PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หมายจับพันเอก - “ประวิตร” ยับเยินระวังอาฟเตอร์ช็อก !?

หมายจับพันเอก - “ประวิตร” ยับเยินระวังอาฟเตอร์ช็อก !?



ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
10 พฤศจิกายน 2558

ผ่าประเด็นร้อน

“พูดไม่ออกได้แต่กลอกหน้า” เป็นอาการล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จำเป็นต้องตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน หลังจากที่ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พ.อ.คชาชาต บุญดี ฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 อดีตผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.ป.1 รอ.) ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

โดยคำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า “ก่อนหน้านั้น ยังไม่มีหมายจับที่พัวพันกับนายทหาร ผมจึงได้ปฏิเสธว่า ไม่มีนายทหารเกี่ยวข้อง สื่อจะมาว่าผมไม่ได้ และใช้คำพูดแบบนี้ไม่ได้ พูดแบบนี้ก็แย่สิ มาหาว่าผมปฏิเสธ ก็ผมไม่รู้นี่ เพราะตอนนี้เขาเพิ่งออกมา (หมายจับ)”

ถามว่า การมีเรื่องเช่นนี้ออกมาจะส่งผลต่อกองทัพหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “จะมีผลอะไร คนมันหนีไปแล้ว แล้วจะให้ผมทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคล ผมย้ำไปแล้วว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล”

ส่วนจะมีการจับกุมนายทหารแค่รายนี้รายเดียวหรือไม่นั้น

“ขณะนี้มีเพียงรายเดียว ยังไม่ขอตอบว่าจะมีอีกหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องสืบสวนต่อไป และรอผลสอบสวนจากเจ้าหน้าที่”

ต้องบอกว่าราวกับ “หนังคนละม้วน” หักมุมเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา จากก่อนหน้านี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยให้สัมภาษณ์แบบยอมรับกลาย ๆ ว่า คดีดังกล่าว “อาจมีนายทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง” อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากมีข่าวออกมาว่ามีนายทหารระกับยศพลตรี และ พันเอก ในกองทัพพัวพันคดีถึงราว 40 - 50 คน และที่น่าสังเกต ก็คือ มีสื่อแทบทุกสำนักรายงานตรงกันว่าข่าวดังกล่าวมาจาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนจนทำให้ต้องมีการออกมาแถลงยืนยันว่าไม่เคยให้ข่าวแบบนั้น พร้อมทั้งขู่ฟ้องสื่อที่รายงานข่าวมาแล้ว

รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกมาปฏิเสธในเรื่องเดียวกันด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ว่าทำให้กองทัพเสียหาย หากนำเสนอข่าวออกไปก่อนโดยที่ยังไม่มีการออกหมายจับ แต่ถึงอย่างไรก็ได้ออกตัวไว้ว่าหากพบความผิดก็ “เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับกองทัพ”

แต่ที่น่าจับตา ก็คือ คำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กล่าวว่า “ก็คนมันหนีไปแล้ว จะให้ผมทำอย่างไร” ซึ่งคนที่หนีในที่นี้น่าจะหมายถึง “พ.อ.คชาชาต บุญดี” นั่นเอง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิจารณกัน ก็คือ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีรายงานข่าวยืนยันว่า นายทหารคนดังกล่าวได้หลบหนีออกจากประเทศไทยทางด่านแม่สอด เข้าไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยในรายงานข่าวยังระบุอีกว่า มีการเบิกเงินสดออกจากบัญชีผ่านผู้หญิงที่ใกล้ชิดคนหนึ่งในเชียงใหม่จำนวนกว่ายี่สิบล้านบาทออกไปด้วย และระบุชัดว่า “ไปแล้วไปลับ” ซึ่งเป็นรายงานข่าวที่ยืนยันมานานแล้ว รวมทั้งมีรายงานยศพลตรีอีกคนหนึ่งที่มีส่วนพัวพันในคดีนี้ด้วย

ซึ่งต่อมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมาปฏิเสธอย่างฉุนเฉียว ว่า “ไม่มีนายทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” จากนั้น พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หัวหน้าชุดสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงก็ออกมาแถลงปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ข่าวมีนายทหารยศพลตรี และพันเอก ราว 50 คน พัวพันคดี รวมทั้งยังย้ำว่าไม่มีทหารเกี่ยวข้อง

แต่ในที่สุดก็มีการแจ้งความดำเนินคดีและออกหมายจับ พ.อ.คชาชาต บุญดี ทำให้น่าจับตากันต่อไปว่าจะมีการออกหมายจับนายทหารรายอื่นตามมาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะนายทหารยศพลตรีรายหนึ่งก่อนหน้านี้ สำหรับรายของ พ.อ.คชาชาต นั้น มีรายงานว่า มีความผิดจากการเรียกรับผลประโยชน์จากกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์

แน่นอนว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่ถึงอย่างไรในเมื่อมีคนในกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญ มีความ “อ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของประชาชน ก็ยิ่งน่าจับตา และที่สำคัญ ต้องอย่าทำให้เกิดความรู้สึกว่า “มีการปกปิดหรือปกป้องพวกเดียวกัน” เป็นอันขาด เหมือนกับก่อนหน้านี้มีการยืนกรานว่า “ไม่มีทหารเกี่ยวข้อง” แต่ในตอนนี้กลับออกมาในทางตรงข้าม

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า สังคมยังเชื่อมั่นกองทัพ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วน ๆ แต่ขณะเดียวกัน นาทีนี้ถือว่าคนที่ยับเยินที่สุด ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความน่าเชื่อถือหดหายลงไป และที่น่าจับตาอีก ก็คือ จะเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” อะไรตามมาหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาจากปูมหลังและตำแหน่งปัจจุบันของ พ.อ.คชาชาต บุญดี คนนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะใกล้ชิดกับระดับ “ซูเปอร์บิ๊ก” เลยทีเดียว

ดังนั้น นอกจากต้องติดตามดูว่าจะเกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะต้องรอดูมีนายทหารรายอื่นเกี่ยวข้องและถูกออกหมายจับตามมาอีกหรือไม่ นี่ว่ากันเฉพาะภายในเรื่อง “สีเขียว”

ยังไม่นับกรณีการแถลงข่าวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เปิดเผยว่า สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” ผู้ต้องหาคดีกระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เวลา 22.00 น. !! 

ประกาศตั้งมูลนิธิราชภักดิ์


ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เป็นทางการแล้ว ประกาศตั้ง “มูลนิธิราชภักดิ์”หลังจดทะเบียนตั้งแต่ 16 ก.ย.58 ระบุทุนเริ่มแรก เงินสด 2 แสน 'พลเอก อุดมเดช สีตบุตร' นั่งตำแหน่งปธ. 
picccadomm12 11 15
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2558 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิราชภักดิ์”
ระบุว่า ด้วย พันเอก ศักดิ์ศิริ เกาะสูงเนิน ผู้รับมอบอำนาจ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิราชภักดิ์ต่อนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร มีใจความสำคัญตามข้อบังคับของมูลนิธิ ดังนี้
๑. มูลนิธิชื่อ “มูลนิธิราชภักดิ์”
๒. วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ คือ
๒.๑ เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้ 
๒.๒ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณองค์พระมหากษัตริย์ไทย ตลอดจนสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกแก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป
๒.๓ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุ อาคาร สิ่งปลูกสร้างรวมถึงการดูแลและบำรุงรักษาอุทยานราชภักดิ์
๒.๔ เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๒.๕ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด 
๓. สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๓๒๖/๒ ถนนอำนวยสงคราม แขวงถนนนครไชยศรีเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
๔. ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก คือ เงินสด จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน)
๕. การจัดการของมูลนิธิในวาระเริ่มแรก มีคณะกรรมการดำเนินงานดังรายนามต่อไปนี้
๕.๑ พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ประธานกรรมการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม)
๕.๒ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองประธานกรรมการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
๕.๓ พลเอก พิสิทธิ์ สิทธิสาร กรรมการ
๕.๔ พลโท สุทัศน์ จารุมณี กรรมการ
๕.๕ พันเอก ชูชาติ สุกใส กรรมการและเหรัญญิก
๕.๖ พันเอก สุชาติ พรมใหม่ กรรมการและเลขานุการ
นายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิรายนี้แล้ว เลขทะเบียนลำดับที่ กท ๒๕๘๕ ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๘ ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘
อภินันท์ ซื่อธานุวงศ์
รองปลดั กระทรวงมหาดไทย ปฎิบัติราชการแทน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อบังคับของมูลนิธิฯ มีจำนวนทั้งหมด 45 ข้อ แบ่งเป็นหมวดสำคัญต่างๆ อาทิ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ การเงิน การเลิกมูลนิธิ  
ทั้งนี้ ในส่วนการเงิน ระบุว่า ประธานมูลนิธิฯ หรือรองมูลนิธิฯ มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 1 แสนบาท เงินสดหรือเอกสารสิทธิต้องนำฝากไว้กับ ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน ถ้ามูลนิธิฯ ต้องล้มเลิกไปทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่กองทัพบก
(ดูประกาศและกฎข้อบังคับฉบับเต็มได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/D/121/20.PDF)

อ่านประกอบ : ตามไปดู! 'อุทยานราชภักดิ์' ในวันที่ 'คนบางกลุ่ม' ทำเรื่องมิบังควร! , 1,288 รายชื่อบริจาคสร้าง'อุทยานราชภักดิ์' กลุ่มทรูมากสุด5ล.-'หมอหยอง' 1 แสน

ทางเลือกระหว่าง"นางฟัา"หรือ"ซาตาน"

Posted by พล.ท.นันทเดช , ผู้อ่าน : 602 , 17:12:13 น.  
หมวด : การเมือง 

 พิมพ์หน้านี้ 
  โหวต 3 คน 

   
      การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเมียนมา (พม่า) จะเปลี่ยนโฉมหน้าของพม่าให้ดีขึ้น หรือแย่งลงนางอองซาน ซูจี จะเป็น “นางฟ้า” หรือ “ซาตาน” นั้น ลองมาดูข้อมูลพื้นฐานกันก่อนครับ
      ๑. พม่าเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และกระแส New World Order ที่มาพร้อมกับ “ประชาธิปไตย” แบบตะวันตกไว้ได้อย่างมั่นคง ด้วยการประกาศปิดประเทศ (ประมาณ ๑๐ ปี ในเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนในประเทศไทยพากันออกไปโบกธงเขียวให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จนทรัพยากรของประเทศตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติเกือบหมดประเทศแล้ว) ซึ่งทำให้พม่ายังสามารถรักษาทรัพยากรส่วนใหญ่ไว้ได้ และสามารถดูแลประชาชนเกือบ ๕๐ ล้านคนไม่ให้อดตายมาได้อย่างประหลาดครับ ท่ามกลางความกดดันและการแอนตี้จากประเทศตะวันตก
      ๒. การต่อต้าน New World Order ที่มาพร้อมกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกของพม่านั้น คือ การต่อต้าน “นางอองซาน ซูจี” นั่นเอง เพราะเธอสู้กับเผด็จการทหารพม่าอย่างโดดเด่นและทรหด เรื่องดังกล่าวนี้จึงทำให้ “อองซาน ซูจี” เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบเลย และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เชียร์อองซาน ซูจี กันตลอดมารวมทั้งตัวผมด้วย โลกสวยของอองซาน ซูจี คือ การทำให้ชาวพม่ามีความฝันแต่ในเรื่องที่ดีของประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องความเท่าเทียมกันในสิทธิของประชาชน, การกินดีอยู่ดี, การมีถนนหนทาง, มีศูนย์การค้าใหญ่ๆ แบบกรุงเทพฯ, การมีงานทำ ฯลฯ ส่วนเรื่องเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งมีมากกว่าหลายสิบเท่า นางอองซาน ซูจี ไม่เคยพูดถึงเลย ซึ่งเป็นไปได้ว่าเธอเองก็ไม่รู้ว่าความเลวร้ายของประชาธิปไตยมันมีมากขนาดไหน เพราะชีวิตเธอสู้มากับเผด็จการทหารแทบตลอดทั้งชีวิต ทหารพม่ารู้เรื่องโลกสวยของนางอองซาน ซูจี เป็นอย่างดี จึงหาทางป้องกันโดยกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญ ๒ เรื่องคือ (๑) กำหนดคุณสมบัติในการเป็นประธานาธิบดีไว้ไม่ให้ “เธอเป็น” และ (๒) ให้ทุกสภา (พม่ามี ๓ สภาฯ) ต้องมีบุคคลที่ทหารจะตั้งเข้าไป โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจำนวน ๒๕% (เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ สหรัฐฯ ไม่เห็นว่าเลย ลองเป็นประเทศไทยบ้างซิ มันด่าหัวฟูแน่)
      ๓. ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศมา ประธานาธิบดีเต็งเส่งมีผลงานออกมามากมายที่จับต้องได้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น ทางด้านการค้าการลงทุน, การวางตัวอยู่ในดุลอำนาจของกลุ่มประเทศตะวันตกกับประเทศจีน ได้อย่างเหมาะสม ส่วนทางด้านความมั่นคงมีข้อตกลงสงบศึกกับชนกลุ่มน้อยหลายสิบชนเผ่า ซึ่งดำเนินงานมาเป็นไปได้อย่างดี มาเสียตรงเรื่องชาวโรฮิงญาหน่อยเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผนวกกับเงื่อนไขที่ได้เปรียบในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพม่าจึงค่อนข้างมั่นใจต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ว่า
         ๓.๑ แพ้แน่ แต่ไม่น่าจะมากมายนัก เมื่อรวมเสียง ๒๕% ตัวเองแต่งตั้งเองแล้วก็น่าจะชนะเล็กน้อย
         ๓.๒ ทางชนกลุ่มน้อยน่าจะเลือกฝ่ายรัฐบาลพม่ามากกว่า เพราะนางอองซานฯ พูดถึงแต่คนพม่าจริงๆ แค่นั้น ส่วนชนกลุ่มน้อย “พูดคุยไว้พอเป็นไม้ประดับ”
         ๓.๓ มีอภิสิทธิ์ในการใช้กลไกรัฐหาเสียงอีก

      การคาดคะเนดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งนี้แบบบริสุทธิ์จริงๆ ขนาดที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ขนาดนี้เกิดขึ้นเลยครับ ใครจะมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งตรงไหนว่ามาได้ตามสบาย อยากจะหาเสียงแบบไหนเชิญเลย โดยหารู้ไม่ว่า “การรายงานโฆษณาชวนเชื่อของสื่อจากตะวันตก” ตลอดระยะเวลา ๒ สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ได้ทำให้ “นางอองซานฯ” เป็น “นางฟ้า” ลงมาปลดทุกข์ให้ชาวพม่า พร้อมกับโปรยความฝันถึงการเข้ามาลงทุนอย่างมากมายของชาวตะวันตก ชาวพม่าจึงอยากกิน “แดกด่วน” ยี่ห้อต่างๆ ของสหรัฐฯ, อยากมีโรงภาพยนตร์หลายมิติเหมือนอย่างในประเทศไทย, อยากมีรถไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นฝันร้ายที่ทำให้คนพม่าส่วนใหญ่เลือกนางอองซานฯ มากกว่าการเลือกกติกาประชาธิปไตยจริงๆ
พรรค NLD ของนางอองซานฯ หาเสียงด้วยคำขวัญ “Vote for Change” ใกล้เคียงกับคำขวัญของโอบาม่าเลย จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความตื่นเต้น ตื้นตันใจ ผนวกกับสื่อตะวันตก(รวมทั้งสื่อไทยด้วย) โหมกระหน่ำ กองทัพ นักข่าวต่อเป้าหมายเฉพาะนางอองซานอย่างเดียวเลย พรรคทหาร (พรรค USDP) ของรัฐบาลพม่าซึ่งมีคำขวัญในการหาเสียงทื่อๆ “Moving Forwad Together” (ใกล้เคียงกับของประเทศไทย) จึงแพ้ยับเยินครับ
      ส่วนการลงคะแนนเสียงของชาวพม่า ต้องขอชื่นชมที่มาเลือกตั้งกันแบบไม่ต้องมีการซื้อเสียง (เป็นครั้งแรก ครั้งต่อไปมีแน่) มากันแต่เช้า ต้องเข้าคิวกันยาวเหยียด มีความอดทนมาก เพราะประชาชน ๑ คน ต้องลงคะแนนเสียง ๓ ครั้ง คือ (๑) ส.ส.จำนวน ๓๓๐ ที่นั่ง, (๒) ส.ว.จำนวน ๑๖๘ ที่นั่ง และ (๓) สภารัฐ หรือสภาภูมิภาค จำนวน ๖๔๔ ที่นั่งนั้น ลงคะแนนแล้วต้องจุ่มนิ้วก้อยลงในหมึกสีม่วงที่ล้างไม่ออกไป ๗ วัน (ไม่มีการเวียนเทียนเด็ดขาด)
      เห็นข้อเท็จจริงได้ว่า “สื่อมวลชนมีความสำคัญมากขนาดไหน” ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนั้น กกต.พม่าจะประกาศประมาณ ๒๘ หรือ ๒๙ พ.ย. ๕๘ ดังนั้นการประชุมสภาเพื่อคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีน่าจะมีขึ้นในช่วงหลังปีใหม่ ๒๕๕๙ (ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะครบวาระใน มี.ค. ๕๙)

      ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กก่อนการเลือกตั้ง ๓ วันไว้ดังนี้ครับ
   “ไม่ว่าผลเลือกตั้งของพม่าออกมาในแบบไหน อองซานซูจี หรือ เต็งเสง จะชนะ วันนี้พม่าจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นวันนี้ ได้ทำให้พม่ากำลังเริ่มจะเปลี่ยนไป ถ้าอองซานซูจีชนะ ความอ่อนหัดทางธุรกิจ ทางด้านความมั่นคง จะทำให้ประเทศปั่นป่วน การโกงกินจะเกิดขึ้นทั่วไป แต่ถ้าททหารชนะ การช่วยเลือในเรื่องการค้าขายสินค้าจากประเทศตะวันตกจะมีปัญหาตามมาอีกเป็นพรวน การโกงก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ถ้าไม่ลงให้ตะวันตกก็ต้องปิดประเทศต่อไป
ภาพของประเทศไทยในยุคปี ๓๕ และ ปี ๔๙ ผสมกันก็จะกลับมาอีก ในประเทศพม่า ผมจึงไม่อยากให้นางอองซานชนะ อยากให้เธออยู่เป็นเสาหลักคอยคุมสถานการณ์อยู่เช่นเดิม อย่าให้ทหารโกงมากเกินไป จะดีกว่าครับ”
      บทสรุป
      คะแนนที่ได้มาอย่างท่วมท้นของพรรค NLD นั้น ประชาชนพม่าไม่เคยดูเลยว่า ผู้สมัครของเขามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดไว้ว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงแข่งก็ได้รับเลือกตั้ง” ปัจจุบัน ประธานาธิบดีเต็งเส่งออกมาประกาศพร้อมที่จะถ่ายโอนอำนาจให้นางอองซาน ซูจี เข้ามาบริหารบ้านเมือง ตอนนี้เองที่ทำให้คนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งพรรค NLD ไปแล้วจำนวนมากเพิ่งนึกออกว่า

      - นางอองซาน ซูจี เป็นตัวแทนชาติตะวันตกอย่างชัดเจน ผลประโยชน์ของประเทศจีนในพม่าเต็มเมืองไปหมด จะทำกันอย่างไรดี เพราะพม่าเป็นประเทศที่จีนใช้เชื่อมจากจีนตะวันตกเข้าไปยังจีนตอนใต้ โดยไม่ต้องการผ่านช่องแคบมะละกา
      - นางอองซาน ซูจี ไม่เคยต่อสู้อะไรเพื่อชนกลุ่มน้อยเลย แม้จะได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ แต่เรื่องโรฮิงญา เธอไม่แสดงอะไรออกมา เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงจากคนพม่าแท้ๆ
      - นางอองซาน ซูจี ไม่เคยบริหารประเทศมาก่อนเลย แม้แต่ระบบราชการของพม่า ซึ่งซับซ้อนกว่าประเทศอื่นก็ไม่ได้รู้จัก ผนวกกับเธอเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก เผด็จการเล็กๆ เลยล่ะ ข้าราชการอื่นๆ จะปั่นป่วนขนาดไหน
      ก็หวังว่า นางอองซานฯ คงหาวิธีที่จะหาตัวประธานาธิบดีที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนกลางที่ฝ่ายทหารและข้าราชการยอมรับได้ เพื่อให้คำขวัญของทั้ง ๒ พรรคมารวมกันได้ คือ “เปลี่ยนแปลงและก้าวเดินไปด้วยกัน” ไม่เช่นนั้น พอบ้านเมืองตื่นประชาธิปไตย คนออกมาประท้วงสัก ๒-๓ ครั้ง ทหารพม่าออกมารัฐประหารแน่ครับ ดังนั้น นางอองซานฯ จะเป็นนางฟ้า หรือซาตาน ก็อยู่ที่ตัวเธอเองที่เป็นบทเรียนในเรื่องประชาธิปไตยบทแรกของพม่า ยังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องครับ กว่าจะตามประเทศไทยทัน

ประมูล4Gใครได้ประโยชน์

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz ของ กสทช. ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายทั้งในแง่ตัวเลขเงินที่ประมูล และความยืดเยื้อยาวนานของการประมูลที่กินเวลารวมเกือบ 2 วันเต็ม
คำถามที่หลายคนสงสัยคือคลื่น 1800MHz มีอะไรน่าสนใจ จนบรรดาโอเปอเรเตอร์ต้องต่อสู้กันดุเดือดถึงเพียงนี้ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ขั้นต้นแบบด่วนๆ หลังประกาศผลประมูลครับ (ข้อมูลอาจไม่ครบถ้วนนัก และวิเคราะห์ด้วยยอดรวมการประมูลของแต่ละบริษัทเท่านั้น ไม่ได้สนใจจังหวัการประมูลแต่ละขั้นตอนนะครับ)

แย่งคลื่นกันไปทำไม

คำถามแรกที่ทุกคนถามคงเป็นว่าทำไมต้องแข่งประมูลกันดุเดือดขนาดนี้ คำตอบคงขึ้นกับมุมมองของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายด้วย (เดี๋ยวคงมีบทสัมภาษณ์ตามมาในหน้าสื่อต่างๆ) แต่ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายมองอนาคตของธุรกิจการสื่อสารไร้สายว่ามีแต่จะโตขึ้น ไม่มีทีท่าจะลดลง ในขณะที่ทรัพยากรคลื่นความถี่มีจำกัด ดังนั้นความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวย่อมขึ้นกับว่าโอเปอเรเตอร์แข่งขันได้เรื่องปริมาณคลื่นในมือมากน้อยแค่ไหน
บริการโทรคมนาคมในอดีต ผูกตัวเทคโนโลยีในยุคนั้นกับความถี่แต่ละย่าน เช่น 900/1800MHz สำหรับบริการ 2G หรือ 2100MHz สำหรับบริการ 3G ส่งผลให้คลื่นช่วงความถี่ที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจมากนัก (เพราะได้ไปก็อาจหาอุปกรณ์รองรับยาก เช่น True 3G 850MHz ช่วงแรกๆ) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่งผลให้ปัจจัยเรื่องย่านความถี่ไม่เป็นปัญหามากเท่าเดิม เทคนิคการรวมคลื่นความถี่หลายย่านในการส่งข้อมูลครั้งเดียว (carrier aggregation) เริ่มถูกนำมาใช้ในวงกว้าง โดยเฉพาะใน LTE Advanced ที่จะมาถึงเราในไม่ช้า
ดังนั้น ในภาพใหญ่แล้ว โอเปอเรเตอร์ย่อมต้องการสะสมคลื่นความถี่ในมือให้มากไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันในระยะยาวที่ได้เปรียบคู่แข่ง ตราบเท่าที่กำลังเงินในมือจะอำนวย

ลำดับของการประมูลคลื่นในอนาคตที่มองเห็น

เมื่อเข้าใจภาพใหญ่เรื่องการสะสมคลื่นในมือให้มากแล้ว ในรายละเอียด เราต้องมาดูกันว่าแผนการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ในอนาคตระยะที่มองเห็นนั้นเป็นเช่นไร
ตามกำหนดของ กสทช. ปี 2558 จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 2 ครั้งคือ 1800MHz ของ True/DPC เดิม (ครั้งนี้) และ 900MHz ของ AIS 2G เดิมในเดือนธันวาคม จากนั้นจะมีคลื่นสัมปทาน 2G ล็อตสุดท้ายคือ ย่าน 1800MHz ของ dtac ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ประมูลเมื่อไร (2561 บวกลบเล็กน้อย)
คลื่นย่านอื่นที่เหลืออยู่ในการครอบครองของหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เช่น TOT, CAT, MCOT รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ค่อยอยากส่งคลื่นคืนกลับ กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่สักเท่าไรนัก ในทางปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจถือได้ว่าคลื่นที่ว่างและรอนำมาจัดสรรใหม่ จึงมีแค่คลื่น 3 ย่านในย่อหน้าก่อนหน้านี้

การประมูลคือความเสี่ยง การจัดประมูลคือความเสี่ยงยิ่งกว่า

ประวัติการจัดประมูลของ กสทช. ที่ผ่านมาก็มีความไม่แน่นอนอยู่หลายครั้งด้วยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การประมูล 2100MHz ของ กทช. ที่ถูกล้มประมูลไป, การประมูลคลื่น 1800MHz (รอบนี้) ที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากตัว กสทช. เองและคำสั่งเลื่อนของ คสช. หลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้ภาคเอกชนมีความเสี่ยงในการปล่อยให้คลื่นภายใต้สัมปทานเดิมหมดอายุ และไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีสิทธิใช้คลื่นย่านใหม่อีก "เมื่อไร"
เพราะถ้าหากคลื่นเดิมของตัวเองหมดอายุ และไม่สามารถหาคลื่นอื่นมาทดแทนได้ล่วงหน้า นั่นอาจหมายถึงโอเปอเรเตอร์รายนั้นต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเลยด้วยซ้ำ การซื้อกิจการ Hutch ของ True เมื่อหลายปีก่อน เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะคลื่น 1800MHz ของ True ใกล้หมดอายุ และตอนนั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าการประมูล 2100MHz จะเกิดขึ้นเมื่อไร
การประมูลครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน โอเปอเรเตอร์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคลื่น 1800MHz ชุดนี้จะได้ประมูลหรือไม่ (เพราะก่อนวันประมูลก็มีสหภาพของรัฐวิสาหกิจยื่นฟ้องศาลปกครอง แม้สุดท้ายศาลจะไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว) แถมการประมูลรอบถัดไปคือ 900MHz ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ประมูล ถ้าพิจารณาจากข่าวที่รัฐบาลเตรียม "เช็คบิล" AIS ในฐานะคู่สัมปทานเดิมของ TOT
ทางออกที่ปลอดภัยที่สุดย่อมเป็นการคว้าคลื่นที่มองเห็นและจับต้องได้ให้อุ่นใจไว้ก่อน ดีกว่าไปหวังน้ำบ่อหน้าที่ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การประมูลรอบนี้เกิดการแข่งขันสูงมาก

ผลการประมูล

เราทราบกันแล้วว่า ผลการประมูลจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม AIS และ True โดยมียอดตัวเลขดังนี้ (เรียงจากมากไปน้อย)
  • AIS 40,986 ล้านบาท (ชนะสล็อต 2)
  • True 39,792 ล้านบาท (ชนะสล็อต 1)
  • Jas 38,966 ล้านบาท
  • Dtac 17,504 ล้านบาท
ตัวเลขนี้สามารถวิเคราะห์แนวทางการประมูลได้คร่าวๆ ดังนี้
AIS - หลังชนฝา ยังไงก็ต้องชนะ
AIS เป็นเบอร์หนึ่งของวงการโทรศัพท์มือถือไทยมายาวนาน เหตุผลสำคัญเป็นเพราะบุกเข้ามายังตลาดนี้เป็นรายแรก ภายใต้สัมปทานคลื่น 900MHz กับ TOT
อย่างไรก็ตาม ปี 2558 นี้เป็นปีที่สัมปทานดั้งเดิมของ AIS หมดลง ส่งผลให้ AIS มีคลื่นในครอบครองเพียงย่านเดียวคือ 2100MHz ที่ชนะการประมูลมาในรอบก่อน คลื่นชุดนี้มีความกว้างเพียง 15MHz ย่อมไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการลูกค้า AIS จำนวน 37 ล้านเลขหมาย
AIS ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องชนะการประมูล เพื่อถือครองคลื่นความถี่ชุดที่สองให้จงได้ เพราะความเสียหายจากการแพ้ประมูลย่อมรุนแรงกว่าราคาประมูลมาก
True - เดินหน้าสะสมความถี่
ปัจจุบันกลุ่ม True มีคลื่นในมืออยู่ 2 ย่านคือ 2100MHz จากการประมูล และ 850MHz จากการซื้อกิจการ Hutch และเซ็นสัญญาร่วมการงานกับ CAT แถมยังมีอายุคลื่นทั้งสองชุดเหลืออีกนาน ถ้าเทียบสถานการณ์แล้ว True ถือว่า "ชิว" ที่สุดในบรรดาผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย
แต่อย่างที่บอกไปว่าการสะสมความถี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโอเปอเรเตอร์ยุคถัดไป อีกทั้งคลื่น 1800MHz เป็นคลื่นชุดเดิมที่ True เคยใช้งาน (กับบริการ 2G หรือ Orange เดิม) การที่ True จะเดินหน้าลุย สู้ราคาประมูลจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก แถมฐานะทางการเงินของบริษัทก็ดีขึ้นมาก หลังจากได้ China Telecom เข้ามาถือหุ้น และจัดทัพภายในของตัวเองใหม่ โดยตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน True GIF ที่ระดมทุนมาได้พอสมควร
Jas - น้องใหม่ไฟแรงเฟร่อ
กลุ่มจัสมิน (Jas) เป็นหน้าใหม่ของวงการโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นหน้าเก่าของวงการโทรคมนาคมไทย ตั้งแต่บริการโทรศัพท์บ้าน TT&T, บริการบรอดแบนด์ 3BB และในเครือเองยังขยายมายังธุรกิจสื่อ (Mono) ด้วย การขยับมาทำบริการโทรศัพท์มือถือจึงเป็นส่วนต่อขยายโดยธรรมชาติของ Jas และที่ผ่านมาบริษัทก็ออกตัวชัดเจนว่าต้องการประมูลคลื่นมาทำ 4G ให้จงได้
ถึงแม้ Jas จะไม่ชนะการประมูล แต่ราคาประมูลที่แพ้แบบฉิวเฉียด (38,966 ล้านบาท) ก็เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า Jas เนี่ยแหละเป็นตัวป่วนสนาม ส่งผลให้การแข่งขันดุเดือดได้ขนาดนี้ และแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของ Jas ที่ต้องการขยายไลน์บริการของตัวเอง ไม่ได้แค่สักแต่โม้เพียงอย่างเดียว
Dtac - ยังพอยิ้มได้ แม้หมอบไพ่ก่อน
สิ่งที่หลายคนแปลกใจคงเป็น Dtac เบอร์สองของวงการมือถือไทย ที่หยุดประมูลตั้งแต่ราคา 1.7 หมื่นล้านบาท (และนั่งเล่นรอในห้องอีกข้ามวัน) คลื่นในมือของ Dtac มีย่าน 2100MHz จากการประมูล และย่าน 1800MHz อีกชุดที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561
การที่ Dtac ทิ้งไพ่ ไม่ยอมทุ่มเงินเพื่อชิงคลื่น 1800MHz ชุดนี้มาครอง จึงพอเข้าใจได้เช่นกันว่าอยู่ในสภาพไม่ได้ไม่เสียอะไร และในแง่ของการเงินอาจดีด้วยซ้ำที่ไม่ต้องประมูลคลื่นแพง เพราะ Dtac ยังมีเวลาหายใจไปอีกราว 3 ปีก่อนคลื่นของตัวเองจะหมดอายุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลานั้นมาถึง Dtac จะมีสภาพคล้ายกับ AIS ในการประมูลรอบนี้ คือหลังชนฝาไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องทุ่มสุดตัวเอาคลื่นมาให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือการประมูลคลื่น 900MHz ในเดือนธันวาคม ที่ Dtac น่าจะเอาจริงมากขึ้นกว่ารอบนี้

ก้าวต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นในการประมูลคลื่น 900MHz

เหตุการณ์ช็อตต่อไปที่ต่อเนื่องกับการประมูลคลื่น 1800MHz รอบนี้ คือคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม โดยมีรูปแบบคล้ายกันคือประมูล 2 ใบอนุญาต (ช่วงกว้างคลื่น 10MHz ต่อใบอนุญาต) ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 รายจะเหมือนกับการประมูลรอบนี้
ฉากทัศน์ (scenario) ที่เป็นไปได้มี 2 แนวทาง
  • การแข่งขันลดความรุนแรงลง เนื่องจาก AIS และ True ได้คลื่น 1800MHz ไปแล้ว ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการไม่มีคลื่นสะสมในมือ และสองรายข้างต้นใช้เงินกับการประมูล 1800MHz ไปมากพอสมควรแล้ว
  • การแข่งขันรุนแรงเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายยังต้องการสะสมคลื่นเหมือนเดิม
คำตอบคงขึ้นกับสภาพการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ราย แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าสภาพการณ์จะคล้ายการประมูลครั้งนี้ (แต่อาจลดความเข้มข้นลงมาเล็กน้อย) นั่นคือ AIS จะเอาคลื่นเพิ่มอีก (ยิ่งเป็น 900MHz เดิมที่ตัวเองเคยใช้งาน) ส่วน Jas จะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วถ้าต้องการเข้าสู่ตลาด 4G ในปีนี้ (เพราะไม่รู้ว่าประมูลงวดหน้าเมื่อไร) แถมเรายังเห็น "หน้าตัก" ของ Jas แล้วว่าสามารถทุ่มได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในการประมูลงวดหน้า Jas น่าจะสู้ไม่ถอยอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีของ Dtac จะรับความกดดันสูงขึ้น เพราะพลาด 1800MHz มาแล้ว เพื่อความปลอดภัยควรครอง 900MHz ให้ได้สักใบ จะดีกว่าการมีแค่คลื่น 2100MHz แล้วไปรอคลื่น 1800MHz ของตัวเองหมดอายุสัมปทาน สุดท้ายคือ True ดูจะสบายใจที่สุด เพราะมีคลื่นในมือแล้ว 3 ย่าน (850/1800/2100) ถ้าได้ 900MHz มาอีกก็จะยิ่งแข็งแกร่ง แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไรมาก

ราคาประมูลแพง ค่าบริการจะแพงด้วยหรือไม่?

คำถามอีกข้อที่คนถามกันมากคือโอเปอเรเตอร์แข่งกันกดราคาคลื่นจนแพงกว่าที่คาดมาก ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ถ้าใช้ทฤษฎีการแข่งขันมาอธิบาย ต้องบอกว่าค่าบริการจะถูกหรือแพง ขึ้นกับสภาพการแข่งขันในตลาด (competition) เป็นหลัก ต่อให้ประมูลคลื่นมาแพง แต่ถ้าสภาพการแข่งขันสูง ราคาจะลดลงมาเองโดยธรรมชาติ ในทางกลับกัน ต่อให้คลื่นถูกประมูลได้ในราคาถูก แต่ถ้าสภาพการแข่งขันน้อย บริษัทก็จะรวมหัวกัน "ฮั้วค่าบริการ" แบบอ่อนๆ เพื่อกินส่วนต่างกำไรที่ดีกว่า
ดังนั้นถ้าหากว่า Jas เกิดชนะการประมูล 900MHz ขึ้นมา และส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ไทยเพิ่มจาก 3 เป็น 4 ราย สภาพการแข่งขันในตลาดย่อมเยอะขึ้นไปด้วย แต่ถ้า Jas แพ้ประมูลอีก สภาพการแข่งขันก็จะเหมือนเดิม (ในแง่นี้ก็ควรเชียร์ให้ Jas ชนะประมูลนะครับ เพื่อการแข่งขันที่มากขึ้น)
นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้บริการโทรศัพท์บนคลื่นชุดเดียว (เช่น True ให้บริการ 3G บนคลื่น 850MHz และ 4G บนคลื่น 2100MHz) ซึ่งคลื่นแต่ละย่านมีที่มาที่ไป มีต้นทุนแตกต่างกัน การคิดมูลค่าการประมูลคลื่นย่านเดียวกับแพ็กเกจค่าบริการทั้งหมด อาจไม่ถูกต้องนัก และในทางปฏิบัติแล้ว ค่าคลื่นเป็นแค่ต้นทุนส่วนหนึ่งของโอเปอเรเตอร์เท่านั้น ยังมีต้นทุนค่าดำเนินการ (operating cost) มาเป็นปัจจัยร่วมด้วยเช่นกัน
ส่วนการประมูลคลื่นในราคาแพง จะส่งผลต่อกำไรของบริษัทและปันผลที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ อันนี้คงเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่จะประเมินความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเองครับ

เปิดตัวขุนพลข้ากาย"บิ๊กหมู"

รายงานพิเศษ

สยบกระแส "แช่แข็งประเทศ" "บิ๊กตู่" ถอย วาทกรรม "ปิดประเทศ" เปิดตัว ขุนพล ข้างกาย "บิ๊กหมู" "บิ๊กโชย-บิ๊กปาน-บิ๊กบี้-บิ๊กหนุ่ย" จับตา "บิ๊กเจี๊ยบ" รบพิเศษ กลางดง "บูรพาพยัคฆ์"

มติชนสุดสัปดาห์ 6-12 พฤศจิกายน 2558



หลังจากที่ คำพูด ที่ว่า "การเมืองไม่ต้องระแวงผม เขียนกันทุกวันว่าผมอยากอยู่ในอำนาจหรืออยากอยู่ต่อ หากไม่สงบเรียบร้อย ผมก็ต้องอยู่ เอายังงี้มั้ย พูดกันให้รู้เรื่องสักที อยู่ที่ท่านนั้นแหละ หากไม่เลิกกันก็อยู่กันอย่างนี้ ปิดประเทศก็ปิดกันไป ผมไม่ได้ท้าทาย หากจะเอาประชาชนมา แกนนำจะโดนก่อน คนพูดมากๆ โดนก่อนหมด ผมมีอำนาจของผมอยู่" ของ บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในการประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อ 28 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา 

จนกลายเป็นเรื่องฮือฮา และถูกนำไปตีความกันว่า บิ๊กตู่ จะอยู่ต่อ หากประเทศไม่สงบ และพร้อมที่จะ "ปิดประเทศ" อันสร้างความตื่นตระหนกอย่างยิ่ง

เพราะมีการนำไปโยงกับ "แผนแช่แข็งประเทศ" นาน 5 ปี ที่ เสธ.อ้าย พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เมื่อครั้งนำมวลชนชุมนุมไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

รวมถึง กระแสข่าวก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ว่า หาก พลเอกประยุทธ์ ก่อการรัฐประหาร แล้ว จะใช้ "ยาแรง" ด้วยการเป็นนายกรัฐมนตรี เอง และจะอยู่ยาว 3-5 ปี หรือหาไม่สงบ กลุ่มอำนาจเก่า ยังจะกลับมา ก็จะต้อง "ปิดประเทศ" ไปเลย

จนทำให้ พลเอกประยุทธ์ ต้องรีบสยบความเข้าใจผิด นี้ ด้วยการยืนยัน ว่าไม่เคยคิด "ปิดประเทศ" เพราะมองว่า สถานการณ์ก่อน 22 พฤษภาคมนั้น ก็เป็นการปิดประเทศไปแล้ว ปิดทางความรู้สึก งบประมาณเบิกจ่ายไม่ได้ ประเทศไม่เดินหน้า นักท่องเที่ยวหนีหมด

"ผมต่างหากที่ตอนนี้กำลังพยายามจะเปิดประเทศ หลังจากที่ปิดมานานอยู่แล้ว แล้วผมจะไปปิดประเทศทำไม ยิ่งในสมัยนี้ปิดประเทศได้มั้ยเล่า แต่ที่พูดหมายถึง ผมไม่ต้องการให้กลับไปเป็นแบบนั้นอีก" พลเอกประยุทธ์ แจง

แต่ทว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของ โพลบางสำนัก ก็ระบุว่า ประชาชนกว่าครึ่งหนึ่งขอการสำรวจ เห็นด้วยหากจะปิดประเทศ หากประเทศไม่สงบ 

จนพลเอกประวิตรออกมาระบุว่า เป็นการสะท้อนว่า ประชาชนต้องการความสงบ มากกว่า เรื่องประชาธิปไตย เพราะหากเลือกตั้งไม่ได้ หรือเลือกตั้งแล้วเกิดความรุนแรง มีการใช้อาวุธสงคราม มีบาดเจ็บล้มตายกัน เมื่อถึงเวลานั้น "จะเอายังไงก็เอา" แม้จะยอมรับว่า เป็นหนทางที่ยังมองไม่เห็นในโลกยุคปัจจุบัน

แต่จากการประเมินของ ฝ่าย คสช. มองว่า ไม่ได้ทำให้ พลเอกประยุทธ์ เสียคะแนนนิยมไปจากวาทกรรม "ปิดประเทศ" หรือ "ไม่สงบ จะอยู่ต่อ" ทั้งการประเมินภายใน มองว่า พลเอกประยุทธ์ ยังสามารถอยู่ต่อไปได้อีก 2 ปี หรือนานกว่านั้น 

โดยจะดูสถานการณ์ตอนเลือกตั้งกรกฎาคม 2560 อีกที



จึงไม่แปลกที่ บิ๊กหมู พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นทั้ง เลขาธิการ คสช. และ รอง ผอ.รมน. และผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ของ คสช. จะเร่งเดินหน้าในการช่วยชี้แจง และสยบข่าวลือ ความเข้าใจผิด แทน พลเอกประยุทธ์ และรัฐบาล 

ทั้งการส่งทหาร และสั่งให้ นักศึกษา รด. กว่า 3 แสนคน ทั่วประเทศ ไปช่วยชี้แจง เรื่องโรดแมพ และเจตนารมณ์ ความตั้งใจของนายกฯ

พร้อมทั้งส่งทหาร ลงไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด ในกองทัพภาคต่างๆ ที่ตนเองไปเยือน มาประชุมทำความเข้าใจ ในแนวทางของรัฐบาลและ คสช. เพื่อเร่งรัดการทำงาน

เรียกได้ว่า พลเอกประยุทธ์ สั่งอะไร พลเอกธีรชัย รับปฏิบัติทันที เพื่อให้ยุติความหวาดระแวง หรือกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า ตัวเขาเองเป็นน้องรักของ บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ แล้วจะฟังแต่ บิ๊กป้อม คนเดียว 

จนเวลานี้ไม่ว่าไปไหน ทำอะไร พลเอกธีรชัย จะต้อง อ้างอิง นโยบายและคำสั่งของ พลเอกประยุทธ์ ทั้งสิ้น 

แม้แต่ ม็อตโต้ ในการทำงาน ก็ยังเป็น "กองทัพเข้มแข็ง ประเทศมั่นคง" เพื่อให้สอดรับกับ "ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ยั่งยืน" ของ พลเอกประยุทธ์ ด้วย



ด้วยการเป็น ผบ.ทบ. ที่เปี่ยมอำนาจ เป็นศูนย์กลางอำนาจ เช่นนี้ ภารกิจของมากมาย พลเอกธีรชัย จึงต้องมีนายทหารขุนพล ข้างกาย มาช่วยงานสำคัญๆ จำนวนมาก แต่ทว่า ต้องผ่านการเลือกสรรมาแล้ว

ทั้ง บิ๊กปาน พลโทจิระพันธ์ มาลีแก้ว รอง เสธ.ทบ. แกนนำเตรียมทหาร 17 ถือว่า ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะขึ้นมาเข้าไลน์ เป็น รอง เสธ.ทบ. แล้ว บิ๊กหมู ยังเลือกให้เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของ คสช. ด้วย

ทั้งนี้เพราะ พลเอกธีรชัย ในฐานะเลขาธิการ คสช. ปรับโครงสร้าง ให้ ศปป.มาขึ้นตรงกับ เลขาธิการ คสช. แทนที่เคยขึ้นตรงกับปลัดกลาโหม

ไม่แค่นั้น พลเอกธีรชัย ยังไว้วางใจ พลโทจิระพันธ์ ด้วยการมอบหมายให้เป็น ผู้จัดการทีมฟุตบอล ทบ. อาร์มี่ ยูไนเต็ด อีกด้วย แม้ พลโทจิระพันธ์ จะไม่ได้เป็น อดีตนักฟุตบอล รร.นายร้อย จปร. หรือเตรียมทหาร แต่ก็เป็นทหารนักรบ เพราะเคยเป็น ผบ.ร. 31 รอ. หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของ ทบ. โดยเจ้าตัว เผยว่า เป็นนักยูโด อีกทั้ง เป็นรอง เสธ.ทบ. (5) ที่คุมสายงานกิจการพลเรือนด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเพื่อนรุ่นน้องของ บิ๊กโชย พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ ผช.ผบ.ทบ. ที่ พลเอกธีรชัย ก็วางใจ มอบหมายให้เป็น CEO-ของสโมสร Army United เพราะเติบโตมาจาก ร.31 รอ. ด้วยกัน เพราะ พลเอกกัมปนาท เองก็ไม่ได้เป็นนักฟุตบอล แต่เป็นนักรักบี้ แต่ทว่า เป็น พลเอกกัมปนาท เป็น น้องรักของ พลเอกประยุทธ์

ไม่ได้มอบหมายให้ บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. ที่เป็นนักฟุตบอลแข้งทองของ ทบ. จนได้ฉายาในยุคใหม่นี้ว่า "เมสซี่ เจี๊ยบ" ที่ทุกวันนี้ ยังคงฟิตตามสไตล์ทหารรบพิเศษ เตะฟุตบอลอยู่

ที่สำคัญคือ ในยุค บิ๊กโด่ง พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เป็น ผบ.ทบ. นั้น นายทหารที่ได้ชื่อว่า ลูกน้องของบิ๊กโชย ก็โดนเตะเข้ากรุ และหลายคน ไม่ได้ตำแหน่งที่คิดว่าควรจะได้ แม้ว่า พลเอกกัมปนาท ในเวลานั้น จะเป็น แม่ทัพภาค 1 ก็ตาม

จึงไม่แปลก ที่ในยุค พลเอกธีรชัย นี้ น้องรักของบิ๊กโชย อย่าง เสธ.โอรส พันเอกกัณฑ์ชัย ประจวบอารีย์ (ตท.27) จะได้ขยับเข้าไลน์ มาเป็น รอง ผบ.พล.1 รอ. และจ่อที่จะเป็น ผบ.พล.1 รอ. คุมกำลังหลักในอนาคตอันใกล้ 

โดยมี เสธ.อ๊อบ พันเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี นายทหารรุ่นพี่ ตท.24 เป็น รอง ผบ.พล.1 รอ. ที่อาวุโส กว่า ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า ใครจะถึงฝั่งฝัน หรือว่าจะต่อคิวกัน



แต่ทว่า ผบ.พล.1 รอ. คนใหม่ ที่เรียกว่าเป็น ขุนพลข้างกายของ พลเอกธีรชัย ตอนนี้ คือ บิ๊กบี้ พลตรีณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ก็เรียกว่า เป็น น้องรัก ที่โตมาจาก ร.31 รอ. กับ พลเอกกัมปนาท ด้วยเช่นกัน และเป็น ผบ.หน่วย ตอนกระชับพื้นที่ ปี 2553 ทำงานเคียงข้าง พลเอกกัมปนาท อีกทั้งยังเคยรับราชการใน พล.ร.2 รอ. มาอีกด้วย

พล.1 รอ. ถือเป็น ขุมกำลังรบสำคัญของกองทัพบก และกองทัพภาค 1 จนได้ฉายาว่าเป็น กองพลปฏิวัติ ของ ทบ. เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพภาค 1

พลตรีณรงค์พันธุ์ เตรียมทหาร 22 ถือเป็นนายทหารนักรบอีกคน ที่ไม่ค่อยพูด เป็นคนเงียบๆ แต่ทำงานจริงจัง ไม่เคยปริปากบ่น ไม่ว่าภารกิจใด จนทำให้เขามีม็อตโต้ประจำตัวว่า "บี้ อดทน" เพราะความเป็นที่เป็นทหาร ก็ต้องอดทน นั่นเอง

พลตรีณรงค์พันธุ์ ถือเป็นเพื่อนรักของ บิ๊กหนุ่ย พลตรีธรรมนูญ วิถี ผบ.พล.ร.9 ที่ก็ถือเป็นขุนพลข้างกายตัวจริงของ พลเอกธีรชัย 

เพราะก่อนที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.พล.ร.9 ในโผโยกย้ายตุลาคมที่ผ่านมานั้น เขามานั่งเป็นฝ่ายเสนาธิการของ พลเอกธีรชัย ตอนเป็น ผช.ผบ.ทบ. ก่อนด้วย และเคยเป็น ผบ.ร.12 รอ. และ รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ด้วย

จึงทำให้มีข่าวสะพัดมาตั้งแต่ก่อนการโยกย้ายตุลาคมที่ผ่านมาว่า พลตรีธรรมนูญ ซึ่งเป็นลูกหม้อของ พล.ร.2 รอ. จะขยับไปเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. แต่เนื่องจาก บิ๊กหิน พลตรีศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ น้องรักของ พลเอกอุดมเดช เพิ่งขึ้นมาเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. เมื่อเมษายน 2558 ที่ผ่านมา เกรงว่า อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง พลเอกธีรชัย กับ พลเอกอุดมเดช อีกได้



นี่จึงทำให้เกิดกระแสข่าวว่า โยกย้าย เมษายน 2559 นี้ พลเอกธีรชัย จะย้าย พลตรีธรรมนูญ กลับถิ่นบูรพาพยัคฆ์ เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. แทน พลตรีศรีศักดิ์ ที่จะเป็นได้ครบ 1 ปี เพราะ พล.ร.2 รอ. ถือเป็นขุมกำลังรบหลักของ ทบ. อีกทั้ง พลเอกธีรชัย ก็เติบโตมาจาก พล.ร.2 รอ. นี้เช่นกัน

นอกจากนี้ พลตรีธรรมนูญ ยังเป็น ดาวรุ่งของ บูรพาพยัคฆ์ ที่ถูกวางตัวให้เป็น ผู้นำ ทบ. ในยุคต่อๆ ไป เพราะนอกจากเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และเป็นขุนพลคนสำคัญตอนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว ยังเป็น น้องรักของ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

ไม่แค่นั้น พลตรีธรรมนูญ ยังคงทำหน้าที่ เป็นเสมือนนายทหารฝ่ายเสนาธิการ คอยให้คำปรึกษา พลเอกธีรชัย อยู่เงียบๆ อีกด้วย ทั้งในฐานะที่เคยเป็น ฝ่าย เสธ. และเป็นน้องรัก นั่นเอง



ทุกวันนี้ ขุนพลข้างกาย พลเอกธีรชัย ที่อยู่ใกล้ตัวนั้น นำโดย บิ๊กหม่อม หรือบิ๊กจิ๋ว พลตรี ม.ล.เพิ่มวุทธิ์ สวัสดิวัตน์ ที่เป็นเพื่อนรักของ พลเอกธีรชัย แต่ทว่า จบจากต่างประเทศ และเป็นเหล่าสารวัตรทหาร วันนี้จึงกลายเป็นทั้งฝ่าย เสธ. และเพื่อคู่คิดของ พลเอกธีรชัย

รวมถึงเป็นหัวหน้าทีม รปภ. ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ พลเอกธีรชัย และเป็นคนที่พลิกโฉมหน้ากองทัพบก ด้วยการให้ สห.ทบ. มาทำหน้าที่ทีม รปภ.ผบ.ทบ. หลังจากที่ ผบ.ทบ. ในยุคก่อนๆ ใช้ทหารรบพิเศษ ใช้กองพันจูโจม รบพิเศษ และมาใช้ทหารเสือราชินี ร.21 รอ. กันมายาวนานต่อเนื่อง

แต่ พลตรี ม.ล.เพิ่มวุทธิ์ มองว่า สห.ทบ. นั้น ผ่านการฝึกหลักสูตรการอารักขา วี.ไอ.พี. มาอยู่แล้ว และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ พร้อม อีกทั้ง เขาเคยเป็นหัวหน้าทีม รปภ. ให้ บิ๊กสุ พลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. ด้วยนั่นเอง

โดย สห.ทบ. ที่ทำหน้าที่ทีม รปภ.ผบ.ทบ. นั้น ไม่ได้แต่งชุด สห. แต่แต่งเครื่องแบบปกติเขียว พร้อมอุปกรณ์สื่อสารครบชุด โดยมี พลตรี ม.ล.เพิ่มวุทธิ์ ที่ถือวิทยุสื่อสาร หรือ ว. อยู่ตลอดเวลา คอยบัญชาการ



ขณะที่นายทหารทีมฝ่ายเสนาธิการ คนสำคัญของ พลเอกธีรชัย ก็มีทั้ง พลตรีศตวรรษ รามดิษฐ์ แกนนำ ตท.21 ที่เติบโตมาจาก พล.ร.2 รอ. และเคยเป็น ผบ.ร.2 รอ. เพราะเคยอยู่กับ พลเอกธีรชัย มาด้วยกัน และถูกมองว่า จะถูกส่งกลับมาเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. หรือไม่

นอกจากนี้ ฝ่าย เสธ.ผบ.ทบ. ยังมี เสธ.หนอง พลตรีสนอง ชูดวง พันเอกนิติปกรณ์ คชมหิทธิ์ รวมถึง เสธ.ตุ้ม พันเอกสิริศักดิ์ ตุ้มทอง ที่เป็นนายทหารฝ่าย เสธ. แต่เสมือนเป็น นายทหารคนสนิท (ทส.) ไปด้วยในตัว เพราะจะทำหน้าที่ดูแล เสื้อผ้าหน้าผม และงานต่างๆ ให้ บิ๊กหมู แบบที่เรียกว่า อยู่ใกล้ บิ๊กหมู มากที่สุด

พันเอกสิริศักดิ์ เป็นแกนนำ ตท.28 ที่กำลังเป็นคนดังของรุ่น เพราะเป็นลูกชายของ พลเอกอำพล ตุ้มทอง นายทหารนอกราชการ แต่ทว่ามีบารมี และเป็นความหวังของเพื่อนๆ

แต่เป็นธรรมดา ที่นายทหารที่โตมาจากรุ่นที่ติดกัน ใกล้กัน จะถูกจับตามองว่า เป็น รุ่นที่ควบแข่งมากับ เตรียมทหาร 27 รุ่นของ เสธ.โต พลตรี สุชาติ พรมใหม่ และ ผู้การโจ้ พันเอกคชาชาต บุญดี อดีต ผบ.ป.1 รอ. ที่ถูกบิ๊กหมู เด้งเข้ากรุ ฝ่าย เสธ.ประจำ กองทัพภาค 3 ที่ล้วนเป็นน้องรักของ พลเอกอุดมเดช



ตําแหน่งสำคัญ ที่ พลเอกอุดมเดช ได้จัดทัพเอาไว้ตอนเป็น ผบ.ทบ. และได้รับเสียงชื่นชม คือ การให้ความชอบธรรมแก่ ทหารรบพิเศษ ด้วยการให้ บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.หน่วยบัญชการสงครามพิเศษ (ผบ.นสศ.) ขึ้นมาเป็น ผช.ผบ.ทบ. เพราะเขาเติบโตมาตามไลน์ และเป็น ผบ.นสศ. ที่เปรียบเป็น แม่ทัพภาค 5 มานาน 3 ปี ได้ขึ้นมาสู่ห้าเสือ ทบ. และมาเป็นแคนดิเดท ชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. ในอนาคต แม้ว่าในยุคนี้ จะเป็นยุคทหารเสือราชินี ยุคบูรพาพยัคฆ์ ภายใต้ร่มเงาอำนาจของ บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ ที่เป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ก็ตาม

แม้ว่า พลเอกเฉลิมชัย จะเป็นนายทหารรบพิเศษ ที่โตมาในสายของ บิ๊กแอ้ด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และ บิ๊กบัง พลเอก สนธิ บุญยะรัตกลิน อดีต ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ก็ตาม

แต่ก็มีเสียงเพรียกจาก ทหารรบพิเศษ ที่รอว่าเมื่อใดที่ ทหารรบพิเศษ จะได้เป็น ผบ.ทบ. อีกสักคน หลังจากที่ พลเอกสนธิ เป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2548 และ ก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ยังไม่มี หมวกแบเร่ต์แดง ก็ยังไม่มีโอกาสมาเบ่งบานในกองทัพบกเลย

พลเอกเฉลิมชัย จึงเป็นความหวังของทั้งทหารรบพิเศษ และทหาร ตท.16 ที่ก็พลาดหวังมาจากที่ลุ้น พลเอกกัมปนาท แกนนำรุ่นสายวงศ์เทวัญ ให้เป็น ผบ.ทบ. มาแล้ว ได้เกษียณแค่ ผช.ผบ.ทบ. เท่านั้น เพราะย่ำเป็น พลตรี เป็น ผบ.พล. นานหลายปี

แถมทั้ง พลเอกเฉลิมชัย มีอายุราชการถึงปี 2561 ซึ่งหากเป็น ผบ.ทบ. ก็จะได้เป็น 2 ปี มากกว่าแคนดิเดตซึ่งเป็นเต็งหนึ่ง อย่าง บิ๊กแกละ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ. น้องรักของ พลเอกประวิตร ที่เป็น ตท.17 แต่เกษียณ 2560 แต่ทว่าได้เปรียบ พลเอกเฉลิมชัย เพราะเป็นน้องรักของ พลเอกประวิตร และเป็น ทั้งทหารสายบูรพาพยัคฆ์ และวงศ์เทวัญ ในสายสัมพันธ์ "ราบ๑๑ คอนเนคชั่น" ที่มี บิ๊กหนุ่ย พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนรัก ตท.12 ของ นายกฯ ตู่



แม้ว่า พลเอกพิสิทธิ์ จะเป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทบ. คนต่อจาก พลเอกธีรชัย ที่จะเกษียณกันยายน 2559 แต่ทว่า ในยุคนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะจับตามองกันว่า พลเอกพิสิทธิ์ ไม่ได้เป็นแม่ทัพภาค 1 หรือไม่ทัพภาคใดมาก่อน

แม้อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ หาก พลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร ไฟเขียวทั้งคู่ เพราะ พลเอกพิสิทธิ์ ก็เป็นทั้งผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม และ ผบ.พล.1 รอ. มาแล้วทั้งสิ้น

แต่ทว่า จากวิกฤติที่ผ่านมา ก็มีความพยายามที่จะพาดพิงให้นายทหารดาวรุ่ง ใน ทบ.หลายคน ได้รับผลกระทบกระเทือนไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ยิ่งหากดูตามงานที่ ผบ.ทบ. มอบหมายแล้ว พลเอกพิสิทธิ์ ในฐานะ เสธ.ทบ. ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง ให้ดูแลทั้งสายงานการข่าว และกิจการต่างประเทศ สายงานยุทธการ การฝึก การศึกษาทางทหาร และสายงานปลัดบัญชี รวมถึงเป็นเลขาธิการ กอ.รมน. ด้วย ส่วน พลเอกเฉลิมชัย ดูแลแค่สายงานส่งกำลังบำรุงเท่านั้น

แต่ใน ทบ. นั้น รู้กันดีว่า เรื่องราวใหญ่โตที่เกิดขึ้นในประเทศเวลานี้ ที่สั่นสะเทือนทั้งวงการตำรวจและทหารนั้น กำลังถูกจับตามองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรอยร้าวในกองทัพบกหรือไม่ 

จนทำให้นายทหารบางคนถูกพาดพิง และถูกปล่อยภาพทางโซเชี่ยลมีเดีย และกระแสข่าวต่างๆ มาตลอด

เพราะข่าวบางกระแส ก็พุ่งเป้าไปถึง พลโท พลเอก บิ๊กในกองทัพ เลยทีเดียว จนต้องมีปฏิบัติการ IO หรือปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร ต่อสู้กันเอง 

เรื่องราวในกองทัพ โดยเฉพาะ ทบ. จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป แบบอย่ากะพริบตาเลยเชียว...

ผลเลือกตั้งพม่า: NLD ได้ ส.ส.-ส.ว. 291 ที่นั่ง-เสียงเหลือเฟือเสนอชื่อประธานาธิบดี 2 ราย



ผลเลือกตั้งพม่า: NLD ได้ ส.ส.-ส.ว. 291 ที่นั่ง-เสียงเหลือเฟือเสนอชื่อประธานาธิบดี 2 ราย

ประกาศรับรองผลเลือกตั้งล่าสุดครั้งที่ 16 และ 17 ของ กกต. พม่า ทำให้ขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีที่มีออง ซาน ซูจีเป็นแกนนำมีเสียง ส.ส.-ส.ว. รวมกัน 291 ที่นั่ง และทั้ง ส.ว.-ส.ว. ได้ที่นั่งเกินครึ่งของที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ทำให้สามารถเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ 2 ราย ส่วนผู้ชิง ปธน. อีกรายจะเสนอชื่อโดยสมาชิกสภาโควตากองทัพพม่า
ผู้สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี หลังเลิกฟังปราศรัยที่ลานหน้าสถานีรถไฟย่างกุ้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย. (แฟ้มภาพ/ประชาไท
12 พ.ย. 2558 - เมื่อเวลา 15.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) หรือ กกต.พม่า ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งครั้งที่ 17 โดยครั้งนี้เป็นการประกาศรับรองผลสมาชิกสภาท้องถิ่นระดับภาคและรัฐ ทั้งสิ้น 60 ที่นั่ง โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้ 53 ที่นั่ง พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ได้ 7 ที่นั่ง ทำให้ขณะนี้ กกต.พม่า ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว 820 ที่นั่ง จากทั้งหมดที่มีการแข่งขัน 1,171 ที่นั่ง
ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งในสภาท้องถิ่นเกือบทุกภาคและรัฐ โดยในรัฐกะยาห์ หรือรัฐคะเรนนี พรรคเอ็นแอลดีได้ที่นั่งในสภาแห่งรัฐกะยาห์ 11 ที่นั่งจาก 13 ที่นั่งที่มีการเลือกตั้ง ขณะที่สภาแห่งภาคมะกวย พรรค NLD ครองทุกที่นั่งในสภาที่มีการเลือกต้ั้ง
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 12.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น กกต.พม่า ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเพิ่มเติมสำหรับสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือ ส.ว. จำนวน 33 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นพรรค NLD 18 ที่นั่ง พรรค USDP 6 ที่นั่ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย หรือ SNLD ได้ 3 ที่นั่ง พรรคชาติยะไข่ หรือ ANP ได้ 2 ที่นั่ง พรรคคองเกรสโซมีเพื่อประชาธิปไตย หรือ ZCD ได้ 1 ที่นั่ง พรรคชาติมอญได้ 1 ที่นั่ง พรรคองค์กรแห่งชาติปะโอ (PNO) ได้ 1 ที่นั่ง และพรรคชาติตะอาง (Ta'ang National Party) ได้ 1 ที่นั่ง

ที่นั่งรวม ส.ส. และ ส.ว. NLD 291 ที่นั่ง USDP 33 ที่นั่ง พรรครัฐฉาน SNLD 15 ที่นั่ง
ทำให้ที่นั่งในรัฐสภาขณะนี้ (1) พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้ที่นั่งในสภาประชาชน (Pyitthu Hluttaw) หรือ ส.ส. 196 ที่นั่ง ที่นั่งในสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือ ส.ว. 95 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 291 ที่นั่ง
(2) พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้ที่นั่ง ส.ส. 23 ที่นั่ง และ ส.ว. 10 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 33 ที่นั่ง
(3) พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย หรือ SNLD ได้ที่นั่ง ส.ส. 12 ที่นั่ง และ ส.ว. 3 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 15 ที่นั่ง
(4) พรรคชาติยะไข่ (ANP) ได้ ส.ส. 3 ที่นั่ง และ ส.ว. 2 ที่นั่ง รวม 5 ที่นั่ง
(5) พรรคคองเกรสโซมีเพื่อประชาธิปไตย (Zomi Congress for Democracy Party - ZCD) ได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง และ ส.ว. 2 ที่นั่ง รวม 4 ที่นั่ง
(6) พรรคองค์กรแห่งชาติปะโอ (PNO) ได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง ส.ว. 1 ที่นั่ง รวม 3 ที่นั่ง
(7) พรรคชาติตะอาง (Ta'ang National Party) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง และ ส.ว. 1 ที่นั่ง รวม 2 ที่นั่ง
พรรคอื่นๆ ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยว้า (Wa Democracy Party หรือ WDP) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง พรรคประชาธิปไตยรัฐคะฉิ่น (Kachin State Democratic Party หรือ KSDP) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง  พรรคชาติมอญ (Mon National Party หรือ Mon NP) ได้ ส.ว. 1 ที่นั่ง พรรคโกก้างเพื่อประชาธิปไตยและเอกภาพ (Kokang Democracy and Unity Party หรือ Kokang DUP) ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง ขณะที่มี ผู้สมัครอิสระเป็น ส.ส. 1 ที่นั่ง และ ส.ว. 1 ที่นั่ง

ผลเลือกตั้งสภาท้องถิ่น 7 รัฐ 7 ภาค พรรค NLD ยังกวาดเรียบ
ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาประจำภาค 7 สภา และสภาประจำรัฐ 7 สภา รวม 14 สภา ประกาศแล้ว 438 ที่นั่ง จากที่มีการแข่งขันทั้งหมด 679 ที่นั่ง  ทำให้ขณะนี้พรรค NLD ได้ที่นั่งในสภาท้องถิ่น 367 ที่นั่ง พรรค USDP หรือพรรครัฐบาล ได้ 46 ที่นั่ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย SNLD ได้ 14 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปไตยว้า หรือ WDP ได้ 2 ที่นั่ง  พรรคประชาธิปไตยรัฐคะฉิ่น KSDP ได้ 3 ที่นั่ง  พรรคชาติมอญ (Mon National Party - MNP) ได้ 1 ที่นั่ง  พรรคประชาธิปไตยแห่งแดนมอญทั้งปวง (All Mons Regions Democracy Party - All Mon) ได้ 1 ที่นั่ง พรรคประชาชนกะเหรี่ยง (Kayin People's Party) ได้ 1 ที่นั่ง  พรรคประชาธิปไตยแห่งเมียนมาร์ หรือ DP Myanmar ได้ 1 ที่นั่ง พรรคโกก้างเพื่อประชาธิปไตยและเอกภาพ (Kokang DUP) ได้ 1 ที่นั่ง และพรรคเพื่อเอกภาพและประชาธิปไตยแห่งรัฐคะฉิ่น (UDPKS) ได้ 1 ที่นั่ง

เสียงเอ็นแอลดีเหลือเฟือที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตประธานาธิบดี 2 ราย
ทำให้ขณะนี้พรรคเอ็นแอลดี ได้ที่นั่งในสภาเกินร้อยละ 50 ของที่จัดเลือกตั้งได้แล้วทั้ง 2 สภา โดยในส่วนของ ส.ส. พรรค NLD ขณะนี้ได้ที่นั่ง 196 ที่นั่ง ซึ่งเกิน 162 ที่นั่ง หรือครึ่งหนึ่งของที่มีการจัดเลือกตั้งทั้งหมด 324 ที่นั่ง ขณะที่ในส่วนของ ส.ว. พรรค NLD ได้ 95 ที่นั่ง ซึ่งเกิน 84 ที่นั่งหรือครึ่งหนึ่งของที่มีการจัดเลือกตั้งทั้งหมด 168 ที่นั่ง ทำให้ตามรัฐธรรมนูญพรรค NLD มีสิทธิเสนอชื่อผู้เป็นรองประธานาธิบดีได้ 2 คน คือจากเสียงของ ส.ส. และ เสียงจาก ส.ว. ขณะที่กองทัพพม่ากำหนดให้เสนอชื่อผู้เป็นรองประธานาธิบดีได้อีก 1 คน
ทำให้เมื่อเปิดประชุมสภาในเดือนมกราคม ส.ส. และ ส.ว. ทั้งหมด 657 คน ซึ่งรวม ส.ส. และ ส.ว. ร้อยละ 25 ที่แต่งตั้งโดยกองทัพแล้วจะเป็นผู้ลงมติเลือก 3 บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นรองประธานาธิบดี โดยผู้ชนะจะเป็นประธานาธิบดี และอีก 2 คนที่เหลือจะเป็นรองประธานาธิบดี
ที่มา: แปลและเรียบเรียงเพิ่มเติมจาก The Myanmar Times Election Livehttp://www.mmtimes.com/index.php/election-2015/live-blog.html