PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2561

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผบ.ทบ.กับคำถามปฏิวัติ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ผบ.ทบ.กับคำถามปฏิวัติ : โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน



เมื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ยังไม่ทันไรต้องกลายเป็นข่าวพาดหัวใหญ่หนังสือพิมพ์ในประเด็น จะมีปฏิวัติรัฐประหารอีกหรือไม่
นั่นเพราะการเมืองไทยเรายังวนอยู่ในอ่าง โดยแม้ว่าจะมีผู้คนฝ่ายความคิดก้าวหน้า พยายามต่อสู้ผลักดันให้บ้านเมืองเราหลุดพ้นจากวงจรน้ำเน่านี้เสียที
แต่เราก็ยังมีคนอีกกลุ่ม ที่ยังคงทำทุกทางเพื่อฉุดรั้งบ้านเมืองให้ถอยหลังย้อนยุคไปอยู่เรื่อย ตามความเชื่อของฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองไทย ที่หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคม
ขณะที่เรามีนักศึกษาประชาชนในยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 ที่โหยหาสังคมใหม่ ใฝ่หาเสรีภาพ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลทหาร โดยไม่เกรงกลัวห่ากระสุนปืน จนได้รับชัยชนะ เปิดม่านประชาธิปไตยสู่สังคมไทย
แต่เพียงแค่ 3 ปี ก็เกิดเหตุร้าย 6 ตุลาคม 2519 กวาดล้างเข่นฆ่านักศึกษาประชาชนที่ขยายตัวเติบใหญ่มาจาก 14 ตุลาฯ
เป็นความพยายามอีกครั้งของฝ่ายขวาล้าหลัง เพื่อไม่ให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า แม้จะต้องใช้วิธีนองเลือดก็ตาม
แต่ก็เป็นไปตามทฤษฎียิ่งกดยิ่งต้าน จากนั้นการต่อสู้ยิ่งดุเดือดเลือดพล่าน
จนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงล้มรัฐบาลในปี 2520 โดยคณะทหารชุดเดิมที่รัฐประหารปี 2519 เพื่อคลี่คลายสังคมไทย แอบอิงประชาธิปไตยคลายความอึดอัด
รวมทั้งมีคำสั่งที่ 66/2523 ใช้การเมืองนำการทหาร ทำให้ความขัดแย้งพ้นจากสนามรบ มาสู่การต่อสู้อย่างสันติวิธี
กระทั่งในปี 2535 ประชาชนลุกฮืออีกครั้ง เพื่อปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในปี 2534 รวมทั้งผลักดันการเมืองให้ยกระดับไปอีก ด้วยทำให้มีข้อกำหนด นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทำให้อำนาจการเมืองในมือประชาชน เพิ่มความสำคัญมากขึ้น
ยิ่งมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง ยิ่งทำให้อำนาจการเมืองในมือประชาชนผ่านวันเลือกตั้ง ยิ่งมีความหมายมีความสำคัญมากขึ้น
จนฝ่ายล้าหลังต้องดิ้นรนครั้งใหญ่ ก่อม็อบมีสีในปี 2548 เพื่อปูทางรัฐประหาร 2549 ก่อนจะดิ้นซ้ำอีก หนักกว่าเดิมอีก ผ่านม็อบปี 2556 เพื่อนำไปสู่รัฐประหาร 2557

นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ว่า ก่อนรัฐประหาร มักมีกระบวนการปูทางสร้างเงื่อนไขให้ทุกครั้ง
แต่โลกต้องหมุนไปข้างหน้า ไม่หมุนย้อนเหมือนวงจรน้ำเน่าในสังคมไทย
สุดท้ายสังคมไทยก็ต้องไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะมีในต้นปี 2562
ท่ามกลางบรรยากาศที่บ้านเมืองใกล้จะกลับมาเป็นประชาธิปไตยแท้ๆ
แต่เมื่อ ผบ.ทบ.คนใหม่ เปิดแถลงใหญ่ครั้งแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง ก็ต้องเผชิญคำถามที่ว่า ทหารจะปฏิวัติยึดอำนาจอีกหรือไม่
ผบ.ทบ.จะตอบอย่างไรก็ตามที แต่แปลว่าสังคมไทยไม่เคยวางใจ ว่าจะไม่มีการล้มกระดานประชาธิปไตยอีก
ตราบใดที่ฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดในบ้านเรา ยังไม่ยกระดับความคิดเหมือนฝ่ายขวาในสังคมที่เจริญ ว่าต้องไปต่อสู้กับฝ่ายเสรีนิยม สู้กับฝ่ายซ้ายในสนามเลือกตั้ง
อันเป็นเวทีที่สู้กันไป แต่บ้านเมืองก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่ยอมรับกติกานี้ และยังคงดิ้นรนฉุดบ้านเมืองให้ถอยหลังไม่สิ้นสุด
ผบ.ทบ.ก็ต้องคอยตอบคำถามว่าจะมีรัฐประหารหรือไม่ อย่างไม่จบสิ้น
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

น.3คอลัมน์ : ทิศทาง การเมือง ผ่าน เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ ทิศทาง ‘อำนาจ’

น.3คอลัมน์ : ทิศทาง การเมือง ผ่าน เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ ทิศทาง ‘อำนาจ’



หากถือเอาการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นบาทก้าวสำคัญในทางการเมือง
การเมืองหลัง “รัฐประหาร”
การเปิดตัวเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนตุลาคม 2561 ก็เป็นอีกบาทก้าวหนึ่งซึ่งทรงความหมายเป็นอย่างสูง
ยิ่งเมื่อคนที่เสนอและเป็นแอดมิน คือ นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ยิ่งแหลมคม
แหลมคมเพราะไม่เพียงแต่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จะดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
หากยังเป็นกรรมการบริหาร “พรรคพลังประชารัฐ”
พรรคพลังประชารัฐอันมีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้า มีรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์เป็นรองหัวหน้า มีรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นเลขาธิการ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโฆษก
ไชโย ประชารัฐ ไทยนิยม
ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ ความหมายอันบ่งบอกว่ารถจักรได้ขึ้นไปอยู่บนรางแห่งโรดแมปการเลือกตั้งแล้ว
ยากอย่างยิ่งที่จะ “รั้ง”
เห็นได้จากการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมา
แม้จะมี “แง่ง” ยื้อ ถ่วง หน่วง ดำรงอยู่ แต่ก็มีการเคลื่อนไหว
พลันที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่โลกแห่งโซเชียลมีเดีย โดยขั้นต้นเริ่มจากเฟซบุ๊ก ตามด้วยอินสตาแกรม ตามด้วยทวิตเตอร์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่เฟซบุ๊กไลฟ์
นั่นหมายถึงการก้าวเข้าไปสู่โลกแห่ง “ดิจิทัล” เป็นลำดับ

โลกแห่งดิจิทัลไม่เพียงแต่จะยืนยันว่าอยู่ตรงกันข้ามกับโลกแห่งอนาล็อก หากแต่ยังเท่ากับเป็นการสมาทานพื้นที่แห่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูง
การมาของ “ดิจิทัล” มีลักษณะสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่กระบวนการของมันดำเนินไปในลักษณะอย่างที่สรุปในเวลาต่อมาว่า
เป็นการสร้างสรรค์บนพื้นฐานแห่ง “การทำลาย”
ด้านหนึ่ง ดิจิทัลสะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็เหลื่อมซ้อนและล่อแหลมที่จะไถลไปสู่ลักษณะแห่ง “อนาธิปไตย”
เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายอมรับ
“บอกแล้วว่า ถ้าชอบผมมากๆ อีกพวกก็จะออกมาด่าผมมากขึ้น หรือบางพวกชอบผมก็ไปด่าคนอื่นเรื่องนี้ต้องทำใจ”
ต้องทำใจเพราะ “ก็มีทั้งด่าทั้งชม”
คนที่ติดตามกว่า 200,000 จึงมาพร้อมกับคนกดไลค์กว่า 200,000 และเป็นจำนวนที่มิได้หมายถึงชอบอย่างเดียว
นี่คือความเป็นจริงของ “โซเชียล มีเดีย” ความเป็นจริงของ “การเมือง”
การเข้าสู่โลกโซเชียลเท่ากับเป็นหมุดหมายยืนยันว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปอีกแน่นอน
เป็นการยืนยันด้วยความมั่นใจ
มั่นใจในความสำเร็จของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มั่นใจในกฎกติกาที่จัดวางเอาไว้อย่างรอบคอบรัดกุม มั่นใจในความนิยมของประชาชน
ความมั่นใจนี้กำลังได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์ทราบ จาก “การเลือกตั้ง”

ไม่ฟันธง

เอกลักษณ์พิเศษของประเทศไทยคือ “กองทัพ” มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
บางครั้งกองทัพก็แทรกแซงการเมือง
และหลายครั้งผู้นำกองทัพก็กลายเป็นผู้นำการเมืองเสียเอง
ทำให้ประเทศไทยมี “ทหาร” เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 13 คน
ครองอำนาจการเมืองรวมกันนานกว่า 21,445 วัน
หรือยาวนานกว่า 58 ปี
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กแดง” เปิดใจให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรก หลังได้รับโปรดเกล้าฯเป็น ผบ.ทบ. จึงกลายเป็นข่าวพาดหัวตัวเท่าหม้อแกง
“ผบ.ทบ.คนใหม่” เปิดใจตอบคำถามสื่อมวลชนถึงจุดยืนกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองต้นปีหน้า
Mute
Current Time0:00
/
Duration Time5:50
Loaded: 0%
Progress: 0%
 
พล.อ.อภิรัชต์ ตอบว่า กองทัพบกเตรียมทำความเข้าใจกับกำลังพลโดยเฉพาะระดับผู้บังคับหน่วยอย่างชัดเจนว่า กองทัพจะวางตัวเป็นกลาง
กองทัพมีหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าใครหรือพรรคใดจะเป็นรัฐบาล กองทัพต้องทำงานให้เหมือนทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
นักข่าวถามว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะสืบทอดอำนาจการเมือง กองทัพจะเว้นระยะห่างกับ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างไร เพื่อรักษาความเป็นกลางทางการเมือง??
“บิ๊กแดง” ผบ.ทบ.คนใหม่ ตอบว่า ความเป็นกลางขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
ขอย้ำว่า กองทัพบกจะวางตัวเป็นกลาง เป็นมืออาชีพ เป็นทหารอาชีพ
คำว่า “ทหารอาชีพ” กับ “อาชีพทหาร” แตกต่างกัน
ในฐานะทหารอาชีพ หลังเลือกตั้งไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลกองทัพต้องสนับสนุน
ถามถึงบทบาทกองทัพต่อการเลือกตั้งปีหน้าว่ามีความหนักใจหรือไม่??
พล.อ.อภิรัชต์ ผู้ถือดุลอำนาจกองทัพคนใหม่ มองว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้ประชาชนเข้าใจภารกิจของกองทัพว่าการช่วยเหลือประชาชนเป็นความบริสุทธ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่
สมมติว่าทหารลงพื้นที่แนะนำชาวบ้านตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล คสช.จะบอกว่าทหารสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นเรื่องลำบาก
อยากให้ประชาชนเข้าใจและให้ความเป็นธรรมกองทัพด้วย
มาถึงคำถามถึงบทบาทกองทัพกับการเลือกตั้งต้นปีหน้า??
ผบ.ทบ.ป้ายแดง ตอบว่า ถ้า กกต.ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือ ทหารก็ต้องช่วยงาน กกต. (เหมือนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง)
จะไม่ให้ทหารทำอะไรเลย ไม่ต้องทำหน้าที่ ไม่ต้องสนับสนุน ไม่ต้องช่วยเหลือประชาชนก็ไม่ใช่
เพราะทหารรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน

ดังนั้น หาก กกต.ขอความช่วยเหลือ กองทัพพร้อมช่วยงาน กกต.เต็มที่!!
“แม่ลูกจันทร์” มองว่า พล.อ.อภิรัชต์ ตอบคำถามอย่างรัดกุม ยกการ์ดสูง เต้นฟุตเวิร์กคล่อง ไม่ยอมให้นักข่าวต้อนเข้ามุมง่ายๆ
โดยเฉพาะ “คำถามไฟต์บังคับ” ที่นักข่าวต้องยิงถามคำถามนี้ทุกครั้งกับ ผบ.ทบ.ใหม่ทุกคน
คำถามคือ ในยุค “พล.อ.อภิรัชต์” ทหารจะปฏิวัติอีกหรือไม่??
พล.อ.อภิรัชต์ตอบคำถามนี้...แบบมีออปชัน
“หวังว่าการเมืองจะไม่เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ”
“ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุของการจลาจล การปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้น”
พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ยอมฟันธงว่าจะไม่มีปฏิวัติแน่ๆ
เพราะการปฏิวัติเป็นความลับสุดยอด เปิดเผยล่วงหน้าไม่ได้
แม้แต่อดีต ผบ.ทบ. 2 คน ที่เคยประกาศยืนยันว่าจะไม่ปฏิวัติแน่ๆ
แต่สุดท้าย...กลายเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติทั้งคู่.
อ่านเพิ่มเติม

"แม่ลูกจันทร์"

ยืนถือกระบองคุมเชิง!

เขย่าประสาททำนักการเมืองจิตตกกันระนาว

อกสั่นขวัญแขวนกันไปล่วงหน้า หวั่นเกิดรายการรถถังออกมาวิ่งตามท้องถนน ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นมา
หลังเสียงคำรามจาก “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ระบุชัดเจน กองทัพวางตัวเป็นกลาง ขออยู่เคียงข้างประชาชน
โดยการปฏิวัติจะไม่เกิด ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุไปสู่การจลาจล
เบอร์ 1 กองทัพบกไม่การันตีจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นในอนาคตย่อมสร้างความหวั่นไหวให้นักเลือกตั้งเกิดอาการขาสั่น
หาเสียงกันสู้กันเลือดตาแทบกระเด็น อาจเหนื่อยฟรีหรือไม่ หากนักการเมืองแก่งแย่งอำนาจ ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชิงอำนาจ ทำบ้านเมืองพังเหมือนที่ผ่านมา
ในสถานการณ์การเมืองที่ทวีความเข้มข้นขึ้น อย่างที่มีการปลุกกระแสให้เลือกข้าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” หาเสียงเรียกคะแนนนิยมให้ฝ่ายตัวเอง
เร้าอารมณ์กองเชียร์ เติมหัวเชื้อความขัดแย้ง โหมกระแสสร้างความเกลียดชังขึ้นมาในสังคม
ทำลายความปรองดองที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พยายามฟื้นฟูประเทศ สลายสีเสื้อ สร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ
ก็เป็นธรรมดาที่ ผบ.ทบ.ต้องออกมาใส่แอ็กชันเข้มๆ ปกป้องบ้านเมืองไม่ให้กลับไปสู่กลียุค เผาบ้าน เผาเมือง ขนคนมาชัตดาวน์ประเทศไทย กลับสู่วังวนเดิมๆ ที่ทุกคนแยกเขี้ยวใส่กัน
กองทัพพร้อมเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หากสถานการณ์ถึงจุดวิกฤติ
อย่างที่บรรดาคีย์แมนใน คสช.และกองทัพ ทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ.
พากันออกมายืนเคียงข้าง “บิ๊กแดง” ยกเหตุผล หากฝ่ายการเมืองไม่ลากประชาชนออกมาตามท้องถนนให้เกิดจลาจล ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะไม่มีใครอยากทำรัฐประหาร
แม้กระทั่งท่าทีเสื้อแดงตัวพ่ออย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ยังกลับลำมาสนับสนุนหลักการของ ผบ.ทบ. ปรามทุกฝ่ายหยุดสร้างเงื่อนไขให้เกิดความน่าเป็นห่วง ก็จะไม่เกิดเหตุรัฐประหารขึ้น
ร่วมเตือนสตินักการเมืองให้ร่วมประคองประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน
เหลือแค่คนการเมืองหน้าเดิมๆ ที่คอยผสมโรงโยงคำพูด “บิ๊กแดง” ให้โอเว่อร์เกินจริง กองทัพเตรียมตัวยึดอำนาจอีกรอบ ปลุกกระแสให้คนเกลียดชังทหาร
แต่เรื่องของเรื่อง หากจับคำพูดของ ผบ.ทบ.แล้ว แค่ต้องการส่งสัญญาณตรงไปถึงนักการเมืองห้ามแตกแถว ไม่ให้ก่อหวอดสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้ง
ในห้วงที่ประเทศกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้ง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นอุปสรรคขวางเส้นทางคืนประชาธิปไตยให้ขยับออกจากวันที่ 24 ก.พ.2562
ตามปรากฏการณ์ที่แต่ละค่ายการเมืองเปิดตัวเคลื่อนไหวกันคึกคัก โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ 4 รมต.ขุมกำลังหลักกำลัง
เร่งเครื่องเต็มสูบ วางโปรแกรมลงพื้นที่เป็นรายสัปดาห์
ทีม “ลุงตู่” เปิดตัวเต็มอัตราศึกพร้อมลงสนาม ดึงคนรุ่นใหม่มือดีร่วมทีมพึ่บพั่บ ความมั่นใจมาเต็มเปี่ยม ตั้งเป้ากวาดเก้าอี้ ส.ส.ทะลุ 100 ที่นั่ง
สอดรับกับท่าที “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่กระโจนเข้าสู่โลกโซเชียล กระจายช่องทางสื่อสารผ่านเว็บไซต์ ทวิตเตอร์ ไอจี รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านโดยตรง
ยืดอกยอมรับได้ทั้งดอกไม้ ก้อนอิฐ คำชมและเสียงด่า
ต้องยอมรับสถานการณ์ถึงนาทีนี้ทุกอย่างลงตัว เคลียร์ทางรอเข้าสู่สนามเลือกตั้งต้นปีหน้าให้ผู้นำ คสช.ได้ต่อตั๋วบริหารประเทศต่ออีกสมัย
เหลือแค่ลุ้นจะคอนโทรลสถานการณ์หลังเลือกตั้งให้ลงเอยด้วยดี ไม่มีความวุ่นวายไล่หลังตามมาได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ผบ.ทบ.จึงต้องเล่นบทยักษ์ถือกระบองคุมเชิงไว้ก่อน.
ทีมข่าวการเมือง

"ทักษิณ"มั่นใจกวาด300ที่นั่ง

ยืนยันไม่กลับมาสู้คดี เพราะระบบยุติธรรมไทยถูกแทรกแซง จากทหารทุกขั้นตอน
อดีตนายกรัฐมนตรี“ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อญี่ปุ่น มั่นใจหากการเลือกตั้งเดือนก.พ.ปีหน้า เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม พรรคพันธมิตรทางการเมืองที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะคว้าชัยชนะได้แน่นอน และสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้กว่า 300 ที่นั่ง
“ผมคิดว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนมากกว่า 300 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง นี่คือเวลาที่ประชาชนจะหย่อนบัตรเลือกตั้งเพื่อขับไล่เผด็จการออกจากประเทศไทย” นายทักษิณกล่าวในโอกาสให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโดระหว่างเยือนฮ่องกง
นอกจากนี้ นายทักษิณ ยังแสดงความมั่นใจว่า พรรคการเมืองของเขาจะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากประชาชนเชื่อว่าพรรคของเขามีทางออกในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้ ทั้งยังประกาศว่าพร้อมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหากประชาชนเรียกร้อง
อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ยังตอบข้อซักถามในประเด็นกลับมาสู้คดีในประเทศไทย โดยระบุว่า "ไทยยังไม่มีการใช้หลักนิติรัฐ ผู้พิพากษาสามารถเขียนกฎหมายเองได้ และระบบยุติธรรมก็ถูกแทรกแซงจากฝ่ายทหารในทุกขั้นตอน ในเมื่อไม่มีความยุติธรรม ทำไมต้องเข้ามอบตัวกับกระบวนการอยุติธรรม"