PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

โอกาส กับดัก สปช.

“โอกาส” และ “กับดัก”
สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน  มหาวิทยาลัยรังสิต
​​ขณะนี้ องค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐที่จะมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศ ได้ก่อเกิดขึ้นมาเกือบจะครบทั้ง 5 องค์กรแล้ว ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างรธน.)

​​การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับการทำงานสอดประสาน รับ-ส่งกันของทั้ง 5 องค์กรข้างต้น
​​สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะมีบทบาทอย่างไรต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย?
​​จะมี “โอกาส” และ “กับดัก” อะไรบ้าง ที่ต้องใส่ใจและระมัดระวัง?
 
​​1) บทบาทของสปช.กับกลไกการทำงานปฏิรูปประเทศไทย
 

 
​​แผนภาพข้างต้น แสดงให้เห็นบทบาทของ สปช.ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย ว่าจะต้องทำงานเกี่ยวข้อง ร่วมมือ หรือสัมพันธ์กับองค์กรสำคัญอีก 4 องค์กรอย่างไร
​​หน้าที่หลักของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทําแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ แล้วนำเสนอต่อ สนช. ครม. คสช. ตลอดจน กมธ.ยกร่าง รธน.
​​อธิบายตามแผนภาพ พูดง่ายๆ ว่า สปช.ทำหน้าที่เสมือนองค์กรที่เสนอแนะการปฏิรูปไปยังองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขารับลูกไปดำเนินการ เนื่องจาก สปช.มิได้มีอำนาจในตัวเอง
​​เรียกว่า มีหน้าที่เสนอแนะ แต่ไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรง​ ยกตัวอย่าง
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องสั่งการข้าราชการ ต้องใช้กลไกระบบราชการในการปฏิบัติ ก็จะต้องเสนอเรื่องไปที่ ครม. เพื่อให้ ครม.พิจารณาสั่งการข้าราชการต่อไป
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ หรือออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องเสนอร่างกฎหมายไปยัง สนช. เพื่อให้พิจารณาผ่านกฎหมายออกมาใช้บังคับต่อไป
​​หากข้อเสนอการปฏิรูปใด จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะต้องเสนอประเด็นนั้นๆ ไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
​​หรือหากข้อเสนอการปฏิรูปใดมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาที่มีความซับซ้อนด้านความมั่นคง พบข้อจำกัด มีอุปสรรค หรือจำเป็นต้องใช้อำนาจ คสช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็จะต้องนำเสนอให้ คสช.พิจารณาดำเนินการต่อไป
​​นอกจากนี้ สปช.ก็ยังมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องส่งตัวแทนจำนวน 20 คน เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสุดท้าย สนช.ยังมีหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทําขึ้นด้วย
​​พิจารณาจากแผนภาพจะเห็นได้ว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยนั้น จะเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อองค์กรสำคัญทั้ง 5 ทำงานสอดประสาน สอดรับกัน เดินหน้าผลักดันการปฏิรูปอย่างจริงจัง
​​หากสภาปฏิรูปแห่งชาติเข้าเกียร์เดินหน้า แต่องค์กรอื่นๆ เข้าเกียร์ว่าง หรือเข้าเกียร์ถอยหลัง การปฏิรูปประเทศก็อาจจะประสบปัญหา ขลุกขลัก กุกกัก ยากจะประสบความสำเร็จจนเห็นผลเป็นรปธรรม หรือถ้า สปช.กลับไม่มีหัวคิดที่จะปฏิรูป ไม่กล้านำเสนอแนวทางที่จะเป็นการปฏิรูปในระดับโครงสร้างแก่องค์กรอื่นเสียเอง ก็จะเป็นการทำลายโอกาสสำคัญของประเทศชาติอย่างน่าเสียดาย
​​สิ่งสำคัญ คือ การปฏิรูปครั้งนี้จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง สปช.จำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ร่วมสนับสนุน ร่วมผลักดัน เกิดการยอมรับ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของในข้อเสนอของการปฏิรูปทั้งหลายนั้น อันจะเป็นพลังและความชอบธรรมให้การผลักดันแนวทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ ต่อไปด้วยในอนาคต
 
​​2) โจทย์ใหญ่ ความท้าทายของการปฏิรูป?
​​เมื่อพิจารณาจากสภาพปัญหาจริงในบ้านเรา จะพบว่า ประเทศไทยมีปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างฝังลึก กัดกินผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนร้ายแรง บางปัญหามีความซับซ้อน เกี่ยวพันหลายมิติ ทั้งในเชิงกฎหมาย วัฒนธรรม ค่านิยม เศรษฐกิจ ฯลฯ  เป็นความท้าทายเร่งด่วนสำหรับการปฏิรูปประเทศ ยกตัวอย่าง
​​(1) แก้ปัญหาเผด็จการทุนนิยมผูกขาดในการเมือง : ปัญหานี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่มีความเป็นประชาธิปไตนอย่างแท้จริง เลวร้ายกว่ารัฐประหาร เพราะนายทุนสามานย์ใช้อำนาจทุนรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับตนเอง ผลที่ตามมา คือ แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ส.ส.ก็ไม่ฟังความต้องการที่แท้จริงของประชาชน กลับมีพฤติกรรมเสมือนลูกจ้างนายทุนพรรค อาทิ แก้กฎหมายล้างผิดให้นายทุนพรรค ออกกฎหมายเอื้อประโยชน์แก่นายทุนการเมือง แต่ลอยแพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่รับฟังความต้องการของประชาชน เป็นต้น
​​จะต้องปฏิรูปโครงสร้างการเมืองการปกครองอย่างไร จึงจะทำให้นายทุนพรรคการเมืองเข้าสู่การเมืองได้ยากขึ้น ระบบเลือกตั้งใหม่จะเป็นอย่างไร? ระบบพรรคการเมือง ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ช่องทางการมีส่วนรวมของประชาชน จะเป็นอย่างไร? และจะขจัดผู้บริหารที่ขาดความชอบธรรมให้ออกจากตำแหน่งได้อย่างไร? เป็นต้น
​​(2) ปฏิรูปสื่อสารมวลชนเพื่อการเรียนรู้ของสังคม : สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ เสมือนเป็นสถาบันการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน หากสื่อไม่สร้างสรรค์ ไม่มุ่งให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องแก่คนในสังคม ไม่สนับสนุนการปฏิรูปบ้านเมือง แต่กลับมอมเมาผู้คนด้วยข่าวสารที่ไร้สาระ ปลูกฝังค่านิยมผิดๆ โดยอ้างแค่ว่าคนชอบดู และก็ใช้สื่อเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ การปฏิรูปก็ยากจะเกิดขึ้นได้
​​(3) กรณีการกระจายอำนาจ : จะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจการเมืองการปกครอง เพื่อ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ได้อย่างไร?
​​(4) การแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย : จะทำอย่างไร มิให้ระบบอุปถัมภ์ถูกนำมาใช้บ่อนทำลายประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ฯลฯ
​​​​
​​3) “กับดัก” ที่ สปช.ต้องระมัดระวัง?
​​แม้ประตูแห่ง “โอกาส” จะเปิดขึ้น แต่ก็มี “กับดัก” ที่ สปช.ในฐานะที่เป็นองค์กรเกิดใหม่จะต้องระมัดระวัง
​​(1) ภารกิจของ สปช. แตกต่างจาก ส.ส. ส.ว. หรือแม้แต่ สสร.ในอดีต ทั้งยังแตกต่างจาก สนช.ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ จะต้องพิจารณาว่า สปช.จะกำหนดวิธีการทำงานของตนเองอย่างไร?
​​รูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนการทำงาน แบบไหนจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด?
​​จะมีคณะกรรมาธิการฯ 11 ด้าน หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ครอบคลุม?
​​สมาชิก สปช. 250 คน จะทำงานอย่างไร? จะมีผู้ช่วย มีทีมงาน หรือจะกำหนดให้มีการทำงานร่วมกันอย่างไร จึงจะเกิดเอกภาพและมีประสิทธิภาพในหมู่ สปช.
​​ผู้ที่เสนอตัว แต่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นสปช.จำนวนกว่า 7,000 คน จะเปิดพื้นที่ หรือสร้างช่องทาง เพื่อให้ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปประเทศเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศอย่างไร?
​​ต้องไม่ลืมว่า ระยะเวลาการทำงานของ สปช.มีจำกัด เพราะข้อเสนอการปฏิรูปทั้งหลายจะต้องนำเสนอไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น คสช. ครม. สนช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่องค์กรเหล่านั้นจะหมดอายุการทำงานในระยะเวลาประมาณ 1 ปี เท่านั้น
​​หาก สปช.เสนอแนะไปแล้ว องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ จะทำอย่างไร?
​​(2) หาก สปช.จะประกอบด้วยคนที่มีแนวคิดแตกต่างกัน อุดมการณ์แตกต่างกัน ความคิด ความเชื่อ ปูมหลังแตกต่างกัน สภาปฏิรูปก็จะกลายเป็นสภาโต้คารม หรือสภาปรองดอง
​​“กับดัก” ที่ต้องระมัดระวัง คือ ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้น สุดท้ายก็คงจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง จะทำอย่างไร มิให้ถูกนำไปขยายผล ยั่วยุ หรือยุให้รำตำให้รั่ว กระทั่งนำไปโจมตีว่า สปช.เป็นเพียงสภาสร้างภาพ เป็นเวทีสมานฉันท์ สร้างภาพการมีส่วนร่วมทางการเมือง
​​ทางออกที่จำเป็น คือ สปช.จะต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด และทุกฝ่ายจะต้องทำให้ข้อเสนอของสปช.นั้นเกิดผลในทางปฏิบัติจริง เกิดผลรูปธรรมแท้จริง โดยกำหนดทิศทางของการปฏิรูปในภาพรวม ให้ทุกด้านปฏิรูปไปในทิศทางเดียวกัน เช่น “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน”
​​(3) สปช.จะต้องเผชิญกับดักเรื่องเวลา เพราะต้องทำงานภายใน 1 ปี
​​แต่งานปฏิรูปในเชิงโครงสร้างเกือบทุกด้าน มีหลายมิติที่จะต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งกฎหมาย ข้อกำหนดของทางราชการ รวมไปถึงวัฒนธรรม ค่านิยมของประชาชน ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีอย่างแน่นอน
​​กว่าจะแก้กฎหมายเสร็จ กว่าจะร่างกฎหมายใหม่ หรือกว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญ คือ กว่าจะสร้างค่านิยมใหม่ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติของคนในสังคม ซึ่งมักจะเคยชินกับการปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่เป็นปัญหา จะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีอย่างแน่นอน สภาปฎิรูปอาจต้องวางแผนว่าการปฏิรูปจะเดินต่ออย่างไรหากมีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งเกิดขึ้นใหม่แล้ว
​​สุดท้าย หากข้อเสนอของ สปช.ไม่สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ภายในเงื่อนเวลาดังกล่าว ตลอดจนไม่สามารถสร้างความเห็นชอบร่วมกันกับฝ่ายต่างๆได้ ผลงานของ สปช.ก็อาจจะเป็นเพียง “ข้อเสนอทางวิชาการ”
 
​​4) น่าคิดว่า นอกจาก สปช. จะเผชิญกับ “กับดัก” ของการปฏิรูปในครั้งนี้แล้ว คสช.ก็ต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
​​เห็นได้จาก สื่อมวลชนบางส่วนเริ่มตั้งคำถามกับหัวหน้าคสช. ในฐานะผู้นำรัฐบาล ในทำนองว่า “จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกไหม?”
​​อาจหมายความว่า จะมีการยืดเวลาของการทำงานปฏิรูป ยืดเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกไปอีกไหม? อันจะมีผลให้รัฐบาลชุดนี้และคสช.ต้องอยู่ในอำนาจต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อปฏิรูปบ้านเมือง หรือไม่?
​​หรืออาจจะหมายความว่า จะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำงานการเมืองต่อไปหลังจากนี้ หรือไม่?
​​ในทุกโอกาสของประเทศ ก็มี “กับดัก” ทางการเมือง อยู่เช่นกัน!
......0......
​​​​
​​

ไม่มีความคิดเห็น: