PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ไทม์ไลน์ร่างรัฐธรรมนูญ 58 จับตา รธน.ฉบับ “บวรศักดิ์”?

ทีมข่าว Inside Thai Parliament

พลันที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ได้รับการขานชื่อ ให้เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 เขาก็ลุกขึ้นแสดงวิสัยทัศน์

ตอนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ “บวรศักดิ์” คือการ เปิดเผยปฏิทินการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 มีการสรุปได้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. สปช.ต้องเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชุมสปช.ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 ภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2557

2. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสปช. แล้วเสนอต่อสปช.เพื่อจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ภายในวันที่ 17 เมษายน 2558

3. สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ภายในวันที่ 26 เมษายน 2558

4.สมาชิกสปช.อาจยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สปช.เสร็จสิ้นการพิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

5. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558

6. สปช.ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558

7. กรณี สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ประธานสปช.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สปช.มีมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37 ภายในวันที่ 9 กันยายน 2558 ทั้งนี้เมื่อรวมระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประมาณ 319 วัน

และระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์เขาก็ยอมรับแบบไม่มีปิดบังว่า พร้อมทำหน้าที่เป็น 1 ใน 36 คนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

มีการเก็งกันว่า “บวรศักดิ์” คือตัวจริง เสียงจริง ที่จะรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุว่า ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอำนาจของคสช.คัดเลือก ซึ่งล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เปิดเผยต่อหน้าสื่อมวลชนว่า “มีคนในใจแล้ว” เมื่อสื่อซักว่าใช่ “บวรศักดิ์” หรือไม่ นายกฯตอบว่า “มีอยู่ มีอยู่”!!!!

ดังนั้น จึงแน่นอนว่าโผครั้งนี้ย่อมไม่พลิกหนีไปชื่ออื่น

เพราะอย่าลืมว่าหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. “บวรศักดิ์” มีส่วนอย่างมากในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ร่วมกับ “มีชัย ฤชุพันธุ์” คสช. – “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และอย่าลืมว่า หลังการยึดอำนาจ “บวรศักดิ์” และ “วิษณุ” ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ต่างแยกกันเดิน ร่วมกันขายไอเดียปฏิรูป – ไขรหัสร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวในทำเนียบรัฐบาล 

“วิษณุ” พูดจากับสื่อในภาพใหญ่ของแนวทางการปฏิรูป

ในเวทีสาธารณะ “บวรศักดิ์” ก็ฉายภาพสิ่งที่ “วิษณุ” พูดให้สังคมได้เห็นภาพชัดขึ้น

เช่นการพูดถึง การออกแบบโครงสร้างของสภาว่าจะเป็นสภาเดี่ยว หรือ สภาคู่

พูดถึงที่มาของนายกฯ จะมาจากเลือกตั้งโดยตรง – หรือทางอ้อม และนายกฯควรเป็นส.ส.หรือ เปิดช่องให้คนนอกเป็นได้

พูดถึงการขจัดนักการเมืองที่คดีทุจริตติดตัว หรือถูกสั่งให้เว้นวรรคการเมืองต้องพ้นไปจากกระดานอำนาจ

พูดถึงการปิดช่องการใช้นโยบายประชานิยม

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2558 “บวรศักดิ์” จะมีบทบาทอย่างยิ่ง ที่สำคัญเขาวางแนวทางคู่ขนานระหว่างการทำงานระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับสปช.ไว้แล้วว่าจะเกื้อหนุน – สนับสนุนการทำงานของกันและกันได้อย่างไร

โดยเบื้องต้นจะให้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 1 ชุด คอยเชื่อมข้อมูลระหว่างคณะปฏิรูป กับคณะร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งไอเดียนี้ “เทียนฉาย กีระนันท์” ประธานสปช. ก็เห็นพ้องต้องกัน

สะท้อนว่าระยะทางการร่างรัฐธรรมนูญอีก 10 เดือนต่อจากนี้ “บวรศักดิ์” จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2558

นอกจากนี้ ยังมีการเมาท์ในกลุ่มข้าราชการสภาด้วยว่า ห้องทำงานของ “บวรศักดิ์” ใหญ่โตกว่า “เทียนฉาย” ซึ่งเป็นประธานสปช.เสียอีก

เนื่องจาก “บวรศักดิ์” ได้เลือกห้องทำงานซึ่งอยู่ในชั้น 3 อาคารรัฐสภา ของ “เจริญ จรรย์โกมล” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ภายในห้องนอกจากมีห้องสัดส่วนของที่รับแขก ห้องทำงานของที่ปรึกษา ยังสามารถจุคนได้หลายสิบคน

ขณะที่ “เทียนฉาย” ได้เลือกห้องทำงานเก่าของ “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นห้องทำงานของประธานสปช. ซึ่งเป็นห้องที่เล็กกว่ามาก วางโต๊ะทำงานได้แค่ 1 ตัว ก็เต็มห้อง

ส่วนห้องทำงานของ “ทัศนา บุญทอง” รองประธาน สปช.คนที่ 2 ก็เล็กไม่แพ้กัน

7 ปีก่อน รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกเรียกขานว่า เป็นฉบับ “หน้าแหลม ฟันดำ” ตามฉายาของ “น.อ.ประสงค์ สุ่นสิริ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น

7 ปีต่อมา ในปี 2557 หากประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชื่อ “บวรศักดิ์” คงต้องหาฉายาให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อไม่ให้น้อยหน้าฉบับ 2550

ไม่มีความคิดเห็น: