PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 1 กม. ที่หายไป

samart17
อีกไม่นานเกินรอ คือ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ประชาชนชาวกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะชาวนนทบุรีที่อาศัยอยู่บริเวณถนนรัตนาธิเบศร์ และถนนใกล้เคียงจะมีโอกาสได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เดินทางระหว่างแหล่งที่อยู่อาศัยในชานเมืองกับแหล่งงานในใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางได้เป็นอย่างดี ต่างกับการเดินทางด้วยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลานาน เพราะต้องเสียเวลาจากการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบริเวณทางแยกแคราย ซึ่งเป็นทางแยกที่มีปัญหารถติดเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯและปริมณฑล
หากต้องการหลีกเลี่ยงรถติดที่แคราย ชาวท่าอิฐ บางบัวทอง และบางใหญ่จะต้องออกจากบ้านก่อนเวลา 06.00 น. มิฉะนั้น จะเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนไม่ทันแน่
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะสามารถขนผู้โดยสารจากชานเมืองเข้าสู่บางซื่อได้โดยตรง เพราะชื่อของรถไฟฟ้าสายนี้คือรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ (เพิ่งเปลี่ยนเป็นช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้) แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สถานีเตาปูน เพื่อเดินทางไปสู่สถานีบางซื่อซึ่งเป็นสถานีถัดไป ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการเป็นรถใต้ดินมาตั้งแต่ปี 2547 ระหว่างหัวลำโพงกับบางซื่อ โดยวิ่งผ่านสามย่าน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้วยขวาง ลาดพร้าว และหมอชิต ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดังกล่าวข้างต้นประกอบด้วยเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (ซึ่งวิ่งผ่านเตาปูน) และช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค
เหตุที่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงจากชานเมืองจะต้องเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สถานีเตาปูนเพื่อเดินทางไปสู่สถานีบางซื่อก็เพราะรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่ได้มีเส้นทางไปถึงสถานีบางซื่อ แต่สิ้นสุดแค่สถานีเตาปูนเท่านั้น
ในขณะที่ยังก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อไม่เสร็จ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถใช้รถไฟฟ้าเดินทางจากสถานีเตาปูนไปสู่สถานีบางซื่อได้ หน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายนี้คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงแก้ปัญหาโดยการจัดรถ Shuttle Bus หรือชัตเติลบัสวิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานบางซื่อจนกว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงเตาปูน-บางซื่อได้
ปัญหาเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น หากมีการวางแผนแก้ไขมาก่อนหน้านี้ เพราะรู้กันมาก่อนหลายปีแล้วว่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น เหตุที่ทำให้เกิดปัญหานี้ก็เพราะความล่าช้าในการจัดหาผู้ประกอบการเดินรถ (Operator หรือโอเปอเรเตอร์) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กล่าวคือ ที่ผ่านมารัฐบาลต้องการหาโอเปอเรเตอร์รายใหม่มาบริหารจัดการเดินรถ ไม่ต้องการใช้โอเปอเรเตอร์รายเดิมคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการผูกขาด
แต่ถ้าพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพของเส้นทางจะพบว่า หากใช้โอเปอเรเตอร์รายใหม่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้โดยสาร กล่าวคือผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนใช้รถไฟฟ้า 2 ขบวน ในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เช่น ถ้าต้องการเดินทางจากบางพลัดไปห้วยขวาง ผู้โดยสารจะต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเดินทางไปที่บางซื่อหรือหัวลำโพงแล้วเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เดิม) เดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางที่ห้วยขวาง แต่ถ้าใช้โอเปอเรเตอร์รายเดิมคือบีอีเอ็ม ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้าให้เสียเวลา
ปัญหาการจัดหาโอเปอเรเตอร์คาราคาซังมานาน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ คือเมื่อวันนี้ 11 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ดพีพีพี) ได้มีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการ ไปจัดหาโอเปอเรตอร์สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยมีเงื่อนไขว่า
(1) ให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) นั่นคือไม่มีการเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า
และ (2) จะต้องเร่งรัดให้สามารถเปิดบริการช่วงเตาปูน-บางซื่อ ได้เป็นอันดับแรก
ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้เป็นการปิดโอกาสโอเปอเรเตอร์รายใหม่ เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ที่สามารถทำตามเงื่อนไขนี้ได้มีเพียงรายเดียวเท่านั้น นั่นก็คือบีอีเอ็ม
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือทำไมไม่มีมติเช่นนี้ออกมาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของรัฐบาลนี้ หากบีอีเอ็มได้เป็นโอเปอเรเตอร์ของรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายตั้งแต่เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา บีอีเอ็มก็จะสามารถติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถช่วงเตาปูน-บางซื่อ ได้เสร็จทันพร้อมกับการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 อย่างแน่นอน ผู้โดยสารไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ชัตเติลบัสให้เสียเวลา
เพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีการต่อขยายรถไฟฟ้าสายต่างๆ บอร์ดพีพีพีจะต้องเตรียมแนวทางการหาโอเปอเรเตอร์เพื่อป้องกันการผูกขาดของโอเปอเรเตอร์ที่มีอยู่ในขณะนี้ 2 ราย คือบีอีเอ็ม และบีทีเอส
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการต่อขยายรถไฟฟ้าจากบางแคไปสู่พุทธมณฑลสาย 4 บีอีเอ็มก็จะมีโอกาสได้เป็นโอเปอเรเตอร์สูง หรือเมื่อการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากหมอชิต-คูคต แล้วเสร็จ บีทีเอสก็จะมีโอกาสได้เป็นโอเปอเรเตอร์สูง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ ผมต้องการให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพงเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนกรุงเทพฯและปริมณฑล

ไม่มีความคิดเห็น: