PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

มติปปช ยืนยันให้ ดำเนินการ กรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามข้อบังคับของ สนช.

มติปปช ยืนยันให้ ดำเนินการ กรณีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามข้อบังคับของ สนช. หลังจาก ที่ ประธาน สนช. "พรเพชร" ทำเรื่องส่งคืน โยนกลองให้ ปปช.ดูคำร้องถอดถอนใหม่ ชี้ รธน.50 หมดสภาพแล้ว ให้ ปปช. พิจารณาข้อกฎหมายใหม่ เพราะสำนวนเก่าอ้างตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญดังกล่าว และ ปปช.จะอ้างกฎหมายใด ก็เป็นเรื่อง ปปช. ที่ต้องพิจารณาให้ครบถ้วน

ทังนี้ คณะกรรมการ ปปช. โดยเสียงข้างมาก เห็นว่า การดำเนินการ กรณี ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๔ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๖ วรรคสอง ซึ่งระบุให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงมีมติให้ส่งเรื่องดังกล่าว ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตาม อำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากนี้ ปปช.. ยังมีมติเป็นหลักการ เกี่ยวกับกรณีถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง เช่น การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 39 ราย รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองอื่นๆ ด้วยว่า หากเป็นการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหา ส่อว่าจงใจ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ บทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ปปช.ที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไป

ส่อเค้าต้อนข้างเดียว:ไทยรัฐ

ส่อเค้าต้อนข้างเดียว
30ก.ย.57 ไทยรัฐ

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ก็แล้วกัน

โดยปรากฏการณ์ชื่อของนายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ พี่ชาย นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ เจ้าของฉายา “โหร คมช.” อยู่ในบัญชี 28 คน ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.เพิ่มเติม

เบิ้ลเป็นรอบที่ 2 หลังจากครั้งแรกก็ได้เป็น สนช. เมื่อปี 2549

ตามฉากที่ “พุทธะอิสระ” อดีตแกนนำม็อบ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ ได้นั่งหัวโต๊ะเป็นเจ้าภาพใหญ่ในเวทีเสวนาปฏิรูปพลังงาน โปรแกรมสำคัญในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย

ท่ามกลางกระแสข่าววงใน เครือข่ายบริษัท ปตท.ฯ ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ไม่ขาดสาย

แน่นอน ว่ากันตามโปรไฟล์เบื้องหลังอย่างที่รู้ๆกัน “พุทธะอิสระโหรวารินทร์” ชื่อขลังๆที่บิ๊กท็อปบูตไล่มาตั้งแต่ยุค คมช.มาถึง คสช.เชื่อและศรัทธา

ถ้าไม่แน่ ไม่ใช่ “ของจริง” มีหรือจะได้สิทธิพิเศษอย่างนี้

เรื่องของเรื่อง มันก็เป็นไปตามฟอร์มทหารที่จะอยู่แต่ในค่าย ไม่ค่อยรู้จักใคร ไม่กว้างขวางหลากหลายในวงการเหมือนนักการเมือง

ฉะนั้น มาตรฐานการตั้งคนมาทำงาน ก็ต้องเลือกใช้บริการคนที่รู้จักก่อน

ตามรูปการณ์ก็อย่างที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ย้อนคำถามนักข่าวในประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกต

เรื่อง“วปอ.คอนเนกชั่น” พวกที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.เป็นพวกที่เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรมากับบิ๊ก คสช.

ไม่ได้มีข้อห้าม รัฐธรรมนูญไม่ได้ล็อกไว้ซะเมื่อไหร่

ในอารมณ์เหมือนไม่สนแล้วกับเสียงนกเสียงกา ข้อครหาเรื่องล็อกสเปกเครือข่ายใกล้ชิด

และโดยจังหวะต่อเนื่อง ตามท้องเรื่องมาถึงคิวของโฉมหน้าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ผ่านขั้นตอนที่ คสช.จิ้มชื่อ “250 อรหันต์” ไปแล้ว

ล่าสุดมีโพยหลุดออกมา ไม่ชัวร์ว่าบัญชีจริงหรือโผหลอก

เพราะสะดุดตรงชื่อของ “พล.ท.ไพบูลย์ นิติตะวัน” ที่ติดเข้ามาในด้านการเมือง ซึ่งไม่แน่ใจว่าใช่คนเดียวกับนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.ลากตั้ง แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.คนดังหรือไม่

แต่ถ้าเป็นโพยจริงก็เรียบร้อยโรงเรียน คสช.

เพราะไล่เรียงรายชื่อ พะยี่ห้อ “ขาประจำ” แทบทั้งนั้น

เครือข่ายฝ่ายตรงข้ามระบอบ “ทักษิณ” พาเหรดยึดเวทีปฏิรูป ได้สิทธิกำหนดกติกาประเทศไทย

และเหมือนจะจับสัญญาณ ประเมินรูปการณ์ที่กำลังโดนต้อนเข้ามุมอับ

กับจังหวะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มเสื้อแดง นปช. ออกมาดักคอ เจตนาของ พล.อ.ประยุทธ์ในการยึดอำนาจคือการเข้ามาลดความขัดแย้ง แตกแยกในประเทศ

แต่ปรากฏว่า การแต่งตั้ง สนช.ก็เป็นคู่ขัดแย้งของพรรคเพื่อไทย และ นปช. ได้เข้ามาเป็น สนช.จำนวนมาก ได้อำนาจมารวมหัวกัน ขณะที่องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช.และ กกต.ที่มีมาตรฐานในการใช้กฎหมายอุ้มพรรคประชาธิปัตย์ มุ่งจัดการเฉพาะพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่ถูกยุบทิ้งไป

วันนี้ สนช.กำลังเพิ่มอำนาจให้ตัวเองในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้คนที่มาจากการยึดอำนาจถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้งขู่เลยว่า อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

ลูกข่าย “ทักษิณ” ชักเริ่มเสียวกับเกมล้อมกรอบ ปิดประตูตีแมว

แต่อีกทางหนึ่ง มันก็มีอาการแปร่งๆของฝ่ายที่กำลังเถลิงอำนาจในกำมือ กับจังหวะที่ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา สนช. และอีกสถานะหนึ่งคือ ที่ปรึกษา คสช. นำทีม 28 สนช.ยื่นคำร้องต่อศาล
ปกครองขอให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช. ที่ให้ สนช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน

กระตุกเครื่องหมายคำถาม สนช.มีปมแฝงอะไร ทำไมถึงเลี่ยงโชว์กรุสมบัติ

ซึ่งมันก็ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์อีกด้านหนึ่ง สนช.เดินหน้าเพิ่มดาบให้ตัวเอง ด้วยการแก้ไขข้อบังคับการประชุม เพิ่มอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามท้องเรื่องไล่บี้เครือข่ายขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทย

ฉวยจังหวะเช็กบิลฝ่ายตรงข้าม แต่ตัวเองกลับพยายามปิดกั้นกระบวนการตรวจสอบ

แบบนี้ “บิ๊กตู่” ตอบคำถามสังคมลำบากเหมือนกัน.

ทีมข่าวการเมือง
////////////////////////
มาตรการป้องกันทุจริต
30ก.ย.2557 บทนำไทยรัฐ

ยังมีความเห็นต่างอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีรายงานข่าวว่า สมาชิก สนช. 28 คน นำโดย พล.อ.นพดล อินทปัญญา ที่ปรึกษา คสช. ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ระบุว่ามติของ ป.ป.ช. ที่ให้ สนช. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. และให้เปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงขอให้เพิกถอนมติสมาชิก สนช. ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า สนช.มิได้มีฐานะเป็น “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จึงไม่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่โต้เถียงกันต่อไป และศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด

ส่วน ป.ป.ช.อ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ให้สมาชิก สนช. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา จึงต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไป และกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ยังใช้บังคับอยู่ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้ง ส.ส. และ ส.ว. และ “ข้าราชการการเมืองอื่น” ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นนโยบายสำคัญของ คสช. และรัฐบาลปัจจุบัน ที่ประกาศว่าต้องไม่มีการทุจริต

ถึงแม้สมาชิก สนช. จะไม่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ทำหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ เหมือนกับ ส.ส. และ ส.ว.ทุกประการ จึงมีอำนาจที่จะให้คุณให้โทษหลากหลาย แม้จะไม่เป็น ส.ส. แต่ก็อาจเป็น “ข้าราชการการเมืองอื่น”

ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แม้จะเป็น “ข้าราชการการเมืองอื่น” แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการให้คุณให้โทษ หรือมีช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ เหมือนกับ สนช. เพราะส่วนใหญ่

สปช.มี “หน้าที่” แต่ไม่มี “อำนาจ” ที่แท้จริง หน้าที่สำคัญคือศึกษาและทำข้อเสนอแนะการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ถ้า สปช.ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชาวบ้านก็อาจไม่ติดใจ

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยืนยันว่า จะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชันโดยเด็ดขาดในรัฐบาล คสช. ซึ่งน่าจะรวมถึง สนช.ด้วย อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังได้ระบุไว้ว่า รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ จะต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชื่อว่ากลไกที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการยื่นบัญชีทรัพย์สิน

สนช.เป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่ง ในการขับเคลื่อนการบริหารประเทศ ของรัฐบาล คสช. แต่ถ้าสมาชิก สนช.ไม่ยอมรับมาตรการป้องกันการทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ 

ส่วนประเด็นที่ว่าสมาชิก สนช.จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่? เป็นอำนาจของฝ่ายตุลาการที่จะชี้ขาด อาจจะเป็นศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ.
////////
ประธาน สปช.ต้องไม่เผด็จการ
โดย หมัดเหล็ก 30 ก.ย. 2557 05:01

ประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย พูดถึงเรื่องคุณสมบัติของ ประธาน สปช. หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติเอาไว้ว่า จะต้องมีความเป็นกลาง ยอมรับฟังความเห็นคนอื่น รับฟังความเห็นที่แตกต่าง ยึดกติกาความถูกต้อง ไม่ใช้เผด็จการ หรือยึดข้อบังคับเคร่งเครียดเกินไป รวมทั้งต้องมีความประนีประนอมด้วย

ด้วยคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นประธาน สปช.ที่ว่านี้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีบารมีพอสมควร การจะมีความเป็นกลาง หรือ เป็นคนกลางได้ โดยไม่ใช้เผด็จการหรือความเด็ดขาด สำหรับสังคมไทยซึ่งบางครั้งก็ไม่มีเหตุผลด้วยแล้วเป็นเรื่องที่สวนทางกับความเป็นจริง

ถ้ายุคนี้ไม่ใช่เพราะมีทหารเข้ามาปกครองประเทศ คิดว่าบ้านเมืองจะเงียบสงบอยู่อย่างนี้หรือ คงได้ลุกเป็นไฟไปแล้ว นี่ขนาดมีทหารมาเป็นคนกลาง คลื่นใต้น้ำก็ยังกระเพื่อมทุกวัน จัดเวทีเสวนา

ปฏิรูปทีไรมีเรื่องทุกที เข้าใจว่า คสช.ก็คงจะพยายามปรับพฤติกรรมของคนเหล่านี้ เอาไปรวมกัน

ไว้ใน สปช. มีอะไรไปว่ากันบนเวทีให้เรียบร้อย มีกรอบกติกา

มีกรรมการคอยคุมไม่ให้ออกนอกกรอบจนเกินไป

เพราะฉะนั้น ประธาน สปช.จึงเป็นตำแหน่งที่มีบารมีพอสมควร

แต่ก็ต้องคุมบรรดาเสือสิงห์กระทิงแรดให้อยู่ ตัวเลือกประธาน สปช.จึงไปทิ้งน้ำหนักให้กับ ทหาร ก็อีกนั่นแหละ ถ้าได้คนในกองทัพ มาเป็นประธาน สปช. ก็ต้องใช้อำนาจเด็ดขาด ตามกติกา จะมา

ตามใจคนนั้นคนนี้อยู่ก็คงไม่ใช่ทหาร เหมือนกับ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในขณะนี้ รมต.ที่ มาจากกองทัพ ต้องการความสะดวกรวดเร็วและชัดเจน ส่วน รมต.ที่มาจากพลเรือน มาจาก

นักวิชาการ ก็จะยึดทฤษฎีความเป็นไปได้ กฎระเบียบสารพัด เพราะฉะนั้นอีกไม่นานอาจจะได้เห็นเกาเหลาชามเล็กๆในส่วนของทีมเศรษฐกิจ

แล้วถ้าไม่ใช่ทหารจะเอาใคร คงต้องเป็นการบ้านให้ คสช.ไปทบทวน จะเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มือกฎหมาย เนติบริกร อะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะให้ลากยาวไป 1 ปีเพื่อทำเรื่องปฏิรูปทั้ง 11 ด้านไป

พร้อมกัน งานนี้ถ้าไม่แน่จริงคงเอาตัวไม่รอด

ไม่เฉพาะ 250 สปช.เท่านั้น

แต่ยังมี ประชาชนอีก 60-70 ล้านคนมองอยู่ มีกลุ่มการเมืองนอกสภาจับตาอยู่ ถ้าทำหน้าที่ถูกใจ คสช. แต่ไม่ถูกใจชาวบ้าน มีโอกาสน้ำบานได้ตลอดเวลา

ถึง คสช.จะยังมีอำนาจเต็ม สามารถจัดเต็มได้ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อย่าลืมว่าเป็นอำนาจที่ประชาชนยินยอมพร้อมใจ ถ้าชาวบ้านไม่พอใจก็จะชวนกันออกมาทวงอำนาจคืน

เหลือเวลาตัดสินใจอีกอึดใจเดียว คสช.ต้องตีโจทย์ให้แตก จะเอาทหารหรือพลเรือน มาเป็นประธาน สปช. เพราะความเป็นกลาง จะมีความสำคัญที่สุดสำหรับอนาคตประเทศไทยที่จะก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง.

หมัดเหล็ก
///////////////////////

วันนี้ (30 ก.ย.) เป็นวันอำลาชีวิตราชการของ 4 ซุปเปอร์บิ๊ก คสช. ผู้ควบคุมแสนยานุภาพกองทัพ ไทยที่มีเขี้ยวเล็บแข็งโป๊กอันดับ 24 ของโลก พร้อมกำลังรบ “สามแสนหนึ่งหมื่นสี่พันนาย” ไว้ในกำมือ

พรุ่งนี้ (1 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลายเป็นอดีต ผบ.ทบ. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร จะกลายเป็นอดีต ผบ.สูงสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง จะกลายเป็นอดีต ผบ.ทอ. และ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย จะกลายเป็น อดีต ผบ.ทร. อำนาจสั่งการกองทัพจะเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้ ผบ.ทบ.คนใหม่ ผบ.สูงสุดคนใหม่ ผบ.ทอ.คนใหม่ และ ผบ.ทร.คนใหม่ ที่ผงาดขึ้นมาพร้อมกัน 

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่าการที่ ผบ.เหล่าทัพ เกษียณอายุราชการพร้อมกันนานๆจะเกิดขึ้นซะที แถมเกิดขึ้นทีไรต้องมีคลื่นใต้น้ำตามมา เพราะการเมืองจะเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพกันอึกทึกครึมโครม แต่ยุคนี้ การเมืองไม่มีสิทธิ์แหย็มเข้าไปล้วงลูกการโยกย้ายแต่งตั้งอย่างเดิม มีแต่ทหารล้วงลูกกันเอง ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่จึงเป็นเนื้อ เดียวกัน เป็นทีมเดียวกัน เป็นสายเดียวกันกับกลุ่มผู้คุมอำนาจกองทัพชุดเดิมสองพันห้าร้อยเปอร์เซ็นต์

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าจุดได้เปรียบอย่างสำคัญของรัฐบาล “บิ๊กตู่” คือได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการประจำ และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกองทัพอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แม้แต่สภานิติบัญญัติ
แห่งชาติที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลตามกติกา คสช.ก็เป็นผู้แต่งตั้งมากับมือ เมื่อตั้งเองกับมือ การออกกฎหมาย แก้ไขกฎหมายก็ทำได้รวดเร็วทันใจ ถือว่ารัฐบาลใช้ประโยชน์จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างสะดวกโยธิน ไม่มีรัฐบาลไหนสบายไปกว่ารัฐบาลนี้อีกแล้วโยม

“แม่ลูกจันทร์” จึงไม่แปลกใจที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้อำนาจ หน.คสช.แต่งตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติเพิ่มอีก 28 คน ซึ่งจะทำให้ สนช.มีสมาชิกเต็มโควตา 220 คนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่ว
คราว ถามว่า...จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแต่งตั้ง สนช.เต็มอัตราศึก 220 คน?? ตอบว่า...ไม่จำเป็นต้องตั้งเพิ่มให้สิ้นเปลืองภาษีประชาชน เพราะ สนช.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 192 คนก็มากเพียงพอที่จะทำคลอด
กฎหมายอย่างสบายแฮ แต่ถ้าจะตั้ง สนช.เต็มโควตาก็ไม่มีผลเสียหายแต่ประการใด ถือเป็นการกระจายความสุข (รอบเก็บตก) ให้แก่ผู้ที่ คสช.ยังไม่ได้ตอบแทน

“แม่ลูกจันทร์” สำรวจรายชื่อ สนช.น้องใหม่ เปิดซิงที่ คสช.ตั้งเพิ่มอีก 28 คน พบว่ามีทหารและอดีตทหารตบแถวเข้าไปอีก 17 คน หรือกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของโควตาที่เพิ่มเข้าไป นอกจากนี้ยังมี อธิการบดี อาจารย์มหาวิทยาลัย อดีต รมช.มหาดไทย รัฐบาลขิงแก่ ประธาน ก.ล.ต. อดีต ส.ว.ลากตั้ง และตัวแทนกลุ่มทุนยักษ์แทรกเข้าไปเป็นยาดำ ที่ฮือฮากันเป็นพิเศษคือมีชื่อ นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ พี่ชายของ นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรใหญ่ คสช.ควบ คมช.เข้าไปนั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยอีกคน อภินิหารหลวงปู่ฤาษีเกวาลัญเห็นทันตาจริงๆ แต่เมื่อมีโควตาหลวงปู่ ถ้า

ไม่มีโควตาหลวงลุงส่วนผสมจะไม่ลงตัว จึงต้องมีโควตาหลวงลุงกำนันเสียบเข้าไปด้วยอีก 1 คน

 “แม่ลูกจันทร์” ขอต้อนรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติรุ่นลากตั้งกลางเทอมด้วยความยินดี ขอให้ สนช.ชุดใหม่ 28 คน ใช้ความรู้ ความสามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติอย่างสุดฝีมือ ไม่บ่อยนะคุณพี่

ที่จะมีราชรถมาเกยเข้าประตูสภา โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ขยันอภิปรายท้วงติงรัฐบาลกันบ้าง ไม่ใช่เอาแต่นั่งเกาสะดือ.

"แม่ลูกจันทร์

ปิดฉาก "อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค" สมบัติชิ้นสุดท้ายของ “อากร ฮุนตระกูล”

ปิดฉาก "อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค" สมบัติชิ้นสุดท้ายของ “อากร ฮุนตระกูล”

ถือเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้บริการแก่ลูกค้าของโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คที่เปิดให้บริการมากว่า 22ปี และที่สำคัญคือเป็นการปิดฉากโรงแรมของ “เครืออิมพีเรียล” ชิ้นสุดท้ายในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นสมบัติของรักของหวงของอดีตเจ้าพ่อธุรกิจโรงแรมชื่อดัง อากร ฮุนตระกูล ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 14 ปีก่อน

ในยุคที่เครือโรงแรมอิมพีเรียลรุ่งเรืองสุดขีดนั้น อากร ขยายโรงแรมถึง 7 แห่งคือ โรงแรมนิวอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค โรงแรมอิมพาล่า โรงแรมอิมพีเรียลธารา โรงแรมอิมพีเรียลสมุย โรงแรมธาราแม่ฮ่องสอน โรงแรมเรือและบ้านสมุย และโรงแรมลำปางธานี

ในบรรดาโรงแรมในเครือทั้งหมด นับว่าอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คมีขนาดใหญ่ที่สุดและลงทุนมากที่สุดจนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ในยุคที่กำลังก่อสร้าง แนวความคิดของนักลงทุนหัวก้าวหน้าอย่างอากร เห็นว่าช่วงนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวเมืองไทย ประกอบกับกำลังจะมีการประชุมWorld Bank ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ เขาจึงตัดสินใจลงทุนสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เมืองไทยเคยมีคือ 1,250 ห้อง หรือเท่ากับโรงแรม 5ดาว จำนวน 4 แห่งมารวมกัน

อีกปรากฏการณ์หนึ่งของโรงแรมแห่งนี้คือ “ห้องจัดเลี้ยง” ขนาดใหญ่ที่จุแขกได้ถึง 2,500 คน ห้องสัมนาและจัดเลี้ยงกลางขนาดกลาง 40 ห้อง และที่จอดรถส่วนบุคคลอีก 1,500 คัน เพื่อรองรับการประชุมขนาดใหญ่ระดับประเทศที่เขาคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหวังให้อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เป็น Convention Hotel ซึ่งตอนนั้นโรงแรมในกรุงเทพฯยังไม่มี

ถือได้ว่าอากรมองอนาคตได้แม่นยำ เพราะตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คก็มีโอกาสจัดงานใหญ่ระดับประเทศหลาย ๆ ครั้ง รวมทั้งการจัดเลี้ยงฉลองชัยชนะของเหล่านักกีฬาที่ได้เหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิกทุกครั้งจะต้องมาเปิดห้องเลี้ยงฉลองกันที่นี่

ส่วนห้องอาหารที่นักดื่มนักกินอย่างอากรจัดสรรในโรงแรมใหญ่ขนาดนี้ มีตั้งแต่ห้องชาบู ชาบู ที่นำคอนเซ็ปต์นี้มาจากโรงแรมอิมพีเรียล วิทยุ ซึ่งถือเป็นคนแรกที่จุดประกายอาหารประเภทหม้อไฟสไตล์ญี่ปุ่นขึ้นเป็นคนแรกของเมืองไทย รวมทั้งห้อง อาหารเลแนมเฟียส์ และ ห้องอาหารดิอิมพีเรียลไชน่า, ห้องอาหารคาโช

นอกจากนี้ยังมีห้อง Queenrsquo;s Park Grand Penthouse ที่ตั้งอยู่บนชั้น 37 ถือเป็นห้องเพนท์เฮ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ด้วยขนาดพื้นที่ 750 ตารางเมตร ซึ่งคนมีรสนิยมการใช้ชีวิอย่างเสิศหรูแบบอากรนั้น ต้องการให้ห้องนี้เป็นเสมือนคฤหาสน์หลังใหญ่แต่มีบรรยากาศเหมือนบ้าน โดยเขาลงทุนตระเวนหาซื้อของตกแต่งห้องด้วยตัวเอง จนห้องนี้เต็มไปด้วยของสะสมราคาแพง ๆ

ห้องเพนท์เฮ้าส์ประกอบด้วย ห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง ห้องสำหรับผู้ติดตาม 2 ห้อง ห้องโถงรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน จากุชชี่กลางแจ้ง ห้องซาวน่า และห้องออกกำลังกายส่วนตัว และลงทุนจ้างบัทเลอร์ฝรั่งถึง 2 คน ประจำห้องนี้

ใครที่คิดจะมานอนห้องเพนท์เฮ้าส์แห่งนี้ต้องลงทุนควักเงินถึง 1.8 แสนบาทต่อคืนทีเดียว จึงมีแต่แขกระดับผู้นำประเทศและมหาเศรษฐ๊เท่านั้นที่มีโอกาสมาพัก อาทิ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ราชวงศ์ตะวันออกกลาง ซีอีโอของบริษัทชั้นนำของโลก เป็นต้น

“ยิ่งใหญ่ยิ่งหนาว” คงไม่เพียงเปรียบเทียบกับคนเท่านั้น เพราะการลงทุนอันมหาศาลในโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค กลับเกิดขึ้นในจังหวะที่ไม่ดี ขณะที่กำลังก่อสร้างไปจนถึงเปิดให้บริการ ต้องมาเจอกับวิกฤติโลกทั้งสงครามอ่าวเปอร์เชีย รสช.ปฏิวัติและ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่มีผลกระทบถึงการดำเนินของโรงแรม จนในที่สุดอากร ต้องตัดสินใจขายโรงแรมในเครืออิมพีเรียลให้กับ กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมทั้งอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คด้วยเมื่อปี 2537 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเครืออิมพีเรียลทีเดียว

และครั้งนี้ถือเป็นการพลิกประวัติศาตร์ครั้งสำคัญของโรงแรมอีกครั้ง เพราะเจ้าสัวเจริญ ตัดสินใจประกาศปิดกิจการโรงแรม โดยถือเอาสิ้นเดือนกันยายนนี้เป็นวันสุดท้ายสำหรับเคลียร์ลูกค้าทั้งหมด

“ 22-22-22” จึงเป็นปาร์ตี้เลี้ยงอำลาของโรงแรมอิมพีเรียลที่ถอดรหัสลับออกมาว่า เป็นงาน Thank You Party ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ซอยสุขุมวิท 22 อันเป็นที่ตั้งของโรงแรม ที่เปิดดำเนินการมายาวนานถึง 22 ปี

บรรยากาศของงานเลี้ยงครั้งนี้ถือโอกาสขอบคุณบรรดาเอเจนซี่ท่องเที่ยว เหล่าลูกค้าขาประจำผู้มีอุปการคุณ และแขกสำคัญอื่นๆ โดยใช้ล็อบบี้ขนาดใหญ่เป็นสถานที่จัดเลี้ยง ในบรรยากาศที่รื่นเริง ซึ่งมีแขกรับเชิญและเหล่าพนักงานลูกหม้อของโรงแรมมาร่วมรำลึกถึงความหลังกันเต็มห้องจัดเลี้ยง

จากนี้ไปชื่อโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์คจะหายไปจากวงการโรงแรม และอีก 2 ปีข้างหน้าจึงจะเผยโฉมในชื่อใหม่ที่ตั้งขึ้นมารอว่า “แมริออท โฮเทล ควีนส์ปาร์ค” คงต้องรอดูว่าโฉมใหม่ของโรงแรมยักษ์ใหญ่แห่งนี้จะสร้างความฮือฮาได้เทียบเท่ากับยุคของอากร ฮุนตระกูลได้หรือเปล่า!!

ถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'ถึงปปช. จนท.ขนสำนวนคดี4กล่องใหญ่

ถอดถอน'สมศักดิ์-นิคม'ถึงปปช. จนท.ขนสำนวนคดี4กล่องใหญ่

30 ก.ย.57 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มงานถอดถอนและตรวจสอบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นำเอกสารสำนวนคดีถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และคดีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา จากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบ จำนวน 24 แฟ้มคดี ที่บรรจุอยู่ในกล่องเอกสาร 4 กล่อง และซองเอกสาร 2 ซอง เพื่อให้ ป.ป.ช.นำไปพิจารณาข้อกฎหมายใหม่ เนื่องจากสำนวนเดิมที่ ป.ป.ช.ส่งให้วุฒิสภาพิจารณานั้น เป็นการอาศัยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องพิจาณาให้ครบถ้วน

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 09.30 น.คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ร่วมการประชุมเพื่อรับทราบรายงานการดำเนินคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเรื่องคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว และคดีถอดถอน ส.ส. - ส.ว.ร่วมกันลงชื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กรณีที่มาของ ส.ว.รวมทั้งพิจารณาว่าจะส่งคดีดังกล่าวให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือไม่

นอกจากนั้น ยังมีรายงานว่าที่ประชุม ป.ป.ช.จะมีการพิจารณาตั้งอนุกรรมการไต่สวน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กรณีปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ จากการออกคำสั่งปิดสถานีดาวเทียม ภายหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.และปริมณฑล เมื่อปี 2553 ทำให้เว็บไซต์ 36 แห่งภายในประเทศ และเว็บไซต์ดาวเทียมต่างประเทศ 15 ประเทศ ใช้งานไม่ได้ และยังระงับการเสนอข่าว หรือรายการทางวิทยุโทรทัศน์ และสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชลเนล ถือเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรองรับ

เปิดเอกสารชัดๆ มัด บ.ดี.เอ็มฯ “ยงยุทธ มัยลาภ-เมีย” โฆษก คสช.-รัฐบาล คว้างานประชาสัมพันธ์โครงการธงฟ้าคืนความสุข กว่า 4.2 ล้าน

เปิดเอกสารชัดๆ มัด บ.ดี.เอ็มฯ “ยงยุทธ มัยลาภ-เมีย” โฆษก คสช.-รัฐบาล คว้างานประชาสัมพันธ์โครงการธงฟ้าคืนความสุข กว่า 4.2 ล้าน ยื่นลาออก กก. - โอนหุ้นหลังได้งาน 1 เดือน
ytreeeeeee

กรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 57 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมีร้อยเอก น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ปัจจุบันเป็นโฆษกรัฐบาล ดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงานธงฟ้าคืนความสุข ลดค่าใช้จ่ายประชาชน วงเงิน 4,280,000 บาท โดยมีระยะเวลาสิ้นสุด วันที่ 28 ก.ย. 57
ขณะที่ ร้อยเอก น.พ.ยงยุทธ ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่า ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกับกิจการในบริษัทนี้มาสัก 2 – 3 เดือนแล้ว เนื่องจากตัดสินใจว่าจะลาออก จึงให้ภรรยาเข้ามาดูแลต่อแทนจึงไม่ทราบในการรับงานดังกล่าว และปัจจุบันไม่ได้เป็นเจ้าของแล้ว
เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้มาเสนอ
1.ภายหลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.57 ต่อมาวันที่ 3 มิ.ย. 57 ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดตัวทีมงานโฆษกเพิ่มเติมที่ทำเนียบรัฐบาล มี ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนางสาวปัฐมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักสื่อสารชำนาญการ และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เข้ามาร่วมคณะโฆษกด้วย
2.วันที่ 5 มิ.ย. 57 ร.อ.นพ.ยงยุทธ แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลถึงผลการประชุมฝ่ายความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา ของ คสช. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มอบนโยบายกับกระทรวงพาณิชย์ว่าให้จัดทำมาตรการตรึงราคาสินค้าในส่วนที่มีความจำเป็น เพื่อเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะดูแลปากท้องให้กับประชาชน โดยกรมการค้าภายในจะได้จัดทำนโยบายมาเสนอต่อ คสช.อีกครั้งโดยเร็วที่สุด
3.วันที่ 6 มิ.ย.57 นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะหารือกับผู้ประกอบการสินค้าที่อยู่ในบัญชีดูแลของกระทรวงพาณิชย์ 205 รายการ เพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือเริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.-พ.ย. 2557 เพื่อดูแลภาวะค่าครองชีพให้กับประชาชน รวมถึงจะหารือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีก (โมเดิร์นเทรด) เพื่อขอความร่วมมือตรึงราคาอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) ที่จำหน่ายภายในห้างค้าปลีกให้ขายตามราคาแนะนำที่กระทรวงกำหนด(http://www.bangkokbiznews.com/mobile/xhtml/news/detail/02/586781/)
ในช่วงต่อมา กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เริ่มตั้งแต่ 22 พ.ค.-4 ก.ค.57 ทั้งระดับอำเภอ, งานธงฟ้าร่วมกับจังหวัดเคลื่อนที่ 139 ครั้ง ใน 72 จังหวัด จัดงานร่วมกับหน่วยงานอื่น 12 ครั้ง ในเดือน ก.ค.-ก.ย.57 ในระดับประเทศ 2 ครั้ง ในงานมหกรรมพาณิชย์คืนความสุขให้ประชาชน วันที่ 21-24 ส.ค.57 ที่อิมแพคเมืองทองธานี และงานมหกรรมธงฟ้าคืนความสุขลดค่าใช้จ่าย วันที่ 10-14 ก.ย.57 ที่ศูนย์สิริกิติ์ ส่วนระดับภาค 4 ครั้ง ที่กาญจนบุรี ชุมพร เชียงใหม่ และร้อยเอ็ด ช่วงเดือน ส.ค.57 ระดับเขตในกรุงเทพฯ 30 ครั้ง ในเดือน ส.ค.-ก.ย.57
4.วันที่ 30 มิ.ย. 57 กรมการค้าภายใน ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ดำเนินการประชาสัมพันธ์การจัดงานธงฟ้าคืนความสุข ลดค่าใช้จ่ายประชาชน วงเงิน 4,280,000 บาท โดยมีระยะเวลาสิ้นสุด วันที่ 28 ก.ย. 57
ขณะที่ บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีข้อมูลดังนี้
จดทะเบียนวันที่ 25 มิถุนายน 2536 ทุน 1 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 99/6 ซอยรามอินทรา 14 แยก 11 ถนนรามอินทรา แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ร.อ. น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ เป็นผู้ก่อตั้ง มีผู้ถือหุ้น 7 คน
1. ร.อ.น.พ. ยงยุทธ มัยลาภ 6,000 หุ้น 
2.คุณหญิงละเอียด มัยลาภ 3,000 หุ้น 
3.พล.อ.ธีระวัฒน์ เอมะสุวรรณ 200 หุ้น 
4.นางจิตรอนงค์ เอมะสุวรรณ 200 หุ้น 
5.ร้อยเอกหญิงพิลาศลักษณ์ เปรมสมิทธิ์ 200 หุ้น 
6.นางอรัญญา ทรัพย์พ่วง 200 หุ้น 
7.น.ส.พัชรรินทร์ พงษ์ฉวี 200 หุ้น
รวม 10,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ เป็นผู้ริเริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียน และเป็นกรรมการ เรื่อยมา 
6 มี.ค.45 ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 15 ล้านบาท
วันที่ 18 ม.ค.50 ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ลาออกจากกรรมการ มี นางจุฑารัตน์ มัยลาภ เป็นกรรมการเพียงคนเดียว
ทั้งนี้ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ วันที่ 10 ต.ค.49-3 ต.ค.50
23 พ.ย.50 ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ เข้ามาเป็นกรรมการอีกครั้ง 
22 ธ.ค.51 นางจุฑารัตน์ มัยลาภ ลาออก เหลือ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ เป็นกรรมการคนเดียว 
22 มี.ค.56 น.ส.พิชญา พิบูลเวช (มัยลาภ) ภรรยา ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ เข้ามาเป็นกรรมการ ร่วมกับ ร.อ.น.พ.ยงยุทธ มัยลาภ 
ณ วันที่ 30 เม.ย.2557 มีผู้ถือหุ้น 4 ราย 
ร.อ. น.พ. ยงยุทธ มัยลาภ 147,000 หุ้น 
น.ส.ยศวดี 1,400 หุ้น นางพิชญา มัยลาภ (ภรรยา ร.อ.นพ.ยงยุทธ) 1,400 หุ้น 
นายธีระเดช เอมสุวรรณ 200 หุ้น รวม 150,000 หุ้น
มูลค่า หุ้นละ 100 บาท
570925-2 2
29 ก.ค.57 ร.อ.นพ. ยงยุทธ ยื่นคำร้องจดทะเบียนต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด แจ้งว่า ร.อ.นพ. ยงยุทธ และ นางพิชญา มัยลาภ ได้ลาออกจากกรรมการ มีผลวันที่ 30 ก.ค.57 มี นางศิริวรรณ พานิชตระกูล เป็นกรรมการ (ดูเอกสารประกอบ)
570925-1
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ณ วันที่ 30 ก.ค.57 มีผู้ถือหุ้น 3 ราย นางศิริวรรณ พานิชตระกูล ถือหุ้นใหญ่ 149,998 หุ้น จากทั้งหมด 150,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท 
(ดูเอกสารประกอบ)
570925-3 1
 ล่าสุด 24 ส.ค.57 บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด จดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 15 ล้านบาท เป็น 30 ล้านบาท นางศิริวรรณ พานิชตระกูล ถือหุ้นใหญ่ 299,998 หุ้น จากทั้งหมด 300,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท 
จากข้อมูลเห็นได้ว่า บริษัท ดี.เอ็ม.อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญากับกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.57 ขณะที่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กับภรรยา ลาออกจากกรรมการและหุ้นใหญ่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 57
เป็นการลาออกจากกรรมการและผู้ถือหุ้นหลังจากรับงานแล้ว 1 เดือน

โอกาส กับดัก สปช.

“โอกาส” และ “กับดัก”
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน  มหาวิทยาลัยรังสิต
​​ขณะนี้ องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐที่จะมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ได้ก่อเกิดขึ้นมาเกือบจะครบทั้ง 5 องค์กรแล้ว ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรธน.)

​​การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับการทำงานสอดประสาน รับ-ส่งกันของทั้ง 5 องค์กรข้างต้น
​​สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีบทบาทอย่างไรต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย?
​​จะมี “โอกาส” และ “กับดัก” อะไรบ้าง ที่ต้องใส่ใจและระมัดระวัง?
 
​​1) บทบาทของสปช.กับกลไกการทำงานปฏิรูปประเทศไทย
 

 
​​แผนภาพข้างต้น แสดงให้เห็นบทบาทของ สปช.ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ว่าจะต้องทำงานเกี่ยวข้อง ร่วมมือ หรือสัมพันธ์กับองค์กรสำคัญอีก 4 องค์กรอย่างไร
​​หน้าที่หลักของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทําแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ แล้วนำเสนอต่อ สนช. ครม. คสช. ตลอดจน กมธ.ยกร่าง รธน.
​​อธิบายตามแผนภาพ พูดง่ายๆ ว่า สปช.ทำหน้าที่เสมือนองค์กรที่เสนอแนะการปฏิรูปไปยังองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขารับลูกไปดำเนินการ เนื่องจาก สปช.มิได้มีอำนาจในตัวเอง
​​เรียกว่า มีหน้าที่เสนอแนะ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรง​ ยกตัวอย่าง
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องสั่งการข้าราชการ ต้องใช้กลไกระบบราชการในการปฏิบัติ ก็จะต้องเสนอเรื่องไปที่ ครม. เพื่อให้ ครม.พิจารณาสั่งการข้าราชการต่อไป
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ หรือออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องเสนอร่างกฎหมายไปยัง สนช. เพื่อให้พิจารณาผ่านกฎหมายออกมาใช้บังคับต่อไป
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะต้องเสนอประเด็นนั้นๆ ไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
​​หรือหากข้อเสนอการปฏิรูปใดมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาที่มีความซับซ้อนด้านความมั่นคง พบข้อจำกัด มีอุปสรรค หรือจำเป็นต้องใช้อำนาจ คสช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะต้องนำเสนอให้ คสช.พิจารณาดำเนินการต่อไป
​​นอกจากนี้ สปช.ก็ยังมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องส่งตัวแทนจำนวน 20 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสุดท้าย สนช.ยังมีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทําขึ้นด้วย
​​พิจารณาจากแผนภาพจะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยนั้น จะเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อองค์กรสำคัญทั้ง 5 ทำงานสอดประสาน สอดรับกัน เดินหน้าผลักดันการปฏิรูปอย่างจริงจัง
​​หากสภาปฏิรูปแห่งชาติเข้าเกียร์เดินหน้า แต่องค์กรอื่นๆ เข้าเกียร์ว่าง หรือเข้าเกียร์ถอยหลัง การปฏิรูปประเทศก็อาจจะประสบปัญหา ขลุกขลัก กุกกัก ยากจะประสบความสำเร็จจนเห็นผลเป็นรปธรรม หรือถ้า สปช.กลับไม่มีหัวคิดที่จะปฏิรูป ไม่กล้านำเสนอแนวทางที่จะเป็นการปฏิรูปในระดับโครงสร้างแก่องค์กรอื่นเสียเอง ก็จะเป็นการทำลายโอกาสสำคัญของประเทศชาติอย่างน่าเสียดาย
​​สิ่งสำคัญ คือ การปฏิรูปครั้งนี้จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง สปช.จำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ร่วมสนับสนุน ร่วมผลักดัน เกิดการยอมรับ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของในข้อเสนอของการปฏิรูปทั้งหลายนั้น อันจะเป็นพลังและความชอบธรรมให้การผลักดันแนวทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ ต่อไปด้วยในอนาคต
 
​​2) โจทย์ใหญ่ ความท้าทายของการปฏิรูป?
​​เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาจริงในบ้านเรา จะพบว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างฝังลึก กัดกินผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนร้ายแรง บางปัญหามีความซับซ้อน เกี่ยวพันหลายมิติ ทั้งในเชิงกฎหมาย วัฒนธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ ฯลฯ  เป็นความท้าทายเร่งด่วนสำหรับการปฏิรูปประเทศ ยกตัวอย่าง
​​(1) แก้ปัญหาเผด็จการทุนนิยมผูกขาดในการเมือง : ปัญหานี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตนอย่างแท้จริง เลวร้ายกว่ารัฐประหาร เพราะนายทุนสามานย์ใช้อำนาจทุนรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับตนเอง ผลที่ตามมา คือ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ส.ส.ก็ไม่ฟังความต้องการที่แท้จริงของประชาชน กลับมีพฤติกรรมเสมือนลูกจ้างนายทุนพรรค อาทิ แก้กฎหมายล้างผิดให้นายทุนพรรค ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่นายทุนการเมือง แต่ลอยแพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่รับฟังความต้องการของประชาชน เป็นต้น
​​จะต้องปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการปกครองอย่างไร จึงจะทำให้นายทุนพรรคการเมืองเข้าสู่การเมืองได้ยากขึ้น ระบบเลือกตั้งใหม่จะเป็นอย่างไร? ระบบพรรคการเมือง ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ช่องทางการมีส่วนรวมของประชาชน จะเป็นอย่างไร? และจะขจัดผู้บริหารที่ขาดความชอบธรรมให้ออกจากตำแหน่งได้อย่างไร? เป็นต้น
​​(2) ปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อการเรียนรู้ของสังคม : สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ เสมือนเป็นสถาบันการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน หากสื่อไม่สร้างสรรค์ ไม่มุ่งให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่คนในสังคม ไม่สนับสนุนการปฏิรูปบ้านเมือง แต่กลับมอมเมาผู้คนด้วยข่าวสารที่ไร้สาระ ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ โดยอ้างแค่ว่าคนชอบดู และก็ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ การปฏิรูปก็ยากจะเกิดขึ้นได้
​​(3) กรณีการกระจายอำนาจ : จะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครอง เพื่อ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ได้อย่างไร?
​​(4) การแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย : จะทำอย่างไร มิให้ระบบอุปถัมภ์ถูกนำมาใช้บ่อนทำลายประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ
​​​​
​​3) “กับดัก” ที่ สปช.ต้องระมัดระวัง?
​​แม้ประตูแห่ง “โอกาส” จะเปิดขึ้น แต่ก็มี “กับดัก” ที่ สปช.ในฐานะที่เป็นองค์กรเกิดใหม่จะต้องระมัดระวัง
​​(1) ภารกิจของ สปช. แตกต่างจาก ส.ส. ส.ว. หรือแม้แต่ สสร.ในอดีต ทั้งยังแตกต่างจาก สนช.ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จะต้องพิจารณาว่า สปช.จะกำหนดวิธีการทำงานของตนเองอย่างไร?
​​รูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนการทำงาน แบบไหนจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด?
​​จะมีคณะกรรมาธิการฯ 11 ด้าน หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ครอบคลุม?
​​สมาชิก สปช. 250 คน จะทำงานอย่างไร? จะมีผู้ช่วย มีทีมงาน หรือจะกำหนดให้มีการทำงานร่วมกันอย่างไร จึงจะเกิดเอกภาพและมีประสิทธิภาพในหมู่ สปช.
​​ผู้ที่เสนอตัว แต่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสปช.จำนวนกว่า 7,000 คน จะเปิดพื้นที่ หรือสร้างช่องทาง เพื่อให้ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปประเทศเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศอย่างไร?
​​ต้องไม่ลืมว่า ระยะเวลาการทำงานของ สปช.มีจำกัด เพราะข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหลายจะต้องนำเสนอไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คสช. ครม. สนช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่องค์กรเหล่านั้นจะหมดอายุการทำงานในระยะเวลาประมาณ 1 ปี เท่านั้น
​​หาก สปช.เสนอแนะไปแล้ว องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ จะทำอย่างไร?
​​(2) หาก สปช.จะประกอบด้วยคนที่มีแนวคิดแตกต่างกัน อุดมการณ์แตกต่างกัน ความคิด ความเชื่อ ปูมหลังแตกต่างกัน สภาปฏิรูปก็จะกลายเป็นสภาโต้คารม หรือสภาปรองดอง
​​“กับดัก” ที่ต้องระมัดระวัง คือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น สุดท้ายก็คงจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง จะทำอย่างไร มิให้ถูกนำไปขยายผล ยั่วยุ หรือยุให้รำตำให้รั่ว กระทั่งนำไปโจมตีว่า สปช.เป็นเพียงสภาสร้างภาพ เป็นเวทีสมานฉันท์ สร้างภาพการมีส่วนร่วมทางการเมือง
​​ทางออกที่จำเป็น คือ สปช.จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด และทุกฝ่ายจะต้องทำให้ข้อเสนอของสปช.นั้นเกิดผลในทางปฏิบัติจริง เกิดผลรูปธรรมแท้จริง โดยกำหนดทิศทางของการปฏิรูปในภาพรวม ให้ทุกด้านปฏิรูปไปในทิศทางเดียวกัน เช่น “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”
​​(3) สปช.จะต้องเผชิญกับดักเรื่องเวลา เพราะต้องทำงานภายใน 1 ปี
​​แต่งานปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเกือบทุกด้าน มีหลายมิติที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งกฎหมาย ข้อกำหนดของทางราชการ รวมไปถึงวัฒนธรรม ค่านิยมของประชาชน ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีอย่างแน่นอน
​​กว่าจะแก้กฎหมายเสร็จ กว่าจะร่างกฎหมายใหม่ หรือกว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ คือ กว่าจะสร้างค่านิยมใหม่ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติของคนในสังคม ซึ่งมักจะเคยชินกับการปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่เป็นปัญหา จะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีอย่างแน่นอน สภาปฎิรูปอาจต้องวางแผนว่าการปฏิรูปจะเดินต่ออย่างไรหากมีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่แล้ว
​​สุดท้าย หากข้อเสนอของ สปช.ไม่สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ภายในเงื่อนเวลาดังกล่าว ตลอดจนไม่สามารถสร้างความเห็นชอบร่วมกันกับฝ่ายต่างๆได้ ผลงานของ สปช.ก็อาจจะเป็นเพียง “ข้อเสนอทางวิชาการ”
 
​​4) น่าคิดว่า นอกจาก สปช. จะเผชิญกับ “กับดัก” ของการปฏิรูปในครั้งนี้แล้ว คสช.ก็ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
​​เห็นได้จาก สื่อมวลชนบางส่วนเริ่มตั้งคำถามกับหัวหน้าคสช. ในฐานะผู้นำรัฐบาล ในทำนองว่า “จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกไหม?”
​​อาจหมายความว่า จะมีการยืดเวลาของการทำงานปฏิรูป ยืดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปอีกไหม? อันจะมีผลให้รัฐบาลชุดนี้และคสช.ต้องอยู่ในอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อปฏิรูปบ้านเมือง หรือไม่?
​​หรืออาจจะหมายความว่า จะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำงานการเมืองต่อไปหลังจากนี้ หรือไม่?
​​ในทุกโอกาสของประเทศ ก็มี “กับดัก” ทางการเมือง อยู่เช่นกัน!
......0......
​​​​
​​