PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สลายการชุมนุมม็อบถ่านหินเทพาสงขลา

จากเพจ I LAW 
//
27 พฤศจิกายน 2560 ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายกิจกรรมเดินเท้าของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจับกุมแกนนำไปอย่างน้อย 16 คน หลังเดินขบวนจากอ.เทพาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อการประชุม ครม. สัญจร
.
จากการที่คณะรัฐมนตรี มีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ชาวเทพาและเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไปหานายกรัฐมนตรีในวันประชุม เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อ.เทพา จ.สงขลา และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลของชาวบ้านที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ในกิจกรรมครั้งนี้ชาวบ้านเทพาเริ่มเดินออกจากชุมชนบางหลิง พื้นที่ใจกลางเขตก่อสร้างที่จะถูกบังคับโยกย้าย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 โดยมีเป้าหมายไปให้ถึงสถานที่ประชุม ครม.สัญจร ในวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560

โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้แจ้งการชุมนุม ต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอเทพาแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นหนังสือล่วงหน้ามากกว่า 24 ชั่วโมง ตามที่พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดไว้ ตำรวจเห็นว่า ระหว่างการพิจารณาเรื่องการชุมนุม ชาวบ้านก็ยังเดินขบวนไปเรื่อยๆ ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้เลิกการชุมนุม ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 แต่ชาวบ้านก็ยืนยันจะเดินหน้ากิจกรรมนี้ต่อไป

เหตุการณ์ความวุ่นวายในวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อขบวนชาวบ้านเดินเท้ามาถึง อ.เมือง จ.สงขลา ขณะเดินผ่านบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทหารได้เข้ามาห้ามการเดินขบวนต่อ แต่ทางชาวบ้านยืนยันว่า มีนัดหมายที่จะมาพักกินข้าวบริเวณหน้าโรงพยาบาลจิตเวช และได้ยืนยันที่จะเดินต่อมาเพื่อจะพักกินข้าว

เวลาประมาณ 16.20 น ขณะที่ชาวบ้านกำลังพักกินข้าว มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่อยู่จำนวนมาก และมีทหารบุกเข้ามาเพื่อขอเจรจากับแกนนำ ระหว่างนั้นชาวบ้านเห็นว่า การเจรจาไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี และทหารมีแนวโน้มที่จะสั่งสลายการเดินขบวน ชาวบ้านจึงวิ่งออกมาทางพื้นที่ริมทะเลใกล้ชุมชนเก้าเส้ง เพื่อให้พ้นวงล้อมของเจ้าหน้าที่ ระหว่างนั้นทหารจึงมีคำสั่งให้จับกุมทุกคนที่ถือธงสีเขียว หรือสัญลักษณ์ของการเดินครั้งนี้

มีรายงานว่า ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม มีการทุบตี ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายคน และมีผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา อย่างน้อย 16 คน
..................................
จดหมายที่ชาวบ้านเตรียมไว้จะนำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายไปไม่ถึงมือ เพราะถูกตำรวจเข้าสลายและถูกจับกุมไปเสียก่อน มีใจความดังนี้

เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพราะมีความไม่ชอบธรรมนานับประการ
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานีในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นี้ ชาวเทพาและเครือข่าย มีมติเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีถึงความไม่เป็นธรรม ความฉ้อฉล และผลกระทบ ที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากระทำต่อชุมชนคนเทพาและรวมถึงคนสงขลาและคนปัตตานี
ความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านเทพาโดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่สำคัญได้แก่
- การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1, ค.2 และ ค.3 โดยที่ไม่มีการพูดคุยหรือรับฟังถกแถลงสองทางกับกลุ่มคัดค้านทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
- การศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีการลักไก่มากมายเพราะไม่เห็นลงมาเก็บข้อมูลเลยแต่กลับมีข้อมูลรายงาน อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก
- กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยทราบว่าจะมีการชงให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินซึ่งไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก
- พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 นั้น ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน "แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน" นับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน แสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
กระแสของทั้งโลกกำลังทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทำให้โลกร้อนและก่อมลพิษ อีกทั้งยังทำลายวิถีชุมชนเทพาที่สุขสงบ ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้
ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี รับฟังเสียงประชาชน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่มีความชอบธรรมใดๆที่จะสร้าง” จึงขอให้ทางรัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และชี้นำการสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
......................................
ดูรายละเอียดกิจกรรมการเดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/posts/1489493167831438
ดูคลิปวีดีโอส่วนหนึ่งของการเข้าจับกุมผู้เดินขบวน ได้ที่https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/

เปิดโมเดลใหม่ขับเคลื่อนประเทศ : ก้าวข้ามทหาร-การเมือง

เปิดโมเดลใหม่ขับเคลื่อนประเทศ : ก้าวข้ามทหาร-การเมือง


เป็นนักวิชาการ “ขาประจำ” มักมีมุมคิดเชิงวิพากษ์สังคม นักการเมือง รัฐบาล พร้อมเสนอทางออกเป็นระยะๆ

ถ้อยคำแต่ละตัวอักษรก่อนออกสู่สาธารณะ จะบรรจงเก็บข้อมูลจากแหล่งข่าวเฉพาะนำมาบ่มจนดีกรีได้ที่
วันวานและวันนี้ ยังสวมเสื้อกั๊กคงความเป็นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษ นามว่า นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้าน ประเพณีไม่น้อยไปกว่าการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง

โดยบอกถึงทิศทางประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและคุณภาพของคนอย่างเร็วที่สุด
และหันมาทุ่มเทกำลังให้กับ “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ จิตใจงามของคนไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีอยู่จริง มีศักยภาพในห่วงโซ่มูลค่า อาทิ มรดกทางพันธุกรรม ปลา อาหาร ผลผลิตแปรรูป การท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ประเพณี ความหลากหลายของพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ข้าว

รัฐบาลมีนโยบายเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ความทุ่มเทยังต่ำไป

เฉพาะ “ข้าว” อย่างเดียว ที่กลุ่มวัฒนธรรมข้าวร่วมเปิดตัวโครงการ “เทศกาลข้าวใหม่” ในปัจจุบันและอนาคตข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีเรื่องราว ตำนานที่น่าสนใจก็จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา
ทำให้ข้าวยังคงเป็นเสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป

ข้าวมีคุณค่าดีเด่นหลายประเภท ข้าวตำนานที่หอมอร่อย เช่น ข้าวพญาลืมแกง ข้าวที่เป็นสิริมงคลใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น ข้าวก่ำใหญ่ ข้าวที่ต่อต้านอนุมูลอิสระสูง มีส่วนต้านมะเร็งได้ เช่น ข้าวหอมนิล โดยเฉพาะข้าวกล้องงอกหอมมะลิแดง มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวพันธุ์ธรรมดาถึง 31 เท่า

ขณะเดียวกันคนไทยเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญดี ขวัญเข้มแข็ง ในช่วงปีใหม่หรืองานมงคล จึงมอบ “ของขวัญ” ที่มีความหมายลึกซึ้งในการ “เพิ่มพูนมิ่งขวัญ” เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ เป็นพื้นฐานของชีวิตคนไทย จึงเชื่อว่า “ข้าวมีขวัญ” มีความเป็นสิริมงคลในตัว จึงเหมาะที่จะใช้เป็นของขวัญปีใหม่และงานต่างๆ

“เทศกาลข้าวใหม่” ที่ต้อนรับสิ่งใหม่ ย่อมนำมาซึ่งความปีติ ความหวังใหม่ ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม ประเทศก็ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น จากความสนใจของนักท่องเที่ยว ยิ่งมีความต้องการข้าวใหม่เพิ่ม ชาวนาย่อมได้ประโยชน์เพิ่ม ราคาในช่วงต้นฤดูก็จะดีขึ้น

วัฒนธรรมข้าวมันเป็นสากล เป็นต้นทางของอารยธรรมมนุษย์ ทั่วโลกก็มีเทศกาลและมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าว ไม่ใช่เป็นประเพณีที่ล้าหลัง แต่เป็นเรื่องสมัยใหม่ ยิ่งองค์ความรู้ด้านนี้เราฟื้นขึ้นมาใหม่ ในยุคสมัยใหม่ซึ่งคนหนุ่มสาวชอบและตื่นเต้นกับความแปลกใหม่อยู่แล้ว

ปัจจุบัน “ชาวนารุ่นใหม่” ได้ช่วยกันรื้อฟื้นข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายพันธุ์ขึ้นมา สังคมโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้การรื้อฟื้นให้กินข้าวใหม่เป็นไปได้ ผลจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อกระแสความนิยมในเทศกาลนี้อยู่ยืนยาวต่อไป

ในโอกาสวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งเกษตร”
ประกอบอยู่ในช่วงเทศกาลข้าวใหม่ จึงสมควรจะยึดถือวันนี้เป็นวันบุญข้าวใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศไทยและเพื่อเพิ่มพระกุศลบารมีของพระองค์ในสรวงสวรรค์ด้วย

เมื่อเทศกาลข้าวใหม่เกิดขึ้น ชาวนาซึ่งเป็นฐานรากของสังคมก็เข้มแข็ง จะขยับเป็นพลังบวกเพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ในทางที่ดีและสร้างสรรค์ได้อย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า ยังไม่คิดถึงเรื่องการเมือง
แต่คิดถึงพลังทางสังคมที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศไทย

เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ

ผมใช้คำว่า “พลังบวก” มีความหมายที่กว้างกว่าคำว่า “พลังความดี” เพราะรวมไปถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ส่งผลกระทบในทางที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือขจัดปมปัญหาบางอย่างในสังคม หรือปมปัญหาหลายๆอย่าง

ยกตัวอย่างพลังทางบวก สมมติตอนนี้โลกใบนี้มีปัญหาใหญ่เรื่องความมั่นคง เกี่ยวกับการซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ซึ่งต้องมีระบบความปลอดภัย โดยบริษัทแห่งนี้มีนักคณิตศาสตร์คิดระบบรหัสลับ รหัสความปลอดภัยมีประมาณ 300 ตัว ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่มีพลังสูงสุดในการถอดรหัสจะใช้เวลา 5 ปี

ปรากฏว่ามีกลุ่มนักคณิตศาสตร์เอาคอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ ประมาณหลายร้อยเครื่อง อาจถึงหนึ่งพันเครื่องเพื่อแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนก็แก้ได้ บริษัทแห่งนี้ก็ต้องไปพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้น

แต่ถ้าใช้พลังความดีนำไปใช้ในทางการเมือง จะทำให้บางคนรู้สึกว่าหรือบางคนจะบอกว่า พลังความดีพอพูดปุ๊บ ก็หาว่าเราเป็นคนไม่ดีปั๊บ มันมีความหมายทางลบสูงไป จะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ที่ผ่านมาโมเดลยุคเก่าที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเมือง อาทิ โมเดลการใช้อำนาจเผด็จการหรือทหาร ใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหาในรูปแบบปฏิรูป ปฏิวัติ เช่น สมัยมุสตาฟา เคมาลอตาเติร์ก มีบทบาทในการปฏิวัติยังเติร์ก นำโมเดลแบบทหารใช้อำนาจพิเศษเปลี่ยนแปลงประเทศตุรกี

โมเดลพรรคการเมือง ซึ่งรูปแบบนี้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ทำได้สำเร็จ หรือในยุคชาร์ล เดอ โกล ผู้นำการต่อต้านสงครามของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคและประธานาธิบดี ปฏิรูปหลายด้านในทางการเมือง

โมเดลการเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการทางปัญญาชน กระบวนการแรงงาน เกิดขึ้นกับประเทศในเครือหลังสภาพโซเวียตล่มสลาย

รูปแบบ 3 โมเดลเก่านำมาใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะสภาพสังคมต่างกัน โมเดลตามทฤษฎีที่อ้างถึงมันสร้างปัญหาซ้ำ พอรัฐประหาร รัฐบาลพลเรือนเข้ามา เกิดคอร์รัปชัน ถูกรัฐประหาร เดินขบวนต่อต้าน มีรัฐประหาร เกิดการนองเลือด

อันนี้เป็นโมเดลเกิดจากวิธีคิดเก่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ท่ามกลางสังคมไทยยังไร้ความหวัง 3 ปีหลังรัฐประหาร ดูเหมือนคนไทยจะเงียบเฉย คนในรัฐบาลพูดจาอย่างไรก็รับฟัง ไม่มีความเห็น ไม่โต้ตอบ

แต่สังเกตว่าการกระทำทางสังคมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร พรรคการเมือง จะถูกสังคมประเมินตัดสินอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงตระหนัก เห็นได้จากสังคมแสดง “พลังทางบวกซ่อนเร้น” 3 เหตุการณ์ใหญ่ คือ...

...การชุมนุมมวลมหาประชาชน แสดงออกถึงศรัทธา อยากกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของคนไทยทั่วประเทศ แต่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

งานพระราชพิธีถวาย พระเพลิงพระบรมศพ “พระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” และโครงการก้าวคนละก้าว “ตูน บอดี้สแลม” นายอาทิวราห์ คงมาลัย

โดยเฉพาะ 2 ปรากฏการณ์หลังเป็นเอกเทศ ข้ามขั้วข้ามฝ่าย อยากหลุดพ้นขบวนการความขัดแย้งแบบเก่า ไม่ฝักใฝ่หรือโจมตีผู้อื่น ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ ภาคเอกชน พลังสังคมเริ่มมองข้ามรัฐ พรรคการเมือง เอกชน
และกำลังสะท้อนสังคมไทยว่า สะสมปัญหามายาวนาน ผ่านหนทางแก้ไขมาหลายรูปแบบ ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูปการเมือง มันยังไม่ทะลุทะลวงไปหมด บทเรียนประวัติศาสตร์บอกชัดเจนว่า การปฏิรูปโดยทหารหรือพลเรือนไม่เคยสำเร็จ เพราะไม่มีพลังจูงใจเพียงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักตั้งคณะทำงานผลิตแผนปฏิรูปแล้วก็จบลง

ความพยายามดึงพลังสังคมมาช่วยเป็นพลังนำอาจเป็นแนวทางแบบใหม่ ไม่ควรเริ่มต้นไปเกี่ยวกับการเมือง ควรทำการปฏิรูปในจุดย่อยๆ เช่น ในท้องถิ่นเล็กๆ หรือเป็นประเด็นๆ ในที่สุดจะขยายวงกว้างนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับชาติ

พลังทางบวกมีอยู่ทุกที่ แต่จะมารวมตัวกันมีขนาดใหญ่โตได้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเหตุปัจจัยที่ลงตัว
พลังนี้อาจเป็นโมเดลการแก้ปัญหาประเทศอย่างราบรื่นได้

แต่ถ้าทหารและพรรคการเมืองยังซ้ำรอยเดิม

เส้นทางบ้านเมืองข้างหน้าอาจสะดุดหกล้มกันอีกหลายหนก็ได้

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช. สุดท้ายถ้าไม่มีพลังทางบวกมาขับเคลื่อน คงทำได้แค่ผลสรุปออกมาเป็นกระดาษ นายธีรยุทธ บอกว่า อย่าเพิ่งไปสรุป

พลังทางบวกไปคิดล่วงหน้าและชี้นำไม่ได้ แนวโน้มเห็นว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้

แต่ขอย้ำว่าถ้ารัฐและพรรคการเมืองยังคิดแบบเก่า ย้ำแบบเก่า

ทิศทางบ้านเมืองอาจจะสะดุดหกล้มอีกได้.

ทีมการเมือง

"บรรจง"เรียกร้องนายกฯรับฟังปชช.

บรรจง นะแส

ตามความเข้าใจของผมเจตนาของการจัดครม.สัญจรคือการลงพื้นที่ของรัฐบาลที่จะลงไปรับรู้ปัญหาของในแต่ละภูมิภาคเพื่อแสดงความใกล้ชิด รับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขรวมถึงฟังข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือฟังแนวทางในการแก้ไขหรือพัฒนา
ที่ผ่านๆมาเราจะพบว่าคณะรัฐมนตรีจะเปิดให้ตัวแทนภาคธุรกิจหอการค้าได้เข้านำเสนอปัญหาและเสนอโครงการต่างๆเพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือโน่นนี่นั่นอย่างใกล้ชิดในทุกๆที่ๆ มีครม.ไปสัญจร แต่ภาคประชาชนมักถูกกีดกันไม่ให้เข้าใกล้ ไม่มีโอกาสได้เสนอสิ่งที่เขาเห็นปัญหา ทำยังกับว่าประเทศนี้มีเฉพาะภาคธุรกิจหอการค้าเท่านั้นที่ค้ำจุนให้สังคมนี้อยู่มาได้
ปรากฏการณ์ครม.สัญจรที่สงขลาครั้งนี้ก็ยังออกแบบเดิมๆ ยังไม่สายเกินไปที่ท่านนายกรัฐมนตรีที่จะได้แสดงความจริงใจที่จะรับรู้ปัญหาจากภาคส่วนอื่นๆบ้างไม่ฟังเฉพาะที่หน่วยราชการหรือภาคธุรกิจจัดให้เท่านั้น
ท่านให้เวลารับฟังภาคธุรกิจเอกชนเป็นชั่วโมงๆ ถ้าท่านสละเวลาสักเสี้ยวหนึ่งลงมารับฟังปัญหาของพี่น้องโดยเฉพาะพี่น้องที่กำลังทุกข์ใจจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่เขาจะต้องสูญเสียชุมชนพลัดพรากจากบ้านเรือนที่จะถูกโยกย้าย สูญเสียพื้นที่ทำกิน มลพิษที่จะเกิดขึ้นฯลฯ ที่ลงทุนเดินกรำแดดกรำฝนมาสามวันสามคืนเพื่อขอให้ได้พูดให้ท่านได้ฟังจากปากของพวกเขาบ้าง..และผมเชื่อว่านั่นคือหัวใจที่สำคัญของการจัดครม.สัญจรครับท่าน

เปิดโฉมครม.เศรษฐกิจ หน้าใหม่ รัฐบาล “ประยุทธ์5”


เปิดโฉมครม.เศรษฐกิจ หน้าใหม่ รัฐบาล
เปิดโฉมครม.เศรษฐกิจ หน้าใหม่ รัฐบาล “ประยุทธ์5”

ครม.ประยุทธ์ 5 มีรัฐมนตรีทั้งหมด 18 คน ในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจหน้าใหม่ถึง 8 คน เซอร์ไพร์สุด"รัฐมนตรีพลังงาน"

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุด“ประยุทธ์5” จำนวนทั้งสิ้น 18 คน หลังจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งใหม่ต่อไป

สำหรับรายชื่อที่มีการประกาศออกมานั้นมีรัฐมนตรีเศรษฐกิจหน้าใหม่หลายคน ได้แก่

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำรงตำแหน่งล่าสุดเป็นประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ “ทีเส็บ” ตั้งแต่ปี 2558 และเป็นประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ในปี 2559 ซึ่งได้ยื่นหนังสือลาออกจากทั้งสองตำแหน่งไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2551สมัย นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนยุติเส้นทางการเมือง เนื่องจากถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งบริหารพรรคชาติไทยซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค และหลังจากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ได้เป็นประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค การเงินและการธนาคาร เคยดำรงตำแหน่งอาทิ ผู้บริหารส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและประเด็นต่างๆ,ผู้บริหารสถาบันวิจัยตลาดทุน และผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ ก่อนที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะดึงตัวมาช่วยงานเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในระหว่างนี้ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อย่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เลขาธิการคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ เป็นต้นก่อนได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.2559

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในหน่วยงานด้านพลังงานอาทิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ สำนักขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.),ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นบุคคลที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ดำรงตำแหน่งล่าสุดคือ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งสมาชิก สปช.ด้านพลังงาน กรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง และปฏิรูปพลังงาน นาย“ศิริ” ยังเป็นสมาชิกกลุ่มปฎิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และมีส่วนร่วมนำเสนอแนวทางการปฎิรูปพลังงานในหลายประเด็น อาทิ เร่งการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ทั้งเอราวัณ และบงกช เพื่อให้ผู้ผลผู้ชนะประมูลโดยเร็ว,การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือว่าสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เคยดำรงตำแหน่งทางราชการอาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, รวมทั้งบทบาทในภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ)อาทิ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ,ประธานกรรมการบริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ประธานคณะกรรมการบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด,ที่ปรึกษา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เติบโตมาจากสายงานด้านการปกครองและถือเป็น“ลูกหม้อ”ของกระทรวงมหาดไทย เคยดำรงตำแหน่งทางราชการตั้งแต่นายอำเภอ,ผู้ว่าราชการในหลายจังหวัดอาทิ ยะลาและสงขลาเป็นต้น, ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง,อธิบดีกรมการปกครอง จนกระทั่งขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการคือปลัดกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นปลัดกระทรวงที่มาจากสาย“สิงห์ทอง”(คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง) เป็นคนแรกของกระทรวง นายกฤษฎา ยืนยันว่า เขาเข้าใจหัวอกหัวใจเกษตรกรไทยเป็นอย่างดี เพราะพ่อแม่ผมเป็นเกษตรกร ทำอาชีพเลี้ยงหมู อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และขอให้มั่นใจว่า เขามีนโยบายด้านเกษตรแบบเด็ดๆ แน่นอน

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหรณ์ เติบโตตามสายงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มาตลอด ตำแหน่งสูงสุดผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้รับเลือกให้เป็นนักการธนาคารแห่งปี 2556 เป็นผู้ริเริ่ม“โครงการธนาคารชุมชน”เพื่อให้บริการทางการเงิน ลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างคนในเมืองกับชนบท รวมไปถึงการก่อตั้ง“โครงการธนาคารโรงเรียน”เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีการออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ ปลูกฝังให้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนได้สนับสนุน โครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงการสร้างป่า ลดภาวะโลกร้อน ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ปลูกจิตสำนึกในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ดี

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่ส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ“อ.ยักษ์” เป็นผู้มีบทบาทในด้านการเกษตร และยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ,ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ,ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รวมทั้งตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับหลายหน่วยงานองค์กร เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนาม “กลุ่มกรุงเทพสามัคคี”

การเมืองขย่ม ครม.'ตู่5' ขู่เซ็ตซีโร่คสช.

การเมืองขย่ม ครม.'ตู่5' ขู่เซ็ตซีโร่คสช.


นิพิฏฐ์อัดระบบไม่พึงปรารถนา ‘อ๋อย’ ชวนปชป.สกัด‘รบ.ทหาร’
ปชป.-พท.ดาหน้าขย่ม ครม.ประยุทธ์ 5 “องอาจ” ซัดชาวบ้านยังไส้แห้ง สวนทางรัฐบาลตีปี๊บ ศก.ดีขึ้น ขยี้แผล พืชผลตกต่ำประจานความล้มเหลว ดักคอ ครม.ใหม่มาสางปัญหา ไม่ใช่เข้ามาต่อท่ออำนาจ “อนุดิษฐ์-อนุสรณ์” หยันแค่หมุนเวียนเปลี่ยนเก้าอี้ จะปรับกี่ครั้งถ้ากัปตันยังคนเดิมก็ช่วยอะไรไม่ได้ “พิชัย” เหน็บรื้อ 18 ตำแหน่งเท่ากับยอมรับฝีมือย่ำแย่ “นิด้าโพล” ชี้ ปชช.ยังรู้สึกปากท้องฟุบไม่ฟื้น วงเสวนาคึกตั้งวงเขย่า คสช. “จาตุรนต์” ยื่นมือสะกิด 2 ขั้วใหญ่ผนึกกำลังสกัดรัฐบาลทหาร “นิพิฏฐ์” ลั่นถึงเวลาคิดล้มระบบไม่พึงปรารถนา เซ็ตซีโร่ คสช.ถึงคราวไร้ทางออกก็เกิดขึ้นได้ ด้าน “อนุทิน” โต้ผู้นำชอบด่านักการเมืองเลว ปลุกแนวร่วมต้านคนสกปรกเข้ามาบริหารประเทศ สนช.ปัดสองมาตรฐานไม่แตะศาล รธน. กรธ.ค้านต่ออายุตุลาการศาล รธน.จ่อขอตั้ง กมธ.ร่วม
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ปรับ ครม.ครั้งใหญ่ เพื่อเร่งสร้างผลงาน พร้อมเตรียมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นหยั่งฐานเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เริ่มทอดไมตรีชวน 2 ขั้ว จับมือกันจัดตั้งรัฐบาล สกัดกั้นการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช.
ปชป.อัดชีวิตจริงคนไทยยังไส้แห้ง
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ว่า อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อยู่ในภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง เเม้รัฐบาลจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการส่งออกฟื้นตัว การลงทุนเอกชนเริ่มขยับ การท่องเที่ยวดี จีดีพีขยายตัว แต่ถ้ารัฐบาลไปสัมผัสกับประชาชน จะทราบความจริงว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป มันสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลโฆษณา ถ้าคนของรัฐบาลลงไปเดินตลาด จะพบว่าสินค้าอาหารการกิน ขายได้น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น ควรเร่งแก้โดยเร็ว
ให้ ครม.ใหม่แก้ปัญหาไม่ใช่สืบอำนาจ
นายองอาจกล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ยังตอกย้ำถึงความล้มเหลวรัฐบาลนี้ เเม้จะพยายามแก้ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ รัฐบาลอาจใช้นโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตร เช่น การประกันรายได้มาปรับใช้ก็อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ หวังว่า ครม.ใหม่จะทุ่มเทเวลา ความรู้ ความสามารถ เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริงมากกว่าที่จะทำเพื่อตนเองและพวกพ้องหรือทำเพื่อต่อท่ออำนาจเท่านั้น
พท.ชี้กัปตันคนเดิมก็ช่วยอะไรไม่ได้
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ถือเป็นภาคต่อของ 6 คำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.โยนออกมา เพื่อกลบปัญหาของรัฐบาลและต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชน เหมือนการจุดพลุเบนความสนใจเพื่อเปิดทางหนี ทั้งจากปัญหาที่ไม่สามารถตอบคำถามเหตุใดไม่ปลดล็อกการเมือง การสนับสนุนพรรคทหาร หรือพรรคนอมินีของทหารในการเลือกตั้งครั้งหน้า การไร้มาตรฐานต่ออายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนักสุดคือปัญหาเศรษฐกิจกระทบปากท้องพี่น้องประชาชน จนไม่มีกำลังซื้อ สวนทางกับรองนายกฯเศรษฐกิจ ระบุปีหน้าคนจนจะหมดประเทศ ไม่รู้ว่าท่านพูดผิดหรือประชาชนฟังผิด เพราะกลัวว่าคนจะจนหมดทั้งประเทศ นอกเหนือจากรัฐมนตรีต้องหลั่งน้ำตา ประชาชนก็อยากร้องไห้ จะ ครม.ประยุทธ์ 5 หรือจะปรับอีกกี่ครั้งก็ไม่น่าจะทำให้ผลงานของรัฐบาลดีขึ้น ตราบใดที่กัปตันทีมยังเป็นคนเดิม วิธีคิดแบบเดิม จะปรับ ครม.อีกกี่ครั้งคงไม่ช่วยอะไร เอาที่ พล.อ.ประยุทธ์สบายใจเลย
เย้ยแค่หมุนเวียนเปลี่ยนเก้าอี้
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า คสช.มีบุคลากรจำกัดหรือไม่ จึงยังไม่เห็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหน้าใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ส่วนใหญ่แค่หมุนเวียนสลับตำแหน่งเหมือนระบบราชการทั่วไป ให้รัฐมนตรีแต่ละคนเปลี่ยนไปรับผิดชอบหน้าที่ต่างจากเดิม คนที่เข้ามาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคนที่สนับสนุน คสช. จะทำให้การบริหารราชการดีขึ้นหรือไม่ คงต้องให้ประชาชนให้คำตอบ แต่การปรับ ครม. 4 ครั้งก่อนหน้านี้การแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ยังไม่เป็นที่พอใจของประชาชนเท่าที่ควร
รื้อ 18 เก้าอี้เท่ากับรับผลงานย่ำแย่
ด้านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ครั้งนี้ปรับถึง 18 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับว่าผลงานที่ผ่านมาย่ำแย่ แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้อยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ รัฐมนตรีส่วนนี้กลับปรับน้อยมาก และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ยังระบุว่านโยบายเศรษฐกิจจะไม่เปลี่ยน เมื่อไม่เปลี่ยนคน ไม่ปรับนโยบายจะแก้ปัญหาได้อย่างไร อยากให้รัฐบาลตั้งแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ถูกทาง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเอง การปรับ ครม.ก็ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก ถ้าเข้ามาบริหารแล้วยังไม่เห็นผลโดยเร็ว ควรจะรีบจัดให้มีการเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือกคนที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ก่อนที่ประชาชนจะทนกันไม่ไหว
จี้สาง 8 เรื่องด่วนก่อนเลือกตั้ง
นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้านโยบายและองคาพยพของรัฐบาลยังคงเดิม จะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือคงยาก 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง คงไม่สามารถทำทุกอย่างได้ แต่อย่างน้อยควรแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญ 8 คือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาพืชผลการเกษตรตกต่ำ การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เปิดพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นเสมอภาค ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนนตายติดลำดับโลก และปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เด็กส่วนใหญ่ยังสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้
“อนุทิน” อวยพรให้บรรลุเป้าหมาย
นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงโฉมหน้า ครม.ชุดใหม่ว่า คิดว่าดูดี ทีมเศรษฐกิจดูแล้วค่อนข้างจะเป็นทีมเดียวกัน ด้านสังคมเลือกใช้คนที่เหมาะสม ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และอำนวยพรให้ประสบความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะปีหน้าน่าจะเป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภารกิจและเป้าหมายของ คสช.และรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป เป็นภารกิจที่หนัก ต้องมีการวางแผนที่ดี ให้เกิดความเรียบร้อยไม่ให้เกิดอุปสรรคใดๆ เป็นภารกิจที่ท้าทายและต้องการความสามัคคี ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องลงสนามเลือกตั้ง พร้อมเป็นกำลังและส่งกำลังความปรารถนาดี หากมีสิ่งใดที่จะประสานงานกันได้ให้เกิดประโยชน์ ขอให้มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ขอให้เชื่อมั่นว่าไม่ว่าอยู่พรรคไหนมีความประสงค์จะให้บ้านเมืองนี้เจริญก้าวหน้าไปให้มากที่สุด
“อดุลย์” คึกถกเตรียมลุยงานใหม่
ช่วงสาย ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) บริเวณชั้น 9 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ในฐานะอดีต รมว.การพัฒนาสังคมฯและทีมงาน ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมทีมงานมาเก็บข้าวของเครื่องใช้ ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์ได้เรียกประชุมคณะทำงาน พม. ทั้งทีมที่ปรึกษา รมว.พม. นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวง พม. และหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เพื่อหารืองานที่ฝากให้ประสานต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำการให้เกียรติและทำงานเต็มที่กับ รมว.พม.คนใหม่ จากนั้นช่วงบ่ายหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน พร้อมทีมงานได้เข้าพบพร้อมหารือถึงนโยบายการทำงาน พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวสั้นๆว่า พร้อมเต็มที่กับการได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ที่กระทรวงแรงงาน จะทำงานเต็มที่เต็มความสามารถที่มี
“ยะใส” สับมองข้ามหัวประชาชน
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวถึงการปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ว่า แม้ครั้งนี้มีหลายกระทรวงที่ได้รมว.คนใหม่และเหมาะกับงานมากกว่าชุดที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่หลายกระทรวงควรเปลี่ยนตัวแต่กลับไม่ได้เปลี่ยน ทั้งที่ไร้ผลงานควรปรับออก แต่สุดท้ายติดระบบเพื่อนพ้องน้องพี่ เลยทำให้เสียโอกาส ชะตากรรมของ ครม.ชุดนี้ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวิธีคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สำคัญคะแนนนิยมประชาชนยังอยู่ในระดับดูดีกว่าคนอื่น ควรใช้จุดแข็งนี้กระตุ้นและประเมินงาน รมต.ตรงไปตรงมา ภารกิจเร่งด่วนของ ครม.ประยุทธ์ 5 คือการผสมผสานหาจุดลงตัวระหว่างชุดความคิดของทหารกับรัฐมนตรีนอกรั้วทหาร ที่ผ่านมายังมีช่องว่างอยู่มาก ทั้งวิธีคิดและวิธีทำงาน ทำให้คนเก่งหลายคนใน ครม.เฉื่อยเนือย ไม่กล้าเสนอความเห็นโต้แย้งใดๆ และข้อผิดพลาดสำคัญที่รัฐบาลนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด คือการเชื่อและฟังข้อมูลจากระบบราชการอย่างเดียว และมองข้ามไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้ความนิยมในภาพรวมรัฐบาลลดลงเป็นลำดับ
ชาวบ้านกลุ้มสัมผัสได้ ศก.ไม่ดีขึ้น
นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รายงานผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ช็อปช่วยชาติ” เมื่อถามถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยปัจจุบันว่าดีขึ้นหรือยัง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่าร้อยละ 1.76 ระบุว่าดีขึ้นมาก ร้อยละ 24.96 ระบุค่อนข้างดีขึ้น ร้อยละ 19.36 ระบุไม่ค่อยดีขึ้น ร้อยละ 28.40 ระบุว่าไม่ดีขึ้นเลย ร้อยละ 19.68 ระบุว่าแย่กว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 4.32 เห็นว่าเหมือนเดิม ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าและบริการ หรือ “ช็อปช่วยชาติ” ร้อยละ 30.64 ระบุว่า เป็นมาตรการที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2560 ร้อยละ 26.08 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่มั่นคง ไม่มั่งคั่ง และไม่ยั่งยืน ร้อยละ 15.76 ระบุว่า เป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสม คนที่ไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้จะไม่ได้ประโยชน์ เมื่อถามถึงการไปช็อปช่วยชาติ พบว่า ร้อยละ 45.36 ตอบว่าไม่ไปเพราะมีรายจ่ายประจำเดือนอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ได้เกิดผลอะไรเท่าที่ควร ร้อยละ 41.12 ระบุว่าไป เพราะต้องไปใช้สิทธิ เป็นสิ่งของที่จำเป็นต้องซื้ออยู่แล้ว ได้รับการลดหย่อนภาษี เป็นโครงการที่ช่วยชาติดีมาก
“พิชัย” กระทุ้ง รบ.เปลี่ยนวิธีคิด
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัดงานมหกรรมโต๊ะกลม “บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร” หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร” มีนายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลังร่วมเสวนา โดยนายพิชัยกล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรีถึง 18 ตำแหน่งแสดงว่ารัฐบาลยอมรับในความล้มเหลวในการบริหารใช่หรือไม่ ที่ระบุว่าจะทำให้คนจนหมดไปในปีหน้านั้น ปีนี้ออกบัตรคนจน 11 ล้านคนแล้วจะหมดไปด้วยการเสกให้หายไปหรืออย่างไร การปรับ ครม.ครั้งนี้ ชัดเจนว่าไม่ได้ช่วยอะไรโลกเปลี่ยนแปลงไป นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ติดแนวเดิมของพรรคไทยรักไทย ที่มีนโยบายประชานิยม แต่สิ่งที่ทำตอนนี้แค่เปลี่ยนชื่อเป็นประชารัฐเท่านั้น จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องปรับวิธีคิด
“เกียรติ” ถล่มยับไล่ปรับนโยบาย
นายเกียรติกล่าวว่า แม้การส่งออกจะโตขึ้นถึง 10% แต่เศรษฐกิจโตเพราะตลาดภาพรวมโตขึ้น ไม่ได้โตเพราะฝีมือ สินค้าเกษตรที่ตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ราคาตกหมดทุกชนิด ปัญหาอยู่ที่การบริหารในประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ใช้เงินไปแล้วมากมาย ถ้านโยบายมีประสิทธิภาพ ต้องแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ แสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลไม่ตอบโจทย์ จะปรับ ครม. กี่ครั้งก็ไม่ช่วยหากไม่ปรับนโยบาย ประกาศว่าปีหน้าประเทศไทยจะไม่มีคนจน แล้วปีนี้จะขึ้นบัญชีคนจนไว้เพื่ออะไร อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหานโยบายน้ำมัน เพราะวันนี้เราจ่ายค่าน้ำมันสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ถ้ารัฐบาลทำได้จะส่งผลต่อราคาสินค้าอื่นในภาพรวมให้ลดลง และจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สำหรับภาคเกษตร ขอให้ไปดูกระบวนการผลิตทั้งหมด ตัดส่วนกำไรให้ชัดเจน ทั้งข้าว ยาง เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมถึงราคาตก โดยเฉพาะยางเป็นการฮั้วกันในระดับชาติ สิ่งเหล่านี้ทำได้ทันทีไม่ต้องรอ
“ธีรชัย” ขย่มมุ่งประโยชน์การเมือง
นายธีรชัยกล่าวว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. แบ่งได้เป็น 2 ไม่ คือ ไม่กระจาย ไม่พอเพียง กับ 1 มุ่ง คือมุ่งหาประโยชน์ทางการเมือง คำว่า ไม่กระจายนั้นรัฐบาลพยายามชี้แจงว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยฟื้นแล้ว แต่ยังมีประชาชนระดับรากหญ้าที่ชีวิตความเป็นอยู่ยังแร้นแค้น เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีจุดอ่อนตรงที่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลกระจุกตัวอยู่ที่ประชาชนระดับบน ทำให้ห่วงโซ่เศรษฐกิจในระดับรากหญ้าไม่สามารถเชื่อมถึงกันได้ ไม่พอเพียง คือรัฐบาลผลักเงินลงในระดับรากหญ้าถึง 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการให้เงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายประจำวัน แต่ไม่ได้มีกลไกทำให้ประชาชนเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเอง และ 1 มุ่งคือ คสช.หมกมุ่นกับเรื่องหมากรุกการเมือง มากเกินไปหรือไม่ การแจกบัตรคนจนจำนวน 11.4 ล้านคน เป็นการพยายามหาฐานเสียงเพื่อสนับสนุน คสช.เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาเลือกตั้งหรือไม่
“อ๋อย” ชวน 2 ขั้วจับมือสกัด คสช.
เมื่อเวลา 13.45 น. ที่สมาคมนักข่าวนัก หนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จัดเสวนาโต๊ะกลมสาธารณะ หัวข้อ “ปรองดอง แบบ คสช.เมื่อไรจะเจออุโมงค์” โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เข้าร่วม นายจาตุรนต์กล่าวว่า การสร้างความปรองดอง คสช.ล้มเหลวที่สุด นายกฯสร้างความเกลียดชัง โดยใช้คำพูดประณามหยามเหยียดอีกฝ่ายประจำ เงื่อนไขความขัดแย้งวุ่นวายคือรัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หากใช้รัฐธรรมนูญจริงความขัดแย้งที่สะสมไว้จะปะทุขึ้น “ถ้าคนนอกต้องการเป็นรัฐบาลต้องหาคนมาร่วมให้ได้ 280 เสียง ถ้ามีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียง 200 เสียงอยู่ยากมากต้องเอาใจพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนพรรคการเมืองที่จะรวมกันต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป โอกาสยากมาก เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนตั้ง ส.ว.มา ส่วนพรรค การเมืองหากจะเป็นรัฐบาลได้ และมีนายกฯจาก ส.ส.พรรคใหญ่ 2 พรรคต้องจับมือกัน เว้นแต่ว่าพรรคหนึ่งได้ 100 เสียงแล้วไปจับกับพรรคอื่นซึ่งก็ยาก ฉะนั้น 2 พรรคใหญ่จับมือกันเกิดขึ้นได้พูดมาตลอดว่าไม่ควรปิดโอกาส หากไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือ คสช.สืบทอดอำนาจไป 10 ปี 20 ปี พรรคการเมืองต้องร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล ไม่ควรปิดช่องทางนี้
“นิพิฏฐ์” ลั่นล้มระบบไม่พึงปรารถนา
ด้านนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดในอนาคต คือความขัดแย้งจะเกิดขึ้นจริง หลังจากการเลือกตั้ง เพราะไม่มีทางที่จะตั้งรัฐบาลได้เลย ต้องดู ส.ว.ด้วยว่าจะไปฝั่งไหน ถ้า ส.ว.ไม่ยืนอยู่ข้างประชาชน รัฐบาลก็ไม่เกิด แต่ถ้าตั้งรัฐบาลได้ในอนาคตก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่มีทางตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เลย ถ้าโชคดีพรรคเพื่อไทยรวมเสียงกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องดูในอนาคต แต่ความยากสมมติเราเลือกตั้งเสร็จแล้ว แต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ผ่านมา 1เดือน 2 เดือนแล้วก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญค้ำอยู่ ก็ให้ทหารอยู่ต่อก็แล้วกัน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวน วันนี้เราคุยกันด้วยเลือดด้วยชีวิตพอหรือยัง ถ้าพอแล้วต้องคุยกันด้วยสันติวิธี ถ้าไม่คิดก็ไม่มีทางที่จะล้มระบบที่ไม่พึงปรารถนาออกไปได้ และไม่มีข้อ เท็จจริงใดเลยที่จะเอาระบบทหารออกจากการเมืองได้ นอกจากพรรคการเมืองจับมือจัดตั้งรัฐบาลเอง และความขัดแย้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่ที่ ส.ว. 250 เสียงว่าอยู่ข้างรัฐบาลที่ประชาชนเลือกหรือไม่ หรือไปสนับสนุนคนที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา
เซ็ตซีโร่ คสช.เเม้ริบหรี่แต่เกิดได้
นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า โอกาสที่พรรคการเมืองจะจับมือกันเป็นไปได้หรือไม่นั้น แม้ว่าโอกาสจะริบหรี่ ถ้าเราจะเซ็ตซีโร่ระบบ คสช.และทหาร ถึงเวลานั้นก็ไม่มีทางออกอะไร ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ความคิด สุดขั้วของแต่ละฝ่ายต้องออกไปก่อน มีคนพูดว่าต้องสู้ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง แต่ถ้ายอมรับความจริงว่าซ้ายมือก็คนไทย ขวามือก็คนไทย ข้างหน้า ข้างหลังก็คนไทย แล้วจะสู้ให้ตายไปข้างหนึ่งหรือ การที่พูดอย่างนี้คิดว่าคนเหล่านี้ควรจะออกจากการเมืองไป ถึงแม้โอกาสความขัดแย้งรอบสองเกิดขึ้นได้ แต่ความขัดแย้งค่อนข้างจะตกผลึก เกิดมีคนถ่ายรูปตนกับนายณัฐวุฒิเผยแพร่ออกไปก็เจ๊งเลย ตนเข้าพรรคไม่ได้แน่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่กองเชียร์
“เต้น” ซัดปรองดองบนซากหักพัง
ขณะที่นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้สังคมต้องมีความเป็นประชาธิปไตยก่อน แต่วันนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เอื้อ และมีการพูดว่าหลังกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเสร็จ ก็จะไปสู่กลไกการเลือกตั้ง ตนมองว่าอย่าเพิ่งไปมองไกลขนาดนั้น ขณะนี้จากการที่กฎหมายลูกพรรค การเมืองมีผลใช้บังคับแต่ยังไม่มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เราอยู่ในสถานการณ์นี้ ดังนั้นเราจะมาถามหาความปรองดองบนซากปรัก หักพังคงถามหาได้ยากเกินจริง
“ธีรยุทธ” สับ คสช.ย่ำรอยประชานิยม
เมื่อเวลา 13.45 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเสวนาเวทีสาธารณะ นโยบายหลักของชาติด้านเกษตรกรรม “มองการณ์ไกลประเทศไทย ทิศทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” จัดโดยโครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกลไทยรุ่งเรือง มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ โดยนายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยากร ม.ธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานเครือข่ายวัฒนธรรมข้าวใหม่ ปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า เราพูดถึงเกษตรพอเพียงจากในหลวงร.9 ที่เป็นปรัชญาลึกซึ้ง แต่หากมองพัฒนาการความเป็นจริงเราเริ่มต้นจากการเกษตร 1.0 สมัยเริ่มต้น ร.5 พัฒนาต่อเนื่องช่วงที่เราพัฒนาอุตสาหกรรม หวังจะเป็นเสือตัวที่ 5 ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง หลังวิกฤติการแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องประชานิยม ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ใช้เงินแจกคนในชนบท มากกว่าการพัฒนา น่าแปลกใจหลังเปลี่ยนรัฐบาลมาถึงรัฐบาล คสช.กลับดำเนินอย่างเดิมต่อเนื่อง ยังไม่ได้เป็นเกษตร 4.0 เพราะหลังเกิดรัฐบาล คสช. เกิดทีมเศรษฐกิจมีความฝันอยากให้เป็นเกษตร 4.0 อยากให้เกิดสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ตั้งใจให้เกษตรได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำลง ใช้เทคโนโลยีโดยไม่ใช้แรงงานคนแต่ชาวนายังเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีได้น้อย จึงกลัวว่าฝรั่งจะหลอกขายเทคโนโลยีอีก
ฉะอวิชชาโหมพีอาร์หวังผลการเมือง
นายธีรยุทธกล่าวว่า ไม่ได้ต่อต้านเกษตร 4.0 แต่ต้องดูว่าเป็นแบบวิชา คือเราเข้าใจมัน เข้าใจโลก เข้าใจตัวเรา หรือแบบอวิชชาที่ไม่ได้เข้าใจเทคโนโลยี แต่มาโฆษณาเพื่อหวังผลสำเร็จทางการเมือง ที่น่ากลัวคือการหวังซื้อของจากต่างประเทศ หวังเงินทอน วันนี้คุณภาพการศึกษาบ้านเรายังอ่อนมากทั้งภาษา คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นแบบอวิชชา ที่หวังถึงทุนต่างประเทศมาลง ไม่คำนึงถึงสิ่งต่างๆ คสช.ควรดูว่าได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมเพียงพอหรือไม่ อย่าไปหวังผลสำเร็จง่ายๆ นอกจากนี้ การเกษตรยังมีส่วนอื่นที่สำคัญ เช่น การบรรลุถึงการทำให้สินค้าอาหาร เกษตร เป็นระดับพรีเมียม เพราะโลกให้ราคาของที่เด่น มีคุณภาพ มีความปลอดภัย เรื่องนี้รัฐบาล ชาวไร่ ชาวนา ต้องช่วยกันต้องเร่งทำเรื่องคุณภาพให้ชัดเจน เช่น เรื่องข้าว ต้องมีสถาบันวัดเรื่องข้าวที่จะสามารถประกาศว่า ข้าวของประเทศบางสายพันธุ์มีดีอย่างไร เช่น มีการวัดค่าความหอม ความเหนียว นุ่ม หยุ่น ออกมาจะเป็นอย่างไร ในประเทศญี่ปุ่นมีการวัดตรงนี้ออกมา การพัฒนาสิ่งเหล่านี้เราต้องช่วยกัน
“อนุทิน” ปลุกต้านคนสกปรกบริหาร ปท.
ขณะที่เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการ หลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ (วปธ.) รุ่น 10 และสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดเสวนา “การเมืองไทยกับที่ปรึกษาธุรกิจ” ในหลักสูตรวิชาชีพที่ปรึกษาธุรกิจ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า ไม่อยากให้มองการเมืองเป็นเรื่องเลวร้าย การเมืองคือสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา ถ้าเราสามารถทำการเมืองให้ดีจะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะต้องคำนึงการทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม อยากให้ทุกคนน้อมรับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสตอนหนึ่งว่า ในบ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่อยู่ที่การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อท่านผู้นำออกมาพูดว่านักการเมืองไม่ดี เลว ก่อนหน้านี้ตนอยู่อย่างสงบเสงี่ยมมาตลอด เมื่อออกมาพูดเช่นนี้ก็ต้องออกมาแสดงแอ็กชั่น ถ้ายังนิ่งอยู่แล้วปล่อยให้คนไม่ดีออกมา ประเทศเราจะมีกรรม สาเหตุหนึ่งที่ทหารไม่ชอบการเมือง เพราะนักการเมืองบางคนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ยังมีนักการเมืองอีกหลายคนต้องการทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม ขอย้ำว่าทุกวงการมีแบบนี้ มีทั้งคนที่ดีและไม่ดี จึงอยากให้ทุกคนน้อมนำพระราชดำรัสนี้มาปฏิบัติ ยุคนี้ถือเป็นยุคที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความสนใจกับการเมืองไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียสิทธิ คนมองว่าการเมืองเป็นสิ่งสกปรก แต่ถ้าเราไม่เข้ามาจะปล่อยให้คนสกปรกเข้ามาบริหารประเทศ ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดหรือมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงต้องพร้อมเข้ามาช่วยเหลือประเทศ และพร้อมรับการตรวจสอบ
อัดคำว่าดุลพินิจถ่วงความเจริญ
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยมองว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ คือคำว่าดุลพินิจ เป็นอุปสรรคที่สุดที่ทำให้ประเทศเติบโตช้า ประเทศไทยที่มีปัญหาคำว่าคอร์รัปชันก็มาจากคำว่า ดุลพินิจ จึงเห็นว่าควรจะมีการแก้ไขกฎหมายอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีการปรับแก้ว่าเวลาจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องโชว์คุณสมบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ไม่ใช่ให้อยู่ในดุลพินิจของประธาน ก.ล.ต. เชื่อว่าผู้มีอำนาจจะรับฟังและแก้ไขปัญหานี้ เพราะ คสช. บอกว่าจะอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ทำอะไรเลย
“นิกร” ฟันธงเลือกตั้ง พ.ย.สัปดาห์ที่ 3
ด้านนายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การเมืองก็เหมือนกับเงา คือเราวิ่งไล่มันก็วิ่งหนี แต่ถ้าเรายืนเฉยๆมันจะอยู่กับที่ วันนี้การทำงานข้าราชการเปรียบเหมือนกับรถ นักการเมืองเป็นคนขับถ้าระบบราชการบริหารประเทศอยู่ที่เดิมก็ไม่ไปไหน คงขับตามลำพังไม่ได้เราต้องการคนที่คอยมาชี้ทาง ต้องเป็นคนที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษาชี้แนะการทำงาน การเป็นที่ปรึกษาคือต้องรู้ให้จริง และต้องรู้ว่าใครคุมการเมือง เราต้องรู้รัฐธรรมนูญ รู้กลไก รู้ระบบไม่อย่างนั้นจะไปไม่ถูก จากรัฐธรรมนูญปี 2560 เชื่อว่าจะทำให้เมืองไทยเกิดการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ย.การเลือกตั้งจะไม่ก้าวข้าม พ.ย.เพราะยิ่งก้าวข้ามไปนาน รัฐบาลและ คสช.ต้องตอบคำถามให้ได้ ขอยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ย.
สนช.ปัด 2 มาตรฐานไม่ยุ่งศาล รธน.
อีกเรื่อง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายโจมตีว่า สนช.สองมาตรฐานต่ออายุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อ จนมีการเปิดประชุมสภานัดแรกว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 273 เขียนให้อำนาจเอาไว้ ให้ สนช.เป็นผู้ชี้ขาด มีทั้งการรีเซ็ต เซ็ตซีโร่หรืออยู่ต่อ มติที่ออกมาผ่าน กมธ.และที่ประชุมใหญ่ไปแล้ว มีการอภิปรายแปรญัตติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด จึงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นมติที่สภาต้องรับผิดชอบร่วมกัน ที่กรธ.บอกมีความเห็นแย้งหลายคนจนอาจหารือตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายนั้น ต้องส่งเรื่องมาที่ประธาน สนช.ต่อไป ไม่มีใครขัดอะไร ไม่มีปัญหา ส่วนกรณีมีคนบอกว่า สนช.สองมาตรฐานก็ไม่จริง กมธ.คงพิจารณาจากบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระ ที่มีเงื่อนไขความจำเป็นคนละอย่างไม่ได้เป็นตรายางหรือสองมาตรฐานตามข้อกล่าวหา