
เริ่มต้นเดินหน้าเปิดเวทีสาธารณะหลังจากได้ทำร่างสัญญาประชาคมเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว สาระทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นแนวทางที่คนไทยควรปฏิบัติมากกว่า
ไม่ได้มีวิธีการที่กำหนดเอาไว้ว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นอย่างไร มีกรรมวิธีอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
แต่เป็นการกำหนด 10 ข้อ ที่เป็นความคิดเห็นร่วมที่นำมาประมวลรวบรวมเอาไว้เป็นข้อสรุปครอบคลุมทั้งหมด
ทำนองว่าหากคนไทยทำอย่างนี้แล้วความปรองดองจะเกิดขึ้น
เป้าหมายปรองดองที่ตั้งธงเอาไว้ก็คือ การมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาของประชาชนอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต
ที่ผูกติดเข้ายุคสมัยก็คือคนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ
แต่ในสัญญาประชาคมนี้ยังพ่วงภาคผนวกอันเป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อีก 15 ข้อด้วย
เช่น การไม่ใช้อำนาจบริหารประเทศเพียงหวังคะแนนเสียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีกลไกควบคุมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการประกาศโฆษณานโยบายที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตรับผิดชอบต่อประชาชน การทุจริตระดับนโยบายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง
นักการเมืองทุกคนต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณในอาชีพ ภาคการเมืองต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองที่เหมาะสม
คนไทยต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม
ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่เป็นไปด้วยความชอบธรรม
ให้นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมมือในการจัดการทุจริตฉ้อฉลและอำนาจนอกระบบอย่างเด็ดขาด
เอาเป็นว่าทั้งหมดนี้ หากคนไทยนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงก็จะสามารถนำไปสู่ความปรองดองได้ พูดง่ายๆว่าเป็น “คัมภีร์ปรองดอง”...ว่างั้นเถอะ
จึงเป็นได้เพียง “นามธรรม” แต่ “รูปธรรม” ไม่รู้ว่าจะแก้ไขได้จริงหรือไม่?
เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ที่รัฐบาลและ คสช.บอกว่าได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60% นั้น น่าจะเป็นเรื่องการสร้างกฎกติกาและการแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เพื่อเป็นองค์ประกอบในการเดินหน้าไปสู่ความปรองดอง
แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าใจกันมากน้อยแค่ไหน?
เอาเป็นว่าถ้าทุกฝ่ายทำตามนี้ด้วยความเข้าใจ ก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้หรือไม่
เพราะในสภาพความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองก็ยังเป็นนักการเมืองที่มุ่งหวังไปสู่อำนาจและผลประโยชน์ ไม่ยอมรับการเปลี่ยน สนับสนุนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
ความมุ่งหวังที่จะเดินหน้าไปสู่ความปรองดองได้นั้นจึงใช้เวลา และที่มีส่วนสำคัญที่สุด ก็คือประชาชน ที่จะต้องแสดงให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม
เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกคนดีเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ.
“สายล่อฟ้า”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น