PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บั้นปลายของบิ๊กตู่..บทสุดท้ายที่นักการเมืองจัดให้?

ผมได้ยินเสียงกระหึ่มของนักการเมืองที่พยายามตอกย้ำ "บทสุดท้าย" ของพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มดังขึ้นและถี่ขึ้นเหมือนกับว่า เสียงนั้นมั่นใจเหลือเกินว่า "ภาพจำสุดท้ายของประชาชนไทยและสังคมที่มีต่อพล.ประยุทธ์คือ นายกรัฐมนตรีที่ต้องคืนอำนาจให้กับพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง เพราะไม่สามารถได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จนทำให้เศรษฐกิจทุลักทุเล...
ปัญหาเศรษฐกิจคือเป้าใหญ่ที่นักการเมืองเริ่มออกมาชกพล.อ.ประยุทธ์บ่อยๆถี่ๆ บางวันแย๊บ บางวันทิ่มหมัดตรง...ประชาชนจะได้รับข่าวสารซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งหน้าสื่อหลัก สื่อรอง และสังคมออนไลน์ว่า ในที่สุดต้องเร่งเลือกตั้งเพราะนานาชาติไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร ทำให้เงินลงทุนหรือการค้าการขายฝืดเคือง ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มีการอธิบายว่าภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาใหญ่มาจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และปัญหาถังแตกจากวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาทำเละเทะเอาไว้ จนเงินแทบหมดคลัง ไม่มีแม้กระทั่งจ่ายค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลก่อนสัญญากับประชาชน...แต่ประชาชนะจได้ยินเรื่องเพียงว่า "รัฐบาลประยุทธ์ทำเศรษฐกิจแย่เพราะต่างชาติไม่ยอมรับและจะต้องรีบเลือกตั้งเพื่อให้เงินเข้ามา"...
หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ทำอะไรเลย...จุดจดจำของท่านที่ประชาชนเห็นก็คือนายทหารที่เป็นเหยื่อการเมืองอีกคน มาแบบฮีโร่ ไปแบบไม่เป็นที่พึงใจ...
แต่เราก็ได้เห็นความพยายามของรัฐบาลที่จะหาทางพยุงเศรษฐกิจไทยเต็มที่..แม้จะมีวินัยการคลังเข้มงวดจนคนบอกว่า "ประชาชนนิยมบางๆ" บ้างก็ได้...หรือ ความพยายามเปิดนโยบายไม่มีวีซ่ากับประเทศต่างๆ หวังจะมีนักท่องเที่ยวเอาเงินเข้ามาหมุนเวียนในเมืองไทย ฯลฯ...หรือแม้แต่กิจกรรมวันแม่ ปั่นเพื่อแม่ ก็ทำให้เงินหมุนก้อนใหญ่ทั่วประเทศ...
รอชมกันว่า...พล.อ.ประยุทธ์จะเดินเข้าหาบทสรุปสุดท้ายด้วยการจดจำของประชาชนทั่วประเทศว่า บริหารเศรษฐกิจล้มเหลวจนต้องรีบเลือกตั้งเพื่อให้นานาชาติเลือกก่อกวนจนไม่เป็นอันทำการค้าการขาย...
นักการเมืองย่อมเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ภาพลักษณ์รัฐบาลทหารเลวร้าย เพื่อให้กระแสของตนเองกลับมาจนเป็นที่ต้องการของประชาชนและจะได้เลือกตั้งกลับมาสู่อำนาจกันเสียที...
บิ๊กตู่ ย่อมรู้ดี...สู้ไหม...สู้ให้ยกสุดท้ายชนะอย่างฮีโร่เหมือนตอนก้าวเข้ามาในยกที่หนึ่ง...

เปิดช่อง "ยึดอำนาจการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ" ?

เปิดช่อง "ยึดอำนาจการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ" ?
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ" จำนวน 22 คน
มีอำนาจคล้าย คสช. แถมมีสิ่งที่คล้ายมาตรา ๔๔ อยู่ด้วย คือ เสียง 2/3 มีอำนาจเหนืออำนาจบริหารและนิติบัญญัติ (แม้จะไม่มีอำนาจตุลาการแต่ ในมาตรา ๔๔ เองคสช.ก็เลี่ยงที่จะก้าวล่วงอำนาจตุลาการอยู่แล้ว) กล่าวโดยสรุปคือ รัฐธรรมนูญใหม่จะมีองค์กรคล้ายๆ คสช.อยู่
โดยใน 22 คนนี้ จำนวน 11 คน คือผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยรัฐสภา โปรดอย่าลืมว่ารัฐสภานั้นประกอบด้วย สส.และ สว. ซึ่ง สว.จำนวน 123 คนนั้นมาจากการสรรหาภายใต้รัฐบาลทหาร
สิ่งที่น่าคิดคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สามารถเข้ายึดอำนาจการปกครองได้หรือไม่ หากสามารถสั่งทำอะไรก็ได้เหนืออำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ก็จะสามารถยึดอำนาจของรัฐบาลและรัฐสภาได้เลย "ตามรัฐธรรมนูญ"
เช่น ใช้เสียง 2 ใน 3 คือ ผู้บัญชาการกองทัพทั้งสี่ ผู้บัญชาการตำรวจ
ประธานวุฒิสภา, อดีตประธานรัฐสภา,อดีตนายก,อดีตประธานศาลฎีกา
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คน รวม 15 คน สามารถออกคำสั่งที่มีผลเหนืออำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้เลยหรือไม่?
หากทำได้ตามข่าว ก็เท่ากันว่า รัฐธรรมนูญใหม่นี้เปิดช่องให้คน 15 คนนี้ก็สามารถยึดอำนาจการปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญ

ยูเอ็น ‘ตระหนก’ ไทยลงโทษหนัก ‘หมิ่นสถาบัน

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแสดงความตระหนก กรณีศาลไทยตัดสินโทษจำคุกอย่างไม่ได้สัดส่วนกับความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ วอนปล่อยตัวนักโทษ-แก้มาตรา 112

ในวันอังคาร ราวินา ชัมดาซานี โฆษกหญิงของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แถลงที่นครเจนีวา ระบุว่า ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนรู้สึกตระหนกต่อโทษจำคุกที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างน่าตกใจต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพฯพิพากษาจำคุกนายพงษ์ศักดิ์ (ขอสงนนามสกุล) ฐานละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 30 ปี หลังจากเขาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก 6 ข้อความ มีเนื้อหาวิจารณ์สมาชิกในราชวงศ์ โทษเดิมคือจำคุก 60 ปี หรือข้อความละ 10 ปี แต่ศาลลดโทษเพราะจำเลยรับสารภาพ วันเดียวกัน ศาลทหารเชียงใหม่สั่งจำคุกนางศศิวิมล (ขอสงวนนามสกุล) ด้วยความผิดอย่างเดียวกัน เป็นเวลา 56 ปี ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพยังลงโทษจำคุกนายเธียรสุธรรม (ขอสงวนนามสกุล) เป็นเวลา 25 ปีด้วยเหตุเดียวกัน

นอกจากนี้ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังเพิ่มขึ้นอย่างมาก นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 40 คนถูกตัดสินลงโทษหรือฝากขังด้วยข้อหาตามมาตรา 112 และกฎหมายคอมพิวเตอร์ ผู้ถูกลงโทษบางรายเป็นผู้มีจิตใจไม่สมประกอบตามคำวินิจฉัยของแพทย์

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยังรู้สึกตกใจกับการตัดสินลงโทษขั้นหนักของศาลทหารด้วย ศาลทหารเป็นองค์กรที่ขาดคุณสมบัติตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล เช่น สิทธิ์ของจำเลยที่จะได้รับการไต่สวนอย่างเป็นธรรม ผู้สังเกตการณ์ถูกห้ามเข้า จำเลยไม่มีสิทธิ์ร้องอุทธรณ์

“เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทุกคน ผู้ที่ถูกฝากขังเป็นเวลายาวนานก่อนการไต่สวนทั้งหมด โดยทันที คนเหล่านี้ใช้สิทธิของพวกเขาในเรื่องเสรีภาพที่จะแสดงออก เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล ก่อนที่กฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติกว้างขวางและคลุมเครือดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขนั้น ไม่ควรใช้กฎหมายนี้จำกัดการอภิปรายประเด็นสาธารณะ แม้เป็นการวิจารณ์ประมุขของรัฐ หรือรัฐบาล ก็ตาม”  แถลงการณ์ระบุในตอนท้าย.

ที่มา : http://news.voicetv.co.th/thailand/243981.html

อดีตส.ส.เพื่อไทยโวย ถอดยศ "ทักษิณ" แฝงนัยการเมือง เอาใจพวกเดียวกัน

"สมคิด เชื้อคง" โวย ถอดยศ "ทักษิณ" แฝงนัยการเมือง เอาใจพวกเดียวกัน
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 21:57:00 น.

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลคสช.ที่จะดำเนินการถอดถอนยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สำเร็จลุล่วงว่า ถ้าอยากถอดก็ถอดไป จะไปทำให้ยากทำไม การยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ก็มีความพยายามจะถอดยศมาแล้ว ยึดอำนาจคราวนี้ก็จะถอดยศอีกครั้ง ถ้าทำแล้วสบายใจก็ทำไป เรื่องนี้คงไม่มีผลต่อพ.ต.ท.ทักษิณ  ถ้าถอดยศแล้วทำให้ราคายางสูงขึ้น 100 บาทต่อกิโลกรัม ราคาข้าวสูงขึ้น บ้านเมืองดีขึ้นก็ถอดไป เรื่องถอดยศ ทำได้หรือไม่ได้ ก็ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองดีขึ้น อาจจะมีนัยยะการเมืองหรือมีผลต่อกลุ่มคนที่ไม่ชอบ  พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อทำให้เห็นว่า ที่เคยเดินขบวนมา ประท้วงกันมา ยึดอำนาจแล้วก็ได้ทำให้แล้ว หากอยากทำให้เป็นผลงานชิ้นเอกก็ถอดไปเลย ส่วนตัวเฉยๆ กับเรื่องนี้ แต่ฝั่งคนรัก พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะเสียใจ ฝั่งคนไม่ชอบก็ดีใจเป็นธรรมดา ถ้าทำได้ก็จะได้จบๆ ไป ไม่ต้องมาพูดกันอีก ถ้าไม่ได้ก็จบไปแล้วก็ไม่ต้องเอามาพูดกันต่อเช่นกัน

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1439304638

"วิษณุ" ยันถอดยศทักษิณ เป็นอำนาจสตช.


"วิษณุ" ยันถอดยศทักษิณ เป็นอำนาจสตช. ถ้าไม่ทำตามมติกก.ชุดไพบูลย์ ต้องมีเหตุผลแจงนายกฯ
วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 21:48:26 น.

เมื่อเวลา 19.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังที่ประชุมที่มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน มีมติถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า  ทาง พล.อ.ไพบูลย์จะรายงานผลมายังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากนั้นจะมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้มีการตั้งเรื่องขึ้นมา เพราะโดยหลักเป็นอำนาจของสตช.ที่ต้องเป็นผู้พิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสตช.ไม่ดำเนินการตามมติดังกล่าวได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องที่นายกฯสั่งแล้วไม่ดำเนินการตนไม่เคยได้ยิน ซึ่งก็เคยมีที่ไม่ทำตาม แต่ต้องทำเหตุผลเสนอขึ้นมายังนายกฯว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ต้องดำเนินการ

ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1439304431

สะพัด!ทหารดันรธน.ใหม่ให้ ส.ว.สรรหาหมด คสช.ตั้งลอตแรก-'ไพบูลย์'รับมี2แนวคิด

วันจันทร์ ที่ 03 สิงหาคม 2558 เวลา 14:51 น

แพร่สะพัด! ทหารกดดัน กมธ.ยกร่างฯ รธน.ใหม่ ให้ ส.ว.สรรหาทั้งหมด-คสช.ตั้งล็อตแรก “ไพบูลย์” รับใน กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดต่างกันอยู่ รอถกให้เคลียร์ 10-11 ส.ค.นี้ ส่วน “พล.อ.เลิศรัตน์” เผยยังไม่ได้ยินเรื่องนี้
PIC ksh 3 8 58 1
แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า ฝ่ายทหารได้เข้ามากดดันการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้ที่มาของ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด และเขียนในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ส.ว.สรรหา ครั้งแรกจะต้องมาโดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง 
ล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีนี้ไม่ใช่ทหารเข้ามากดดัน แต่เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างของ กมธ.ยกร่างฯ เอง เพราะในการพิจารณาที่ผ่านมายังไม่ตกผลึกกัน โดยมีอยู่ 2 ประเด็นที่แตกต่างกันอยู่ ได้แก่ ที่มาของ ส.ว. ควรจะเป็นเลือกตั้ง 77 คน สรรหา 123 คน และอีกฝ่ายหนึ่งคือ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด ซึ่ง 2 ประเด็นนี้ยังคาใจของ กมธ.ยกร่างฯ หลายคนอยู่ โดย กมธ.ยกร่างฯ จะประชุมในประเด็นนี้ในวันที่ 10-11 ส.ค. 2558
เมื่อถามว่า กรณีนี้มีการเขียนบทเฉพาะกาลให้ คสช. คัดเลือก ส.ว.สรรหา ล็อตแรกภายหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยังไม่มี ต้องไปคุยในรายละเอียดวันที่ 10-11 ส.ค.นี้ก่อน นอกจากนี้ยังยืนยันว่า ไม่มีทหารเข้ามากดดัน แต่เป็นการคุยกันเฉพาะ กมธ.ยกร่างฯ กันเองเท่านั้น
ส่วน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงกรณีนี้ว่า เวลานี้ยังไม่ได้ยินเรื่องนี้ เลยยังไม่ทราบว่าจะมีการนำเสนออะไรบ้าง แต่ตอนนี้ยังไม่มีแนวคิดนี้ แต่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำอะไรให้เสร็จภายใน 2 อาทิตย์ ส่วนตอนนี้ก็ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อย ๆ
ที่มา : http://www.isranews.org/component/content/article/57-isranews/isranews-news/40342-paiboon_890_40342.html

กมธ.ยกร่างฯเคาะ! รธน.ใหม่ 3 ปีแรกให้ ครม.สรรหา ส.ว. 123 คน



กมธ.ยกร่างฯ เคาะแล้ว! รธน.ใหม่ 3 ปีแรก ให้ ครม. สรรหา ส.ว. 123 คน เหตุอยู่ระหว่าง "เปลี่ยนผ่าน" ต้องทำเรื่องปฏิรูป-ปรองดอง ให้สอดคล้องรัฐบาล-กก.ยุทธศาสตร์ฯ-สภาขับเคลื่อนฯ 
PIC ksh 11 8 58 1
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2558 มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทบทวนบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญที่ค้างการพิจารณาในส่วนที่เหลือ ได้แก่ ที่มาของ ส.ว. และในส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
แหล่งข่าวจาก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีการพิจารณาที่มาของ ส.ว. ว่า มี กมธ.ยกร่างฯ สายทหาร รายหนึ่ง ได้ผลักดันแนวทางให้มี ส.ว.สรรหา 200 คน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้งครั้งแรกโดยให้ ส.ว.ชุดแรกนี้มีอายุ 3 ปี
ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯนั้น แหล่งข่าว กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ สายทหารบางรายได้ผลักดันให้หัวหน้า คสช. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯด้วย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือไม่
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงผลการประชุมของ กมธ.ยกร่างฯ ในส่วนที่มาของ ส.ว. ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้มาตรา 118 ในส่วนที่มาของ ส.ว. กำหนดให้มี ส.ว. ทั้งหมด 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง 77 คน และสรรหา 123 คน โดยในช่วง 3 ปีแรก กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้ง ส.ว. จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และให้คณะรัฐมนตรีในชุดที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อสรรหา ส.ว. จำนวน 123 คน ซึ่งเหตุผลที่ในช่วง 3 ปีแรกต้องให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. นั้น เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิรูป หรือการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน จึงให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบในการตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ไม่มีบทบัญญัติห้ามไม่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็น ส.ว. ในชุดที่คณะรัฐมนตรีสรรหาด้วย โดยหลังจากพ้น 3 ปีไปแล้ว ก็จะเป็นการเลือกตั้ง และสรรหาตามปกติ โดยในส่วนของการสรรหาก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา 4 คณะ ซึ่งในส่วนนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้แก้ไขให้ไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการสรรหา ส.ว. แทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางที่มาของ ส.ว. ที่ผ่านมา มีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.คงหลักการเดิมคือให้มี ส.ว.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ว.สรรหา 123 คน 2.ให้เป็น ส.ว.สรรหาทั้งหมด 
ส่วนโครงสร้างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ในคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี ระบุว่า มีคณะกรรมการทั้งหมด 20-23 คน มีที่มา 3 ส่วน คือ 1.มาจากประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2.มาจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และ 3.มาจากผู้ทรงคุณวุฒิการปฏิรูปด้านต่าง ๆ และการสร้างความปรองดอง
โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดในหมวดนี้ ส่วนการปฏิรูปในด้านอื่นซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้ให้กระทำได้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติโดยความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

ที่มา :l http://www.isranews.org/isranews-news/item/40530-yokrang2345_0111_02.html#.VctcUkfFeTc.twitter

มติที่ประชุมถอดยศ'ทักษิณ'ทำได้ แจงเข้าองค์ประกอบทั้ง7ข้อ

11082558 มติที่ประชุมถอดยศ'ทักษิณ'ทำได้ แจงเข้าองค์ประกอบทั้ง7ข้อ
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รมว.ยธ.เผยที่ประชุมเห็นตรงถอดยศ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทำได้ แจงเข้าองค์ประกอบทั้ง7ข้อ ไม่มีเหตุต้องยกเว้นกฎหมาย อีกทั้งสตช.เคยถอดยศมาแล้ว 636นาย

(11ส.ค.58)เมื่อเวลา. 17.30 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเรื่องการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาในการประชุมนาน 2 ชั่วโมง ว่า คณะทำงานได้ข้อสรุปว่าจากการพิจารณากรณีดังกล่าวว่าสามารถถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณได้ เนื่องจากเข้าข่ายองค์ประกอบการกระทำผิดตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้ง 7 ข้อ ซึ่งประเด็นที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้คือ ระเบียบนี้ต้องใช้กับบุคคลที่ยังรับราชการหรือมียศตำรวจ จะสามารถใช้บังคับกับผู้ที่อยู่นอกราชการได้หรือไม่

ซึ่งประเด็นนี้กฤษฎีกาเคยให้ความเห็นไปแล้วเมื่อปี 2554 ว่าสามารถกระทำได้เพราะยังถือเป็นบุคคลที่อยู่ในราชการตำรวจ

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการประกาศระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเป็นต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนหรือไม่นั้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเห็นตรงเป็นว่าไม่จำเป็นเพราะเป็นกระบวนการภายใน ที่ผ่านมาไม่มีการประกาศในราชกฤษจาฯแต่มีการถอดยศตำรวจไปแล้ว 636 คน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก็รับทราบ และมีความเห็นแล้วว่าไม่ต้องประกาศ เพราะกระบวนการภายในซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้นกรณีพ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่มีเหตุอันใดต้องยกเว้นข้อกฎหมาย เนื่องจากเป็นกรณีที่เข้าองค์ประกอบการถอดยศทั้ง 7 ข้อ และเห็นว่ายังมีนายตำรวจที่เข้าข่ายต้องถูกถอดยศอีก 7 นาย. ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“อย่างไรก็ตาม ผมไม่ขัดข้องที่พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร. จะรอฟังผลของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารก่อน. ในส่วนของผมถือว่าหมดหน้าที่แล้ว หลังจากนี้จะรายงานผลการประชุมไปยังนายกรัฐมนตรีให้รับทราบโดยด่วนเพราะผมไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของผบ.ตร.จึงไม่สามารถสั่งการหรือกำหนดกรอบเวลาให้ดำเนินการถอดยศให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลากี่วัน”รมว.ยุติธรรมกล่าว

ด้านพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์ุกุล ที่ปรึกษาสบ.10 ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการฯเคยมีความเห็นแล้วว่ากรณีดังกล่าวเข้าองค์ประกอบการถอดยศตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของเนื้อหาและพฤติกรรม ซึ่งมีการเสนอความเห็นไปแล้ว
แต่อำนาจดำเนินการเป็นของผบ.ตร.