PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

"สองมาตรฐาน?"

Thirachai Phuvanatnaranubala
"สองมาตรฐานอย่างหนัก หรือเปล่า?"
ข่าวไทยโพสท์ "คณะกรรมาธิการร่าง พรป.ป.ป.ช. สนับสนุนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 7 คนดำรงตำแหน่งต่อไปโดยไม่ต้องเซ็ทซีโร แม้คุณสมบัติจะขัดกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560
แฉเป็นความต้องการผู้มีอำนาจอยากให้อยู่ต่อ โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจและอดีตนายทหารที่มีความสนิทสนมและใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ได้โหวตให้แก้ไขหลักการเดิมจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้รีเซต ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญปี 2560"
ผมคืดว่า การลงมติดังกล่าว จะถูกวิจารณ์ไปอีกนานว่า ทำไม กกต. จึงถูกเซ็ทซีโร แต่ทำไม ป.ป.ช. จึงไม่ต้อง?
นี่คือการปฏิบัติสองมาตรฐานที่ชัดแจ้ง หรือไม่?
ข่าว Voice TV
"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 7 รายชื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติหมิ่นเหม่ต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แก่
1.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเมื่อปี 2557 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี
2.นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2553 และรับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี
3.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติเมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี
4.นายณรงค์ รัฐอมฤต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี
5.น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2557 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี
6.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2558 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี และ
7.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2554 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี
ตามคาด! กมธ.ร่าง พรป.ป.ป.ช.สาย "บิ๊กป้อม" หนุนให้ 7 ป.ป.ช.อยู่ต่อครบ 9 ปีโดยไม่เซตซีโร แม้คุณสมบัติขัด รธน.60 แฉเป็นคว...
THAIPOST.NET

"ไซโก้ ใส่แล้ว โก้ มั้ย"

"ไซโก้ ใส่แล้ว โก้ มั้ย"
ฯบิ๊กตู่" ลงทุน ถกแขนเสื้อ โชว์ นาฬิกา แต่วันนี้ ใส่ Seiko บอก ไม่เกินราคา หรอก และแจงในบัญชี ป.ป.ช. แล้ว....ถาม "ไซโก้ ใส่แล้ว โก้ มั้ย"
เรื่องนาฬิกานี่ อีกหน่อย ให้แขวนคอนาฬิกาปลุกเลยดีมั้ย"
สวมเสื้อ ชมพู หวาน อารมณ์ดี....เผยยัง ไอ อยู่ แต่ ไอเลิฟยู เปรย ไม่อยากทะเลาะกับใคร !!
จะช่วย สยบข่าว บิ๊กป้อม ได้มั่ยนะ ?? เนี่ย ..อิอิ

"บิ๊กป้อม" U-Turn บอก "ไม่เหนื่อยอะไรเลย"

"บิ๊กป้อม" U-Turn บอก "ไม่เหนื่อยอะไรเลย" แต่ปัดตอบ แจง ปปช. ปมนาฬิกา
หลังประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ตอบคำถาม กรณีชี้แจงป.ป.ช เริ่องนาฬิกา
และไม่ตอบกรณี คสช.จะปลดล็อคทางการเมือง โยนให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบ
เมื่อถามว่าท่านหายเหนื่อยหรือยัง หลังวานนี้บ่นเหนื่อย พลเอกประวิตร บอกว่า ไม่เหนื่อยอะไรเลย
ก่อนเดินขึ้นรถกลับ

เผด็จการ ปุ๋ยของคอร์รัปชั่น : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เผด็จการ ปุ๋ยของคอร์รัปชั่น : นิธิ เอียวศรีวงศ์


นักต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคเอกชนท่านหนึ่งแถลงข่าวว่าน่ายินดีที่จากการสำรวจของสำนักโพลแห่งหนึ่ง คนไทยจำนวนมากขึ้นแสดงความรังเกียจการคอร์รัปชั่นในแบบสอบถาม ซ้ำพร้อมจะให้ความร่วมมือในการแจ้งข่าวความไม่ชอบมาพากลในการใช้เงินสาธารณะด้วย นักลงทุนต่างประเทศบอกแก่ท่านว่า หน่วยงานราชการที่เรียกเก็บค่าน้ำร้อนน้ำชาจากนักลงทุนลดลงนิดหน่อย

ท่านจึงคิดว่า มีท่าทีว่าคอร์รัปชั่นอาจกำลังเสื่อมสูญลงในเมืองไทย

ผมขอพูดตรงๆ ว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ตราบเท่าที่เมืองไทยยังรักษาระบอบเผด็จการไว้ โดยเปิดเผยหรือโดยจำแลงก็ตาม เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นนั้น ทำได้สำเร็จในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ตัวเลขขององค์กรความโปร่งใสก็ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ 2517 คนอื่นมีทรรศนะ (perception) ว่าประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นสูงทั้งนั้น คืออยู่ในระดับเกินร้อยหรือใกล้ร้อยติดต่อกัน

ไม่มีระบอบเผด็จการที่ไหนหรอกครับที่ปราบคอร์รัปชั่นได้ บางคนอาจคิดถึงสีจิ้นผิงแห่งจีน ผมก็อยากเตือนแต่ว่าข้อมูลเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นและการปราบคอร์รัปชั่นในเมืองจีนยังไม่ได้เผยออกมาให้เห็นได้บริบูรณ์ คงอีกหลายปีกว่าเราจะประเมินได้ใกล้เคียงความเป็นจริงหน่อยว่า คอร์รัปชั่นในจีนช่วงนี้ถูกปราบลงจริงหรือไม่

โดยส่วนตัว ผมระแวงการปราบคอร์รัปชั่นของเผด็จการในช่วงแย่งอำนาจกันอย่างยิ่ง เพราะเราไม่มีทางรู้ในปัจจุบันว่าเขาปราบคนโกง หรือปราบศัตรู (ซึ่งก็อาจโกงจริง แต่มองข้ามคนโกงในฝ่ายเดียวกัน) กันแน่

คอร์รัปชั่นในสังคมปัจจุบันอาจแบ่งออกได้เป็นสามชนิด คือการนำเอาทรัพย์สาธารณะไปเป็นของส่วนตัวหนึ่ง การนำเอาการบริการสาธารณะไปขายหรือให้ด้วยเกณฑ์ความสัมพันธ์ส่วนตัวหนึ่ง และชนิดที่สามซึ่งผมคิดว่าน่าจะนับรวมอยู่ด้วยคือ การกระทำหรือไม่กระทำอะไรก็ตาม ที่ทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เป็นธรรม ทั้งโดยรัฐหรือโดยพ่อค้าเอง

ผมขออนุญาตอธิบายคอร์รัปชั่นอย่างที่สามก่อน การกระทำอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เป็นการหักเหลี่ยมหักคูกันระหว่างพ่อค้าเท่านั้น แต่ทำได้ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเอาหูไปนาเอาตาไปไร่อยู่ด้วย เพราะมักจะผิดกฎหมาย แม้ประเทศไทยมีกฎหมายประเภทนี้น้อย แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจทักท้วงได้ ฉะนั้นเบื้องหลังของการกระทำเช่นนี้คือการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในรูปต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งกว่านี้ ผลของการทำเช่นนี้ยังกระทบผู้บริโภค อย่างน้อยทำให้สิทธิของการเลือกบริการหรือสินค้าของผู้บริโภคน้อยลง อย่างมากก็อาจหมายถึงการผูกขาดซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น

คอร์รัปชั่นอย่างที่สอง คือการเอาบริการของรัฐไปขายหรือไปแจกทำกันเป็นปกติในหลายหน่วยงาน ที่คุ้นเคยกันมากก็คือโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งเอาเก้าอี้ไปขายให้ผู้บำรุงโรงเรียน หรือกระเป๋าผู้บริหาร หรือสมาคมผู้ปกครอง หรือแจ้งความแล้วยังไม่ได้รับบริการ ฯลฯ โดยสรุปการเรียกสินบาทคาดสินบนทั้งหลายก็มาจากการคอร์รัปชั่นประเภทนี้แหละ

ข้อเสียของการคอร์รัปชั่นประเภทนี้คือทำลายหลักความเสมอภาคของพลเมือง ความเสมอภาคเป็นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น หากคนจำนวนมากยอมรับเสียแล้วว่าตนเป็นคนเล็กคนน้อย ย่อมเข้าไม่ถึงบริการจากรัฐเสมอกันกับคนอื่น จะให้เขามารายงานการทุจริตของคนใหญ่คนโต นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาถึงรัฐมนตรี ก็คงเป็นไปไม่ได้

แม้แต่จะหวังให้เขารังเกียจการคอร์รัปชั่นก็เป็นไปไม่ได้ด้วย ในสังคมที่ขาดความเสมอภาค ความใฝ่ฝันของผู้คนคือเขยิบฐานะให้พ้นจากการเป็นพลเมืองชั้นสองด้วยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ตนเข้าถึงทั้งทรัพย์สาธารณะ บริการสาธารณะ และปิดตลาดคู่แข่งทางการค้า

คอร์รัปชั่นในสังคมที่ขาดความเสมอภาค คือการทำให้คอร์รัปชั่นกลายเป็นเป้าหมายปกติธรรมดาในชีวิตของผู้คน

ที่สำรวจโพลแล้วไม่พบทัศนคติอย่างนี้ก็เพราะเขาต้องตอบแบบสอบถามท่ามกลางการโหมโฆษณาต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งจากภาครัฐและเอกชน (ที่ได้ดีเพราะการรัฐประหาร) นอกจากนี้ผู้ตอบก็รู้เกณฑ์ทาง “ศีลธรรม” ของสังคมอยู่แล้ว (ซื่อสัตย์, ขยันหมั่นเพียร, อดออม, อดทน ฯลฯ จะทำให้ชีวิตก้าวหน้า) ใครจะโง่ตอบให้ผิดไปจากนี้ได้ล่ะครับ ผลโพลคืออารมณ์ชั่วแล่น, การปิดบังตัวเอง, การเผยตัวเองให้ตรงตามความคาดหวัง ฯลฯ จึงอย่าซีเรียสกับโพลนัก

ส่วนคอร์รัปชั่นประเภทที่หนึ่งนั้น เข้าใจกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดอะไร เพียงแต่ต้องย้ำว่านั่นไม่ใช่คอร์รัปชั่นอย่างเดียวที่มีมากในเมืองไทย


อันที่จริง คอร์รัปชั่นส่วนใหญ่กระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่นไม่สามารถเอาลูกเข้าโรงเรียนได้ แจ้งความแล้วไม่เกิดอะไร จองคิวแต่โดนแทรก, เขื่อนพังจนน้ำท่วมบ้าน, ถนนพังตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ ฯลฯ
ทำไมเขาจะไม่อยากโวย ขอเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือโวยแล้วต้องได้ผล มีการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม และเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้จริง ช่องทางโวยในปัจจุบันมีมากขึ้น ที่สำคัญคือสื่อโซเชียล ซึ่งทำให้สามารถโวยโดยไม่เปิดเผยตัวเองได้ แต่รัฐขมีขมันที่จะตรวจสอบการโวยมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อผู้โวยเป็นชาวบ้าน และการโวยไม่เป็นไวรัล


ที่จริงกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในหลายสังคม (เช่นฮ่องกง) ก็แค่นี้แหละ คือไม่ปล่อยให้เรื่องอื้อฉาวเงียบหายไปเฉยๆ ไม่ว่าผู้ตกเป็นตัวละครในเรื่องอื้อฉาวนั้นจะเป็นใคร เขาอาจสร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง แต่ตัวองค์กรไม่ใช่ที่มาของความสำเร็จเท่ากับการเอาจริงและเที่ยงธรรม จนเป็นที่เคารพเชื่อถือของผู้คน การไปลอกองค์กรมาตั้งขึ้นบ้างเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่ความสำเร็จ สรุปให้เหลือได้คำเดียวคือ “โปร่งใส” หรือตรวจสอบได้ทุกเรื่องและทุกขั้นตอน
เราชอบอ้างผลการสำรวจทัศนคติต่อระดับการโกงของประเทศต่างๆ ซึ่งจัดทำโดย “องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ” (ที่จริงเขามีข้อเสนอที่มาจากการวิจัยเกี่ยวกับการต่อสู้คอร์รัปชั่นอีกมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) ชื่อขององค์กรเน้นย้ำวิธีการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น นั่นคือต้องโปร่งใสหรือเปิดให้การดำเนินงานที่เป็นสาธารณะทั้งหลายต้องถูกตรวจสอบได้เสมอ ประเทศที่อยากปราบคอร์รัปชั่นจริงต้องคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแสดงเจตจำนงต่อสู้คอร์รัปชั่นเฉยๆ

ซ้ำยังมักปกป้องบางคนมิให้ถูกตรวจสอบเสียอีก โดยเฉพาะบางคนที่เป็นคนใหญ่คนโต

แต่การปราบคอร์รัปชั่นที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้มากที่สุดคือจับโกงของคนใหญ่คนโตนั่นแหละ เมื่อไรที่คนใหญ่คนโตถูกสงสัยเรื่องนี้ ต้อง “โปร่งใส” หรือตรวจสอบให้เต็มที่อย่างไม่มีทาง “ลดราวาศอก” เป็นอันขาด จับคนใหญ่คนโตที่ขี้โกงได้แต่ละครั้ง สะเทือนถึงคนโกงที่เล็กลงมาตลอดแถว ที่สำคัญกว่านั้นทำให้ทั้งสังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าการโกงทำกำไรให้ไม่คุ้มกับความเสี่ยง

ที่เขาเขียนในกฎหมายให้เอาผิดผู้จ่ายสินบนด้วยนั้น ที่จริงเป็นกลวิธีจับคนโกงที่อยู่ในอำนาจได้ดี เพราะจะมีผู้จ่ายสินบนคนไหนที่อยากให้การปรักปรำคนใหญ่คนโตล่ะครับ ในเมื่อเขายอมจ่ายเองและได้ผลตอบแทนไปแล้ว แต่ข้อกำหนดนี้เป็นประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรม เพราะสามารถโน้มน้าวให้เขาร่วมมือแต่โดยดี เพื่อแลกกับการถูกกันเป็นพยาน ตัวเขาเสียชื่อเสียงแต่ยังดีกว่าเสียชื่อเสียงด้วยและติดคุกด้วย วิธีนี้จึงช่วยให้จับการโกงของคนใหญ่คนโตได้ “คาหนังคาเขา” ซึ่งทำให้การต่อสู้คอร์รัปชั่นมีประสิทธิภาพกว่าจับตัวเล็กตัวน้อย แล้วปล่อยให้ตัวใหญ่ๆ ลอยนวล

การลงโทษผู้คอร์รัปชั่นนั้นมีสองอย่าง หนึ่งคือโทษทางอาญา ซึ่งเข้าใจกันอยู่แล้ว โทษอย่างที่สองซึ่งสำคัญมากคือโทษทาง “การเมือง” ซึ่งถูกใช้ในบ้านเราไม่มากพอ

ใช่ว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นจะสามารถนำไปสู่ความผิดทางอาญาได้เสมอไป คนโกงที่ไหนๆ ก็ย่อมเตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ การหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดทางอาญาจึงยากมาก แต่ความโปร่งใสหรือการตรวจสอบอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาอาจเป็น “เหตุให้เชื่อได้ว่า” บุคคลผู้นั้นไม่สู้จะซื่อสัตย์นัก (เช่นไม่อาจบอกที่มาของทรัพย์สินตนเองได้อย่างน่าเชื่อถือ) เขาก็ต้องรับผิดทางการเมือง

ความผิดทางการเมืองไม่ได้ใช้กับ “นักการเมือง” ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เราทุกคนเมื่ออยู่ร่วมกันกับคนอื่น ย่อมมี “การเมือง” หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับคนอื่นทั้งสิ้น การกลายเป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจ ไม่แต่เพียงทำให้ไม่มีใครอยากให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ยังรวมถึงตำแหน่ง, สถานะ, บทบาท ฯลฯ ในบริษัท, หน่วยราชการ, ในวงเพื่อนฝูง, การเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ อีกด้วย
อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป ใครจะอยากให้คนที่มีคาวในเรื่องนี้เป็นประธานทอดผ้าป่าล่ะครับ ทั้งนี้ยกเว้นแต่มีอำนาจพิเศษของระบอบเผด็จการ มาทำให้การตอบสนองต่อคนอื้อฉาวผิดธรรมชาติไป และนี่คือเหตุอีกอย่างหนึ่งที่การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าในระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการโดยตัวของมันเอง ย่อมเอื้อต่อการคอร์รัปชั่น ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา

โทษทาง “การเมือง” ในความหมายนี้ ทำให้ต้นทุนการคอร์รัปชั่นสูงขึ้นมาก เพราะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ค่อยได้ใช้กันในสังคมไทยเท่าไรนัก ดังนั้นคำเตือนว่า “อย่าคบคนโกง” จึงไร้ความหมาย ในเมื่อคนที่ถูกสงสัยโดยคนทั่วไปว่าโกง กลับได้ดิบได้ดีไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหาให้สิ้นสงสัย ซ้ำยังเตือนโดยคนที่ประคองตนเองทางการเมืองมายาวนาน โดยมองข้ามความซื่อสัตย์ของผู้ให้การสนับสนุนตน

ดังนั้น ตราบเท่าที่ประเทศไทยยังอยู่ในระบอบเผด็จการทั้งเปิดเผยหรือจำแลง คอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางในทุกวงการก็จะยังอยู่ในสังคมไทยอยู่ตราบนั้น

นิพิฏฐ์ ประชด ไอเดียแก้กม.พรรคการเมือง ‘ถอยหลังเข้าคลองทะลุป่าหิมพานต์ไปเลย’

นิพิฏฐ์ ประชด ไอเดียแก้กม.พรรคการเมือง ‘ถอยหลังเข้าคลองทะลุป่าหิมพานต์ไปเลย’


วันนี้ (17 ธ.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก แสดงความเห็นการเมืองหัวข้อ ปฏิรูปด้วยการเพิ่มห้องน้ำในสภา 400 ห้อง มีรรายละเอียดระบุว่า
“รัฐธรรมนูญเพิ่งลงประชามติจากคนทั้งประเทศ รวมทั้งกม.พรรคการเมืองก็เพิ่งใช้มาไม่กี่เดือน ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญและผู้ทำคลอดกฎหมายพรรคการเมืองบอกว่า ดูๆแล้วไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ จมูกไม่โด่ง ทำศัลยกรรมใหม่ดีกว่า ด้วยการจะขอแก้ไขเสียแล้ว ก็ตอนทำประชามติก็บอกว่า นี่แหละรัฐธรรมนูญ และกฎหมายฉบับปราบโกงมิใช่หรือ นักการเมืองเสียประโยชน์ ดิ้นกันเป็นแถว”นายนิพิฏฐ์ ระบุ


และว่า “ยังไม่ทันไรจะขอรีเซ็ต(ล้าง)สมาชิกพรรคการเมืองเขา และมีการเสนอให้ไปเลือกสส.เขตเดียวคนเดียว 400 คน โดยส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค โถๆๆๆ พ่อคุณ นี่มันไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลองธรรมดานะ นี่มันวิ่งถอยหลังเข้าคลองทะลุเข้าป่าหิมพานต์ไปเลยนะพ่อคุณ ..ลองนึกภาพดูซิ.. ส.ส. 400 คน ไม่สังกัดพรรค ก็เท่ากับมีหัวหน้าพรรคการเมือง 400 พรรคนั่งอยู่ในสภาเลยนะ.. โถๆๆๆ.. จะยกมือแต่ละทีต้องวิ่งไปส่งของกันในห้องน้ำกันเป็นแถวเลยนะ .. (ไหนบอกว่าตอนไม่สังกัดพรรคเขาให้ซองกันในห้องน้ำไม่ใช่หรือ) คราวนี้คงต้องเพิ่มห้องน้ำในสภา 400 ห้องล่ะ…เอาเถอะ เอาไงเอากันปฏิรูปกันไปเถอะ..ใครจะไปค้านได้ล่ะ เดี๋ยวโดนข้อหาขัดขวางการปฏิรูปเขาอีก”

รัฐซ้อนซ่อนรัฐ! อภิมหา‘กอ.รมน.’กับอนาคตการเมืองไทย : สุรชาติ บำรุงสุข

รัฐซ้อนซ่อนรัฐ! อภิมหา‘กอ.รมน.’กับอนาคตการเมืองไทย : สุรชาติ บำรุงสุข


สถานะของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 ถ้าไม่เรียกว่าเป็น “ซุปเปอร์” ก็คงต้องเรียกอีกแบบว่าเป็น “อภิมหา กอ.รมน.” เพราะด้วยอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นแทบจะไร้ขีดจำกัดนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กอ.รมน.กำลังถูกสร้างให้เป็น “รัฐบาลน้อย” ในระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะสถานะของการเป็นรัฐบาลน้อยเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการเลือกตั้ง และตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนก็ตาม

บทบาทในการปกครองส่วนภูมิภาค

นอกจากในระดับชาติแล้ว กอ.รมน.จะมีบทบาทโดยตรงในการ “อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” ซึ่งก็คือ กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรของฝ่ายทหาร จะเป็นองค์กรที่เข้ามาควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งหมด และการควบคุมเช่นนี้นอกจากจะเกิดขึ้นในระดับชาติแล้ว ก็ยังขยายไปสู่การควบคุมในระดับภาค และลงไปถึงระดับจังหวัดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า กอ.รมน. ในฐานะขององค์กรฝ่ายปฏิบัติของฝ่ายทหารได้ขยายขอบเขตภารกิจครอบคลุมงานความมั่นคงจากระดับจังหวัด ระดับภาค ไปจนถึงระดับชาติ อันจะเป็นการขยายบทบาทของกองทัพในยามสันติอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ดังได้กล่าวแล้วว่า การขยายบทบาทของกองทัพออกจากกรอบของภารกิจทางทหารนั้นจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีสถานการณ์สงครามรองรับ แต่คำสั่ง คสช.ที่ 51/2560 นั้นเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสงครามแต่อย่างใด

การขยายบทบาทในระดับภาค ซึ่งมีแม่ทัพภาคเป็นประธานนั้น น่าสนใจว่ามีการออกคำสั่งที่ดึงเอาอธิบดีอัยการภาค ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค เข้ามาเป็นองค์ประกอบใหม่ เพราะแต่เดิมนั้น กอ.รมน.ภาคเป็นเรื่องของฝ่ายทหารและมีบุคลากรจากกองทัพภาคเป็นหลัก การปรับเช่นนี้บ่งบอกถึงการขยายขอบข่ายงานของฝ่ายทหารออกไปจากกรอบเดิมที่อยู่กับกองทัพภาคเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาอัยการภาคเข้ามาอยู่ในโครงสร้างนี้ ทั้งที่ฝ่ายอัยการควรจะต้องถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม

การจัดเช่นนี้จึงอาจถูกตีความได้ว่างานอัยการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟ้องร้องคดีในทางกฎหมายจะอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารด้วย

จากระดับภาคลงสู่ระดับจังหวัดเท่านั้น แม้จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเช่นกฎหมายเดิม แต่ก็จะมีองค์ประกอบเพิ่มโดยการเอาส่วนราชการในจังหวัดเข้ามา ได้แก่ อัยการจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าสำนักงานและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด โยธาและผังเมืองจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ศึกษาจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด พลังงานจังหวัด ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด พัฒนาสังคมจังหวัด จังหวัดทหารบก (หรือมณฑลทหารบกที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัด) และรองผู้ว่าฯ ฝ่ายทหาร ซึ่ง กอ.รมน.จะทำหน้าที่ในการควบคุมงานความมั่นคงในแต่ละจังหวัด อันจะสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่ภายใต้คำสั่งใหม่เช่นนี้ กอ.รมน.จะเข้ามาบริหารจัดการและกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของจังหวัด สภาพเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าจังหวัดกำลังตกอยู่ภายใต้ระบบบริหารราชการของฝ่ายทหาร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จังหวัดในแบบปกติกำลังถูกแปลงให้เห็น “จังหวัดยามสงคราม” ที่จะถูกกำดับโดยองค์กรของฝ่ายทหาร แม้จะยังคงมีผู้ว่าฯอยู่ก็ตาม

ทั้งหมดนี้ก็คือ การส่งสัญญาณในอนาคตว่าการบริหารราชการแผ่นดินในระดับภูมิภาค ทั้งส่วนของภาคและจังหวัดนั้น กำลังถูกโอนไปไว้ภายใต้การบริหารของทหารโดยอาศัย กอ.รมน.เป็นทางผ่าน การจัดโครงสร้างงานภายใต้คำสั่ง 51/2560 เช่นนี้ยังบ่งบอกถึงบทบาทของกระทรวงมหาดไทยที่กำลังหมดไป แม้คำสั่งนี้จะเป็นเรื่องความมั่นคง แต่คำสั่งก็เปิดโอกาสให้มีการตีความบทบาทและภารกิจของ กอ.รมน.ได้อย่างกว้างขวาง จนเสมือนหนึ่งว่าทหารกำลังจะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและควบคุมงานในระดับจังหวัดและภาคแทนกระทรวงมหาดไทย หรือเสมือนว่าเรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม จึงจำเป็นต้องนำเอาการบริหารราชการส่วนภูมิภาคไปไว้ภายใต้ “การควบคุมทางยุทธการ” ของกองทัพ โดยมี กอ.รมน.เป็นองค์กรหลัก ถ้าแนวโน้มเป็นเช่นนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดในอนาคตควรจะมี “ยศทหาร” นำหน้าด้วยเลยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารงานภายใต้โครงสร้างของฝ่ายทหาร

แต่สภาวะเช่นที่เกิดขึ้นในยามสันติเช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า คำสั่ง คสช.51/2560 กำลังก่อให้เกิดการจัดตั้ง “รัฐทหาร” ขึ้นอย่างถาวร ซึ่งต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมืองไทยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเป็นการจัดตั้ง “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้นโดยตรงคู่ขนานกับการบริหารราชการแผ่นดินในยามปกติ

บทบาทในทางการเมือง

สำหรับในทางการเมืองนั้น คำสั่งฉบับนี้ย่อมก่อให้เกิดความกังวลอย่างมาก เพราะหากพิจารณาถึงการสร้างหลักประกันของฝ่ายทหารที่จะต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในอนาคต ก็จะเห็นได้ว่ามีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเป็นดังกติกา “ภาคบังคับ” ให้รัฐบาลพลเรือนที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตไม่สามารถกำหนดทิศทางและนโยบายทางยุทธศาสตร์ของตนเองได้ แต่จะต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลทหารได้กำหนดไว้แล้ว ซึ่งหากรัฐบาลพลเรือนไม่สามารถจัดทำยุทธศาสตร์ของตนเองได้แล้ว ชัยชนะในการเลือกตั้งก็จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด และรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็น “รัฐบาลร่างทรง” ของรัฐบาลทหารไปโดยปริยาย เพราะจะต้องดำเนินตามยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ถูกจัดทำไว้แล้ว อันส่งผลให้ยุทธศาสตร์แห่งชาติกลายเป็น “รัฐประหารเงียบ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐบาลพลเรือนในอนาคตจะถูกบังคับให้ต้องเดินไปตามยุทธศาสตร์นี้ภายใต้การออกแบบของ คสช.


ประกอบกับฐานทางการเมืองของกองทัพปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญก็คือ จำนวนวุฒิสมาชิก 250 คน ที่รัฐบาลจะเป็นผู้เลือก ซึ่งเท่ากับ “พรรคทหาร” หรือ “พรรค คสช.” เกิดขึ้นโดยทันทีจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันจะส่งผลให้การเมืองหลังการเลือกตั้งอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมากขึ้น และยิ่งหากผู้นำทหารที่อยู่ในอำนาจปัจจุบันตัดสินใจที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเพื่อลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งแล้ว และยิ่งพิจารณาถึงสาระในรัฐธรรมนูญและกฎหมายบางฉบับที่จะมีลักษณะควบคุมพรรคการเมืองมากขึ้นแล้ว ก็ยิ่งทำให้อำนาจในการควบคุมการเมืองของกองทัพในอนาคตมีมากขึ้น และขณะเดียวกันก็จะยิ่งทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลทหารมากขึ้น หรืออาจเรียกในทางทฤษฎีของวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยาว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านแบบ “ควบคุม” (controlled transition) ภายใต้อำนาจของฝ่ายทหาร

ดังนั้น หากพิจารณาจากปัจจัยทั้ง 5 ประการ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2) วุฒิสมาชิก 250 คน 3) สาระในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก 4) พรรคทหาร (หากเกิดขึ้นจริงในอนาคต) และ 5) บทบาทใหม่ของ กอ.รมน. ก็เท่ากับบ่งบอกถึงแนวโน้มการมีบทบาทของกองทัพในการเมืองอย่าง “ยั่งยืน” เพราะปัจจัยเหล่านี้ไม่แต่เพียงทำให้กองทัพดำรงอำนาจไว้ได้ในเชิงสถาบันเท่านั้น หากแต่ยังทำให้การกำเนิดของสภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

กอ.รมน.กับการเปลี่ยนผ่าน

หากพิจารณาเฉพาะในกรอบเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ก็ยิ่งเห็นถึงบทบาทของกองทัพในการต่อสู้แข่งขันทางการเมืองมากขึ้น เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หลังจากการรัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 แล้ว กอ.รมน.กลายเป็น “องค์กรการเมือง” ของฝ่ายทหารในการทำ “สงครามการเมือง” กับฝ่ายตรงข้าม สงครามการเมืองเช่นนี้ปรากฏชัดเจนในชนบทและปัจจุบันได้ขยายเข้าสู่เมืองด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า กอ.รมน.เป็นองค์กรที่กองทัพใช้ในการต่อสู้ และกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างสำคัญภายในกองทัพ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กอ.รมน.เป็นเหมือน “ต้นไม้ตายแล้ว” (คือเป็น dead wood) ที่ไม่มีใครอยากมาประจำ แต่ปัจจุบันมีทหารหลายนายเชื่อว่าการมาอยู่ใน กอ.รมน.จะเป็นโอกาสของความก้าวหน้า เพราะผู้บังคับบัญชาให้ความสนใจกับองค์กรนี้และมีงบประมาณมากขึ้นในอีกด้านหนึ่ง การเป็นองค์กรการเมืองของฝ่ายทหารก็ยิ่งเสริมบทบาทและภารกิจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็มีการจัดสรรงบประมาณให้โดยตรง อันทำให้ภาวะของ “ต้นไม้ตายแล้ว” กำลังกลับเป็น “ต้นไม้ใหญ่แข็งแรง” ที่กำลังเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง หรือครั้งหนึ่ง กอ.รมน.เคยถูกเปลี่ยนเป็น “ยักษ์ไร้กระบอง” แต่ปัจจุบันกำลังกลายเป็น “ยักษ์กระบองใหญ่” ที่พร้อมจะออกสู้ศึกกับฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ

ขณะเดียวกันก็คงต้องตระหนักเสมอว่า ในความเป็นจริงแล้ว กอ.รมน.อาจจะเคยถูกออกแบบให้ “กองบัญชาการผสม” ของพลเรือน-ตำรวจ-ทหารในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่ต่อมาองค์กรตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพบกจวบจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การขยายบทบาทของ กอ.รมน.จึงกลายเป็นการขยายบทบาทของกองทัพบก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “กอ.รมน.คือกองทัพบก” แม้จะมีความพยายามในการปฏิเสธภาพลักษณ์เช่นนี้ และพยายามจะสร้างภาพใหม่ดังเช่นคำสั่ง 51/2560 ที่ดึงเอาหน่วยงานพลเรือนภาครัฐเข้าไปช่วย แต่ก็เป็นการรวมที่อยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพบก ประกอบกับการเป็น “บก.ผสม” ตามการออกแบบในยุคต้นได้เปลี่ยนแปลงไป จนอาจต้องยอมรับว่า กอ.รมน.เป็น “บก.ทหาร”

ดังนั้น การขยายบทบาทและอำนาจของ กอ.รมน.ในคำสั่งฉบับนี้จึงต้องถือว่าเป็นการสร้าง “รัฐซ้อนซ่อนรัฐ” ที่ทหารกำลังเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขณะเดียวกันก็เป็นหลักประกันสำคัญว่า ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดอย่างไรก็ตาม กองทัพก็จะยังคงมีบทบาทและอำนาจไว้ได้ตลอดไป อันจะส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตกลายเป็น “เป็ดง่อย” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับแนวโน้มของรัฐบาลในอนาคตน่าจะเป็น “รัฐบาลผสม” ที่อ่อนแอ เพราะความจำกัดที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน อันทำให้การจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่เข้มแข็งน่าจะเป็นไปได้ยาก และเปิดโอกาสให้เกิดการแทรกแซงของทหาร

ฉะนั้น หากพิจารณาประกอบกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ 20 ปี วุฒิสมาชิก 250 เสียง ข้อจำกัดทางกฎหมายต่อพรรคการเมือง และการกำเนิดของพรรคทหาร (หากเกิดขึ้นจริง) การเมืองไทยในอนาคตจะถูกบริหารโดย “รัฐบาลเป็ดง่อย” และมีรัฐทหารในรูปแบบของ “อภิมหา กอ.รมน.” ทับซ้อนอยู่ ปรากฏการณ์ “รัฐซ้อนซ่อนรัฐ” เช่นนี้กำลังบอกกับเราว่า กระบวนการสร้าง “รัฐเสนาอำมาตยาธิปไตย” แบบไทยๆ ในปัจจุบัน กำลังยกระดับขึ้นอย่างน่าสนใจ และการยกระดับเช่นนี้เกิดขึ้นในภาวะที่ประเทศไทยไม่มีสงคราม

เว้นแต่ผู้นำกองทัพจะถือว่าสงครามของกองทัพไทยครั้งนี้มี “นักการเมืองและพรรคการเมือง” เป็นข้าศึก และมี “เวทีการเมือง” เป็นสนามรบ !

บทเรียน การแพ้ ของ ประชาธิปัตย์ บทเรียน พรรคการเมือง ของ คสช.

09.00 INDEX บทเรียน การแพ้ ของ ประชาธิปัตย์ บทเรียน พรรคการเมือง ของ คสช.



นอกเหนือจากพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 แล้วสามารถชนะการเลือกตั้งได้อีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

พรรคการเมืองอื่นไม่สามารถทำได้

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2538
ไม่ว่าพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2539
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554
ทำไม

พรรคประชาธิปัตย์แพ้ให้กับพรรคชาติไทยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538

เพราะพิษจาก”สปก.”

พรรคชาติไทยแพ้ให้กับพรรคความหวังใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2539

เพราะพิษจาก “สูติบัตร”และความแตกแยกภายใน


พรรคประชาธิปัตย์แพ้ให้กับพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

เพราะสดกว่าด้วย”นโยบาย”ที่เรียกว่า”ประชานิยม”

ยิ่งเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ที่พรรคไทยรักไทยชนะอย่างชนิดถล่มทลายก็เพราะความสำเร็จจากการ ปฏิบัติตาม”นโยบาย”

นโยบายที่ชาวบ้านสรุปว่า “ประชาธิปไตยกินได้”

ไม่ว่าในที่สุดพรรคการเมืองของคสช.จะเป็นพรรคอะไรแต่ไม่ควรมองข้ามบทเรียน 1 จากความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์

บทเรียน 1 จากชัยชนะอย่างต่อเนืองจากพรรคไทยรักไทยมายัง พรรคพลังประชาชน และที่สุดคือพรรคเพื่อไทย

หลังการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 การเมืองได้เปลี่ยน

เปลี่ยนจากการเมืองแบบ”โวหาร” มาเป็นการเมืองแบบ”นโยบาย” และพรรคไทยรักไทยได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำตามนโยบายได้

พรรคคสช.มีอะไรเหนือกว่าหรือไม่

ท่วงท่า การเมือง หวังดี แต่ส่ง ‘ผลร้าย’ ต่อ การเลือกตั้ง

ท่วงท่า การเมือง หวังดี แต่ส่ง ‘ผลร้าย’ ต่อ การเลือกตั้ง


ประหนึ่งว่า การออกโรงของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เท่ากับเป็นการช่วย “คสช.”

ประหนึ่งว่า การออกโรงของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ในการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากสังกัดพรรคให้ 400 คนไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค

เท่ากับเป็นการช่วย “คสช.”

มองเผินๆ ดาษๆ อาจคิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุผลของการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองก็เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก ระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า

ขณะที่หากการเลือกตั้ง 400 ส.ส.โดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เพื่อผนวกพลังเข้ากับ 250 ส.ว. เส้นทางของนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก็ผ่านฉลุยเหมือนกับปูพรมแดงให้เลย

เป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ไม่ว่าจะมองอย่างไรก็ต้องเข้าใจได้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน เปี่ยมด้วยความหวังดีอย่างแน่นอน

บทบาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเช่นใดก็รู้กันอยู่

ยิ่งบทบาท นายไพบูลย์ นิติตะวัน ยิ่งแจ่มชัดตั้งแต่ได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลให้เป็น “สปช.” และเมื่อผ่านประชามติก็ปวารณาตั้งพรรคการเมือง

เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจถูกมองว่าเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อผ่านพรรคมัชฌิมาธิปไตยก็แจ่มแจ้ง

ยิ่งโยงสายสัมพันธ์ไปยัง “รองนายกรัฐมนตรี” บางคน ยิ่งไม่มีข้อกังขา


เชื่อมั่นได้เลยว่า บทบาทและการเคลื่อนไหวของทั้ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตลอดจน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ล้วนจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อ คสช.

และตรงนั้นแหละที่จะกลายเป็น “ปัญหา”

อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า คสช.ให้คำสัตย์ว่าอย่างไรตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ว่าโดยการปราศรัย ไม่ว่าจะผ่านบทเพลงเจื้อยแจ้ว

เราจะทำตาม “สัญญา” ขอ “เวลา” อีกไม่นาน

นั่นก็เห็นได้จากสัญญาที่ประกาศผ่าน “ปฏิญญา โตเกียว” ผ่าน “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ผ่าน
“ปฏิญญา ทำเนียบขาว” และที่สุดคือ “ปฏิญญา ทำเนียบรัฐบาล”

จะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ยิ่งเข้าใกล้เดือนมกราคม 2561 อาการของ คสช. อาการของรัฐบาลยิ่งเด่นชัดยิ่งว่าอาจจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

จากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนอื่นและปีอื่น

การเล่นบท “สมิงพระรามอาสา” ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประสานเข้ากับ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อาจสร้างความชอบธรรมให้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าชาวบ้านจะมองไม่ออก

เพราะแม้กระทั่งภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย อย่าว่าแต่พรรคการเมืองอื่นเลย

ความปรารถนาดีอันมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จึงอาจกลายเป็นความประสงค์ร้ายไปโดยอัตโนมัติ

บนพื้นฐานแห่ง “ทฤษฎีสมคบคิด”

การทำแบบนี้ในห้วงก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 อาจถูกมองอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมาทำในเดือนธันวาคม 2560 กลับจะถูกมองอีกอย่างหนึ่ง

กลับจะกลายเป็น “ผลเสีย” มากกว่าจะเป็นผลดี

3 ปีเลิกเลย

3 ปีเลิกเลย


สรรพสิ่งทั้งหลาย “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป” ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน เพิ่งใจหายแหม็บๆ เมื่อทราบข่าว “นิตยสารดิฉัน” ที่อยู่ยั้งยืนยงมายาวนาน 40 ปี จะอำลาแผงหนังสือและผู้อ่านทั่วประเทศ ฉบับสุดท้ายปลายเดือนธันวาคม

เมื่อวานซืน ต้องใจหายแว้บๆอีกแล้ว เมื่อทราบข่าว “นิตยสารคู่สร้างคู่สม” ของ เจ้าสัวดำรง พุฒตาล เพื่อนรัก “แม่ลูกจันทร์” ซึ่งขายดิบขายดีมีแฟนๆ ผู้อ่านทั่วประเทศติดกันงอมแงม จะปิดตำนานฉบับสุดท้ายปลายเดือนนี้เช่นกัน

ล่าสุดต้องใจหายซ้ำเป็นครั้งที่ 3 เมื่อทราบข่าว “ตลาดคลองผดุง” ซึ่งนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ริเริ่มและสร้างมากับมือตัวเองด้วยการเปิดพื้นที่ข้างทำเนียบรัฐบาลจัดให้เป็นตลาดต้นแบบวิถีไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนต่อเนื่องกันมาแล้ว 3 ปี

จะต้องปิดฉากเลิกตลาดอย่างถาวร ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

“แม่ลูกจันทร์” ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด รัฐบาลจึงตัดสินใจปิดตลาดคลองผดุงอย่างปุบปับฉับพลัน??

ทั้งๆที่โครงการตลาดคลองผดุงเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ นายกฯบิ๊กตู่ ผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู

มุ่งมั่นตั้งใจจะเนรมิตตลาดแห่งนี้ให้มีเอกลักษณ์พิเศษแตกต่างจากตลาดทั่วไป

เพื่อเปิดพื้นที่ให้พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศนำผลผลิตมาจำหน่ายถึงมือประชาชนโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

เพื่อเป็นศูนย์รวมให้แต่ละท้องถิ่นคัดสรรสินค้าโอทอปเด็ดๆ นวัตกรรมใหม่ๆจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง

ข้อสำคัญยังเป็นศูนย์กลางให้พี่น้องชาว กทม.ได้มีโอกาสชมช็อปชิมของกินของใช้ในราคาย่อมเยา

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าถ้าการตัดสินใจยุติโครงการตลาดคลองผดุง เป็นเพราะจัดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ตลาดไม่คึกคัก มีจำนวนลูกค้าลดลงทำให้ผู้ที่นำสินค้ามาวางจำหน่ายขาดทุนงอมพระราม

ประเด็นนี้ก็ไม่น่าใช่เหตุผลที่แท้จริง

เพราะผลการดำเนินงานของตลาดคลองผดุงตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน
มียอดผู้นำสินค้ามาร่วมจำหน่ายมากกว่า 7,800 ราย

มีพี่น้องประชาชนเข้าชมช็อปชิมกว่า 3.8 ล้านคน

และมียอดการจำหน่ายสินค้าสูงกว่า 1,900 ล้านบาท

ข้อมูลชี้ชัดว่าโครงการตลาดคลองผดุงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

แม้แต่ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศที่ไปเยี่ยมชมยังแสดงความสนใจจะขอนำโมเดลตลาดคลองผดุงของไทยไปทดลองทำในประเทศตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ “แม่ลูกจันทร์” จึงแปลกใจที่ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะยกเลิกตลาดคลองผดุงกลางคัน
ทั้งๆที่โครงการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ริเริ่มโดยตรง

ไม่ได้ก๊อบปี้แนวคิดรัฐบาลอื่นแต่อย่างใด

สามารถโฆษณาเป็นผลงานรัฐบาล คสช.ได้เต็มปากเต็มคำ

สรุปว่าเมื่อโครงการตลาดคลองผดุงทำแล้วเกิดผลสำเร็จอย่างดี รัฐบาลจึงควรอนุรักษ์ต่อไปให้เกิดความยั่งยืน

ปรับปรุงพัฒนาตลาดต้นแบบวิถีไทยแห่งนี้ให้ดียิ่งๆขึ้นไป

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำอีกครั้งว่าเสียดายที่ตลาดคลองผดุงต้องปิดลงอย่างถาวร

จัดเป็นนโยบายรัฐบาลอายุสั้นที่สุดแค่ 3 ปี

ใครที่เคยไปชมช็อปชิมตลาดนี้ ยังไปอุดหนุนส่งท้ายได้อีก 9 วัน.

“แม่ลูกจันทร์”

สถานการณ์และผู้นำ

สถานการณ์และผู้นำ


“XI JINPING’ GOVERNANCE AND THE FUTURE OF CHINA” และ “UP AND OUT OF POVERTY XI JINPING”

ว่ากันว่า นี่คือหนังสือที่ “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษ กับสองเรื่องที่นำมาซึ่งความยิ่งใหญ่ของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

อ่านจบแล้วสรุปว่า การเมืองขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” และ “ผู้นำ”

การทำให้ประเทศหลุดพ้นสถานะประเทศยากจนและระบบธรรมาภิบาลที่ดี จีนมีสองอย่างนี้ ภายใต้การนำของ “สี จิ้นผิง” จึงเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศแถวหน้าของโลกแห่งอนาคต ภายในห้วงเวลาแค่ 2–3 ปี

“สมคิด” เจาะลึกกระบวนท่าของ “สี จิ้นผิง” เกาะติดยุทธศาสตร์มังกรจีนผงาด

และในสถานการณ์ที่อย่างน้อยก็ส่อไปในทิศทางเดียวกัน กับการที่ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ได้รายงานว่า ประเทศไทยกำลังหลุดพ้นจากความยากจนและกำลังก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่ง

อย่างน้อยๆความหวังที่จะเดินตามรอยจีนแผ่นดินใหญ่ก็เห็นเค้าบ้าง

แต่อย่างว่า การเมืองไทยมันมีหลายปัจจัยที่เทียบกับจีนไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสไตล์แบบนักการเมืองไทย ใครเด่นขึ้นมาก็หนีไม่พ้นโดนหมั่นไส้ เตะตัดขา เจาะยาง

อย่างที่ “สมคิด” เพิ่งเจอระเบิดตูมใหญ่ปาใส่สดๆร้อนๆ

กับสถานะของ “ผู้นำพรรคทหาร” ที่มอบให้โดยทีมงานยี่ห้อประชาธิปัตย์ ระดับ “ลูกหาบ” อย่างนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. ตามจังหวะต่อเนื่องกับช็อตของมวยรุ่นลายครามระดับ “ชวน หลีกภัย” ที่ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.

ดิสเครดิตเชิงประจานการบริหารเศรษฐกิจบ้อท่า ทำให้รายได้ต่อครัวเรือนลดลง

“สัญญาณธง” ของประชาธิปัตย์โฟกัสเป้าไปที่ “จอมยุทธ์กวง” เต็มๆ

และเป็นอะไรที่จับทางได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่มีการตีปี๊บเศรษฐกิจภาพรวมมีสัญญาณเป็นบวก ทั้งตัวเลขจีดีพี ตัวเลขการส่งออก การฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตทุกระดับของสหภาพยุโรป (อียู) กับรัฐบาลไทย การลดสถานะประเทศถูกจับตาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ

“สมคิด” ก็ยิ่งโดนฟัดหนักขึ้น ตามข่าวดีที่ตีปี๊บกัน

นั่นสะท้อนถึงอาการหวั่นใจ ถ้าปล่อยให้ “สมคิด” ติดลมบน คนการเมืองอาชีพก็จะยิ่งแย่งเวทีคืนจากทีมงาน “นายกฯลุงตู่” ยากเข้าไปใหญ่

และถึงตรงนี้ แม้นายสมคิดจะบอกปัด “ข่าวไม่กรอง” ยี่ห้อประชาธิปัตย์เรื่องผู้นำพรรคทหาร ไม่เป็นความจริง ตัวเองอายุมากแล้ว สุขภาพก็ไม่ดีด้วย ไม่ใช่ตนเองแน่

แต่ก็ไม่แน่ว่าจะจบ เพราะธงมันอยู่ที่การสกัดตัวทำแต้มให้ “ลุงตู่”

ประกอบกับอาการร้อนรนของคนประชาธิปัตย์ที่จับทางได้ อย่างที่นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ถูกระบุว่ามีชื่อเป็นเลขาธิการพรรคทหาร ยอมรับเลยว่า โดนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สะกิดถามสนใจการเมืองหรือไม่ ขณะเจอกันบังเอิญที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง
แสดงว่า คนยี่ห้อประชาธิปัตย์เกาะติดข่าวพรรคทหารแบบกระชั้นชิด

กัดติดกันไม่ลดละ ตามสถานะของพรรคจะได้ผลกระทบมากสุดหากมีการตั้งพรรคมารองรับทหารจากการที่มีฐานเสียง กองเชียร์เกี่ยวโยงกัน อยู่ ดูได้จากอารมณ์ที่นายวัชระฟาดหางใส่ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ข้อหา “กบฏ” แอบปันใจให้ พล.อ.ประยุทธ์

และอีกจุดที่กระตุกประชาธิปัตย์ให้ต้องเปิดหน้าชนพรรคทหาร

น่าจะโยงกับสถานการณ์ที่โคตรเซียนการเมืองยี่ห้อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ออกมาจุดพลุ เสนอให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค เพื่อลบสี ล้างเงื่อนไขการเมืองที่โยงอยู่กับม็อบป่วนเมือง

สร้างความตกใจให้พรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ดาหน้าซัดพวกปูทางพรรคทหาร

เรื่องของเรื่อง มวยระดับ “สมศักดิ์” ธรรมดาที่ไหน โดยเฉพาะกับการเลือกจังหวะที่ “นายกฯลุงตู่” เตรียมเดินทางไปประชุม ครม.สัญจรที่สุโขทัย ทำการจุดพลุปมแหลมๆคมๆในเชิงทางการเมือง

ตามท้องเรื่อง แทงใจผู้กุมอำนาจในพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่ยังไงก็ไม่เอาด้วยกับการสูญเสียอำนาจในพรรค แต่ส.ส.ลูกพรรคชอบ เพราะจะได้เป็นอิสรภาพ

ที่แน่ๆมันจะช่วยให้ “นายกฯลุงตู่” ฟอร์มรัฐบาลในอนาคตได้ง่าย

แม้สิ่งที่ “สมศักดิ์” เสนออาจไม่สามารถทำได้ในยามนี้ เพราะส่งผลรุนแรงต่อการได้เสียทางการเมือง แต่ในสถานการณ์ข้างหน้า ที่การเมืองยังหนีไม่พ้นเงื่อนไขความขัดแย้ง แบ่งสี แบ่งข้าง

อาจเป็นสูตรที่ลงตัวสำหรับ “ผู้นำ” ในการเดินหมากอำนาจ เปลี่ยนผ่าน.

ทีมข่าวการเมือง