PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

"สปท.การเมือง" เสนอแนวทางจำหน่ายคดีชั่วคราวสร้างความปรองดอง

วันที่ 4 มกราคม 2560 เวลา 07:29 น.

"นายเสรี สุวรรณภานนท์" เสนอแนวทางสร้างความปรองดองจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อช่วยประชาชนที่มีอัตราโทษไม่ร้ายแรง ส่วนแกนนำและคดีร้ายแรง ให้สู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า ที่ประชุมสปท.การเมืองได้ตั้งกรรมาธิการฯเต็มคณะ เพื่อพิจารณาแนวทางการ
ปฏิรูปเพื่อสร้างความปรองดอง โดยวางหลักการสร้างความปรองดองแยกเป็นกลุ่มๆได้แก่ ส่วนแกนนำชุมนุมหากมีคดีติดตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาล ส่วนระดับประชาชนทั่วไปจะแยกตามความหนักเบาของคดีหากเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรง อาทิ มาตรา 112 คดีทุจริต ความผิดอาญาร้ายแรงเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งเป็นความผิดที่ประชาชนรับไม่ได้จะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่หากเป็นคดีประชาชนทั่วไปที่มีอัตราโทษไม่รุนแรง เช่น การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปชุมนุมทางการเมือง

คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาศาลแขวง หรือกรณีการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัว สปท.การเมืองได้เสนอแนวทางลดหย่อนการลงโทษ อาทิ คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาล จะขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวระหว่างการสืบพยานไว้ชั่วคราว เพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับตัว แต่มีเงื่อนไขว่าระหว่าง 3-5 ปี ห้ามไปกระทำความผิดซ้ำ ทั้งการไปร่วมการชุมนุม การปลุกระดมข่มขู่

ส่วนกรณีที่ นายสุชน ชาลีเครือ มีแนวคิดเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น นายเสรี กล่าวว่า อยากให้ใช้แนวทางตามกฎหมายปกติไปก่อน แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย หากต้องการความรวดเร็ว ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษได้

"วิรัตน์"หนุน"สปท."ชงนิรโทษ แนะเยียวยาเหยื่อ 3 จว.ใต้

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมอย่างเด็ดขาด และต้องลงโทษสถานหนักในคดีอาญาร้ายแรง รวมถึงคดีทุจริตทุกประเภท แต่ทั้งนี้เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และจะต้องมีมาตรการเยียวยาด้านการเงิน และด้านจิตใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจากการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ด้วยการจัดเงิน ดูแล หรือหาอาชีพที่เหมาะสม หรือมาตรการอื่นที่เหมาะกับผู้ชุมนุมนั้นๆ ส่วนวงเงินนั้นแม้ไม่ถึง 7 ล้าน 5 แสนบาทต่อราย แต่ควรให้ผู้ที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน และได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งนี้เห็นว่าแนวทางที่จะนิรโทษกรรมควรให้ สนช. ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อจะได้รอบคอบรัดกุมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนอกจากนี้ควรคำนึงถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ด้วย

"สาธิต"ย้อนถาม"สุชน"ชงนิรโทษฯเพื่อใคร

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายสุชน ที่เรียกร้องให้ หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมประชาชนในเหตุการณ์การเมือง ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความปรองดอง ว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ล้าสมัยและควรต้องตอบคำถามสังคมก่อนว่า ทำเพื่อใคร และใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมที่เสนอมา เพราะข้อเท็จจริงในเวลานี้ แทบจะไม่มีประชาชนที่เป็นเหยื่อในการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งที่เหลืออยู่มีแต่ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ในทางกลับกันผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นแกนนำในการชุมนุมทั้งสิ้น อีกทั้งขณะนี้ความขัดแย้งหรือความปรองดองของคนในชาตินั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ ข้อเสนอนี้จะเป็นการล้างอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือไม่ เพราะบางคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว มีผลพิพากษาทั้งลงโทษผู้ที่ทำผิด และที่ยกฟ้องให้ประชาชนไปแล้ว

จุดที่ 'บิ๊กตู่' ตอบชัดไม่ได้

ประเดิมเอาฤกษ์เอาชัย

บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และ อาจารย์น้องรศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา นำคณะรัฐมนตรีและข้าราชการทำเนียบรัฐบาล ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 60 รูป

เนื่องในเทศกาลขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2560

พ่วงด้วยเซอร์ไพรส์ นายกฯลุงตู่ ปล่อยซิงเกิลใหม่ เพลง สะพาน ที่เจ้าตัวแต่งให้กับ ครม.ทุกคนในการทำงาน เพื่อก้าวข้ามไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ตามฉากบรรยากาศชื่นมื่น

ท่ามกลางกระแสข่าวหนทางตามโรดแม็ปส่อเค้าไม่ราบรื่น

ล่าสุดเป็นคิวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ยืนยันกับปากตัวเอง ยังยึดโรดแม็ปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เพิ่มเติมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ยืนยันไม่จำเป็นต้องชี้แจงกับต่างประเทศกรณีมีกระแสข่าวเรื่องการเลื่อนโรดแม็ป เพราะไม่มีฝรั่งชาติไหนมาถามแล้ว เนื่องจากเห็นกระบวน

การและทิศทางแล้ว หลังไทยผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา

ถือเป็นสัญญาประชาคมว่าจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

แต่ยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ขึ้น ซึ่งโรดแม็ปอาจจะมีบวกลบบ้าง แต่

เชื่อว่าไม่ว่าจะปรับอย่างไร ก็จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่น เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็ต้องเดินตามนั้น ต่างชาติเขาเข้าใจในเรื่องนี้ดี

ท่าทีจากรัฐบาลทหาร คสช.พยายามยึดสัญญาประชาคมที่ประกาศไว้

แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินตามรูปการณ์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จับอุณหภูมิความร้อนแรงจะไหลไปอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เปิดยุทธการปล่อยของเป็นชุด

ไล่ตั้งแต่การเปิดไฟเขียว พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องกับการเดินหน้าแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ.2505 ผ่าทางตันการตั้งสังฆราชองค์ใหม่

ลุยถั่วแบบม้วนเดียวจบ โดยไม่สนกระแสต้าน

จนมาถึงการปล่อยสัญญาณการเลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้ง โดยคนระดับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. จุดพลุให้ สนช.ในปีกกลุ่มอดีต 40 ส.ว.แห่ตีปี๊บ

รีบเล่นเกมเร็ว โดยที่รัฐบาลได้แค่อ้อมแอ้มยึดตามสัญญาประชาคมเดิม

โดยเงื่อนไขสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ถึงจุดนี้สนช.คือ กลไกหลักในการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ทางการเมือง

เดินเกมแหลมๆคมๆแทนรัฐบาล คสช.

ตามโปรแกรมที่รออยู่ล้วนแต่คิวสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ที่มีการแบะท่าออกมาแล้ว แนวโน้มใช้เวลา ลากยาวกันแบบเต็มเหยียด

สนช.ยื้อจังหวะ ดึงเกมโรดแม็ปได้ตามกติกา

มาถึงตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ผู้รับผิดชอบสัญญาประชาคม ยังไม่ชัวร์เลยด้วยซ้ำ

ในเมื่อทุกอย่างมันอยู่ในกระบวนการของ สนช.

แต่ที่ต้องจับตา อีกส่วนที่ขยับก็คือมุกปรองดองที่เงียบหายไปนาน โผล่มาล่าสุดเจ้าเก่าหน้าเดิมอย่างนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับ

เคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เตรียมชงแนวทางให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือเหมือนการใช้นโยบาย 66/23 สมัยรัฐบาลป๋าเปรมพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในการเปิดช่องให้ผู้หลงผิดเข้ามอบตัว

กับทางราชการโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี

โดยให้ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองที่รับสารภาพไม่ต้องถูกจำคุก หรือให้มีการจำหน่ายคดี โดยไม่ต้องออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่จะไม่ครอบคลุมแกนนำการชุมนุม การกระทำผิดอาญาร้ายแรง

คดีทุจริต และการกระทำผิดตามมาตรา 112

และก็ตามฟอร์มเดิม เมื่อได้ยินคำว่าปรองดอง พรรคเพื่อไทยต้องลุ้นให้ถึง นายใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ต้องดักคอไม่ให้เหมาถึงทักษิณ ต่างฝ่ายต่างตีกินในมุมที่เข้าทางตัวเอง

แต่ที่แปลกไป ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยไม่ด่ากันโขมงโฉงเฉง แค่เถียงกันในหลักการ

เหมือนจับคลื่นความถี่ได้ สัญญาณปรองดองรอบนี้มีที่มาที่ไป.

ทีมข่าวการเมือง

ที่มา:ไทยรัฐ

แผนปรองดองยุค รัฐบาลทหาร 2 ปี 3คณะ วาระแท้งก่อนนิรโทษ

(ข้อมูลย้อนหลัง)
updated: 14 พ.ค. 2559 เวลา 20:30:08 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รายงาน
ไอเดีย "บันได 2 ขั้น" สู่ความปรองดองของ "เสรี สุวรรณภานนท์" ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อาจกล่าวได้ว่า "ล้มคว่ำไม่เป็นท่า" หลังจากจุดพลุสลายสีเสื้อชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ยชั่วข้ามคืนเดียว ไอเดียปรองดองที่ยัง

"ไม่ตกตะกอน" กลายเป็น "ตำบลกระสุนตก" 

ให้กลุ่มการเมืองที่มีส่วนได้-เสียรุมกระหน่ำ ยิ่ง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ความมั่นคง "พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์" ออกมาหักดิบแผนปรองดอง ว่า "ไม่เอา" ยิ่งทำให้เห็นชะตากรรมข้อเสนอของนายเสรี สั้นลงทันตาเห็น

"ตนไม่ค่อยเห็นด้วย เสนอมาทำไมไม่รู้ สถานการณ์ขณะนี้ก็ดีอยู่แล้ว อะไรก่อให้เกิดความขัดแย้ง ตีกัน ก็อย่าไปทำ ไม่เอา ควรปล่อยให้เป็นไปตามโรดแมป" พี่ใหญ่บ้านเกษะโกมลระเบิดอารมณ์สูตรปรองดองฉบับนายเสรี ประกอบด้วย บันไดขั้นแรก การใช้ "อำนาจรัฏฐาธิปัตย์" ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 มาตรา 44 ถอนฟ้อง คดีในฐานความผิดลหุโทษ หรือคดีระดับแนวร่วม

บันไดขั้นที่สอง การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รอการกำหนดโทษ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินหรือฟังคำพิพากษาของศาล โดยจะใช้กับคดีฐานความผิดสถานหนัก หรือคดีระดับแกนนำอาทิ คดีกลุ่มแกนนำการเมืองบุกยึดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน หรือสี่แยกต่าง ๆ ที่เป็นอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมือง แต่ไม่รวมคดีทุจริต คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีวางเพลิง-เผาทรัพย์

ประธาน กมธ.การเมือง สปท. ขยายความกรรมวิธี "รอการกำหนดโทษ" ว่า เป็นการนำหลักการรอการกำหนดโทษในกฎหมายอาญามาใช้และนำกระบวนการอื่น ๆ เข้ามาผสมเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่า ตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับการรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่น ๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก

อาทิ การห้ามชุมนุมการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจจะมีการตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้ามเหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามการรอการกำหนดโทษ จะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิม เพื่อลงโทษทันที มาตรการนี้จึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่าง ๆ มาควบคุม หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว

เจ้าของไอเดียถูกตั้งคำถามทันควันว่า "รับงาน" ใครมาหรือไม่ ก่อนที่สปอตไลต์จะสาดส่องไปที่กองบัญชาการเกษะโกมล


แหล่ข่าวมือประสานแม่น้ำ 5 สายเปิดเผยว่า "ข้อเสนอของนายเสรีไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตรใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ใช่การถีบหัวส่ง พล.อ.ประวิตรไม่ใช่เป็นคน

อย่างนั้น เพราะถ้ารับงานจาก พล.อ.ประวิตรมาจริง ๆ พล.อ.ประวิตรก็ต้องออกมาเห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอของนายเสรีซิ นอกจากนี้นายเสรียังไม่เคยมาหารือก่อนที่จะมีการพูดถึงข้อเสนอออกไปต่อสาธารณะเสียด้วยซ้ำ เป็นการคิดเอง ทำเองขึ้นมาของนายเสรี และคนใน กมธ.การเมือง สปท."

แหล่งข่าวระบุอีกว่า หลังจากนี้ข้อเสนอของนายเสรีคงต้องล้มเลิกและหยุดไว้ก่อน เพราะมีกลุ่มการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เห็นด้วยแทบทุกฝ่าย รวมถึง พล.อ.ประวิตรที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงก็มองว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังเดินไปสู่โรดแมป คือ การทำประชามติและมีการเลือกตั้ง หากรับข้อเสนอของนายเสรีอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งและกระทบต่อโรดแมปได้

"อย่างไรก็ตาม สปท.มีหน้าที่หาแนวทางปฏิรูปประเทศ ซึ่งการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญและต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับมาสู่ความสมานฉันท์ จึงอาจมีการปรับแก้แนวทางให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยมากกว่านี้"


ด้านแหล่งข่าวจาก สปท.วิเคราะห์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยผ่านประชามติ จะทำให้ สปท.อยู่ในอำนาจอีกเพียง 6 เดือน ดังนั้นช่วงนี้จึงต้องรีบสร้างผลงาน เพื่อได้เข้าไปนั่งในตำแหน่ง ส.ว.สรรหา ที่ คสช.จะเป็นผู้คัดเลือก

หากย้อนเส้นทาง "ปรองดอง" ในยุค คสช.เข้าควบคุมอำนาจ เกือบ 2 ปีผ่านไป หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เก็บกวาดนักการเมืองพ้นกระดาน ไม่ถึง 20 วัน ได้มีการตั้ง "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)" วางบันไดการทำงานไว้ 3 ขั้น เพื่อออกแบบการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง

ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อม โดยเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้อง แผนการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการ ลงพื้นที่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล หาข้อเสนอปฏิรูปและปรองดอง ก่อนเข้าสู่ขั้นที่ 3 ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

หลายเดือนต่อมา 23 เม.ย. 58 ศปป.เรียกนักการเมือง นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มภาคประชาชน 83 รายชื่อ และมีผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม 40 คน มาปิดห้องหารือที่สโมสรกองทัพบก แบบสายฟ้าแลบ อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้เวทีที่ใช้ชื่อว่า "เสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย" ในหัวข้อ "อนาคตของประเทศไทย"

รุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการปิดห้องคุยครั้งนั้นว่า "หลายท่านบอกว่าผมเรียกมาแบบนี้เพื่อเตรียมใช้มาตรา 44 มาทำให้เกิดความปรองดอง ผมบอกหลายครั้งแล้วว่า การปรองดองอยู่ที่หัวใจทุกคน ถ้าอยากปรองดองก็หยุดเสียก่อน หยุดพูด หยุดแสดงความคิดเห็นที่สร้างความขัดแย้ง"

ทว่าการปรองดองก็ยังมิอาจหาข้อสรุปได้ภายในวันเดียว


ต่อมา 3 มิ.ย. 58 ศปป.จัดในรูปแบบการเสวนา "เสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย" ครั้งที่ 2 ในหัวข้อเดิม จำนวน 4 วันต่อเนื่องกัน ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต สถานที่ปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557

บุคคลที่ถูกเชิญตัวก็ยังเป็นนักการเมืองต่างขั้วต่างค่าย-นักวิชาการหลากหลายทฤษฎี อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสมศักดิ์

โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง

ศปป.นำแนวคิดจากทุกขั้ว-ทุกค่าย นำมาผูกโยงเข้าหากันเพื่อแสวงหาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง ในชั้น สปช. โดยวันที่ 21 ก.ค. 58 คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. ที่มี "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" เป็นประธาน นำเสนอเนื้อหาสาระหลังเดินสายเยี่ยมนักโทษการเมืองถึงในคุก หารือกับกลุ่มการเมืองทุกขั้ว ทุกสี คือ เงื่อนไขการนิรโทษกรรมต้องไม่หมายรวมถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่น คดีอาญาร้ายแรง และคดีผิดมาตรา 112 รวมถึงจะไม่นิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

เบื้องต้นควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการในขั้นตอนเฉพาะของผู้ชุมนุมประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงพิจารณาการนิรโทษกรรมในขั้นตอนต่อไป อาทิ แกนนำ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการสำนึกรับผิดต่อสาธารณะ

มีการเปิดเผยความจริงของผู้กระทำผิดและการให้อภัยของผู้ถูกกระทำโดยโรดแมปปรองดอง 6 ระยะ คือ 1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดและการให้อภัย 4.การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2557 5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และ 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อาทิ ควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือปะทะรุนแรงระหว่างฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง

ทว่าเมื่อส่งไปยังรัฐบาลกลับเงียบหายจนถึง ณ เวลานี้คู่ขนานกับการบรรจุเรื่องการปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" 


โดยตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมากว่า จะมาเป็น "ซูเปอร์รัฐบาล" ควบคุมรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เกิดแรงต้าน กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญแท้งไปโดยการโหวตคว่ำของ สปช. พร้อมกับการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด 36 อรหันต์

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเก่าแท้งไปด้วยพิษของ คปป. ก็เกิดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน หลายฝ่ายจับตามองว่า "มีชัย" จะนำ คปป. ที่มีภารกิจปฏิรูป-ปรองดองกลับมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

"มีชัย" สั่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดอง มี "ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์" อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นประธาน โดยมี "3 ทหารเสือ" เป็นแกนหลัก ประกอบด้วย พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก ซึ่งเป็นสายตรง คสช.ที่ถูกส่งมาช่วยร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อสรุปของอนุกรรมการ ออกมาตรการ 3 ระยะเพื่อสร้างความปรองดอง ได้แก่ ระยะที่ 1 การสร้างบรรยากาศที่ดีในการนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยยุติพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมออนไลน์

ระยะที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองหรือสมานฉันท์ ผ่านกระบวนการเจรจาของคู่ขัดแย้งให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 3 ใช้กระบวนการเยียวยา นิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ผ่านการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน คู่กรณีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แล้วจึงจะพิจารณาเยียวยา นิรโทษกรรม อภัยโทษ ตามกระบวนการกรอบกฎหมาย ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรง

แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ถูกนำมาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีความพยายามของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2559 เตรียมจัดตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งแนวคิดนี้มาจากสถาบันพระปกเกล้า เพื่อทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางสร้างความปรองดองและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย มาร่วมเป็นกรรมาธิการ

แต่ก็เงียบมาจนถึงบัดนี้

ยังไม่นับกระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดจะใช้มาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 59

สุดท้ายก็เงียบหายไปอีกเช่นกัน


2 ปีผ่านไป แผนปรองดองยุครัฐบาล-คสช.ถูกนำมาจุดพลุความหวัง-ขายฝัน ถึง 3 คณะ ก่อนจบลงที่การถูกตีตก เป็นวาระคงค้าง แท้งก่อนจุติ

"หัวหน้า ปชป." ไม่มีปัญหา! หากการเลือกตั้งจะขยับเป็นปี61

"หัวหน้า ปชป." ไม่มีปัญหา! หากการเลือกตั้งจะขยับเป็นปี61 ตราบใด "ประยุทธ์" ยังยืนตามโรดแม็พเดิม ชี้ถ้าบอกยกเลิกโรดแม็พก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเนื้อหาเพลงสะพาน ที่พล.อ.ประยุทธ์จันทรโอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. แต่งล่าสุด ว่าเป็นการย้ำสิ่งที่ คสช. พูดมาตั้งแต่ต้นว่า เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเดิมปฏิรูป หาแนวทางไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ส่วนสะพานจะยาวหรือไม่นั้น ตนเคยพูดไว้แล้วว่าถ้านับคำนวนกันดีๆ เลือกตั้งจะเกิดปี 60 หรือปี 61 ได้ทั้งนั้น ไม่ได้หลุดจากโรดแม็พ เพราะนับ 1 วันหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ สมมติว่าประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ต้องนำตัวเลข 240 วัน 150 วันมาบวกก็ต้องเข้าปี 61 ได้อยู่แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ 

แต่จะเป็นปี 60 หรือ 61 ก็ขึ้นกับความรวดเร็วของการทำงานแต่ก็มีบางกรณีเช่นถ้ากฎหมายลูกมีปัญหาเพราะหน่วยงานต่างๆ องค์กรอิสระเห็นไม่ตรงกันก็อาจจะขยับได้ จึงอย่าเพิ่งมาเถียงกันปล่อยให้เดินไปตามขั้นตอน อย่าให้หลุด ถ้าหลุดแล้ว ต่อว่ากันใหม่ แต่เท่าที่ตนทราบผู้ที่เกี่ยวข้องก็พยายามวางแผนให้ราบรื่นที่สุด ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ตามกรอบเวลา ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนั้นจะตามมาทีหลังพอครบ 4 ฉบับถึงจะนับเวลาว่าไปสู่การเลือกตั้งเวลานั้นพรรคการเมืองกับกกต.ก็จะมีเวลาที่จะไปปรับตัวเข้ากับกฎหมายลูก 2 ฉบับแล้ว 

" อย่าไปวิตกกังวลจนเกินเหตุ ยกเว้นเสียแต่เขาจะบอกว่าไม่เอาแล้วโรดแม็พอย่างนั้น อีกเรื่องหนึ่ง ผมก็เข้าใจว่าถึงวันนี้นายกฯก็ยังยืนยันว่าเป็นไปตามโรดแม็พ และถ้าการเลือกตั้งเป็นไปตามขั้นตอนคิดว่ากฎหมายพรรคการเมืองคงเสร็จเร็ว เพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว และคิดว่าทางผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. เขาทราบดีอยู่แล้วว่า กระบวนการจะต้องเป็นอย่างไร อย่าไปตื่นเต้นก็เดินข้ามสะพานกันต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายกฯลั่นจัดการรถตู้

(4ม.ค.)


ขึงขัง !!
"นายกฯ" บอกเตือนไว้ก่อน "อย่ามาโอดครวญ" จากนี้ จัดระเบียบรถตู้เข้ม โดยเฉพาะพวกขนส่ง จากนี้เอาจริง หลังเกิดอุบัติเหตุปีใหม่ บอก รับไม่ได้ ชี้ให้จบใน 3 เดือน สั่งเข้มงวดบังคับใช้ กม. ระบุต้องขึ้นทะเบียน-เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเป็นNGV ลั่นใครไม่ทำ มีเรื่อง ถามหรือต้องให้ออกกฎหมายห้ามตาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.กล่าว ถึงแนวทางจัดระเบียบและมาตรฐานความปลอดภัยรถตู้โดยสารสาธารณะ ว่า จากนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลา 3 เดือน จะดำเนินคดีทุกอย่างไม่ว่าจะเกี่ยวกับรถหรือพลขับ รถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถตู้บรรทุกเกิน เบียดเสียดยัดเยียด รวมถึงรถโดยสารประจำทาง
ทั้งหมดต้องมีสมุดประจำรถลงบันทึกการขับทุกเส้นทางและมีด่านตรวจทุกเส้นทาง ซึ่งหากขับเกินเวลาต้องยึดรถเอาคนลง พร้อมหาคนขับและหารถใหม่ และบรรดาขนส่งที่ไม่รักษากติกา. อย่ามาโอดครวญ เพราะผ่อนผันมานานแล้ว
"ผมจะใช้มาตรการนี้เข้มงวดในช่วง 3 เดือนนี้ก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ครั้งต่อไป อย่าโวยวาย ถ้าทุกคนต้องการความปลอดภัย ต้องมาร่วมมือกับผม วันนี้รถตู้ให้บรรทุกไม่เกิน 10 คน แต่กลับบรรทุกถึง 13-14 คน มีสายรัดนิรภัยครบแต่คาดกันมั่ย
ส่วนรถปิกอัพไว้บรรทุกคนหรือบรรทุกของ ก็ไปนั่งท้าย 10 กว่าคน แล้วผมจะแก้ได้ยังไง มันจึงต้องมีมาตรการเชิงป้องกัน ทุกคนจึงต้องทน ถ้าไม่อยากตายมาก
เพราะวันนี้ทำเต็มที่แล้ว ตั้งด่านมากกว่าปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่มากกว่าปีที่แล้ว ยังมีการบาดเจ็บสูญเสียเพราะดื่มสุรา พลขับไม่ได้พักผ่อน ซึ่งต้องแก้ปัญหาในระยะยาว แต่วันนี้ผมจะเอามาในระยะสั้น"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดก่อนจะเกิดเหตุมากไปกว่านี้ ไม่เช่นนั้นทผมรับไม่ได้ เสียชีวิตเพียงคนเดียวก็รับไม่ได้ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน
"อย่ามากดดันรัฐบาล ซึ่งรถตู้ต้องอยู่ในกรอบกติกา โดยเฉพาะรถตู้ที่ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายไม่ใช่ปล่อยละเลย และที่ผ่านมาทุกรัฐบาลทำไมปล่อยให้มีรถตู้ผิดกฎหมายออกมาวิ่ง ทุกคนไม่ได้อยู่ในกฎระเบียบตั้งแต่แรก
แต่ต่อจากนี้พลขับ บริษัทขนส่งต้องโดนหมด รวมถึงผู้ประกอบการต้องดูแลเรื่องประกันรถ ซึ่งจากนี้รถคันใดไม่พร้อมก็จะไม่ให้ออกจากท่า จะมีอะไรมากกว่านี้หรือไม่ หรือต้องให้ออกกฎหมายห้ามตาย
"ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันก็ลำบาก อับอายเขา เพราะสูญเสียเยอะ ผมจะให้ถอดตัวอย่างกฎหมายของต่างประเทศว่า มีการห้ามเรื่องใดบ้าง ใบขับขี่ทำอย่างไร แต่นี่แตะไม่ได้สักอัน หาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วจะปล่อยให้ตายหรือยังไง มันไม่ได้แล้ว
จากนี้เป็นต้นไปผมจะเข้มงวด ใครวิ่งไม่ได้ก็ไม่ต้องวิ่ง เดี๋ยวผมหารถมาวิ่ง ป้ายเหลืองก็ต้องถูกต้องตามกฎหมาย 100% รวมถึงการใช้เชื้อเพลิง ยังใช้แก๊สLPG หรือแก๊สหุงต้ม ไปใช้ในการขนส่ง เกิดอะไรขึ้นมารัฐบาลรับผิดชอบอีก จึงต้องเปลี่ยนเป็นNGV ในเวลาเท่าไร เดี๋ยวไปหามาตรการมา และต้องตรวจที่นั่งในรถตู้ ซึ่งถ้าไม่ทำมีเรื่องแน่ ดูสิจะออกมาเดินขบวนผมอีกไหม"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนของเรายังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ ทั้งการเชื่อมต่อรถไฟ รถเมล์ เคยได้รับการปรับปรุงหรือไม่ หากไม่มีก็ต้องเป็นอยู่แบบนี้ มีรถตู้มาเสริมให้รวดเร็วแต่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาทั้งระบบ ผมไม่ได้ปัดความรับผิดชอบ
นอกจากนี้การแก้ปัญหาจราจรต้องถามแนวความคิดของคนที่จะมาเป็นรัฐบาลต่อไปด้วยว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้าถาม ผมวันนี้จะบอกว่าได้ทำทุกวิถีทางแล้ว ไม่ว่าจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 การยึดรถหรือการจับกุมต่างๆ แต่ยังมีการตายอีก เพราะวันนี้มีรถมากขึ้น และยังมีการดื่มสุราระหว่างขับรถ ดังนั้นไม่มีกฎหมายแก้ปัญหาเหล่านี้ได้นอกจาก จิตใจของทุกคน

โมเดลปีใหม่ของ"ลุงตู่"

โมเดล ปีใหม่....บิ๊กตู่ บอก หยุดปีใหม่ ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้พูด ได้แต่เขียนออกมา.....ก็นี่ล่ะ
เล่นเกม แกะลายมือ นายกฯลุงตู่ กันสักนิด
นายกฯใช้เวลา ปีใหม่ เขียนโมเดล เดินหน้าปฏิรูป-ปรองดอง‬ และ ตั้ง"คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ" ในระยะที่ 2
‪ทีมงาน แกะลายมือ เพื่อนำไปพิมพ์‬ เป็นโมเดล (ที่อ่านง่ายๆ) ออกมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมครม.ว่า ข้อสั่งการเรื่องปฏิรูปประเทศ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญในเรื่องเร่งด่วน จึงอาจทำให้สังคมไม่รับรู้
จึงให้จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ในระยะที่ 2 ขึ้น ดำเนินการเรื่องความปรองดองด้วย ที่สังคม คิดว่าไม่มีความคืบหน้าหรือไม่ได้ทำ
และต้องมีสำนักงาน ประสานงานขอฃคณะกรรมการปฏิรูปฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
โดยให้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาฯ
โดย พลเอกประยุทธ์ พร้อมใช้ มาตรา44 สนับสนุนในสิ่งที่จำเป็น