PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

แนวหน้า:นายกฯกับสื่อ

นายกฯ กับสื่อ

กรณีที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดวิวาทะกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลอยู่หลายครั้ง เปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ที่ชวนคิด

1) น้ำเสียงและท่าทีของพลเอกประยุทธ์ มีลักษณะเสียงดัง ขึงขัง เป็นลักษณะเฉพาะตัว
ความเป็นนายทหาร คุ้นชินกับการพูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ ไม่มีหวานหยดย้อยแบบพระเอกลิเก
เวลาตอบคำถามนักข่าว จึงมักปรากฏบุคลิกแบบนี้ออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดความตึงเครียด

2) นายกฯ กับนักข่าว ทุกยุคทุกสมัยจะต้องมีวิวาทะกัน เป็นเรื่องปกติมาก
ถ้าไม่มีการซักถามหรือเถียงกันบ้างเลยสิ จึงจะน่าวิตก
ที่น่าคิด คือ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่นักการเมือง เป็นถึงหัวหน้าคณะรัฐประหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือ แต่กลับปล่อยให้นักข่าวสามารถจะมีวิวาทะกับตนเองได้
นักข่าวแบบมนุษย์ป้าบางคนเสียด้วย (ใช่ว่าจะมีอุดมการณ์โดดเด่นอะไร)
หากมองด้วยใจเป็นธรรม มันสะท้อนหรือไม่ว่า พลเอกประยุทธ์ใจกว้าง ไม่ได้ต้องการใช้อำนาจเผด็จการ

3) ความที่พลเอกประยุทธ์เป็นคนมั่นใจในตัวเอง และเป็นคนทำงานจริง รู้ถึงเนื้องานที่ตนเองทำอยู่ จึงพยายามจะให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนครบถ้วนที่สุด ลงแรงอธิบายประกอบเรื่องต่างๆ ถึงความจำเป็น ที่มาที่ไป บริบทและภาพรวมของประเด็นที่กล่าวถึง เป็นเหตุให้เปิดช่อง มีประเด็นที่นักข่าวอาจหยิบยกขึ้นมาซักถาม ต่อความยาวสาวความยืด หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้มากขึ้น
พลเอกประยุทธ์อาจคิดว่า อธิบายเสียด้วยเลย จะได้ไม่มีการเข้าใจผิด ไม่ต้องมโนอะไรอีก แต่ลืมคิดไปว่าการอธิบายเยอะๆ ก็จะเปิดโอกาสให้คนหยิบเอาประเด็นย่อยในเรื่องที่พูดขึ้นมาแตกประเด็นใหม่ ซักถาม และเล่นงานต่อไปอีกมาก ยิ่งถ้าพูดหลายๆ เรื่องก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเกิดวิวาทะสูง นั่นคือข้อเสีย
แต่ข้อดี คือ สังคมได้ข้อมูลและคำอธิบายจากนายกฯ ชัดเจนขึ้น ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบ เป็นอีกเรื่อง

4) อาจารย์ทรงยศ แววหงส์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Songyote Waeohongsa อย่างน่าคิด
“1.การอ่านรายงานข่าวของสื่อ(นสพ.) ได้ภาพว่าคุณประยุทธ์พูดมากไปแล้วและใช้อารมณ์ แต่เมื่อฟัง/และดูจากคลิป กลับได้ความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์กับสื่อ ยังมีบรรยากาศของมิตรภาพ(พอควร)
2. การที่คุณประยุทธ์พยายามตอบทุกเรื่อง อาจจะแสดงให้เห็นความจริงใจ แสดงให้เห็นความใส่ใจในการติดตามปัญหา และมีความรู้จริงๆว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล แต่การตอบประเด็นหยุมหยิมทุกเรื่องอาจได้ไม่คุ้มเสีย เรื่องเล็กๆให้ทีมโฆษกเขาทำหน้าที่ของเขาดีกว่า คุณประยุทธ์น่าจะช่วงชิงโอกาสในการควบคุมทิศทางของประเด็นและมุ่งไปสู่ประเด็นที่สำคัญๆจะดีกว่า
ลองกลับไปดูเปรียบเทียบกับการให้สัมภาษณ์ข่าวของอดีตนายกฯเปรมที่ให้สัมภาษณ์เท่าที่จำเป็น หรือตัวอย่างที่เป็นอีกโต่งหนึ่งก็คือการให้สัมภาษณ์ของคุณยิ่งลักษณ์ ที่สามารถพูดได้ทุกวันแต่ไม่เคยมีรายละเอียดของประเด็นที่เป็นสาระเลย ผลลัพธ์ก็คือผู้สื่อข่าวก็ตามสัมภาษณ์เรื่องไปเรื่อยๆ ยิ่งตอบก็ยิ่งเห็นว่าเธอไม่มีความรู้ใดๆสมกับเป็นนายกฯเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับคุณยิ่งลักษณ์ คุณประยุทธ์มีภาษีเหนือกว่ามาก แต่เมื่อเทียบกับคุณเปรม คุณประยุทธ์ดูขาดความน่าเกรงขาม แต่หากว่านี่เป็นยุทธวิธีเพื่อสร้างความเป็นมิตรกับสื่อ ก็ได้แต่หวังว่าท่านจะลดเรื่องที่หยุมหยิมลง เลือกเอาเฉพาะเท่าที่จำเป็นก็น่าจะพอ
3.ในวงการสื่อนั้นมี"เจ้าแม่" และก็มีพวก"ลูกเจ้าแม่"อยู่ไม่น้อย”

5) ในความเป็นจริง ถ้าลองไปดูแบบวิธีการบริหารจัดการสื่อของนักการเมืองที่สมาทานการเลือกตั้งนั้น จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับนักการเมืองที่สะท้อนภาพว่าดูดี สวยสดงดงาม แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกลับเน่าเฟะ สะท้อนภาพเผด็จการทุนสามานย์ ต่ำช้ากว่ามากเท่ามาก
ถ้ายังไม่ลืม ในช่วงก่อนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ปรากฏพฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้าไปแทรกซื้อสื่อใหญ่บางสำนัก เพื่อให้นำเสนอข่าวสารเอนเอียงเข้าข้าง เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้งอย่างโจ๋งครึ่ม โดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตรวจสอบกรณี “อีเมล์ฉาว”  รายงานผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติฯ มีข้อสรุปที่น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ
“ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยน่าจะมี "การบริหารจัดการสื่อมวลชน" ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบว่า ในการดำเนินการดังกล่าวได้มีการให้อามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์อื่น นอกเหนือจากการลงโฆษณาหรือไม่”
ยิ่งกว่านั้น รายงานของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังสรุปไว้ชัดเจนว่า “หนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้ง โดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ การนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย”
ไม่ต้องพูดถึงช่วงที่เป็นรัฐบาล งบโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ แม้แต่งบประชาสัมพันธ์และจัดอีเว้นท์โครงการรถไฟความเร็วสูง ก็ประเคนให้สื่อบางสำนักอย่างเต็มคราบ เชลียร์รัฐบาลออกนอกหน้า

6) สุดท้าย ความสัมพันธ์ที่ไม่หวานชื่นระหว่างนายกฯ กับสื่อในยุคนี้ จึงไม่สามารถสรุปเอาดื้อๆ มึนๆ ว่าเป็นเพราะสื่อมีอุดมคติ ส่วนนายกฯ เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นเผด็จการทหาร!!!
หากใครขืนด่วนสรุปแบบนั้น ถ้าไม่ช่างมโนไปเรื่อย ก็คงเป็นขี้ข้านักการเมืองเต็มขั้น!
สารส้ม

ไม่มีความคิดเห็น: