PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คณะทำงานชายแดนใต้เข้าพบ กอ.รมน. ถกกรณีรายงานสถานการณ์การทรมานฯ

คณะทำงานชายแดนใต้เข้าพบ กอ.รมน. ถกกรณีรายงานสถานการณ์การทรมานฯ ทำให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐเสียหาย
หลังมีการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมผู้จัดทำรายงานสามองค์กร คือมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) และกลุ่มด้วยใจ ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ภาค 4 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการต่อเนื่องจากรายงานดังกล่าว
ในการพูดคุยครั้งนี้ ทางคณะทำงานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ให้ข้อมูลว่า รายงานดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อหน่วยงาน ทั้งภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศ โดยระบุว่าข้อมูลที่ได้มาจากการสัมภาษณ์บุคคลที่อ้างว่าถูกกระทำทรมานและถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการสอบถามจากพยานอื่น ๆ แต่อย่างใด และรายงานไม่ได้ระบุรายชื่อบุคคล สถานที่ วันเวลาที่อ้างอิง ทำให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนไม่สามารถติดตามดำเนินการได้
ตัวแทน กอ.รมน. ภาค 4 กล่าวอีกว่า ในรายงานมีการบรรยายผลกระทบจากการทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคล ชุมชนและสังคม ซึ่งทางกอ.รมน.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2559 แล้ว และกำลังดำเนินการตั้งอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบ แต่รายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะไปเสียก่อนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทำให้เกิดความเสียหายไปมากมาย
อย่างไรก็ตาม น.ส.นูรฮายาตี สาเมาะ ตัวแทนองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ผู้เข้าร่วมประชุม เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทางคณะทำงานได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ว่า ไม่ได้ต้องการทำลายชื่อเสียงหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ แต่เป็นการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การป้องกันและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน โดยคณะทำงานได้ให้ข้อมูลของผู้เสียหาย 6 ราย สำหรับเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบเบื้องต้น และถ้ามีความคืบหน้าก็พร้อมจะให้รายชื่อทั้ง 54 รายดังกล่าว
นางนูรฮายาตีกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีนี้มีความยากลำบาก เพราะเหยื่อไม่มั่นใจในความปลอดภัย หลายคนไม่ได้อาศัยในประเทศไทยหลังการเปิดเผยรายงานดังกล่าว ซึ่งทางกอ.รมน.ได้รับปากว่า จะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี และจะจัดตั้งคณะทำงานทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนให้สอดคล้องกับหลักการสอบสวนสากล ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีความเข้าใจในสภาพจิตใจและความปลอดภัยของผู้เสียหายจากการทรมานด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังมีการวางข้อตกลงร่วมกัน คือให้การทรมานเป็นข้อห้ามไม่ว่าจะในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม และให้ทางราชการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและผู้เสียหายที่ร้องเรียนเรื่องการทรมานด้วย โดยจะมีการนัดพบเพื่อติดตามความก้าวหน้าในวาระต่อไป
รายงานดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้เสียหายจากการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จำนวน 54 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยใช้แบบสอบถามตามหลักการสากลที่เรียกว่า “พิธีสารอิสตันบูล” (Istanbul Protocol) ซึ่งเป็นแนวทางสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐาน กรณีการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nation Fund for Victims of Torture)
(ภาพประกอบจากกลุ่มประชาสังคมผู้จัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานฯ)

ไม่มีความคิดเห็น: