PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

3 ปีของ คสช. และ สนช. มีการออกฎหมายใหม่มากถึง 320 ฉบับ

ประเทศไทยมีกฎหมายมากแค่ไหน
ตลอด 3 ปีของ คสช. และ สนช. มีการออกฎหมายใหม่มากถึง 320 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของกฎหมาย 754 ฉบับที่ประกาศใช้อยู่แล้วตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันเรามีกฎหมายระดับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้งสิ้น 1,074 ฉบับ แยกเป็น พระราชบัญญัติ 992 ฉบับ พระราชกำหนด 18 ฉบับ และ ประกาศ คสช. 64 ฉบับ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. กฎหมายระดับ พ.ร.บ. ที่บัญญัติขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ แบ่งได้ดังนี้
1.1 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน โดยกฎหมายเหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบต่างกัน เช่น พ.ร.บ. กฎมนเฑียรบาล พระบรมราชโองการ เป็นต้น
1.2 มีงานวิจัยที่พบว่า ตั้งแต่สมัย ร.5 (ร.ศ. 128 หรือ พ.ศ. 2452) จนถึง ปี พ.ศ. 2551 มี พ.ร.บ. ที่ บังคับใช้อยู่ 626 ฉบับ แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขและยกเลิกไปหลายฉบับก็ตาม โดยในงานวิจัยนี้ไม่ปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับ พ.ร.ก. และประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติใดๆ (ชาติ ชัยเดชสุริยะ, มิ.ย.2552, บทคัดย่อกฎหมายไทย จาก พระราชบัญญัติ 626 ฉบับ, สนพ.วิภาษา.)
1.3 จากเว๊ปไซต์ของ สนง. กฤษฎีกา ระบุว่าระหว่าง ปี พ.ศ. 2552 - 2556 มีการตรา พ.ร.บ. 118 ฉบับ และ พ.ร.ก. 10 ฉบับ ดังนั้นเมื่อรวมกับที่มีอยู่ก่อนตามข้อ 1.2 ทำให้มีกฎหมายระดับ พ.ร.บ. รวมเป็น 754 ฉบับ
1.4 พ.ศ. 2557 ตั้งแต่มี คสช. และ สนช. จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 มีการตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ. 248 ฉบับ พ.ร.ก. 8 ฉบับ และ ประกาศ คสช. 64 ฉบับ รวมเป็น 320 ฉบับ
2. ความพยายามในการปฏิรูป แก้ไข ยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่ผ่านมา เพื่อลดภาระของประชาชน ลดคอร์รัปชัน
2.1 มีการออก พ.ร.ฎ. การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 (ส.ค.58) เพื่อให้มีการทบทวน แก้ไขหรือยกเลิก บทบัญญัติของกฎหมายให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควรสอดคล้องกับการดําเนินชีวิตตามกาลสมัยและวิวัฒนาการของเทคโนโลยี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2.2 คณะกรรมการโครงการประชารัฐ ตั้งคณะทำงานโครงการ Regulatory Guillotine ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาเสนอแนะการตัดลด แก้ไข กฎหมายที่ล้าสมัยหรือหมดความจำเป็น
2.3 ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการกำกับการปฏิรูปกฎหมาย (พ.ค. 2560) เพื่อปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือข้อบังคับที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่สร้างภาระแก่ประชาชน และปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการเสนอกฎหมายหรือข้อบังคับที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ ในครั้งนี้โครงการ Regulatory Guillotine ได้รับการสานต่อสำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าการลงทุน
3. หมายเหตุ
3.1 จากจำนวน พ.ร.บ.ทั้งหมดที่มีอยู่ ทำให้มีการประเมินว่าประเทศไทยน่าจะมีกฎหมายลูก เช่น กฎกระทรวง ประกาศ คำสั่ง มากกว่า 2 หมื่นฉบับ และเมื่อนับรวมกฎหมาย กฎระเบียบ คำสั่งจนถึงเทศบัญญัติทุกระดับ จะทำให้เรามีกฎหมายกฎระเบียบมากกว่า 1 แสนฉบับ
3.2 สนช. มี ร่าง พ.ร.บ. ค้างอยู่ในขั้นตอนต่างๆ 48 ฉบับ และจะมีกฎหมายที่ออกตามรัฐธรรมนูญอีกประมาณ 60 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่อยู่ “ระหว่างการศึกษา” ของหน่วยงานต่างๆ อีก 202 ฉบับที่ยังไม่ได้เสนอต่อ สนช.
3.3 เดิม พระราชกำหนด ที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้ว จะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นพระราชบัญญัติ แต่ภายหลังมิได้ทำเช่นนั้นคือยังคงเรียกเป็นพระราชกำหนดดังเดิม และปัจจุบันยังมีการเรียก “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” (พ.ร.ป.) เพิ่มขึ้นมาอีก
3.4 มีข้อสังเกตุว่า อาจยังมี พ.ร.บ. จำนวนหนึ่งที่มิได้ถูกยกเลิก แต่ไม่เป็นที่นิยมนำมาบังคับใช้จึงไม่ถูกบันทึกข้อมูลไว้ และมีบางกรณีที่ออก พ.ร.บ. หลายฉบับแต่มีผลบังคับใช้เกี่ยวเนื่องในกฎหมายเดียว เช่น กรณี พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ ที่มีการออก พ.ร.บ. เพื่อแก้ไขรวม 17 ฉบับ หรือมีกรณีที่ออก พ.ร.บ. ใหม่พร้อมกับยกเลิกกฎหมายเก่าหลายฉบับก็มี ดังนั้นการนับจำนวนกฎหมายจึงขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิธีการของผู้ศึกษา
3.5 ในปี พ.ศ. 2557 ก่อนการรัฐประหารไม่ปรากฎว่ามี พ.ร.บ. ใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
17/7/60

"พล.ต.ต.ปวีณ" ลี้ภัยแดนออสซี่...อีกหนึ่งคีย์แมนคดีค้าโรฮิงญาที่ถูกลืม

"พล.ต.ต.ปวีณ" ลี้ภัยแดนออสซี่...อีกหนึ่งคีย์แมนคดีค้าโรฮิงญาที่ถูกลืม

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 20 กรกฎาคม 2560 เวลา 04:51 น.
เขียนโดย
ศูนย์ข่าวภาคใต้
14.8kShares
 Share
 Tweet
 Share

คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งน่าจะเป็นคดีใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เปิด "แผนกคดีค้ามนุษย์" ในศาลอาญา เพราะมีผู้ต้องหามากถึง 153 คน จับกุมและถูกฟ้องเป็นจำเลย 103 คน เสียชีวิตไป 1 คน ทั้งนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นในภาคใต้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และนายทหารยศสูงถึง "พลโท" ถือเป็นคดีตัวอย่างที่รัฐบาลไทยใช้ยืนยันกับสหรัฐอเมริกาว่ามีความจริงจัง จริงใจในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ 
paween
          แต่คดีสำคัญนี้กลับมีร่องรอยของความด่างพร้อย เมื่อหัวหน้าชุดสอบสวน พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ออกมาให้ข่าวเปิดโปงการถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลที่ได้รับผลกระทบทางคดี ที่สำคัญคือผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไม่ดูแล โยกย้ายเขาแบบ "ย้ายระนาบ" ไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (รองผบช.ภ.8) ไปเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รองผบช.ศชต.)
          พล.ต.ต.ปวีณ เคยให้สัมภาษณ์เปิดใจกับ "ทีมข่าวอิศรา" เอาไว้ว่า การย้ายเขาไปอยู่ชายแดนใต้ เชื่อว่ามีขบวนการกลั่นแกล้ง เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ถูกลอบวางระเบิดสังหารเช่นเดียวกับ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.ยะหา จ.ยะลา เมื่อปี 2553 เพราะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีเครือข่ายขบวนการค้ามนุษย์อยู่เป็นจำนวนมาก
          ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงของการทำคดี เขาถูกข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลและคนมีสีหลายครั้ง เพราะมีการออกหมายจับนายทหารยศพลโท และนายทหารสัญญาบัตรอีก 4 นาย มีการข่มขู่พยานไม่ให้เข้าให้การ ขณะที่การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจชั้นนายพลในปีนั้น ก็ไม่มีตำรวจในชุดสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่ดีขึ้นเลยแม้แต่คนเดียว
          พล.ต.ต.ปวีณ ได้ทำเรื่องขอให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งโยกย้าย ซึ่งเป็นวาระแต่งตั้งประจำปี 2558 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี จึงตัดสินใจยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ปีเดียวกัน
          การถอดใจลาออกของ พล.ต.ต.ปวีณ ตกเป็นข่าวครึกโครม เพราะภาพที่ออกมากลายเป็นว่า"ตำรวจ" ในฐานะ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ต้องพ่ายแพ้อิทธิพลของขบวนการค้ามนุษย์ ร้อนถึงพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ต้องเชิญ พล.ต.ต.ปวีณ เข้าพบเมื่อวันที่ 10 พ.ย. หลังจากนั้นท่าทีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เปลี่ยนไป และให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าจะทบทวนใบลาออกของ พล.ต.ต.ปวีณ แต่แล้วสถานการณ์ก็พลิกผันอีกครั้ง เพราะอีกเพียงไม่กี่วันต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็อนุมัติใบลาออก ทำให้ชีวิตราชการของ พล.ต.ต.ปวีณ สิ้นสุดลง ทั้งๆ ที่ยังเหลืออายุราชการอีกถึง 3 ปี
          หลังจากนั้น พล.ต.ต.ปวีณ ก็หายหน้าไปจากวงการสีกากี มีข่าวว่าเขาและครอบครัวเดินทางไปประเทศออสเตรเลีย พร้อมทำเรื่องขอลี้ภัย ปัจจุบันมีข่าวว่า พล.ต.ต.ปวีณ ได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว แต่ยังไม่ได้สัญชาติออสเตรเลีย
          สำหรับ พล.ต.ต.ปวีณ ได้รับการยอมรับว่าเป็น "นายตำรวจน้ำดี" และเป็น "ตำรวจตงฉิน" คนหนึ่ง เขาเป็นคนกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 35 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดชีวิตราชการได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะรางวัลพนักงานสอบสวนดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ปีซ้อน สมัยดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.กะทู้ และ สภ.เมืองภูเก็ต ได้รับรางวัลที่ 1 โรงพักต้นแบบที่มีการจัดระบบอย่างทันสมัย สามารถตอบสนองการให้บริการประชาชนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
          ส่วนผลงานด้านการสอบสวน เคยคลี่คลายคดีสำคัญๆ มากมาย เช่น คดี นายศักดิ์ ปากรอ ฆ่ายกครัว 5 ศพ ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา คดีฆาตกรรมแหม่มสวีเดน ที่ จ.ภูเก็ต คดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง แฟลตตำรวจ 163 แห่ง คดีร้องเรียนแท็กซี่มาเฟีย จ.ภูเก็ต จับกุมผู้ต้องหาได้กว่า 200 คน และคดีสุดท้ายคือคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ก่อนจบชีวิตราชการก่อนเกษียณถึง 3 ปี

ฐานะ เกียรติภูมิ พรรค และนักการเมือง แตกแยก อ่อนแอ



3ปีภายใต้ยุค คสช. ภายใต้การบริหารจัดการโดยทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำ สะท้อนให้เห็นอะไร
“คำถาม” นี้มี “คำตอบ” แตกกระจาย
แตกกระจายไปตามแต่ละ “มุมมอง” ที่ไม่เหมือนกัน แตกกระจายไปตามแต่ละ “ประโยชน์” ที่ไม่เหมือนกัน
ไม่ว่าจะมาจาก “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะมาจาก “พรรคประชาธิปัตย์”
กระนั้น ก็มีลักษณะ “ร่วม” ประการหนึ่งซึ่งยากที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะปัดปฏิเสธได้ก็คือ สถานะและเกียรติภูมิของพรรคการเมืองและของนักการเมือง
เสื่อมทรุด และตกต่ำ
อย่าว่าแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เลย แม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยเองก็ยากที่จะปฏิเสธ
เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้
ลองไปนำเอา “เทป” เก่าของคำปราศรัยบนเวที ไม่ว่าจะจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะจาก กปปส.มาเปิด
ก็จะประจักษ์แจ้ง
เป้าหมายในการปราศรัย ในการ ดิสเครดิตของบรรดานักพูดเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเดียว นั่นก็คือพรรคการเมือง นั่นก็คือนักการเมือง
แม้กระทั่ง “นักพูด” ของ กปปส.ซึ่งเป็น “นักการเมือง” ก็เถอะ
เพียงแต่เขารู้สึกว่าพรรคการเมืองที่เขาประณามมิใช่พรรคของเขา และนักการเมืองที่เขาประณามมิใช่พวกเดียวกันกับเขา
เป็นพรรคไทยรักไทย เป็นพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคเพื่อไทย
ปัจจัยนี้เองที่ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ล้วนอาศัยมาเป็นกระดานหกทะยานไปสู่ความสำเร็จ
ไม่เชื่อลองไปถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ได้
ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ต่างขั้วต่างสีกันต่างหากคือ “เหยื่อ”
เป็นเหยื่อให้รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เวิร์ก
เป็นเหยื่อให้รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นำมา “ต่อยอด” และดำรงจุดมุ่งหมายในการครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน
ยาวนานร่วม 20 ปี และแทบไม่มีกำหนด
ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญล้วนมี “เป้าหมาย” อันเด่นชัดอยู่ที่พรรคการเมือง อยู่ที่นักการเมือง
ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยก่อตั้ง “พรรคการเมืองใหม่”
ไม่เว้นแม้กระทั่งแกนนำ กปปส.ที่ต่างทยอยกันหวนกลับไปยัง “พรรคประชาธิปัตย์” อันเป็นพื้นที่เก่าของตน
อย่าคิดว่าจะมีแต่ “พรรคเพื่อไทย” หรือ “นปช.”
ความขัดแย้ง แตกแยก ของพรรคการเมือง ของนักการเมืองและในหมู่ประชาชนต่างหากที่ได้กลายเป็นภักษาหารอันเอมโอช
เป็น “เหยื่อ” ให้กับขบวนการ “รัฐประหาร”
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนอ่านเกมอันบัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ตรงกัน
นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้มี “พรรคการเมือง” ที่แข็งแกร่ง มั่นคง
นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้มีความคิด
โดยพื้นฐานอันมี “ลักษณะร่วม” ระหว่างพรรคการเมืองและระหว่างนักการเมือง
เพราะรากฐานแห่ง “อำนาจ” มาจากความอ่อนแอของ “พรรคการเมือง”

ต้องได้คนดีปกครองประเทศ

ต้องได้คนดีปกครองประเทศ

สัญญาประชาคม คัมภีร์ปรองดอง

เริ่มต้นเดินหน้าเปิดเวทีสาธารณะหลังจากได้ทำร่างสัญญาประชาคมเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว สาระทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่คนไทยควรปฏิบัติมากกว่า

ไม่ได้มีวิธีการที่กำหนดเอาไว้ว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นอย่างไร มีกรรมวิธีอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ

แต่เป็นการกำหนด 10 ข้อ ที่เป็นความคิดเห็นร่วมที่นำมาประมวลรวบรวมเอาไว้เป็นข้อสรุปครอบคลุมทั้งหมด

ทำนองว่าหากคนไทยทำอย่างนี้แล้วความปรองดองจะเกิดขึ้น

เป้าหมายปรองดองที่ตั้งธงเอาไว้ก็คือ การมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาของประชาชนอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต

ที่ผูกติดเข้ายุคสมัยก็คือคนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

แต่ในสัญญาประชาคมนี้ยังพ่วงภาคผนวกอันเป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อีก 15 ข้อด้วย

เช่น การไม่ใช้อำนาจบริหารประเทศเพียงหวังคะแนนเสียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีกลไกควบคุมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบต่อประชาชน การทุจริตระดับนโยบายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง

นักการเมืองทุกคนต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณในอาชีพ ภาคการเมืองต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองที่เหมาะสม

คนไทยต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม

ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความชอบธรรม

ให้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมมือในการจัดการทุจริตฉ้อฉลและอำนาจนอกระบบอย่างเด็ดขาด

เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้ หากคนไทยนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงก็จะสามารถนำไปสู่ความปรองดองได้ พูดง่ายๆว่าเป็น “คัมภีร์ปรองดอง”...ว่างั้นเถอะ

จึงเป็นได้เพียง “นามธรรม” แต่ “รูปธรรม” ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้จริงหรือไม่?

เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ที่รัฐบาลและ คสช.บอกว่าได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60% นั้น น่าจะเป็นเรื่องการสร้างกฎกติกาและการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เพื่อเป็นองค์ประกอบในการเดินหน้าไปสู่ความปรองดอง

แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจกันมากน้อยแค่ไหน?

เอาเป็นว่าถ้าทุกฝ่ายทำตามนี้ด้วยความเข้าใจ ก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่

เพราะในสภาพความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองก็ยังเป็นนักการเมืองที่มุ่งหวังไปสู่อำนาจและผลประโยชน์ ไม่ยอมรับการเปลี่ยน สนับสนุนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง

ความมุ่งหวังที่จะเดินหน้าไปสู่ความปรองดองได้นั้นจึงใช้เวลา และที่มีส่วนสำคัญที่สุด ก็คือประชาชน ที่จะต้องแสดงให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม

เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกคนดีเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ.

“สายล่อฟ้า”

สู่ความสามัคคีปรองดอง

สู่ความสามัคคีปรองดอง

การสร้างความปรองดองในชาติ เป็นวาระแห่งชาติสำคัญของรัฐบาล คสช. แต่ผ่านไปแล้วกว่าสามปีนับแต่การยึดอำนาจ ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คนไทยทั่วไปรู้แต่เพียงว่ารัฐบาลจะทำเป็น “สัญญาประชาคม” และเพิ่งจะเปิดร่างสัญญาประชาคมเป็นครั้งแรก มีส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่บทนำ ความคิดเห็น และภาคผนวกซึ่งเป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี

ร่างสัญญาส่วนที่เป็นความคิดเห็นมี 10 ข้อ เริ่มต้นด้วยการประกาศว่าคนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศ ไทยมีความเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีส่วนร่วมกับการ เมือง ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้เข้มแข็ง เพื่อการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ส่วนภาคผนวกที่เป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 15 ข้อ เช่น ต้องมีกลไกควบคุมพรรคการเมืองให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชน การทุจริตระดับนโยบายต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง คนไทยต้องมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น และน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำรงชีวิต

อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมฉบับทหาร เพราะคณะผู้นำกองทัพเป็นผู้จัดทำ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนประกอบ ภาคความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นแนวทางปฏิบัติคล้ายกับเป็นคำสั่งให้ทำตาม ส่วนภาคผนวกเป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี เน้นการปฎิรูปการเมือง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมการเมือง และยอมรับความเห็นต่าง

สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมือง เพื่อให้การเมืองประชาชนเข้มแข็ง นำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม เสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและมั่นคง ล้วนแต่เป็นข้อเสนอที่ดี แต่สิ่งดีๆเหล่านี้ไม่สามารถผุดเกิดขึ้นเองได้ จะต้องมีกลไกบังคับและตรวจสอบ ตามหลักการประชาธิปไตย

นักการเมืองที่เข้าร่วมเวทีรับฟังบางคนวิจารณ์ว่าเนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมส่วนใหญ่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว การสร้างความสามัคคีปรองดอง น่าจะเริ่มต้นด้วยการค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข บางคนเตือนว่าการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องไม่มองข้ามอุปสรรคปัญหาที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานไม่รู้จักโต

สัญญาทุกฉบับจะต้องมีคู่สัญญา แต่สัญญาประชาคมฉบับนี้ไม่ทราบว่าใครบ้างเป็นคู่สัญญา ผู้มีพันธสัญญาร่วมกันที่จะปฏิบัติตามสัญญา เมื่อไม่ทราบว่าใครเป็นคู่สัญญา จึงเหมาเอาว่า “คนไทยทุกคน” ร่วมกันทำสัญญาประชาคม เพื่อความสามัคคีปรองดอง ด้วยการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยแท้ สังคมที่เป็นสุข และยุติธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน.

ดับข่าวลือ

ดับข่าวลือ

มีกลางคืนก็ต้องมีกลางวัน มีมืดก็ต้องมีสว่าง เมื่อมีข่าวลือ ก็ต้องมีข่าวจริง เป็นของธรรมดาคู่กัน
อย่างเมื่อต้นสัปดาห์ มีข่าวลือกระฉ่อน สะเทือนสะท้านวงการเมืองว่าด้วย เรื่องการปรับ ครม.โผล่ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

อ้างแหล่งข่าวไม่ประสงค์ออกนาม ระบุเป็นตุเป็นตะ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนจะปรับ ครม.ปฏิรูปโครงสร้างรัฐบาล คสช.

แถมเปิดโผลอยลมชี้เป้า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะโดนโยก ไปเป็น รมว.มหาดไทย ดูแลการเลือกตั้ง

สลับลูกสลับดอกให้ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มานั่งแป้น รมว.กลาโหม แทน
และจะมีการขยับ “บิ๊กนมชง” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปนั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม แทน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ที่จะหลุดจากเก้าอี้ พ้น วงโคจร ครม.

แค่นั้นยังไม่สะใจ อ้างจะมีการโยก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไปเป็นรองนายกฯ

เพื่อเปิดทางให้ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. โดดข้าม ห้วยมานั่งเก้าอี้ รมว.การพัฒนาสังคมฯ อีกต่างหาก!!!

ทำเอานักข่าวสายทำเนียบรัฐบาล ต้องหัวหมุน วิ่งเช็กข่าวกันฝุ่นตลบ

ส่วนบิ๊กๆรัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าในโผปรับ ครม.ลอยลม ก็ยังออกอาการงงๆ มึนตึ้บกันเป็นแถว???

ขนาดระดับพี่ใหญ่ “บิ๊กป้อม” ยังออกตัวได้แค่ว่า ถ้าถามใจก็อยากอยู่ที่กระทรวงกลาโหมมากกว่า และถ้าจะมีการปรับ ครม.จริง คงต้องให้ผ่านพระราชพิธีสำคัญไปก่อน แต่เชื่อว่าเป็นแค่โผที่มโนกันไปเอง

ส่วนพี่รอง “บิ๊กป๊อก” ยังรักษาการทรงตัว บอกการปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯคนเดียว และไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน!!!

สุดท้าย ก็เป็น “นายกฯลุงตู่” ที่ต้องออกมาสยบข่าวลือด้วยตัวเอง ยืนยันไม่เคยมีความคิดที่จะปรับ ครม. ยิ่งการจะย้าย รมว.กลาโหมไปดูเลือกตั้ง ย้าย ผบ.ตร. มาเป็นรัฐมนตรี ยิ่งเป็นเรื่อง เพ้อเจ้อ

เมื่อผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จการันตีหนักแน่นซะขนาดนี้ ก็เป็นอันจบข่าวโผปรับ ครม.นั่งเทียน!!!

แต่อย่างที่บอก เมื่อมีข่าวลือ ก็ต้อง มีข่าวจริง ที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด ได้อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงลอตแรก แทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้

เคาะชื่อ “บิ๊กฉิ่ง” นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ แบบแบเบอร์ ไม่มีพลิกโผ

เพราะได้แรงหนุนจาก พล.อ.อนุพงษ์ เต็มลูกสูบ ถือเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง สายสิงห์ดำ เหลืออายุราชการ 4 ปี

พ่วงด้วยการอนุมัติแต่งตั้ง นายพสุ โรหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์
และ นายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ รอง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เป็น ผอ.สขช.

ได้สมหวัง สมปรารถนาของจริง แฮปปี้ไปตามๆกัน

ส่วนใครที่รอคิวแต่งตั้งลอตสอง ก็ยังต้องเหนื่อยลุ้นเสียวกันต่อไปนะโยม!!!

“พ่อลูกอิน”

จุดใหญ่ 'จับแยก' ยังยาก

จุดใหญ่ 'จับแยก' ยังยาก

“อยากอยู่ที่เดิม” แต่ “อยากให้ไปก็ไป”
ไม่รู้จะเป็นอารมณ์น้อยใจของ “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กับน้องๆนักข่าวที่ซักไซ้ปมโผ ครม.รอบใหม่ ที่มีข่าวพี่ใหญ่จะโยกไปคุมกระทรวงมหาดไทย รับคิวเลือกตั้ง

หรือส่งซิกวัดใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะจับวางพี่ชายไปไว้ตรงไหน

แต่เอาเข้าจริง ข่าวทำนองนี้ ทั้งที่มาเป็นกระแส ทั้งที่ลอยลมผ่านโคมมาเมื่อไหร่ก็ถูกจับจ้องทุกครั้ง
แล้วก็ไม่พ้นโฟกัสที่ “พี่ใหญ่” เป็นเป้าเก้าอี้โยก แรงชนิดจะโละจากวง ครม.ไปเลยก็มี

แต่เจอมรสุมข่าว ง่อนแง่นๆ สุดท้าย “บิ๊กป้อม” กลับมามีน้ำมีนวลทุกครั้ง

อาจเพราะบางฝ่ายเห็นช่องว่างสอดแทรกสอดเสี้ยม “คนคู่รัฐบาล คสช.” ในจุดที่อาจประเมินต่ำ
ความสัมพันธ์น้อง-พี่ 40 กว่าปีที่รับราชการทหารจนถึงวันนี้ลึกซึ้งแน่นปึ้กเกินกว่าคนนอกจะเข้าใจ
มาด้วยกันไปด้วยกัน บูรพาพยัคฆ์ไม่น่าต่างจากเลือดสุพรรณฯก็ว่าได้

เช่นเดียวกับพี่ชายอีกคนของผู้นำ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่เข้ามารับงานช่วยน้องชายบนเก้าอี้ รมว.มหาดไทย มา 3 ปี พี่รองบูรพาพยัคฆ์คอนโทรลกระทรวงสิงห์ราบเรียบราบรื่นรอบวง “บิ๊กตู่” หายห่วง

มีข่าวจะสลับเก้าอี้ไปคุมงานแทนพี่ใหญ่ “บิ๊กป๊อก” ออกลูกนิ่มๆ โยนเป็นอำนาจผู้นำตัดสินใจ

พี่รองอ่านทาง ไม่เต้นตาม

ในส่วนของ “บิ๊กตู่” ก็น่าจะเคลียร์ชัด ข่าวปรับ ครม. “เพ้อเจ้อ” ปัดข่าวโยก “บิ๊กป้อม” ไปคุมเลือกตั้ง
เอาเป็นว่ากระแสข่าวปรับ ครม.ก็น่าจะมาพร้อมจังหวะเหมาะๆ จากที่มีสัญญาณการปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหาร ปรับ ครม.หลังงานราชพิธีสำคัญ ดีเดย์ยกเครื่องหลังเดือน ต.ค.

ก็อาจมีมือขยันมาช่วยขยี้โผประเภทผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กองกำลังไม่ระบุ “ขั้วฝ่าย”

จากรอบก่อนๆ มีกระแสข่าวยกชื่อคนมาแทนที่ “พี่ใหญ่” โยนบรรดาบิ๊กท็อปบูตหลายรายมาแทนที่
ล่าสุดเป็น “บิ๊กป๊อก” อีกน้องรักของ “บิ๊กป้อม” มานั่งกระทรวงกลาโหม

ออกทำนอง ขอให้ “ขยับ” เก้าอี้สำคัญ ชื่อไหนมาแทนก็ได้

อีกรายที่เกี่ยวโยง พล.อ.ประวิตร “โผลอยลม” มีชื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มาเป็นรัฐมนตรี แทนที่ “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมฯที่จะข้ามไปกระทรวงยุติธรรม

โยงที่ข่าวปั่นป่วนเก้าอี้บิ๊กสีกากี สลับจับโยกพรางกันไป แต่เข้าเค้าเขย่าแรงที่เก้าอี้ “บิ๊กป้อม” อยู่ดี
สอดรับข่าวเครือข่ายพี่ใหญ่ ทั้งท็อปบูต–สีกากี กลุ่มทุนใกล้ชิด ถูกขย่มเขย่าจนโยกเยกกันเป็นระยะๆ

เช่นเดียวกับที่กลายเป็น “จุดด้อย” เป้าทิ่มรัฐบาล “ลุงตู่” ไปแล้วคือกระทรวงด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาและการระบายพืชผลผลิตการเกษตร ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์

ในจังหวะที่ทีมเศรษฐกิจยังจูนไม่ติด ทั้งขบกันเองในกระทรวง ทั้งทิ่มกันข้ามกระทรวงก็หนักหน่วง

ออกอาวุธลับกันถี่ในช่วงนี้

นอกจากภาวะกระเพื่อมภายในรัฐบาลเอง ก็น่าสนใจที่จะโฟกัสไปที่แรงเขย่าจากภายนอก

กระทั่งขั้วอำนาจการเมืองเก่าโยงไปที่ผลพวงจากคดีสำคัญของฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม ใกล้รู้หมู่รู้จ่า

อาจมีแรงกระเพื่อมปั่นป่วน สะท้อนจากคิวโยงปมระบายข้าวของรัฐบาลปัจจุบันกับปมจำนำข้าว

ซึ่งปมนี้ถ้าเป็นไปได้ ก็น่าจะแค่ตามน้ำ ร่วมด้วยช่วยยำ

แต่ที่เริ่มเห็นเค้า ก๊วนเขย่าเจ้าเดิม บรรดาคนในขั้วอำนาจเก่าเก๋ากึ้ก เริ่มไม่สบอารมณ์อำนาจพิเศษไม่ได้ดั่งใจ จากที่เขย่าต้นขั้วที่พี่ใหญ่มาหลายหนในรอบ 3 ปี

เป้าหมายทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ยังไม่บรรลุ

ส่อปรับแผนเปลี่ยนเกม หวังโละรื้อยกพวงกันแล้ว.

ทีมข่าวการเมือง

นายกฯรมณ์เสีย อีกแล้ว...

รมณ์เสีย อีกแล้ว...
"บิ๊กตู่" ฉุนนักข่าว ซัก การดูแลคดี "ยิ่งลักษณ์"ขึ้นศาลนัดสุดท้าย บี้ สื่อต้องเขียนเตือนประชาชน อย่าก่อเหตุหน้าศาล ต้องเคารพศาล ไม่ใช่ให้ผมสั่ง ทุกเรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวนัดสุดท้ายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ 21 กค.นี้ที่จะมีประชาชนมาให้กำลังใจที่บริเวณศาลอาญาว่า ไม่ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ ผมบอกเขาไปแล้วและเขาก็มีหน้าที่ของเขา
"สื่อเองก็ต้องกำชับประชาชน เตือนประชาชนว่า อย่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ศาล จะต้องเคารพศาล
สื่อต้องเขียนแบบนี้ มาให้ผมสั่งๆ ทุกเรื่อง สื่อต้องเขียนเองบ้าง เตือนประชาชนบ้าง ว่าอะไรที่ทำได้ทำไม่ได้
หรือหน้าที่สื่อมีเพียงอย่างเดียว ว่ารัฐบาลจะทำอะไร ประชาชนจะเอาอะไร แล้วมาตีกันสองข้าง หน้าที่สื่อคืออยู่ตรงกลาง เขียนแล้วให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมตัดสิน

"ผมก็พูดเสมอ แต่ไม่เห็นคุณเขียนแบบนี้เลย คุณก็เขียนแค่นี้ไอ้นี่จะมาประท้วง ไอ้นี่จะมาเดินขบวนหรือมาสนับสนุน รัฐบาลจะทำยังไง จะใช้กฎหมายจัดการหรือไม่ มันก็ตีกันอยู่แบบนี้ คุณก็ต้องสอนคนว่า ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมา ดูที่บ้านก็ได้ มาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็รู้ว่าคนต้องการอะไร คุณก็จะไปจุดชนวนแบบนี้ให้ผมตลอด แบบนี้ไม่ไหว พอแล้ว" นายกฯกล่าว

เมื่อถามว่าวันนี้ศาลจะตัดสินคดีกลุ่มพันธมิตรนายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ด้วยเสียงดังทันทีว่า "เรื่องของศาล"

เผย 5 วัน .ร้อง 417 เรื่อง จนท.รัฐทุจริต 53 เรื่อง



เผย 5 วัน .ร้อง 417 เรื่อง จนท.รัฐทุจริต 53 เรื่อง
"บิ๊กเจี๊ยบ" พอใจ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ เผย 5 วัน .ร้อง 417 เรื่อง จนท.รัฐทุจริต 53 เรื่อง /เผยส่วนใหญ่ ร้องเรียนปัญหาปากท้อง และ จนท.รัฐ ยันจะรักษาความลับของผู้ที่ร้องเรียน . ชี้ นายกฯตั้งศูนย์ เพราะพี่ตัองการแก้ไขปัญหา ทุจริต ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เพราะ กองทัพมีความพร้อม ชี้แม้ 3 ปี คสช.ปราบทุจริต แต่ก็ยังไม่หมด เพราะยังมีพวกกิเลสตัณหา แต่เมื่อพบปัญหาเราลงไปแก้ไขให้ครบถ้วนสมบูรณ์แต่ผมมองว่า ดีกว่า ในยุคก่อนๆ
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก/เลขาธิการ คสช. มาตรวจเยี่ยมการทำงานของ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนความพระพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ บก.ทบ.
โดยกล่าว ว่าในเรื่องการจัดระบบรับเรื่องร้องเรียน มีการดำเนินการทั่วประเทศตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ในตอนนี้ มีทั้งหมด 74 ศูนย์ และในส่วนกลางมีการจัดระบบครบถ้วน สมบูรณ์ เป็นที่น่าพอใจ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 14-18 ก.ค. ได้รับเรื่องร้องเรียนประมาณ 417 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการร้องเรียนทางโทรศัพท์ มีการร้องเรียนทางเอกสาร 12 เรื่อง

ทั้งนี้ในส่วนของกองทัพบกได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อมาตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการร้องเรียน และนำส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ร้องเรียนฯที่จัดขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นหลัก แต่ก็ยังคงมีการร้องเรียนเรื่องความเดือนร้อนของประชาชนมาด้วย

ทั้งนี้จะมีเลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ร่วมเป็นกรรมการด้วย ในการพิจารณาคัดเลือกร้องเรียน

ในขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนมา 53 เรื่องที่จะส่งไปให้ดำเนินการ ตนคิดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ และจะทำการเร่งรัดในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรม

ในส่วนของความเดือดร้อนจะส่งให้สำนักปลัดไปดำเนินการต่อ อะไรที่เป็นความเดือนร้อนของประชาชน ที่กองทัพบกสามารถแก้ไขได้ เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือในทันที

พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าเกี่ยวข้องกับกำลังพลของกองทัพก็ดำเนินการได้ในทันที ในทุกเหล่าทัพ เพราะเราดำเนินการในนาม คสช.

จากการตรวจสอบเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาจะเป็นเรื่องความเดือนร้อนของประชาชน แต่ในเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐมีทั้งหมด 53 เรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการทุจริตของหน้าที่

เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) เลขา ศอตช. ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วยและได้รับเรื่องไปดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

เมื่อถามว่าเพราะอะไรนายกรัฐมนตรีจึงให้กองทัพบกตั้งศูนย์รับเรื่องฯ ขึ้น พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการแก้ไขปัญหา ของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นรูปธรรม เพราะนายกได้รับทราบและได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอด ที่ได้มอบหมายให้กองทัพบก หรือ คสช. ที่มีตนเป็นผู้อำนวยการ เนื่องจากกองทัพบกมีหน่วยงานทั่วประเทศ เราก็ต้องการให้ผู้ที่ร้องเรียนเข้าไปร้องเรียนโดยตรง ถ้าเป็นไปได้เพราะมีความชัดเจน และกองทัพบกมีความพร้อม

ส่วนความกังวลของผู้ร้องเรียน ในการรักษาความลับนั้น ซึ่งเราเองเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร เชื่อว่าในเรื่องการรักษาความลับ เชื่อว่าเรายืนยันอยู่แล้ว และในเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ผู้ร้องเรียนก็มีความกังวล แต่การมาร้องเรียนกับทหารเราจะรักษาความลับไว้ได้ และจะดำเนินการในเรื่องการดูแลได้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์โดยรวม นายกรัฐมนตรีต้องการแก้ปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรมในช่วงเวลาที่มีอยู่

เมื่อถามว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คสช.ได้เข้ามาดูแลเรื่องการทุจริตอย่างจริงจัง แต่ยังคงมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีการดำเนินการอย่างไร พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ เรื่องนี้เป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย เป็นกิเลส ตัณหา ซึ่งก็ต้อง กวาดล้าง

ส่วนจะหมดไปหรือไม่ นั้น ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะหมดไป เพียงแต่มีปัญหาแล้ว เราลงไปแก้ไขให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันเราก็ดำเนินการอยู่ แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกลไลในการดำเนินการ แต่จากการประเมินของสังคมน่าจะดีกว่าในยุคก่อนๆ

ส่วนจะให้มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมดหรือไม่นั้น ผมต้องดูในเรื่องที่ร้องเรียนมาก่อนว่า ประชาชนจะร้องเรียนเจ้าหน้ารัฐเรื่องอะไรมาเป็นหลัก ในกรอบที่เรารับผิดชอบส่วนที่เหลือมีกลไก ปกติอยู่แล้ว

ส่วนที่เรารับเรื่องร้องเรียน ก็เน้นเฉพาะรับเรื่องร้องเรียนของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหลัก ซึ่งผมยังไม่ได้แยกเเยะ ว่าเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง แต่กลไกตามปกติของ ปปท. ปปช. ก็มีอยู่แล้ว หากมีการร้องเรียนการทุจริตในวงการข้าราชการ ที่ทหารเกี่ยวข้องด้วย หากตามกฏหมาย ผมต้องส่งเรื่องไปที่ ปปท. และสามารถทำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวินัย ก็สามารถตรวจสอบได้เลย ซึ่งการร้องเรียนสามารถร้องได้ทุกเหล่าทัพ ไม่จำกัด เพราะทำหน้าที่ในฐานะ คสช. " พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว

ร่างสัญญาประชาคม....ไม่บังคับ



ร่างสัญญาประชาคม....ไม่บังคับ
ผบ.ทบ. พอใจ ประชาชน ตอบรับ"ร่างสัญญาประชาคม" ดี ยอมรับ ไม่เป็นรูปธรรม เพราะ ไม่ใช้กม. จะบังคับใครไม่ได้ จึงใช่คำว่า "พึง"เป็นเพียงการโน้มน้าวจิตใจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ/ชี้ ก็เป็นรูปธรรม ในหลายด้าน/เผย จากความเห็นปชช.278 ประเด็น ทั่วประเทศ และสังเคราะห์เหลือ 10 ประเด็น
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ./ ประธานคณะอนุกรรมการร่างสัญญาประชาคมกล่าวถึงการการเปิดเวทีสารณเพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม ว่า ได้รับการตอบรับในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังมีข้อติติง การดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การรับฟังข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาเรานำความต้องการของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง จำนวน 278 ประเด็น ทั่วประเทศ และสังเคราะห์ให้เหลือ 10 ประเด็น เพื่อให้ตัวร่างสัญญาประชาคมสั้นกระชับ และเข้าใจง่าย เพราะตัวร่างฯเรานำไปให้ประชาชนทั่วประเทศ ทั้งมีความรู้มาก และมีความรู้น้อยได้ศึกษา หากมีข้อมูลที่มากเกินไปเกรงว่าคนจะไม่อ่านจึงพยายามสังเคราะห์ให้สั้นและจำงาน

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ นายกฯยังได้เพิ่มเติม ในเรื่องของเจตนารมณ์ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนอีก 15 ประเด็น

ส่วนที่มองกันว่า จะทำเป็นรูปธรรมได้หรือไมนั้น ผมได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คอ 1.ร่างสัญญาประชาคม ที่มาจากความคิดเห็นที่สร้างสรรค์จากประชาชนและนักการเมือง ซึ่งตนถือว่านี่เป็นรูปธรรม

2. ส่วนที่แยกออกเป็น 278 ประเด็น เราก็นำไปเกิดประโยชน์ในอนาคต หากสามารถดำเนินการได้ทั้งหมดก็จะสามารถสะท้อน มาสู่ความเป็นบ้านเมืองที่เดินหน้าด้วยความรักความสามัคคีปรองดอง

สำหรับบทบาทของคณะกรรมการ เตรียมการเพื่อความสามัคคีปรองดองเป็นเพียงเรื่องหนึ่งเท่านั้น หากจะให้เกิดความสามัคคีปรองดองจริงๆยังมีอีกหลายเรื่องและต้องร่วมมือกัน เราต้องมีจิตสำนึกของ ทุกคน ที่จะต้องช่วยกันเพื่อลดความขัดแย้ง

“จนถึงวันนี้ผมรู้สึกพอใจ ที่ประชาชนที่ประชาชนและนักการเมืองให้ความคิดเห็นมา ส่วนจะมีใครปฏิเสธผมยังไม่เห็น แต่จะรับได้มากหรือน้อยถือว่าเป็นมุมมองแต่ละคน

แต่ภาพที่ผ่านมา 3-4 เดือนทุกอย่างเบาลงไปมาก และคงมีกิจกรรมหลายอย่างที่ออกมาเพื่อส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะปฏิบัติตามร่างสัญญาประชาคม จะเป็นได้ว่าในเนื้อหาเราพยายามเขียนเพื่อสร้างจิตสำนึกของคนไทยทุกคน ที่ต้องพึ่งร่วมมือกัน สร้างบรรยากาศ ของความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข ย้ำว่าร่างสัญญาประชาคมไม่ใช้กฎหมายไม่มีผลบังคับ เป็นเพียงการโน้มน้าว จิตใจคนให้เห็นร่วมกัน นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า

ซึ่งหากทำเป็นกฎหมายแล้วบังคับเชื่อว่าคนไม่รับ หากทำเป็นกลางๆเป็นเรื่องดีทั้ง 10 ประเด็น เชื่อว่าคนจะรับ

เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร??



เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร??
"บิ๊กเจี๊ยบ" โต้ นักวิชาการ"ไทย-เทศ" ขอคืนเสรีภาพ เวทีวิชาการ ชี้ช่วงนี้ เป็นสถานการณ์พิเศษ เปรย ขอหลัง"พิธีสำคัญ" ค่อยมาว่ากัน เรื่องการเมือง ลั่น ผมก็มีจุดยืนของผม
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาธิการ คสช.กล่าวถึงกรณีและนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เรียกร้องคืนเสรีภาพทางวิชาการ ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่ว่า ผมเคยชี้แจงไปแล้วเราต้องการความสงบเรียบร้อยในภาพรวม
ดังนั้นการให้เสรีภาพบางจุดบางเรื่องก็สามารถให้ได้ ถ้าบางเรื่องที่เข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองก็ต้องขอไว้ก่อน ซึ่งคสช.ก็ดำเนินการอย่างนี้มาโดยตลอด
"เราสามารถชี้แจงทำความเข้าใจได้ว่าบ้านเมืองเราในช่วงนี้ อยู่ช่วงสถานการณ์พิเศษ ดังนั้นเราต้องเดินไปตามกรอบนี้ จนกระทั่งผ่านพ้นพิธีสำคัญไป จากนั้นก็ค่อยไปว่ากันเรื่องการเมือง"

แต่ต้องขอร้องนักวิชาการทั้งไทย และต่างประเทศว่ากิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองขอให้งดไว้ก่อน

เมื่อถามว่า เจตนารมณ์ของนักวิชาการยืนยันว่าเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งดูจะขัดกับมาตรการของคสช. ที่มองว่าเสรีภาพทางวิชาการคือการเมือง เลขาธิการคสช. กล่าวว่า "ผมก็ยืนยัน ของผมเช่นกัน"

เมื่อถามว่า แล้วกรณีที่เชิญ3 นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ไปพูดคุย พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า อย่าใช้คำว่าเชิญไปพูดคุย เพียงแค่เราขอร้อง ไม่ได้บังคับ ถ้าไม่ทำผิดกรอบกฎหมายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมายต้องดำเนินการไปตามนั้น

"ทั้งหมดยืนตามกฎหมาย เราไม่ได้ไปจับกุมใคร มันไม่ใช่หรอก ถ้าพื้นที่ไหนมีปัญหา ผู้บังคับหน่วยในพื้นที่ก็สามารถแก้ไขปัญหาในกรอบเองเขาได้

โดยการพูดคุย ขอร้องทำความเข้าใจกัน ได้ไหม ถ้าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลยแล้ว บางทีปัญหาเล็กก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งผมก็เข้าใจ จึงพยายามทำให้เหมาะสม เท่านั้นเอง

"เชื่อ ยิ่งลักษณ์ ไม่หนี"

"เชื่อ ยิ่งลักษณ์ ไม่หนี"
"‪บิ๊กเจี๊ยบ" ยัน เปล่า ส่งทหารคุมเชิง"ยิ่งลักษณ์"หนีออกนอกปท. และแกนนำ เพื้อไทย ไม่พูด จะอนุญาตให้"ปู"ไปตปท.มั้ยหากขอมา เปรยอย่าเพิ่งไปคิดถึงตรงนั้น เชื่อมวลชน มาให้กำลังใจ300-500คน มีวุฒิภาวะ นึกถึงความสงบสุขประเทศ

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงมาตรการรักษาความสงบในการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวของ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ 21 กค. ซึ่งอาจจะมีมวลชนมาให้กำลังใจ ว่า การออกมาให้กำลังใจสามารถทำได้ ซึ่ง คุณยิ่งลักษณ์ ก็มาขึ้นศาลหลายครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่16 เป็นครั้งสุดท้าย ก็จะมีมวลชนมาให้กำลังใจมากขึ้น
"แต่ผมเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของแต่ละท่านที่ออกมาให้กำลังใจ แต่ก็น่าจะมาไม่มากเท่าใด คาดว่าประมาณ 300-500 คน ซึ่งมากกว่าครั้งก่อนเพียงเล็กน้อย

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยก็เป็นความรับผิดชอบของตำรวจที่จะไปดูแลเรื่องความปลอยภัย เรื่องหาการจราจร

ขณะที่ทหารในส่วนกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ก็ดูแลในภาพรวมด้วยเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินการก็เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา จึงไม่มีอะไรที่น่าห่วงใย

เมื่อถามว่า กลัวมือที่สามจะสร้างสถานการณ์ หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตำรวจดำเนินการ ตามหน้าที่อยู่แล้ว ทั้งเรื่องความสะดวกดูแลรักษาความปลอดภัย

เมื่อถามอีกว่า หาก อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ถูกพิพากษาคดีจริง แล้วหลบหนีออกนอกประเทศ คสช.จะต้องดูแลยังไง พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า "ต้องว่ากันอีกที คงไม่หรอก ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย อย่าไปคิดอะไรที่ไกลเกินเลย บางทีอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ขอให้ผ่านวันที่21 กค.นี้ไปก่อน เรามีเวลากว่า2 เดือน"

เมื่อถามว่าถ้า นส.ยิ่งลักษณ์ ทำเรื่องอนุญาตไปต่างประเทศ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องหนึ่ง ตนไม่ทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปประกอบแกนนำ หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่มี

31กค.โผทหาร ถึงมือ บิ๊กป้อม

31กค.โผทหาร ถึงมือ บิ๊กป้อม
"บิ๊กเจี๊ยบ" เผย ผบ.เหล่าทัพนัดส่งโผทหารให้ บิ๊กป้อม 31กค.นี้ แต่นัดหารือ ผบ.สส.21กค.ก่อน ยึดหลักการความเหมาะสม และสถานการณ์ และถามความเห็นทุกฝ่าย ทั้ง นายกฯ และรมว.กลาโหม และ อดีต ผบ.ทบ. แย้มโผสื่อ ระดับ5 เสือทบ.ถูกบางส่วน แซวสื่อ จัดโผ เสร็จก่อนผม เสียอีก ผมยังจัดไม่เสร็จเลย เพราะนัดส่ง31 กค. ปัดตอบ ส่ง1 ใน 5 เสือทบ.ไปเป็นปลัดกลาโหม หรือไม่
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารว่า ในส่วนของกองทัพบกตนยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แต่จะต้องส่งบัญชีรายชื่อให้กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมวันที่ 31 ก.ค. นี้ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ซึ่งหลักการพิจารณาในการเลื่อนยศปรับย้ายเป็นไปตามห้วงเวลา การพิจารณาต้องยึดตามกรอบความเหมาะสมภาพรวม ทั้งในเรื่องของความอาวุโส ผลงาน ตำแหน่ง และสถานการณ์ในอนาคต

ทั้งนี้ในวันที่ 31 ก.ค. จะเป็นการส่งบัญชีรายชื่อ ก่อนจากนั้นพล.อ.ประวิตร จะเรียกประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพล ที่มร พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อประชุมครั้งแรกอย่างเป็นทางการ

เมื่อถามว่าทำไมถึงมีเรื่องสถานการณ์เข้ามาด้วย พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า อาจจะมีบ้าง โดยคนที่ชำนาญงานด้านนี้ในสถานการณ์แบบนี้ เราต้องการคนแบบนี้ เช่นผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.) ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลประชาชนก็ต้องโตมาจากสายงานกิจการพลเรือน เพื่อจะได้มีความคุ้นเคยกับงานเป็นต้น

เมื่อถามว่าตำแหน่งระดับ 5 เสือกองทัพบก และแม่ทัพภาคนั้น ทางรมว.กลาโหมสามารถให้คำแนะนำได้หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนได้ขอคำแนะนำจากทุกคน เพราะตนโตมาจากหน่วยรบพิเศษ ไม่รู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร เมื่อไปเจออดีตผู้บังคับบัญชาก็จะถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่ละคนก็ให้ข้อคิดเห็น แต่ท้ายสุดคนที่ตัดสินใจก็คือผมเอง

เมื่อถามอีกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ในระดับ 5 เสือกองทัพบกจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกตำแหน่งใช่หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ไม่ขอตอบ เพราะอีกไม่นานสื่อก็จะรู้หมดอยู่แล้ว อีกทั้งตนยึดกรอบเหมือนเดิม ปีที่แล้วดำเนินการอย่างไร ปีนี้ก็ยึดกรอบแบบนั้น ที่ผ่านมา5 เสือกองทัพบกเรามีการพูดคุยกันตลอด

เมื่อถามย้ำว่าโผทหารครั้งนี้เป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า ก็เป็นบางส่วน แต่ตนยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะยังทำไม่แล้วเสร็จ