PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

ปราบมาเฟีย

ปราบมาเฟียต้องลุยทุกพื้นที่ อย่าเว้น!!

คสช.ยันนโยบายปราบมาเฟีย ไม่ได้กำหนดพื้นที่สีแดง ปฏิบัติการทุกพื้นที่ที่มีข้อมูล เผยยอด 16 กลุ่มใกล้เคียงกัน

พ.อ.ปิยพงศ์  กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการปราบปรามมาเฟียว่า เหลือเวลาอีก  2 เดือนเศษจะต้องมีความเข้มข้นในการปราบปรามกับกลุ่มมีอิทธิพลในทุก ๆ ส่วน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจภูธร ทหารในพื้นที่ โดยข้อมูลต่าง ๆ ก็มาจากการร้องเรียนของประชาชนที่ได้มีการรวบรวมและนำมาตรวจสอบผู้ที่อยู่นอกกฎหมาย พร้อมทั้งได้เน้นย้ำไปถึงข้าราชการที่ไม่ให้ทำตนอยู่เหนือกฎหมายทั้งทหารและตำรวจ หากพบก็จะไม่ละเว้นและลงโทษอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ต่อผู้มีอิทธิพลนั้นไม่ได้มีการกำหนดว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีแดงแต่เรายึดหลักตรงที่มีข้อมูลตรงไหนก็จะปฏิบัติตามตรงนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามข้อมูลในพื้นที่ไม่ได้มีการกำหนดว่าจะปฏิบัติพื้นที่ใดก่อนหลัง   

พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวยอมรับว่าผู้มีอิทธิพลมียอดและจำนวนทั้ง 16 กลุ่มพอ ๆ กัน และการดำเนินการปราบปราม คสช.ไม่ได้หวังทางการเมือง แต่สิ่งที่คาดหวังคือความสงบสุขของประชาชนมากกว่าและหากคสช.หมดอำนาจไปใครก็ตามเข้ามาบริหารประเทศก็จะต้องสานต่อนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เพียงแต่บางส่วนอาจจะไปกระทบกับคนบางกลุ่ม ซึ่งในส่วนของคสช.ที่ดำเนินการอยู่นั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานเสียง เราเน้นเรื่องความสงบสุขของประชาชนเป็นหลัก อยากให้มองผู้บริหารประเทศซึ่งถือเป็นผู้ใหญ่ที่เข้ามาทำงานให้กับประเทศชาติในช่วงวิกฤติที่สามารถดำรงตนเป็นแบบอย่าง ซื่อสัตย์ และสุจริต

"บิ๊กป้อม"

จับตาท่วงทำนอง พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์

บทบาทของพล,อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ตามหน้าข่าวในวันนี้นั้น สะท้อนว่า”ไม่ธรรมดา”

ตำแหน่งหลักอย่าง ประธานคณะที่ปรึกษาคสช. ,รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมทั้งยังเป็น13ประธานคณะกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี   และยิ่งมาบวกกับการเป็นประธานคณะกรรมการบูรณาการแก้ปัญหาอิทธิพลท้องถิ่นหรือ”หัวหน้าชุดปราบมาเฟีย”ที่ตอนนี้กำลังเดินเครื่อง ทำเอาหลายคนขวัญผวาและเรียกเสียงฮือฮาทั่วทุกหัวระแหงเมื่อทีมนี้ลงพื้นที่และเป็นข่าวออกมา 

หรือจะชำเลืองตำแหน่งการเจรจากับต่างประเทศที่เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดหายุทโธปกรณ์นั้น"บทบาทของพลเอกประวิตร"ก็จะปรากฏอยู่เนืองๆ 

ไม่น่าแปลกใจที่คนในเครื่องแบบสีต่างๆ นักธุรกิจ คนการเมือง หรือแกนนำกลุ่มต่างๆ ทราบเป็นนัยดีว่า “วันนี้ใครคือผู้มั่งคั่งและมีบารมีมากที่สุดคนหนึ่งในรัฐบาล” จนมีการตั้งข้อสังเกตในสังคมออนไลน์ สภากาแฟ หรือแม้แต่คนในเครื่องแบบทุกยูนิฟอร์ม ที่พูดออกมาแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “ความเห็นของบิ๊กป้อม” สามารถเป็นตัวชี้วัดอนาคตทางการเมือง-ความมั่นคง-การลงทุนเมกะโปรเจกต์ได้จริง แบบไม่ต้องตีความมากนัก 

จนใครบางคนนำท่วงทำนองวันนี้ของพลเอกประวิตรไปเปรียบเทียบกับ”อดีตนายกฯ”คนหนึ่งของเมืองไทยที่เปี่ยมไปด้วยบารมีแบบนี้เมื่อ20-30ปีที่แล้ว จนเจ้าตัวต้องออกมาเบรคข่าวนี้เพื่อมิให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นอีกหนึ่งวง 

ส่วนโรดแมปและการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ20ปีของรัฐบาลและคสช.นั้น แม้วันนี้แทบทุกฝ่ายยืนยันต้องเดินตามคำประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. แต่อีกหนึ่งความเห็นที่มีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่าคำพูดของบิ๊กตู่เลย คือความเห็นของ"พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์"นั่นเอง 

ยิ่งช่วงนี้ใกล้เข้าโค้งสุดท้ายการยกร่างรัฐธรรมนูญ ความเห็นเกี่ยวกับมาตราต่างๆที่มาจากความเห็นของคีย์แมนคสช.และครม.นั้น ย่อมเป็นเค้ารางที่มองเห็นแล้วว่า คสช.ยังจะทำงานในการ”ปฏิรูป+สร้างความปรองดอง+ยุทธศาสตร์ชาติ”ให้ประเทศหลังการเลือกตั้งต่อไปหรือไม่ 

เมื่อลองเจาะลึกกับคนในแวดวงการเมืองเพื่อจับจังหวะของ”บิ๊กป้อม”นั้น น่าจะพอถอดรหัสได้กลายๆ 

สนช.อย่าง"พล.อ.นพดล อินทปัญญา" หรือ"บิ๊กกี่" ซึ่งเป็นเพื่อนรักของบิ๊กป้อมคนนี้ แสดงความเชื่อมั่นว่า" เวลานี้พล.อ.ประวิตรไม่คิดที่จะเล่นการเมือง ขอทำหน้าที่ในตำแหน่งรองนายกฯและรมว.กลาโหมให้ดีที่สุด ซึ่งการทำงานในขณะนี้  ผมก็เห็นว่าดีและเหมาะสม หลายฝ่ายให้การยอมรับและพอใจในผลงาน แม้แต่โพลล์ที่ออกมาก็ดี และไม่มีข้อตำหนิใดๆ ส่วนอนาคตทางการเมืองข้างหน้านั้นผมตอบไมได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่หากพลเอกประวิตรจะลงสมัครส.ส. ก็ต้องดูเรื่องคุณสมบัติว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่" 

ขณะที่สมาชิกสนช.คนหนึ่ง กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร เป็นคนมีประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีบารมี มีบุคลิกที่สามารถเข้าได้กับทุกกลุ่มการเมือง ทุกพรรคการเมือง ภาคเอกชน ไม่เว้นแม้แต่เอ็นจีโอ ซึ่งเท่าที่ทราบทุกคนให้ความเคารพนับถือ และจากการที่เข้าได้ทุกกลุ่มทำให้พล.อ.ประวิตรรู้เส้นสนกลในทุกอย่าง รวมทั้งยังมีบุคลิกที่จะกล้าพูดกล้าทำคิดอย่างไรก็พูดออกมา เช่น ที่มาส.ว.ที่ต้องมาจาการสรรหา 

อีกมุมมองหนึ่งจากสายตากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ใกล้ชิดกับพล.อ.ประวิตร สะท้อนบางสิ่งให้ทีมข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่นฟังว่า "เคยสอบถามพล.อ.ประวิตรระหว่างร่วมรับประทานอาหารว่า   จะลงเล่นการเมืองสมัยหน้าหรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประวิตรตอบว่า "ไม่อยากเล่นการเมือง ไม่อยากตั้งพรรค เหนื่อยแล้ว อยากอยู่สบายๆ อยู่บ้านเลี้ยงหลานดีกว่า" แต่เอาเข้าจริงส่วนตัวมองว่าพล.อ.ประวิตรถือว่าเป็นผู้มีบารมีมาก และมีดีกรีพอที่จะเป็นนายกฯคนต่อไปได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับใจของพล.อ.ประวิตรว่า จะยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตามที่เงื่อนไขของร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งท่าทีดังกล่าวสังเกตได้ไม่ยาก กล่าวคือ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ สมาชิกคสช. หรือสนช. ที่จะลงเลือกตั้ง ต้องลาออกจากตำแหน่ง ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลประกาศใช้ หากวันนั้นพล.อ.ประวิตรลาออกจากตำแหน่ง ฟันธงได้ว่าจะลงเล่นการเมืองแน่นอน" 

ขณะที่เเกนนำกปปส.อย่าง"ลุงกำนัน"นั้น อาจจะมีการแสดงความเห็นออกมาบ้างพอเป็นพิธี เพราะตั้งเเต่มีการยึดอำนาจ22พ.ค.2557มานั้น "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เเทบจะไม่ทำอะไรให้คสช.เคืองน้ำใจเเบบออกหน้าเลย แม้บางเรื่องคสช.อาจจะไม่ตามใจแกนนำมวลมหาประชาชนมากนักก็ตาม 

ส่วนมุมมองของคนการเมืองนั้น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองบทบาทของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ว่า "ถ้าวางระบบในรัฐธรรมนูญดีจนเอื้อแล้ว ถึงตอนนั้นจะส่งใครที่ต้องการมาลงก็ได้เพื่อให้มาเป็นผู้นำในอนาคต ไม่จำเป็นที่เจ้าตัวต้องลงมาเอง ยิ่งถ้ามีส.ว. 200 คน ที่มีอำนาจใกล้เคียงกับส.ส.ถึงตอนนั้นใครก็ได้ทั้งนั้นที่จะเข้ามา" 

ส่วน"การเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน”อาจจะต้องมีอะไรบางอย่างตามที่พล.อ.ประวิตรระบุไว้นั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า"ถ้ามองสถานการณ์ระยะยาวมากกว่าแค่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็จำเป็นต้องมีฐานการเมือง มีพรรคการเมืองสนับสนุน หรือต้องตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาหรือไม่นั้น ประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยในอดีต ทหารเวลายึดอำนาจมาแล้วจะลงจากอำนาจด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เที่ยวนี้ผู้มีอำนาจก็คงไม่คิดตั้งพรรคการเมืองมารองรับ แต่น่าจะใช้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วเข้ามารองรับแทน จะดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะทุกพรรคการเมืองล้วนอยากเป็นรัฐบาลทั้งนั้น ถ้าผู้มีอำนาจมีหลักประกันว่าทำได้ ก็จะวิ่งกันมาทั้งหมด" 

คีย์เเมนพรรคเก่าเเก่ของประเทศไทยคนนี้ย้ำว่า "แต่ประชาธิปัตย์คงไม่เป็นฐานรองรับ เราไม่ไปคิดร่วมกับพวกเขาตรงนั้นอยู่แล้ว และพวกเขาก็ไม่เคยมาคิดร่วมกับเราในเรื่องเหล่านี้ เราหวังชนะการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย จะไปคิดร่วมกับทหารว่าทำอย่างไรจะให้กลับมามีอำนาจร่วมกันหลังเลือกตั้ง เราไม่คิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ผมว่าปล่อยการเมืองให้เป็นไปตามธรรมชาติผู้มีอำนาจอย่าไปเชื่อใคร ถ้าคนใกล้ชิดบอกว่า ทำอย่างนี้จะอยู่ต่อได้อีก 4-5 ปี อย่าไปเชื่อ ประวัติศาสตร์ไม่เคยสอนอย่างนั้น ไม่เคยเป็นไปในแนวทางนั้นเลย ดังนั้น จึงต้องปล่อย ถ้าฝืนหรือพยายามจะลงมาสู่สนามการเมืองเองจะมีปัญหา อย่างแรกคือไม่ได้รับการยอมรับจากพรรคการเมือง และประชาชน แม้ตอนนี้กระแสความนิยมของรัฐบาลจะดีอยู่ แต่นานๆ ไป ประชาชนจะไม่เริ่มไม่ยอมรับ" 

ส่วนแกนนำพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง มองบทบาทของพล.อ.ประวิตรว่า "พล.อ.ประวิตรคาดหวังที่จะมีบทบาททางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เห็นได้จากความพยายามในการสร้างเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกับนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ และฝ่ายผู้มีอำนาจ ซึ่งแตกต่างจากพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นหรือมีศักยภาพเพียงพอในการสร้างบารมีและเครือข่ายมากนัก 

พล.อ.ประวิตร ยังเป็นผู้ผลักดันหลักในการร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องสำหรับการเข้าสู่อำนาจของตัวเอง เช่น การเสนอให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านและสามารถโหวตเลือกนายกฯได้ ทั้งนี้เครือข่าย สปท. และ สนช. ในปัจจุบันก็เป็นบุคคลที่พล.อ.ประวิตรสามารถควบคุมได้    ถ้ารัฐธรรมนูญระบุอำนาจและที่มา ส.ว. เป็นอย่างนี้จริง พล.อ.ประวิตรก็จะมีเสียง 200 เสียงเพื่อสนับสนุนตัวเองในการเข้าสู่อำนาจ โดยความมุ่งหวังของพล.อ.ประวิตรคือการครองอำนาจแบบเดียวกับพลเอกคนหนึ่งในอดีต 

แต่ทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะ 1) ในสมัยพล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ สามารถควบคุมอำนาจกลุ่มต่างๆ รวมทั้งกลุ่มยังเติร์ก ได้อย่างมีเอกภาพและเสถียรภาพ ซึ่งแตกต่างกับพล.อ.ประวิตรในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีร่องรอยความแตกแยกใน “สายบูรพาพยัคฆ์” เด่นชัดมากขึ้น และ “สายป๋า” ก็มีความไม่พอใจต่อสายบูรพาพยัคฆ์อยู่ ฉะนั้นพล.อ.ประวิตรจึงไม่สามารถกุมอำนาจทุกๆฝ่ายได้เหมือนสมัยพล.อ.เปรม 2) สมัยพล.อ.เปรมนั้น ฝ่ายต่อต้านอำนาจทหารยังไม่เข้มแข็งเท่าปัจจุบัน รวมทั้งปัจจุบันการสื่อสารและการรับรู้ของประชาชนมีมากกว่าสมัยอดีตมาก" 

เเกนนำพรรคเพื่อไทยยังอ่านอนาคตบนถนนการเมืองของพล.อ.ประวิตรต่อไปว่า “ สำหรับความเป็นไปได้ในการตั้งพรรคของพล.อ.ประวิตรนั้น  อาจมีความเป็นไปได้ แต่จะเป็นในลักษณะพรรคขนาดกลาง-เล็ก โดยอาศัยยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเสียงในสภาแทน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เปิดช่องให้ ส.ส. ไม่ต้องยึดโยงกับพรรคมากนัก นอกจากนั้นการตั้งพรรคในรูปลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายทหารในปัจจุบันนั้น ยังเป็นคำถามว่าสังคมจะยอมรับเพียงใด”เเละมุมมองนี้ของแกนนำพรรคเพื่อไทยคงไม่เเตกต่างกับคนเสื้อเเดงมากนัก 

ขณะที่พรรคขนาดกลาง อย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาเเละพรรคชาติพัฒนาที่ตอนนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะชี้อนาคตของแวดวงการเมือง หากมองประวัติศาสตร์ของพรรคเหล่านี้จะพบว่า ตั้งเเต่อดีต-วันนี้ คีย์เเมนของพรรคต่างเเนบอิงกับขุนพลท็อปบูท เเละเมื่อมีผลการเลือกตั้งออกมาครั้งใด พรรคเหล่านี้จะเป็น1ในแกนนำร่วมตั้งรัฐบาลเสมอมา

หากอ่านสิ่งที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยระบุถึงท่าทีของพรรคต่อสถานการณ์การเมืองในยุคที่ คสช.เข้าบริหารประเทศว่า “พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคขนาดกลางคงต้องสงวนท่าทีในหลายๆเรื่อง แม้แต่เรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเรื่องการเสนอชื่อของผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี บอกได้เลยว่า ผมต้องเสนอชื่อตัวเองอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้ทุกคนในพรรคจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน”

และยิ่งบทบาทใหม่ของพรรคต่างๆที่ร่างรัฐธรรมนูญวางไว้คือ “อำนาจต่อรองของพรรคใหญ่ลดลงจากความวุ่นวายทางการเมืองจนเกิดการยึดอำนาจมาสองครั้ง และพรรคขนาดกลางคือตัวแปรทางการเมืองและดีไม่ดีอาจจะเป็นแหล่งฝากเลี้ยงของใครบางคนที่กำลังเบ่งบารมีในช่วงนี้และอนาคตก็เป็นได้” ตรงนี้ต้องจับตากรธ.ให้ดีว่า จะเดินตามเส้นทางที่กรธ.วางเข็มทิศไว้แต่เดิม หรือจะมีการปรับใหม่ไปตามสภาวะ 

และต้องดูลีลาและอารมณ์ของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ว่าจะออกอาการอย่างไรกับกฎหมายหลักของบ้านเมือง เพราะมันมีผลกับทุกสิ่งทุกอย่างกับอนาคตการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 12มี.ค.59