PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

คำสั่ง13/61คลายล็อก

คำสั่งคลายล็อก ประกาศในราชกิจจาฯแล้ว








สถานีคิดเลขที่ 12 : สุขุมพันธุ์-อภิสิทธิ์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : สุขุมพันธุ์-อภิสิทธิ์ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน


ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวในพรรคประชาธิปัตย์อย่างเกาะติด จะรู้ว่าสัญญาณการเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนั้น เริ่มต้นมานานแล้ว โดยถ้าย้อนไปมองเหตุการณ์ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดนปลดจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี 2559 นั่นก็คืออีกปรากฏการณ์ที่อธิบายถึงความเป็นไปในวันนี้ได้
โดยต้นเหตุการปลดนั้น มาจากการถูกร้องเรียนหลายเรื่อง ด้วยฝีมือจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเอง เช่น โครงการติดไฟประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี 5 ล้านดวง งบประมาณ 39.5 ล้านบาท และอีกหลายโครงการ
จนกระทั่งมีบทสรุปจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ส่งผ่านไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จนนำมาสู่คำสั่งจาก คสช. ด้วย ม.44
ขณะที่คนของประชาธิปัตย์ที่ออกโรงร้องเรียนผู้ว่าฯกทม.เองนั้น ส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ตอนนั้นสังคมก็งุนงงว่า ทำไมคนประชาธิปัตย์ซัดกันเอง ก่อนจะได้คำตอบจากวงในว่า เป็นเพราะสายแกนนำ กปปส.เคลื่อนไหวให้เปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค และจะดัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มาเป็นคู่ชิง อะไรทำนองนั้น
จากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์ แกนนำนกหวีด ออกไปตั้งพรรคใหม่ สะท้อนการหันหน้าไปคนละทางอย่างชัดเจน
แต่ไปๆ มาๆ วันนี้ก็เกิดกระแสเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาอีก
อาจจะมาจากการเดินเครื่องของสายเดิม หรืออีกสาย แต่ก็เกิดจากภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง
แต่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ถล่ม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เพื่อให้เห็นว่าการเมืองภายในประชาธิปัตย์เรื่องนี้เริ่มต้นมานานแล้ว
อีกประการ ความสัมพันธ์ของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ชัดเจนว่ายืนอยู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อ 3 มีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ชนะอย่างดุเดือดเลือดพล่านนั้น มีนายสุเทพนำทัพต่อสู้ในสนามเลือกตั้งเอง

แล้วในการชุมนุมของ กปปส.เพื่อไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชัตดาวน์จนบ้านเมืองเข้าทางตัน เพื่อให้เหลือทางเดียวคือการรัฐประหาร
การชุมนุมที่มีมวลชนเหนียวแน่นนั้น เป็นที่รู้กันว่าเป็นชาวบ้านผู้อยู่อาศัยใน กทม.แทบจะครบทุกเขต หมุนเวียนกันมาไม่มีขาดสาย
แต่ลงเอย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ต้องหลุดวงโคจรการเมืองไปแล้ว
ส่วนนายอภิสิทธิ์ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ แต่อยู่ท่ามกลางกระแสที่มุ่งเขย่าเก้าอี้หัวหน้าพรรคหลายระลอก
ปัญหาของนายอภิสิทธิ์เองก็มีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะปัญหาในช่วงที่เป็นรัฐบาล เป็นนายกฯ เนื่องจากเข้าไปร่วมวงในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่กลายเป็นปัญหาพัวพันมาจนถึงวันนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ 99 ศพ รวมทั้งการตั้ง ผบ.ตร.ไม่ได้
อาจจะทำให้คนภายในพรรคเองก็ไม่สบายใจ โดยน่าจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนในสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
แต่จุดเด่นของนายอภิสิทธิ์ในวันนี้ ก็คือเป็นผู้นำฝ่ายการเมืองที่ชนกับอำนาจทหารอย่างดุเดือด
กระนั้นก็ตาม จุดเด่นจุดนี้ก็อาจจะเป็นจุดด้อย ทำให้คนในพรรคบางซีกไม่สบายใจว่า จะทำให้พรรคโดนปิดล้อมจากฝ่ายผู้มีอำนาจในทุกๆ ด้าน
กว่าจะถึงวันลงสนามเลือกตั้งใหญ่ในต้นปีหน้า ศึกการเมืองภายในพรรคนี้ยังต้องมีให้เห็นกันอีกหลายระลอก
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

หยิกเล็บ เจ็บเนื้อ จาก พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ถึง ประชาธิปัตย์

หยิกเล็บ เจ็บเนื้อ จาก พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ถึง ประชาธิปัตย์



พลันที่ ครม.มีมติแต่งตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
ผลสะเทือนก็ส่งตรงไปยัง “พรรคประชาธิปัตย์”
เพราะไม่ว่าฐานแห่งการเสนอชื่อและแต่งตั้งจะมาจากปัจจัยอะไรในทางการเมืองแต่ก็ล้วนสัมพันธ์กับสถานะของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อย่างน้อยก็ 2 อย่าง
1 คือ การเป็น ส.ส.ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
1 คือ การเป็นแกนนำของ กปปส.ภายหลังการตัดสินใจลาออกจากพรรคและเข้าไปแสดงบทบาทร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ไม่เพียงแต่ชัตดาวน์ กทม. หากแต่ยังชัตดาวน์การเลือกตั้ง
ไม่ว่าความเหมาะสมในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองจะมาจากรากฐานใด 1 ใน 2 ก็ล้วนแต่สัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์รับไปเต็ม-เต็ม
เมื่อโยงกรณีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เข้าไปสัมพันธ์กับกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล ยิ่งเห็นโครงสร้างและองค์ประกอบได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
เพราะ 2 คนนี้ล้วนมาจากพรรคประชาธิปัตย์
ยิ่งกว่านั้น เพราะ 2 คนนี้ล้วนเป็นแกนนำ กปปส.และร่วมต่อสู้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลมหาประชาชนที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
วันนี้คนหนึ่งได้รางวัลเป็น รองผู้ว่าฯกทม.
วันนี้คนหนึ่งได้รางวัลเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

อย่าได้แปลกใจหากว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการสร้างพรรครวมพลังประชาชาติไทย
มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่สนับสนุนบทสรุปของ นายนคร มาฉิม ในเรื่อง “แผนสมคบคิด” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทั้งสิ้น
หากใครนำเอาการแต่งตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสกลธี ภัททิยกุล ประสานเข้ากับคำสารภาพของอดีตพระพุทธะอิสระ หรือ นายสุวิทย์ผลประเสริฐ ในปัจจุบัน
ก็จะยิ่งเห็นภาพได้ชัด
ชัดว่าแท้จริงแล้วสถานการณ์อันก่อให้เกิดสภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในห้วงระหว่างเดือนตุลาคม 2556 มายังเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ หรือว่ามีเจตนาสร้างขึ้น
ตรงนี้ทำให้สภาพการณ์ทางการเมืองก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับ ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คล้ายคลึงกัน
ใครเป็นคนปูทาง ใครเป็นคนสร้างเงื่อนไข
และในที่สุด ใครเป็นคนตัดสินใจลากปืน และรถถังขึ้นมาก่อรัฐประหารและใช้อำนาจพิเศษในการยึดกุมอำนาจ
เป็นความเด่นชัดที่มีคนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้อง
จากนี้จึงเห็นได้ว่า ไม่ว่ากรณีของ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ไม่ว่ากรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล ล้วนสะท้อนความสัมพันธ์ 2 ส่วน
1 คสช. และ 1 พรรคประชาธิปัตย์
จากสภาพความเป็นจริงและความสัมพันธ์ใน 2 ส่วนนี้เองทำให้การทำจดหมายเปิดผนึกโดย นายนคร มาฉิม ซึ่งเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ส่งผลสะเทือน
และจะนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนใน “วันเลือกตั้ง”

บทนำ : อีกก้าวสำคัญ ประจำวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561

บทนำ : อีกก้าวสำคัญ ประจำวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561



สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 แล้วเมื่อ 12 ก.ย. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำหรับ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือประมาณต้นเดือน ธ.ค. 2561 ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ยังกำหนดว่า เมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ในต้นเดือน ธ.ค. จะต้องประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใน 90 วันและให้ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 150 วัน หลังจาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

ดังนั้นเท่ากับว่า เมื่อถึงต้นเดือน ธ.ค. จะต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาก่อนต้นเดือน มี.ค. 2562 ส่วนกำหนดวันเลือกตั้ง ต้องภายในต้นเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐบาลยืนยันก่อนหน้านี้ว่า จะจัดการเลือกตั้งในเดือน ก.พ. 2562 และ กกต.เคยเปิดปฏิทินระบุว่า วันเลือกตั้งน่าจะเป็นวันอาทิตย์ที่ 24 ก.พ. 2562 อย่างไรก็ตาม กฎหมาย เปิดช่องให้กำหนดวันเร็วขึ้น และยืดออกไปจากเดือน ก.พ. 2562 ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจากต้นเดือน พ.ค. 2562


ความชัดเจนที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้กฎหมายนี้ ถือเป็นข่าวดี และทิศทางที่ดีของประเทศไทย หลังจากผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ จากการชุมนุมขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย การขัดขวางเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ที่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นโมฆะ ก่อนจะเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ด้วยเหตุผลว่า เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไทยว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาเกือบ 8 ปี หากนับจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 ผลจากการเว้นว่างอย่างยาวนานนี้ ส่งผลอย่างไรต่อประเทศ เชื่อว่า ทุกฝ่ายทราบดีจากสภาพที่ตนเองประสบอยู่

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นการเลือกตั้งเสรีที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิโดยอิสระ ดังที่ประชาชนได้แสดงความเห็นผ่านโพล และประชาคมโลกได้เคยเรียกร้อง ที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล แนวทางนโยบายของแต่ละพรรค เพื่อประโยชน์ในการใช้สิทธิ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง นักการเมืองได้เคลื่อนไหว ชี้แจงนโยบายและหาเสียงได้อย่างเสรี ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ

นิวส์โน้ต : ปลดล็อก!

นิวส์โน้ต : ปลดล็อก!



นักการเมืองตีปีก เฮลั่น
พ.ร.ป.เลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย ออกครบ
ฉบับ ส.ว.มีผลแล้ว ฉบับเลือกตั้ง ส.ส. รอ 90 วัน
แต่กระนั้น ฤกษ์นับถอยหลัง 3 เดือน+150 วัน ก็เริ่มทันที
นาทีนี้ ‘บิ๊ก คสช.’ คอนเฟิร์ม
เลือกตั้ง 24 กุมภาฯ62 ไม่เปลี่ยน
เมื่ออะไรต่อมิอะไรชัด ที่อึมครึมก็คลี่คลาย
ที่สงสัย จะมีเลือกตั้งหรือไม่ ก็คลายวิตก
ไม่มีเงื่อนไข ยื้อยาว เกิน 5 พฤษภาฯ 62 อีกแล้ว นอกจากอ้างเหตุผลการเมือง-เรื่องความมั่นคง
แต่การที่ หัวหน้า คสช. พูดไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งขนาดนี้
ไม่น่ามีอะไรพลิกอีก ไม่เชื่อ ‘บิ๊กตู่’ แล้วจะเชื่อใคร

ช็อตจากนี้ไป ที่นักการเมืองลุ้น ก็ปมคลายล็อก
จะมากกว่า กี่ประกาศหรือไม่
แต่เท่าที่ฟัง ‘วิษณุ เครืองาม’ เฉลยย้ำ ชั้นนี้ คงไม่ปล่อยฟรี 100%
ให้ได้เท่าที่พูดไป 5-6 ข้อ ปลดล็อกเต็มรูปแบบ ก็ต้องโน่น ธันวาฯปลายปี
หลังวันที่ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้
แต่นักวิชาการ ฝ่ายการเมืองก็ไม่ลดละ รุกต่อ ตื๊อโละ กฎเหล็กคุมทำกิจกรรมตั้งแต่วันนี้
ถามจี้ รอกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.อีกทำไม
ในเมื่อเจตนารมณ์ชัด เมื่อออกแล้ว ต้องทุบทิ้ง โซ่ตรวนพันธนาการพรรค
ยืดบังคับใช้ก็จริง
แต่เจตนารมณ์ยังอยู่ไม่ยืดซะหน่อย

สูงกว่าเดิมพันผู้นำพรรค

สูงกว่าเดิมพันผู้นำพรรค



เข้าสู่ห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อ รอส่งไม้ประชาธิปไตย
ภายหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กงล้อการเมืองได้ฤกษ์ขยับ ตามโปรแกรมที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ระบุจะคลายล็อกให้นักการเมืองยืดเส้นยืดสาย
รอวอร์มอัปอีก 90 วัน ให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ จะเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้งโดยสมบูรณ์แบบ
ปฏิทินการเมืองมีทิศทางชัดเจนยิ่งขึ้น กลไกต่างๆเตรียมเคลื่อนไปตามโรดแม็ป ตั้งแต่การคลายล็อก การเตรียมตัวเลือกตั้ง
ปักหมุดรอวันกาบัตรลงคะแนน 24 ก.พ.2562
ตามเค้าลางฝุ่นการเมืองที่เริ่มตลบทันที โดยเฉพาะความวุ่นวายในพรรคประชาธิปัตย์
เกมโค่นอำนาจ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลงจากเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกระดับความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
จากซีนของ “เดอะจ้อน” นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ศิษย์เก่า ปชป.ที่แปรพักตร์ไปอิงท็อปบูต กลับมาประกาศตัวท้าชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคแข่งกับ “อภิสิทธิ์”
มาถึงกรณี “หมอผี” นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ผู้แทนรุ่นลายคราม ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม อดีต ส.ส. นครศรีธรรมราช เสนอทางเลือกให้ “เดอะมาร์ค” ทิ้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค
หลีกทางให้รุ่นใหญ่ “ชวน หลีกภัย” สวมปลอกแขนกัปตันทีมขัดตาทัพแทนในสมรภูมิเลือกตั้ง
เพื่อความเป็นเอกภาพในพรรค ในห้วงที่สมาชิกพรรคมีทั้งขั้วที่เอาและไม่เอา “อภิสิทธิ์”
ล่าสุดยังมีความพยายามจากก๊วน กปปส. เดินเกมผลักดัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก มือปราบจำนำข้าว ขึ้นทาบชั้นเบียดเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน
ทีมกองชังเอาจริงเอาจัง หวังดึง “เดอะมาร์ค” ให้หงายหลังตกจากเก้าอี้ให้ได้
วางเกมเป็นระบบ เตรียมแก้ไขกฎกติกาข้อบังคับพรรค หั่นฐานเสียงโหวตเตอร์ที่มีสิทธิหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคเหลือ 9 หมื่นคน ยึดเฉพาะพวกที่มายืนยันตัวตนเป็นสมาชิกพรรค จากฐานเสียงเดิมที่มี 2.9 ล้านคน
กรองเอาแต่ฐานเสียงหลักจากปักษ์ใต้ของ นายถาวร เสนเนียม แกนนำภาคใต้ ปชป. ฝั่งตรงข้ามนายอภิสิทธิ์ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมเสียง
ไม่ใช้ฐานเสียงเดิม 2.9 ล้านคน เป็นเกณฑ์เพราะยากต่อการควบคุมเสียงให้เป็นอุปสรรคต่อเกมล้มอำนาจเปลี่ยนหัวในเที่ยวนี้
เกมเขี่ยลูกเปลี่ยนผู้นำ ปชป.เดินเครื่องกันจริงจังเป็นระลอกๆ
ดูยังไงก็ไม่ใช่ภาวะปกติ
ประชาธิปัตย์ระเบิดศึกสายเลือด แบ่งก๊กแบ่งเหล่า แย่งตำแหน่งประมุขพรรควุ่นวาย
สถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างที่ “อภิสิทธิ์” ก็รู้ตัวดี รีบก่อกำแพงป้องกันสูงลิบ ไม่ให้โดนฉกเก้าอี้ง่ายๆ
จ่อแก้ข้อบังคับพรรคใหม่ วางสเปกแคนดิเดตหัวหน้าพรรคอย่างเข้มข้น กำหนดให้ต้องมีอดีต ส.ส. 400 คน และสมาชิกพรรคทั้ง 4 ภาค ภาคละ 1,000 คน รวม 4,000 คน ให้การรับรอง
ตั้งการ์ดรัดกุมแน่นหนา พร้อมโปรยตะปูเรือใบเจาะยางไม่ให้ใครเข้ามาแย่งเก้าอี้
ตามท้องเรื่องที่ทีมองครักษ์พิทักษ์ “มาร์ค” อย่างนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ปลุกกระแสต่อต้านนอมินีจากผู้มีอำนาจใน คสช.ที่พยายามแทรกแซงการเปลี่ยนหัวขบวน ปชป.
จุดแข็งเรื่องระบบการเฟ้นหาหัวหน้าพรรค ที่มีบารมีเป็นที่ยอมรับของลูกพรรค ผ่านการเพาะบ่มประสบการณ์ สะสมชั่วโมงบินจนเชี่ยวกราก ไม่ได้เป็นพรรคของใครคนใดคนหนึ่ง
กำลังถูกเปลี่ยนจุดยืนจากในอดีต
อย่างที่รู้กัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรสำคัญในสูตรฟอร์มทีมร่วมรัฐบาล ต่อตั๋วผู้นำให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
แต่ “อภิสิทธิ์” กลับเป็นเด็กดื้อ คอนโทรลยาก ตามการตั้งแง่ ชูหลักการไม่สนับสนุน “ลุงตู่” ตั้งรัฐบาล หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้คะแนนเสียงข้างมากจาก ส.ส.ในสภา
ดังนั้นหากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็น “อภิสิทธิ์” อาจเป็นอุปสรรคไม่ให้ “บิ๊กตู่” ได้ไปต่อ
ทำไปทำมาสถานการณ์ช่วงชิงผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แค่การขับเคี่ยวแย่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค แต่เป็นตัววัดอนาคตชี้ทิศทางพรรคภายหลังการเลือกตั้ง
เดิมพันจะได้ร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านตามบทถนัด.
ทีมข่าวการเมือง