PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561

Exclusive: "ไพร่หมื่นล้าน" จับมือ สมาชิก "นิติราษฎร์" เปิดตัวพรรคใหม่

Exclusive: "ไพร่หมื่นล้าน" จับมือ สมาชิก "นิติราษฎร์" เปิดตัวพรรคใหม่

ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร แสงกนกกุล นักนิติศาสตร์หนุ่มจาก "นิติราษฎร์" เปิดแนวคิดพรรคทางเลือกใหม่ร่วมกับ "ไพร่หมื่นล้าน" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศภารกิจสำคัญเพื่อพาคนไทยออกจาก "เผด็จการ"
ในวัยใกล้เลขสี่ ของ ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาประกาศเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่เวทีการเมือง เพื่อผลักดันความฝัน ความเชื่อในการสร้างประเทศ
ปิยบุตรคือ "ศิษย์รุ่นแรก" ของ ศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักนิติศาสตร์ฝีปากกล้าแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ แล้วขยับเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ร่วมโยนข้อเสนอทางกฎหมายและการเมืองอันแหลมคมออกสู่สังคมในนามคณะ "นิติราษฎร์"
ทว่ารัฐประหารปี 2557 นำมาซึ่งความ "ไม่สนุก" กับงานสอนหนังสือแก่นักวิชาการวัย 38 ปีรายนี้ ด้วยเพราะ เขาต้องพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองที่เขาต้องสอนเป็นหลัก ภายใต้ยุคสมัยที่อุดมการณ์ "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย" ครอบโลกไม่เว้นประเทศไทย ศาลถูกจับวางให้อยู่ในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุล
ปิยบุตรตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า "เรากำลังให้ความชอบธรรมกับศาลมากกว่าอำนาจของประชาชนหรือไม่" ทั้งที่นอกห้องเรียน เขาคือผู้ตรวจสอบบทบาทของฝ่ายตุลาการตัวยง ถึงขั้นออกหนังสือ "ศาลรัฐประหาร" เมื่อปีก่อน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ทางเลือกหนึ่งเพื่อเด้งออกจากความคิดสับสน-วนเวียน จึงอยู่ที่การยื่นเรื่อง "ลาสอน" เพื่อหยุดทบทวนตัวเอง ทว่ายังไม่ทันดำเนินการ ความคิด "ลาพัก" ได้พัฒนาเป็นการตัดสินใจเตรียม "ลาออก" เมื่อได้ปรับทุกข์-ผูกมิตรกับ "กัลยาณมิตร" หลายคน ในจำนวนนี้มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารหนุ่มไทยซัมมิท กรุ๊ป เจ้าของฉายา "ไพร่หมื่นล้าน" รวมอยู่ด้วย
"เราคุยด้วยกันมา เห็นตรงกันว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองทางเลือกใหม่เกิดขึ้น" ปิยบุตรกล่าวกับบีบีซีไทย
ชูแนวคิด พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ในยุโรป - พาคนไทยออกจากเผด็จการ
พรรคซีริซา (Syriza) ของกรีซได้เป็นรัฐบาล เพราะคนในสังคมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนImage copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพนายอเล็กซิส ซิปราส นายกรัฐมนตรีของกรีซ และหัวหน้าพรรคซีริซา (Syriza) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2004
ปิยบุตรเล่าว่า เขามีความคิดเรื่องการสร้างพรรคทางเลือกใหม่มานานแล้ว แต่มาแจ่มชัดระหว่างลาไปค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในยุโรป ทำให้มีพรรคทางเลือกใหม่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น พรรคโพเดมอส (Podemos) ในสเปนซึ่งมาเป็นพรรคอันดับ 3 พรรคซีริซา (Syriza) ของกรีซได้เป็นรัฐบาล La France insoumise ของฝรั่งเศสกลายเป็นอันดับ 1 ของฝ่ายค้าน เพราะคนในสังคมรู้สึกว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหน ไม่ว่าพรรคฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ก็ดำเนินนโยบายเหมือนกันคือเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ
เมื่อย้อนกลับมาดูวิกฤตการเมืองไทยในรอบ 13 ปี ซึ่งผู้คนจำนวนมากมองไม่เห็นทางออก ปิยบุตรชี้ว่า นี่คือสภาพการณ์ที่ต้องระวังให้ดี เพราะถ้าประคองไม่ดีจะเสร็จ "ตาอยู่" ซึ่งหมายถึง "เผด็จการ"
"ประเทศไทยอ่อนล้าเหนื่อยล้ากับความขัดแย้งมาสิบกว่าปี พรรคไหนชนะ อีกข้างหนึ่งก็จะต่อต้าน พรรคหนึ่งชนะ อีกข้างต่อต้าน แบบนี้ตลอดเวลา คนมีความรู้สึกว่าเลือกตั้งแล้วไม่จบ เลือกตั้งแล้วจะเจอการชุมนุม เกิดความวุ่นวาย ถ้ามีนายทหารคนหนึ่งขึ้นมาในนามของ 'การรักษาความสงบ' ขจัดความขัดแย้ง ทำให้บ้านเมืองสงบกลับมาเข้ารูปเข้ารอย มาในลักษณะแบบนี้ คนก็จะคิดว่าอย่างนี้เรา 'ยอมพักประชาธิปไตยไว้ชั่วคราว' กลับไปอยู่กับเผด็จการดีกว่า" ดุษฎีบัณฑิตด้านนิติศาสตร์จากฝรั่งเศสให้มุมมอง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบปะประชาชนImage copyrightสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นี่จึงเป็น "ช่วงเวลาสำคัญ" ในการแจ้งเกิดพรรคทางเลือกใหม่ตามทัศนะของปิยบุตรกับเพื่อน โดยหวังใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้คนออกจาก "ระบอบเผด็จการ" กลับสู่การเมืองในระบบปกติหลังผ่าน "ทศวรรษที่สูญหาย" และเพื่อตอกย้ำว่าการหวนคืนสู่การเลือกตั้งไม่ได้แปลว่าจะได้การเมืองแบบเดิม
อย่างไรก็ตามผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ยังไม่ขอเปิดชื่อพรรค แต่แย้มว่าจะสะท้อนอุดมการณ์ ความเป็น "พลเมืองรุ่นใหม่" และ "การเมืองแบบใหม่" และไม่มีคำว่า "ชาติ-ไทย-ประชาธิปไตย" ในชื่อแน่นอน
เช่นเดียวกับตำแหน่งในพรรคที่ยังไม่มีการจัดวางตัวบุคคล เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ห้ามประชุมพรรค แต่เขาพร้อมยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคและดำเนินการตามข้อกฎหมาย
"นอมินีทักษิณ"?
นอกจากการขึ้นสู่อำนาจทางลัดของ คสช. จะเป็น "แรงผลัก" ให้ ปิยบุตรกระโจนสู่การเมือง ยังมีอีก "แรงดูด" จากปรากฏการณ์การเมือง "หลังยุคชินวัตร" (Post-Shinawatra Era) ที่เขาเห็นว่าเป็นการเปิดพื้นที่การเมืองใหม่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามา "ลงมือทำ"
พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตรImage copyrightAFP/GETTY IMAGES
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองฝั่งนายทักษิณ ชินวัตร ย่อมทำให้พรรคของ ปิยบุตร-ธนาธร สุ่มเสี่ยงต่อการถูกสงสัยว่าเป็น "พรรคตัวแทนทักษิณ"
"ผมยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง เราทำของเราเอง ไม่ได้มาเป็นนอมินีของใคร ใครส่งมาไม่มี เราทำของเราเอง เดี๋ยวเปิดตัวไป เห็นรายชื่อ ก็จะรู้เองว่าไม่เกี่ยวอะไรเลย เป็นคนใหม่ทั้งหมด"
เมื่อครั้งยังเป็นนักวิชาการเต็มขั้น ปิยบุตรมักเปรียบเปรยสิ่งที่เขาทำว่าเป็นการ "ทำงานทางความคิด" โดยชี้ว่าปัญญาชนมีหลายลักษณะ มีทั้งผู้ที่ชอบหมกตัวอยู่ในห้องสมุด ค้นคว้า อ่าน เขียน ลงพื้นที่ศึกษาวิจัย และปัญญาชนที่เข้าไปผูกมัดกับอุดมการณ์ความคิด ถ้าเชื่ออย่างไรก็ต้องลงไปปฏิบัติให้เกิดผล
"ผมและเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่งเคยเสนอความเห็นออกสู่สาธารณะหลายครั้ง ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับ ในทางการเมืองเขาทำไม่ได้ นักวิชาการก็ต้องคิดว่ามันถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องลงไปทำเอง" ปิยบุตรกล่าว
สำหรับเขา "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" และ "การเมืองคือความเป็นไปได้ ถ้าเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มาทำ"
ติดภาพนิติราษฎร์?
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมรู้จักปิยบุตรจากบทบาทนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2549 เพื่อทวงคืนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย หนึ่งในข้อเสนออันแหลมคมที่ถูกโยนออกมาสู่สังคมคือการลบล้างผลพวงจากการรัฐประหาร และแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุลImage copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
ทว่าภายใต้สถานการณ์ในยุค "เปลี่ยนผ่านทางการเมือง" น่าสนใจว่า "ภาพจำในอดีต" จะย้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการทำงานการเมืองของนักกฎหมายหนุ่มหรือไม่?
ปิยบุตรชี้แจงว่า "หัวใจหลัก" ของข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ออกมาต่อเนื่อง คือต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติรัฐที่ร่ำเรียนกันมา จึงไม่คิดจะลบภาพลักษณ์ หรือล้างภาพจำใด ๆ ทั้งสิ้น
"ผมคิดว่ามันลบไม่ได้ มันก็คือตัวเรา มันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แล้วผมพูดไปด้วยความสุจริตทั้งสิ้น ไม่ได้อาฆาตมาดร้ายที่จะอะไรทั้งสิ้น แต่แนวคิดหลักคือต้องการให้สถาบันทางการเมือง สถาบันหลักที่อยู่ในรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับประชาธิปไตย และอยู่ได้อย่างเป็นเกียรติ" ปิยบุตรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
"เสี่ยง.. แต่คุ้ม"
เมื่อปัญญาชนที่ชื่อปิยบุตรเลือกผูกมัดตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ประชาธิปไตย ภาคต่อไปของเขาจึงอยู่ที่การผลักดัน-สร้างสนามประชาธิปไตยในสังคมไทยอีกครั้ง ทว่ามีความเสี่ยงระดับสูงที่ต้องประเมิน
รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์Image copyrightWASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพรศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวปาฐกถาในงาน "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กำหนดอนาคตประชาชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2559
หนึ่งใน "เสียงสนับสนุน" ที่มีน้ำหนัก ดังขึ้นจาก ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งไม่เพียงเป็น "ครูกฎหมาย" ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-โทของเขา แต่ยังร่วมขับเคลื่อนแนวทาง "นิติศาสตร์เพื่อราษฎร" มาด้วยกัน
"ปฏิเสธไม่ได้ว่าผมตัดสินใจนี่ เป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ เปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน ผมก็บอก พอบอกอาจารย์วรเจตน์ก็ไม่ค้าน ก็สนับสนุน แต่ก็เป็นห่วง กังวล ก็อย่างที่เราทราบการเมืองไทยมันก็โหดร้ายทารุณอยู่พอสมควร"
แม้รู้ว่าการทำงานการเมืองมีความ "เสี่ยง" แต่เขาคิดว่า "คุ้ม"
"การเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณปฏิเสธไม่ได้หรอกกว่าเสี่ยง คุณเสนออะไรที่มัน.. เขาคิดว่าก้าวหน้าเกินไป หรือเขาคิดว่าอันตรายต่อเขา เขาอาจหาวิถีทางกำจัดออกไป อย่างประสบการณ์ที่เราพบเห็นมาตลอดตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ ประวัติศาสตร์มันบอกไว้ ถามว่าความเสี่ยงลักษณะแบบนี้มันพร้อม มันคุ้มไหมที่จะลองมาเสี่ยงดู ผมคิดว่ามันคุ้ม"
"มันเป็นห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าไม่ทำตอนนี้ โอกาสนี้อาจจะหลุดมือไป ห้วงเวลาประวัติศาสตร์นี้อาจจะหลุดมือไป" เขากล่าวทิ้งท้าย
ปิยบุตรพูดถึงครู-ศิษย์-เพื่อน "ผู้ไม่ยอมจำนน"
ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดถึง "ชาย 3 คน" ที่เขาให้ความเคารพในความคิด โดยมีจุดร่วมกันคือเป็นคนที่มีหลักการ ความเชื่อ และเป็นตัวอย่างของการ "ไม่ยอมจำนน" โดยพร้อมออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปรับความลำบาก ไปต่อสู้ในรูปแบบที่แตกต่างกันเพื่อรักษาหลักการที่ตนยึดถือเอาไว้
  • วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : ครูที่เคารพที่สุด - มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติทั้งในเรื่องส่วนตัว และเรื่องวิชาการ เป็นแบบอย่างที่ดี
  • รังสิมันต์ โรม : ศิษย์ที่ภูมิใจที่สุด - มีความคิด ความเชื่อ ความฝัน เมื่อเห็นว่าสิ่งที่เรียนมาเป็นแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็ออกมาท้าทาย เผชิญหน้า ประท้วง ต่อสู้
  • ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : เพื่อนที่กล้าหาญที่สุด - เขาอยู่ในที่ ๆ อยู่ก็ไม่มีปัญหา แต่กล้าตัดสินใจมาเสี่ยงตรงนี้เพื่อสร้างการเมืองใหม่
ที่มา : ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวกับบีบีซีไทย

คสช.เตือน อย่าล้อเลียน "ผู้นำ"

คสช.เตือน อย่าล้อเลียน "ผู้นำ"
(1/3/61)ชี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ล้อเลียนผู้นำ "ยุทธ์น็อคคิโอ้" ไม่เหมาะสม ชี้ นายกฯ เป็นผู้ใหญ่ ของบ้านเมือง เตือน อย่ามโนเอาเอง ขู่ใช้มาตรการ เบาไปหาหนัก ขอจัดกิจกรรมอยู่ในขอบเขตกฎหมาย จับตานักการเมืองร่วมเคลื่อนไหว
พลตรี ปิยพงศ์ กลิ่นพันธ์ ผบ.มทบ.11 และ ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า คสช.จับตาดูความเคลื่อนไหวของ"กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง"ที่มีการจัดกิจกรรมปราศัยโจมตี คสช.ทุกวันเสาร์ และขอเตือนว่า ต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้กับประชาชน
ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มีการชี้แจงโรดแมพ ที่กำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้ง ที่ชัดเจนมาตลอด
แต่ก็ยังมีการออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งต้องฝากให้สถานศึกษาซึ่งเป็นสถานที่จัดงานพิจารณาความเหมาะสมด้วย ส่วนในพื้นที่สาธารณะ ต้องดูว่ามีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ส่วนกรณีที่ มีนักการเมืองเข้ามาร่วมด้วย เช่น นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และเริ่มมีมวลชนมากขึ้นในแต่ละสัปดาห์ นั้น พลตรีปิยพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่คสช.ก็มีการจับตา และขอความร่วมมือสื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม และไม่บิดเบือนเพื่อสร้างกระแส
"ขอเตือนกล่มผู้ชุมนุมถึงความเหมาะสมในการจัดกิจกรรมล้อเลียนผู้นำ เพราะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ไม่ควรที่จะคิดมโนเอาเอง ด้วยการนำการ์ตูนมาล้อเลียน เหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา"
เบื้องต้น เราจะมีการใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก

ตาลายกับค่าย 'ตัวแปร'

ตาลายกับค่าย 'ตัวแปร'


จะให้คำนิยามเปรียบเทียบ “ป่าช้าแตก” หรือ “ตลาดแตก” อย่างไรก็ตาม แต่คิวดีเดย์ 2 มี.ค. ที่ กกต. เปิดประเดิมให้ยื่นคำขอจดทะเบียนจดจองชื่อจัดตั้งพรรคการเมืองได้
คู่ขนานไปกับกระแสข่าวการตั้งพรรคใหม่ที่มีออกมาเป็นระลอก
บรรยากาศการเมืองเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะนักการเมืองได้เวลาครึกครื้น
ด้วยเงื่อนไข ดีเดย์จากต้นเดือน มี.ค. เป็นขั้นตอนทางธุรการ ในการยื่นจดจองชื่อเพื่อจัดตั้งพรรค จะต้องมีระยะเวลาตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วน ก่อนออกใบรับแจ้ง และเข้าสู่กระบวนการตั้งพรรคต่อไป
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ที่จะเริ่มช้ากว่า 1 เดือน คือ ดีเดย์ 1 เม.ย. ถึงจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบ ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแต่ละป้อมค่าย
แน่นอน ที่มีข่าวมาตลอดว่าหนุน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ไปต่อ อันดับต้นๆที่ชูรักแร้มาแต่หัววัน กลุ่ม “ลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ ขณะที่กลุ่มประชาชนปฏิรูป นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สปท. เอาแน่ในงาน “แบกเสลี่ยง” ผู้นำอำนาจพิเศษเฟสต่อไป
และที่คาดว่าจะมาแนวเดียวกัน “พลังธรรมใหม่” ที่มีคนค่าย “พลังผัก” ที่โด่งดังในอดีต ดูชื่อแกนนำที่เปิดตัวลุย และแนวทางแล้ว ไม่พ้นเป็นแนวร่วมหนุน “ผู้นำท็อปบูต” อีกสำนัก
รวมทั้งอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ทราบขั้วฝ่าย แต่พร้อมหมดถ้าเงื่อนไขทำให้สดชื่น
ทั้งค่ายของอดีตคนใกล้ชิดอดีตบิ๊ก รสช. ถึงแม้จะมีสายสัมพันธ์บ้านใหญ่เทเวศร์ แต่ก็แนบแน่นอดีตทหารเอก “นายใหญ่ไทยรักไทย” ชุดต้านรัฐประหารปี 2549 รวมทั้งพรรครวมดาวความหวังใหม่ และกลุ่มใหญ่ 3 จังหวัดภาคใต้
ส่วนที่จะเป็นค่ายหลัก ยังไม่รู้ว่าเครือข่ายของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จะใช้ชื่อไหน จะมี “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม นั่งแท่นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ หนุน “ผู้นำ” ฉบับแปลงกายแน่
โดยมีอีกค่าย “สมคิดเน็กเวิร์ก” อย่าง “บิ๊กเตาปูน” ชัชวาลย์ คงอุดม อดีต ส.ว.กทม. กับหัว “พลังท้องถิ่นไท” ลุยเก็บแต้มท้องถิ่น
แต่นั่นยังไม่รวมหัวเก่าที่เปิดดีลไว้ ทั้งชาติไทยพัฒนา-พลังชล กลุ่ม 16 บางส่วน และแน่นอนบรรดาบิ๊กเนมประเภท “บ้านใหญ่” หัวเมือง มีทั้งยื่นเงื่อนไขเว้นวรรค-เปิดทาง หรือมีสัญญาณตีแล้วสอยเข้าพวก
เพียงแต่ที่เป็นปัญหากับอีกค่ายหลัก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่เฮี้ยวจัดช่วงนี้ แต่เมื่อถึงเวลา คงคุยได้ แต่ติดวงเล็บ “เฉพาะกิจ” เพราะหลังตั้งรัฐบาล ลูกเล่นลีลายึกยักต่อรองบานแน่
นี่แหละปัญหาของว่าที่ “ผู้นำคนนอก” โดยเฉพาะถ้าอ่านตามสมการการเมือง เรื่องแต้มหนุนสู่เก้าอี้ใหญ่ไม่น่าจะมีปัญหา ถึงแม้ค่ายนายใหญ่เพื่อไทยด้วยฐานแต้มเก่าจะ “เป็นต่อ” แต่กับ 250 เสียงว่าที่ ส.ว. ตุนเป็นกอบเป็นกำ
อย่างไรถ้า “นายกฯลุงตู่” เอาแน่ ก็ไม่น่าจะพลาดเป้า
ส่วนการบริหารหลังตั้งรัฐบาล “เหนื่อย” พลังสีเขียวคงต้องออกฤทธิ์รายวัน
เหตุเฉพาะหน้าจึงต้องว่ากันที่รายการหักเหลี่ยมเฉือนแต้มในสนามโดยเฉพาะ “อำนาจพิเศษ” ต้องบล็อกค่ายนายใหญ่เต็มพิกัด เพราะมาในสูตรแก้ “ทางเดียวกัน” คือ “แยกร่าง” เปิดหัวสำรองไว้
ทั้งกลุ่มรวม “เกรดเอ” หวังผลได้ทางภาคเหนือ ทั้งค่าย “อดีตบิ๊กสีกากี” พลิกข้าง รวมทั้งกระแส “อดีตบิ๊ก ศอ.บต.” ยื้อยุดสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ไม่ให้ไหลตามแรงดูด “เจ้าสัวก่อสร้างยักษ์” ตรึงกำลังพลไว้เปิดค่าย
หรือแนวร่วมไม่เอาท็อปบูตที่ต้องจับตา การรวมตัว “คนหนุ่มพลังสูง” อดีตนักกิจกรรมนักศึกษาชื่อดังที่หันมาทำธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์เจ้าใหญ่ เตรียมเปิดหัว และทาบทามนักวิชาการ “สายแรง” มาลงสมัคร
เรียกว่าสำหรับนายใหญ่ นอกจากมีฐานเดิมแน่นหนา มีรายการแยกร่างเปิดค่ายในเครือข่าย
แถมดีล “ตัวแปร” มาเป็นกองหนุนได้เหมือนกัน
ในจังหวะของประเทศไทย ที่ประเมินกันไว้ล่วงหน้าว่าจะเข้าสู่สูตรรัฐบาลผสมตำรับ ปชต.ครึ่งใบ
โมเดล “ไทยนิยม” ที่ “บิ๊กตู่” ปลุกปั้น และรอ “เหนื่อยต่อ”.
ทีมข่าวการเมือง

สะท้อนขีดความมั่นใจ

สะท้อนขีดความมั่นใจ


“วาระแห่งชาติ” คดีหวยรางวัลที่หนึ่ง 30 ล้านบาท ยึดพื้นที่ข่าวหมดทุกสื่อ
ตามบรรยากาศสถานการณ์ที่สะท้อนว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจกับประเด็นมโนสาเร่ ติดตามเรื่องวุ่นๆของชาวบ้านมากกว่าการบ้านการเมือง
เรื่องเลือกตั้งยังไม่เร้าใจเท่ากับมหากาพย์ “แก๊งตกหวย”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ถือว่า เดินหมาก ทิ้งไพ่ได้ถูกจังหวะสถานการณ์
ชิงถอนหัวเชื้อชนวนออกจากกองไฟ จนขบวนการ “อยากเลือกตั้ง” จุดม็อบไม่ติด
กับการที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาการันตีไม่มีการคว่ำกระดานกฎหมายลูกทั้งร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อลากเกมยื้อเลือกตั้ง
โรดแม็ปยังคงเดินหน้าตามเดิม บวกเพิ่มอีก 90 วัน ตามเงื่อนไขเพิ่มใน พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.
และในการแถลงข่าวหลังประชุม ครม.ล่าสุด “นายกฯลุงตู่” ก็ย้ำชัดถ้อยชัดคำไปอีกขั้น โดยยืนยันเลยว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน
สะท้อนความมั่นใจในการกล้าเดิมพันน้ำหนักคำพูดผู้นำ
ซึ่งนั่นก็ต้องโยงมาจากระดับความมั่นอกมั่นใจของ “นายกฯลุงตู่” ต้องคุมเกมได้ระดับหนึ่ง
ถึงกล้าปล่อยสัญญาณไฟเขียวเลือกตั้ง จากที่ต้องระวังไม่ให้เสียของ
“ลุงตู่” ต้องมั่นใจแล้วว่า เอาอยู่ โอกาสค่อนข้างชัวร์ที่จะกลับมาคุมเกมอำนาจ
ช่วงเปลี่ยนผ่านตามพิมพ์เขียวที่ล็อกไว้ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่ดูแล้วอยู่ในจุดที่เข้าทางผู้นำ คสช.
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านแรงเสียดทานจากโลกประชาธิปไตย ที่ล่าสุด “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า ระหว่างที่เดินทางไปเยือนกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่รัฐฮาวาย ผู้บัญชาการกองกำลังทหารสหรัฐฯภาคพื้นแปซิฟิก ได้เสนอให้กองทัพไทยเป็นเจ้าภาพประชุม ผบ.ทบ.ภาคพื้นแปซิฟิก 30 ประเทศ ในปี 2019
น่าจะเป็นเพราะเห็นว่า ไทยมีความพร้อม สถานการณ์เรียบร้อย และให้เกียรติกับไทย
โดยเสนอสภากลาโหมรับทราบ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ได้อนุมัติแล้ว
แนวโน้มพี่เบิ้มสหรัฐฯยกระดับเครดิตประเทศไทยภายใต้รัฐบาล “นายพลประยุทธ์” ตามลำดับ
แรงเสียดทานจากต่างชาติยังจัดว่าเบาบาง
ขณะที่เงื่อนไขแรงเสียดทานภายใน ก็มาถึงขั้นตอนกระบวนการลุยขุดรากถอนโคนความขัดแย้ง กับยุทธศาสตร์ “ไทยนิยมยั่งยืน” ที่รัฐบาลส่งทีมงานกว่า 7,500 ทีม กระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศ
แก้ปัญหาความยากจน ฟื้นคุณภาพชีวิตชาวบ้านฐานราก พร้อมๆกับเคลียร์ปมทางการเมือง
แฝงยุทธการสลายระบบหัวคะแนนไปในที
อีกจุดที่สังเกตได้ก็คือสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่มีการลุยเดินหน้าเมกะโปรเจกต์ “เรือธง” แบบเร่งเครื่องเต็มสูบ
ล่าสุด “ลุงตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุมบอร์ดอีอีซี อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน
ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท หนึ่งในโครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
ตามกระบวนการขั้นตอนจะมีการนำทีโออาร์โครงการไฮสปีดเทรนเข้า ครม.กลางเดือนมีนาคม ในจังหวะไล่เลี่ยกับกฎหมายอีอีซีประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
โดยรัฐบาลจะนัดทูตต่างประเทศมาชี้แจงความคืบหน้าและแจกทีโออาร์
และเดินโปรเจกต์เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ด้วยการเสนอทีโออาร์โครงการศูนย์กลางการบินอู่ตะเภาเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนเดือนพฤษภาคม ต่อด้วยโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3
ตามรูปการณ์ติดเครื่องอีอีซีทุกตัว ภาพรวมเศรษฐกิจจะยิ่งติดลมบน
ความคืบหน้าทั้งเนื้องานและภาพเชิงยุทธศาสตร์ชัดเจน
ประชาชนหวังกับทีม “ลุงตู่” ได้ในทางยาวๆ
แม้จะมีจังหวะขัดแข้งขัดขานิดหน่อย กับขบวนการ “ขิงแก่” ที่แค้นฝังหุ่น เพราะอกหักจาก ครม. เดินสายกล่าวหาเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง ปั่นกระแสการยกที่ดินให้ต่างชาติทำผลประโยชน์
โกรธ พาล “ลุงตู่” หวังล้มกระดานรัฐบาลให้ได้
แต่ถึงตรงนี้ “ไฮสปีดเทรน” ติดเครื่อง เปิดหวูดแล้วหยุดยาก.
ทีมข่าวการเมือง

แตะมือเปิดดีลกันแล้ว

แตะมือเปิดดีลกันแล้ว


โคตรเซียนเก๋าระดับนี้ ไม่จำเป็นต้องรีบหงายไพ่เล่น
ล่าสุดย้ำชัดๆจากปากของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิกปปส. ยืนยันต่อสาธารณชนหน้าตีนบันไดศาล ไม่คิดหันไปเล่นการเมืองอีก ไม่ร่วมรัฐบาลกับใคร ไม่เป็นนายกฯ ไม่เป็นรองนายกฯ ไม่เป็นนักการเมือง ไม่ไปลง ส.ส.อย่างแน่นอน
ณ ตอนนี้ต้องก้มหน้าก้มตาสู้คดี ยังไม่รู้จะรอดหรือไม่รอด
แต่ที่แน่ๆต้องกอดขาเอาไว้ให้แน่น ตามแผนยุทธศาสตร์ประกาศชูธงหนุน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ไว้ก่อน เพราะมีชนักปักหลังอยู่หลายคดี
นาทีนี้ “ลุงกำนัน” ยังไม่พร้อมออกตัวล้อฟรี
และโดยสถานการณ์มันก็ล้อตามเสียงเงียบฉี่ของบรรดาแกนนำระดับหัวแถว
ของทีม “นกหวีด” ไล่ตั้งแต่นายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงษ์หนองเตย ฯลฯ
ไม่มีใคร “ใจถึง” กล้าแสดงตัวแสดงตน แหกค่ายประชาธิปัตย์ไปกับ “ลุงกำนัน”
ภายใต้สภาวะกดดันหนักๆแบบที่นายวัชระ เพชรทอง จอมแฉตัวแสบของประชาธิปัตย์ ออกมาตีปี๊บแกมเบิ้ลบลัฟไล่ส่งทีมงาน กปปส. ขออาสาไปลงสมัครในพื้นที่แทน
ตามแผนรุกจากฝ่ายคุมเกมอำนาจในประชาธิปัตย์ ขู่ยึดโควตากันซึ่งๆหน้า
“ลุงกำนัน” เจอโจทย์ยาก สถานการณ์ที่ตัดสินใจลำบาก ยังคิดไม่ตก
แต่ก็ยังไม่ปิดประตูล็อกตาย ตามเหลี่ยมทิ้งทุ่นเปิดทางไว้ ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น ถ้าในวันข้างหน้าจะมีการตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯขึ้นมาตามความต้องการของประชาชนผู้สนับสนุน
แนวโน้มตามรูปการณ์ ยังไง “ลุงกำนัน” ก็ต้องพยายามเก็บเล็กผสมน้อย
มีแต้มให้ “ลุงตู่” เป็นต้นทุนหน้าตัก
โดยเฉพาะในกรณีถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังดึงดันที่จะแข่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไม่เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์แต่โดยดี
“ลุงกำนัน” ต้องทำเต็มที่ ตามยุทธศาสตร์ที่ดีลกันไว้
กับสถานการณ์ที่เหมือนบุญมี แต่กรรมบัง ยี่ห้อประชาธิปัตย์มีโอกาสแจมอำนาจ ตีตั๋วร่วมรัฐบาลเปลี่ยนผ่านกับ “ลุงตู่” แน่ๆ แต่กลายเป็นเรื่องยากไปซะได้
ต่างกันกับสถานการณ์ค่ายเอสเอ็มอีที่เดินแต้มกันง่ายๆเลย
ตามกระแสข่าววงในล่าสุด จุดไฮไลต์อยู่ที่คิวของพรรคชาติไทยภายใต้การนำของ “หนุ่มท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา เดินยุทธศาสตร์แตะมือกับค่ายพลังชลของ “เสี่ยแป๊ะ” นายสนธยา คุณปลื้ม
โดยมีทีมของ “สุชาติ ตันเจริญ” พ่วงอยู่ด้วย
ตามสูตรผสมที่ลงตัวเป็น “ปลาไหล 4.0” พันธุ์ใหม่
กับจำนวนตัวเลข สถานะพวกไร้ปัญหา ไม่มีภาพความขัดแย้ง
“ดีหนึ่งประเภทหนึ่ง” จองที่นั่งในรัฐบาล “ลุงตู่” ภาคสองได้เลย
อีกจุดที่จับความเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่วิ่งหาพันธมิตรภายนอกพรรค แตะมือไปหมดทุกขั้วป้อมค่าย
“นายใหญ่” ก็คุย ท็อปบูตก็ต่อสาย
เป้าหมายแรกของ “เสี่ยหนู” น่าจะอยู่ที่การปั่นหุ้นด้วยศักยภาพของตัวเอง
ตีกันเงาของ “เนวิน ชิดชอบ” กลับมาครอบงำพรรค
ว่ากันตามสถานการณ์ป้อมค่ายหลักๆภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา พลังชล พร้อมเป็นต้นทุนให้ “ลุงตู่”
แตะมือ เปิดดีลกันไว้หมดแล้ว
ตามแนวโน้มสถานการณ์ที่ตีคู่ไปกับโรดแม็ปเลือกตั้งที่กระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ
ถึงตรงนี้ ลำพัง “ลุงตู่” เหนื่อยแล้วที่จะลากเกมยื้อเลือกตั้งออกไป
ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่ 7 กกต.ชุดใหม่โดนคว่ำกระดาน ก็มีปมแค่ “ตัวป่วนขาประจำ” อย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ลดชั้นจาก 5 เสือ ไปสมัครเป็นเลขาธิการ กกต.
เป็นอาการ “เปรี้ยว” ต่อเนื่องจากที่โดนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “เซ็ตซีโร่”
ส่อทำให้ กกต.เดิมเหลือแค่ 4 คน แต่ก็ยังจัดเลือกตั้งได้ในกรณีสรรหา กกต.ใหม่ไม่ทัน
เรื่องของเรื่อง มันวุ่นเพราะ “ความอยาก” ของคนบางคน
ไม่ได้มีสายสนกลในกับเหลี่ยมยื้อเลือกตั้งแต่อย่างใด.
ทีมข่าวการเมือง