PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ย้อนดู“เบญจา หลุยเจริญ” เฉลยคำวินิจฉัย ปิดตำนานหุ้นชินคอร์ป "ไม่ต้องเสียภาษี" (โพสต์ 16 มีนาคม 2555)

วันนี้ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา คดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นโจทย์ฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง และอดีต รองอธิบดีกรมสรรพากรกับพวกรวม 5 ราย กรณีการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ชินวัตร ในการไม่ต้องชำระภาษีจากการโอนหุ้นกว่า 8,000 ล้านบาท ล่าสุดศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1-4 ส่วนจำเลยที่ 5 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
///

“เบญจา หลุยเจริญ” เฉลยคำวินิจฉัย ปิดตำนานหุ้นชินคอร์ป "ไม่ต้องเสียภาษี" (โพสต์ 16 มีนาคม 2555)

16 มีนาคม 2012
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต
นับตั้งแต่วันที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของบุคคลที่ถือว่าฮอตที่สุดของกระทรวงการคลังที่ถูกจับตาอย่างเสมอมา จึงมีชื่อ “เบญจา หลุยเจริญ” อธิบดีกรมสรรพสามิต ติดโผทุกครั้งที่มีกระแสข่าวโยกย้ายคนคลังขึ้นมาทีไร ชื่อนี้ไม่เคยตกขบวน ด้วยความสัมพันธ์แบบสายตรงกับคนในบ้านจันทร์ส่องหล้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยรับราชการอยู่ที่กรมสรรพากร
“เบญจา” เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ปฯ) ในฐานะอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ตอนนั้นทำหน้าที่ให้บริการตอบข้อหารือผู้เสียภาษี แต่เป็นประเด็นขึ้นมา คือ “เบญจา” ตอบข้อหารือ กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า “ไม่ต้องเสียภาษี” จึงกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างแดน กลายเป็นปมจุดประเด็นความขัดแย้งอื่นๆตามมามากมาย
เวลาผ่านมา 5 ปี “เบญจา” ยังยืนยันในหลักการที่เธอวินิจฉัย กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2555 อธิบดีกรมสรรพากรออกมายืนยันซ้ำอีกครั้งว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องเสียภาษี” (อ่านเพิ่ม “ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล”) สำหรับ “เบญจา” แล้วเธอคิดอย่างไร ถึงได้กล้าตัดสินใจลงนามในหนังสือตอบข้อหารือฉบับนั้น
เธอเล่าว่า “เรื่องหุ้นมันต้องมีเจ้าของแน่นอน ถ้าจะถามเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีต ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเล่นการเมืองได้โอนหุ้นให้กับบริษัท แอมเพิลริช จากนั้นแอมเพิลริชขายหุ้นให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร (โอ๊ค-เอม) บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และต่อมาทั้งคู่ได้นำหุ้นไปขายให้กองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ”
ตามหลักการของกฏหมาย หากเป็นกรณีการขายสินค้าและบริการในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง กรมสรรพากรจะใช้มาตรา 65 ทวิ (4) เข้าไปประเมินภาษีผู้ขายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีของการขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดจะใช้มาตรานี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่การขายสินค้าและบริการทั่วไป
ยกตัวอย่าง น้ำอัดลมขวดละ 10 บาท แต่ขาย 8 บาท กรณีนี้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) เข้าไปประเมินภาษีคนขายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีหุ้นเพิ่มทุนราคา 10 บาท แต่ขายให้พนักงานแทนโบนัสในราคา 8 บาท ตรงนี้จะไปประเมินภาษีกับคนขายไม่ได้
ฟากหนึ่งกรมสรรพากรไปประเมินภาษีกับคนขาย อีกฟากหนึ่งไปประเมินภาษีกับคนซื้อ กรมสรรพากรไม่สามารถเรียกเก็บภาษี 2 ทางได้ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีของเซ็นทรัลการ์ดให้ส่วนลด 5% แก่สมาชิกที่ใช้บัตรรูดซื้อสินค้า ถ้าคนขายไม่มีเหตุผลอันสมควร กรมสรรพากรใช้มาตรา 65 ทวิ (4) เรียกเก็บภาษีกับคนขายได้ แต่จะไปไล่ประเมินภาษีกับคนซื้อไม่ได้
ขณะที่กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ กรมสรรพากรกลับไปไล่เก็บภาษีเอากับผู้ซื้อ และถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องไปเก็บภาษีกับคนใช้บัตรเซ็นทรัลการ์ดรูดซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เพราะได้ส่วนลด 5%
ความหมายที่ยกตัวอย่างขึ้นมาในข้างต้นก็เพื่อจะบอกว่า กรณีขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก็ต้องไปเก็บภาษีกับคนที่ขายหุ้น (บริษัท แอมเพิลริช) นี่เป็นแนวทางที่ใช้ในการตอบข้อหารือในสมัยที่เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ถ้าบริษัทแอมเพิลริชมีสถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย ป่านนี้คงถูกกรมสรรพากรไล่เก็บภาษีไปเรียบร้อยแล้ว แต่บังเอิญ บริษัท แอมเพิลริช เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ จึงเก็บภาษีไม่ได้ พอเก็บภาษีกับคนขายหุ้นไม่ได้ ก็เลยมาเก็บเอากับคนซื้อหุ้น

ไทยพับลิก้า : แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และกรมสรรพากร

อธิบดีกรมสรรพสามิตก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าประชุม เพราะกลัวจะเป็นประเด็น จึงมอบหมายให้คุณจุมพล ริมสาคร รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ไปประชุมแทน แต่พอคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยออกมา คุณจุมพลเอาผลการวินิจฉัยมาให้อ่านก็เข้าใจ
สรุปง่ายๆ อีกครั้ง คือ เดิมที พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับโอ๊ค-เอม และโอ๊ค-เอมก็เอาหุ้นมาขายให้กองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อมาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลภาษีอากรกลางตัดสินว่าไม่ใช่หุ้นของโอ๊ค-เอม ก็เท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้รับการยกเว้นภาษี จบ

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่บริษัทแอมเพิลริช ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับเทมาเส็กโดยตรง

หากไปตีความอย่างนั้นยิ่งเก็บภาษีไม่ได้กันไปใหญ่เลย เพราะแอมเพิลริชเป็นบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ข้อเท็จจริงทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ วันนี้คดีภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ จบแล้ว

ไทยพับลิก้า : จากเรื่องชินคอร์ปฯ ขอเปลี่ยนมาถามเรื่องแผนการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

เรื่องแผนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงรอเสนอคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เท่านั้น (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว
รายการไหนถูกบรรจุอยู่ในแผนระยะสั้น หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อไหร่ ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที ส่วนแผนระยะยาว กรมสรรพสามิตต้องยกร่างกฏหมายแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ ถึงจะมีผลบังคับใช้

ไทยพับลิก้า : รายละเอียดของแผนการปรับโครงสร้างภาษีเป็นอย่างไร

เรื่องภาษีเป็นถือเป็นความลับ คงจะแจกแจงในรายละเอียดมากไม่ได้ แต่จะให้พูดก็พูดได้แค่ภาพรวมกว้างๆ รายการสินค้าที่ถูกบรรจุอยี่ในแผนระยะสั้นก็มีอยู่หลายรายการ อย่างเช่น น้ำมันดีเซล เดิมเก็บอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท แต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ปรับลดลงเหลือ 0.005 บาท ต่อลิตร ทำให้รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท แต่ช่วงนี้คงจะปรับภาษีขึ้นไปลำบาก เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
แต่แนวทางที่กรมสรรพสามิตดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. ขอให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลแค่ 1 เดือน และทำต่อเนื่องทุกเดือนๆ ไปจนถึงเดือนเมษายน 2555 แล้วมาดูกันอีกครั้งว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงแล้วหรือยัง ถ้าราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีผลบังคับใช้ ก็มีโอกาสที่จะปรับภาษีน้ำมันดีเซลขึ้นไปได้
ถัดมาก็เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างอัตราภาษีรถยนต์ ซึ่งจัดเก็บภาษีจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกมา นโยบายนี้ทำไว้ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกำลังจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555 นี้ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง สั่งให้ขยายเวลาในการบังคับใช้ออกไปก่อน และสั่งให้พิจารณาอย่างรอบครอบ เพราะของเดิมที่ทำไว้มีหลายออปชั่น โครงสร้างภาษีใหม่จะต้องไม่สลับซับซ้อนและง่ายต่อการจัดเก็บภาษี
หลักการใหญ่ๆ คือ ถ้าเป็นกรณีรถยนต์ที่มีราคาแพง หากมีปริมาตรกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี เก็บไปเลย 50% ของมูลค่า แต่ถ้าต่ำกว่า 3,000 ซีซี จะแยกออกมาเป็นหมวดย่อยๆ และมีหมวดของรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนแยกมาอีกต่างหาก เช่น รถยนต์ที่ติดก๊าซเอ็นจีวีมาจากโรงงานผู้ผลิต, รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน E-85 และอีโคคาร์ แต่ตอนนี้ตนได้ทำเรื่องเสนอไปกระทรวงการคลัง ขอขยายเวลาในการบังคับใช้โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน
อีกตัวที่กรมสรรพสามิตจะเสนอรัฐบาลให้มีการปรับอัตราภาษีขึ้นไป คือ ก๊าซแอลพีจี ขณะนี้เก็บอยู่ที่ลิตรละ 2.17 บาท ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือมีการลักลอบส่งก๊าซแอลพีจีไปขายประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแอลพีจีในประเทศไทยขายกันที่กิโลกรัมละ 18 บาท แต่ประเทศเพื่อนบ้านขายกิโลกรัมละ 40 บาท การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นไปก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้ได้
ส่วนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคครัวเรือน รัฐบาลจะต้องไปคิดหาวิธีการจ่ายเงินชดเชยกันใหม่ และอยากจะเสนอให้เก็บภาษี คือก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ แต่ถ้าใช้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าไม่ต้องเก็บ เพราะไม่อยากจะให้มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า
ส่วนที่เหลือก็จะมีภาษีโทรคมนาคม จะเสนอกระทรวงการคลังให้กลับไปเก็บที่อัตราเดิม 10% ของรายได้, ภาษีสลากกินแบ่งรัฐบาล แอร์ น้ำผลไม้ ชา กาแฟ น้ำมันหล่อลื่น บัตรเข้าชมภาพยนต์ที่มีราคาแพง เช่น เก้าอี้นั่งคู่ ส่วนภาษีเหล้าและบุหรี่เสนอ ครม. ให้มีการปรับอัตราขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย แต่ในระยะยาวต้องทำเรื่องเสนอรัฐสภา ขอแก้ไขกฏหมายเพื่อขยายเพดานภาษีขึ้นไป

ไทยพับลิก้า : แล้วเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีไว้อย่างไรบ้าง

มีหลายเรื่องที่จะทำ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของแสตมป์เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง ในแสตมป์จะมีรหัสบาร์โค้ดฝังอยู่ ตรวจสอบง่าย เช่น สินค้าผลิตเมื่อไหร่ เสียภาษีเมื่อไหร่ ขอจริงหรือของปลอม กรมสรรพสามิตสั่งซื้อแสตมป์ปีละหลายพันล้านดวง ดวงละ 10 สตางค์ แต่ละปีใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท หากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบแสตมป์ ครั้งแรกต้องลงทุนมากหน่อย แต่ในระยะยาวจะดีขึ้น

ไทยพับลิก้า : ปัญหาผู้ประกอบการแจ้งราคานำเข้า (C.I.F.) หรือ ราคาหน้าโรงงานต่ำกว่าความเป็นจริงจะแก้ไขอย่างไร

ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตไปฝากกรมศุลกากรจัดเก็บภาษี ซึ่งศุลกากรเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก ต้องใช้ราคาแกตต์ ผู้นำเข้าสำแดงราคามาเท่าไหร่ ก็ต้องยอมรับตามกฏ หากสำแดงราคามาต่ำกว่าความเป็นจริง กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีไม่ได้ด้วย นอกจากนี้ยังต้องมองข้ามไปถึงปี 2558 ด้วย ประเทศไทยต้องเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากไม่เตรียมมาตรการไว้รับมือ ผู้นำเข้าอาจจะแจ้งราคานำเข้าต่ำกว่ากันหมด ในที่สุดก็เก็บภาษีไม่ได้ ประเทศชาติเสียหาย
อย่างเช่น บุหรี่ไทยสำแดงราคาที่ ซองละ 2.7 บาท ขณะที่บุหรี่นำเข้าจากจีน สำแดงราคานำเข้าซองละ 1.1 บาท แค่ค่ากระดาษบรรจุหีบห่อยังทำไม่ได้เลย
ดังนั้น สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ขอปรับเปลี่ยนฐานราคาที่ใช้ในคำนวณภาษี จากราคา C.I.F. และราคาหน้าโรงงาน มาเก็บภาษีจาก “ราคาขายปลีก” เดิมทีจะทำเฉพาะบุหรี่เท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องทำทุกรายการ มิฉะนั้นประเทศเสียหาย โดยกรมสรรพสามิตเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต
นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนฐานราคาที่ใช้ในการคำนวณภาษี และกรมสรรพสามิตจะเสนอให้มีการแก้ไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตส่งเสริมการส่งออก (Export processing zone) ด้วย วัตถุประสงค์ดั้งเดิม กระทรวงกการคลังจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานผลิตสินค้าในประเทศไทย แล้วส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ
แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเสร็จก็นำสินค้าออกมาขายในประเทศ แถมยังใช้ราคา C.I.F. แจ้งราคาต่ำอีก ทางแก้ไขคือ ต้องเร่งนำระบบราคาขายปลีกมาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต ปัญหานี้ก็จะจบลงทันที

ไทยพับลิก้า : ปัญหาอะไหล่รถยนต์เก่าจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถยนต์หรูหราขายในราคาถูก หรือที่เรียกว่า “รถจดประกอบ” มีแนวทางแก้ไขอย่างไร

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม เดิมจะให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามการนำเข้าอะไหล่เก่า แต่จะมีผลกกระทบกับอู่ซ่อมรถของบริษัทประกันภัย และโรงงานประกอบรถบรรทุก จึงตกลงกันใหม่ว่าจะให้กระทรวงคมนาคมไม่รับจดทะเบียนรถยนต์ประเภทนี้ แต่ในระหว่างที่กระทรวงคมนาคมยังไม่มีประกาศออกมา ทางกรมสรรพสามิตได้มีการปรับราคาหน้าโรงงานของรถยนต์ประเภทนี้ขึ้นไปแล้ว


(ข้อมูล)ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร ” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

22 กุมภาพันธ์ 2012
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/398/24398/images/shintax.jpg
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาภาพ: http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/398/24398/images/shintax.jpg
หลังจากที่คณะกรรมการปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองของไทยสำเร็จ ในเดือนกันยายน 2549 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบโครงการต่างๆที่ทำไว้ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หลายเรื่องถูกดำเนินการไปเรียบร้อย อาทิ โครงการจัดซื้อที่ดินรัชดา, จัดซื้อกล้ายาง, รถดับเพลิง, หวยบนดิน ยกเว้นคดีหลบเลี่ยงภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งเปรียบเสมือนหนามที่แทงกลางดวงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ
นอกจากจะถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ยังถูกกรมสรรพากรตามไปอายัดทรัพย์สินของนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (โอ๊ค-เอม)อีก 12,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลางจนชนะคดี เพราะบุคคลทั้งสองไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้กรมสรรพากรต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับโอ๊ค-เอม
ถึงแม้ทั้ง 2 ศาลตัดสินแล้วว่า หุ้นชินคอร์ปฯ ไม่ใช่หุ้นของโอ๊ค-เอม แล้วหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นของใคร พ.ต.ท.ทักษิณ หรือ บริษัทแอมเพิลริชที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของ ก็ยังเป็นประเด็นที่จะต้องมีการตีความกัน ทำให้กรมสรรพากรต้องนำประเด็นนี้มาขอความเห็นจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ ซึ่งนายอารีพงศ์ได้มอบหมายให้นางเสาวนีย์ กมลบุตร รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ แทน
และในที่สุด มหากาพย์การต่อสู้ของคนในตระกูลชินวัตรก็ปิดฉากลง เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีการพิจารณาเรื่องนี้ โดยนางเสาวนีย์ กมลบุตร ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้วินิจฉัยกรณีการจัดเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดยนำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ และศาลภาษีอากรมาประกอบการพิจารณา ซึ่งคำพิพากษาของศาลระบุว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ แต่เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงไม่สามารถวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจะตัดสินยืนตามคำพิพากษาของศาล
นางเสาวนีย์กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนกรณีที่กรมสรรพากรมาขอความเห็นว่า จะประเมินภาษีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้หรือไม่ คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีหรือการประเมินภาษีนั้น น่าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินว่าจะให้กรมสรรพากรไปเก็บภาษีใคร หรือ ไม่เก็บใคร ประเด็นนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะเก็บภาษี พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่
ด้านนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ได้สรุปผลการวินิจฉัย กรณีการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ที่แท้จริง คือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายปกปิดบัญชีทรัพย์สินที่จะต้องแสดงต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาฯ ได้มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ตกเป็นของแผ่นดินไปหมดแล้ว จากนั้นเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นตัวจริงนำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับกองทุนเทมาเสกผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็จะได้รับยกเว้นภาษีตามกฏกระทรวงฉบับที่ 126
“เรื่องภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ ตอนนี้ถือว่าจบแล้ว ต่อจากนี้ไป กรมสรรพากรจะไม่มีการประเมินภาษีคนในตระกูลชินวิตรอีก เนื่องจากผลการตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรถือเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ ยืนตามคำพิพากษาของศาลทั้ง 2 ศาล ส่วนเรื่องการประเมินภาษี พ.ต.ท.ทักษิณ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อสรรพากรพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องเสียภาษี ตรงนี้ก็ถือเป็นที่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน เพราะกรมสรรพากรทำตามผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ” นายสาธิตกล่าว
นายแก้วสรร อติโพธิ(คนกลาง) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
นายแก้วสรร อติโพธิ(คนกลาง) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ด้านนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวว่า ผมไม่เข้าใจ ทำไมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และอธิบดีสรรพากรไปเอาคำพิพากษาจากศาลมาพิจารณา เพราะศาลทั้ง 2 ศาล ก็ไม่ได้ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง แต่ศาลตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของบริษัทแอมเพิลริชที่ถือหุ้นชินคอร์ปฯ กล่าวคือในปี 2542 พ.ต.ท.ทักษิณได้จัดตั้งบริษัทแอมเพิลริช และมีการโอนหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับบริษัทแอมเพิลริช และก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเล่นการเมือง ในปี 2543 ได้ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับนายพานทองแท้และนางสาวพินทองทาในราคา 1 บาทต่อหุ้น ต่อมา ทั้งคู่ได้นำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประกาศกระทรวง ฉบับที่ 126 แต่มาถูก คตส. ตรวจสอบพบจึงนำเรื่องนี้ส่งฟ้องศาลฎีกาฯ
“กรมสรรพากรยอมรับหรือไม่ หุ้นชินคอร์ปฯ นั้นเป็นของบริษัทแอมเพิลริช และ พ.ต.ท.ทักษิณคือเจ้าของบริษัทแอมเพิลริช ศาลทั้ง 2 ศาลตัดสินว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ดังนั้นเจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริงก็คือบริษัทแอมเพิลริชที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเจ้าของ เมื่อแอมเพิลริชนำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประกาศกระทรวง ฉบับที่ 126 เพราะถือว่าเป็นการซื้อ-ขายหุ้นระหว่างบริษัทกับบริษัท ดังนั้น กรมสรรพากรจึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปไล่เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% หรือเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับทักษิณที่ได้หุ้นจากบริษัทแอมเพิลริชไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด” นายแก้วสรรกล่าว
อนึ่ง คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จะมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานฯ กรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ 1) กำหนดขอบเขตในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินและพนักงานเจ้าหน้าที่ 2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาในการตรวจสอบ และประเมินภาษีอากร 3) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็น และ 4) ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะแก่รัฐมนตรีในการจัดเก็บภาษีอากร คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯให้ถือเป็นที่สุด

ปรากฏการณ์‘คนดัง-นักการเมืองใหญ่’ พาเหรดเข้าคุก-จ่อคิวอีกเพียบ?

“…มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มจะรุดหน้าไปได้เร็วมากขึ้น รวมถึงศาลมีคำพิพากษาออกมาค่อนข้างรุนแรง นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ทำให้นักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชน ในปัจจุบันและในอนาคต จะต้อง ‘พึงระวัง-ตระหนัก’ ว่า ไม่ควรทำอะไรที่ลึกลับซับซ้อน-ไม่ชอบมาพากลอีก…”
PIC nakkanmuang 9 6 59 1
ปิดฉากเส้นทางการเมืองไปอีก 2 ราย !
สำหรับ ‘ชูชีพ หาญสวัสดิ์’ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และ ‘วิทยา เทียนทอง’ น้อง ‘ป๋าเหนาะ’ นายเสนาะ เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรฯ (สมัยนายชูชีพ) ภายหลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ‘จำคุก’ คนละ 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และร่วมกับฮั้วประมูลการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแจกเกษตรกรที่เดือดร้อนเมื่อปี 2544-2545 กว่า 1.3 แสนตัน รวมวงเงินกว่า 367 ล้านบาท
สำหรับนายชูชีพ และนายวิทยา ไม่ใช่เป็นกรณีแรกที่นักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาฯพิพากษา แล้วต้องไปชดใช้กรรมในคุก แต่ยังมีนักการเมืองระดับชาติอีกไม่น้อยที่เคยเข้าไปนอนในคุกเนื่องด้วยกระทำความผิดฐานทุจริต ?
ใครเป็นใคร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนข้อมูลนักการเมืองระดับชาติ-บุคคลดังที่เคยต้องคำพิพากษาจากศาลให้จำคุกมานำเสนอ ดังนี้
เบื้องต้น สามารถแบ่งการพิจารณาได้ 2 ส่วน คือ คำพิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
หนึ่ง คดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
เชื่อหรือไม่ ศาลฎีกาฯ เคยไต่สวนนักการเมืองระดับชาติตั้งแต่ ‘อดีตนายกฯ-รัฐมนตรี’ จนถึงอดีต ส.ส. มาจำนวนหลายสิบราย ในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต แต่มีเพียงนักการเมืองเพียง 4 รายเท่านั้นที่เคยได้ลิ้มรส ‘ติดคุก’ แบบจริง ๆ ไม่ทันได้หลบหนีไปไหน !
รายแรกไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะถือเป็นนักการเมืองระดับ ‘รัฐมนตรี’ คนแรกที่ถูกคำพิพากษาให้จำคุกนั่นคือ ‘รักเกียรติ สุขธนะ’ อดีต รมว.สาธารณสุข สมัยรัฐบาล ‘ชวน หลีกภัย’ และนายจิรายุ จรัสเสถียร อดีตที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (นายรักเกียรติ)  พร้อมพวกอีก 4 ราย ฐานทุจริตรับสินบน 5 ล้านบาท โดยนายจิรายุ ถูกพิพากษาให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนนายรักเกียรติได้หลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาจากศาลฎีกาฯ กระทั่งมีผู้พบเห็นกำลังออกกำลังกายอยู่ที่สวนธารณะ จึงแจ้งตำรวจ และนำตัวมาฟังคำพิพากษาเมื่อปี 2547 จะถูกพิพากษาให้จำคุก 15 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ กระทั่งได้รับการพักโทษ และถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำช่วงปี 2552
ถัดจากนั้นต้องรออีกยาวนานกว่า 12 ปี จึงจะมีนักการเมืองระดับ ‘อดีตรัฐมนตรี’ ติดคุกจริงอีกครั้ง นั่นคือกรณีล่าสุดที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายชูชีพ กับนายวิทยา ฐานทุจริตฮั้วประมูลซื้อปุ๋ย 1.3 แสนตัน ช่วงปี 2544-2545 ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โดนโทษเข้าไปอยู่ในซังเต 6 ปี ไม่รอลงอาญา
นอกจากนั้นแล้ว มีอดีตนักการเมืองระดับชาติจำนวนมากที่หลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต ได้แก่ช่วงปี 2551 มีนักการเมืองระดับ ‘นายกรัฐมนตรี’ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาให้จำคุกคือ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในคดีทุจริตการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก พิพากษาให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 
ถัดจากนั้นไม่กี่เดือนในปี 2551 ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกนักการเมืองระดับ ‘รัฐมนตรี’ อีกรายหนึ่ง คือ ‘วัฒนา อัศวเหม’ นักการเมืองชื่อดังย่านปากน้ำ-สมุทรปราการ อดีต รมช.มหาดไทย 10 ปี ฐานทุจริตการก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 
หลังจากนั้นช่วงปี 2556 ศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย ยุครัฐบาล ‘ทักษิณ’ 12 ปี ไม่รอลงอาญา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. 10 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง กทม.
อย่างไรก็ดีนักการเมืองทั้งสี่รายข้างต้น ได้หลบหนีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเสียก่อนที่จะชดใช้กรรมที่ก่อไว้ในคุก !
กระทั่งล่าสุด เมื่อปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต ซึ่งปรากฏชื่อของ ‘ทักษิณ’ เป็นจำเลยที่ 1 โดยมี 2 อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย และนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ร่วมเป็นจำเลยด้วย 
ทว่าคนที่โดนโทษกลับเป็น 2 ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย คือ ร.ท.สุชาย และนายวิโรจน์ กับบรรดาเจ้าหน้าที่ในธนาคารกรุงไทย พร้อมกับนิติบุคคลเครือข่ายของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) เท่านั้น ส่วนนายทักษิณ ศาลฎีกาฯ ได้สั่งจำหน่ายคดีออกไปก่อน เนื่องจากหลบหนี
ปัจจุบันคดีดังกล่าวถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนในความผิดฐานฟอกเงินด้วย โดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตระกูล ‘ชินวัตร’ ถูกสอบด้วยอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ‘โอ๊ค’ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ‘ทักษิณ’ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนายมานพ ทิวารี บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 
ขณะเดียวกันปัจจุบันยังมีนักการเมืองระดับชาติ-อดีตข้าราชการอีกอย่างน้อย 9 รายที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาฯ ไม่ว่าจะเป็นตระกูล ‘ชินวัตร’ รายที่สอง อดีตนายกฯ ‘ยิ่งลักษณ์’ น้องสาวหัวแก้วหัวแหวนของ ‘ทักษิณ’ ในคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
อีกสามรายเป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน คือ ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ อดีต รมว.พาณิชย์ ‘ภูมิ สาระผล’ อดีต รมช.พาณิชย์ และ‘หมอโด่ง’ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง) ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต อย่างไรก็ดีสำหรับ ‘หมอโด่ง’ ปัจจุบันหลบหนีคดีไปแล้ว
อีกรายหนึ่งที่โดนอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และถือเป็นมันสมองให้กับ ‘ทักษิณ’ โดนไต่สวนในคดีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คือ แทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และเปลี่ยนแปลงสัญญาไทยคมเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน
นอกจากนี้ยังมีคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2555 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาฯเช่นเดียวกัน
กรณีนี้ นายสมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน เพื่อขอให้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการสรุปรายงานของคณะทำงาน ป.ป.ช. ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติว่าจะถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่
สำหรับทั้ง 7 คดี 9 นักการเมืองระดับชาติ-อดีตข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยเหล่านี้ เท่าที่ดูบัญชีนัดความแล้ว ศาลฎีกาฯ น่าจะนัดพิพากษาคดีดังกล่าวในช่วงปี 2561-2562 ทั้งหมด ดังนั้นน่าจับตาว่าบุคคลเหล่านี้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในชั้นกระบวนการไต่สวนของศาลฎีกาฯได้จนหมดสิ้นข้อสงสัยหรือไม่ 
หรือจะมีการ ‘หลบหนี’ ไปก่อนคำพิพากษาเหมือนนักการเมือง ‘รุ่นพี่’ ที่เคยทำมาแล้วในอดีต ? 
สอง คดีที่ตัดสินไปแล้วในชั้นศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา นั้น มีนักการเมือง รวมถึงบุคคลชื่อดังระดับ ‘เซเล็ป’ ในสังคมหลายราย ถูกพิพากษาให้จำคุก สรุปได้ดังนี้
กรณีล่าสุดคือ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายปริญญา นาคฉัตรีย์ อดีต กกต. คนละ 3 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงรับสมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 
ก่อนหน้านี้ยังมีคนเด่นดังที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ได้แก่ นายชนม์สวัดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ บุตรชาย ‘วัฒนา อัศวเหม’ ถูกพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นผู้มีหน้าที่ในการเลือกตั้งหรือเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการโดยเจตนาขัดขวางไม่เป็นไปตามกฎหมาย ปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำสมุทรปราการ
หรือแม้แต่ ‘ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์’ อดีตเจ้าพ่ออ่าง-หัวหน้าพรรครักประเทศไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี คดีรื้อบาร์เบียร์ ซ.สุขุมวิท 10 ซึ่งเพิ่งมารับสารภาพในชั้นฎีกา ภายหลังการต่อสู้ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด 
รวมไปถึง ‘เด็จพี่’ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส. และโฆษกพรรคเพื่อไทย พ่วงด้วยนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อีกคดีหนึ่งที่ต้องรอลุ้นในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ คือ ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษารอบสองในคดีกล่าวหานายขวัญชัย ไพรพนา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน ที่ปัจจุบันถูกออกหมายจับเนื่องจากหลบหนีไม่ยอมมาฟังคำพิพากษา ในคดีทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551
ถัดมาในชั้นศาลอุทธรณ์ ปรากฏชื่อของอดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ‘เสี่ยเปี๋ยง’ นายอภิชาต จันทร์สกุลพร อดีตเจ้าของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ถูกศาลอุทธรณ์จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดียักยอกข้าวในสต๊อกของรัฐช่วงรัฐบาลนายทักษิณ ปัจจุบันติดคุกอยู่เรือนจำสมุทรปราการ แต่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจเนื่องได้มีอาการป่วยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2559
ทั้งนี้ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ เป็นหนึ่งในจำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีเก๊ ร่วมกับนายบุญทรง และนายภูมิด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
ขณะเดียวกันยังมีสื่อมวลชนชื่อดัง ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อดีตผู้บริหารกลุ่มแมเนอร์เจอร์ มีเดีย (MGR) ผู้ก่อตั้งสื่อเครือเอเอสทีวี ผู้จัดการ หนึ่งในจำเลยคดีที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 20 ปี ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากนายสนธิ กับพวกร่วมกันลงข้อความเท็จในเอกสารของ MGR เมื่อช่วงปี 2540 ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 1,078 ล้านบาทให้แก่บริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MGR โดยที่บอร์ด MGR ไม่ทราบ ต่อมาบริษัท เดอะ เอ็ม กรุ๊ปฯ ผิดนัดชำระเงินกู้ ส่งผลให้ MGR ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับภาระเป็นผู้ชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงไทยเป็นจำนวน 259 ล้านบาท
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุกนายสนธิ ไปแล้วจำนวน 85 ปี แต่ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 42 ปี 6 เดือน อย่างไรก็ดีความผิดสูงสุดในฐานความผิดดังกล่าวกำหนดให้ลงโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปี จึงลงโทษจำคุกนายสนธิคนละ 20 ปี ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างฎีกา
ส่วนในชั้นศาลอาญา มีอดีตข้าราชการระดับสูงนั่นคือ ‘คุณหญิงเป็ด’ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และอดีตกรรมการ คตส. ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันจัดสัมมนาที่ จ.น่าน เป็นเท็จ แต่กลับเป็นการไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน โดยเบิกค่าเดินทาง ที่พัก ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างอุทธรณ์
ส่วนอีกคนหนึ่งไม่เอ่ยถึงคงไม่ได้ เพราะเป็นถึง ‘อดีต’ นักเล่าข่าวชื่อดัง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เจ้าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐ (นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงาน อสมท) ยักยอกเงินค่าโฆษณาทำให้ อสมท เสียหายกว่า 138 ล้านบาท ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์
อย่างไรก็ดีนายสรยุทธ ยังถูกฟ้องร้องอีก 2 คดี ได้แก่ คดีฉ้อโกง ซึ่ง อสมท ฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่ และคดีปลอมแปลงเอกสารสิทธิใช้น้ำยาลบคำผิดใบคิวโฆษณา ที่ล่าสุดศาลอาญาเพิ่งประทับรับฟ้อง และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ส.ค.นี้
ทั้งหมดคือคดีความของ ‘นักการเมืองระดับชาติ-บุคคลดัง’ ที่ตกเป็นจำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุกในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่บางรายก็อยู่ระหว่างอุทธรณ์ หรือฎีกาเพื่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันต่อไป
อย่างไรก็ดีมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเข้ามาบริหารประเทศในช่วงกลางปี 2557 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมไทยเริ่มจะรุดหน้าไปได้เร็วมากขึ้น รวมถึงศาลมีคำพิพากษาออกมาค่อนข้างรุนแรง เสมือน ‘เอาจริง’ หากพบว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทุจริต
นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ ที่ทำให้นักการเมือง-ข้าราชการ-เอกชน ในปัจจุบันและในอนาคต จะต้อง ‘พึงระวัง-ตระหนัก’ ว่า ไม่ควรทำอะไรที่ลึกลับซับซ้อน-ไม่ชอบมาพากลอีก 
เพราะไม่อย่างนั้นอาจลงเอยถึงขั้นติดคุกติดตะราง หรืออาจต้องหลบหนีไปและไม่มีโอกาสกลับประเทศอีกเลยก็เป็นได้ !

ย้อนรอยจุดตาย 'เบญจา-พวก' จำคุก 3 ปี ตอบข้อหารือช่วย'โอ๊ค-เอม'เลี่ยงภาษีหุ้นชิน


"...การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม.."
picgygygyg28 7 17
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2559 ศาลอาญา ได้พิพากษาจำคุก นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร พร้อมอดีตข้าราชการ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ช่วยนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงภาษีโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
โดยนางเบญจา พร้อมด้วยอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีก 3 คน ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี
ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการคุณหญิงพจมาน มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี
และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

(อ่านประกอบ : คุก3 ปี!'เบญจา-3อดีตขรก.' คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินฯ-คนใกล้ชิดเลขาฯพจมาน โดนด้วย)

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลจุดเริ่มต้นของคดีนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย รวมถึง น.ส.ปราณี กระทำการอะไร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถูกศาลตัดสินความผิด มีโทษร้ายแรงถึงขั้นถูกสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญาแบบนี้ 
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลและหลักฐานสำคัญในคดีนี้ มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง 
@ จุดเริ่มต้น 
เป็นที่ทราบกันดีว่า การขายหุ้น บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาทให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในทำธุรกรรมครั้งประวัติศาสตร์หลายประการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตร
โดยการตอบข้อหารือเรื่องการเสียภาษี ระหว่าง นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย กับ น.ส.ปราณี ก็เป็นหนึ่งในการเอื้อประโยชน์ที่ถูกตรวจสอบพบ
ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ ในการเตรียมการซื้อหุ้นชินคอร์ปจาก Ample Rich ในราคา 1 บาท มีการทำหนังสือถาม-ตอบ ข้อหารือ ว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ไม่มีภาระภาษีต้องเสียจากการขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าวแต่อย่างใด
@ หลักฐานมัด
โดยเริ่มต้นจากการที่ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน บริษัท แอมเพิลริชฯ ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หารือเรื่องการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ถึง อธิบดีกรมสรรพากร
มีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง การซื้อหุ้นบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน อธิบดีกรมสรรพากร
ด้วย Ample Rich Investment Limited เป็น บริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islands ได้ซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ในระหว่างที่ถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท เป็นเหตุให้จำนวนหุ้นที่ Ample Rich Investment Limited ถือเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น
ต่อมา Ample Rich Investment Limited หุ้นตกลงขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถือทั้งหมดให้นายพานทองแท้ ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอหารือว่าในกรณีดังกล่าวเมื่อนายพานทองแท้ฯซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จาก Ample Rich Investment Limited มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์)
จากนั้น นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น เป็นผู้ตอบหนังสือหารือ (ตามหนังสือที่ กค 0706/7896 ซึ่งตอบข้อหารือดังกล่าว ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 กลับไปว่าไม่มีภาระภาษี
มีรายละเอียดดังนี้
ที่ กค 0706/7896
วันที่ 21 กันยายน 2548
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์
อ้างถึง หนังสือลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548
ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัท Ample Rich Investment Limited เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสำนักงานประกอบการในประเทศไทย มีนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการ บริษัทฯประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 บริษัทฯได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยจำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ บริษัทชินคอร์ฯได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น ต่อมาบริษัทฯได้ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ฯที่บริษัทฯถือไว้ทั้งหมดให้กับนาย พานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอทราบว่ากรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ฯ จากบริษัทฯ มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ นั้น
กรมสรรพากรขอเรียนว่า 1.ตามข้อเท็จจริง การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ในราคาหุ้นละ 1 บาท ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ กรณีเรื่องของการซื้อขายทรัพย์สินระหว่างบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขายกับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้ออันเป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้ โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงนั้น ตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับประเด็นภาระภาษีการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
(1) กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขาย ผลประโยชน์นี้ได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(5) แห่งประมวลรัษฎากร หากการขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนหุ้นได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎรกร เนื่องจากตามข้อเท็จจริง บริษัทฯเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังนั้น หากบริษัทฯมิได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อการขายหุ้นดังกล่าวหรือได้ขายหุ้นดัง กล่าวผ่านลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯกระทำกิจการในประเทศไทย ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 85 วรรคสอง และ มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎรกร และเมื่อมีการจ่ายเงินค่าหุ้นดังกล่าวไปให้กับบริษัทฯ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับไม่เข้าลักษณะตามเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อ การได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายอันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีบริษัทฯได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ที่บริษัทได้ถือไว้ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หุ้นที่บริษัทฯ ได้ซื้อไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัทฯ มิใช่เป็นหุ้นของบริษัทฯ เป็นผู้ออกเอง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538
ขอแสดงความนับถือ
(นางเบญจา หลุยเจริญ)
ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ นางเบญจา หลุยเจริญ ได้ทำหนังสือตอบกลับน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ไปแล้ว ว่าไม่มีภาระภาษี ทำให้กรมสรรพากรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์เพื่อ ช่วยนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ดังกล่าว 
ขณะที่ น.ส.ปราณี ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นนักบัญชีที่มีหน้าที่ในการเคลียร์ภาษีของครอบครัวชินวัตรมาเป็นเวลานานแล้ว
ต่อมาภายหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบคดีต่างๆ รวมถึงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปด้วย  
คตส. ได้มีการหยิบประเด็นการตอบข้อหารือ ไม่ต้องเสียภาษีของ นางเบญจา และอดีตข้าราชการ อีก 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณาด้วย โดยมีคำวินิจฉัยว่า กรณีนี้ต้องเสียภาษี
ขณะที่ นางปราณี ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหนังสือสอบถามได้เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้น ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่เป็นต้องตอบ
พร้อมตั้งข้อกล่าวหา นางเบญจา หลุยเจริญ ในฐานเป็นผู้ที่ตอบข้อหารือเรื่องการไม่ต้องเสียภาษีการขายหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9 น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่กรมสรรพากรไม่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาเข้าลักษณะเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538
ส่วน น.ส.ปราณี ถูกตั้งข้อกล่าวหา เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เพราะเห็นว่า การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ หลังจากที่ คตส. หมดอายุการทำงานได้โอนคดีนี้มาให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลต่อ และปรากฎผลคำพิพากษาของศาลอาญาสั่งจำคุกดังกล่าว 
ขณะที่เส้นทางชีวิตข้าราชการของ เบญจา หลุยเจริญ หลังจากนั้นก็รุ่งเรืองเติบโตต่อเนื่อง ได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ในปี 2554  ก่อนจะย้ายมาเป็น อธิบดีกรมศุลกากร และลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เหลืออายุเกษียณราชการอีกแค่ 3 เดือน เท่านั้น 
ก่อนที่ ณ วันนี้ สถานการณ์จะเปลี่ยนไป นางเบญจา ปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลตัดสินจำคุก จากกระทำในอดีตที่ย้อนมา และยังไม่มีใครล่วงรู้ว่า ชะตากรรมในวันข้างจะเป็นเช่นใด
ไม่ต่างอะไรกับชะตาชีวิต คนในตระกูล 'ชินวัตร' ที่กำลังประสบพบเจอในขณะนี้เหมือนกัน

อ่านประกอบ : 

ปรากฏการณ์‘คนดัง-นักการเมืองใหญ่’ พาเหรดเข้าคุก-จ่อคิวอีกเพียบ?

ภาคประชาชน-นักวิชาการ หวั่น พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ แปลง กสทช.เป็นสำนักงานใต้รัฐบาล


ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบาย สถาบันอิศราระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช. ฟากนักวิชาการชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน มากกว่าประชาชน ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองการลดกรรมการ กสทช. คุ้มครองผู้บริโภคได้ยากขึ้น เลขาฯ กสทช.ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ กรรมการ กสทช. เชื่ออ้างปรับปรุงให้ กสทช. เข้ากับสื่อยุคหลอมรวม เพื่อแก้เรื่องจัดสรรคลื่นความถี่มากกว่า

(แถวบน จากซ้าย) สุพจน์ เธียรวุฒิ - วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง - จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์
(แถวล่าง จากซ้าย) สุวรรณา จิตประภัสสร์ - สุปัน รักเชื้อ - วิชาญ อุ่นเอก - สุวรรณา สมบัติรักษาสุข

27 ก.ค. 2559 เวลา 9:00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ส่วนงานเลขานุการ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และส่วนงาน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จัดงานเสวนา NBTC Public Forum 2/2559 เรื่อง “มุมมองภาคประชาชนต่อแนวทางปรับปรุงกฎหมาย กสทช.” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อพระราชบัญญัติองค์จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่) ซึ่งเป็นการปรับปรุงจาก พ.ร.บ.กสทช. ฉบับปี พ.ศ.2553 เดิม
ทั้งนี้ในงานยังมีการเชิญชวนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อร่าง พ.ร.บ. กสทช. ดังกล่าวได้ทางอีเมลnbtcrights@gmail.com [email protected][email protected][email protected]�รแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าวอีกด้วย โดยสามารถเสนอได้ถึงภายในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้ และอ่านร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้า สนช. ได้ที่ http://nbtcrights.com/2016/07/6592
ในงานเสวนาดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล โดยมี สุภิญญา กลางณรงค์ และประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. รวมถึงฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ตลอดจนภาคประชาสังคมมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ยังมีตัวแทนกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. มาบันทึกความคิดเห็นในงานเสวนาอีกด้วย
โดย ประวิทย์ กล่าวว่าการพูดคุยเรื่องกฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากร่างได้รับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และอยู่ในชั้นกรรมาธิการ เชื่อว่าการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กสทช. จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กฎหมายขึ้นใหม่เกี่ยวกับองค์กรกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ต้องยกร่างใหม่ทั้งหมด เนื่องจากบทบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ไม่รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องทบทวนกฎหมายฉบับนี้ใหม่ทั้งหมด
สุพจน์-วรพจน์เห็นตรงกัน ไม่ประมูลคลื่นความถี่ เสี่ยงเกิดปัญหา
สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ว่าไม่เห็นด้วยที่ร่างฉบับใหม่มีการแก้ไขมาตรา 45 โดยอนุญาตให้มีการใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม นอกเหนือจากการประมูลได้ ซึ่งการมอบคลื่นให้โดยไม่ผ่านการประมูลอาจส่งผลให้เกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงยืนยันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น
นอกจากนี้สุพจน์ยังเสนอว่า ไม่ต้องเยียวยาในกรณีที่ กสทช. เรียกคืนคลื่นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะจะทำให้ต้องใช่งบประมาณโดยไม่จำเป็น รวมไปถึงมีการจำกัดการรูปแบบการใช้คลื่นให้ตรงกับตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เมื่อได้ตอนได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. ทั้งนี้การจำกัดรูปแบบดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการใช้คลื่นดังกล่าว
สอดคล้องกับวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง คณะทำงานติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ระบุว่าปัญหากรณีคลื่น 1 ป.ณ. FM 98.5 เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าการใช้อำนาจของ กสทช. ที่พิจารณาตามดุลยพินิจให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ ก่อให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเรียกคืนคลื่นวิทยุโดยเร่งด่วน ถ้าหาก พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นี้ผ่าน การเรียกคืนคลื่นวิทยุอาจต้องยืดระยะเวลาไปด้วย
นอกจากนี้วรพจน์เสนอให้ล้มเลิกการร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับใหม่นี้ เพราะที่มาในการแก้ไขไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่แรก โดยระบุว่ารัฐสามารถกำหนดนโยบายให้ กสทช. และ กสทช. ก็กำหนดวิธีในการบรรรลุเป้าหมายในแง่นโนบายได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อบังคับ
สุวรรณาระบุแก้ปัญหาภายใน กสทช. ดีกว่าแก้ พ.ร.บ. กสทช.
สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ เปลี่ยนแนวคิดมุมมองของคลื่นความถี่ไป จากเดิมมองว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประชาชน แต่ต่อมากลับมองว่าเป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งคำว่า “ชาติ” นี้ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่
นอกจากนี้ยังฝากข้อสังเกตไปถึงประชาชนทั่วไป ให้จับตาดูว่าเมื่อไรที่ร่าง พ.ร.บ. กสทช.ฉบับนี้ผ่านจนสามารถประกาศใช้บังคับได้ ให้ดูในประเด็นการสรรหา กสทช. และคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ กสทช. ว่าขัดต่อหลักการในการกำหนดคุณสมบัติและมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และในท้ายที่สุดเมื่อดูในข้อกฎหมายในร่างฯ ดังกล่าวจะพบว่าร่างนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
“สุดท้ายนี้ดิฉันสรุปว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา วันนี้การแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. ที่เกิดขึ้น ก็มาจากการทำงานของ กสทช. ทั้ง 11 ท่านนั่นเอง ดิฉันถึงไม่เห็นความจำเป็นในการแก้ พ.ร.บ.กสทช. แต่ดิฉันเห็นว่าการแก้ปัญหาภายใน กสทช.เองน่าจะเป็นการดีกว่า” สุวรรณากล่าว

ชี้ลดกรรมการ กสทช.เอื้อประโยชน์รัฐ/เอกชน - คุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้
ส่วน จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวว่า รัฐใช้ข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.กสทช. ว่า เพราะโลกของเทคโนโลยีหรือภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่เจตนาที่แท้จริงคือรัฐต้องการลดอำนาจ กสทช.ให้เป็นสำนักงานภายใต้รัฐบาล และต้องการให้ กสทช. ทำงานในลักษณะแนวดิ่งเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนการปฏิรูปสื่อในปี 2540 สะท้อนให้เห็นการแก้ปัญหาโดยยึดวิธีคิดแบบเก่ามาใช้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้จิรพรยังตั้งข้อสังเกตว่า ในร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ มีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน รวมไปถึงในร่างมีการกีดกันผู้แทนจากภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ ทำให้เห็นได้ว่าการแก้ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ครั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้กับภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่าประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมีความโจ่งแจ้งเกินไป
สอดคล้องกับสุวรรณา จิตประภัสสร์ จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีการลดกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เหลือ 7 คน ซึ่งกรรมการที่ทำงานในด้านคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหนึ่งส่วนที่ถูกลดไป จาก 2 คน 1 โดยระบุว่ากรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเดิมมี 2 คนก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน หากมีเพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้หรือไม่ นอกจากนี้การแก้ร่างฯ นี้ยังทำให้การสรรหาคนที่ีมาเป็นกรรมการฝ่ายนี้ อาจได้คนที่ขาดความรู้และความเข้าใจในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ เพราะผู้สรรหาล้วนมาจากฝ่ายตุลาการไม่ว่าเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย
“ยอมรับว่าภาคประชาชนอ่อนแอลงใน กสทช. ถูกเอาเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ คาดหวังว่าถ้าเราเรียกร้อง รัฐอาจจะมองเห็นแต่ถ้าเราไม่ส่งเสียง ก็มีข้อกังวลว่าตามร่าง พ.ร.บ.ใหม่ จะมอบอำนาจกระทรวงดิจิตอลที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกระทรวงดังกล่าวอาจจะหยิบใครมาเป็นกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคก็ได้ ตรงนี้น่าเป็นห่วง” สุวรรณากล่าว

วิชาญกังวลสื่อภาคประชาชนจะเกิดยากหลังร่าง พ.ร.บ. กสทช.ใหม่ผ่าน
ด้าน วิชาญ อุ่นอก จากสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์สื่อวิทยุชุมชุนที่ตนเองดูแลอยู่ว่า “สื่อภาคประชาชนตอนนี้ไม่ได้มองแค่รัฐจัดสรรคลื่นความถี่ให้ประชาชน 20 เปอร์เซนต์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มองว่าเป็นแค่คลื่นที่ออกอากาศในชุมชนในระยะ 20-30 เมตร แต่เราคิดถึงการออกอากาศในระดับจังหวัดในระดับประเทศ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดออกมาที่ชัดเจนในร่างนี้เช่นกัน ภาคประชาชนก็เหนื่อย และหลายคนเสียชีวิตไปแล้ว น่าเศร้าว่าการต่อสู้เรื่องคลื่นความถี่อันยาวนานตอนนี้แทบจะหมดหวังแล้ว”
วิชาญยังมองเหตุการณ์หลังร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ผ่านจะทำให้สื่อภาคประชาชนเกิดขึ้นได้ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากการตรวจสอบไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่เน้นผูกติดอยู่กับภาครัฐอย่างชัดเจน และยังมองว่าการทำหน้าที่ของ กสทช.จะขาดความเป็นอิสระไปโดยสิ้นเชิง
สุปันถามหากร่างนี้ผ่าน จะขัด รธน.หรือไม่
สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย การร่าง พ.ร.บ. กสทช. ใหม่นี้จะเป็นไปในลักษณะ “คนใช้ไม่ได้ร่าง คนร่างไม่ได้ใช้” ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติด้วย เมื่อมองผลกระทบของร่างฯ ที่มีต่อสื่อจะพบว่าเสรีภาพมีอย่างจำกัด เพราะต่อไปการได้ใบอนุญาต ก็ได้จากการพิจารณาของ กสทช. ไม่ใช่ได้จากการประมูลอีกต่อไป ซึ่งทำให้ช่องทางสื่อถูกจำกัดไปอีก ไม่ว่ามีเสรีภาพเท่าไหร่ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี ทั้งนี้สุปันยังตั้งคำถามว่า หากร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ผ่านไปได้ และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านประชามติด้วยแล้ว พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
“วันนี้เป็นเวทีที่ให้คนที่ศึกษาด้านสื่อ ด้าน กสทช.มาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เอกสารในงานถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งหมายรวมไปถึงเอกสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และร่างกฎหมายอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ สนช.อีกด้วย” สุปันกล่าว
ฐากร ยอมรับร่างฯ ยังไม่สมบูรณ์ - สุภิญญาเชื่อแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพื่อเรื่องจัดสรรคลื่นความถี่
ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เล่าว่า ได้นำเสนอความเห็นต่อ สนช.เกี่ยวกับการปรับปรุงร่างฯ ในเรื่องงบประมาณของ กสทช. ว่าการอนุมัติไม่ควรอยู่ในอำนาจของ กสทช.ทั้งหมด ควรมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการคนกลางมาอนุมัติงบประมาณเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และอยากเห็น กสทช.ยุคหน้ามาทุ่มเทการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าการมายุ่งเกี่ยวกับงบประมาณต่างๆ
ส่วนประเด็นการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่เป็นเลขาธิการ กสทช. ด้านฐากรเสนอให้มีการถ่วงดุลอำนาจในการถอดถอนโดยให้เป็นอำนาจของทั้ง กสทช. และวุฒิสภาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม ส่วนเรื่องการแก้ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับนี้ยอมรับว่ายังต้องมีการแก้อีกหลายจุดตามที่ภาคประชาชนให้ความเห็นไว้ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.จะมีการรวบรวมความคิดเห็นในงานเสวนาเพื่อนำไปเสนอต่อ สนช.ต่อไป โดยคาดการณ์ว่าร่างดังกล่าวดังกล่าวจะต้องแก้ไขให้เสร็จภายในเดือน ส.ค. 2559
ส่วน สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวปิดท้ายงานเสวนา โดยระบุว่าการเปลี่ยนแปลงใน กสทช. เกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีการรีเซ็ตหลายอย่าง จนส่งให้ กสทช.เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สุภิญญาระบุว่า ข้อดีของการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ปัจจุบัน คืออย่างน้อยตนเองสามารถเป็นเสียงข้างน้อยในที่ประชุม และนำความคิดความเห็นมาเปิดเผยสู่สาธารณะได้ สะท้อนถึงความเป็นอิสระในการทำงาน
นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่าหลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการ กสทช. อาจจะกลับทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงาน กสทช.ต่อไปหากยังมีกำลังอยู่ และฝากให้ทุกคนคิดกันในการแก้ไขปัญหาระยะยาว 5 ปี 10 ปี ทั้งเรื่องปฏิรูปสื่อ สิทธิในการสื่อสาร รวมไปถึงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ จึงฝากไปคิดต่อว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน พร้อมตั้งข้อสังเกตผู้ร่างกฎหมายอ้างเหตุแก้ พ.ร.บ.กสทช. เพราะต้องการปรับปรุงการทำงานของ กสทช. ให้เข้ากับยุคสื่อหลอมรวม แต่เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งถ้าแก้ทั้งฉบับให้ดีเลยอาจจะเป็นการดีกว่า