PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พระสุเทพ-อนุทิน-เนวิน-สมคิด-สุดารัตน์ ชื่อร้อนๆ ในกระแส “พรรคทหาร” จับตาการจรยุทธ์ในดงขมิ้น และวัน “เผด็จสึก ปภากโร”

4 พฤศจิกายน 2014
ชื่อที่หล่นบนโต๊ะจีน ในโรงแรมหรู ถูกเอ่ยชู ขึ้นมาในกระแสการเคลื่อนไหว จัดตั้งเครือข่ายพรรคการเมืองที่เกาะกลุ่มระหว่างอำนาจฝ่ายอำมาตย์เก่า-นายทหารนอกราชการ-ทหารในรัฐบาล กับนักการเมืองอาชีพนอกสภา ในนามของ“พรรคทหาร” ในเวลานี้มี 5 ชื่อ
พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=photo
พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)https://www.facebook.com/suthep.fb?fref=photo
ชื่อแรก คือ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเป้าหมายของนายทหารระดับสูง –นายทหารนอกราชการและกลุ่มอำมาตย์เก่า
แม้ว่าจะปลีกตัวไปอยู่ในดงขมิ้น ห่มเหลือง แต่ไม่ได้ห่างเหิน คนการเมืองทุกระดับ เพราะในช่วง 90 กว่าวัน มีอีเวนต์ เดินสายจัดกิจกรรม ทางศาสนา โดยมีหัวหน้ากลุ่มการเมือง หัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่น ร่วมขบวน ไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งทอดกฐิน บรรยายธรรม และจัดพบรรพชาอุสมปทหมู่ มีบุตรหลานแนวร่วม เข้าสู่ร่มห่มเหลืองแล้ว 136 รูป
มีบุคคลวีไอพี เดินสายไปสนทนาธรรมด้วย ทั้งในสวนโมกข์ และสำนักปฏิบัติธรรมบนเกาะสมุย
บุคคลวีไอพี บางคนถูกทาบทามไว้แล้วว่า หลังลาสิกขา จะทำกิจกรรมการเมืองร่วมกันอีกครั้ง
“ท่านปภากโร เวลานี้ เหมือนพาวเวอร์แบงก์ชุดใหญ่ รุ่นอเนกประสงค์ สามารถเป็นเครื่องชาร์จแบตเตอรี่ ให้กับทุกกลุ่ม ทุกเครือข่าย คาดว่าอย่างช้าต้นปีหน้า 2558 คงจะสึกออกมา” บุคคลระดับวีไอพีที่เพิ่งได้สนทนาธรรมกับพระสุเทพกล่าว
สอดคล้องกับ คำพูดของโฆษก กปปส. ลูกชายของภริยา พระสุเทพ “นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ที่แจ้งข่าวกับสาธารณะว่า “พระสุเทพ บอกให้แกนนำทุกคนปล่อยวางสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และขอให้แกนนำให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและ คสช. ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ส่วนพระสุเทพ จะบวชต่อไปให้ครบ 204 วันตามจำนวนที่ กปปส. ชุมนุม ซึ่งจะครบกำหนดประมาณต้นเดือน ก.พ. 2558 แต่จะลาสิกขาหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพระสุเทพ”
การเคลื่อนตัวเข้าหากัน ระหว่างเครือข่ายรัฐประหาร 2549 และเครือข่ายอำนาจใน กปปส. ก่อนรัฐประหาร 2557 จึงหวังใช้ “พระสุเทพ” เป็นพาวเวอร์แบงก์ สำหรับตั้งพรรคการเมืองในนาม “พรรคทหาร”
นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเนวิน ชิดชอบ
นายเนวิน ชิดชอบ ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กเนวิน ชิดชอบ
ชื่อที่สอง ที่สาม คือ นายเนวิน ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย และบุรีรัมย์ยูไนเต็ด สายสัมพันธ์กับ 2 ชื่อนี้มาแรง ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพราะทั้งอนุทิน-เนวิน ได้รับบริการระดับวีไอพีในค่ายทหาร และยังใกล้ชิดระดับเดินเข้า-ออก บ้านใหญ่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายอนุทินนั้น ให้ความร่วมมืออย่างดีกับ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่ออนุทินถูกเชิญเข้าร่วมงานปฏิรูปประเทศไทยในฐานะบุคคลวีไอพีในแถวหน้าของคณะที่ถูกเชิญทั้งหมด และเมื่อประกาศชื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีชื่อ“ชัย ชิดชอบ” ติดอยู่ในดงอำนาจ
ทั้ง อนุทิน-เนวิน ไม่เคยแสดงบทการเมืองล้ำเส้น แต่เขายังไต่ลวดอำนาจอยู่ใกล้ๆ ไม่ห่างวงโคจร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สมการของ อนุทิน-เนวิน อาจยังกุมบังเหียนพรรคภูมิใจไทย แต่ต่อสายโยงใย ขับเคลื่อนให้เกิดการ “ดีล” ระหว่าง “พรรคทหาร” กับคนการเมืองในฤดูการเลือกตั้งใหญ่ หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในต้นปี 2559
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ชื่อที่สี่ ไม่มีใครไม่เอ่ยถึง คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 1 ใน 15 คณะ คสช. เป็นพลเรือน 1 ใน 2 คน ที่อยู่ในคณะ “พูลิตบูโร” ร่วมกับ มีชัย ฤชุพันธ์ุ นักกฎหมายระดับพญาอินทรี
ชื่อ ดร.สมคิด ถูกเอ่ยถึงในฐานะที่จะถูกผลักขึ้นไปใช้ในสมการที่ “พรรคทหาร” มีขุนพลการเมืองพร้อมทั้งกระแส-กระสุน แต่ “ขาดหัว” ชื่อของเขาอยู่ในแถวที่ ขึ้นเป็น “หัว” ได้ เพราะที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตร่วมกับนายพลในค่ายทหาร จนเรียนรู้วัฒนธรรมการการอยู่-การใช้อำนาจสไตล์นายพล ได้ระดับหนึ่งแล้ว
ชื่อที่ห้า อยู่ในกระแสเครือข่าย “พรรคทหาร” สม่ำเสมอ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ เจ้าแม่การเมืองกรุงเทพฯ ที่มีสายสัมพันธ์ทั้งกับนายทหารเก่า นายทหารใหม่ แม้คุณหญิงสุดารัตน์เคยเปิดใจทำนองว่า “ไม่โง่พอไปตั้งพรรคกับทหาร”
แต่หลังรัฐประหารได้ 1 เดือน ขณะที่ชื่อคุณหญิงสุดารัตน์ถูกพาดพิงหลายหย่อมหญ้า คุณหญิงออกมาปรากฏตัวและปฏิเสธข่าวเตรียมการตั้งพรรคการเมืองใหม่ร่วมกับนายทหาร แต่ก็ยอมรับว่า “สนิทกับนายทหารระดับบิ๊กหลายคนก็จริง เพราะไม่ได้มีศัตรูหรือไปทำร้ายใคร กับบิ๊กทหาร รู้จักตั้งแต่รุ่นแม่ สมัยคนเหล่านี้เป็นผู้พัน ไม่ใช่รู้จักกันตอนนี้ที่มีอำนาจเป็นบิ๊ก คสช. ตอนนี้มีคนถามว่าจะรับตำแหน่งโน่นนี่หรือไม่ แม้แต่สภาปฏิรูปก็ไม่ต้องการเข้าไป”
แต่การเคลื่อนตัวของคุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังกระเพื่อมไหว ในเดือนถัดมา เมื่อนักการเมืองระดับแกนนำหลายพรรคพูดถึงชื่อเธอ หลายกรรม หลายวาระ ทั้งในค่ายทหารและคำหล่นบนจานอาหารหรู ในโรงแรมระดับห้าดาว ทำนองว่า จะต่อสายนายทหารระดับบิ๊ก เพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยรวมคนจากพรรคเพื่อไทยและคนรุ่นใหม่สาย “กทม.” จนแล้วจนรอด คุณหญิงต้องจัดอีเวนต์ นัดผู้สื่อข่าวนอกรอบ แบ่งรับ แบ่งสู้ บอกว่า “กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ไม่ได้คิดหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่เวลา ตอนนี้ขอสานต่องานทางด้านศาสนาที่กำลังทำอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ส่วนจะกลับมาทำงานทางด้านการเมืองหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ ขอให้สถานการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติก่อนค่อยกลับมาคิดทบทวนอีกครั้ง”
ทั้ง 5 ชื่อ คือคนการเมือง ส่องการเมือง ผ่านกิจกรรม ความเคลื่อนไหว ที่ไร้ร่องรอย แต่เห็นเงา เห็นร่าง ของการวางโครงเรื่อง “พรรคทหาร” ในอนาคต
ทั้ง 5 ชื่อ ไม่นับรวมสมการกลุ่มอำนาจ 3 ป. แห่งค่ายบูรพาพยัคฆ์ ที่ประกอบด้วย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือ บิ๊กป๊อก ที่อาจเตรียมทางลงจากบัลลังก์ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ผ่านบันได “พรรคทหาร”
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเคลื่อนไหว ของคนการเมือง-นายพล และบุคคลวีไอพี ที่ต้องการคืนอำนาจ อีกครั้ง หลังเส้นทางร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มชัดเจนขึ้น

“ย้อนรอยพรรคทหาร” ในเส้นทางการเมือง

หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 และใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ นานถึง 10 ปี จนถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จึงเกิดร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2511 กำหนดให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้
จอมพลถนอม จึงจัดตั้งพรรคการเมือง ชื่อพรรคสหประชาไทย ลงเลือกตั้ง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512
หลังจากการเลือกตั้ง จอมพลถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องยึดอำนาจตัวเอง ในปี 2514 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพรรคการเมือง
ข้ามมา 3 ทศวรรษ ในยุค คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดย พล.อ. สุจินดา คราประยูร จากนั้นให้เพื่อน คือ พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผนึกกับกลุ่มการเมือง ตั้งพรรคสามัคคีธรรม
จากนั้นอีก 14 ปีต่อมา พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยึดอำนาจจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หลังจัดการเลือกตั้ง พล.อ. สนธิ เข้าสังกัดพรรคมาตุภูมิ
ในช่วงเดียวกันนั้น มีเครือข่ายอำมาตย์และเครือข่ายนักการเมือง รวมตัวกันตั้งพรรคเพื่อแผ่นดิน ท่ามกลางข่าวในวงการทหารว่า นี่คือตัวแทนสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นหัวหน้าพรรค ร่วมด้วย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายพินิจ จารุสมบัติ, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และนายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ
ชะตากรรมของนักการเมืองและนายพล ที่โหนอำนาจนอกระบบ อยู่ใต้ร่มเงาของ “พรรคทหาร” ใน 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนมีที่มาและจุดจบที่ไม่สวยงามนัก บทเรียนนี้ ย่อมทำให้นักการเมืองยุคปัจจุบัน หันรี-หันขวาง ท่ามกลางกระแส “พรรคทหาร” กำลังเชี่ยว

ไทม์ไลน์ร่างรัฐธรรมนูญ 58 จับตา รธน.ฉบับ “บวรศักดิ์”?

ทีมข่าว Inside Thai Parliament

พลันที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ได้รับการขานชื่อ ให้เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 เขาก็ลุกขึ้นแสดงวิสัยทัศน์

ตอนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ “บวรศักดิ์” คือการ เปิดเผยปฏิทินการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 มีการสรุปได้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. สปช.ต้องเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสปช.ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 ภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2557

2. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสปช. แล้วเสนอต่อสปช.เพื่อจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ภายในวันที่ 17 เมษายน 2558

3. สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ภายในวันที่ 26 เมษายน 2558

4.สมาชิกสปช.อาจยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สปช.เสร็จสิ้นการพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

5. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558

6. สปช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558

7. กรณี สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประธานสปช.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สปช.มีมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ภายในวันที่ 9 กันยายน 2558 ทั้งนี้เมื่อรวมระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประมาณ 319 วัน

และระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์เขาก็ยอมรับแบบไม่มีปิดบังว่า พร้อมทำหน้าที่เป็น 1 ใน 36 คนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

มีการเก็งกันว่า “บวรศักดิ์” คือตัวจริง เสียงจริง ที่จะรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุว่า ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอำนาจของคสช.คัดเลือก ซึ่งล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เปิดเผยต่อหน้าสื่อมวลชนว่า “มีคนในใจแล้ว” เมื่อสื่อซักว่าใช่ “บวรศักดิ์” หรือไม่ นายกฯตอบว่า “มีอยู่ มีอยู่”!!!!

ดังนั้น จึงแน่นอนว่าโผครั้งนี้ย่อมไม่พลิกหนีไปชื่ออื่น

เพราะอย่าลืมว่าหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. “บวรศักดิ์” มีส่วนอย่างมากในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ร่วมกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” คสช. – “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และอย่าลืมว่า หลังการยึดอำนาจ “บวรศักดิ์” และ “วิษณุ” ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ต่างแยกกันเดิน ร่วมกันขายไอเดียปฏิรูป – ไขรหัสร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวในทำเนียบรัฐบาล 

“วิษณุ” พูดจากับสื่อในภาพใหญ่ของแนวทางการปฏิรูป

ในเวทีสาธารณะ “บวรศักดิ์” ก็ฉายภาพสิ่งที่ “วิษณุ” พูดให้สังคมได้เห็นภาพชัดขึ้น

เช่นการพูดถึง การออกแบบโครงสร้างของสภาว่าจะเป็นสภาเดี่ยว หรือ สภาคู่

พูดถึงที่มาของนายกฯ จะมาจากเลือกตั้งโดยตรง – หรือทางอ้อม และนายกฯควรเป็นส.ส.หรือ เปิดช่องให้คนนอกเป็นได้

พูดถึงการขจัดนักการเมืองที่คดีทุจริตติดตัว หรือถูกสั่งให้เว้นวรรคการเมืองต้องพ้นไปจากกระดานอำนาจ

พูดถึงการปิดช่องการใช้นโยบายประชานิยม

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2558 “บวรศักดิ์” จะมีบทบาทอย่างยิ่ง ที่สำคัญเขาวางแนวทางคู่ขนานระหว่างการทำงานระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับสปช.ไว้แล้วว่าจะเกื้อหนุน – สนับสนุนการทำงานของกันและกันได้อย่างไร

โดยเบื้องต้นจะให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 ชุด คอยเชื่อมข้อมูลระหว่างคณะปฏิรูป กับคณะร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งไอเดียนี้ “เทียนฉาย กีระนันท์” ประธานสปช. ก็เห็นพ้องต้องกัน

สะท้อนว่าระยะทางการร่างรัฐธรรมนูญอีก 10 เดือนต่อจากนี้ “บวรศักดิ์” จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2558

นอกจากนี้ ยังมีการเมาท์ในกลุ่มข้าราชการสภาด้วยว่า ห้องทำงานของ “บวรศักดิ์” ใหญ่โตกว่า “เทียนฉาย” ซึ่งเป็นประธานสปช.เสียอีก

เนื่องจาก “บวรศักดิ์” ได้เลือกห้องทำงานซึ่งอยู่ในชั้น 3 อาคารรัฐสภา ของ “เจริญ จรรย์โกมล” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ภายในห้องนอกจากมีห้องสัดส่วนของที่รับแขก ห้องทำงานของที่ปรึกษา ยังสามารถจุคนได้หลายสิบคน

ขณะที่ “เทียนฉาย” ได้เลือกห้องทำงานเก่าของ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นห้องทำงานของประธานสปช. ซึ่งเป็นห้องที่เล็กกว่ามาก วางโต๊ะทำงานได้แค่ 1 ตัว ก็เต็มห้อง

ส่วนห้องทำงานของ “ทัศนา บุญทอง” รองประธาน สปช.คนที่ 2 ก็เล็กไม่แพ้กัน

7 ปีก่อน รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกเรียกขานว่า เป็นฉบับ “หน้าแหลม ฟันดำ” ตามฉายาของ “น.อ.ประสงค์ สุ่นสิริ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น

7 ปีต่อมา ในปี 2557 หากประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชื่อ “บวรศักดิ์” คงต้องหาฉายาให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อไม่ให้น้อยหน้าฉบับ 2550

'วิษณุ' แจงสรรพคุณ กมธ.ยกร่างรธน.โควต้า คสช.-ครม.

สรรพคุณ กมธ.ยกร่างฯ

'วิษณุ' แจงสรรพคุณ กมธ.ยกร่างรธน.โควต้า คสช.-ครม. ชี้ 36 กมธ.มีครบทุกสี เตรียมเปิด 4 เวทีฟังความเห็น เล็งตั้ง 300 คนอกหักจาก สปช. เข้ามามีส่วนร่วม

                            4 พ.ย. 57  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ข้อมูลรายบุคคลของผู้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมระหว่าง คสช. และ ครม.ที่อนุมัติรายชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของนายปกรณ์ ปรียากร เป็นคนมุสลิม เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และเป็นที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี เรียนจบนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ก็โอเค

                            ส่วนนายกระแส ชนะวงศ์ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เราอยากได้คนที่เป็นนักการเมืองน้ำดี เดี๋ยวจะหาว่าคนมาร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยลงเลือกตั้ง ก็คิดถึงนายกระแส และสุขภาพท่านยังดีอยู่ ใช้ได้ ส่วนที่หายไปจากวงการการเมืองไปนาน ถ้าไม่หายไป ก็คงไม่เอามา

                            สำหรับนายสุจิต บุญบงการ นายวิษณุ กล่าวว่า ท่านเคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจตน์ โทณวณิก ซึ่งเป็นนักวิชาการวัยรุ่นนั้น ก็ไม่ใช่วัยรุ่น เพราะคุณสมบัติต้องอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ก็อยากได้ทุกวัย ท่านก็รุ่นใหม่ไฟแรง

                            ด้านนายกฤต ไกรจิตติ ก็เคยเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัคราชทูตไทย ประจำประเทศเวียดนาม อินเดีย ฮังการี และมาเลเซีย เพิ่งเกษียณมาหมาดๆ และคุณพ่อของนายกฤต ก็คือ นายสรรเสริญ ไกรกิตติ เคยเป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ซึ่งเลือกนายกฤต เพราะต้องเขียน มาตรา 190 และขณะเดียวกัน ท่านก็เคยทำเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้เยอะ ก็รัฐธรรมนูญต้องพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย ไม่ได้มีแค่เรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น

                            ขณะที่นายวิชัย ทิตตะภักดี นายวิษณุ อธิบายว่า มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเป็นกงสุลกิติมศักดิ์ไทยของประเทศในแอฟริกา มีความคิดในทางเศรษฐกิจ

                            เมื่อถามว่าทั้ง 11 คน ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของท่านนายกฯ แต่ก็ส่งชื่อให้ตรวจสอบ แต่นายกฯ เป็นคนเลือก ตนไม่ได้เลือก ทั้งนี้บรรยากาศในการประชุมไม่มีใครมีความเห็นแย้ง แต่ก็มีถามบ้างว่า ใครเป็นใคร

                            เมื่อถามว่า จะสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาที่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่รู้ ยังไม่มีการกล่าวหา รอให้กล่าวหามาก่อน แล้วจะได้ตอบได้ถูก ตอนนี้ไม่รู้"

                            เมื่อถามว่า เมื่อวานบอกว่าคนที่เป็นประธานจะขี้เหร่ แล้วชื่ออกมาแล้ว ถือว่าขี้เหร่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะว่าประธานจะต้องเป็นเป้าอยู่แล้ว ส่วนอีก 35 คน ไม่ได้เป็นเป้า ถึงประธานหล่อ ยังไงคุณก็จะบอกว่าขี้เหร่ วิเศษยังไงคุณก็ต้องบอกว่าขี้เหร่

                            เมื่อถามว่า มีโอกาสในการปรับเปลี่ยนตัวกรรมาธิการได้อีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ต้องอยู่จนกว่าจะล้มหายตายจากกันไป เมื่อตำแหน่งว่างแล้ว ก็ต้องแต่งตั้งเพิ่มเข้าไปได้

                            เมื่อถามว่า จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับสีชมพู ซึ่งเป็นสีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "คุณเอาชื่อ 36 คนมาดู คุณก็จะเห็นว่ามันมีทุกสี แดงก็มี เหลืองก็มี เขียวก็มี ชมพูก็มี เพราะตอนเขาตั้งไม่ได้นึกเลย"

                            เมื่อถามว่า ทราบว่าจะมีเวที 4 เวทีนอกสภาเพื่อขับเคลื่อน นายวิษณุ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดย
1.จะช่วยเป็นทีมวิชาการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และเลขานุการ
2. เป็นเวทีที่จะช่วยเป็นกรรมาธิการ
3. เป็นเวทีที่รัฐบาลจะตั้งขึ้น ลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเชิญนายบรรหาร ศิลปอาชา มาเป็นประธานปฏิรูป จะมีคนประมาณ 300 คน แบ่งเป็น 3 ทีม มีทีมการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ/พลังงาน และทีมสังคม และแยกกันประชุม โดยใช้สถานที่ของสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และเวทีที่
4. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ ซึ่งสวนใหญ่เป็นเวทีต่างจังหวัด

                            "เวทีที่ 1 ได้เริ่มแล้ว สปช.เริ่มแล้ว เขาก็ขับเคลื่อนของเขาเองได้ ส่วนเวทีที่ 2 หากข้อบังคับกรรมาธิการผ่านความเห็นชอบก็ส่งคนไปได้ ส่วนเวทีที่ 3 จะออกระเบียบสำนักนายกฯ มารองรับ ที่อาจจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในครั้งต่อไปก็ได้ ส่วนเวทีที่ 4 เขาสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเวทีเหล่านี้ไม่ได้ใช้งบประมาณพิ่มเติม และบางส่วนจะใช่งบจาก สป.ที่มีอยู่แล้ว กอ.รมน.ก็มีงบอยู่แล้ว"

                            เมื่อถามว่า เวทีที่ 3 มีคน 300 คน เข้ามานั่งทำงาน จะเลือกเข้ามาอย่างไร นายวิษณุ กล่าว จะเริ่มต้นย้อนไปดูว่าเขาสมัครเข้ามาแล้วสนใจเรื่องอะไร และดูว่าเขายังสมัครใจหรือไม่ เพราะบางทีอาจจะไม่อยากมายุ่งแล้วก็เป็นไปได้ เพราะเขาอยากอยู่ สปช.ใหญ่ เมื่อไม่ได้อยู่ ก็อาจจะไม่อยากอยู่แล้วก็ได้ และต้องดูเรื่องของเวลาในการทำงาน ดูคนให้เหมาะกับงาน ซึ่งแฟ้มตั้งอยู่ที่ห้องทำงานของตนแล้ว แต่ต้องรอดูก่อนว่าปัญหามีอะไรบ้าง เราต้องตั้งปัญหาให้ได้ก่อน แล้วนำคนมาตอบปัญหาให้ได้


 กมธ.ยกร่างรธน.สัดส่วนของ คสช.
 
                            1. นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ (ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540

                            2. นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                            3. นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมา และพรรคชาติไทย และร่วมตัดสินคดีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่เป็นธรรม

                            4. นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                            5. นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. และเสนอแนวคิดปฏิรูปของ กปปส. และเสนอ แนวปฏิรูป 'นิด้าโมเดล' อีกด้วย

                            6. นายกฤต ไกรจิตติ อดีตทูตมาเลเซีย อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาต่างประเทศ และเป็นข้าราชการลำดับแรกที่ถูกฟ้องศาลร่วมกับนายนพดล ปัทมะ สมัยที่เป็น รมว.ต่างประเทศ และไปทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับกัมพูชา

 
กมธ.ยกร่างรธน.ในส่วนของ ครม.


                            1. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550

                            2. นายเจษฎ์ โทณะวณิก ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จบปริญญาเอกทางกฎหมาย (Doctor of the Science of Law) (JSD) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

                            3. นายปกรณ์ ปรียากรณ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยร่วมขึ้นเวที กปปส.

                            4. นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยร่วมพรรคการเมืองหลายพรรค รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย

                            5. นายวิชัย ทิตตะภักดี อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ



กมธ.ยกร่างรธน.ในสัดส่วน สนช.


                            1. นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

                            2. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา

                            3. นายปรีชา วัชราภัย กรรมการกฤษฎีกา , อดีตเลขาธิการ กพ.

                            4. นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

                            5. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

กมธ.ยกร่างรธน.ในสัดส่วน สปช.


                            1. นายมานิจ สุขสมจิตร สปช. ด้านสื่อสารมวลชน นักหนังสือพิมพ์อาวุโส อดีต ส.ส.ร. ปี 2550

                            2. นายประชา เตรัตน์ สปช. จังหวัดชลบุรี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และปัจจุบันมีบทบาทสูงในกลุ่ม สปช. จังหวัด

                            3. นางถวิลวดี บุรีกุล สปช. ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

                            4. นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา สปช. ด้านสังคม อดีตผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

                            5. นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช. ภาคใต้ อดีตผู้สมัคร ส.ว.ภูเก็ต

                            6. พลโทนคร สุขประเสริฐ  สปช. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อดีตผู้บังคับการจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด

                            7. พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. ด้านพลังงาน อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อดีต ส.ว. เคยเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาช่วงวิกฤตการเมืองปี 2553

                            8. นายจุมพล สุขมั่น สปช. ภาคเหนือ อดีต กกต. จังหวัดลำปาง อดีต ผอ.สำนักงานบังคับคดี จ.เชียงราย

                            9. นายวุฒิสาร ตันไชย ด้านการปกครองท้องถิ่น รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

                            10. นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีต ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.

                            11. นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ด้านการเมือง คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน เจ้าของทฤษฎี 'สองนคราประชาธิปไตย'

                            12. นางทิชา ณ นคร สปช. ด้านการศึกษา นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก

                            13. นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สปช. ด้านเศรษฐกิจ อดีต ส.ว.สรรหา อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

                            14. นายจรัส สุวรรณมาลา สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีต ส.ส.ร. ปี 2550

                            15. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ด้านการเมือง อดีต ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.

                            16. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์

                            17. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.)

                            18. นายชูชัย ศุภวงศ์ ด้านการเมือง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

                            19. พลโท นาวิน ดำริกาญจน์ สปช. ด้านอื่นๆ อดีตผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม

                            20. นายมีชัย วีระไวทยะ สปช. ด้านการศึกษา อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต รมช.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้รณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย เคยเป็นนักแสดง เล่นเป็น โกโบริ ในละครเรื่อง 'คู่กรรม' (ปี 2513) ทางช่อง 4 บางขุนพรหม