PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

สุรชาติ บำรุงสุข:8 ข้อล้มเหลว 2 ปีคสช.

'สุรชาติ' ชู 8 ข้อล้มเหลว 2 ปีคสช. ระบุ ไร้ปฏิรูป-ปรองดองล้มเหลว-กระบวนการยุติธรรมตกต่ำ สัญญาณชัดสร้างรัฐทหาร การเมือง'ไฮบริด' อำนาจนิยมแฝงการเลือกตั้ง ทำการเมืองถอยสู่ปี 21 พร้อมกังวลไทยเปลี่ยนค่ายการเมืองโลก 
    
"...ความน่ากลัวคือ ภาวะเก็บกดสะสมมากขึ้นในสังคมไทย  ซึ่งอยู่ได้โดยทหารใช้มือปิดฝากาน้ำที่กำลังจะเดือด โดยคาดหวังว่าแรงกดดันจากการเดือดของไอน้ำ จะไม่กลายเป็นแรงระเบิด ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัจจัยที่น่ากลัว และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ วันนี้ทหารเชื่อเหมือนประธานเหมา ว่าปืนคุมสังคมไทยได้ แต่ต้องตระหนักว่า ปืนคุมความรู้สึกคน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยไม่ได้ นี่เป็นโจทย์อนาคต วันนี้คณะรัฐประหารจึงอยู่ในสถานการณ์พิเศษไม่ต่างกัน..."ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว
นี่คือส่วนหนึ่งจากคำตอบของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง พร้อมประเมินผลงาน หลังครบรอบ 2 ปีคสช.กระทำรัฐประหาร พร้อมระบุว่า การเมืองไทย 2 ปีที่ผ่านมา ทุลักทุเล คาดเดายาก และมีลักษณะที่น่าเป็นกังวล 8 ข้อ   
1. การปฏิรูปล้มเหลว คำว่า 'ปฏิรูป' กลายเป็น 'วลี' โดยไม่เห็นเนื้อหา หรือสาระ 
2. เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนรายย่อยโดยตรง 
3. ประชาคมโลกไม่ยอมรับ โดยเฉพาะโลกตะวันตก รัฐบาลทหารจึงแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ผ่าน จีน และรัสเซีย  
4. เกียรติภูมิประเทศถูกทำลายโดยรัฐประหาร ไทยจึงเป็นฝ่ายตั้งรับจากต่างประเทศ ที่ไม่รับเงื่อนไขการเมืองของเรา 
5. ไทยสูญสิ้นสถานะตัวแบบประเทศเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในภูมิภาค 
6. สร้งสถานะอำนาจล้นฟ้าให้ทหาร ผ่านกฎหมาย และคำอธิบายว่าด้วยสถานการณ์ไม่ปกติ กองทัพจึงกลายเป็นตัวละครทางการเมืองใช้อำนาจโดยไม่มีขีดจำกัด ขณะที่อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติในประวัติศาสตร์ไม่เคยทำได้
7. ความแตกแยกยังอยู่เหมือนเดิม เงื่อนไขความขัดแย้งไม่ถูกสมานแผล  ไม่เห็นความปรองดอง และทิศทางการปรองดอง ดังนั้นการปรองดอง จึงเป็น 'ความฝัน' ที่อยู่ไกลๆ 
8. กระบวนการยุติธรรมไม่สร้างความเชื่อมั่น มีลักษณะสองมาตรฐาน คาดหวังไม่ได้
"เงื่อนไขทั้ง 8 ไม่ใช่ผมมองเห็นแต่ด้านร้าย แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปี ไม่ต่างจากเดิมเลย 2 ปีนี้จึงกลายเป็นโอกาสที่หายไป เป็น lost of opportunity เราก็ไม่รู้อนาคต ยกเว้นคนที่เชื่อรัฐประหารเป็นเครื่องมือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ผมเชื่อว่า รัฐประหารทำลายประเทศไทยมากกว่าจะเป็นผลได้ " ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว 
ศ.ดร.สุรชาติ ยังระบุว่า รัฐประหารปี 2557 ต่างจากอดีตที่ผ่านมา เพราะไม่สามารถคุมเสียงประชาชนได้เหมือนเดิม ทหารจึงควรตระหนัก อย่างไรก็ตามกลับเห็นสัญญาณสืบทอดอำนาจมากขึ้น พร้อมเตือนเศรษฐกิจอาจเป็นชนวนวิกฤติสำคัญ 
"...ทหารอาจเชื่อมั่นว่า ทุนใหญ่อยู่กับทหาร ชนชั้นกลางขวายังอนุรักษ์นิยมไม่ต่างจากเดิม นิสิตนักศึกษายังสนุกกับชีวิตมหา'ลัย เพราะฉะนั้น แรงเสียดทานที่เกิดขึ้น ทหารอาจจะประเมินว่าเกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ นักศึกษากลุ่มเล็ก ชนชั้นกลางที่ไม่พอใจบางส่วน แต่ที่น่าสนใจ คือ เศรษฐกิจ และใครที่บอกว่าเศรษฐกิจขาขึ้น หรือตัวเลขภาครัฐบอกไตรมาสแรกดีขึ้น ผมคิดว่าลองถามความจริงจากประชาชน ผมเรียนว่า ไม่ว่าตัวเลขภาครัฐจะดีเท่าไร แต่ถ้าสตางค์ในกระเป๋าชาวบ้านไม่มี ผมว่าการโฆษณาทางการเมืองเป็นสิ่งที่ไร้ค่า..." ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว
ศ.ดร.สุรชาติ ยังกังวลการดำเนินนโยบาย และท่าทีไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะการประกาศจุดยืนแบบขวาจัด เพื่อต่อต้านตะวันตก พร้อมผูกมิตรกับมหาอำนาจรัสเซีย และจีนอย่างต่อเนื่อง  หลังเห็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนค่ายทางการเมืองในเวทีโลก ดังนั้นนักธุรกิจไทยต้องเตรียมตัว เนื่องจากความสัมพันธ์ในระดับต่างๆในอนาคตอาจต่ำลง 
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองก่อนประชามติ คาดว่าจะเห็นวิวาทะ และโต้แย้งของตัวละครทางการเมืองมากขึ้น แต่ส่วนตัวมองว่า การเลือกตั้งคงไม่สามารถเลื่อนได้อีก เนื่องจากเป็นสัญญาระหว่างประเทศ และแรงกดดันจะมากขึ้น หากผิดสัญญาดังกล่าว ดังนั้นคสช.จึงมุ่งหน้าสู่ประชามติ แต่อาจเตรียมรัฐธรรมนูญสำรองไว้ หากไม่ผ่าน อย่างไรก็ตาม กองทัพจะคงสถานะในโครงสร้างการเมือง ดังเห็นได้จากบทบัญญัติวุฒิสมาชิกในบทเฉพาะ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 
" ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยจะผ่านไม่ผ่าน โครงสร้างพวกนี้ ผมเชื่อว่าไม่หายไปไหน หลังการเลือกตั้ง ผมสงสัยว่ามันไม่ใช่บันไดที่ทหารลง แต่เป็นบันไดให้ทหารเดินขึ้น ถ้าคสช.แพ้ในวันที่ 7 จะยุ่งอีกแบบหนึ่ง คสช.อาจมีรัฐธรรมนูญสำรองไว้ ซึ่งจุดนี้คงมีปัญหาทางการเมืองแน่ๆ ถ้าไม่แพ้ แล้วลากไป ก็จะมีข้อถกเถียงไม่ต่างกัน แต่แพ้ไม่แพ้ อำนาจทหารในสว. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เขาไม่เปลี่ยน เท่ากับว่าอำนาจทหารจะคงอยู่ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พวกเขาร่างขึ้น"
" การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน แต่เป็นระบอบการปกครองแบบ Hybrid หรือพันธุ์ทาง ที่ผสมผสานระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้ง และคงโครงสร้างอำนาจนิยมไว้ได้ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 21 แต่คาดว่าครั้งนี้จะมีสัดส่วนอำนาจนิยมจะเข้มข้นขึ้น คำตอบที่ชัดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ระยะเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทย " ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว

1 ทศวรรษงบกองทัพ ยุค"บิ๊กตู่" ตั้ง2แสนล้าน แบ่งเค้กซื้ออาวุธจีน-รัสเซีย

(ข้อมูล ช่วงมีการพิจารณางบประมาณกองทัพ ปีงบประมาณ59)

updated: 02 พ.ค. 2558 เวลา 21:55:00 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในวงประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะขนาบข้างด้วย 5 รองนายกรัฐมนตรี พร้อมหน้าด้วยเจ้ากระทรวงทุกกระทรวง มีวาระพิจารณา "บรู๊ฟแรก" ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี"59 

ในวันนั้นใช้เวลาถกเถียงกันเพียงวาระเดียวกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากยอดงบประมาณทั้งหมดที่แต่ละกระทรวงเสนอเข้ามาสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท 

"วันนี้เถียงกันเยอะ เพราะยอดทุกกระทรวงที่ตั้งเบิกจ่ายสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท เพราะทุกกระทรวงก็บอกว่าทำงบ กระทรวงตัวเองลดมากขนาดนี้ เราก็ชี้แจงเพราะว่าการเบิกจ่ายปีที่แล้วเคยใช้จ่ายเท่าไร ประเภทที่ตั้งงบฯแล้วไม่มีการเบิกจ่ายก็ถือว่าใช้ไม่ได้ จึงต้องเถียงกันนานหน่อย เพราะทุกกระทรวงก็อยากได้เต็ม" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แม่ทัพฝ่ายเศรษฐกิจระบุ

สุดท้ายวงประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เคาะที่วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท โดยผ่าน "ด่านแรก" ของความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ "บิ๊กป้อม"-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเก้าอี้ "รักษาการสร.1" เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา 

และงบฯกองทัพ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในงบฯกระทรวงกลาโหมก็ถูกประทับตราให้ผ่าน และได้รับวงเงินสูงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยมากถึง 207,718.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี58 จำนวน 14,769 ล้านบาท

เป็นการจัดงบฯให้กองทัพไว้ใช้จับจ่ายมากที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ
 โดยไล่ตั้งแต่ปี49 จำนวน 85,936 ล้านบาท ปี50 จำนวน 115,024 ล้านบาท ปี51 จำนวน 143,519 ล้านบาท ปี52 จำนวน 170,157 ล้านบาท ปี53 จำนวน 154,032 ล้านบาท ปี54 จำนวน 168,501 ล้านบาท ปี55 จำนวน 168,667 ล้านบาท ปี56 จำนวน 180,491 ล้านบาท ปี57 จำนวน 183,820 ล้านบาท และปี58 จำนวน 192,949 ล้านบาท 

ท่ามกลางกระแสการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพจากจีนและรัสเซีย อาทิ รัสเซีย-หลัง "ดมิทรี เมดเวเดฟ" นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. มีกระแสข่าวการแลกซื้ออาวุธของรัสเซียกับยางพาราของไทยจำนวน 8 หมื่นตัน และ "พล.อ.ประยุทธ์" ถึงกับชื่นชมว่า รัสเซียเป็นมิตรแท้

นายเดนิส แมนทูรอฟ รมว.พาณิชย์ของรัสเซีย หนึ่งในคณะผู้ติดตามนายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ เดินทางเยือนประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า รัสเซียมีโอกาสที่จะขายเครื่องบินทหารและยุทโธปกรณ์ทหารอื่น ๆ ให้ไทย เพราะประเทศตะวันตกบางประเทศลังเลไม่เต็มใจที่จะทำธุรกิจดังกล่าวกับรัฐบาลทหารของไทย

ฝ่าย จีน-ก็มีข่าวสะพัดไล่หลัง พล.อ.ประวิตร และผู้นำเหล่าทัพเดินทางกลับจากจีน เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย. ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมของจีน ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการตั้ง "คณะกรรมการร่วม" ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมี "พล.อ.ประวิตร" เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายไทย ระหว่างการเยือนของ "พล.อ.อ.สวี่ ฉีเลี่ยง" รองประธานคณะกรรมาธิการกลางของจีน ในฐานะแขกกระทรวงกลาโหมของไทย 

วาระใหญ่คือการซื้อเรือดำน้ำของจีนอย่างไรก็ตาม หากย้อนไป 8 ปี (2550-2557) การจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธที่ไทยนำเข้าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของอาวุธดังกล่าว (Arms Ammunition) มูลค่า 43,960.23 ล้านบาทอาทิ อาวุธที่ใช้ในทางทหาร ปืนลูกโม่ ปืนพก ปืนใหญ่ เฮาวิตเซอร์ ปืนครก เครื่องยิงจรวด เครื่องพ่นไฟ เครื่องยิงลูกระเบิด รวมทั้งท่อยิงตอร์ปิโด และเครื่องยิงที่คล้ายกัน ปืนลูกซอง ปืนเล็กยาวที่ใช้ในการกีฬา ปืนแก๊ป ปืนพลุสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อใช้ยิงพลุสัญญาณเท่านั้น

อาทิ ปืนพกและปืนลูกโม่ สำหรับใช้ยิงกระสุนหลอก ปืนพกยิงเข็มฉีดยา ปืนยิงส่งสายเชือก รวมถึงระเบิด ระเบิดมือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด ขีปนาวุธ ลูกปืน กระสุนปืนอื่นๆ จรวด ลูกปราย หมอนลูกปืน กระสุนปืนลม ลูกปืนอื่น ๆ และกระบี่ ดาบ ดาบปลายปืน และทวน

กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิดพลุไฟ (Explosive Pyrotechnic Product) เช่น แก๊ปกระสุนปืน เชื้อปะทุสำหรับจุดพลุระเบิดสัญญาณมูลค่า 10,801.76 ล้าน
อาทิ ดินขับ สายชนวนจุดระเบิด ชนวนระเบิด แก๊ปก้นกระสุนปืน หรือแก๊ป หัวชนวนระเบิด เชื้อจุดระเบิด เชื้อปะทุไฟฟ้า สำหรับจุดระเบิด สายชนวนจุดระเบิดกึ่งสำเร็จรูป แก๊ปแบบอีเลเมนเต็ด ซิกแนลทูบ ดอกไม้เพลิง พลุสัญญาณ พลุสัญญาณตัดฝน พลุสัญญาณตัดหมอก และของจำพวกดอกไม้เพลิงอื่น ๆ เครื่องอุปกรณ์ให้สัญญาณขอความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์จำลองจำพวกดอกไม้เพลิง และแก๊ปก้นกระสุนปืนสำหรับของเล่น ไม้ขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียม และอัลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่น ๆ รวมทั้งของทำจากวัตถุที่สันดาป เชื้อเพลิงเหลวหรือเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซเหลวบรรจุในภาชนะชนิดใช้บรรจุหรือ เติมไฟแช็กหรือเครื่องขีดไฟที่คล้ายกัน และมีความจุไม่เกิน 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร 

เชื้อเพลิงแข็งหรือกึ่งแข็ง แอลกอฮอล์ที่ทำเป็นของแข็ง และเชื้อเพลิงปรุงแต่งที่คล้ายกัน หินเหล็กไฟสำหรับเครื่องขีดไฟเฟอร์โรซีเรียมอื่น ๆ อัลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่น ๆ คบเพลิงเรซิ่น เชื้อไฟ และสิ่งที่คล้ายกัน

และกลุ่มสุดท้าย สินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่น ๆ ที่ขับด้วยมอเตอร์ จะติดตั้งอาวุธด้วยหรือไม่ก็ตาม และส่วนประกอบของยานดังกล่าวมูลค่า 10,244.50 ล้านบาท 

ยิ่งเมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์นโยบายความมั่นคงแห่งชาติในอีก 7 ปีข้างหน้า (2558-2564) ผ่านบริบท "ยุทธศาสตร์โลก" 

ในบริบทที่ประเทศไทยยืนอยู่ "ใจกลางจุดยุทธศาสตร์-เส้นทางคมนาคมที่สำคัญของโลก" เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงทั้งภายใน-ภายนอกประเทศใน ระยะ 7 ปีข้างหน้าว่า "ยังคงมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังทหารต่อกันหากเกิดความขัดแย้ง รุนแรงและไม่มีการบริหารจัดการปัญหาร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ"

"พล.อ.ประยุทธ์ " พูดอย่างแข็งกร้าวถึงความจำเป็นในการซื้ออาวุธบนเวทีแถลงผลงานครบ 6 เดือนว่า "ไม่ใช่ต้องการแต่ซื้ออาวุธอย่างเดียว ซื้อมาก็เป็นภาระอีก ต้องผ่อน ต้องชำระ งบประมาณจะไปทำอย่างอื่นก็น้อยลง แต่จำเป็น จะทำอะไรก็ตาม จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จะเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างต้องมีพาวเวอร์ตรงนี้ไว้ เรียกว่าอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตน ขวัญกำลังใจ อาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ได้ต้องการสะสมไปแข่งกับใคร ทำเพื่อไม่ต้องรบกัน ให้เกรงกันบ้างเท่านั้นเอง ไม่งั้นทั่วโลกก็คงไม่ต้องมีทหารล่ะมั้ง ขนาดมียังรบกันแทบเป็นแทบตาย"

สอดคล้องกับที่ "พล.อ.ประยุทธ์" พูดต่อหน้า สนช. 220 ชีวิต ในวันแถลงนโยบาย ว่า ยิ่งมีอาวุธมาก อำนาจการต่อรองยิ่งสูง

เป็นเหตุผลที่ "บิ๊กตู่" เคาะเงินแสนล้านซื้ออาวุธ


รถไฟฟ้าสายสีม่วง 1 กม. ที่หายไป

samart17
อีกไม่นานเกินรอ คือ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ประชาชนชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะชาวนนทบุรีที่อาศัยอยู่บริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนใกล้เคียงจะมีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เดินทางระหว่างแหล่งที่อยู่อาศัยในชานเมืองกับแหล่งงานในใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางได้เป็นอย่างดี ต่างกับการเดินทางด้วยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องเสียเวลาจากการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณทางแยกแคราย ซึ่งเป็นทางแยกที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯและปริมณฑล
หากต้องการหลีกเลี่ยงรถติดที่แคราย ชาวท่าอิฐ บางบัวทอง และบางใหญ่จะต้องออกจากบ้านก่อนเวลา 06.00 น. มิฉะนั้น จะเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนไม่ทันแน่
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะสามารถขนผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่บางซื่อได้โดยตรง เพราะชื่อของรถไฟฟ้าสายนี้คือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ (เพิ่งเปลี่ยนเป็นช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้) แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สถานีเตาปูน เพื่อเดินทางไปสู่สถานีบางซื่อซึ่งเป็นสถานีถัดไป ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการเป็นรถใต้ดินมาตั้งแต่ปี 2547 ระหว่างหัวลำโพงกับบางซื่อ โดยวิ่งผ่านสามย่าน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้วยขวาง ลาดพร้าว และหมอชิต ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วยเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (ซึ่งวิ่งผ่านเตาปูน) และช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค
เหตุที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากชานเมืองจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สถานีเตาปูนเพื่อเดินทางไปสู่สถานีบางซื่อก็เพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่ได้มีเส้นทางไปถึงสถานีบางซื่อ แต่สิ้นสุดแค่สถานีเตาปูนเท่านั้น
ในขณะที่ยังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อไม่เสร็จ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าเดินทางจากสถานีเตาปูนไปสู่สถานีบางซื่อได้ หน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายนี้คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงแก้ปัญหาโดยการจัดรถ Shuttle Bus หรือชัตเติลบัสวิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานบางซื่อจนกว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อได้
ปัญหาเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากมีการวางแผนแก้ไขมาก่อนหน้านี้ เพราะรู้กันมาก่อนหลายปีแล้วว่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ก็เพราะความล่าช้าในการจัดหาผู้ประกอบการเดินรถ (Operator หรือโอเปอเรเตอร์) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กล่าวคือ ที่ผ่านมารัฐบาลต้องการหาโอเปอเรเตอร์รายใหม่มาบริหารจัดการเดินรถ ไม่ต้องการใช้โอเปอเรเตอร์รายเดิมคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาด
แต่ถ้าพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพของเส้นทางจะพบว่า หากใช้โอเปอเรเตอร์รายใหม่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้โดยสาร กล่าวคือผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนใช้รถไฟฟ้า 2 ขบวน ในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เช่น ถ้าต้องการเดินทางจากบางพลัดไปห้วยขวาง ผู้โดยสารจะต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเดินทางไปที่บางซื่อหรือหัวลำโพงแล้วเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ห้วยขวาง แต่ถ้าใช้โอเปอเรเตอร์รายเดิมคือบีอีเอ็ม ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าให้เสียเวลา
ปัญหาการจัดหาโอเปอเรเตอร์คาราคาซังมานาน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ คือเมื่อวันนี้ 11 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) ได้มีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการ ไปจัดหาโอเปอเรตอร์สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยมีเงื่อนไขว่า
(1) ให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า
และ (2) จะต้องเร่งรัดให้สามารถเปิดบริการช่วงเตาปูน-บางซื่อ ได้เป็นอันดับแรก
ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้เป็นการปิดโอกาสโอเปอเรเตอร์รายใหม่ เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ที่สามารถทำตามเงื่อนไขนี้ได้มีเพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นก็คือบีอีเอ็ม
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือทำไมไม่มีมติเช่นนี้ออกมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของรัฐบาลนี้ หากบีอีเอ็มได้เป็นโอเปอเรเตอร์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายตั้งแต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา บีอีเอ็มก็จะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ ได้เสร็จทันพร้อมกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 อย่างแน่นอน ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ชัตเติลบัสให้เสียเวลา
เพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีการต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่างๆ บอร์ดพีพีพีจะต้องเตรียมแนวทางการหาโอเปอเรเตอร์เพื่อป้องกันการผูกขาดของโอเปอเรเตอร์ที่มีอยู่ในขณะนี้ 2 ราย คือบีอีเอ็ม และบีทีเอส
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการต่อขยายรถไฟฟ้าจากบางแคไปสู่พุทธมณฑลสาย 4 บีอีเอ็มก็จะมีโอกาสได้เป็นโอเปอเรเตอร์สูง หรือเมื่อการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากหมอชิต-คูคต แล้วเสร็จ บีทีเอสก็จะมีโอกาสได้เป็นโอเปอเรเตอร์สูง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ผมต้องการให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนกรุงเทพฯและปริมณฑล

คณะทำงานชายแดนใต้เข้าพบ กอ.รมน. ถกกรณีรายงานสถานการณ์การทรมานฯ

คณะทำงานชายแดนใต้เข้าพบ กอ.รมน. ถกกรณีรายงานสถานการณ์การทรมานฯ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐเสียหาย
หลังมีการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมผู้จัดทำรายงานสามองค์กร คือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) และกลุ่มด้วยใจ ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ภาค 4 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องจากรายงานดังกล่าว
ในการพูดคุยครั้งนี้ ทางคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ให้ข้อมูลว่า รายงานดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อหน่วยงาน ทั้งภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ โดยระบุว่าข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลที่อ้างว่าถูกกระทำทรมานและถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการสอบถามจากพยานอื่น ๆ แต่อย่างใด และรายงานไม่ได้ระบุรายชื่อบุคคล สถานที่ วันเวลาที่อ้างอิง ทำให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนไม่สามารถติดตามดำเนินการได้
ตัวแทน กอ.รมน. ภาค 4 กล่าวอีกว่า ในรายงานมีการบรรยายผลกระทบจากการทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคล ชุมชนและสังคม ซึ่งทางกอ.รมน.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2559 แล้ว และกำลังดำเนินการตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบ แต่รายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะไปเสียก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เกิดความเสียหายไปมากมาย
อย่างไรก็ตาม น.ส.นูรฮายาตี สาเมาะ ตัวแทนองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ผู้เข้าร่วมประชุม เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทางคณะทำงานได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า ไม่ได้ต้องการทำลายชื่อเสียงหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ แต่เป็นการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การป้องกันและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน โดยคณะทำงานได้ให้ข้อมูลของผู้เสียหาย 6 ราย สำหรับเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเบื้องต้น และถ้ามีความคืบหน้าก็พร้อมจะให้รายชื่อทั้ง 54 รายดังกล่าว
นางนูรฮายาตีกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีนี้มีความยากลำบาก เพราะเหยื่อไม่มั่นใจในความปลอดภัย หลายคนไม่ได้อาศัยในประเทศไทยหลังการเปิดเผยรายงานดังกล่าว ซึ่งทางกอ.รมน.ได้รับปากว่า จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี และจะจัดตั้งคณะทำงานทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับหลักการสอบสวนสากล ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในสภาพจิตใจและความปลอดภัยของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีการวางข้อตกลงร่วมกัน คือให้การทรมานเป็นข้อห้ามไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม และให้ทางราชการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและผู้เสียหายที่ร้องเรียนเรื่องการทรมานด้วย โดยจะมีการนัดพบเพื่อติดตามความก้าวหน้าในวาระต่อไป
รายงานดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 54 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยใช้แบบสอบถามตามหลักการสากลที่เรียกว่า “พิธีสารอิสตันบูล” (Istanbul Protocol) ซึ่งเป็นแนวทางสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐาน กรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture)
(ภาพประกอบจากกลุ่มประชาสังคมผู้จัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานฯ)

คณะทำงาน ป.ป.ช.เคาะแล้ว! ไม่ถอนฟ้องคดีสลายพธม.ชี้ไม่มีพยานหลักฐานใหม่

คณะทำงานฯเคาะแล้ว! ข้อสรุปปมถอนฟ้องคดีสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรปี’51 ยันไม่ถอนฟ้อง เหตุไม่มีพยานหลักฐานใหม่ แจงตามข้อร้องเรียนเป็นข้อ ๆ เตรียมเสนอที่ประชุมกรรมการลงมติ 26 พ.ค.นี้ ยันต้องถกอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ เอาคดีสลายชุมนุมปี’53 มาเทียบทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ให้ ‘พล.ต.อ.วัชรพล’ ตัดสินใจร่วมลงมติเอง
PIC naiidm 15 5 59 1
จากกรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานพิจารณากรณีการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. หนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าวร้องเข้ามานั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คณะทำงานมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าไม่ควรถอนฟ้องในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามาไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ได้ชี้แจงเหตุผลต่อข้อร้องเรียนเป็นข้อ ๆ จนเสร็จสิ้นข้อสงสัยแล้ว
ทั้งนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาเรื่องดังกล่าว กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุมของคณะทำงานในวันนี้ (17 พ.ค. 2559) ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะเสนอแนวทางอย่างไร โดยให้เลขานุการของคณะทำงานฯ สรุปรายละเอียดและเรียบเรียงจัดทำเอกสาร เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯลงนามในมติดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค. 2559 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ อย่างเป็นทางการ
“ขณะนี้คณะทำงานได้แนวทางที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีความเห็นชอบอย่างไรนั้น คงจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับแนวทางที่เสนอนั้น ไม่ได้มีเป็นข้อ ๆ แต่เป็นเพียงภาพรวมที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความคิดเห็นต่าง ๆ” นายสรรเสริญ กล่าว
ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนสงสัยว่าคณะทำงานฯจะมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นนี้ที่เกี่ยวโยงกับประธาน ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล) เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่ประธานฯว่า ควรจะร่วมลงมติหรือไม่นั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงานฯ เพราะมีหน้าที่เพียงพิจารณากรอบการทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งว่า สำหรับแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบที่สุด เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร นอกจากดูในประเด็นพยานเอกสารหลักฐานใหม่ที่ผู้ร้องยื่นมาเป็นไปตามนั้นหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่ และกฎหมายทำได้หรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ยังต้องดูที่ระเบียบศาลฎีกาฯด้วยว่า สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องถูกต้องตามข้อกฎหมายด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะทำงานฯว่า มีความเห็นอย่างไร ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ร้องหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องดูมีความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ เพราะ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ต้องดูตรงนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ดีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาโดยนำ 2 สำนวนคดีที่คล้ายกัน คือคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 กับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 มาเปรียบเทียบกัน โดยดูว่าการดำเนินการสลายการชุมนุมในปี 2551 เป็นการใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉินในการสลายการชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากการดำเนินการสลายการชุมนุมปี 2553 จะมีแผนการปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ส่วนกรณีความเหมาะสมที่ พล.ต.อ.วัชรพล จะร่วมลงมติว่าจะถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ต้องพิจารณาเองว่า ในเมื่อเป็นประเด็นทางสังคม และมีคนท้วงติงก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเกี่ยวข้องหรือไม่ว่า ประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรหรือไม่ควรนั่งร่วมพิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้นจะถอนตัวในการลงมติหรือไม่ คงเป็นเรื่องของประธาน ป.ป.ช. คนอื่นคิดแทนไม่ได้ 

คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป” เข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” หลังเชิญมาแต่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกห้ามออกนอกประเทศ

“คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป” เข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” หลังเชิญมาแต่ “ยิ่งลักษณ์” ถูกห้ามออกนอกประเทศ พร้อมระบุ ห่วงสิทธิมนุษยชน-สถานการณ์ทางการเมืองในไทย
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 พฤษภาคม คณะผู้แทนรัฐสภายุโรป นำโดย นายเวอร์เนอร์ แลงเก้น ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภายุโรปด้านความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน พร้อมด้วยนายมาร์ค ทาราเบลล่า รองประธาน และนายเพียร์ อันโตนิโอ แปนซีรี คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชน เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย นายนิวัฒธำรงค์ บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลักๆ แล้วคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปได้แสดงความห่วงใยเรื่องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของไทย รวมถึงแสดงความห่วงใยสถานการณ์ทางการเมือง และการทำประชามติของไทยด้วย ทั้งนี้ ทางคณะฯ ได้สอบถามถึงการไล่ล่านักการเมืองรวมถึงกลุ่มแกนนำของคนเสื้อแดงและฝั่งตรงข้ามของ คสช. โดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและได้ขอหลักฐานจากพรรคในกรณีของนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ การค้นบ้านผู้มีอิทธิพล ที่ทำเฉพาะฝั่งเห็นต่างจาก คสช. นอกจากนี้ ทางคณะฯได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการแสดงออก การแสดงความเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีการร่าง และกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ล้มไปก่อนหน้านี้ โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐสภายุโรปได้มีการทำหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปชี้แจงเรื่องดังกล่าวในสภายุโรป แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เดินทางไปชี้แจงตามคำเชิญ เนื่องจากทาง คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ทางคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปจึงเดินทางมาพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์แทน โดยคณะผู้แทนรัฐสภายุโรปได้เดินทางไปพบ สนช. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรธ. ฯลฯ ด้วย

"พลเอกประวิตร" เผย กองทัพไทย ใข้อาวุธยุทโธปกรณ์ จากทุกประเทศ ไม่ใช่ผูกติดกับ ประเทศเดียว

"พลเอกประวิตร" เผย กองทัพไทย ใข้อาวุธยุทโธปกรณ์ จากทุกประเทศ ไม่ใช่ผูกติดกับ ประเทศเดียว ยอมรับ ทบ.มีแผนซื้อ ฮ.MI17 และรถถังรัสเซีย หลังซื้อ รถถังจีน มาแล้ว ป้อง รัฐบาลทหาร ไม่ได้ซื้ออาวุธเยอะ ตอนรัฐบาล ปชป.ก็ซื้อ ตามแผน
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม. กล่าวว่า ไทยร่วมมือทางทหารกับทุกประเทศ ไม่ได้ยึดติดว่า กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ดี
ส่วนการที่ รมว.ยุทโธปกรณ์ ปากีสถาน มาพบนั้น ก็ถือเป็น ครั้งแรก พร้อมร่วมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การฝึกศึกษา แลกเปลี่ยนการเยือน หรืออาจร่วมมือพัฒนา UAV รถยนต์ทางทหาร
พลเอกประวิตร เ กล่าวว่า นโยบายซื้อ อาวุธยุทโธปกรณ์ จากหลากหลายประเทศ ไม่ยึดติดประเทศใด. ทั้ง รัสเซีย จีน อเมริกา แต่กับ ปากีสถาน ยังไม่มีแผนจะซื้ออะไร แต่ต้องคำนึงระบบการส่งกำลังบำรุง และการซ่อมบำรุง ด้วย ยิ่งถ้าสามารถ นำมาใช้ร่วมกันได้ก็ยิ่งดี โดยเฉพาะต้องดูเรื่องการส่งกำลังบำรุงในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ซิ้อมาใช้แค่ 5-10ปี
นอกจากนี้ ยังยอมรับ ทบ.สนใจซื้อ ฮ.MI17จากรัสเซีย มาใช้ดับไฟป่า กู้ภัย แต่ยันยังไม่เคยคุยแผนซื้อรถถัง T90ของรัสเซีย แล้วแต่ทบ. โดย ทางทบ. ได้ซื้อรถถัง จากจีน ไปแล้ว
พลเอกประวิตร กล่าวว่าไม่ใช่ เป็นรัฐบาลทหาร แล้ว จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตามที่ต้องการ เพราะตอนที่ผมเป็นรมว.กลาโหม ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ซื้อเยอะ เพราะเป็นจังหวะพอดี ที่ต้องซิ้อทดแทน แต่จะซื้อตามแผน และความจำเป็น ชดเชยที่ปลดประจำการ หรือเก่ามาก โดยมีคณะกรรมการ และส่งคนไปดูไปทดสอบ

"พลเอกประวิตร" เผย บิ๊กตู่ เตรียมตั้ง กก.ร่างรธน.ฉบับใหม่ อีก หาก ร่าง รธน.นี้ ไม่ผ่าน



ยื้อเวลา.....!!!!
"พลเอกประวิตร" เผย บิ๊กตู่ เตรียมตั้ง กก.ร่างรธน.ฉบับใหม่ อีก หาก ร่าง รธน.นี้ ไม่ผ่านประชามติ เล็งเอาข้อดีหลายฉบับรวมกัน แต่ต้องแก้ รธน.ชั่วคราวก่อน. เสียงอ่อย จะเลือกตั้งทันในปี60 หรือไม่ ยังไม่รู้ เพราะต้องดูขั้นตอนก่อน ยันไม่ได้หวังอยู่ต่อ แต่ยึด โรดแมพ. แต่เชื่อ ร่างรธน.น่าจะผ่านประชามติ เพราะประชาขนตอบรับ ทหารลงพื้นที่ช่วย ไม่ใช่เพราะเกรงใจทหาร เผยนายกฯมอบ"วิษณุ-กกต" พิจารณาเปิดช่องกม. ให้พรรคการเมืองแสดงความเห็น ร่างรธน.ได้ จัดเวทีให้ทุกพรรคมาแสดงความเห็น ยันคสช.ไม่ได้เปลี่ยนท่าที แต่เราเปิดรูระบายให้ อยู่แล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ รองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ ระบุว่า ถ้า ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็จะอยู่ต่อ ว่า ก็ต้องอยู่ต่อเพื่อจัดการให้มี รธน. และเลือกตั้ง. แต่ไม่อาจกำหนดเวลาได้

ทั่งนี้ ไม่กังวลในเรื่องของการออกเสียงลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านการทำประชามติ ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดใหม่ขึ้นมา อีก ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะ หัวหน้า คสช. โดยจะต้อง แก้ไข รธน.ชั่วคราว ก่อน

ทั้งนี้ ตอบไม่ได้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านการทำประชามติ จะมีการเลื่อนโรดแมพออกไปหรือไม่ ใช้เวลาเท่าใด เพราะจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และ คสช.จะต้องประชุมหารือร่วมกันต่อไปเพราะ อาจจะต้องเอา รธน.หลายฉบับ มารวมกัน ทั้งของ อ.บวรศักดิ์ หริอของ อ.มีชัย และ รธน. ในอดีต

เมื่อถามว่า ท่าทีของ คสช.เปลี่ยนไป เพราะ ไม่อาจยืนยัน แล้วว่า จะเลือกตั้งในปี60เช่นที่เคยยืนยันก่อนหน้านี้. พลเอกประวิตร กล่าวว่า ทำไมไม่คิดว่า ร่างรธน. อาจจะผ่านก็ได้ แต่สื่อมาถามว่า หากไม่ผ่าน เราก็ต้องมีการเตรียมไว้ ว่าจะต้องทำอะไร เพียงแต่กำหนดเวลาชัดเจนไม่ได้ ว่า แต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาเท่าใด. ต้อง แก้รธน.ชั่วคราว ก่อนด้วย และเป็นอำนาจ หัวหน้า คสช. ด้วย แต่เราก็ยึดตามโรดแมพ
แต่ส่วนตัว ยังเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญน่าจะผ่านการทำประชามติ เพราะจากการที่ ทหารลฃพื้นที่ พบปะประชาขน ก็ได้รับการตอบรับที่ดี เราไปช่วยเขาทุกเรื่อง. แต่เชื่อว่า ไม่ใช่เพราะว่าเขาเกรงใจทหาร เพราะภาพรวม ผลงานรัฐบาล คสช. ก็เป็นที่พอใจ โดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจที่เรา ดีอยู่ประเทศเดียว

พลเอกประวิตร กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ฝ่ายความมั่นคง ไปหาวิธีผ่อนปรนให้พรรคการเมือง แสดงความคิดเห็นได้ โดยได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ร่วมกับ กกต. ว่า อาจจะมีการ เปืดเวที ให้ทุกพรรคการเมือง มาร่วมเวทีในการแสดงความคิดเห็น ที่จะจัดให้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะ คสช.เปลี่ยนท่าที. แต่เพราะเราเปืดช่อง รูระบาย ให้แสดงความเห็น ร่วมกัน

ส่วนจะมีความเคลื่อนไหวการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในช่วงครบรอบ 2 ปี ของ คสช. วันที่ 22 พ.ค.นี้ นั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า ก็จะมีการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเวลานี้บ้านเมืองมีความสงบ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามดำเนินการให้ดีที่สุดในทุกเรื่อง

"ใช้ศาลทหารผิดตรงไหน"



"ใช้ศาลทหารผิดตรงไหน"

นายกรัฐมนตรีสงสัยว่าเหตุใดคนจึงตั้งข้อรังเกียจศาลทหาร ทั้งๆ ที่จบกฎหมายเหมือนกัน แตกต่างกันแค่มียศเท่านั้น นายกรัฐมนตรีคงไม่เข้าใจว่าหลักการที่สำคัญของศาลคือหลักความเป็นกลาง (impartiality) คือการไม่มีส่วนได้เสียทั้งในเนื้อหาของคดีและผู้เป็นคู่ความ และหลักความเป็นอิสระ (independence) ของผู้พิพากษาและองค์กรที่ต้องปลอดจากการถูกแทรกแซงจากฝ่ายอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยให้การรับรองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491

เมื่อปี พ.ศ. 2528 (1985) สหประชาชาติได้กำหนดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ (Basic Principles on the Independence of the Judiciary) เป็นผลให้รัฐสมาชิกต้องนำหลักการดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาก็ได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ เช่น การแต่งตั้ง การโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนและการลงโทษต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการของศาลนั้น อีกทั้งองค์กรศาลจะต้องมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหารและมีหน่วยธุรการของตัวเอง โดยมีบทบัญญัติให้ตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อเป็นหลักประกันว่า การใช้ดุลพินิจของศาลจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ผู้พิพากษาจึงอาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้หากมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ หรือส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นต้น

หลักการดังกล่าวข้างต้นรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ใช้กับศาลยุติธรรมและศาลปกครอง แต่ไม่บังคับใช้กับศาลทหารที่ไม่มีความเป็นอิสระ เนื่องจากอยู่ในสังกัดของกระทรวงกลาโหมทั้งยังอยู่ใต้การบังคับบัญชาของคณะผู้ยึดอำนาจ ดังนั้น สูตรสำเร็จของคณะรัฐประหารนอกจากการนิรโทษกรรม การอนุมัติสองขั้นพร้อมวันเวลาทวีคูณให้กับตัวเองและพวกพ้องแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเอาคดีสำคัญไปขึ้นศาลทหาร ทั้งที่ศาลพลเรือนก็มีอยู่แล้วซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและขัดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลทหารเองก็ตาม นี่คือเหตุผลที่ UPR ตำหนิรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงเพราะเห็นว่า การเพิ่มการใช้ศาลทหารก็เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ส่วนคำแก้ตัวของคณะผู้แทนไทยที่คล้ายกับคำพูดของนายกรัฐมนตรี ได้ถูกที่ประชุม UPR กล่าวหาว่าปากอย่างใจอย่าง (hypocrisy) หรือที่คนไทยมักพูดกันว่า "ตอแหล" ซึ่ง คสช. อาจจะไม่รู้สึกแต่ผมและคนไทยทั่วไปอับอายกับคำประณามนี้มากครับ

วัฒนา เมืองสุข
พรรคเพื่อไทย
17 พฤษภาคม 2559

“พฤษภาทมิฬ” ทำว่าที่ “เสือตัวที่ 5” กลายเป็น “เสือติดหล่ม” ?

“พฤษภาทมิฬ” ทำว่าที่ “เสือตัวที่ 5” กลายเป็น “เสือติดหล่ม” ?

วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เป็นวันครบรอบปีที่ 24 เข้าไปแล้วสำหรับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อทั้งชีวิตของประชาชน และอนาคตของประเทศ

วันนี้ผู้เขียนไม่ขออภิปรายในประเด็นการเมืองมากนัก แต่อยากจะเท้าความถึงความฝันอันเรืองรองของผู้ใหญ่ในยุคนั้น ซึ่งเด็กในยุค 90 (เช่นเดียวกับผู้เขียน) น่าจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “เราจะเป็นเสือตัวที่ 5” ซึ่งผู้คนร่วมสมัยน่าจะเคยได้เห็นได้ยินจากทั้งหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และในห้องเรียนวิชาสังคม
เพื่อให้ผู้อ่านรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำๆนี้ (เนื่องจากหลังๆไม่มีใครพูดถึงแล้ว) ได้ที่รู้ที่มาที่ไปคร่าวๆว่า ในอดีตมีกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกย่องในฐานะประเทศที่เป็นดั่งเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียในฉายา “สี่เสือแห่งเอเชีย” อันประกอบด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในอัตราสูงนับแต่หลังทศวรรษที่ 60 และในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90 นี่เอง ที่คนไทยไม่น้อยฝันว่าจะประเทศของตัวเองจะสามารถเทียบชั้นประเทศทั้ง 4 ได้ในฐานะเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หลังมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อเนื่องหลายปี

แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำเนินไปพร้อมกับการลดบทบาทของกองทัพ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยของการรัฐประหารในปี 1991 (บวกกับข้อหาประจำอย่างการคอรัปชั่น) ตามมาด้วยการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งลงท้ายด้วยการนองเลือดในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปีถัดมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงได้เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อรักษา “ตัวเลข” การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อไป ไทยจูงใจนักลงทุนต่างชาติด้วยการรักษาอัตราดอกเบี้ยสูง เปิดเสรีทางการเงิน ผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อ ผ่อนปรนระเบียบธานาคาร ปล่อยเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กลายเป็นการส่งเสริมการเก็งกำไรของสถาบันการเงินมากกว่าการเติบโตที่แท้จริง

นับแต่ปี 1992 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเพียง 4 ปี หนี้สาธารณะของไทยได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว การตรึงค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินบาทของไทยมีมูลค่าสูงเกินจริง ถึงช่วงเดือนมิถุนายน 1997 รัฐบาลไทยได้ใช้เงินสำรองเกือบทั้งหมดไปกับการพยุงค่าเงินบาท รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปล่อยค่าเงินลอยตัว ค่าเงินบาทจึงร่วงหล่นอย่างไร้ทิศทาง ในปี 1998 ไทยมีเศรษฐกิจหดตัวถึง 12.5 เปอร์เซนต์ ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา หลังจากนั้นผู้เขียนก็แทบไม่เห็นใครพูดว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียอีกเลย

เมื่อมองย้อนกลับไปก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไทยถูกประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกันในอดีตหรือด้อยกว่าพัฒนานำหน้าไทยไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เห็นได้จากตัวเลข GDP จาก Penn World Table 6.3 [ข้อมูลเปรียบเทียบเชิงสถิติพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เดวิส (University of California, Davis) และมหาวิทยาลัยโกรนิงเกน (University of Groningen)] เมื่อปี 1951 ไทยมีตัวเลขรายได้อยู่ที่ 195 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ขณะที่ไต้หวันมีตัวเลขที่ 168 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีเท่านั้น พูดได้เต็มปากว่าไทยนำหน้าอยู่ 16 เปอร์เซนต์ แต่เมื่อถึงปี 2007 ตัวเลขของไทยอยู่ที่ 10,302 ดอลลาร์ ขณะที่ไต้หวันอยู่ที่ 27,883 ดอลลาร์ กลายเป็นไต้หวันนำไทยไปกว่า 170 เปอร์เซนต์!

เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่คนไทยไม่น้อยต้องหันมองด้วยสายตาริษยา ทั้งๆที่ไทยเคยตามหลังเกาหลีใต้ในเชิงรายได้เพียงราว 20 เปอร์เซนต์ในช่วงทศวรรษที่ 60 แต่ตอนนี้คนไทยมีรายได้เฉลี่ยตามหลังคนเกาหลีใต้อยู่เป็นเท่าตัว ด้วยทุกวันนี้เกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำมีรายได้เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว

แน่นอนว่าการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ไทยกลายเป็นเสือติดหล่ม แต่ยังเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ รวมถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการร่วมด้วย แต่เด็กยุค 90 อย่างผู้เขียนก็อดเสียดายไม่ได้ ก็ได้แต่หวังว่าคนรุ่นต่อๆไปจะได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อประโยชน์ในโอกาสต่อๆไป สุดท้ายจึงขอแนบตัวเลขจีดีพีย้อนหลังถึงปี 1950 ของไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ไว้ให้ผู้อ่านดูเล่นด้วย
———————————————
อดิเทพ พันธ์ทอง, ศิลปวัฒนธรรม
ข้อมูลจาก:
1. Thailand’s Political History From the Fall of Ayutthaya to Recent Times by B.J. TerWiel
2. เศรษฐกิจไทย 15 ปี หลังวิกฤติ: พอเพียงหรือยัง โดย ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ และนิรมล อริยอาภากมล
ภาพประกอบ:
1. ภาพถ่ายขณะกองทัพใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที 18 พฤษภาคม 1992 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย (ตัวเลขจากรายงานของเอเอฟพี), AFP PHOTO / AFP FILES / PONGSAK CHAIYANUWONG
2. ภาพผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารบนถนนราชดำเนิน ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 18 พฤษภาคม 1992 ซึ่งต้องอยู่ในสภาพหมอบราบ หลังกองทัพเริ่มการกราดยิงด้วยอาวุธปืนเล็กยาว (รายงานของเอเอฟพี) AFP PHOTO / STR
3. ภาพสถิติ GDP ของไทย จาก Penn World Table 6.3
4. ภาพสถิติ GDP ของไต้หวัน จาก Penn World Table 6.3
5. ภาพสถิติ GDP ของเกาหลีใต้ จาก Penn World Table 6.3

นักวิเคราะห์ชี้ “ระเบิดแยกราชประสงค์”สหรัฐและระบอบทักษิณถล่มกรุงเทพฯ

ระเบิด พารากอน
นักวิเคราะห์ชี้ “ระเบิดแยกราชประสงค์”สหรัฐและระบอบทักษิณถล่มกรุงเทพฯ
นักวิเคราะห์ชี้ “ระเบิดแยกราชประสงค์”สหรัฐและระบอบทักษิณถล่มกรุงเทพฯ
Last updated: 18 August 2015 | 19:13
นักวิเคราะห์ต่างชาติเตือนความโหดร้ายป่าเถื่อนของสหรัฐและระบอบทักษิณ เข้าสู่กรุงเทพฯ เผยเอกอัครราชทูตสหรัฐคนใหม่ อาจร่วมมือกับระบอบทักษิณถล่มไทยให้เป็นเหมือนซีเรีย-ลิเบีย-ยูเครน ไทย 2 ทางเลือก
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ภายหลังจากเกิดเหตุระเบิดแยกราชประสงค์ นายโทนี่ คาร์ตาลุซซี่ (Tony Cartalucci ) นักเขียนจากบล้อคแลนด์ เดสทรอยเยอร์ รีพอร์ต (LD landdestroyer. blogspot)ได้เขียนบทวิเคราะห์เรื่อง ความป่าเถื่อนของสหรัฐเข้าเยือนลิเบียซีเรียยูเครน,ขณะนี้กำลังมาเยี่ยมชมกรุงเทพฯ (US Savagery Visited Upon Libya, Syria, Ukraine, Now Visits Bangkok )
รายละเอียดของข้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษอ่านได้ที่ http://landdestroyer.blogspot.com/2015/08/us-savagery-visited-upon-libya-syria.html
บทวิเคราะห์ได้รายงานเบื้องต้นถึงสถานการณ์การเมืองของไทยที่ระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐให้ก่อการร้าย เช่นฆ่าผู้บริสุทธิ์นับตั้งแต่เหตุการณ์ส่งคนของนปช.หรือ เสื้อแดง 300 คนออกเผชิญหน้ากับทหารของกองทัพบกบริเวณถนนราชดำเนินเมื่อปี 2010 (2553) เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยมีผู้เสียชีวิติเกือบ 100 คนและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
ต่อมาในปี 2013-2014 กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ได้เข้าโจมตี,ก่อการร้ายและสังหารกลุ่มเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร(หมายถึงกลุ่มกปปส.) ซึ่งเป็นน้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ  หลังเหตุการณ์มีผู้ถูกฆ่ากว่า 30 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็กที่ถูกสังหารด้วยระเบิด  
การทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพ้นไปนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐเป็นอย่างยิ่ง  ดังได้เกิดระเบิดตามจุดต่างๆอาทิเช่นระเบิดศาลอาญา (ซึ่งพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกผู้พี่ของทักษิณยอมรับว่ารู้จักกับ 1 ในผู้ถูกจับที่มาขอเรี่ยไรเงินจากตน) ,ระเบิดบริเวณสยามพารากอน,ระเบิดลงที่เกาะสมุยและล่าสุดที่แยกราชประสงค์ อันเป็นจุดสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งสิ้น
นายคาร์ตาลุซซี่ เขียนไว้ว่าการที่รัฐบาลสหรัฐแต่งตั้งนายกลิน เดวีย์ มาเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯตนได้เตือนไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้วว่า
การมาประเทศไทยของเขาครั้งนี้จะนำมาซึ่งการบ่อนทำลายประเทศไทยและมีความรุนแรงเกิดขึ้น เหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ ลิเบีย ซีเรีย ยูเครน ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสหรัฐหนุนหลังอยู่ทั้งสิ้น
นายคาร์ตาลุซซี่กล่าวว่าหากมองด้านการศึกษาของนายกลิน เดวีส์ จะต้องขีดเส้นใต้ไว้เลย เพราะเขาเป็นศิษย์เก่าจากวิทยาลัยการสงครามของสหรัฐ The National War College ) กรุงวอชิงตัน ผู้ที่มีสิทธิ์เรียนได้ต้องเป็นนายทหารระดับสูงหรือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐที่ถูกรัฐบาลสหรัฐคัดเลือกเข้าเรียน    
กลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
สำหรับเนื้อหาการเรียนเป็นทุกเรื่องเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆโดยเฉพาะพลเรือนอย่างนายกลิน จะเน้นเรื่อง “The Non-Military Instruments of Power” หรืออำนาจที่ไม่ได้มาจากการทหาร” นั่นคือการใช้สงครามข้อมูลข่าวสาร การปลุกปั่น ปลุกระดม การแทรกแซง การทำลายทางเศรษฐกิจ การรณรงค์เพื่อบ่อนทำลายประเทศนั้นๆด้วยวิธการต่างๆจนทำให้ประเทศดังกล่าวไม่สามารถตั้งตัวรับมือได้
การเดินทางารับหน้าที่ของนายเดวี่ส์ ถ้าคาดการณ์อย่างเลวร้ายที่สุด อาจจะเป็นเหมือนกรณีของนายรเบิร์ต เอส. ฟอร์ด เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำซีเรีย ในปี 2011 ปีที่เกิดการปฏิวัติโลกอาหรับ (อาหรับสปริงส์) หรือการเรียกร้องประชาธิปไตยตามแบบสหรัฐในคราบของการก่อการร้าย
ในกรณีของประเทศซีเรีย นายฟอร์ด สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่างเปิดเผยเพื่อโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีบาร์ซา อัล อัซซาด จนเกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย จนประเทศซีเรียพังยับเยินไม่สามารถกลับไปเหมือนเดิมได้นายคาร์ตาลุซซี่กล่าว
กล่าวโดยสรุปปฎิบัติการของสหรัฐไม่ใช่ การปฎิวัติโลกอาหรับ(Arab Spring) แต่กลายเป็นการผลิดอกของโลกก่อการร้าย (Terrorist Spring)
บทวิเคราะห์ชี้ว่า หลังจากนายเดวี่ย์ เข้ารับตำแหน่งในประเทศไทย เขาจะเดินหน้าสร้างสัมพันธ์วางแผนกับแกนนำระบอบทักษิณ เพื่อถล่มประเทศไทยด้วยยุทธการก่อการร้ายทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทย โดยใช้มุกเดิมๆว่า เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ตัวอย่างเหล่านี้มีให้เห็นแล้วทั้งสิ้นจากปรากฎการณ์ อาหรับสปริส์ ทั้งในซีเรีย และ ลิเบีย ที่สหรัฐสร้างกลุ่มผู้ก่อการการร้ายในนามของนักเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อโค่นล้มรัฐบาลประเทศนั้น
นอกจากนี้นายเดย์วีส์จะทำงานร่วมกับ กลุ่มนักวิชาการ/NGO/ สื่อมวลชน ขายชาติที่รับเงินจากสหรัฐ ดิสเครดิตประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยอ้างว่าทำงานเรื่อง สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย
ดังนั้นมาถึงจุดนี้ ประเทศไทย มี 2 ทางเลือกเท่านั้นคือ หนึ่งจะทำประเทศให้ไร้เดียงสา เดินตามความต้องการของต่างชาติหรือพวกตะวันตก ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำดีแค่ไหน เขาก็ ไม่ปลื้มอยู่ดี ดังนั้นไทยจำเป็นที่ต้องสนใจชาติเหล่านี้อีกต่อไปหรือไม่ เพราะถ้ายังสนใจ ยังให้ความสำคัญ ให้ความเกรงอกเกรงใจ สหรัฐก็จะทำลายความมั่นคงของประเทศไทยจ่อไป เหมือนที่ทำไว้กับ ลิเบีย ซีเรีย ยูเครน ประเทศไทยจะเลือกทางนี้หรือไม่
อีกหนึ่งทางเลือกที่ประเทศไทยทำได้ คือการถอนรากถอนโคน คนพวกนี้อย่างจริงจัง เหมือนที่ประเทศอิยิปต์ทำ จับกุมแกนนำการเมือง ผู้ก่อการร้าย ผู้สนับสนุนต่างๆตั้งแต่ะดับกลางถึงระดับหัว ให้ตัดสินประหารชีวิตหรือไม่ก็จำคุกตลอดชีวต ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย เพราะอย่าลืมว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเลือกทางไหน รัฐบาลก็ตะวันตกก็ ไม่นิยม/สนับสนุน” รัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติอยู่ดี
ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม นายคาร์ตาลุซซี่ยังได้เขียนตอบโต้บทความของสำนักข่าว BBC ในหัวข้อ Bangkok Blast: Who the Liars Say Did It, Says it All เป็นการชี้ให้บีบีซีเห็นข้อเท็จจริงในสิ่งที่นำเสนอ โดยข้ามขั้นตอนในยุคที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและรัฐบาลต่อๆมาที่อยู่ในอาณัติของทักษิณกระทำ  แต่บทความของบีบีซีมาจับเอาเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2014 รวมทั้งพยายามเบี่ยงเบนออกไปถึงเรื่อยอุยกูร์
นายคาร์ตาลุซซี่เชื่อว่าการระเบิดแยกราชประสงค์ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหนุนหลังระบอบทักษิณให้ดำเนินการโดยตรง  หรือการใช้กลุ่มก่อการร้ายจากภาคใต้ที่ซาอุดิ อาระเบียหนุนให้ตั้งรัฐอิสลาม(ที่สหรัฐให้การหนุนหลังซาอุฯอีกทอด)ก็ตาม
การวางระเบิดเมื่อวันจันทร์นั้นมีการวางแผนเพื่อก่อการร้ายคนไทย เป้าหมายอยู่ที่การทำลายเศรษฐกิจของไทย และทำลายความสัมพันธ์ที่เป็นไปด้วยดีระหว่างไทย-จีนบทวิเคราะห์กล่าว 
นายคาร์ตาลุซซี่สรุปว่า การวางระเบิดเพื่อ ก่อการร้ายที่แยกราชประสงค์ มีการวางแผนอย่างดีและทำให้เกิดความสำเร็จ  เรื่องนี้ไม่ใช่จุดประสงค์ของกลุ่มแยกดินแดนทางภาคใต้ แต่เป็นแรงจูงใจทางการเมืองอย่างแน่นอน
พร้อมกันนั้นนายคาร์ตาลุซซี่แนะนำว่าประเทศไทยจะรับมือกับกรณีนี้ได้จะต้องมองไปยังประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือและได้รับชัยชนะ นั่นคือรัสเซียและจีนทีเข้าใจและป้องกัน การทำสงครามยุคที่ 4 (สงครามที่ไม่ต้องใช้ทหาร)
ทั้งนี้รัสเซียได้ใช้เครื่องมือทางสื่อสารมวลชนชี้แจงคนของตนและให้ต่างประเทศรับรู้ถึงการข่มขู่คุกคามแบบใหม่  ประเทศไทยก็จะต้องให้ข้อมูลแก่คนไทยถึงการข่มขู่นี้พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมันรวมทั้งจะต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้ได้รับชัยชนะ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมสื่อต่างๆของประเทศญี่ปุ่นทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี.และออนไลน์ได้เสนอรายงานพร้อมๆกันเพราะญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ด้านการลงทุนในไทยอยู่มาก รวมทั้งยังมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยมากเช่นกัน
หลังเกิดเหตุไม่นาน สื่อมวลชนญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหตุก่อการร้ายหรือไม่แต่ต่อมาประเมินว่า อาจเป็นฝีมือของกลุ่มการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลและผู้ที่ต้องการทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทย ตามที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์
สื่อมวลชนญี่ปุ่นยังให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยไม่มั่นคงต่อเนื่องมานานหลายปี หากแต่เหตุระเบิดครั้งนี้ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว
สรรเสริญ” โยงกลุ่มการเมืองที่เสียประโยชน์เบื้องหลังระเบิด พบเฟซบุ๊ก สื่อเสื้อแดง” โพสต์เตือนเหตุใน กทม.ล่วงหน้าตั้งแต่ 13 ส.ค.
First posted: 18 August 2015 | 13:50

Author : paisano

ศาลอาญาเห็นพ้องศาลทหาร คดีโพสต์กล่าวหา “ประยุทธ์” โอนเงินกว่าหมื่นล้าน ไม่เข้าข่ายผิดต่อความมั่นคง

น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้กับนางรินดา ปฤชาบุตร หรือหลิน อายุ 44 ปี เผยว่า ศาลทหารอ่านคำวินิจฉัยของศาลอาญาวันนี้ (17 พ.ค.) ชี้คดีโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินออกนอกประเทศ เป็นการหมิ่นประมาทบุคคล ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารในการพิจารณา จึงจำหน่ายคดีออกจากระบบ

นางรินดาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2558 และถูกนำตัวฟ้องต่อศาลทหารว่าเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 116 ทำให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และมาตรา 348 ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ เนื่องจากโพสต์ข้อความกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โอนเงินไปยังประเทศสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท แต่ต่อมาศาลทหารวินิจฉัยว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เพราะเป็นการหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะบุคคล ไม่ใช่การละเมิดความมั่นคง จึงส่งคำวินิจฉัยให้ศาลอาญา

ต่อมา ศาลอาญาวินิจฉัยไปในทางเดียวกัน และส่งคำวินิจฉัยให้ศาลทหารอ่านในวันนี้ ผลของการวินิจฉัยที่ตรงกันของสองศาล ส่งผลให้คดีดังกล่าวถูกจำหน่ายออกจากระบบ และหากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการดำเนินคดีกับนางรินดา ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ และยื่นสำนวนให้อัยการพิจารณาส่งฟ้องที่ศาลอาญาต่อไป