PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

85.2% คนไทยเห็นว่าสร้างบ้านพักตุลาการศาลบนดอยสุเทพไม่เหมาะสม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยคิดอย่างไร กับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 23 เมษายน 2561 จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึง ความเหมาะสมในการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.20 ระบุว่า ไม่เหมาะสม เพราะ เป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ควรมีสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่บางส่วนระบุว่า บ้านพักควรสร้าง ในเมืองน่าจะดีกว่า
รองลงมาร้อยละ 14.56 ระบุว่า เหมาะสม เพราะ เป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นการบุกรุกหรือรุกล้ำพื้นที่ป่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะพิจารณาตามความเหมาะสมมาอย่างดีแล้ว และเพื่อความสะดวกของเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านการรับทราบของประชาชนว่า ตามกฎหมายแล้วสามารถสร้างบ้านพักบริเวณดอยสุเทพได้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.12 ระบุว่า ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 18.56 ระบุว่า ทราบ และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ



สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ ออกทั้งหมด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้คืนผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และจะเป็นการช่วยอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ รองลงมา ร้อยละ 43.68 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการรื้อถอน และเสียดายงบประมาณที่ใช้ไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังสามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.36 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง รื้อถอนบ้านพักทั้งหมด และปลูกป่าทดแทนให้กลับเป็นตามเดิม รองลงมา ร้อยละ 25.92 ระบุว่า ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป ไม่ต้องรื้อถอนแต่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์แทน ร้อยละ 22.96 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และรื้อถอนบางส่วนที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 7.52 ระบุว่า ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปและให้ตุลาการศาลเข้าไปใช้พื้นที่เหมือนเดิม เพราะถูกต้องตามกฎหมาย

ร้อยละ 2.80 ระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และทำความตกลงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ร้อยละ 1.20 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป และปลูกต้นไม้ทดแทนไปด้วย ให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการทำเป็นรีสอร์ทเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีงานทำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้ยุติการก่อสร้าง และเรียกร้องค่าเสียหาย และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.84 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 55.84 เป็นเพศชาย ร้อยละ 44.00 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 7.84 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 19.36 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.08 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.36 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 17.84 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุอายุ




ตัวอย่างร้อยละ 91.68 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.52 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.68 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 25.20 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.08 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.52 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส

ตัวอย่างร้อยละ 23.12 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.28 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.12 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 31.04 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.68 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.76 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 11.12 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.64 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.28 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.12 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.80 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.48 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.72 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.16 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 12.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 12.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 9.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.56 ไม่ระบุรายได้

ผ่าพรรคประชาธิปัตย์จับอาการเฮี้ยว“อภิสิทธิ์” : ฐานสั่นคลอน หลักการกดดัน

ผ่าพรรคประชาธิปัตย์จับอาการเฮี้ยว“อภิสิทธิ์” : ฐานสั่นคลอน หลักการกดดัน



ช็อตประวัติศาสตร์การเมืองโลกที่นานาชาติจับตา
กับภาพการข้ามพรมแดนมาจับมือ พูดคุยสันติภาพกันระหว่างประธานาธิบดีคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ กับประธานาธิบดีมุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้
เป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี หลังสงครามยุติ
สัญญาณศึกสายเลือดโสมขาวโสมแดงที่แตกแยกกันเกือบศตวรรษกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
ตัดฉากกลับมาที่การเมืองไทยที่เผชิญวิกฤติแตกแยกมาแค่ 10 กว่าปี ถึงวันนี้ยังไม่มีวี่แววจะพูดจาภาษาเดียวกัน ยังข้ามพรมแดน “อัตตา” กันไม่พ้น
ท่ามกลางอากาศแปรปรวนในห้วงฤดูร้อน พายุพัดถล่ม ลูกเห็บตกภาคเหนือ ภาคอีสาน
สถานการณ์ล้อกับบรรยากาศทางการเมืองที่เข้าสู่ภาวะปรวนแปร ตามเงื่อนไขสถานการณ์ภายหลังสัญญาณเริ่มชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตีตั๋วต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ยกระดับความชอบธรรม “นายกฯคนใน” ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง
ท่ามกลางวาทกรรม “ตกเขียว” กระแส “ดูด” ที่ผุดตามพรรคทหารขึ้นมาแบบทันทีทันควัน ตามสไตล์ธรรมชาติการเมืองแบบไทยๆที่ต้องชิงฝังความทรงจำที่ไม่ดีกับพรรคท็อปบูต
และก็เป็นไปตามสูตร พรรคที่นำขบวนก็คือค่ายประชาธิปัตย์ เจ้าตำรับแห่งการผลิตวาทกรรมเตะตัดขา สกัดดาวรุ่งที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งทาบบารมี
รอบนี้ออกตัวแรง กระแทกทีม “นายกฯลุงตู่” แบบไม่ไว้ไมตรี
แถมเป็นอะไรที่สังเกตว่าไม่ใช่แค่ระดับลูกแถว แต่เป็นระดับแม่ทัพอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำทีมแห่กระแส
เปิดยุทธการล่อเป้าพรรคทหารด้วยตัวเอง
เร่งเครื่องเร่งจังหวะกันตั้งแต่เปิดฉากไล่คนในพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ไสหัวออกจากประชาธิปัตย์ไป ตามด้วยการประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ
ต่อเนื่องกับอาการไล่ตามจิกตามแฉ ประจานการใช้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ เก้าอี้ผู้ช่วยรัฐมนตรี ดูดนักการเมืองจากพรรคต่างๆเข้าร่วมงานกับรัฐบาลคสช.
อาศัยเหลี่ยมมัดจำแต้มทางการเมืองให้ “นายกฯลุงตู่”
วิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์สวนทางกับแนวทางการปฏิรูป กลับไปสู่วังวนเดิม
“อภิสิทธิ์” เทกแอ็กชั่นแรงๆใส่แบบไม่ยั้งไมตรี ในจังหวะที่ลูกทีมอย่างนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าสำนักข่าวไม่ได้กรอง ก็ตามแห่ แฉตัวเลข 40,000 ล้าน ทุนตั้งพรรคทหาร
นั่นก็ทำให้สถานการณ์ลามถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสั่งให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการทางคดี
ตบปากพวกแฉตีกินโดยไม่รับผิดชอบ
ไปๆมาๆกลายเป็นว่า “อภิสิทธิ์” และทีมพรรคประชาธิปัตย์กลับออกอาการร้อนรนกับการตีตั๋วต่อของ “ลุงตู่” เยอะกว่าโจทก์โดยตรงของทหารคสช.อย่างพรรคเพื่อไทย ลูกข่าย “ทักษิณ”
ทั้งๆที่มีสถานะคนกันเอง เป็นแนวร่วมฝ่ายเดียวกันมาตั้งแต่ต้น
นั่นไม่เท่ากับว่า โดยเงื่อนไขสถานการณ์ในอนาคต ตามโมเดลอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่าน พรรคประชาธิปัตย์ก็คือหนึ่งในตัวยืนพรรคร่วมรัฐบาล
หนีไม่พ้นต้องเป็นแนวร่วม สนับสนุน “นายกฯลุงตู่”
เพราะโอกาสยากที่จะพลิกขั้วไปจับมือกับฝ่าย “ทักษิณ” ด้วยกันทั้งคู่
ตามโจทย์บังคับ ความจำเป็นของโครงสร้างอำนาจประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน สัญญาณไฟแดงยังค้าง ไม่เปิดให้ พรรคเพื่อไทย ทีมงาน “นายใหญ่” กลับมาลุยสุดซอย
พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้เต็มอก นายอภิสิทธิ์ ก็รู้อยู่แก่ใจ
แต่ที่ไม่รู้ ทำไมหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึงได้ออกตัวแรง ออกแอ็กชั่นเกินบทขนาดนี้
แน่นอน จับอาการเบื้องต้น มันคือสภาวการณ์ของคนอัดอั้น
ตามสภาพของ “จอมหลักการ” อย่าง “อภิสิทธิ์” ศิษย์เอกของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากเงื่อนไขสถานการณ์ที่ยากต่อการวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ กำหนดบทบาทการยืนของตัวเองบนเกมอำนาจ
ต้องเดินหมากการเมืองภายใต้โจทย์เพี้ยนๆ สถานการณ์ปราบเซียน
อันดับแรกเลย กับสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และในทันทีทันใด ก็ถูก “เสี่ยโอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เบิ้ลบลัฟ อำกันเป็นทำนองช่างกล้าประกาศ ไม่อายชาวบ้าน
ย้อนประจานภาพการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
สานฝันนายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
นี่คือคราบฝังแน่นที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์สลัดไม่หลุด จุดที่อาการตั้งท่ารังเกียจทหารถูกมองว่าเล่นได้ไม่เนียน แสดงความรู้สึกช้าไป
แม้แต่กองเชียร์ยังฝืนใจเชื่อ ไม่ต้องพูดถึงสังคมทั่วไปจะอินตาม
มุกต้านเผด็จการแป้กตั้งแต่ออกตัว
จุดขาย ฟอร์มเก่งของยี่ห้อประชาธิปัตย์ไม่ขลังเหมือนอดีต
และนั่นก็โยงถึงโอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะรีเทิร์นกลับมาลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แทบจะปิดประตูลงกลอน ล็อกตาย
เหนืออื่นใด ตามเงื่อนไขอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านที่รู้กันดีว่าทหารต้องแก้โจทย์จากปี 2549 ที่ปฏิวัติเสียของมาตลอด และ “อภิสิทธิ์” เองก็อยู่ในกระบวนการทำเสียของมาด้วย
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยได้รับโอกาสมาแล้วแต่ทำไม่ได้
พิสูจน์แล้ว “อภิสิทธิ์” ไม่เหมาะเป็นผู้นำในภาวะวิกฤติ
แล้วกับสถานการณ์ผู้นำช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศ มันก็ยิ่งยากกันไปใหญ่
เป็นอะไรที่ฟันธงได้ “อภิสิทธิ์” ไม่ได้สู้เพื่อชิงการนำกับ พล.อ.ประยุทธ์
จุดที่ต้องโฟกัสมากกว่า น่าจะเป็นเงื่อนไขสถานการณ์ที่โยงกับสถานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์กำลังตกอยู่ในห้วงเผชิญแรงเสียดทานจากการเปลี่ยนตัวผู้นำ
กั๊กอำนาจกับ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.
“หอกข้างแคร่” แฝงอยู่เต็มพรรค
“อภิสิทธิ์” ต้องเป็นแม่ทัพในสนามเลือกตั้ง ทั้งๆที่พลังไม่เต็มสูบ
กับศึกหนักข้างหน้าที่แปรสภาพเป็นสงคราม 3 ก๊ก ตามฉากที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฉายภาพชัดจากที่ประชาธิปัตย์สู้กับพรรคเพื่อไทย
มีขั้ว คสช.เปิดตัวเป็นก๊กที่ 3
และตามรูปการณ์ ประชาธิปัตย์ฐานเดียวกับทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ยังไงก็สะเทือน
ประกอบกับการยืนยันสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่เหลือแค่หลักหมื่นจากหลักล้าน ตามอาการต่อเนื่องกับการที่คนประชาธิปัตย์ออกมาตีปี๊บแฉเรื่องทุนตั้งพรรคทหาร
โดยที่ “อภิสิทธิ์” ตั้งท่าประจานเรื่องการบล็อกกลุ่มทุน ไม่ให้หนุนพรรค การเมืองฝ่ายต่อต้าน
อาการเหมือนตกสำรวจ จะโดนเมิน เลยต้องรีบโวย “ทวงของ”
นั่นก็เพราะตามธรรมชาติของกลุ่มทุนที่แทงหวยเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะเลือกสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลมากกว่า
แต่สถานการณ์ ณ วันนี้ สถานะพรรคเกินร้อยของประชาธิปัตย์ยังถูกตั้งเครื่องหมายคำถามจะเอามาจากไหน ในเมื่อภาคอีสาน ภาคเหนือ แทบไม่เหลือทำพันธุ์ ภาคกลางก็นับหัวได้
ฐานที่มั่นปักษ์ใต้ก็มีสิทธิ์โดนทีม กปปส.ของ“ลุงกำนัน” แบ่งแต้มไป รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็คงถูกกลุ่มวาดะห์กลับมาทวงที่นั่งคืน เหนือ อีสาน กลาง ใต้ แนวโน้มไม่เพิ่ม ประชาธิปัตย์มีแต่จะหดลงกว่าเดิม
นั่นไม่เท่ากับจุดที่ “อภิสิทธิ์” น่าจะห่วงที่สุดก็คือสนามกรุงเทพฯ
ในวันที่คน กทม.ส่วนใหญ่อยู่ในอาการเบื่อประชาธิปัตย์ ไม่เอาเพื่อไทย
ถึงจุดที่ประชาธิปัตย์ไร้กระแส แถมในสถานการณ์ที่ท่อน้ำเลี้ยงใหญ่จาก กทม.ที่ประชาธิปัตย์ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ วันนี้ก็ตกไปอยู่ในมือของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ที่ดีลตรงกับ คสช.
แนวโน้มส่อโดนเจาะ หายไปครึ่งต่อครึ่งแน่
การเสียที่มั่นในสนามเมืองกรุง สถานที่แจ้งเกิดทางการเมืองของคนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
นี่แหละที่น่าจะเป็นเหตุ ทำให้เจ้าหลักการตกอยู่ในภาวะกดดัน
จนต้องออกอาการเฮี้ยวเกินบท.
“ทีมการเมือง”

รอ “แต่งตัว” ลงสนาม!

รอ “แต่งตัว” ลงสนาม!



โชว์บทมุ้งมิ้งฟรุ้งฟริ้งเจาะตลาดวัยรุ่น
ตามซีนที่ “ผู้พันเบิร์ด” พ.อ.วันชนะ สวัสดี ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม ควง “น้องเกี่ยวก้อย” มาสคอตตุ๊กตา สัญลักษณ์ความปรองดอง ตะลุยย่านสยามสแควร์
แจกเอกสารสัญญาประชาคมของทีมงานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนอินอยู่ในโหมดความปรองดอง ตามพันธกิจเราจะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้
กระตุ้นบรรยากาศสร้างความรักใคร่ สามัคคีปรองดอง รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ลบภาพความขัดแย้งวุ่นวายในอดีต
สวนทางท่าทีจากฟากฝั่งการเมืองยังละเลงสงครามน้ำลาย ต่อล้อต่อเถียงวาทะ “เครื่องดูดฝุ่น” ไม่หยุดหย่อน ตามช็อตที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกโรงเองซ้ำแล้วซ้ำอีก
แสดงความไม่พอใจปรากฏการณ์พลังดูดอดีต ส.ส.เข้าสังกัด ต่อวีซ่าให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เบิ้ลอำนาจรอบสอง
ยืดอกประชาธิปัตย์ขอรับบทฝ่ายค้าน ไม่ดิ้นรนจับมือร่วมทำงานกับใคร หากอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
ขยายบทต่อจาก “เดอะแจ๊ค” วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ท้า “บิ๊กตู่” สาบานต่อวัดพระแก้ว ไม่เคยใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ฟอร์มทีมจัดตั้งพรรคการเมือง
ตอบโต้หลังถูกผู้นำ คสช. สั่งทีมกฎหมายหาช่องเอาผิดฐานหมิ่นประมาท ยกเมฆข้อมูลระดมทุน 40,000 ล้านบาท ตั้งพรรคการเมืองต่อท่ออำนาจ
อาการหวั่นไหวของนักเลือกตั้งปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นแบไต๋สารภาพตรงๆอยากให้ “บิ๊กตู่” ลงจากหลังเสือ ไม่อยากให้นั่งเก้าอี้นายกฯต่อ
กลัวตกที่นั่งลำบากในสนามเลือกตั้ง ทั้งจากกติการัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคใหญ่และยังต้องระแวงการถูกช็อป ถูกช้อนอดีต ส.ส.ออกจากสังกัด
ยิ่งใกล้ครบเส้นตายการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ตามที่นายอภิสิทธิ์ออกอาการปลงจำนวนสมาชิกพรรควูบหายไปอื้อซ่า จากเดิมที่มียอดเป็นหลักล้านคนเหลือแค่หลักหมื่น
ฐานเสียงสมาชิกไม่แน่นปึ้กเหมือนเก่า นั่นย่อมกระทบถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนพรรคการเมืองที่ได้รับจาก กกต.ต้องเหือดหายลงตามสัดส่วน
อยู่ในภาวะเข้าเนื้อทั้งจำนวน ส.ส. ฐานเสียง และเงินอุดหนุนพรรคที่ลดหลั่นลงเรื่อยๆ
ก็เป็นธรรมดาที่ต้องส่งเสียงโหวกเหวกดังกว่าปกติ
ผิดกับฝ่ายอำนาจพิเศษที่ฉกฉวยความได้เปรียบทางการเมือง โชว์เพาเวอร์ทาบขั้วการเมืองต่างๆเข้าสังกัด เติมฐานเสียงให้เข้มแข็งในสนามเลือกตั้งสมัยหน้า
แนวโน้มสารพัดมุ้ง อาทิ กลุ่มวังน้ำยมของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ทีมบ้านริมน้ำ ของ นายสุชาติ ตันเจริญ และ ตระกูลสะสมทรัพย์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งนครปฐม ไม่แคล้วได้ตามรอยพรรคพลังชลเข้าสังกัดใหม่
มีโอกาสบดแต้มกับนักเลือกตั้งมืออาชีพได้อย่างไม่ขี้เหร่
ดูตามรูปการณ์แล้วยังไงก็ทำแต้มได้ถึง 25 ที่นั่ง ได้สิทธิเสนอชื่อ “ลุงตู่” เป็นนายกฯรอบใหม่แน่นอน
ส่วนพวกที่เหลืออย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย ตลอดจนพรรคเล็กพรรคน้อยที่เหลือ ก็พร้อมกระโดดเกาะขบวนตีตั๋วร่วมรัฐบาล
โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญที่มีทั้งอำนาจและอาวุธอย่างกองทัพออกตัวพร้อมเป็นกำแพงพิงหลัง
ตามทิศทางที่ พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทหารสูงสุด ให้ความมั่นใจทหารมีแผนรองรับดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ช่วงครบรอบ 4 ปีการทำรัฐประหาร คสช.ที่อาจมีการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในเดือน พ.ค.นี้
ทหารการันตีพร้อมช่วยประคองบรรยากาศบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ
ออกตัวให้ความสนับสนุน “บิ๊กตู่” ทำหน้าที่ผู้นำต่อไป แม้จะเปลี่ยนเวทีไปลงสนามการเมือง แสดงท่าทีพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล
กองทัพส่งสัญญาณเลือกข้างอยู่ฝั่ง “ลุงตู่” ปัจจัยทุกอย่างอยู่ในคอนโทรลอำนาจของ คสช.หมด
เหลือแค่รอจังหวะแต่งตัวลงสนามเท่านั้น!!!
ทีมข่าวการเมือง