PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ประวัติศาสตร์การเมืองสืบเนื่องจาก"หมุดคณะราษฎร์"


เรื่องหมุดๆ ของคณะราษฎรอีกครั้ง การร่วมตัวกันอย่างง่ายดายของกลุ่มผู้ก่อการคณะราษฎรนั้น เป็นเพราะในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทำเหมือนเอาพระกรรณไปนา เอาพระเนตรไปไร่ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ทั้งฝ่ายทหาร (ทหารบก และทหารเรือ ไม่มีทหารอากาศในตอนนั้น เป็นเพียง กรมอากาศยานทหารบก ยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2480 แต่มีทั้งส่วนสนับสนุนฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ในกรณีกบฏบวรเดช 11 ตุลาคม พ.ศ.2476 มีภารกิจการใช้อาวุธและทิ้งใบปลิวอีกด้วย) และฝ่ายพลเรือน ต่างเป็นข้าราชการสนองพระราชโองการพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น และส่วนใหญ๋ได้ทุนหลวงตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 6 ไปเรียนที่ต่างๆ ในต่างประเทศ หรืออยู่ในตระกูลที่รับใช้ใกล้ชิดพระราชวงศ์ก็มี
แต่ก็มีหลายสิบ หลายร้อยคน ไม่ร่วม และไม่เห็นด้วย เช่นพ.อ.พระยาเฉลิมอากาศ เจ้ากรมอากาศยาน ท่านหนึ่งล่ะ ที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วม หรือคุณพ่อผมก็ไม่รับการชักชวนให้เข้าร่วม (อาจเป็นเพราะว่ายศยังน้อย แต่ตอนนั้นท่านก็เป็นนายร้อยเอกแล้ว และจบโรงเรียนเสนาธิการเป็นที่ 1 น่าจะได้รับการชักชวน หรือเพราะสายตระกูลใกล้ชิดกับราชวงศ์มาก ไม่ทราบแน่)
ในกลุ่มคณะราษฎรนั้น มีหลายแนวคิดทางการเมืองปะปนกัน แต่ประเด็นที่สำคัญ ทั้งหมดเหมือนกันตรงที่ว่า ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเกือบทุกคนคิดว่าล่าช้าไปแล้ว ไม่ทันกับหลายประเทศที่กำลังเรียกร้องอิสรภาพและประชาธิปไตยจากประเทศเจ้าอาณานิคม เช่นจีน ซึ่งล้มสลายเพราะระบอบกษัตริย์ เพราะอ่อนแอและเอาแต่ได้ เกิดนักปฏิวัติ เช่น ซุนยัดเซ็น เป็นนักสาธารรัฐนิยม เริ่มการปฏิวัติจีนตั้งแต่ปี พ.ศ.2438 ก่อนคนไทย 37 ปี จึงนับว่าเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตยจีน และเป็นต้นแบบการปฏิวัติแบบ เสรีประชาธิปไตย เสรีสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ อันนำสู่การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
หรือ มหาตมะ คานธี ซึ่งเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องอิสรภาพและการปกครองแบบประชาธิปไตยลัึทธิสาธาราณรัฐ เพราะอินเดียมีการปกครองแบบนครรัฐมีกษัตริย์ปกครองมาก่อนอังกฤษครอบครอง ซึ่งการปกครองของพระราชาแบบนครรัฐล้มเหลว เพราะอ่อนแอ และแย่งชิงอำนาจกัน จนแม้เพียงนักเผชิญโชคและนักธุรกิจบุกเบิกอังกฤษ สามารถยึดและกุมอำนาจและในที่สุดก็อังกฤษก็ปกครองอินเดียทั้งหมด
นักเรียนไทยที่เรียนกฏหมาย หรือรัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ในยุโรป โดยเฉพาะที่อังกฤษและฝรั่งเศส รู้เรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังมีลัทธิเปรียบเทียบอื่นๆ เช่น ยูโทเปีย ของโทมัส มัวร์ ในยุคศตวรรษที่ 17 (เป็นแม่บทส่วนหนึ่งของลัทธฺคอมมิวนิสต์ก็ว่าได้) หรือมีเรื่องราวการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ต้องอ่านอย่างจริงจัง จึงมีหนทางเลือกมาก ว่าจะคลั่งไคล้ลัทธิไหน หรือเอาแม่บทไหนดีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
หลักการประชาธิปไตยที่มีบ่อเกิดจากความคิดของพลาโต (ยุคก่อนศตวรรษที่ 4 นั้นแตกมวลอนูออกหลากหลายทฤษฎี ตามวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณี และสังคม ของคนแต่ชาติ จนเกิดเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแฝงไว้ด้วยหลัก ระบอบกษัตริย์ภายใต้หลักประชาธิปไตยหรือรัฐธรรมนูญ เสรีนิยมประชาธิปไตย เสรีสังคมนิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ (หลายตำรับ เช่นกัน มาร์กซิสต์ มาร์กซ์-แองเกิล มาร์กซ์-เลนินนิสต์ เลนินิสต์ สตาลินนิสต์ เมาเจ๋อ ตุงนิยม เป็นต้น)และอนาธิปไตย
หากวิเคราะห์แนวคิดของคณะราษฎร แต่ละคน แต่ละกลุ่มแล้ว ก็คงมีความหลากหลายเช่นกัน แต่คงจะเรียบเรียงเป็นกลุ่มหลักๆ คือ กล่าวได้ว่าน้ำหนักฝ่ายขวาถึงซ้ายนั้นเรียงตามนี้ กลุ่มประชาธิปไตยนิยมกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย กลุ่มคอมมิวนิสต์ กลุ่มสาธารณรัฐนิยม และกลุ่มอนาธิปไตย
เราอาจจะสรุปได้ว่า มีผู้ประสานงานของคณะราษฎร ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายหลายคน แต่ละคนก็มีพลังเสียงและตรรกะมากพอในความเชื่อว่าการปกครองแบบไหนจึงจะเหมาะกับคนไทยและประเทศไทย
หนึ่งในกลุ่มผู้ประสานหลายฝ่ายนั้น อาจจะเป็นบุคคลเหล่านี้ นายทวี บุญเกตุ นายวิลาศ โอสถานนท์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) พ.ต.หลวงพืบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) นายควง อภัยวงศ์
ฝ่ายการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น คงเป็นกลุ่มนักเรียนเก่าอังกฤษ ที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประมุข และกลุ่มประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญปกครอง เช่น กลุ่มประเทศ เบเนลักซ์ หรือสแกนดิเนเวีย เช่น นายทวี บุญเกตุ ซึ่งชักชวนนาย วิลาศ โอสถานนท์ ที่เขียนในบันทึกส่วนตัวว่า "ต้องการเห็นบ้านเมือง เป็นประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แบบอังกฤษ ทั้งสองเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ ซึ่งเป็นพวกนิยมความมีเสรีในการคิด ยอมปฏิรูปรับสิ่งใหม่ๆ อดทนต่อความคิด และพฤติกรรมที่มีความต่าง เปิดใจกว้างรับแนวคิดใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้ในระดับหนึ่ง
ส่วน พ.ต.หลวงพิบูลสงครามและนายควงอภัย วงศ์นั้น น่าจะเป็นคนกลางระหว่างกลุ่มนี้กับพวกสังคมนิยมประชาธิปไตย พวกสาธารณรัฐนิยม พวกคอมมิวนิสต์และพวกอนาธิปไตย (พวกนี้เชื่อมโยงกับกรณีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ) ทั้ง 3 กลุ่มนี้ไม่ต้องการระบอบกษัตริย์ ซึ่งมี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ประสานงานและความคิด
จากการโต้เถียงอย่างรุนแรงและล่อแหลมที่จะทำให้เกิดเหตุสู้รบกัน แต่ฝ่ายทหารซึ่งมีอาวุธในมือ เข้าข้างพวกเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะกลัวพวกอนาธิปไตยจะเข้าปกครองบ้านเมือง อาจจะทำให่เกิด สภาพไร้รัฐบาล ไร้ขื่อแป ต่างคนต่างยึดอัตตาตนเป็นใหญ่ ต่อต้านการปกครองที่ตนไม่พอใจ หรือต่อต้านระบบที่ขัดใจพวกเขา ทั้งนิติประเพณี นิติบัญญัติ หรือการถือสันโดษ ไม่เคารพกฎเกณฑ์สังคมส่วนรวม
สรุปได่ว่าในกลุ่มคณะราษฎร ก็มีกลุ่มบุคคลที่ยังต้องการระบอบกษัตริย์ปกครองประเทศอยู่ หากคนไทยได้กลุ่มคอมมิวนิสต์ หรือพวกอนาธิปไตยผสมผสานกันแล้ว ชาติบ้านเมืองนี้คงสูยสลายไปแล้ว หรือมีทุ่งสังหารก่อนใครๆ ในเอเซ๊ยตะวันออกเฉียงใต้ นี่ก็เป็นความโชคดีของคนไทย ที่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญยังคงอยู่ ทามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงครับ

บิ๊กตู่ ใช้ม.44 เลิกคำสั่ง คสช.ให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (๒๐ เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔ /๒๕๖๐ เรื่อง ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ มีรายละเอียดระบุว่า ตามที่ได้มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาความต่อเนื่องของผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ กําหนดให้มีการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและ ตําแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนกําหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กําหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและ สรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้แล้ว จึงสมควรดําเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง และควรให้งดเว้นการคัดเลือกหรือ สรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เช่นเดียวกับกรณีของกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยในระหว่างเวลาที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญดังกล่าว เห็นควรกําหนดการดําเนินการในกรณีการพ้นจากตําแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อันจะเป็นการ สอดคล้องกับมาตรา ๒๗๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
ส่วนกรณีของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ยังคงมีปัญหา ข้อกฎหมายในเรื่องความชัดเจนของวาระการดํารงตําแหน่งและการพ้นจากตําแหน่งของผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าว ดังนั้น เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องทางกฎหมายและเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงเห็นควรให้ดําเนินการในกรณีของกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปองค์กรตามรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๖๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ประกอบกับมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และข้อ ๒๐ ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้งดเว้นการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลให้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ จนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญซ่ึงออกตามความใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ข้อ ๒ ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งตามวาระ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่พ้นจากตําแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณา ของศาลรัฐธรรมนูญตามข้อ ๑ ใช้บังคับ หรือจนกว่าจะพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่น ข้อ ๓ ในกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากพ้นจากตําแหน่ง ตามวาระตามข้อ ๒ ให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
ข้อ ๔ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

'ปรีดี พนมยงค์' แง่มุมที่ควรรู้จัก

ดูเหมือนคนไทยวันนี้ ยังอยู่ในชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์กันนะครับ!
เป็นประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ โดย "คณะราษฎร"
จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ "อยู่ใต้รัฐธรรมนูญคณะราษฎร"
มาเมื่อ "วันจักรี" ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐
"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" รัชกาลที่ ๑๐ "พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐"
หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๒ ตราไว้ว่า........
"ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ครับ...ผมก็ย้ำ "ความเหมือน-ความต่าง" เล็กๆ น้อยๆ ให้สังเกตกัน บางเรื่อง-บางราว นั้น ไม่จำเป็นต้องจี้ไช
รู้กันได้ "ด้วยตัวเอง" มิใช่หรือ?
ยังไงก็ต้องขอบคุณ "หมุดที่หายไป" ในจำนวนงบประมาณแผ่นดินแต่ละปี กระทรวงศึกษาฯ "มากที่สุด"
๘๕ ปี ใช้ไปกี่พันล้านล้านแล้วก็ไม่รู้
ได้แค่สร้างคนเรียนประวัติศาสตร์เพื่อใช้สอบผ่านในชั้นเรียนเท่านั้น!
สู้หมุดอันเดียวไม่ได้ ทำให้คนไทยแตกฉานประวัติศาสตร์ ช่วงรอยต่อระบอบปกครอง ชนิดกระหายรู้ และแทงทะลุถึงแก่น
ก็อยากทำความเข้าใจเรื่องศึกษาประวัติศาสตร์ซักนิด
"ปัจจุบัน-อนาคต" ก่อเกิดจากอดีต
นั่นคือ ทุกสิ่งที่ "เรามี-เราอยู่-เราเป็น" วันนี้ "อดีตเป็นผู้สร้าง" เป็นหน่อแนวไว้ให้ทั้งนั้น
ฉะนั้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ต้องยกแต่ละตัวบุคคลไว้ในฐานะครูอาจารย์ ในฐานะผู้มีคุณ ในฐานะผู้สร้าง ที่ต้องเคารพ
ไม่ควรอย่างยิ่ง.........
ที่จะไปตำหนิ หยาบหยาม ประณาม เคียดแค้น วิจารณ์เชิงลบ
ต้องเข้าใจให้ตรง ว่าทุกเส้นทางชาติและแผ่นดิน คนรุ่นอดีตคือผู้สร้าง เราคือผู้อาศัยอยู่-อาศัยกิน-อาศัยใช้ และสร้างเติมใหม่ เพื่อส่งต่อ
"อดีตคือมรดกชาติแผ่นดิน" อย่าหลู่ ควรรู้ ด้วยเคารพ!
"ปรีดี พนมยงค์" นั้น อย่ามองท่านในแง่ลบ ในความเป็นจริง ยิ่งศึกษาเส้นทาง-บทบาทท่าน
ยิ่งต้องเทิดทูน!
ในเส้นทางประเทศ ต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากท่านเป็นหัวหน้าคณะราษฎร, นายกรัฐมนตรี, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, รัฐบุรุษ, ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้ว
ไทยไม่ตกอยู่ในฐานะ "ประเทศแพ้สงคราม" เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ.๒๔๘๔
นั่นก็ด้วยบทบาท-ฐานะ "หัวหน้าขบวนการเสรีไทย" ภายใต้รหัส "รู้ธ" ของท่าน
การเดินแผนปฏิบัติการใต้ดินร่วมฝ่ายพันธมิตรนั่นแหละ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยเรากลับเป็นฝ่ายชนะ!
แต่เหนืออื่นใด ปรีดีในทัศนะผม ท่านคือ "ลูกผู้ชาย" ตัวจริง!
"หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี เคยไปขอเข้าเฝ้าฯ บอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ ก็ไม่ทำ"
นี้จากพระโอษฐ์ "สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี" พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงเล่าพระราชทาน ดังที่ผมนำเผยแพร่ไปแล้ววันก่อน
ตรงนี้ เป็นหลักฐานยืนยันได้ดีที่สุด ๒ สถาน.........
สถานแรก ท่าน "บริสุทธิ์ใจต่อชาติ" ในการทำ เมื่อ ๒๔ มิถุนา ๗๕
สถานที่สอง ท่าน "กล้าทำ-กล้ารับ" ต่อสิ่งที่ทำลงไปว่า...ผิด
"วีรบุรุษ" ก็แค่คนชนะคน
แต่ "คนเหนือวีรบุรุษ" คือคนชนะทั้งใจคนและใจตน!
บางท่านอาจไม่แน่ใจ ว่าท่านปรีดียอมรับตัวเองผิดพลาดจริงหรือ?
เมื่อปี ๒๕๕๖ ผมเคยนำบทความที่นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสารเอเชียวีก ประจำกรุงปารีส สัมภาษณ์ท่านปรีดี ที่ปารีส ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เผยแพร่ครั้งหนึ่ง
โดยคัดลอกจากเอเชียวีก ฉบับ ๒๘ ธันวาคม ๑๙๗๙ - ๔ มกราคม ๑๙๘๐ โดย ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช รน. กับคุณสุภัทร สุคนธาภิรมย์ แปล-ตรวจทานไว้
แต่วันนี้ ผมนำจาก socialitywisdom.blogspot.com/2007/03/blog-post_08.html บางตอนมาเพื่อยืนยันถึงประเด็นนี้ ขออนุญาตด้วย ดังนี้
ถาม-นักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านปรีดี ถ้าไม่เคยหนุ่มมาก่อน ก็จะไม่แก่เลย” ข้าพเจ้าใคร่จะสำรวจเรื่องราวของท่านในตอนต้นๆ ชีวิตของท่าน และในเวลาอันยาวนานที่ท่านต้องลี้ภัย ตอนแรกในวัยหนุ่ม ขณะท่านเป็นนักเรียนในปารีสตอนปี ค.ศ.๑๙๒๐ ท่านคงต้องมีทรรศนะต่อชนิดของสังคมที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ชนิดอย่างที่ท่านเป็นคนหนุ่มอยากจะสร้างสรรค์ ท่านจะสรุปทรรศนะนั้นให้เราทราบได้ไหม?
ตอบ-อย่างที่คุณทราบ ข้าพเจ้าศึกษากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ฝรั่งเศส (Faculti de Droit) โครงการศึกษาในสมัยโน้นมีกว้างขวาง เพราะว่าเราไม่ใช่เรียนเพียงแต่กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนเท่านั้น หากต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย
นี่แหละ ที่ทำไมข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม กฎหมายและสถาบันต่างๆ เป็นโครงสร้างชั้นบน ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ
ถาม-ท่านจะถือว่าทรรศนะของท่านเป็นชาวมาร์กซิสต์ หรือมาร์กซิสต์ใหม่ได้ไหม?
ตอบ-ไม่, ไม่, ไม่, ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่าปรัชญาของข้าพเจ้าคือ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ถึงแม้ว่าถ้ามาร์กซ์พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่
สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีชนิดต่างๆ มีลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ลัทธิทรอตสกี้ และอะไรต่ออะไร ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่ง ที่สอดคล้องกับหลักห้าประการของเรา...
เราไม่อาจกระโจนพรวดเดียวถึงขั้นสุดยอดของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ เราต้องก้าวไปทีละขั้นๆ อย่างที่คนเราค่อยมีฐานะดีขึ้นๆ เป็นลำดับ
อย่างที่คุณเห็นในประเทศของข้าพเจ้า แม้ภายหลังการอภิวัฒน์ ค.ศ.๑๙๓๒ เมื่อพวกเขาต้องการไปเร็วเกินไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ล้มเหลว
ถาม-ในสังคมประชาธิปไตยตามความคิดของท่าน อะไรที่ท่านถือเป็นความสำคัญอันดับแรก? การศึกษา? อ่านออกเขียนได้ทั้งหมด?
ตอบ-เศรษฐกิจอันดับแรก, เศรษฐกิจอันดับแรก
ถาม-อะไรคือข้อเสนอในทฤษฎีเศรษฐกิจของท่าน? ท่านคิดว่ารัฐบาลควรควบคุมเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ?
ตอบ-เอาละ คุณก็รู้ ตอนแรก (เมื่อประเทศเริ่มออกเดิน) รัฐบาลไม่อาจทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราต้องให้บทบาทแก่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ยังไม่ (ถึงเวลา) ทำให้เป็นของชาติ ไม่, ไม่ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็จะล้มละลาย ถ้าชาติต้องการทำอะไรๆ ให้เป็นของชาติในทันทีทันใด นั่นเป็นการตรงกันข้ามกับสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
ถาม-เดี๋ยวนี้ท่านได้มีเวลามาหลายปีที่จะไตร่ตรองถึงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ.๑๙๒๐ ถึง ค.ศ.๑๙๔๐ ขณะที่ท่านมีส่วนร่วมในการเมืองของไทยอย่างเอาการเอางาน คุณูปการอันไหนของท่านที่มีต่อประเทศไทยในระหว่างปีเหล่านั้น ที่ยังความพอใจแก่ท่านมากที่สุดในขณะนี้?
ตอบ-การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อปี ค.ศ.๑๙๓๒
และการรับใช้ชาติร่วมกับสหาย “เสรีไทย” ของข้าพเจ้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นผู้รุกรานและได้ฟื้นคืนเอกราชและอธิปไตยของชาติกลับมาได้อย่างสมบูรณ์หลังสงคราม
ถาม-ประเทศไทยเดี๋ยวนี้มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างที่ท่านอยากให้เป็นหรือยัง?
ตอบ-ดีละ, ถ้าเราพูดถึงกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเติมว่า อย่างเป็นประชาธิปไตยเข้าไปด้วย เพราะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีหลายอย่างต่างๆ กัน รัฐธรรมนูญก็มีมากมายหลายชนิด
แม้ราชอาณาจักรของอิตาลี ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินีก็มีรัฐธรรมนูญ นั่นแหละ, ทำไมข้าพเจ้าจึงชอบใช้คำว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ข้าพเจ้าคิดว่าคุณคงเข้าใจ
ถาม-ท่านคิดว่าอะไรที่น่าจะเป็นความผิดอันใหญ่หลวงของท่าน? ถ้าท่านมีอำนาจกลับไปและแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน การตกลงใจหรือการกระทำอันไหนที่ท่านอยากเปลี่ยนมากที่สุด?
ตอบ-ถ้าท่านถามถึงว่าอะไรที่ข้าพเจ้าจะทำ ถ้าข้าพเจ้ากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี..เอาละ ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจที่จะกลับสู่การเมืองอีกหรอก เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าแก่มากแล้ว แต่ข้าพเจ้าตอบท่านได้ถึงความผิดในอดีตของข้าพเจ้า
ในปี ค.ศ.๑๙๒๕ เมื่อเราเริ่มจัดตั้งแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ)
ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัด และโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา
ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้า เป็นความรู้ตามหนังสือ
ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี
ในปี ค.ศ.๑๙๓๒ ข้าพเจ้าอายุ ๓๒ ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ
ถาม-ความผิดพลาดอย่างอื่นมีอีกบ้างไหม?
ตอบ-มี, คือวิธีการเสนอแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเสนอแผนเศรษฐกิจ แต่ข้าพเจ้าควรใช้เวลาให้มากกว่านั้นอธิบายแก่ประชาชน เวลานั้นมีบุคคลไม่กี่คน ที่จะเข้าใจแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้า
แม้ในระหว่างคนรุ่นก่อน คือสมาชิกในคณะรัฐบาลก่อนซึ่งเราเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ พวกเขาตีความแตกต่างกันไป พวกเขาไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าควรพยายามให้หนักขึ้น ที่จะอธิบายกับพวกเขาว่าทั้งหมดมันหมายถึงอะไร
แต่ทว่ามันก็เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเสนอว่าไม่ใช่เป็นแผนเศรษฐกิจขั้นสุดท้าย มันค่อนข้างจะเป็นโครงการชั้นเตรียมการมากกว่า หลายคนเหมาเอาว่าเป็นแผนเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแนวทางหรือเป็นข้อเสนอพอเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนต่อไป
ในสังคมนั้น ย่อมมีการขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณต้องเข้าใจ และพวกรุ่นเก่ามีความกลัวมากทีเดียวในบางอย่างที่เป็นสังคมนิยม
พวกเขาไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นสังคมนิยม อะไรเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาเอาทุกอย่างที่ตรงข้ามกับวิสาหกิจเอกชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด
ครับ.....นี่คือบุรุษเหนือวีรบุรุษโดยแท้!
"หมุดหาย" ไม่มีความหมาย..........
เพราะความหมาย "๒๔ มิถุนา ๗๕" ที่ควรค้นหา คือค่าในคน ของคนชื่อ "ปรีดี พนมยงค์".
คอลัมน์: คนปลายซอย19/4/60

ปู่...ปรีดี...กับสิ่งที่หายไป .

สตาร์ทอัพผัดเป็ด
ปู่...ปรีดี...กับสิ่งที่หายไป
.
เรื่องนี้ถ้าไม่บันทึกไว้ก็คงหายไปกับกาลเวลาเลยต้องเล่าและบันทึกไว้
.
ครั้งหนึ่งคุณปู่เคยช่วยเหลืองานของอาจารย์ปรีดีแต่มีเรื่องความเห็นไม่ลงรอยกัน หลังจากเหตุการณ์นั้นท่านจึงมีความรู้สึกเป็นลบกับปรีดีอยู่บ้าง ปู่ไม่ได้เล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟังทุกคนและคนในครอบครัวก็ไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ความรู้สึกที่บ้านต่อคนชื่อปรีดีจึงมึนๆ บางทีก็ไปทางไม่ดีด้วยซ้ำตามประสาคนเมืองเสพข่าวกระแสหลัก ก็ต้องขอบคุณเหตุการณ์หมุดหายนี่แหละที่ทำให้ผมมีความรู้สึกตื่นตัวและเข้าใจประวัติครอบครัวตัวเองมากขึ้น
.
เกริ่นสักนิด
.
8 ธันวา 1941 : ช่วงเวลาใกล้ๆ กับที่กองเรือแปซิฟิกของสหรัฐกำลังลุกไหม้อยู่ในอ่าว Pearl Harbor จักรวรรดิญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามมหาเอเซียบูรพาด้วยการบุกไทย โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือใช้เป็นทางผ่านไปยังพม่า,อินเดียซึ่งในยุคนั้นเป็นอานาณิคมอังกฤษ ส่วนเป้าหมายระยะยาวคือสร้างมหาจักรวรรดิ "วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" ที่จะรวมชาติเอเซียทั้งหลายมาอยู่ใต้ธงอาทิตย์อุทัย (หรือที่ ทร. สหรัฐยุคนั้นเรียกว่า ธงลูกชิ้น ฮาๆ) รัฐบาลไทยภายใต้จอมพล ป. ในต้านกองทัพญี่ปุ่นได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ยอมจำนน เพราะทหารญี่ปุ่นเก่งมากและดูท่าทีแล้วฝ่ายอักษะ (ญี่ปุ่น,เยอรมัน) มาวินแน่นอน ปีก่อน (1940) เจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสยังศิโรราบให้กับฮิตเลอร์, อังกฤษเรอะก็ดูร่อแร่, ปฏิบัติการบาร์บารอสซาแค่เริ่มมาไม่กี่เดือนโซเวียตดูจะแตกแหล่มิแตกแหล่ใต้สายพานรถถังเยอรมัน, ฝั่งจีนเองเจียงไคเช็กก็ทิ้งนานกิงให้ญี่ปุ่นใช้คอคนจีนลับดาบซามูไรเล่น ถอยเมืองหลวงมาฉงชิ่งได้จะ 3 ปีแล่ว
.
สู้คงไม่ไหว สายซัพพอร์ตก็ไม่มี ดูสถานการณ์แล้วอักษะคงชนะแชมป์พรีเมียร์ลีกรอบนี้แน่ แถมก่อนหน้าญี่ปุ่นเคยมีบุญคุณเป็นตัวช่วยใกล่เกลี่ยให้ฝรั่งเศสยอม "คืน" ดินแดนฝั่งกัมพูชาที่ไทย "เสีย" ให้ไปในช่วงล่าอาณานิคมด้วย ไทยจึงมีความไว้ใจญี่ปุ่นอยู่พอควร ยอมจำนนและประกาศสงครามกับอังกฤษ, อเมริกาตามลูกพี่ไป
.
แต่ในขณะที่รัฐบาลร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น นายปรีดีซึ่งในสมัยนั้นเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กลับไม่เห็นด้วยเพราะท่านเคยไปเจรจาแก้สัญญาไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตกหลายประเทศและเห็นว่าสหรัฐมีพลังทางอุตสาหกรรมสูงมาก หากวันไหนอมเริกาเข้าร่วมสงครามอย่างเต็มตัวในฐานะ "ยักษ์ตื่น" ฝ่ายสัมพันธมิตรก็มีสิทธิ์ชนะและที่สำคัญคือการยอมญี่ปุ่นก็เท่ากับไทยต้องเสียอธิปไตยไป นายปรีดีจึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้ง องค์การต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาเรารู้จักในชื่อเสรีไทยขึ้นโดยท่านเองใช้รหัสเรียกตัวเองว่า "รู้ธ" โดยมีเป้าหมายเพื่อ ต่อต้านญี่ปุ่น, ร่วมมือกับสัมพันธมิตรเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์แท้จริงของราษฎรไทย และข้อสำคัญคือปฏิบัติการเพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองว่าประเทศไทยจะไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และพยายามผ่อนหนักเป็นเบาสำหรับสถานการณ์หลังสงคราม
.
โชคดีที่ในเวลาเดียวกัน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ก็ปฏิเสธไม่ยื่นประกาศสงครามให้กับรัฐบาลสหรัฐและรวบรวมคนไทยที่นั่นก่อตั้งขบวนการเสรีไทยสายอเมริกาขึ้นด้วย ซึ่งการประกาศจุดยืนแต่เนิ่นนั้นจะมีผลดีอย่างมากเมื่อสงครามจบ
.
เรื่องน่าสนใจของเสรีไทย คือมีคนจากทั้งฝั่งคณะราษฏร ฝั่งอนุรักษ์นิยมเดิมเข้ามาร่วมงานกันภายใต้การนำของ "รู้ธ" เพื่อเป้าหมายกู้ชาติทั้งที่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่งผ่านมาได้ 10 กว่าปีเท่า แผลยังสดใหม่กว่าทุกวันนี้มาก ก็แปลกดีที่ลูกหลานทางอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่ายบางท่าน โดยเฉพาะที่ไม่ได้เป็นลูกหลานจริงแต่โดน Propaganda หลอกใช้จนเดือดร้อน หัวร้อนแทนของที่ไม่ใช่ของตัวกลับลืมเหตุการณ์ช่วงเสรีไทยนี้ไป ดันคิดว่าทั้งสองฝ่ายไม่เคยมองหน้ากันติดและจ้องทำลายลางผลาญกันตลอด
.
เสรีไทยไม่ได้มีแค่ชนชั้นนำเท่านั้น แต่ยังตามมาด้วยแนวร่วมที่เรียกว่าเป็นผลผลิตของคณะราษฏรเช่น นักการเมือง, ข้าราชการ รวมถึงบัณฑิตจุฬา ธรรมศาสตร์ เข้าร่วมด้วย ซึ่งทำให้เสรีไทยมีประสิทธิภาพ มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลสำคัญๆ ซึ่งคุณปู่ก็เป็นกลุ่มหลังนี่แหละ
.
หน้าที่ของเสรีไทยก็มีตั้งแต่ หาข่าว, ช่วยนักบินพันธมิตรที่เครื่องตกอย่างที่เห็นในโกโบริ, ฝึกอาวุธเพื่อเตรียมสู้ญี่ปุ่น ซึ่งช่วงรัฐบาลจอมพล ป. นั้นการเป็นเสรีไทยค่อนข้างอันตรายมากเพราะนอกจากอาจอันตรายถึงตายถ้าโดนญี่ปุ่นจับได้แล้ว รัฐยังถือว่ากลุ่มเสรีไทยเป็นกบฏอีกด้วย พอช่วงปี 1944 ญี่ปุ่นเริ่มเพลี้ยงพล้ำ จอมพล ป. ต้องลงจากตำแหน่ง นาย ควง อภัยวงศ์ (หนึ่งในคณะราษฏรและผู้ตั้งพรรคประชาธิปัตย์) ขึ้นเป็นนายกแทนรัฐบาลไทยจึงร่วมมือกับเสรีไทยมากขึ้น ญี่ปุ่นก็เหมือนรู้ว่าไทยกำลังไผ่ลู่ลมอีกคราแต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจปราบปรามอย่างโหดร้ายเหมือนอย่างประเทศอื่น เช่นกรุงมะนิลาที่ญี่ปุ่นพังเสียรายคาบประมาณว่า ตูไม่ได้ครอง เอ็งก็เอาซากไปชมแทนละกัน
.
พอสงครามจบด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ลงนามระบุให้การประกาศสงครามต่อ สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ ด้วยการเสียสละของผู้รักชาติทั้งในไทยและนอกประเทศ ไทยไม่ถึงขั้นเป็นประเทศชนะสงครามเต็มตัวเพราะยังต้องจ่ายค่าเสียหายให้อังกฤษและออสเตรเลีย คืนดินแดนให้ฝรั่งเศส แต่เพราะอเมริกาคงเล็งเห็นว่าไทยจะเป็นหมากสำคัญในช่วงสงครามเย็นจึงถือเสียว่าการที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ไม่ยื่นประกาศสงครามก็เท่ากับว่าไทยไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้อเมริกา แถมยังไปล็อบบี้ลดค่าเสียหายอื่นๆ ที่ไทยต้องจ่ายด้วย
.
เมื่อบ้านเมืองสงบ รัฐบาลจึงทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนิวัติกลับพระนคร...นับว่าเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโชคดีกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยิ่ง เพราะถ้าตอนญี่ปุ่นยาตราทัพเข้ามาได้บีบกษัตริย์แทนที่จะบีบรัฐบาล จอมพล ป. แล้ว หลังญี่ปุ่นแพ้สถานะของสถาบันกษัตริย์อาจถูกคุกคามได้ เช่นพระเจ้า Leopold III แห่งเบลเยี่ยมที่ต้องสละราชสมบัติเพราะคนมองว่าร่วมมือกับฮิตเลอร์มากเกินไป หรืออย่าง รีซ่า ชาห์ พาลาวี่แห่งเปอร์เซียที่โดนอังกฤษ,โซเวียตปลดกลางอากาศกลางสงครามเพราะอยากให้พระโอรสที่คุมง่ายกว่าขึ้นครองบัลลังก์แทน
.
ผลงานของอาจารย์ปรีดีในช่วงสงครามโลกทั้งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และในฐานะ "รู้ธ" เป็นสิ่งที่คนต้องการวาดท่านเป็นปิศาจควรหันกลับมาพิจารณาสักนิด มนุษย์ทกคนไม่มีใครขาวสะอาด ไม่มีใครดำสนิท ความโอนเอียงไปตามแนวคิดเศรษฐกิจโซเวียตของท่านเป็นเรื่องควรวิจารณ์อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การได้รักษาชาติและระบอบการปกครองของชาติไว้ของท่านก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน
.
หลังจบสงครามนี่แหละที่คุณปู่มีเรื่องเห็นไม่ตรงกับอาจารย์ปรีดี และในความรู้สึกส่วนตัวผม จังหวะนั้นแสดงคาแรกเตอร์ของปรีดีได้ดีทีเดียว
.
เรื่องมีอยู่ว่า เสรีไทยหลายท่านที่ต้องทำงานเสี่ยงช่วงสงครามบางท่านได้เสนอให้มีการทำอนุสรณ์เสรีไทยขึ้นมาเพื่อระลึกถึงความยากลำบาก ความร่วมมือกันของคนไทยทุกชนชั้น อาชีพสืบไป ซึ่งคุณปู่ก็เห็นด้วยกับเพื่อนๆ กลุ่มนั้น
.
แต่คำตอบของท่านปรีดี ในฐานะคนก่อตั้งเสรีไทยคือ
.
"ไม่"
.
เพราะท่านปรีดีเกรงว่าอนุสรณ์ที่ว่าจะกลายเป็นสัญลักษณ์ให้กลุ่มอดีตเสรีไทยด้วยกันเองหรือลูกหลานเอาไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง เอาไปหาเสียง ทวงบุญคุณประเทศในภายหลัง
.
คำตอบของท่านทำให้กลุ่มเพื่อนคุณปู่รู้สึกน้อยใจ แต่การปฎิเสธของอาจารย์ปรีดีแสดงถึงอะไรหลายๆ อย่างมาก
.
ทั้งๆ ที่ถ้าหากต้องการรวบอำนาจเป็นของตัวช่วงเวลานั้นเหมาะที่สุดแล้ว คณะราษฎรฝั่งพลเรือนและทหารเรือมีอำนาจเต็มเปี่ยม ฝ่ายจอมพล ป. ทั้งเสียหน้าไปจากการร่วมมือกับญี่ปุ่น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่นิวัติพระนคร การจะสร้างอนุสรณ์เสรีไทยเพื่อยกย่องวีรกรรมตนเอง สถาปนาตัวเป็นบุรุษกู้ชาตินั้นทำได้สบาย เพราะมีทั้งตำแหน่งและผลงานจริงเป็นทุนเดิม
.
แต่ท่านก็ไม่ทำ จนถึงวันนี้บรรพกษัตริย์มีพระบรมรูปมากมายให้เรากราบไหว้ คณะราษฏรยังมีอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยให้ระลึกถึง หลุมศพฝรั่งสร้างทางรถไฟสายมรณะยังมีสุสานให้คนไทยไปเที่ยวชม แต่เสรีไทย 4-5 หมื่นคนไม่มีกระทั่งรายชื่อทั้งหมดว่าใครบ้าง อนุสรณ์ก็ไม่มี ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามเดิมและตายไปโดยที่ลูกหลานบางคนยังไม่รู้ว่าบรรพบุรุษตัวเองทำอะไรมาบ้าง ตามอุดมการณ์เดิมของ "รู้ธ" ที่ถือว่าพวกเขาได้ชัยชนะสูงสุดคืนมาแล้ว นั่นคืออธิปไตยกลัยมาสู่ประชาชน
.
น่าเสียดายที่เราใช้เวลาหลังจากนั้นแบบไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร
.
น่าเสียดายที่หลังจากนั้น อดีตเสรีไทยหลายท่านก็โดนสังหารในสมัยเผด็จการทหารที่ตามมาเช่นนายเตียง ศิริขันธ์ในยุค จอมพล ป พิสูจน์ว่าคนในชาติกันเองน่ากลัวกว่าญี่ปุ่นเสียอีก
.
น่าเสียดายที่เราไม่มีอนุสรณ์เสรีไทยให้ระลึกว่า ประเทศไม่ใช่สมรภูมิระหว่างเทวดากับปิศาจ แต่มันเป็นช่วงจังหวะแต่ละวินาทีในแต่ละวันที่ทุกคนตระหนักว่าเราต่างต้องการกันและกัน ตระหนักว่าประเทศนั้นเต็มไปด้วยคนรักชาติที่เห็นต่างกันว่าความยิ่งใหญ่ของชาติอยู่ในสิ่งที่เราเคยเป็น หรือสิ่งที่เราสามารถเป็นได้ และประชาธิปไตยคือการที่เราสามารถถกเถียงประเด็นนี้กันได้อย่างเปิดเผย ไร้ความกลัว
.
มนุษย์มาจากประวัติศาสตร์และกำลังสร้างประวัติศาสตร์อยู่ทุกวี่วัน ยิ่งบางสถานที่ซึ่งเป็นเปรียบเหมือนจุด Big Bang เป็นต้นธารกำเนิดกระแสประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่เราทุกคนล้วนแหวกว่าย เราไม่ควรเข้าใจมันแค่วัตถุ หรือเฟรมๆ หนึ่งเท่านั้น
.
การปฏิเสธประวัติศาสตร์ การมองเหตุการณ์ บุคคลในประวัติศาสตร์แบบเฟรมภาพยนต์ที่กดหยุดเอาเฉพาะจุดที่เราชอบมาชื่นชม เอาจุดที่ไม่ชอบมาสาปแช่งหรือตัดทิ้งมันอันตรายมาก เพราะมันก็เหมือนกับการปฏิเสธลมหายใจที่เพิ่งสูดก่อนหน้าว่าไม่มีตัวตน มันทำให้เรากลายเป็นเด็ก คิดแบบเด็กที่อยากจะฟังแต่นิทานก่อนนอนที่มีแต่พระเอก ผู้ร้าย อัศวิน มังกร ไม่มีวันได้เรียนรู้บรรพบุรุษในฐานะมนุษย์ที่มีทั้งด้านดี ไม่ดี ฉลาด โง่ บ้าอำนาจ หลงผิด เพื่อเป็นบทเรียนให้ตัวเองเลย
.
ประเทศที่คนความคิดเป็นเด็กแต่ในร่างประชากรที่ชราลงทุกวันๆ จะอยู่รอดได้อย่างไร?
.
กราบคุณปู่ครับ
.
ป.ล. เรื่องของปู่กับปรีดีก็เป็นเพียง oral history นะครับ ใครมีข้อมูลเป็นเอกสารมาช่วยนุนหรือแย้งก็จะเป็นพระคุณยิ่ง
.
Source สถาบันพระปกเกล้า : http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ขบวนการเสรีไทย

รับประกัน BY ป๋า (อีกแล้ว)

รับประกัน BY ป๋า (อีกแล้ว)

“การที่เรามาพร้อมเพรียงกันวันนี้ แสดงให้เห็นว่านายกฯ เป็นที่ไว้วางใจได้ จะเป็นผู้นำของเราตราบใดที่นายกฯ ไม่ท้อแท้ ท้อถอย ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จ
ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความภูมิใจมาก หยิ่งในตัวเองมาก ว่าเกิดมาทั้งทีเราเป็นคนดี เราทำงานเพื่อชาติ เพื่อบ้านเมืองของเรา ไม่ได้ทำให้ใครทั้งนั้น แต่ทำให้คนไทยทุกคน…ไม่ว่าคนไทยนั้นจะชอบเราหรือชอบเราน้อยก็ไม่เป็นไร เราก็ทำตามไปตามสิ่งที่เรามุ่งมั่นปรารถนาให้ประเทศชาติของเรารุ่งเรือง เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี จะภูมิใจมากที่มีโอกาสได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ขอให้นายกฯ มีความภาคภูมิใจว่า เกิดมาทั้งที เราได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุด ที่เราได้ทำให้ประเทศชาติบ้านเมือง เป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้นำที่สร้างความเชื่อมั่นให้คนในชาติของเราว่า รัฐบาลนี้ นายกรัฐมนตรีคนนี้ ผบ.เหล่าทัพเหล่านี้ จะทำเพียงอย่างเดียว คือนำความสุขกลับมาให้คนไทย
ก็ขอให้ความตั้งใจมุ่งมั่นปรารถนาอันแรงกล้าของนายกรัฐมนตรีประสบผลสำเร็จ ตามที่นายกรัฐมนตรีปรารถนา
ผมไม่ทราบว่านายกรัฐมนตรีเอาเวลาที่ไหนไปนอน เห็นทำแต่งาน..คงเป็นสิ่งที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของพวกเราทุกคนของคนไทยว่ารัฐบาลนี้ทุ่มเททุกอย่าง เพื่อความสุขของพวกเรา ขอบคุณมาก นายกรัฐมนตรี”
เป็นอีกครั้งที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แสดงการสนับสนุนและยืนอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ โดยเปิดเผย
คำพูดดังกล่าว มีขึ้นระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์นำคณะรัฐมนตรี และ ผบ.เหล่าทัพ รดน้ำดำหัวขอพร พล.อ.เปรม ตามประเพณีไทย เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา
และว่าที่จริง พล.อ.เปรม ผู้มากด้วยบารมี ได้แสดงจุดยืนเช่นนี้มาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว
ทบทวนกันเล็กน้อย…
ช่วงส่งท้ายปีเก่า 2557 ต้อนรับปีใหม่ 2558 พล.อ.เปรม ได้กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า
“การยึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมนั้น เชื่อว่าประชาชนคงดีใจที่บ้านเมืองสงบ ไม่มีความขัดแย้ง เป็นการแสดงให้เห็นว่า หากมีความจำเป็น ทหารก็ต้องออกมาดูแลบ้านเมือง และนายกรัฐมนตรีควรจะภูมิใจ เพราะเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นว่า หากตั้งใจจะทำอะไร ก็สามารถทำได้ และทำได้ดีด้วย หากชาติบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน ทหารจะเข้ามาดูแล ตามที่ได้ปฏิญาณตนไว้”
และเมื่อ 26 สิงหาคม 2558 ในโอกาส พล.อ.เปรม ฉลองวันเกิดครบรอบ 95 ปี ย่างเข้า 96 ปี ได้กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้าอวยพรว่า
“ผมมั่นใจว่าถ้าพวกเรายังดำรงความรัก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมใจกันทำ เสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อมอบให้ประชาชน เมื่อนั้นมั่นใจว่า ตู่ คุณป้อม (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) คนอื่นๆ จะนำความสุขคืนให้ประชาชน และจะทำให้เกิดความปรองดองในชาติได้แน่นอน”
“ต้องร่วมมือกันอย่างนี้ รักกันอย่างนี้ตลอดไป เพราะจะสร้างเกียรติประวัติให้กับกองทัพของเรา และให้กับรัฐบาล อีกทั้งเราก็จะมีความสุขบนความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากบนความเสียสละที่เรามีให้ประชาชนคนไทยทุกคน อีกทั้งขอชื่นชมและขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้มองเห็น ขอให้ประชาชนมองเห็น มองเห็นความเสียสละของพวกเราที่มีต่อประชาชน”
ทั้งนี้ พล.อ.เปรมมาย้ำอีกครั้งในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าอวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่
“พวกเราไม่ได้เข้ามาเพื่อหวังอำนาจ แต่เข้ามาเพื่อชาติ บ้านเมือง และประชาชนของเรา ทั้งนี้ ผมคงจะช่วยพวกท่านได้ไม่มากนัก เพราะอายุมากแล้ว แต่จะช่วยคิดและให้กำลังใจ ให้ความรู้ได้บ้างพอสมควร อีกทั้งผมเป็นเพื่อนพวกท่านทั้งหลาย ถ้ามีสิ่งใดที่จะช่วยพวกท่านได้ก็พร้อมที่จะช่วยด้วยความเป็นเพื่อน เป็นมิตร และความสามัคคี ขอจบด้วยคำว่า ความดีคือเกราะกำบัง ก็ขอให้ทำความดี ซึ่งความดีเป็นเกราะป้องกันไม่ให้มาทำอันตรายกับเราได้ ถ้าทุกคนทำความดีทุกวัน ก็จะเป็นเกราะที่แข็งแรง และจะช่วยให้เราพบความสำเร็จ มีใจชื่นบานในการช่วยเหลือคนอื่น”
ยิ่งไปกว่านั้น พล.อ.เปรม ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวน้อยครั้ง ยังยอมให้สัมภาษณ์ถึงความประทับใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จได้ เพราะ
ข้อที่หนึ่ง เขามีความมุ่งมั่น
ข้อที่สอง เขาเป็นคนสะอาด บริสุทธิ์ ภริยาเขาก็สะอาดบริสุทธิ์ ครอบครัวก็สะอาดบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้น คนที่สะอาด บริสุทธิ์ กล้าที่จะทำอะไรก็ได้ที่มันเสี่ยงๆ เพราะตัวไม่มีแผล จึงคิดว่าเขาทำได้
ก้าวสู่ปี 2559 พล.อ.เปรม ก็ยังอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป
โดยบอกในวันเกิดว่า
“ตู่ เดี๋ยวนี้ป๋าอายุมากแล้ว ก็อยากจะช่วยตู่เท่าที่สามารถจะช่วยได้ ซึ่งสิ่งที่ช่วยคือ เวลาคุยกับใครก็จะไปบอกเค้าว่าทำไมตู่ต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้มันเหนื่อยเปล่าทำไม ป้อม (พล.อ.ประวิตร) ต้องมาช่วยน้องชาย และเจี๊ยบ (พล.อ.ธนะศักดิ์) ต้องมาช่วยเพื่อน พวกเราทุกคนเห็นว่ามีความจำเป็นในการเข้ามาในสถานการณ์เช่นนี้ ที่พูดไม่ได้หมายความว่าเรามาทำเพื่อใคร แต่เราทำเพื่อคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ขอให้ตู่มั่นใจว่าทหารแก่อย่างเราจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ตู่สามารถทำงานบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของชาติ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทำต่อไปจนกว่าจะได้ หากมีอุปสรรคก็ต้องแก้ไข”
และเมื่อ 29 ธันวาคม 2559 ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2560 พล.อ.เปรมก็ย้ำว่า อยากให้ทุกคนมั่นใจว่าภายใต้การนำของนายกฯ จะทำให้ความเหนื่อยของเราสิ้นสุดโดยเร็ว
การตอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่าของ พล.อ.เปรม ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะหลังสุดในช่วงก่อนสงกรานต์ และหลังที่มีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้ว
ทำให้มีการมองว่า นี่อาจจะไม่ใช่เพียงการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำแค่ตามโรดแม็ป
แต่อาจจะทะลุยาวตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องเหนื่อยต่อไป ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีคนนอก”
โดยมีโมเดลเหมือนสมัยที่ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสามารถบริหารเหนือพรรคการเมือง โดยมีวุฒิสภา กองทัพ ข้าราชการ เป็นฝ่ายสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ยาวนานถึง 8 ปี และได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ
แม้ว่าประเทศจะถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ก็สามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญมั่นคงได้
ด้วยโมเดลที่สำเร็จแล้วนี้เอง อาจทำให้ พล.อ.เปรม เชื่อว่า พล.อ.ปรนะยุทธ์ น่าจะสืบทอดได้
ซึ่งจะจริงหรือไม่ เวลาที่เหลืออีกปีเศษๆ ก็น่าจะมองเห็น
ส่วนเมื่อเห็นแล้ว
จะเป็นสวรรค์ หรือนรก ก็แล้วแต่วาสนา พล.อ.เปรมคงตามไปการันตีไม่ได้