PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

"พุทธิพงษ์"เข้าพบนายกฯก่อนคุย"สมคิด":ข่าวต้นชั่วโมง 12.00 น.(12-07-62)





"พุทธิพงษ์"เข้าพบนายกฯก่อนคุย"สมคิด"

เผยนโยบายรัฐบาล19พรรคเบื้องต้นมี37หน้า 'ปชป.'สมใจอยากมีแก้รัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย

11 ก.ค.62 - ที่โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา  มีรายงานข่าวจากที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล แจ้งว่า ในการหารือเรื่องนโยบายรัฐบาล ในช่วงแรกของการประชุมนั้น พรรคพลังประชารัฐได้เสนอร่างนโยบายรัฐบาลในเบื้องต้นที่สภาพัฒนฯจัดทำตามที่นโยบายของทั้ง 19 พรรคร่วมเสนอ มีทั้งหมด 37 หน้า  เมื่อมีการนำเสนอเสร็จ ได้รส่งกลับให้แต่พรรคนำกลับไปพิจารณาว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องการจะเน้นเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จากนั้นให้นำข้อเสนอกลับมาแจ้งต่อที่ประชุมอีกครั้ง

แหล่งข่าวระบุว่า ภาพรวมไม่ได้มีการถกเถียงอะไรกันมาก มีเพียงช่วงแรกของการประชุมเท่านั้นที่มีแกนนำพรรคเล็กบางพรรค สอบถามว่าทำไมดูแล้วส่วนใหญ่เป็นนโยบายของพรรคพลังประชารัฐเกือบทั้งหมด ไม่มีนโยบายของพรรคตัวเองอยู่ในนโยบายด้วย  แต่เมื่อดูเนื้อหาทั้งหมดแล้วจึงได้เห็นว่ามีนโยบายของพรรคร่วมทุกพรรคอยู่แล้ว แต่มีการแสดงความคิดเห็นกันว่าถ้อยคำที่ใช้ในร่างนโยบาย ค่อนข้างราบเรียบ เป็นภาษาราชการ ดังนั้นคงจะต้องมีการปรับถ้อยคำอีกครั้ง

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้มอบหมายให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ เป็นตัวแทนมาชี้แจง โดยได้พูดคุยนอกรอบกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่การประชุมพรรคร่วมรัฐบาลจะเริ่มขึ้น ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ รับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดเพราะเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมด้วย 

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยพูดเรื่องนี้กับนายจุรินทร์ แล้วตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายกฯก็สนับสนุน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่า พปชร.จะไม่ผิดสัญญา โดยรายละเอียดจะมีการพูดคุยกันในวันที่ 12 ก.ค. 

อย่างไรก็ตามในการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 12 ก.ค.เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมชั้นที่ 14 อาคาร 9 หอประชุมใหญ่ทีโอที ถ.แจ้งวัฒนะ นั้น พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ส่งนายจุติ มาเข้าร่วมประชุม แต่ส่งตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายพรรคเข้าร่วมประชุมแทน.


นี่หรือครม.เรือเหล็ก?


คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้ความมั่นใจว่าจะทำงานแก้ปัญหาบ้านเมืองที่กำลังหนักหน่วงขึ้นได้หรือไม่

                คำตอบของผมคือไม่ได้ครับ

                เพราะท่านเหล่านี้ไม่ได้ถูกคัดเลือกเพราะคุณสมบัติเหมาะกับกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย

                เพราะหลายท่านมีประวัติสีเทาๆ ที่ไม่อาจจะทำให้ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธา

                เพราะปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่อย่างมากมายนั้นต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทาง

                เพราะประเทศกำลังเจอกับ “ความป่วน” หรือ disruption ที่รุนแรง จำเป็นต้องมีทั้งยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่ทันการณ์และมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ที่มีรายชื่อในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ที่ประเทศชาติต้องการแต่อย่างใด

                วันเดียวกับที่เราเห็นรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่อย่างเป็นทางการ เราก็เห็นพาดหัวในหน้าหนังสือเดียวกันว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหาน่าเป็นห่วงหลายประการ

                อัตราโตทางเศรษฐกิจของประเทศของปีนี้อาจจะร่วงไปที่ 2.9-3.3%

                การส่งออกปีนี้อาจติดลบ

                รายได้การท่องเที่ยวจะชะลอตัว

                เงินบาทแข็งจะกระทบเศรษฐกิจ

                และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ

                แต่ถึงวันนี้เราก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า 19 พรรคที่รวมกันเป็นรัฐบาลผสมชุดนี้มี “นโยบายร่วม” เพื่อแก้ปัญหาหนักหน่วงเหล่านี้อย่างไร

                เรายังไม่รู้ว่าแต่ละพรรคที่หาเสียงเอาไว้กับประชาชนจะสามารถเอาส่วนไหนของนโยบายมาทำให้เป็นความจริงตามคำมั่นสัญญาได้หรือไม่

                เรายังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่นี้จัดลำดับความสำคัญของปัญหาบ้านเมืองอย่างไร

                และมีแผนจะแก้ปัญหาอะไรก่อนหลังอย่างไร ใครจะทำ และจะทำอย่างไร อีกทั้งจะต้องบอกด้วยว่าจะทำให้เกิดขึ้นเป็นความจริงในกรอบเวลาใด

                การจะวัดผลได้จะต้องมีเกณฑ์การประเมินหรือ KPI ที่ตอบได้ว่าเป้าที่วางไว้คืออะไร และแต่ละกระทรวงสามารถทำตามเป้าหมายนั้นอย่างไร

                ทุกวันนี้เทคโนโลยีสามารถตรวจวัดความคืบหน้า (หรือถอยหลัง) ของโครงการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพชนิด real time เพราะมีข้อมูล Big Data เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนสามารถ “ตรวจการบ้าน” ของนักการเมืองและข้าราชการได้ตลอดเวลา

                หากรัฐมนตรีใดทำไม่ได้ตามเป้า ประชาชนก็จะรู้ทันที 

                อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะจัดการกับรัฐมนตรีและข้าราชการที่ทำไม่ได้ตามเป้าเหล่านั้นหรือไม่

                หากนายกฯ ไม่แสดงความสามารถในการบริหารบุคลากร ท่านเองก็จะถูกประเมินเช่นกัน

                ทุกวันนี้ นักการเมืองไม่สามารถกลบเกลื่อนเรื่องจริงด้วยโวหารและวาทกรรมเอาตัวรอดไปวันๆ ได้อีกต่อไป

                มีการพูดกันว่า ครม.ชุดก่อนเป็น “เรือแป๊ะ” แต่ชุดใหม่เป็น “เรือเหล็ก”

                นั่นก็เป็นวาทกรรมการเมืองที่ไม่มีตรรกะ ไม่มีเหตุผลสนับสนุน เป็นเพียงการพูดเปรียบเปรยให้ฟังดูดีเพื่อกลบภาพของ “รัฐบาลปริ่มน้ำ” เท่านั้น

                เพราะหากดูจากพื้นภูมิของรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยแต่ละท่านในภาพรวมแล้วก็ยังไม่มีอะไรที่จะทำให้น่าเชื่อได้ว่าเรือไม้อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นเรือเหล็กได้

                ตรงกันข้าม เรือลำนี้จะมีอาการโคลงเคลงหนักขึ้น เพราะการแก่งแย่งงบประมาณและผลงานของแต่ละพรรคการเมืองที่มารวมตัวกันเป็นรัฐบาลผสม โดยที่ไม่มีความกลมกลืนด้านความคิดและนโยบายแต่อย่างไรเลย ที่แกนนำรัฐบาลคนหนึ่งบอกว่าการเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำนั้นจะเป็นผลดี ทำให้รัฐบาลอยู่ได้นาน เพราะทุกคนจะต้องตื่นตัว ต้องทำงานหนักขึ้น

                นั่นก็เป็นวาทกรรมผิดเพี้ยนอีกประโยคหนึ่งที่ฟังแล้วดูหมิ่นดูแคลนปัญญาประชาชนอย่างยิ่ง

                คะแนนเสียงในสภาที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นมีความผันผวนแปรปรวนสูง ดังนั้นทุกความเคลื่อนไหว ทุกครั้งที่ต้องมีการลงมติในสภาในร่างกฎหมายสำคัญๆ รวมถึงงบประมาณและมติไว้วางใจ ก็จะเกิดการต่อรองของนักการเมือง

                การต่อรองหมายถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงผลประโยชน์ของพรรคการเมืองมากกว่าการมองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเป็นหลัก

                เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนเลยเราจึงจะเชื่อว่าการมีรัฐบาลปริ่มน้ำจึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย

                ยิ่งเมื่อมีศรีธนญชัยออกมาปกป้องรัฐมนตรีสีเทาบางคนว่าแม้จะมีหลายคนที่เคยถูกร้องเรียนเรื่องรับสินบน, เกี่ยวพันกับยาเสพติด, และคดีทุจริต แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาทางกฎหมายวันนี้แต่ประการใด เราก็พอจะเห็นความเสื่อมทรามแห่งมาตรฐานจริยธรรมของคนในระดับสูงของรัฐบาล

                เราในฐานะประชาชนจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ความเหลวแหลกของการเมืองแบบเก่าๆ ทำลายประเทศชาติได้อย่างไร ต้องว่ากันต่ออีกวันครับ. 


กัปตันต้องจูนเนี้ยบ

ปิดจ๊อบเรียบร้อย กระบวนการแต่งตั้ง ครม.เสร็จสิ้น ชนิดถึงมาช้าแต่ก็มาจนได้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่ยืดอกโอ่ได้ว่าเป็นผู้นำจากการเลือกตั้ง จัดบัญชีลงตัว

ถึงแม้คิวบริหารงานบุคคลไม่ง่าย แต่ก็ไม่เกินมือคนชื่อ “ประยุทธ์”

รายชื่อเสนาบดี “เรือเหล็ก” ก็น่าจะรับรู้กันไปแล้ว มีพลิกเล็กๆก็แค่ 1-2 จุด แล้วก็ดูเหมือนจะลงล็อกกับชื่อของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ที่โดนจับโยกไปนั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ

ระดับ “แมวเก้าชีวิต” ดีกรีบิ๊กบราเธอร์ผู้กว้างขวาง สไตล์ถึงลูก-ถึงคน และถึงตัว

นัยว่าสเปกนี้จะไปจัดระเบียบความโปร่งใสในบางจุดบางหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ

ดับกลิ่นโชยที่ลอยไกลไปถึงลมบน

ขณะที่ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จากรวมพลังประชาชาติไทย เสียบที่ รมว.แรงงาน สะท้อนกำลังภายใน “คนดำตัวโต” บิ๊ก กปปส. ที่กลับมาเชื่อมต่อกับขั้วอำนาจแผนปัจจุบันได้แล้ว

ลุงตัวดำขาใหญ่ กลับมาใหญ่เบ้ง เพราะถึงแม้พรรครวมพลังประชาชาติไทย แต้มแค่ครึ่งโหล แต่อย่าลืมขุมข่ายที่เคยลงเดินบนท้องถนนมาด้วยกัน ไปสยายปีกอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อีกบาน

แถมต่อคอนเนกชันปึ้กกับขั้ว “เสธ.ตึกไทยฯ” จนต้องจับตาขุมข่าย กปปส.รุกคืบ

“คุณลุง” กับ “คุณลุง” เริ่มคลิกเข้าสูตร

สรุปว่า ครม.เรือเหล็กรอกระบวนการขั้นตอนก่อนเข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ ระหว่างนี้เป็นเรื่องของการระดมทีม ร่างนโยบายไว้พลางๆ รอแถลงต่อรัฐสภา รอพิสูจน์ทราบผลงานอย่างเป็นทางการไม่นานนี้

โดยเฉพาะในโฟกัสใหญ่ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ในสถานการณ์ที่สถิติตัวเลขต่างๆ

ชักน่าเป็นห่วง ทั้งการส่งออก การค้าขาย ภาคท่องเที่ยว โดนหั่นจีดีพีกันเป็นรายวัน

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลผสม หัวหน้าทัพหลายชุดอาจมีปัญหาการ “ประสานงาน”

หลายคนเป็นห่วง โอกาสสูงจะเกิดรายการ “ประสานงา”

ก็ยังดีที่จุดเริ่มต้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ออกตัว ไม่ได้เป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เพราะมีรองนายกฯหลายคนคิดว่าไม่มีปัญหาเพราะรู้จักกันหมด อีกทั้งนโยบายของพรรคร่วมคล้ายๆกัน

และคงฝากให้ช่วยเร่งรัดเมกะโปรเจกต์ปั่นเศรษฐกิจ อย่าให้สะดุด

ขณะที่ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข แม่ทัพคุมทีม รมต.ของค่ายภูมิใจไทย โดยเฉพาะในสายเศรษฐกิจอย่างกระทรวงคมนาคม ก็ยืนยัน เสถียรภาพรัฐบาลปึ้ก

โดยรัฐมนตรีของพรรคจะเข้าไปสานต่อระบบสาธารณูปโภคในการเดินทาง ปัญหาปากท้องชาวบ้าน

ภูมิใจไทยตีธง พร้อมเดินงานเป็นเนื้อเดียวกัน

ส่วนทางปีกประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ มอบหมายให้บิ๊กเนมประชาธิปัตย์ ทั้งเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนา-สังคมฯ ไปดีล

ตัวจริงเสียงจริงไปประสานงานส่วนรวมขั้วรัฐบาล

ส่วนในทีมเศรษฐกิจก็คงทำนองเดียวกันกับ ดร.สมคิด คือ “แบ่งกันดู” บนเป้าหมายเดียวกัน

แต่นั่นก็ยังต้องรอติดตาม เพราะอย่างไรในข้อเป็นห่วงก็มีเหตุผล โดยเฉพาะเรื่องรัฐมนตรีกระทรวงด้านเศรษฐกิจจากหลายพรรค ไม่มีหัวหน้าทีมอย่างเป็นทางการ แบ่งการบริหารงานหัวหน้าชุดย่อย แยกคุม รมต.

งานเศรษฐกิจยังไงก็คงไม่ไหลลื่นเหมือนทีมเดียว

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ถ้าฟังจาก “แม่ทัพกวง” ดร.สมคิด ระบุก็คงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะถึงที่สุดงานนี้สำคัญอยู่ที่ผู้ถือ
หางเสือหลักของรัฐบาล

เมื่อยังเป็น “นายกฯคนเดิม” ก็ไม่น่ามีปัญหา

แต่นั่นก็ต้องติดตามกันตอนต่อๆไป ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลจะประสานงานไร้รอยต่อกันได้

“กัปตันตู่” แห่งรัฐบาลเรือเหล็ก ก็คงต้องจูนเนี้ยบๆกันเลย.

ทีมข่าวการเมือง