PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

สมาคมนักข่าวฯออกแถลงการณ์แจงการทำหน้าที่สื่อฯ

"ชี้แจงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน" สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้มีท่าทีแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา และขอให้องค์กรสื่อไปตรวจสอบดูแลกำกับกันเอง
แถลงการณ์ เรื่อง ชี้แจงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้วิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่าเป็นการนำเสนอโดยขาดข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาตินั้น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอชี้แจงว่า
๑. สื่อมวลชนทุกแขนงมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นนำเสนอสู่สาธารณะ เพื่อความเข้าใจของคนในสังคม และกระบวนการแก้ไขของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ
๒. ในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อาจมีข้อบกพร่อง ผิดพลาด และอาจจะกระทบต่อบทบาทอำนาจขององค์กรต่างๆ ของสังคม ซึ่งในความผิดพลาดดังกล่าวนั้นสื่อมวลชนก็พร้อมที่จะเยียวยาแก้ไข และแสวงหาทางออก กระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อสังคม เพราะสื่อมวลชนพร้อมจะรับฟังเสียงสะท้อนและความเห็นของทุกฝ่าย
๓. จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้มีท่าทีแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา และขอให้องค์กรสื่อไปตรวจสอบดูแลกำกับกันเองนั้น ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอชี้แจงว่าประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการระดมความเห็นของคณะทำงานปฏิรูปสื่อที่ผลักดันให้กลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนสามารถเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม
๔. กรณีการทำหน้าที่ของคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในกรณีนำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับแรงงานประมงไทย ที่ตกค้างอยู่ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ทางสมาคมฯ เห็นว่า เป็นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องการสะท้อนปัญหาและความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกันที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทุกภาคส่วนร่วมกันอย่างจริงจัง
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอยืนยันว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น ต้องทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารนั้นๆ ข้อมูลและความคิดเห็นต่างถือเป็นความก้าวหน้าและการเปิดกว้างของประเทศที่มีประชาธิปไตย แต่ทั้งนี้ย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘

ศาลเเพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามฉายภาพยนตร์ Fast & Furious 7 หลัง เสี่ยเจียง ฟ้อง"จา"ละเมิดสัญญา

17.06 น. ของวันนี้ ศาลเเพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามฉายภาพยนตร์ Fast & Furious 7 หลัง เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ยื่นฟ้อง จา พนม ฐานละเมิดผิดสัญญา ศาลนัด 15 เมษายน 2558
รายงานข่าวระบุว่าภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 7 มีการระงับการฉาย เหตุเพราะศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว อันเนื่องมาจาก “เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ” ได้เข้ายื่นฟ้องนักแสดงบู๊ชื่อดัง “จา พนม”หรือ “โทนี่ จา” ฐานละเมิดผิดสัญญา โดยศาลนัดไกล่เกลี่ย 15 เมษายน 2558
หนังฟอร์มยักษ์ที่หลายคนตั้งตารอ Fast & Furious ดำเนินมาถึงภาคที่ 7 โดยในภาคนี้คอหนังชาวไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะมีนักแสดงบู๊ จา พนม ร่วมแสดงประกบเหล่าซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง วิน ดีเซล, ดไวซ์ จอห์นสัน (เดอะร็อค), เจสัน สเตแธม, เคิร์ท รัสเซล และ พอล วอล์คเกอร์ ดาราผู้ล่วงลับ และกำลังจะมีคิวเข้าฉายในวันที่ 1 เมษายนนี้
ด่วน! งานเข้า! ศาลสั่งห้ามฉาย Fast & Furious 7 หลังเสี่ยเจียง ฟ้อง จา พนม ด้วยข้อหานี้
HOT.OHOZAA.COM

นายกฯขู่ใช้คำสั่งคสช. จัดการสื่อตีข่าวเสี้ยม สมาคมฯวอนเข้าใจทำหน้าที่

นายกฯขู่ใช้คำสั่งคสช. จัดการสื่อตีข่าวเสี้ยม สมาคมฯวอนเข้าใจทำหน้าที่

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
25 มีนาคม 2558 23:49 น.
        ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประยุทธ์"ฉุนกึก โวยสื่อ เฉ่งคอลัมนิสต์ ซัด "เก่งนักมาบริหารเอง" ลั่นขอดูอีกระยะ ขู่จำเป็นจะใช้อำนาจ คสช. จัดการ สมาคมนักข่าววอนนายกฯ เข้าใจการทำหน้าที่ 
      
       วานนี้ (25 มี.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนประเทศบรูไน โดยมีสีหน้าเคร่งเครียดและแสดงอารมณ์โกรธและโมโหตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์ รวมทั้งได้มีการเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ ถือเป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์มีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงถึงขนาดบางช่วงเสียงสั่น และมีการโยนเอกสารใส่ผู้สื่อข่าว
      
       โดยการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 23 นาที โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ขอร้องสื่อมวลชนว่าในเรื่องคดีการเมืองต่างๆ ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขอให้เป็นไปตามกลไก อย่าไปยุ่งกับมันมากนัก
      
       "อะไรกันนักหนา ผมไม่เข้าใจ จะต้องเมื่อนี่ เมื่อนั่น โดยเฉพาะของผู้จัดการ เปิดอ่านดูไม่ได้สักหน้าหนึ่ง เป็นบ้ากันไปหรืออย่างไร เขียนอะไรไม่รู้กันทุกวัน จะเอาอะไรกันนักหนา เก่งนักหนา มึงมาบริหารงานมา มาเป็นส.ส.เลย ไอ้ชัชวาลย์ (ชาติสุทธิชัย คอลัมนิสต์) ไอ้โสภณ (องค์การณ์ คอลัมนิสต์) พวกนี้ รัฐบาลนี้พูดจาแบบนี้ จะว่าผมก็ว่ามา ยังไงก็รับอยู่แล้ว แต่ผมเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นนายกฯ ที่ไม่ใช่มนุษย์ ก็มีจิตใจ มีชีวิตและจิตใจ"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
      
       ***ย้ำคดีการเมืองต้องว่าไปตามกระบวนการ
      
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาคดีทางการเมืองอย่าไปสนใจ ให้เขาเดินหน้าไปตามกระบวนยุติธรรม อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์กันนัก เพราะเขาทำงานไม่ง่าย ถ้าเรามัวแต่คล้อยตามไปมาแบบนี้ ศาลก็ลำบาก วันนี้ฝ่ายต่อต้านกระบวนการยุติธรรม ถามว่ายอมรับความผิดอะไรบ้างหรือยัง สักอย่าง ยังไม่มีเลย และตนก็ไม่ได้บอกว่าเขาผิด เขาเป็นเพียงผู้ต้องหา ก็ไปสู้คดีกัน แต่ขอร้องว่าอย่ามาสู้นอกศาล สื่อก็ไปขยายความกันเรื่อยเปื่อย เวลาศาลตัดสินว่าไม่ผิด ทำไมไม่โวย แต่พอผิด ก็ออกมาโวยว่าไม่เป็นธรรม ส่วนความผิดอื่นๆ ที่มีการยกฟ้องกลับไม่พูดถึง อย่างนี้มันใช้ได้ที่ไหน คนเหล่านี้ใช้ได้หรือไม่ ก็ต้องคิดดู
      
       เมื่อถามว่า คดีที่พูดถึงหมายถึงคดีอะไร และเกี่ยวข้องกับใคร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างโมโหว่า สื่อก็รู้อยู่จะมาถามอีกทำไม มันก็คือคดีการเมือง ก็รู้อยู่แล้ว
      
       ***เลื่อนแถลงผลงานเหตุอยากให้คนฟัง 
      
       ผู้สื่อข่าวถามถึงการเลื่อนการแถลงผลงานรอบ 6 เดือน จากวันที่ 10 เม.ย. เป็นวันที่ 17 เม.ย. เนื่องจากเกรงว่าเป็นวันหยุดยาวจะไม่มีคนฟัง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า แล้วจะทำไม ขนาดตนพูดธรรมดา ยังไม่ฟังกันเลย ก็ต้องหาเวลาที่ทุกคนฟัง โดยเฉพาะสื่อ เพราะที่พูดทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครฟัง ถ้าไปพูดวันหยุดแล้วใครจะฟัง
      
       *** ซัด"อำมาตย์เต้น"โง่-เฮงซวย"
      
       พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหตุระเบิดหลายครั้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเองว่า “ก็มันโง่ไง แล้วพวกเธอไปโง่ตามเขาหรือเปล่า รัฐบาลและผมจะทำไปเพื่ออะไร คิดดูสิ ด้วยความเป็นมนุษย์ ฉันมา ฉันไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้นแล้ว ฉันจะมาทำเองทำไม เพื่อที่ฉันอยากจะอยู่อย่างนั้นหรือ”
      
       เมื่อถามว่า การออกมาพูดเช่นนี้ จะมีการห้ามปรามอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่สนใจ
      
       เมื่อถามต่อว่าจะเรียกมาปรับทัศนคติอีกครั้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่สนใจ เรียกมาแล้วหลายครั้ง แล้วพอเรียกมาจะอย่างไร พอไม่ปล่อย ก็หาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็แค่นี้ เฮงซวยพวกนี้"
      
       ***เผยพูดรวบไปเลือกตั้งปลายปี 
      
       ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการเลือกตั้งปลายปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องที่พูดว่าปลายปีนั้น ตนพูดเร็ว ความจริงตนพูดมาหลายครั้งว่ารัฐธรรมนูญจะออกปลายปี นั่นคือการเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง ตนพูดรวบไปหน่อย แต่ไม่เข้าใจว่ามันจะอะไรกันนักหนาเรื่องการเลือกตั้ง จะเป็นจะตายกันหรืออย่างไร เป็นการแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม หรือใครคิดว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญจะออกได้ไหมก็ต้องไปรอดูกัน
      
       เมื่อถามว่า เท่าที่ดูคิดว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่รู้
      
       ** ปัด"บิ๊กป้อม-หม่อมอุ๋ย"ไม่เกาเหลา 
      
       พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวชี้แจงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเข้าพบ และหารือเมื่อบ่ายวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ไม่มีการพูดคุยในเรื่องปัญหาความขัดแย้งอะไร แต่เป็นการปรึกษาเรื่องการงาน
      
       ** ขู่ใช้อำนาจ คสช.จัดการสื่อ 
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่มีการไปพูดโยงถึงเรื่องการทำงาน และการปรับ ครม. โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบอย่างเสียงดังว่า "มีแต่พวกคุณพูดกันทั้งนั้นว่าจะมีการปรับครม. ถ้าปรับแล้วมันดีขึ้น เออ มันก็ใช่ แต่ถามว่าสถานการณ์ขณะนี้ การปรับคนจะทำให้แก้ปัญหาได้หรือไม่ อยากให้ตอบ สมมติว่าหนังสือพิมพ์ของพวกคุณ ถ้าจะให้ขายดี ต้องให้ไอ้นักข่าวคนนี้ออกไป บรรณาธิการคนนี้ ก็ต้องออก แล้วมันจะดีขึ้นไหม มันไม่ได้แก้ปัญหาง่ายขนาดนั้น
      
       "เสรีภาพให้ก็ให้แล้ว ทุกอย่างไม่เคยห้ามอะไรเลย ไม่มีใครเขาให้แบบนี้หรอก เดี๋ยวผมจะดูอีกระยะหนึ่งนะ สำหรับการทำงานของสื่อ ที่ผมและรัฐบาลทำมาทั้งหมด ก็เพื่อคนไทยทุกคน แต่พอจะมีกลไกอะไรต่างๆ ออกมา ก็ไม่ยอมกัน จะกลับไปยืนที่เก่า สื่อก็คล้อยตามกันไปเรื่อย ยิ่งทำให้สังคมแตกแยก แล้วผมจะได้อะไรขึ้นมากับสิ่งที่ผมทำ ผมไม่ใช่การเมือง ผมไม่ได้ผลประโยชน์ ผมไม่มีธุรกิจ ที่พูดไม่ได้มาทวงบุญคุณอะไร ทั้งหมดผมทำให้คนไทย ถ้าใครมันไม่เข้าใจ มันก็ไม่ใช่คนเท่านั้น สื่อต้องช่วยกัน ต่อจากนี้ผมจะดูทุกสื่อ และถ้าจำเป็นผมก็จะใช้อำนาจของผมทุกคน ไม่ได้ ไม่ให้มาวิจารณ์ วิจารณ์ได้ แต่ต้องเข้าใจเสียหน่อย วันนี้คำสั่ง คสช. มีอยู่แล้วไม่ใช่หรือ หรือลืมกันไปหมดแล้ว ลืมหรืออย่างไร สบายกันเกินไปแล้วมั้ง"
      
       ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า ถ้าสื่อเสนอข่าวลักษณะที่ทำให้แตกแยก จะพิจารณาใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า สื่อใดที่เสนอข่าวสร้างความแตกแยก ก็จะให้ทางสมาคมฯ ดำเนินการสอบมา แล้วถ้าสมาคมฯ ไม่ได้เรื่อง ผมก็จะให้คณะข้างบนเขาสอบต่อ
      
       เมื่อถามว่า จะถึงขั้นปิดสื่อเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่ามาหาเรื่องให้ตนต้องไปรบกับสื่อเลย
      
       เมื่อถามย้ำว่า บทลงโทษคืออะไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทันทีว่า "ประหารชีวิตมั้ง ถามส่งเดชไปได้ ก็อย่าทำกันสิ ระมัดระวังกันหน่อย สื่อต้องมีวิจารณญาณ มีจรรยาบรรณกันหน่อย"
      
       ***ปิดท้ายขอความร่วมมือสื่อช่วยสร้างสรรค์
      
       เมื่อการให้สัมภาษณ์มาถึงจุดดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น ผู้สื่อข่าวพยายามที่จะสร้างบรรยากาศ โดยขอให้นายกรัฐมนตรีรีบเดินทางขึ้นเครื่องบินเพื่อให้ทันตามกำหนดการเยือนบรูไน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังคงติดพัน และกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อ
      
       ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ไม่มีคำถามจะถามแล้ว เกรงจะถูกคำสั่งประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จึงกล่าวว่า "ใช้เครื่องประหารหัวสุนัขเลย เดี๋ยวจะจัดการกับสื่อสักหน่อย รักกันอยู่แล้ว ขอร้องให้ช่วยกันหน่อย ไม่ใช่ให้มาแก้ตัวให้ผม แต่ขอให้ช่วยกันสร้างความรัก ความสามัคคี ไหนๆ เราก็มาถึงจุดนี้แล้ว เอาวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทำวิกฤตให้เป็นวิกฤต"
      
       เมื่อถามว่า ทำไมนายกฯ ไม่มองว่าคำวิจารณ์ต่างๆ เป็นความเห็น และการเสนอแนะ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ก็ไปดูคำวิจารณ์ของพวกสื่อสิ เป็นทางบวกหรือ ถามว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำได้หรือไม่ ก็เข้ามาวันนี้ก็เพื่อสิ่งเหล่านี้ จะถามทำไม สร้างสรรค์ตรงไหนวะ ปัดโธ่"
      
       ** อัด"มติชน"เชียร์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล 
      
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พูดมาถึงจุดนี้ ได้หันไปสั่งให้ ทส. คนสนิทไปหยิบหนังสือพิมพ์ในรถมา โดยกล่าวว่า "เอามากันสักที แล้วช่วยกันตัดสินดูสิว่าไอ้นี่มันเขียนดีหรือไม่ เดี๋ยวฉันจะบอกว่าไม่ต้องไปซื้อ ตกงานกันให้หมด"
      
       ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวได้บอกนายกฯ ว่าไม่มีคำถามแล้ว และถ้าช้าไปกว่านี้ อาจจะทำให้กำหนดการเยือนบรูไน คลาดเคลื่อน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ถ้าฉันไปถึงช้า ฉันจะบอกสมเด็จพระราชาธิบดีว่า เป็นเพราะพวกเธอ วันนี้ไม่ได้โกรธ แต่อารมณ์ไม่ดี"
      
       หลังการให้สัมภาษณ์จบ ทส. คนสนิทได้หยิบหนังสือพิมพ์มติชน และ ASTVผู้จัดการรายวัน มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้หันไปชี้ พร้อมระบุว่า มีหลายฉบับมาก พร้อมหันมาถามกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า "ไหน เครือมติชนอยู่ไหน ไปดู เขียนให้ดี อย่าเขียนให้มันเข้าข้างฝ่ายโน้นให้มากนักนะ ผมจะบอกให้ รัฐบาลที่แล้ว มติชนนะ ขายกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด คุณไปรื้อดู กระทรวงมหาดไทย สั่งให้ซื้อเฉพาะมติชน ทำให้ฉบับอื่นขายกันไม่ออก"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      
       **ว้าก"ฐปณีย์" ตีข่าวแรงงานไทยในอินโดฯ 
      
       นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีแรงงานไทยในอินโดนีเซียถูกหลอกไปเป็นลูกเรือประมง และกลายเป็นคนตกเรือ เนื่องจากถูกปลอมเอกสาร หลักฐาน จนกลายเป็นคนไม่มีตัวตนว่า รัฐบาลดำเนินการมาตลอด ครั้งที่ผ่านมา ก็สามารถช่วยเหลือมาได้ 26 ราย เรื่องนี้ อย่าเพิ่งขยายความกันมาก เพราะบางข่าวเป็นอันตรายกับประเทศ ในเรื่องความมั่นคง และอยากถามว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ทำไมไม่ทำ จะให้ตนทำทุกอย่างเสร็จในเวลาแป๊บเดียว แล้วไล่ตนไป มันได้ที่ไหน รัฐบาลพยายามเจรจาพูดคุยมาโดยตลอด หากสื่อตีข่าวนี้ออกไป รู้หรือไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไร จะเกิดเรื่องการค้ามนุษย์เข้ามาทันที และถ้าเขาไม่ซื้อปลาสองแสนกว่าล้านตัน พวกตีข่าวจะต้องรับผิดชอบ มีอะไรตนรับฟังอยู่แล้ว ขอให้มาพูด และบอกเจ้าหน้าที่ วันนี้รัฐบาลรับฟังปัญหา แต่ต้องมาพูดก่อน ถ้าไปตีข่าวอยู่อย่างนี้ คนไทยทั้งประเทศเสียหาย ฉะนั้นนักข่าวได้ข่าวมาแล้วต้องตรวจสอบ
      
       "ผมบอกจริงๆ ฐปณีย์ (เอียดศรีไชย) มาหาเจ้าหน้าที่เสีย พูดอยู่ข้างนอกมันได้อะไรขึ้นมา ถ้าผมทำ ผมไม่ได้ทำเพราะฐาปณีย์ ผมทำเพราะผมอยากจะทำ รู้หมดว่าใครอยู่ที่ไหน อย่างไร ผมถามว่ามันง่ายหรือไม่ และผิดกฎหมายหรือเปล่า ไม่ยอมรับอะไรซักอย่าง แล้วจะเอาแต่สิทธิ เสรีภาพ จะไปไหนก็ได้ หรือจะไปประเทศนู้น ประเทศนี้ได้โดยที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตหรือเปล่า เรือสี่ห้าลำ ชื่อเดียวกันได้หรือไม่ วันนี้รัฐบาลกำลังขึ้นทะเบียนเรือ และติดจีพีเอสบนเรือ จับปลาที่ไหนมา ต้องแสดงให้เห็นว่าจับมาจากไหน ไม่ใช่นอกน่านน้ำ ต้องไปในพื้นที่ถูกต้อง คนงานต้องมีใบอนุญาต ไม่เช่นนั้นจะถูกหลอกอย่างที่ว่า และผมถามว่า ถูกหลอกสมัยผมหรือเปล่า ซึ่งวันนี้ก็แก้ทุกอัน แล้วมันแก้ได้ไวหรือไม่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
      
       **หวังลดต้นทุนลอตเตอรี่เหลือ 65 บาท
      
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการรองรับหลังจากที่มีนโยบายให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีกลุ่มคนพิการที่มีอาชีพจำหน่ายสลากได้รับผลกระทบว่า อะโธ่ ใครจะไปเลิกโควตาคนพิการ ถามไม่มีความคิดเลย ที่เขามาเรียกร้อง ก็เขาไม่เข้าใจ เพราะพวกเธอ (สื่อ) เขียนกันไปกันมา จนงงไปหมดแล้ว ส่วนแผนที่จะช่วยเหลือก็มีตั้งนานแล้ว ถ้าจะสั่งอะไรก็ต้องมีแผนและนึกถึงคนทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
      
       "วันนี้ลอตเตอรี่ต้นทางมันออกมา สมมติ 65 บาท กว่าจะผ่านไอ้ห้าเสือ ห้าสิงห์ กระทิง แรด ราคาก็ปาเข้าไป 70-80 บาท แล้วก็ต่อกันไปเป็น 90 บาท เป็น100 บาท เป็นปัญหาอย่างนี้ตลอด แล้วยังมีการแบ่งโควตามูลนิธิ โควตาคนพิการ ในส่วนขายจริงก็ขายจริง ส่วนที่ไม่ขายจริง ก็เพราะไม่มีเงิน เวลาที่ขายไม่หมด ก็ไม่รู้จะไปคืนใคร ก็ไปขายคืนไอ้ห้าเสือนั่นแหละ โควตาเหล่านี้กลับไปที่ห้าเสือหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
      
       นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนคนที่เดินขาย พวกนี้ก็จะเหนื่อย ก็กำลังแก้ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไร 1.ต้องหาเงินมาให้เขาขายคืนได้ 2.จะทำอย่างไรให้ขายปลายทางได้ในราคา 80 บาท ก็ต้องไปดูที่ต้นทุนว่าเหลือ 65 บาทได้หรือไม่ และอาจจะต่างกันว่า ต้นทุนในกทม. หรือต่างจังหวัด อาจจะมีค่าเดินทางต่างจังหวัดกำไรใบละ 10 บาทได้หรือไม่ ในกทม.จะเท่าไรไม่รู้ แต่ให้ได้กำไรสัดส่วนเท่าๆ กัน
      
       ส่วนการไปรับสลากนั้น กทม.ให้ไปรับที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำหรับต่างจังหวัดให้ไปรับที่ศาลากลางจังหวัด ไม่ต้องวิ่งมาถึงกทม. ไม่ต้องเสียค่ารถ แล้วก็รับไปขายต่อในราคาที่มันกำไร โอเคไหม พอใจไหม
      
       "ตอนนี้ โควตาของนิติบุคคลของห้าเสือมันจะหมดเดือนก.ค.นี้ ผมจะไม่ต่อโควตาให้ ไปว่ากัน ไปพิจารณากันใหม่ จะนำมาเติมให้คนพิการส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็นำไปขายในร้านสะดวกซื้อ ที่รับจ้างเป็นตัวแทนขายเท่านั้น ขายในราคา 80 บาท ซึ่งใครก็สามารถซื้อได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องมีการควบคุม เพราะไม่ใช่ขนม ยาอม ที่ใครจะมาซื้อได้ แต่คนที่เดินขายก็ไม่ได้ยกเลิกไม่ได้ห้าม"นายกฯ กล่าว
      
       เมื่อถามว่าเขาอยากได้ 15% ไม่ใช่ 7-8% นายกฯ กล่าวว่า "เขากำลังปรับกันกันอยู่ เดี๋ยวก็ตีหัวเลยนี่"
      
       **ส.นักข่าวฯ วอน"บิ๊กตู่"เข้าใจการทำหน้าที่
      
       นายมานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูสื่อ และโฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการทำหน้าที่ของสื่อว่า การทำหน้าที่ของสื่อโดยทั่วไป เป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ขอให้นายกฯ ได้เข้าใจ เพราะนายกฯ และรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐให้เป็นไปโดยโปร่งใส่และมีประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานการรับผิดชอบของผู้บริหารประเทศโดยทั่วไปพึงมี
      
       นายภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยินดีที่นายกรัฐมนตรีจะใช้กระบวนการตรวจสอบกันเองของสื่อ ซึ่งเป็นไปตามคำแถลงของ คสช. ก่อนหน้านี้ ที่เคยระบุว่า คสช. จะสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบกันเองของสื่อ แต่สื่อหลายสำนักไม่ใช่สมาชิก จึงไม่อาจไปแนะนำได้ทุกสื่อ หากหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดเห็นว่าสื่อที่เป็นสมาชิกของสภาฯ ทำเกินกรอบของการทำหน้าที่สื่อทีดี ก็สามารถแจ้งมาได้ตลอดเวลา สภาฯ มีคณะทำงานรับผิดชอบในการควบคุมจริยธรรมของสื่ออยู่แล้ว แม้นายกฯ จะมีข้อข้องใจในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ สภาฯ ก็ขอให้ท่านระบุเป็นประเด็น และเป็นรายไปเลย
      
       "แม้นายกฯ และคสช. จะเข้าใจและสนับสนุนกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อ แต่หวังว่านายกฯ และคสช.จะเข้าใจวิธีการปฏิบัติตามช่องทางเหล่านั้นด้วย การให้สัมภาษณ์ในลักษณะการใช้เชิงอำนาจ ไม่ได้เป็นผลดีต่อนายกฯ และคสช. แต่อย่างใด"นายภัทระกล่าว
      
       ** "บิ๊กป้อม"แจงแก้ปัญหาค้ามนุษย์ 
      
       พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายกฯ เกิดความไม่สบายใจในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอินโดนีเซียว่า แรงงานประมงดังกล่าว เป็นแรงงานเถื่อน ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว และความจริง รัฐบาลก็กำลังพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมีการจัดวางระบบเรือประมงไทยที่จะออกจากท่าทุกลำ จะต้องจดทะเบียน และติดเครื่องติดตามตำแหน่ง (จีพีเอส) ส่วนแรงงานลูกเรือ ก็จะต้องมีการจดทะเบียนให้ถูกต้องเรียบร้อย ถึงจะออกเรือไปได้ และหากออกเรือไปแล้ว เราก็จะจัดมีชุดติดตามออกไปสังเกตการณ์ร่วมด้วย โดยรัฐบาลยืนยันได้จัดระบบการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ทุกประเภทแล้ว 

แนวหน้า:นายกฯกับสื่อ

นายกฯ กับสื่อ

กรณีที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดวิวาทะกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลอยู่หลายครั้ง เปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ชวนคิด

1) น้ำเสียงและท่าทีของพลเอกประยุทธ์ มีลักษณะเสียงดัง ขึงขัง เป็นลักษณะเฉพาะตัว
ความเป็นนายทหาร คุ้นชินกับการพูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ ไม่มีหวานหยดย้อยแบบพระเอกลิเก
เวลาตอบคำถามนักข่าว จึงมักปรากฏบุคลิกแบบนี้ออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความตึงเครียด

2) นายกฯ กับนักข่าว ทุกยุคทุกสมัยจะต้องมีวิวาทะกัน เป็นเรื่องปกติมาก
ถ้าไม่มีการซักถามหรือเถียงกันบ้างเลยสิ จึงจะน่าวิตก
ที่น่าคิด คือ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่นักการเมือง เป็นถึงหัวหน้าคณะรัฐประหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือ แต่กลับปล่อยให้นักข่าวสามารถจะมีวิวาทะกับตนเองได้
นักข่าวแบบมนุษย์ป้าบางคนเสียด้วย (ใช่ว่าจะมีอุดมการณ์โดดเด่นอะไร)
หากมองด้วยใจเป็นธรรม มันสะท้อนหรือไม่ว่า พลเอกประยุทธ์ใจกว้าง ไม่ได้ต้องการใช้อำนาจเผด็จการ

3) ความที่พลเอกประยุทธ์เป็นคนมั่นใจในตัวเอง และเป็นคนทำงานจริง รู้ถึงเนื้องานที่ตนเองทำอยู่ จึงพยายามจะให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนครบถ้วนที่สุด ลงแรงอธิบายประกอบเรื่องต่างๆ ถึงความจำเป็น ที่มาที่ไป บริบทและภาพรวมของประเด็นที่กล่าวถึง เป็นเหตุให้เปิดช่อง มีประเด็นที่นักข่าวอาจหยิบยกขึ้นมาซักถาม ต่อความยาวสาวความยืด หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้มากขึ้น
พลเอกประยุทธ์อาจคิดว่า อธิบายเสียด้วยเลย จะได้ไม่มีการเข้าใจผิด ไม่ต้องมโนอะไรอีก แต่ลืมคิดไปว่าการอธิบายเยอะๆ ก็จะเปิดโอกาสให้คนหยิบเอาประเด็นย่อยในเรื่องที่พูดขึ้นมาแตกประเด็นใหม่ ซักถาม และเล่นงานต่อไปอีกมาก ยิ่งถ้าพูดหลายๆ เรื่องก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดวิวาทะสูง นั่นคือข้อเสีย
แต่ข้อดี คือ สังคมได้ข้อมูลและคำอธิบายจากนายกฯ ชัดเจนขึ้น ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ เป็นอีกเรื่อง

4) อาจารย์ทรงยศ แววหงส์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Songyote Waeohongsa อย่างน่าคิด
“1.การอ่านรายงานข่าวของสื่อ(นสพ.) ได้ภาพว่าคุณประยุทธ์พูดมากไปแล้วและใช้อารมณ์ แต่เมื่อฟัง/และดูจากคลิป กลับได้ความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์กับสื่อ ยังมีบรรยากาศของมิตรภาพ(พอควร)
2. การที่คุณประยุทธ์พยายามตอบทุกเรื่อง อาจจะแสดงให้เห็นความจริงใจ แสดงให้เห็นความใส่ใจในการติดตามปัญหา และมีความรู้จริงๆว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล แต่การตอบประเด็นหยุมหยิมทุกเรื่องอาจได้ไม่คุ้มเสีย เรื่องเล็กๆให้ทีมโฆษกเขาทำหน้าที่ของเขาดีกว่า คุณประยุทธ์น่าจะช่วงชิงโอกาสในการควบคุมทิศทางของประเด็นและมุ่งไปสู่ประเด็นที่สำคัญๆจะดีกว่า
ลองกลับไปดูเปรียบเทียบกับการให้สัมภาษณ์ข่าวของอดีตนายกฯเปรมที่ให้สัมภาษณ์เท่าที่จำเป็น หรือตัวอย่างที่เป็นอีกโต่งหนึ่งก็คือการให้สัมภาษณ์ของคุณยิ่งลักษณ์ ที่สามารถพูดได้ทุกวันแต่ไม่เคยมีรายละเอียดของประเด็นที่เป็นสาระเลย ผลลัพธ์ก็คือผู้สื่อข่าวก็ตามสัมภาษณ์เรื่องไปเรื่อยๆ ยิ่งตอบก็ยิ่งเห็นว่าเธอไม่มีความรู้ใดๆสมกับเป็นนายกฯเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ คุณประยุทธ์มีภาษีเหนือกว่ามาก แต่เมื่อเทียบกับคุณเปรม คุณประยุทธ์ดูขาดความน่าเกรงขาม แต่หากว่านี่เป็นยุทธวิธีเพื่อสร้างความเป็นมิตรกับสื่อ ก็ได้แต่หวังว่าท่านจะลดเรื่องที่หยุมหยิมลง เลือกเอาเฉพาะเท่าที่จำเป็นก็น่าจะพอ
3.ในวงการสื่อนั้นมี"เจ้าแม่" และก็มีพวก"ลูกเจ้าแม่"อยู่ไม่น้อย”

5) ในความเป็นจริง ถ้าลองไปดูแบบวิธีการบริหารจัดการสื่อของนักการเมืองที่สมาทานการเลือกตั้งนั้น จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับนักการเมืองที่สะท้อนภาพว่าดูดี สวยสดงดงาม แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกลับเน่าเฟะ สะท้อนภาพเผด็จการทุนสามานย์ ต่ำช้ากว่ามากเท่ามาก
ถ้ายังไม่ลืม ในช่วงก่อนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปรากฏพฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้าไปแทรกซื้อสื่อใหญ่บางสำนัก เพื่อให้นำเสนอข่าวสารเอนเอียงเข้าข้าง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตรวจสอบกรณี “อีเมล์ฉาว”  รายงานผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฯ มีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ
“ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมี "การบริหารจัดการสื่อมวลชน" ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบว่า ในการดำเนินการดังกล่าวได้มีการให้อามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการลงโฆษณาหรือไม่”
ยิ่งกว่านั้น รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังสรุปไว้ชัดเจนว่า “หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้ง โดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ การนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย”
ไม่ต้องพูดถึงช่วงที่เป็นรัฐบาล งบโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ แม้แต่งบประชาสัมพันธ์และจัดอีเว้นท์โครงการรถไฟความเร็วสูง ก็ประเคนให้สื่อบางสำนักอย่างเต็มคราบ เชลียร์รัฐบาลออกนอกหน้า

6) สุดท้าย ความสัมพันธ์ที่ไม่หวานชื่นระหว่างนายกฯ กับสื่อในยุคนี้ จึงไม่สามารถสรุปเอาดื้อๆ มึนๆ ว่าเป็นเพราะสื่อมีอุดมคติ ส่วนนายกฯ เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นเผด็จการทหาร!!!
หากใครขืนด่วนสรุปแบบนั้น ถ้าไม่ช่างมโนไปเรื่อย ก็คงเป็นขี้ข้านักการเมืองเต็มขั้น!
สารส้ม

ในหลวงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายทหาร 350 นาย


ในหลวงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายทหาร 350 นาย "พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา" ผบ.พล.ร.2 รอ. ขยับนั่งรองแม่ทัพภาค 1

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 67ง. วันที่ 26 มีนาคม 2556 ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 350 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ อาทิ พล.ต.ชมพล อามระดิษ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็น หัวหน้าสํานักงานรัฐมนตรี, พล.ร.อ.ธนะรัตน์ อุบล เสนาธิการทหารเรือ เป็น รองเสนาธิการทหาร, พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, พล.ท.กิตติ อินทสร แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, พล.ต.ไพโรจน์ ทองมาเอง รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, พล.ต.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 2, พล.ต.ศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็น ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์, พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง รองเสนาธิการทหาร เป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เป็น เสนาธิการทหารเรือ เป็นต้น
//////
โผทหาร ออกแล้ว 350 นายพล ..,,ตามคาด ขยับ5เสือทร. ส่ง พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง กลับมาเป็น ผช.ผบทร. ชิง ผบทร. กย.นี้ กับ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผช.ผบทร. ขยับเป็น เสธ.ทร. ส่วน พล.ร..อ.ธนะรัชต์ อุบล เสธทร.ไปเป็น รองเสธ.ทหาร

พิศดู ม.44

(26/3/58)นายกบอกไม่แน่ใจครม.จะถกใช้ม.44ยันจะทำดีสุดเพื่อทุกฝ่ายสบายใจ
////////////////////////

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค.57ที่ผ่านมา ถือว่าโรดแม็ปจัดระเบียบประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าสู่ระยะที่ 2 อย่างเต็มตัว กลไกการบริหารประเทศจะเดินหน้าได้ทุกองคาพยพ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้น 48 มาตรา โครงสร้างหลักในฝ่ายบริหารยังคงสภาพ คสช.อยู่ควบคู่กับคณะรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

สนช.มีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 220 คน สปช.มีไม่เกิน 250 คน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวน 36 คน เป็นสูตรสำเร็จอยู่แล้วที่คณะรัฐประหารต้องสรรหาคนของตัวเองเข้ามาอยู่ในส่วนนี้ ทหารกับข้าราชการจะมากันพรึ่บ ตรงนี้ไม่ว่ากัน แต่ถึงจะเด็กเส้นก็ขอให้เป็นเด็กเส้นเกรดเอได้มั้ยครับ ช่วยหยิบเอาที่มีความรู้ความสามารถมากที่สุดแล้วกัน

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถึงนาทีนี้ถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัยจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. คงควบตำแหน่งนายกฯด้วย รับผิดชอบเต็มๆคนเดียวก็ดีอย่าง ทำดีหรือทำเสียจะได้ไม่ต้องไปโทษคนอื่น

ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรม รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ในมาตรา 48 ให้ คสช.พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงจากการกระทำทั้งหลายในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นอีกหนึ่งสูตรสำเร็จที่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร

สำรวจดูแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้แทบไม่มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้น ยกเว้นเพียง มาตรา 44 ที่ซ่อนคมไว้อย่างมีนัยสำคัญ

มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด...”

ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจการปกครอง ได้ออกประกาศและคำสั่งกว่าสองร้อยฉบับ แต่ไม่เคยมีฉบับใดที่ระบุให้เป็นที่สุด และไม่เคยก้าวล่วงไปถึงฝ่ายตุลาการ อีกทั้งกฎหมายเกือบทุกฉบับยังมีสภาพบังคับใช้ มีแค่รัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายบางฉบับเท่านั้นที่ถูกฉีกทิ้ง จึงมีบางกรณีที่ประชาชนและผู้เสียหายสามารถยื่นฟ้องได้

เช่นกรณีที่มีการยื่นเรื่องให้ สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ คสช. หรือกรณีการย้ายข้าราชการโดยไม่คำนึงถึงหลักคุณธรรมซึ่งผมเคยเขียนสะกิดเตือนไปแล้ว หากมีการฟ้องร้องดำเนินคดี องค์กรชี้ขาดย่อมต้องวินิจฉัยตามกฎหมายที่มีอยู่

แต่เมื่อมีมาตรา 44 ไม่เพียงเป็นเกราะชั้นดีช่วยปิดจุดอ่อนป้องกัน คสช. ไม่ให้ถูกฟ้อง ทั้งยังยกอำนาจ คสช. อยู่เหนือตุลาการ ถ้าถอดรหัสไม่ผิด นี่คือการเปิดช่องทางไปสู่การจัดระเบียบกระบวนการยุติธรรม.

อภิสิทธิ์ เคยตั้งคำถามการใช้ ม.44

(23 ก.ค. 57)นาย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยเฉพาะในมาตรา 44 ที่ให้อำนาจพิเศษกับหัวหน้า คสช. 
มีใจความดังนี้

สู่ระยะที่ ๒ ของคสช. : รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา ๔๔
เดิมตั้งใจจะเขียนถึงประเด็นการปฏิรูปด้านต่างๆ แต่เมื่อวานนี้ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมได้อ่านรัฐธรรมนูญแล้วและไม่มีประเด็นอะไรที่เกี่ยวกับโครงสร้างของสภานิติบัญญัติ สภาปฏิรูป และคณะรัฐมนตรี ที่อยู่เหนือความคาดหมายนัก ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ต้องยอมรับว่ามาตรา ๓๕ ได้บัญญัติประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่จะแก้ปัญหาระบบการเมืองไว้ ค่อนข้างจะตรงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น การที่นักการเมืองถูกครอบงำ หรือปัญหาของการที่หลักนิติธรรมนิติรัฐถูกทำลายในอดีต
แต่มีบทบัญญัติมาตราหนึ่งที่อาจถูกมองว่าผิดปกติ คือ มาตรา ๔๔ อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคสช. และคสช. ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ โดยเป็นการเขียนในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า การตราธรรมนูญการปกครองก็ดี หรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ดี โดยปกติเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เช่น
• เมื่อปี ๒๕๔๙ ประธาน คมช. อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช. กับครม. ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ
• ในปี ๒๕๓๔ ประธาน รสช. โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้
แม้แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งสังคมไทยจะกล่าวถึงเสมอ คือมาตรา ๑๗ ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุด ก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการสั่งการหรือกระทำการเพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้ คือ ในมาตรา ๔๔ อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของคสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา ๔๔ ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่าการใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึง ความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา ๔๔ นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมดจึงอาจถูกมองได้ว่าไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา ๓
ผมเชื่อว่าสังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปก็มีที่มาจากคสช. อยู่แล้วและการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก ผมจึงหวังว่าหัวหน้า คสช. จะช่วยอธิบาย ถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา ๔๔ นี้ ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ยึดเครื่องส่ง“สปอร์ตเรดิโอ”บนชั้น 84 ตึกใบหยก 2 ส่งสัญญาณไม่ได้รับอนุญาต

ตำรวจ สน.พญาไท พร้อมทหารบุกยึดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ “สปอร์ตเรดิโอ” เอฟเอ็ม 96.0 คาห้องเช่าบนชั้น 84 ตึกใบหยก 2 หลัง กสทช.แจ้งความร้องทุกข์ เปิดส่งสัญญาณโดยไม่ได้รับอนุญาตและส่งคลื่นรบกวน
       
       เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (26 มี.ค.58) พ.ต.อ.พลพิพัฒน์ สมบูรณ์สุข รอง ผบก.คด (กองคดีอาญา) พร้อมด้วย พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ พงส.ผทค.สน.พญาไท พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ กสทช. เดินทางเข้าตรวจสอบสำนักงานให้เช่าแห่งหนึ่ง บนชั้น 84 อาคารใบหยกทาวเวอร์ 2 ถนนราชปรารภ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม.หลังสืบทราบว่าห้องเช่าดังกล่าวลักลอบส่งสัญญาณวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต
       
       ที่เกิดเหตุเป็นห้องไม่มีเลขที่ ลักษณะคล้ายห้องเก็บของ ประตูด้านหน้าถูกล็อก เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้คีมตัดกุญแจเพื่อเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งไม่พบผู้ดูแลห้องแต่อย่างใด พบเพียงเครื่องส่งสัญญาณ 1 เครื่อง เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดไว้เป็นหลักฐาน
       
       พ.ต.อ.วิชัย กล่าวว่า การเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทาง กสทช.ได้ร้องทุกข์ว่า อาคารดังกล่าวเปิดเป็นห้องส่งสัญญาณวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาตและส่งคลื่นสัญญาณรบกวน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าไปทำการตรวจสอบ โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก เมื่อไปถึงก็พบว่าห้องดังกล่าวถูกล็อกไว้โดยไม่มีผู้ดูแล แต่เครื่องปรับอากาศและเครื่องส่งสัญญาณภายในห้องยังคงทำงานอยู่
       
       จากการตรวจสอบยังพบว่า ห้องดังกล่าวถูกใช้เป็นห้องส่งสัญญานของสถานีวิทยุ สปอร์ตเรดิโอ FM96.00 คลื่นความถี่ 106.75 เมกะเฮิตซ์ ซึ่งหลังจากนี้อยู่ระหว่างการประสานทางอาคารใบหยกเพื่อขอข้อมูลสัญญาเช่าว่าใครเป็นเจ้าของห้องดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการเรียกเจ้าของมาทำการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา
       
       ด้าน พ.ต.อ.พลพิวัฒน์ กล่าวว่า ทาง กสทช.ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าพบสถานีวิทยุลักษณะดังกล่าวที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาตทั่วประเทศ มีจำนวน 1,396 แห่ง โดยสถานีวิทยุสปอร์ตเรดิโอ จัดเป็น 1 ใน 5 สถานี ที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องรีบดำเนินการเร่งด่วน ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งดำเนินการกวดขันและจับกุม
       
       เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ทำการยึดเครื่องส่งสัญญาณและอายัดเสาส่งสัญญาณ ก่อนที่จะประสานให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ดำเนินการแจ้งข้อหา "เปิดสถานีวิทยุกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องมือสื่อสาร" ต่อไป 

“ธีรยุทธ บุญมี” วิพากษ์อำนาจพิเศษ คสช. ย้ำปฏิรูปไม่ง่าย ใครเจอแบบทหารก็ท้อ

“ธีรยุทธ บุญมี” เขียนวิพากษ์ “การใช้อำนาจพิเศษของ คสช.” หัวข้อ “ปฏิรูปการเมืองไทย มองจากประสบการณ์ชีวิต” ย้ำไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ ยันเป็นพวกโรแมนติก มีความหวังกับโลก เชื่อเราน่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยเราได้ เสนอประเด็นปฏิรูป “พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคน-ค่านิยมหรือความเชื่อ-โครงสร้างของสังคม” ยกตัวอย่างสังคมที่โครงสร้างอำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันจะให้ชาวบ้านที่ไร้อำนาจมีความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตัวเองเสมอภาคเท่าเทียมกับคนรวยหรือเจ้าใหญ่นายโตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ เชื่อปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่ทหาร แม้แต่เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหาร เมื่อเจอสภาพความจริงแล้วก็จะเกิดความท้อถอยเป็นส่วนใหญ่
       
       วันนี้ (26 มี.ค.58) มีรายงานว่า เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่บทความในเซกชัน เวทีทัศน์การเมืองของนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และผู้อำนายการสถาบัญสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะผู้บริหารในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับ “การใช้อำนาจพิเศษ” ในหัวข้อ “ธีรยุทธ บุญมี : ปฏิรูปการเมืองไทย มองจากประสบการณ์ชีวิต”
       
       http://www.isranews.org/isranews-article/item/37489-isranews26035812.html
       
       โดยมีใจความว่า “ถ้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง”
       
       นายธีรยุทธเริ่มต้นด้วยการเขียนว่า “1. คสช.มองปัญหาประเทศไทยอย่างไร คสช.เก่งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหาร คือ เลือกวางตัวตามแนวกฎหมายว่าโดยการไว้วางใจในการปกป้องคุ้มครอง (fiduciary หรือ trusteeship) คือ การต้องปกป้องคุ้มครองตามสถานะ หน้าที่ และประเพณี ตามแบบที่สหประชาชาติใช้เป็นเหตุผลเวลาเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งภายในบางประเทศไม่ให้เกิดเป็นสงครามการเมือง การปะทะนองเลือดยืดเยื้อ
       
       ในแง่นี้ถือว่า คสช.ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มั่นใจว่า คสช.วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น มองปัญหาว่าภารกิจใหญ่จริงๆ ของคนไทยทั้งประเทศ และเส้นทางจริงๆ ที่ประเทศควรก้าวเดินเป็นอย่างไร ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่
       
       ที่ผ่านมากระบวนทัศน์ความคิดของ คสช.ดูจะต่างไปจากนักวิชาการการเมือง ปัญญาชนอย่างมาก ผมจึงไม่แน่ใจว่าเมื่อให้ road map ดำเนินไปสิ้นสุด คสช. หมดภารกิจ แต่ปัญหาวิกฤติประเทศไทยจะคลี่คลายตัวไปหรือไม่
       
       การถือเอาการสร้างความปรองดองเป็นภารกิจหลักซึ่งถูกต้อง จำเป็น มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร เพราะทำให้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับการปฏิรูปการเมืองแม้จะมีคนกลุ่มสำคัญๆ หลากหลายเรียกร้อง แต่ก็ไม่ถูกมองเป็นภารกิจหลักของ คสช.”
       
       นายธีรยุทธระบุว่า นักวิชาการและผู้ห่วงใยการเมืองไทยอีกจำนวนมากจึงมองว่า นั่นเป็นการมองการเมืองในกรอบรัฐ-ชาตินิยมของทหาร คือ เอาความเข้มแข็ง ความสามัคคีของคนในชาติเป็นศูนย์กลาง ทว่าในศาสตร์ทางการเมืองหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ (juste-milieu หรือ politics of the middle way) การสนทนาต่อรอง (dialogue and negotiation) เพื่อเกิดความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การประนีประนอมจอมปลอมระหว่างถูก-ผิด หรือความชั่ว-ดี
       
       ความสามัคคีปรองดองเป็นภาวะปกติของคนในสังคมเดียวกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเป็นปัญหาในระดับร้ายแรงแล้วก็สะท้อนว่า ระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ ในประเทศผิดพลาดอย่างแรง จนเป็นต้นตอให้เกิดภาวะวิกฤตต่อเนื่องยาวนานมากอย่างไม่มีคนคาดคิดมาก่อน สาเหตุหลักไม่ได้มาจากการไม่รักสามัคคีกัน แต่เกิดจากคนจำนวนมากมองการใช้อำนาจไม่ชอบและการคอร์รัปชันของนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ เป็นปัจจัยทำลายทำร้ายประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการก้าวต่อไปของประเทศไทย
       
       “2. ทบทวนภาพโดยกว้างประเทศไทย ประวัติศาสตร์โลกแนวใหม่บอกว่า ทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมาประมาณ 500 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตย การปฏิวัติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอังกฤษ ฝรั่งเศส ทุกประเทศทั่วโลกก็ต้องปฏิวัติหรือปฏิรูปตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราแบ่งประเทศที่ต้องพัฒนาตัวให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ปรากฏเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา คือประเทศในยุโรปและอเมริกา กลุ่มสอง ปรากฏราว 150-100 ปีที่ผ่านมา คือ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ไทย และกลุ่มสุดท้าย คือประเทศอาณานิคมทั่วโลก ปฏิรูปเมื่อราว 50 ปี ที่ผ่านมา
       
       การปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่ ให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือทุนนิยม และเป็น “ประชาธิปไตย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งโลกกดดันซึ่งกันและกัน
       
       สำหรับประเทศไทยมีการปฏิรูปที่สัมฤทธิผลเพียง 2 ครั้ง และก็เป็นเพียงการปฏิรูปเฉพาะด้าน ครั้งแรกคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปฏิรูปแนวทางการปกครองและวิถีชีวิตทางมารยาทประเพณีของคนไทย (เช่น เลิกทาส ไม่หมอบคลาน แต่งตัวสมัยใหม่)
       
       ที่สำเร็จครั้งที่ 2 คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉุดไทยจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศกึ่งเกษตรกรรม กึ่งอุตสาหกรรม กึ่งบริการในปัจจุบัน ประเทศที่ประสบความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัย เช่น (1) การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และกลุ่มทุน ประนีประนอมให้เกิดระบบรัฐสภาขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป (2) บางประเทศต้องผ่านเจตนารมณ์ (political will) ที่มุ่งมั่น เช่น ฝรั่งเศสต้องผ่านการปฏิวัติ สหรัฐอเมริกาต้องผ่านสงครามอิสรภาพ ญี่ปุ่นอาศัยอดีตซามูไร สิงคโปร์อาศัยลีกวนยู เป็นต้น
       
       (3) ต้องการกรอบความคิดการพัฒนาที่ถูกกาละ ถูกยุคสมัย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี (4) ผู้นำการปฏิรูปต้องมีอำนาจบารมีที่จะนำพาความคิดการปฏิรูปไปปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีรัชกาลที่ 5 และ จอมพลสฤษดิ์ ทั้งยังใช้คนได้ถูกต้อง เช่น จอมพลสฤษดิ์ใช้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ พจน์ สารสิน ถนัด คอมันตร์ เกษม จาติกวณิช”
       
       นายธีรยุทธเขียนด้วยว่า การที่ประเทศปฏิรูปทีละด้าน คนละช่วงเวลา ไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยแท้จริงเหมือนประเทศตะวันตก ทำให้โครงสร้างอำนาจของประเทศไทยไม่เคยมีภาวะสมดุล การตรวจสอบถ่วงดุลทางอำนาจจึงเป็นเพียงทฤษฎีไม่เป็นผลจริงจัง ทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสูญเสียอำนาจกับฝ่ายได้อำนาจ เช่น การปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์ อำนาจตกอยู่กับเจ้านายจนเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น
       
       ต่อมาในปี 2475 กลุ่มเจ้านายสูญเสียอำนาจ กลุ่มข้าราชการทหาร พลเรือน ได้อำนาจและผลประโยชน์ จนสถาปนาเผด็จการทหารขึ้นได้ ต่อมาการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยสฤษดิ์และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดกลุ่มได้อำนาจ ผลประโยชน์ และการควบคุมทรัพยากรกลุ่มใหม่เกิดขึ้น คือ กลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุน โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน โลกเสรีทางการเงิน ทำให้เกิดวิสาหกิจของรัฐและเศรษฐกิจภาคสาธารณะ เช่น การติดต่อสื่อสาร การบริการต่างๆ มากมาย นักการเมืองและกลุ่มทุนก็ยิ่งมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
       
       สภาพโดยรวมที่เรากำลังเห็นคือ การแบ่งคนไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือพวก super haves คือพวกอภิทุน อภิเศรษฐี อภิรวย กับพวก have nots คือพวกชาวบ้านที่เป็นพวกอภิจนหรือจนซ้ำซาก
       
       ส่วนข้าราชการเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการเลื่อนสถานะจาก “เจ้านายคน” ในอดีต มาเป็น “ลูกจ้างของรัฐ” หรือ “ผู้รับใช้” นายทุนและนักการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายของคอร์รัปชั่นจะเกิดมากขึ้น เพราะข้าราชการผู้น้อยรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับชนชั้นที่ร่ำรวยกว่ากลายเป็นชนชั้นคนจนได้
       
       เราอาจมองเห็นภาพปัญหาของประเทศชัดเจนขึ้น ถ้าเลือกมองดัชนีชี้วัดความเสื่อมว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร เช่น การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ระบาดเข้าไปในสถาบันระดับอุดมศึกษา สหกรณ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง และโยงใยไปถึงองค์กรระดับสูงของสถาบันศาสนา หรือดูปัญหาในด้านการศึกษา ในช่วง พ.ศ. 2500 มีเฉพาะเรียนกวดวิชาเข้าเตรียมทหาร (ซึ่งเป็นวิชาชีพพิเศษ) แต่ในปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชา การเก็งข้อสอบ ขายชีต ผูกขาดตำรา ในเกือบทุกสถาบันการศึกษา ในทุกสาขาวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาโทไปจนถึง ป.1 และเข้าอนุบาล
       
       “ที่น่าห่อเหี่ยวกว่านั้น คือ การรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ การเขียน paper (โดยอาจารย์ก็มี) ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ลงไปจนถึงขั้นมัธยมปลาย มัธยมต้น จนปัจจุบันไปถึงชั้นประถมศึกษา
       
       ที่น่าหดหู่กว่านั้น คือ การคัดลอกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีและโท เพื่อหลอกลวงหรือสมคบกับครูอาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา
       
       หรือถ้าจะดูภาพความซับซ้อนของการพัฒนาบางด้าน เช่น การขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ก็ลองนึกถึงภาพรถ BRT ซึ่งจัดช่องทางพิเศษให้วิ่งอย่างหรูหรา รถปรับอากาศอย่างดีหลากยี่ห้อ ถึงรถธรรมดา (รถร้อนที่เก่าแก่บุโรทั่ง) รถโดยสารฟรี รถร่วมบริการ รถเมล์เล็กหลากบริษัท หลากคุณภาพการบริการ หลากระเบียบวินัยในการขับขี่
       
       ไปจนถึงรถตุ๊กตุ๊กซึ่งยอมรับผู้โดยสารเฉพาะ “ชาวต่างชาติ” รถกะป๊อ รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ตามถนนหรือในซอย รวมถึงการคอร์รัปชันที่มีอยู่ทุกขั้นตอนของระบบ เช่น การขอใบอนุญาตการต่อทะเบียนรถ การฉีกตั๋ว ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายจัดซื้ออะไหล่ ฝ่ายซ่อม ฝ่ายจำหน่ายเศษซากรถ
       
       ยิ่งถ้านับรวมส่วนที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การซ่อมถนน ทางเท้า ท่อน้ำ สายโทรศัพท์ รถซาเล้ง รถเข็น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย วณิพก ขอทาน คนไร้บ้าน ที่แย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก
       
       3. ความเห็นต่างในเรื่องการปฏิรูปประเทศ แม้จะมีตัวอย่างความเสื่อมทรามที่พัฒนาขึ้นมากมาย แต่ก็ยังจะมีความต่างในการมองการปฏิรูปการเมืองไทยเป็น 2 ส่วน คือ
       
       (1. ประเทศไทยอยู่กันอย่างนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว จะไม่มีวันเสื่อมทรุดจนเจอปัญหาที่คลี่คลายไม่ได้ ปัญหาหมักหมมร้ายแรงต่างๆ ที่ผู้ต้องการปฏิรูปการเมืองไทยนั้น เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกยกมาต่อเติมเสริมแต่งจนเกิดเป็นกระแสทำให้เกิดการชุมนุม วุ่นวาย ความไม่รู้รักสามัคคีขึ้น?
       
       แนวคิดเช่นนี้ศัพท์วิชาการเรียกว่า แนวคิด Romantic คือ การหวัง คาดฝันไปเองว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเชื่อว่าทำได้ขอให้ลองนำเสนอแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมออกมา?
       
       (2. ปัญหาในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่เกินไป มากเกินไป ซับซ้อนเกินกว่าจะหาวิธีแก้ไขได้ คงต้องใช้วิธีเช่นที่ผ่านมา คือทดลองแก้ไขกันไปเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันไป หรือถือคติว่าถ้านักการเมืองคอร์รัปชั่นแล้วมีผลงานก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็คำนับกราบไหว้นักการเมือง ข้าราชการที่โกงกิน ให้เป็นประธานงานบวช งานแต่ง งานศพ อยู่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว”
       
       นายธีรยุทธเขียนต่อว่า ตนเองอาจเป็นพวกโรแมนติก ยังมีความหวังกับโลก จึงเชื่อมาโดยตลอดว่าเราน่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยเราได้ โดยเขียนบทความไว้หลายชิ้น ตั้งแต่ปี 2540
       
       ประเด็นสำคัญที่เสนอไว้ คือ พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนจะสอดคล้องกับค่านิยมหรือความเชื่อของเขา และถัดมา ค่านิยม ความเชื่อของเขาก็จะต้องสอดคล้องกับโครงสร้างของสังคม เช่น สังคมที่โครงสร้างอำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จะให้ชาวบ้านที่ไร้อำนาจมีความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตัวเองเสมอภาคเท่าเทียมกับคนรวยหรือเจ้าใหญ่นายโต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
       
       การสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยจริงๆ จึงต้องปฏิรูปทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่ทหารซึ่งวิชาชีพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แม้แต่เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหาร เมื่อเจอสภาพความจริงแล้วก็จะเกิดความท้อถอยเป็นส่วนใหญ่
       
       “4. ข้อคิดในการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง (1. ผมคิดว่าการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปได้ แต่ก็คล้ายกับการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนา ซึ่งไม่ใช่การใช้เงินทุน แรงกาย แรงใจลงไปในทุกๆ เรื่อง แต่ต้องเลือกลงทุนอุตสาหกรรมบางด้านที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จนเศรษฐกิจดี Take off ได้ การปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อนเท่านั้น
       
       (2. ประเทศไทยใช้ความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2540 และ 2550 แต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดผลดีบางอย่าง เกิดผลเสียบางอย่าง ความพยายามในครั้งที่ 3 นี้ก็คงอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน
       
       การจะสร้างประชาธิปไตยที่พอใช้ได้ในเมืองไทย ต้องอยู่ที่การเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรมการเมืองคนไทย จากอุปถัมภ์มาเป็นแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะเกิดได้ทางเดียวคือให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิบัติในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ รักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยตนเอง
       
       กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเสริมการมีอำนาจเข้าถึงข่าวสารอย่างง่าย มีโอกาส พื้นที่ อำนาจในการตรวจสอบ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นหรือบทบาทกองทัพเองต้องแข็งแรงพอจะประคับประคอง ดูแลความปลอดภัย ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       
       (3. ช่วงปัจจุบันเริ่มมีความไม่นิ่งทางอารมณ์ ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล ความคิด แนวทางแก้ปัญหา ทั้งในคณะทำงานของรัฐเอง และในหมู่สื่อมวลชน ประชาชนบางส่วน ทั้งนี้เพราะพันธกิจชอบธรรม (mandate) ที่กองทัพได้รับคือการคลี่คลายความสงบภายใน แต่ไม่ได้เป็นอัตโนมัติว่ากองทัพจะต้องทำหน้าที่รัฐบาลด้วย การเป็นรัฐบาลเป็นภารกิจที่คณะนายทหารรับเข้ามาเอง ถ้าทำได้ดีก็เป็นโบนัสที่คนชื่นชม แต่ถ้าล้มเหลวก็เป็นเงื่อนไขที่จะถูกวิจารณ์โจมตีได้ง่าย
       
       (4. ในสังคมประชาธิปไตยการที่จะนิยามประเทศว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษจนต้องใช้กลไกพิเศษ อำนาจพิเศษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องลงทุนลงแรงมข้อเท็จจริงประจักษ์ชัด คนจึงจะยอมรับ (เช่นกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ กรณี 9/11 ที่มีคนตายหลายพันคน จน Bush, Blair และอีกหลายประเทศนำภารกิจพิเศษและมาตรการพิเศษมาใช้)
       
       ถ้าสังเกตจะพบว่าเมื่อเริ่มต้นที่ คสช.เข้ามารักษาความสงบ มีการจัดการอำนาจมาเฟียนอกระบบ การคอร์รัปชั่นของนักการเมือง และจัดระเบียบธุรกิจสีเทาต่างๆ มีเสียงชื่นชมและกดเสียงวิจารณ์ลงไปโดยอัตโนมัติ
       
       ถ้า คสช.ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง
       
       นายกฯ ได้กำหนดชัดเจนถึงช่วงเวลาเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และถ้าตอกย้ำไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใด ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง
       
       นายกฯ ควรเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนต้องเป็นผู้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมือง ข้าราชการ ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะไม่มีทางที่ทหารจะแสดงบทบาทในสถานการณ์พิเศษได้บ่อยครั้ง
       
       ถ้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นายกฯ ทุ่มเทแรงกายแรงใจออกไปพบประชาชนทุกภาค สนับสนุนเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนออกมาตรวจสอบควบคุมดูแลระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ร้านค้าซูเปอร์สโตร์ การก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นของตน เพื่อเป็นการฝึกฝนวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาล”
       
       นายธีรยุทธสรุปตอนท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” ไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ

"พล.อ.ประวิตร" เผยเหตุ เพราะUN เลยจะหากฎหมาย ใช้แทน กฏอัยการศึก


"พล.อ.ประวิตร" เผยเหตุ เพราะUN เลยจะหากฎหมาย ใช้แทน กฏอัยการศึก เผยกำลังร่างกฎหมาย หรือหาจากที่มีอยู่เดิม เห็นใจ จนท.บ้านเมืองอยู่ในขั้นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ...ปริ๊ดนักข่าวถาม รัฐจัดฉากเอง ทำเอง สร้างสถานการณ์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ คสช.อาจใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แทนกฎอัยการศึก ว่า การจะใช้มาตรา 44 แทนกฎอัยการศึกสามารถใช้ได้
พร้อมย้อนถามสื่อว่า “คุณจะรับผิดชอบหรือไม่” ใช้ได้หมด มาตรา 44 ใช้ได้ทุกเรื่องแล้วมันเหมาะสมหรือไม่
เมื่อถามว่าระหว่างกฎอัยการศึก กับมาตรา 44 จะใช้อันไหนดีกว่ากัน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตอนนี้มาตรา 44 ยังไม่ได้ใช้เลยแล้วจะรู้หรือไม่ว่าอันไหนดีกว่ากัน
"วันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรา 44 เลย จะใช้กับคุณนี้เหละ"
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้กฎอัยการศึกยังเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดกว่ากฎหมายอื่นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กฎอัยการศึกที่เราใช้อยู่ เพียงแค่ 2 ข้อเท่านั้นเราไม่ได้ใช้มากเลยก็เห็นอยู่แล้ว คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องจะเดือดร้อนหรือไม่ ไม่เดือดร้อน
" เดือนร้อนเฉพาะคนที่จะทำผิดเท่านั้น ฉะนั้นคนที่ไม่ทำผิดก็ไม่เดือดร้อน สมมุติว่า ถ้าเราจะไปจับใครก็ต้องขอหมายศาลกว่าจะเรียบร้อยคนที่ทำผิดหนีไปไหนแล้วไม่รู้ แต่ถ้ามีกฎอัยการศึกเราก็สามารถดำเนินการได้ทันที สามารถจับกุมได้"
ส่วนการพูดคุยกับนักธุรกิจในวันนี้ ได้มีการขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่มี ไม่มีเลย นักธุรกิจวันนี้ ไม่มีใครขอร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเลย
เมื่อถามว่าการประชุม ครม.นอกสถานที่ในวันพรุ่งนี้ จะมีการหารือทบทวนเรื่องการใช้กฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โอ้ย ไม่คุยหรอกจะคุยทำไม มีเรื่องอื่นคุยตั้งเยอะ กฎอัยการศึกมันเกิดขึ้นกี่เดือนแล้วตั้งแต่ 22 พ.ค.โน้น ยังหรอก
"การที่เราอยากเปลี่ยนมาใช้กฎหมายอื่น เพราะทางสหประชาชาติ บอกว่าให้ลองไปคิดดู ทำได้หรือไม่ แต่เขาก็เห็นใจว่าบ้านเมืองเราอยู่ในขั้นวิกฤติต้องแก้ไขปัญหา และต้องใช้กฎหมายพิเศษ” พลเอก ประวิตร เผย
ผู้สื่อข่าวถามว่าฝ่ายกฎหมายเสนอแนะเข้ามาหรือยังว่าต้องใช้กฎหมายอะไรแทนกฎอัยการศึก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่ามีการเสนอเข้ามาแล้ว ซึ่งกำลังคิดอยู่ ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยได้
เมื่อถามว่ากฎอัยการศึกใช้มาเกือบปีแล้ว สะท้อนการจัดการปัญหาของ คสช.หรือไม่ว่ายังมีปัญหาอยู่ พล.อ.ประวิตร กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “แล้วคุณว่าสถานการณ์อย่างนี้มีหรือไม่ ที่ออกทุกวัน
ผู้สื่อข่าวตอบว่า “สถานการณ์ตอนนี้คิดได้หลายอย่าง ทั้งผู้ก่อการทำเอง และเจ้าหน้าที่รัฐทำเอง” พล.อ.ประวิตร ตอบกลับอย่างมีอารมณ์เพิ่มขึ้นว่า “ใครทำเอง คุณจับให้ได้ซิคุณพูดอย่างนี้ไอ้ห่า พูดได้ไงวะฮะ พูดได้ไงใครทำเอง แค่คิดก็ไม่ได้ ผมเป็นคนรักษากฎหมายจะไปทำเองได้อย่างไรบ้า พูดอย่างนี้เสียหาย ซักอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่ได้เสียหาย ผมเป็นผู้รักษากฎหมายแล้วมาหาว่าผมจะไปทำเองมีที่ไหน”
ถามว่าประเมินว่าสถานการณ์ในวันนี้เพิ่มขึ้นหรือเบาลง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เบาลงถ้าไม่เบาลงจะสงบอย่างนี้หรือ ตนดูหมดถ้าไม่ดูจะจับผู้ก่อเหตุได้หรือ ตนมีคนเฝ้าหมดทุกที่เดี่ยวจะให้ไปเฝ้าไอนี้ด้วย โดยพ ล.อ.ประวิตรได้ชี้นิ้วไปที่สื่อที่ตั้งคำถามให้อารมณ์เสีย
ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายอมรับว่าอาจจะต้องใช้กฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึกว่า “ใช่ อาจจะ และ ก็คุยกันอยู่”
ถามว่าจะนำมาตรา 44ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้แทนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คงต้องทำกฎหมายขึ้นมา ที่อยู่ในส่วนของ คสช. ขณะนี้ให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอยู่ แต่ยันยันว่าขณะนี้ไม่มีใครเดือดร้อนเพราะกฎอัยการศึก เพราะเราใช้เพียง 2 กรณีเท่านั้น เรื่องตรวจค้นและสามารถจับกุม เรียกตัว โดยไม่ต้องรอหมายจากศาล
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ยังมีคนที่ไม่ปรารถนาดีอยู่ ก็จำเป็นที่ต้องมีกฎหมายมาดูแล ทั้งนี้ยังไม่กำหนดกรอบเวลาว่ากฎหมายใหม่จะต้องแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพียงแต่เราจะพยายามทุกอย่างเพื่อลดแรงกดดัน