PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทางเลือกระหว่าง"นางฟัา"หรือ"ซาตาน"

Posted by พล.ท.นันทเดช , ผู้อ่าน : 602 , 17:12:13 น.  
หมวด : การเมือง 

 พิมพ์หน้านี้ 
  โหวต 3 คน 

   
      การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเมียนมา (พม่า) จะเปลี่ยนโฉมหน้าของพม่าให้ดีขึ้น หรือแย่งลงนางอองซาน ซูจี จะเป็น “นางฟ้า” หรือ “ซาตาน” นั้น ลองมาดูข้อมูลพื้นฐานกันก่อนครับ
      ๑. พม่าเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ และกระแส New World Order ที่มาพร้อมกับ “ประชาธิปไตย” แบบตะวันตกไว้ได้อย่างมั่นคง ด้วยการประกาศปิดประเทศ (ประมาณ ๑๐ ปี ในเวลาเดียวกันนั้น ประชาชนในประเทศไทยพากันออกไปโบกธงเขียวให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จนทรัพยากรของประเทศตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติเกือบหมดประเทศแล้ว) ซึ่งทำให้พม่ายังสามารถรักษาทรัพยากรส่วนใหญ่ไว้ได้ และสามารถดูแลประชาชนเกือบ ๕๐ ล้านคนไม่ให้อดตายมาได้อย่างประหลาดครับ ท่ามกลางความกดดันและการแอนตี้จากประเทศตะวันตก
      ๒. การต่อต้าน New World Order ที่มาพร้อมกับประชาธิปไตยแบบตะวันตกของพม่านั้น คือ การต่อต้าน “นางอองซาน ซูจี” นั่นเอง เพราะเธอสู้กับเผด็จการทหารพม่าอย่างโดดเด่นและทรหด เรื่องดังกล่าวนี้จึงทำให้ “อองซาน ซูจี” เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบเลย และก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เชียร์อองซาน ซูจี กันตลอดมารวมทั้งตัวผมด้วย โลกสวยของอองซาน ซูจี คือ การทำให้ชาวพม่ามีความฝันแต่ในเรื่องที่ดีของประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องความเท่าเทียมกันในสิทธิของประชาชน, การกินดีอยู่ดี, การมีถนนหนทาง, มีศูนย์การค้าใหญ่ๆ แบบกรุงเทพฯ, การมีงานทำ ฯลฯ ส่วนเรื่องเลวร้ายของระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งมีมากกว่าหลายสิบเท่า นางอองซาน ซูจี ไม่เคยพูดถึงเลย ซึ่งเป็นไปได้ว่าเธอเองก็ไม่รู้ว่าความเลวร้ายของประชาธิปไตยมันมีมากขนาดไหน เพราะชีวิตเธอสู้มากับเผด็จการทหารแทบตลอดทั้งชีวิต ทหารพม่ารู้เรื่องโลกสวยของนางอองซาน ซูจี เป็นอย่างดี จึงหาทางป้องกันโดยกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญ ๒ เรื่องคือ (๑) กำหนดคุณสมบัติในการเป็นประธานาธิบดีไว้ไม่ให้ “เธอเป็น” และ (๒) ให้ทุกสภา (พม่ามี ๓ สภาฯ) ต้องมีบุคคลที่ทหารจะตั้งเข้าไป โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจำนวน ๒๕% (เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ สหรัฐฯ ไม่เห็นว่าเลย ลองเป็นประเทศไทยบ้างซิ มันด่าหัวฟูแน่)
      ๓. ตั้งแต่พม่าเปิดประเทศมา ประธานาธิบดีเต็งเส่งมีผลงานออกมามากมายที่จับต้องได้เป็นเรื่องเป็นราว เช่น ทางด้านการค้าการลงทุน, การวางตัวอยู่ในดุลอำนาจของกลุ่มประเทศตะวันตกกับประเทศจีน ได้อย่างเหมาะสม ส่วนทางด้านความมั่นคงมีข้อตกลงสงบศึกกับชนกลุ่มน้อยหลายสิบชนเผ่า ซึ่งดำเนินงานมาเป็นไปได้อย่างดี มาเสียตรงเรื่องชาวโรฮิงญาหน่อยเดียวเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผนวกกับเงื่อนไขที่ได้เปรียบในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพม่าจึงค่อนข้างมั่นใจต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ว่า
         ๓.๑ แพ้แน่ แต่ไม่น่าจะมากมายนัก เมื่อรวมเสียง ๒๕% ตัวเองแต่งตั้งเองแล้วก็น่าจะชนะเล็กน้อย
         ๓.๒ ทางชนกลุ่มน้อยน่าจะเลือกฝ่ายรัฐบาลพม่ามากกว่า เพราะนางอองซานฯ พูดถึงแต่คนพม่าจริงๆ แค่นั้น ส่วนชนกลุ่มน้อย “พูดคุยไว้พอเป็นไม้ประดับ”
         ๓.๓ มีอภิสิทธิ์ในการใช้กลไกรัฐหาเสียงอีก

      การคาดคะเนดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งนี้แบบบริสุทธิ์จริงๆ ขนาดที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ขนาดนี้เกิดขึ้นเลยครับ ใครจะมาสังเกตการณ์การเลือกตั้งตรงไหนว่ามาได้ตามสบาย อยากจะหาเสียงแบบไหนเชิญเลย โดยหารู้ไม่ว่า “การรายงานโฆษณาชวนเชื่อของสื่อจากตะวันตก” ตลอดระยะเวลา ๒ สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ได้ทำให้ “นางอองซานฯ” เป็น “นางฟ้า” ลงมาปลดทุกข์ให้ชาวพม่า พร้อมกับโปรยความฝันถึงการเข้ามาลงทุนอย่างมากมายของชาวตะวันตก ชาวพม่าจึงอยากกิน “แดกด่วน” ยี่ห้อต่างๆ ของสหรัฐฯ, อยากมีโรงภาพยนตร์หลายมิติเหมือนอย่างในประเทศไทย, อยากมีรถไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นฝันร้ายที่ทำให้คนพม่าส่วนใหญ่เลือกนางอองซานฯ มากกว่าการเลือกกติกาประชาธิปไตยจริงๆ
พรรค NLD ของนางอองซานฯ หาเสียงด้วยคำขวัญ “Vote for Change” ใกล้เคียงกับคำขวัญของโอบาม่าเลย จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความตื่นเต้น ตื้นตันใจ ผนวกกับสื่อตะวันตก(รวมทั้งสื่อไทยด้วย) โหมกระหน่ำ กองทัพ นักข่าวต่อเป้าหมายเฉพาะนางอองซานอย่างเดียวเลย พรรคทหาร (พรรค USDP) ของรัฐบาลพม่าซึ่งมีคำขวัญในการหาเสียงทื่อๆ “Moving Forwad Together” (ใกล้เคียงกับของประเทศไทย) จึงแพ้ยับเยินครับ
      ส่วนการลงคะแนนเสียงของชาวพม่า ต้องขอชื่นชมที่มาเลือกตั้งกันแบบไม่ต้องมีการซื้อเสียง (เป็นครั้งแรก ครั้งต่อไปมีแน่) มากันแต่เช้า ต้องเข้าคิวกันยาวเหยียด มีความอดทนมาก เพราะประชาชน ๑ คน ต้องลงคะแนนเสียง ๓ ครั้ง คือ (๑) ส.ส.จำนวน ๓๓๐ ที่นั่ง, (๒) ส.ว.จำนวน ๑๖๘ ที่นั่ง และ (๓) สภารัฐ หรือสภาภูมิภาค จำนวน ๖๔๔ ที่นั่งนั้น ลงคะแนนแล้วต้องจุ่มนิ้วก้อยลงในหมึกสีม่วงที่ล้างไม่ออกไป ๗ วัน (ไม่มีการเวียนเทียนเด็ดขาด)
      เห็นข้อเท็จจริงได้ว่า “สื่อมวลชนมีความสำคัญมากขนาดไหน” ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการนั้น กกต.พม่าจะประกาศประมาณ ๒๘ หรือ ๒๙ พ.ย. ๕๘ ดังนั้นการประชุมสภาเพื่อคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีน่าจะมีขึ้นในช่วงหลังปีใหม่ ๒๕๕๙ (ประธานาธิบดีเต็งเส่งจะครบวาระใน มี.ค. ๕๙)

      ผมเขียนไว้ในเฟซบุ๊กก่อนการเลือกตั้ง ๓ วันไว้ดังนี้ครับ
   “ไม่ว่าผลเลือกตั้งของพม่าออกมาในแบบไหน อองซานซูจี หรือ เต็งเสง จะชนะ วันนี้พม่าจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นวันนี้ ได้ทำให้พม่ากำลังเริ่มจะเปลี่ยนไป ถ้าอองซานซูจีชนะ ความอ่อนหัดทางธุรกิจ ทางด้านความมั่นคง จะทำให้ประเทศปั่นป่วน การโกงกินจะเกิดขึ้นทั่วไป แต่ถ้าททหารชนะ การช่วยเลือในเรื่องการค้าขายสินค้าจากประเทศตะวันตกจะมีปัญหาตามมาอีกเป็นพรวน การโกงก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ถ้าไม่ลงให้ตะวันตกก็ต้องปิดประเทศต่อไป
ภาพของประเทศไทยในยุคปี ๓๕ และ ปี ๔๙ ผสมกันก็จะกลับมาอีก ในประเทศพม่า ผมจึงไม่อยากให้นางอองซานชนะ อยากให้เธออยู่เป็นเสาหลักคอยคุมสถานการณ์อยู่เช่นเดิม อย่าให้ทหารโกงมากเกินไป จะดีกว่าครับ”
      บทสรุป
      คะแนนที่ได้มาอย่างท่วมท้นของพรรค NLD นั้น ประชาชนพม่าไม่เคยดูเลยว่า ผู้สมัครของเขามีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดไว้ว่า “ส่งเสาไฟฟ้าลงแข่งก็ได้รับเลือกตั้ง” ปัจจุบัน ประธานาธิบดีเต็งเส่งออกมาประกาศพร้อมที่จะถ่ายโอนอำนาจให้นางอองซาน ซูจี เข้ามาบริหารบ้านเมือง ตอนนี้เองที่ทำให้คนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งพรรค NLD ไปแล้วจำนวนมากเพิ่งนึกออกว่า

      - นางอองซาน ซูจี เป็นตัวแทนชาติตะวันตกอย่างชัดเจน ผลประโยชน์ของประเทศจีนในพม่าเต็มเมืองไปหมด จะทำกันอย่างไรดี เพราะพม่าเป็นประเทศที่จีนใช้เชื่อมจากจีนตะวันตกเข้าไปยังจีนตอนใต้ โดยไม่ต้องการผ่านช่องแคบมะละกา
      - นางอองซาน ซูจี ไม่เคยต่อสู้อะไรเพื่อชนกลุ่มน้อยเลย แม้จะได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ แต่เรื่องโรฮิงญา เธอไม่แสดงอะไรออกมา เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงจากคนพม่าแท้ๆ
      - นางอองซาน ซูจี ไม่เคยบริหารประเทศมาก่อนเลย แม้แต่ระบบราชการของพม่า ซึ่งซับซ้อนกว่าประเทศอื่นก็ไม่ได้รู้จัก ผนวกกับเธอเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก เผด็จการเล็กๆ เลยล่ะ ข้าราชการอื่นๆ จะปั่นป่วนขนาดไหน
      ก็หวังว่า นางอองซานฯ คงหาวิธีที่จะหาตัวประธานาธิบดีที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนกลางที่ฝ่ายทหารและข้าราชการยอมรับได้ เพื่อให้คำขวัญของทั้ง ๒ พรรคมารวมกันได้ คือ “เปลี่ยนแปลงและก้าวเดินไปด้วยกัน” ไม่เช่นนั้น พอบ้านเมืองตื่นประชาธิปไตย คนออกมาประท้วงสัก ๒-๓ ครั้ง ทหารพม่าออกมารัฐประหารแน่ครับ ดังนั้น นางอองซานฯ จะเป็นนางฟ้า หรือซาตาน ก็อยู่ที่ตัวเธอเองที่เป็นบทเรียนในเรื่องประชาธิปไตยบทแรกของพม่า ยังต้องพัฒนาอีกหลายเรื่องครับ กว่าจะตามประเทศไทยทัน

ไม่มีความคิดเห็น: