PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ย้อนรอยจุดตาย 'เบญจา-พวก' จำคุก 3 ปี ตอบข้อหารือช่วย'โอ๊ค-เอม'เลี่ยงภาษีหุ้นชิน


"...การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม.."
picgygygyg28 7 17
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2559 ศาลอาญา ได้พิพากษาจำคุก นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร พร้อมอดีตข้าราชการ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย, นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ช่วยนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา คุณากรวงศ์ บุตรนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เลี่ยงภาษีโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด 
โดยนางเบญจา พร้อมด้วยอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีก 3 คน ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี
ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการคุณหญิงพจมาน มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี
และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

(อ่านประกอบ : คุก3 ปี!'เบญจา-3อดีตขรก.' คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้นชินฯ-คนใกล้ชิดเลขาฯพจมาน โดนด้วย)

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลจุดเริ่มต้นของคดีนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย รวมถึง น.ส.ปราณี กระทำการอะไร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ถูกศาลตัดสินความผิด มีโทษร้ายแรงถึงขั้นถูกสั่งจำคุก โดยไม่รอลงอาญาแบบนี้ 
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลและหลักฐานสำคัญในคดีนี้ มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้ง 
@ จุดเริ่มต้น 
เป็นที่ทราบกันดีว่า การขายหุ้น บมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น ของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาทให้แก่บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในทำธุรกรรมครั้งประวัติศาสตร์หลายประการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ครอบครัวชินวัตร
โดยการตอบข้อหารือเรื่องการเสียภาษี ระหว่าง นางเบญจา และอดีตข้าราชการกรมสรรพากร อีก 3 ราย กับ น.ส.ปราณี ก็เป็นหนึ่งในการเอื้อประโยชน์ที่ถูกตรวจสอบพบ
ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ ในการเตรียมการซื้อหุ้นชินคอร์ปจาก Ample Rich ในราคา 1 บาท มีการทำหนังสือถาม-ตอบ ข้อหารือ ว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ไม่มีภาระภาษีต้องเสียจากการขายหุ้นชินคอร์ปดังกล่าวแต่อย่างใด
@ หลักฐานมัด
โดยเริ่มต้นจากการที่ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทน บริษัท แอมเพิลริชฯ ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 หารือเรื่องการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร ถึง อธิบดีกรมสรรพากร
มีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง การซื้อหุ้นบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน อธิบดีกรมสรรพากร
ด้วย Ample Rich Investment Limited เป็น บริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islands ได้ซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 ในระหว่างที่ถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท เป็นเหตุให้จำนวนหุ้นที่ Ample Rich Investment Limited ถือเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น
ต่อมา Ample Rich Investment Limited หุ้นตกลงขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถือทั้งหมดให้นายพานทองแท้ ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอหารือว่าในกรณีดังกล่าวเมื่อนายพานทองแท้ฯซื้อหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จาก Ample Rich Investment Limited มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่
ขอแสดงความนับถือ
(นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์)
จากนั้น นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง ในฐานะที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้น เป็นผู้ตอบหนังสือหารือ (ตามหนังสือที่ กค 0706/7896 ซึ่งตอบข้อหารือดังกล่าว ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 กลับไปว่าไม่มีภาระภาษี
มีรายละเอียดดังนี้
ที่ กค 0706/7896
วันที่ 21 กันยายน 2548
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ
เรียน นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์
อ้างถึง หนังสือลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548
ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า บริษัท Ample Rich Investment Limited เป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสำนักงานประกอบการในประเทศไทย มีนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร เป็นกรรมการ บริษัทฯประกอบกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 บริษัทฯได้ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยจำนวน 32,920,000 หุ้น ในราคาพาร์ 10 บาท ในระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ บริษัทชินคอร์ฯได้ลดราคาพาร์ลงเหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 329,200,000 หุ้น ต่อมาบริษัทฯได้ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ฯที่บริษัทฯถือไว้ทั้งหมดให้กับนาย พานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงขอทราบว่ากรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ได้ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ฯ จากบริษัทฯ มีภาระต้องชำระภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ นั้น
กรมสรรพากรขอเรียนว่า 1.ตามข้อเท็จจริง การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ในราคาหุ้นละ 1 บาท ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ กรณีเรื่องของการซื้อขายทรัพย์สินระหว่างบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขายกับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้ออันเป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้ โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงนั้น ตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับประเด็นภาระภาษีการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
(1) กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขาย ผลประโยชน์นี้ได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(5) แห่งประมวลรัษฎากร หากการขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนหุ้นได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎรกร เนื่องจากตามข้อเท็จจริง บริษัทฯเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islends ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังนั้น หากบริษัทฯมิได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อการขายหุ้นดังกล่าวหรือได้ขายหุ้นดัง กล่าวผ่านลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯกระทำกิจการในประเทศไทย ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 85 วรรคสอง และ มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎรกร และเมื่อมีการจ่ายเงินค่าหุ้นดังกล่าวไปให้กับบริษัทฯ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับไม่เข้าลักษณะตามเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อ การได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ และผู้ขายอันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีบริษัทฯได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ฯ ที่บริษัทได้ถือไว้ให้กับนายพานทองแท้ฯ และนางสาวพิณทองทาฯ ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หุ้นที่บริษัทฯ ได้ซื้อไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัทฯ มิใช่เป็นหุ้นของบริษัทฯ เป็นผู้ออกเอง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ
ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538
ขอแสดงความนับถือ
(นางเบญจา หลุยเจริญ)
ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ นางเบญจา หลุยเจริญ ได้ทำหนังสือตอบกลับน.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ไปแล้ว ว่าไม่มีภาระภาษี ทำให้กรมสรรพากรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์เพื่อ ช่วยนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ดังกล่าว 
ขณะที่ น.ส.ปราณี ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นนักบัญชีที่มีหน้าที่ในการเคลียร์ภาษีของครอบครัวชินวัตรมาเป็นเวลานานแล้ว
ต่อมาภายหลังการทำรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบคดีต่างๆ รวมถึงการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปด้วย  
คตส. ได้มีการหยิบประเด็นการตอบข้อหารือ ไม่ต้องเสียภาษีของ นางเบญจา และอดีตข้าราชการ อีก 3 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องขึ้นมาพิจารณาด้วย โดยมีคำวินิจฉัยว่า กรณีนี้ต้องเสียภาษี
ขณะที่ นางปราณี ไม่อยู่ในฐานะที่จะทำหนังสือสอบถามได้เพราะไม่ใช่เจ้าของหุ้น ดังนั้น กรมสรรพากรจึงไม่เป็นต้องตอบ
พร้อมตั้งข้อกล่าวหา นางเบญจา หลุยเจริญ ในฐานเป็นผู้ที่ตอบข้อหารือเรื่องการไม่ต้องเสียภาษีการขายหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9 น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่กรมสรรพากรไม่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยการซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผลต่างระหว่างราคาเข้าลักษณะเงินพึงได้ประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ซื้อหุ้นต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538
ส่วน น.ส.ปราณี ถูกตั้งข้อกล่าวหา เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด เพราะเห็นว่า การที่ น.ส.ปราณี ได้ทำหนังสือสอบถามการประเมินเสียภาษีไปยังกรมสรรพากร แต่กรมสรรพากรกลับมีหนังสือยืนยันว่าไม่ต้องเสียภาษี และไม่เข้าเกณฑ์ประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 39 ซึ่งการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และเกิดช่องโหว่ที่ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีผู้นำกรณีดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ หลังจากที่ คตส. หมดอายุการทำงานได้โอนคดีนี้มาให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลต่อ และปรากฎผลคำพิพากษาของศาลอาญาสั่งจำคุกดังกล่าว 
ขณะที่เส้นทางชีวิตข้าราชการของ เบญจา หลุยเจริญ หลังจากนั้นก็รุ่งเรืองเติบโตต่อเนื่อง ได้เป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ในปี 2554  ก่อนจะย้ายมาเป็น อธิบดีกรมศุลกากร และลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เหลืออายุเกษียณราชการอีกแค่ 3 เดือน เท่านั้น 
ก่อนที่ ณ วันนี้ สถานการณ์จะเปลี่ยนไป นางเบญจา ปรากฎชื่อเป็นหนึ่งในจำเลยที่ถูกศาลตัดสินจำคุก จากกระทำในอดีตที่ย้อนมา และยังไม่มีใครล่วงรู้ว่า ชะตากรรมในวันข้างจะเป็นเช่นใด
ไม่ต่างอะไรกับชะตาชีวิต คนในตระกูล 'ชินวัตร' ที่กำลังประสบพบเจอในขณะนี้เหมือนกัน

อ่านประกอบ : 

ปรากฏการณ์‘คนดัง-นักการเมืองใหญ่’ พาเหรดเข้าคุก-จ่อคิวอีกเพียบ?

ไม่มีความคิดเห็น: