PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

4 คำถามการบ้านคนไทย “ระเบิด” วงจรอุบาทว์ : ด่านเลือกตั้งสกัดเชื้อชั่ว

4 คำถามการบ้านคนไทย “ระเบิด” วงจรอุบาทว์ : ด่านเลือกตั้งสกัดเชื้อชั่ว

ฝนต้นฤดูมาเร็วและหนาแน่น หลายพื้นที่ของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะน้ำเจิ่งนอง
โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครต้องเจอกับภาวะน้ำขังรอการระบาย ท่วมถนนหลักหลายสาย การจราจรเป็นอัมพาต ฉากเดิมๆที่คุ้นตา ปัญหาเก่าๆที่ซ้ำซากแก้ไม่ตก
ฟ้าฝนทำบรรยากาศอึมครึมตลอดทั้งสัปดาห์
ล้อไปกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ขมุกขมัว กับปรากฏการณ์นัวเนียระหว่างรัฐบาลทหาร คสช.กับนักการเมืองอาชีพที่เปิดยุทธการชิงเหลี่ยมมวลชน
แย่งกระแสความชอบธรรม
ตามจังหวะที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.เปิดยุทธศาสตร์กระตุกอารมณ์สังคมอย่างแรง ด้วยการโยน 4 คำถามถึงประชาชน
1.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร
3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
และ 4.ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีกเกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
โดย พล.อ.ประยุทธ์ขอให้ประชาชนทั่วไปส่งคำตอบและความคิดเห็นมาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งไปที่นายกรัฐมนตรี
เจอมุกนี้เล่นเอางงไปตามๆกัน
จับทางไม่ถูก “นายกฯลุงตู่” จะมาไม้ไหน
กับอารมณ์ของผู้นำเผด็จการทหารกล้าเปิดกว้างรับฟังความเห็นโดยตรงจากประชาชน
แต่เบื้องต้นเลย มองตามเหลี่ยมการเมืองก็ถือเป็นยุทธการ “แก้ลำ”
ตามจังหวะที่รัฐบาลทหาร คสช.โดนนักการเมืองทุกป้อมค่าย ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ดาหน้ากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลงานครบรอบ 3 ปี
ไม่มีอะไรจับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน
ปฏิรูปไม่คืบหน้า ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ชาวบ้าน เดือดร้อนภาวะปากท้อง
โดยรูปการณ์กระแสสังคมคล้อยตามเสียงนักการเมือง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลื่อนการแถลงผลงานครบรอบ 3 ปีรัฐบาล คสช.ออกไปเป็นเดือนกันยายนแทน
ตามเหลี่ยมกระแสถือว่า รัฐบาล คสช.เพลี่ยงพล้ำ
ซึ่งจาก 4 คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์โยนทุ่นออกมา มันก็ชัดเจนว่า จงใจตั้งโจทย์ตอกย้ำพฤติกรรมนักการเมืองคือตัวปัญหา ต้นตอของวิกฤติอำนาจประเทศไทย
ทำให้บ้านเมืองติดหล่มไม่พัฒนาไปไหน
กระตุ้นเตือนความจำชาวบ้าน จะเอานักการเมืองตัวปัญหาแบบเดิมๆต่อไปหรือ
แต่นั่นก็ตรงกันข้ามกับนักการเมืองทุกป้อมค่ายที่ประสานเสียงโวยวาย โห่ฮาดักทางมุกของ พล.อ.ประยุทธ์ แค่ปล่อย 4 คำถาม โยนหินถามทางนำร่อง
เพราะต้องการยื้อเลือกตั้ง ต่อท่อลากยาวอำนาจ
ซึ่งก็ค่อนข้างตรงกับนักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมืองที่มองไปในมุมใกล้เคียงกัน
เพราะอ่านตามจังหวะที่ผู้นำ คสช.ขยับโยนมุก “ถามตรง” ประชาชนออกมา ในช่วงสถานการณ์คาบเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลดิบในกระบวนการปรองดอง เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายในการจัดทำสัญญาประชาคม เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแม็ป
ตามแนวโน้มแบบที่ “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะประธานการประชุมกลุ่มย่อยรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่ จังหวัดในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก พูดชัดเป็นเชิงว่า ถ้าทุกคนยังติดนโยบายพรรค ยึดติดระบบการเมืองที่นำไปสู่ความไม่ราบรื่นของการบริหารราชการแผ่นดิน
มันก็จะไม่ได้ข้อยุติสักที
โดยรูปการณ์ที่ประเมินได้ กระแสเลือกตั้งยังไม่เป็นไปอย่างที่ทหาร คสช.ตั้งใจไว้
หัวขบวนอย่าง “นายกฯลุงตู่” เลยต้องกระตุกเตือนความจำ ย้ำปมปัญหาของนักการเมืองกันอีกรอบ
เรื่องของเรื่อง ตามเหลี่ยมชิงกระแสนั่นก็ว่ากันไป
แต่ในมุมเชิงเหตุเชิงผล ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 4
คำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ มันก็คือปรากฏการณ์จริง
สะท้อนเกมอำนาจประเทศไทยที่สลับฉากกันระหว่างนักการเมืองกับทหาร
ปมเหตุการเมืองวิกฤติมาตลอดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 กว่า 85 ปีที่วนเวียนอยู่ใน “วงจรอุบาทว์” เลือกตั้ง ปฏิวัติ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉีกรัฐธรรมนูญ
ถึงตรงนี้ก็ 20 ฉบับไปแล้ว เมืองไทยใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก
มันจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและตรงสถานการณ์ กับการที่ผู้นำรัฐบาลอำนาจพิเศษอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ยิงคำถามตรงถึงประชาชนเจ้าของประเทศ
เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการออกความคิดเห็นว่าด้วยทิศทางการเมืองไทย
ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อการปฏิรูปใหญ่เปลี่ยนผ่านประเทศ
ประกอบกับท่าทีรัฐบาล คสช.เองก็มีการยกระดับให้เป็น “วาระแห่งชาติ”
ตามฉาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้จัดประชุมมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในการดำเนินงานเกี่ยวกับคำถาม 4 ข้อของรัฐบาล
โดยย้ำแนวทางในการใช้ช่องทางที่แน่นอน คือการให้ข้อมูลจากประชาชนที่เดินทางเข้ามาศูนย์ดำรงธรรมโดยตรง และจะกระจายการใช้ศูนย์ดำรงธรรมให้มากที่สุด ทั้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อที่ประชาชนจะได้สะดวกในการเดินทาง
ยึดหลักการปฏิบัติในการตอบคำถาม
1.ต้องยืนยันตัวตนของผู้ตอบคำถามได้ โดยการรับรองต้องทำตามระเบียบสารบัญของศูนย์ดำรงธรรม คือจดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และหากมีประชาชนไปยื่นคำตอบให้ศูนย์ดำรงธรรมรีบบันทึก และรับรองให้ด่วน ห้ามปฏิเสธ
2.เจ้าหน้าที่ไม่ต้องตีความคำถามหรืออธิบายศัพท์ในคำถาม
3.ไม่ต้องถามเพิ่ม ใครตอบอย่างไรให้จดมาอย่างนั้น ไม่ชี้นำ ไม่ตีความ
ป้องกันความผิดเพี้ยนของข้อมูล
เรื่องของเรื่อง เบื้องต้นถือเป็นการแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลในกระบวนการประมวลคำตอบที่ได้
ให้เป็นเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่างแท้จริง
เพราะตามรูปการณ์ที่หนีไม่พ้นโดนตั้งแง่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองท้องถิ่น ล้วนเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
สถานการณ์ง่ายต่อการจัดแต่งข้อมูลให้เข้าทางผู้ถืออำนาจ
ตามฟอร์มของข้าราชการ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เน้นชงข้อมูลเฉพาะด้านดีเอาใจนาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการได้มาซึ่งความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนแล้ว แนวโน้มอีกด้านหนึ่งก็ควรเป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยจะต้องช่วยกันสะท้อนความคิดเห็น
ในเชิงที่เป็นเหตุเป็นผลส่งถึงนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นแบบฝึกหัดประชาธิปไตยยากขึ้นอีกขั้น ที่คนไทยจะได้ลงมือทำในทางปฏิบัติ
และทั้งหมดทั้งปวงเลย คำตอบจาก 4 คำถามที่ได้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการนำไปพิจารณาแนวทางการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เป็น “ด่านเลือกตั้ง” สกัดเชื้อชั่ว
ปิดทางพวกขี้ฉ้อ เปิดทางนักการเมืองน้ำดีเข้ามาบริหารประเทศด้วยธรรมาภิบาล
และนั่นก็เท่ากับปิดทางทหารไม่มีข้ออ้างมาทำปฏิวัติรัฐประหาร
เป็นการ “ระเบิด” วงจรอุบาทว์
ฉุดประเทศออกจากวิกฤติการเมืองซ้ำซาก.
“ทีมการเมือง”