PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สหรัฐ-อียูจ่อเลิกคว่ำบาตรเมียนมา ทัพธุรกิจไทย-ต่างชาติแห่ขยับลงทุน

ทั่วโลกเกาะติดผลเลือกตั้ง ลุ้นโฉมหน้ารัฐบาลเมียนมา สหรัฐ-สหภาพยุโรปจ่อยกเลิกคว่ำบาตรเป็นทางการ ทัพธุรกิจชาติตะวันตกเตรียมบุก คาดมูลค่าเงินลงทุนพุ่งพรวดหลังมี ครม.ใหม่ ทุนไทยไม่น้อยหน้า "สหพัฒนฯ-คาราบาว กรุ๊ป-Tharaphu Decor" รอดูทิศทางนโยบายเศรษฐกิจก่อนขยับลงทุน

แม้ คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมายังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อ 4 พ.ย. 2558 เป็นทางการ แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ภายใต้การนำของนางออง ซาน ซู จี รวมถึงผู้สนับสนุนมั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายกำชัย ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เป็นที่จับตามองของนานาประเทศ รวมทั้งนักธุรกิจนักลงทุน ตลอดจนนักวิชาการของไทย ที่ต่างเกาะติดข่าวความเคลื่อนไหวใกล้ชิด

นายวิน ไมยินต์ กรรมการบริหารพรรค NLD เปิดเผยว่า พรรคคาดว่าจะมีผู้สมัคร ได้รับการเลือกตั้งราว 80% จาก 323 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ (สภาผู้แทนราษฎรเมียนมามี ส.ส.ได้ 330 คน แต่จัดการเลือกตั้งได้เพียง 323 เขต) และผลการเลือกตั้งที่ประกาศออกมา 54 เขต ผู้สมัครจากพรรค NLD กวาดที่นั่งได้ 49 ที่นั่ง

ด้านนายฮเต อู หัวหน้าพรรคสหภาพ สามัคคี และการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นแกนนำในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ แม้แต่ตัวนายอูเองก็พลาดท่าในเขตที่ตนลงสมัครรับเลือกตั้ง

ยุโรปจ่อเลิกคว่ำบาตร-ทุนไหลเข้า

รอย เตอร์สระบุว่า การยอมรับความพ่ายแพ้ของหัวหน้าพรรค USDP เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันรวมถึงกองทัพจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2533 ที่พรรค NLD คว้าชัยแบบถล่มทลาย แต่รัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นปฏิเสธที่จะก้าวลงจากอำนาจ

หากกระบวนการ ต่อจากนี้ไปจนถึงการเลือกตัวประธานาธิบดี และการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างโปร่งใส นักวิเคราะห์มองว่า จะทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) ตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาอย่างเป็นทางการ จากก่อนหน้านี้แขวนมาตรการลงโทษส่วนใหญ่ไว้ชั่วคราว หลังเมียนมามีรัฐบาลกึ่งพลเรือนภายใต้การนำของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

การ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะหนุนให้ธุรกิจจากตะวันตกเข้าลงทุนในเมียนมามากขึ้น จากเดิมที่สนใจอยู่แล้ว โดยปีงบประมาณ 2557 ที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เมียนมามีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ 8,100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ถึง 20 เท่า และคาดว่าจะพุ่งขึ้นรวดเร็วยิ่งขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่ 

เปิดประตู ศก.รับนักลงทุนทั่วโลก 

ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งเมียนมาครั้งนี้ว่า ภาพใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจเมียนมา เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยทหารเป็นฝ่ายริเริ่ม ยินยอมให้การเลือกตั้ง และรัฐบาลทหารได้ออกแบบรัฐธรรมนูญ พร้อมยังคงกุมอำนาจบางส่วนอยู่

"คาดว่านางออง ซาน ซู จี จะมีส่วนสำคัญในการบริหารประเทศ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลพลเรือน แม้ทหารยังมีอำนาจแต่งตั้งผู้บริหารประเทศในสัดส่วน 25% และยังคุม 3 กระทรวงหลัก คือ กลาโหม, มหาดไทย และกิจการชายแดน และพรรค NLD คงไม่สามารถบริหารประเทศได้โดยไม่ปรึกษาทหาร"

ภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อการเมืองนิ่ง มีเสถียรภาพ จากนี้จะเห็นกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ เดินหน้าเข้าลงทุนในเมียนมามากขึ้น โอกาสเมียนมาหลังเลือกตั้งคือ ประเทศมีกติกาชัดเจน ทุกโครงสร้างอำนาจยอมรับร่วมกัน พรรคทหารมีการปรับตัวช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงที่เมียนมามีความลงตัวทางอำนาจ มีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง, มีรัฐธรรมนูญ และทหารร่วมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง ทำให้การเจรจาการค้า การลงทุน การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจชัดเจนขึ้น 

"บรรยากาศ ดังกล่าวจะเปิดให้กลุ่มประเทศที่เคยหันหลังให้เมียนมา ไปลงทุนมากขึ้น ทั้งสหภาพยุโรป, สหรัฐ และอังกฤษ และชัดเจนว่าที่ผ่านมาพรรค NLD และนางซู จี มีนโยบายเรื่องการต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ นักลงทุนจะเห็นภาพชัดว่าจะติดต่อกับฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติอย่างไร เมื่อการเมืองนิ่ง เศรษฐกิจประเทศจะคล่องตัวมากขึ้น" 

"คาราบาว กรุ๊ป" เดินหน้าตั้งรง.

นาย เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บมจ.คาราบาว กรุ๊ป กล่าวว่า ทิศทางของการลงทุนในเมียนมาต่อจากนี้ นักลงทุนยังต้องจับตาการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมียนมาจะแข็งแกร่งมากขึ้น เช่นเดียวกับแผนเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น บริษัทติดตามผลการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใกล้ชิด หากเป็นไปอย่างราบรื่นจะเดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางเอาไว้ปีหน้า 

"ยัง ต้องรอดูว่าพรรค NLD จะร่วมมือกับกลุ่มอำนาจเดิมพัฒนาประเทศต่อไปอย่างไร แต่ 2 ปีที่ผ่านมา เมียนมามีสัญญาณชัดเจนว่าเดินหน้าเปิดประเทศ และยอมรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนพลิกโฉมอย่างรวดเร็ว"

สหพัฒนฯชี้ยังมีข้อจำกัด

ขณะ ที่นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล มองว่าสถานการณ์การลงทุนในเมียนมาไม่น่าเปลี่ยนแปลงหรือได้รับผลกระทบมากนัก บริษัทยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่มจากเดิมที่ได้เข้าไปลงทุนมาสักระยะแล้ว อาทิ โรงงานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และมีธุรกิจจัดจำหน่าย จะเน้นขยายช่องทางให้มากขึ้น ล่าสุดบริษัทในเครือคือ ไลอ้อน ได้ร่วมทุนกับท้องถิ่นผลิตผงซักฟอก แม้ขณะนี้นักลงทุนสนใจลงทุนในเมียนมา แต่อีกนานกว่าทุกอย่างจะลงตัว

"นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่อง พลังงาน ค่าเช่าที่ดินแพง ความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค ทำให้ชะลอแผนลงทุนนิคมอุตสาหกรรม หลังสำรวจตลาดเมื่อ 1-2 ปีก่อน ที่น่าสนใจคือ การผลิตสินค้าในเมียนมายังมีน้อย เราจึงสนใจหาฐานการผลิตใช้บริโภคภายในประเทศ สร้างการเติบโตให้สินค้าของเราด้วย"

รอดูโฉมหน้ารัฐบาล

นาย ณัฐวิน พงษ์เภตรารัตน์ รองนายกสมาคมนักธุรกิจไทยพม่า และกรรมการผู้จัดการ Tharaphu Decor Co.,Ltd. ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ และมีโชว์รูมในกรุงย่างกุ้ง ชี้ว่า ช่วงนี้ธุรกิจที่เตรียมแผนลงทุนบางส่วนอาจชะลอไว้ชั่วคราว รอดูแนวทางการตั้งรัฐบาลจะเป็นไปในทิศทางใด เช่น หากพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งขาดลอยได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับฝ่ายทหาร เพราะมีผลต่อนโยบายด้านต่าง ๆ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจ

"ผลที่เกิดขึ้นทันทีจากการเลือกตั้งทำให้ บรรยากาศการลงทุนปรับตัวดีขึ้น เพราะการเลือกตั้งโปร่งใส เพียงแต่ที่ผ่านมาการหาเสียงของทั้ง 2 พรรคไม่มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจชัดเจน แต่คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะมีนโยบายเปิดเรื่องการค้า การลงทุน" 

เมียนมาร่วมถกผู้นำ AEC พ.ย. นี้

ด้าน นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมระดับผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 27 วันที่ 19-22 พ.ย.นี้ คาดว่าจะมีสมาชิกทุกประเทศเข้าร่วม รวมถึงเมียนมา ประเด็นที่จะหารือเป็นการสานต่อการดำเนินการภายหลังการรวมกลุ่มประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (AEC) วันที่ 1 ม.ค. 2559 โดยเฉพาะการผลักดันร่างพิมพ์เขียวอาเซียน 2025 (Blueprint 2025) ซึ่งไทยต้องให้ความสำคัญกับภาคบริการเพิ่มขึ้น การสร้างความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาค การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบในประเทศอำนวยความสะดวกและลดปัญหาอุปสรรค ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการให้แข่งขันได้ในตลาดโลก 

รายงาน ข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่าการค้าไทย-เมียนมา ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 2558) อยู่ที่ 5,942.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเป้ามูลค่าการค้าที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 20% จากปีก่อนที่ 8,155.83 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 3,077.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.10% นำเข้า 2,864.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.18% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป ปูน น้ำตาล และเหล็ก สินค้านำเข้า อาทิ ก๊าซธรรมชาติ สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ ผักและผลไม้ปรุงแต่ง และน้ำมันดิบ เป็นต้น

โปรเจ็กต์ทวายไม่ระคาย 

นาย ปรเมธี วิมลสิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลพม่าหลังจากมีการเลือกตั้งใหม่คาดว่าจะไม่มีผลต่อ โครงการทวาย เนื่องจากโครงการยังเดินหน้าพัฒนาอยู่ต่อเนื่อง หลัง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้พัฒนาโครงการระยะแรกเสร็จแล้วทั้งท่าเรือ ระบบไฟฟ้า การคมนาคม พื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ยังเหลือในส่วนของการก่อสร้างถนนเชื่อมจากทวายมายังชายแดนไทย ซึ่งทางพม่าอยู่ระหว่างขออนุมัติสภาหลังรัฐบาลไทยให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยผ่อน ปรนมาก่อสร้าง วงเงิน 3,900 ล้านบาท 

สำหรับการพัฒนาโครงการเฟสที่ 2 ทางรัฐบาลญี่ปุ่นตอบตกลงที่จะร่วมลงทุนด้วยกับรัฐบาลไทยและพม่า ในรูปแบบ SPV (นิติบุคคลเฉพาะกิจ) จะมี 3 ประเทศถือหุ้นร่วมกัน สัดส่วนยังไม่นิ่ง อาจจะประเทศละ 35% ภายใน ธ.ค.นี้จะมีการลงนาม MOU ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น หลังมีการประชุมระดับนโยบายที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธาน แล้วจากนั้นจะเปิดประมูลโครงการก่อสร้างและลงทุนใน 7 โครงการ และจะมี SPV เป็นผู้บริหารโครงการ เช่น อุตสาหกรรมสาธารณูปโภค ท่าเรือน้ำลึก โรงงานไฟฟ้า เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: