระบุว่า "การแจกจ่ายเอกสารเพื่อให้คณะกรรมการในประเทศภาคีพิจารณานั้น จะต้องส่งถึงคณะกรรมการก่อนประชุมอย่างน้อย 6 สัปดาห์"
ซึ่งปรากฏว่ากัมพูชาได้นำร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ที่มีลายเซ็นของ นายนพดล ไปใช้ประกอบเอกสารอ้างอิง เพื่อยื่นเสียงต่อคณะกรรมการให้เห็นว่า ไทยมีการแสดงออกถึงการ "สนับสนุน" อย่าง "แข็งขัน" ต่อกัมพูชาโดยมี "ลายลักษณ์อักษร"
ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมอาจไม่ใช่สิ่งเดียว ที่ทำให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้โดยตรง แต่ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับที่ นายนพดล ลงชื่อย่อกำกับไว้นั้น ก็ช่วยให้กัมพูชายื่นเอกสารได้ "ทันเส้นตาย" ก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ กระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งนำมาสู่ประเด็นใหม่ในด้านความ "ขัดแย้ง" ด้วยกำลังทหาร ซึ่งนำมาสู่การร้องขอตีความในภายหลัง
จนท้ายที่สุด นายนพดล ที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ก็ทนแรงเสียดทานทางการเมืองไม่ไหว ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2551 ทันทีที่เดินทางกลับจากการร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ทะลุถึงจุดเดือด
"พื้นที่ทับซ้อน ปราสาทเขาพระวิหาร"
โดยไฮไลต์สำคัญของคำฟ้อง ป.ป.ช.ระบุเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่า การลงนามของนายนพดลนั้น มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบท "เปลี่ยนแปลง" อาณาเขตประเทศไทย หรือมีความ "สุ่มเสี่ยง" ที่จะทำให้ไทย "เสียดินแดน" โดยคำฟ้องระบุว่า การแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญา ที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ด้วยการยอมรับอำนาจ "อธิปไตย" ของกัมพูชาให้อยู่เหนือ "ซากปราสาทพระวิหาร"
ล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดไต่สวนพยานเพิ่มเติมถึงคดีดังกล่าวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 และ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับจากมีผู้ร้องให้มีการไต่สวนคดีจนถึงปัจจุบัน ก็ใช้เวลาไปแล้วกว่า 7 ปี ส่วนจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และมีบทสรุปอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันในวันที่ 4 ก.ย. นี้ ว่าสุดท้ายแล้ว นายนพดล จะหลุดพ้นจากปมกล่าวหาว่าได้หรือไม่ ???

ไม่มีความคิดเห็น: