PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

'สมชัย'ปัดร่วมวงถกรัฐบาล ชี้ใหญ่เกินไป

วันที่ 13 มกราคม 2557 20:40
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"สมชัย"ปัดร่วมวงหารือรัฐบาล ชี้ใหญ่เกินไปและองค์ประกอบส่วนใหญ่ล้วนแต่มีจุดยืนเข้าข้างรัฐบาล

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังทราบว่ารัฐบาลจะมีการเชิญผู้แทนพรรคการเมือง หัวหน้าส่วนราชการ และฝ่ายที่คิดต่าง รวม 70 คน เข้าหารือเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า คิดว่าการเชิญประชุมวงใหญ่ขนาดนั้นไม่น่าจะเกิดประโยชน์ เพราะหากมองจากองค์ประกอบแล้วมีพรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กเข้าร่วม ซึ่งการที่พรรคการเมืองเหล่านี้ลงเลือกตั้งก็เพราะเห็นเป็นโอกาสดีที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นคู่แข่งกับรัฐบาลไม่ได้ลงเลือกตั้งด้วย จึงหวังว่าประชาชนที่ไม่เลือกพรรครัฐบาล อาจจะหันเลือกพรรคของตนเอง ขณะที่หัวหน้าหน่วยงานราชการที่รัฐบาลเชิญ ที่ผ่านมาก็ล้วนแต่มีความคิดเห็นที่ไม่ต่างจากรัฐบาล และการเชิญกลุ่มภาคสังคมที่มีความคิดเห็นต่าง ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีจุดยืนในความคิดเห็นของตัวเองมาตลอด ดังนั้นวงใหญ่ขนาดนี้คงไม่มีทางได้ข้อยุติที่เป็นทางออกของประเทศได้

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ทางออกของเรื่องนี้ตนเสนอว่านายกรัฐมนตรีควรคุยกับประธานกกต.ในฐานะผู้ร่วมรักษาการตามพ.ร.ฎ.ยุบสภาฉบับนี้เสียก่อนว่า พระราชกฤษฎีกานี้มีปัญหา แล้วผู้ร่วมรักษาการทั้ง 2 คนมีความเห็นเป็นอย่างไร โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันเสียก่อน เมื่อได้ข้อสรุปจึงค่อยขยายวง โดยวงต่อไปก็เป็นการเชิญพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้ามาร่วม จนได้ข้อสรุปที่ตรงกัน จึงค่อยขยายวงต่อไปโดยเชิญพรรคการเมืองอื่น ๆเข้ามา แล้วตกลงร่วมกันว่าการเลือกตั้งควรจะมีขึ้นเมื่อใด วันใด จากนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องไปหาช่องทาง ซึ่งอาจให้คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ไปพิจารณาว่ามีช่องทางกฎหมายใดในการที่จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ส่วนกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างกปปส. และนปช.นั้น ความคิดและจุดยืนของกลุ่มมีฐานที่เชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว เชื่อว่า หากฝ่ายการเมืองมีการยอมรับในข้อสรุปข้างต้นก็เชื่อว่า ทั้งสองกลุ่มที่คิดต่างนี้จะยอมรับได้ ซึ่งถ้าดำเนินการในลักษณะนี้เชื่อว่าทุกอย่างจะเสร็จได้ภายในวันศุกร์นี้

“แต่ถ้ามีการเชิญไปหารือวงใหญ่อย่างที่มีรายชื่อ 70 คนนั้นส่วนตัวเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ที่จะเข้าร่วม และผมก็จะไม่เข้าร่วม หากสำนักงานกกต.ได้รับหนังสือจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการก็จะนำเข้าหารือในที่ประชุมกกต. ว่าตกลง กกต.คนใดจะไป หรือจะมอบหมายใครไป แต่ผมคงไม่เข้าร่วม”นายสมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า แม้มีการเลื่อน และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ กปปส. ก็จะไม่หยุดชุมนุมเพราะเป้าหมายคือต้องการให้นายกฯลาออก นายสมชัยกล่าวว่า คิดว่าการที่รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของกกต.ในขณะนี้ก็ถือว่าค่อนข้างสายเกินไป เพราะหากรับไปพิจารณาและดำเนินการเสียตั้งแต่ตอนที่กกต.เสนอครั้งแรก ๆ สถานการณ์ชุมนุมก็จะไม่รุนแรงขนาดนี้ แต่ในเวลานี้เมื่อรัฐบาลยอมที่จะพิจารณาข้อเสนอของกกต. และหากที่สุดมีการเลื่อนและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์เย็นลงบ้าง แม้จะไม่สามารถหยุดชุมนุมได้ก็ตาม

สรุปการนำเสนอข่าวของ"สื่อ"กับการชุมนุมชัตดาวน์13ม.ค.57

  • สรุปข่าวการชุมนุมวันนี้

    ข่าวชุมนุมทางการเมืองกลายเป็นสินค้าข่าวที่แต่ละช่องแย่งกันรายงาน หลายช่อง คงผังเดิมเอาไว้ หลายช่องยกรายการปกติออก และมีรายการพิเศษเกาะติดสถานการณ์ทั้งวัน

    เป็นภาพรวมๆ ไม่ระบุช่อง เท่าที่ผมติดตาม มุมมองผมเท่านั้น สรุปดังนี้

    (1) การให้พื้นที่ข่าว
    ในช่วงเช้านั้น ดูเหมือนสื่อบางช่องจะยังไม่ตื่นดี แต่บางช่อง ดูออกว่ามีความพร้อมมาตั้งแต่แรก ประเด็นข่าวช่วงเช้า มุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อม บรรยากาศการจราจร และการวางแผนการชุมนุมตามจุดต่างๆ การให้พื้นที่ข่าวช่วงเช้า หลายช่อง ถือว่าเป็นรายงานข่าวปกติ ก็คือเอามาแทรกในรายการข่าว และเพิ่มความสำคัญเข้ามาให้เนื้อหา


    แต่ประเด็นข่าวส่วนมาก เน้นข่าวเชิงสถานการณ์มากกว่า (เพราะตัวความสำคัญของเหตุการณ์วันนี้ คือ การชุมนุม)

    (2) รูปแบบรายงานข่าว
    ที่ตรงกันคือ ทุกช่องใช้ผู้สื่อข่าวลงหาข่าวตามจุดพื้นที่ชุมนุมต่างๆ อย่างทั่วถึง บางช่อง ใช้ผู้สื่อข่าวหนึ่งคนเวียนหลายจุด และทยอยรายงานข่าวเข้ามาในช่วงรายการข่าวเช้า และ รายงานข่าวต้นชั่วโมง พอครบต้นชั่วโมง ก็จะมีรายงานสรุปสถานการณ์แต่ละจุด
    และมีรายงานเหตุการณ์บรรยากาศการเคลื่อนไหว ณ ที่อื่นๆ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

    (3) ข่าวจากพื้นที่
    นักข่าวภาคสนามใช้ลีลาและความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว บางช่อง ยืนรายงานหน้าจุดชุมนุม บางช่องถอยห่าง หรือขึ้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย แต่หลังเที่ยงเป็นต้นมา ดูเหมือนว่าแต่ละช่อง จะ "เข้าแทรกซึม เข้าใกล้ชิดในพื้นที่สนามข่าวมากขึ้น"
    ทั้งๆ ที่ในช่วงเช้า นักข่าวภาคสนามดูจะกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเข้าไป "คลุกวงใน" แต่หลังบ่ายเป็นต้นมาเริ่มเห็นนักข่าวลงคลุกคลีกับมวลชนมากขึ้น

    (4) เทคโนโลยีข่าว
    ไม่เด่นมากนัก เพราะไม่ใช่สถานการณ์วิกฤติลำยากมากนัก ม็อบกุมพื้นที่ในเมืองหลวง
    แต่เทคโนโลยีข่าวขนาดเล็ก เช่นรายงานสดผ่านกล้องและโทรศัพท์มือถือ หรือเครือข่าย 3จี ถูกนำมาใช้อย่างโดดเด่น ภาพไม่ชัด เสียงกระตุก แต่ยังพอได้น้ำได้เนื้อสาระอยู่ ยิ่งบางช่อง ใช้นักข่าวตะลุยลากกล้องเลื้อยลอดเข้าไปในฝูงชน ชวนหวาดเสียวตื่นเต้น
    แต่บางช่อง บอกตรงๆ แค่โฟนอิน ภาพไม่มาให้เห็น - อาจเป็นเพราะยากลำบาก
    ที่แน่ๆ มีหลายช่อง ใช้โซเชี่ยลมีเดียโดดเด่น รายงานข่าวผ่านทวิตเตอร์เดิมอย่างไม่ขาดสาย
    โดยเฉพาะสายข่าวหนังสือพิมพ์ กดรีเฟรชหน้าไทม์ไลน์ตลอดเวลา!

    ที่น่าสนใจคือ มีการใช้ภาพข่าวมุมสูง คือ โดรน หรือ เฮลิคอปเตอร์ หรือภาพถ่ายจากตึกมุมสูง
    ช่วยลดการคาดคะเนจำนวนผู้ชมุนุมไป ลดการขัดแย้งที่ไม่จำเป็น


    (5) การสรุปข่าว
    เห็นนักข่าวแต่ละช่อง พูดรายงานสรุปข่าวด้วยลีลาภาษาเร้าใจมากขึ้น พูดเร็ว พูดเร้า เหมือนจะหายใจไม่ทัน แต่โดยรวม นักข่าวภาคสนามเตรียมตัวมาดี - สั้น กระชับ แตกต่างจากคราวก่อน ที่ดูจะติดๆ ขัดๆ ตะกุกตะกัก

    ที่สำคัญ เริ่มเห็นนักข่าวรุ่นพี่ รุ่นอาวุโส เปิดหน้ารายงานข่าวด้วยตนเองมากขึ้น - ขอชื่นชม

    ด้านนักข่าวในสตูดิโอ ก็พอไหว พอผ่านไปได้
    เพราะเนื้อหาข่าววันนี้อยู่ที่นักข่าวภาคสนามเสียมาก

    (6) มุมภาพข่าว
    โดยรวมเป็นภาพข่าวมุมกว้าง - กวาด ระยะไกล มวลชนดูเล็กนิดเดียว
    มีระยะกลางบ้างเวลาที่ถ่ายลักษณะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กิจกรรม การเดินทางของมวลชน
    มุมมองภาพเด่นขึ้น หลากหลายขึ้น กวาดลึกมากขึ้น

    (7) ความรวดเร็ว
    วันนี้ข่าวทีวีความเร็วพอใช้ แต่ช้ากว่าทวิตเตอร์ที่นักข่าวออนไลน์ฟีดกัน ประมาณครึ่งชั่วโมง ถึง หนึ่งชั่วโมง แต่ละช่อง พยายามกวาดพื้นที่แต่ละจุดให้มากที่สุด

    (8) Vox POP เสียงประชาชนสั้นๆในท้ายข่าว
    แต่ละช่อง ให้เสียงประชาชนในรายงานข่าว แต่ช่วงเช้า ดูเหมือนเน้นหนักไปที่คนที่ไม่เห็นด้วย คัดค้าน เน้นเสียงของคนที่ม่เข้าร่วมชุมนุม
    ข่าวเลยออกมาไม่สมดุลเท่าไร -- เลยบ่ายเที่ยงมาเท่านั้น ถึงมีเสียงของผู้ชุมนุมเพิ่มเข้ามาบ้าง และเริ่มมากในช่วงบ่ายแก่ๆ เป้นต้นมา

    (9) สัมภาษณ์นักวิชาการ
    หลายช่องเอาคำสัมภาษณ์ และเขิญนักวิชาการมาพูดคุยแสดงทัศนะ เพื่อหาทางออก เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ หรือ(บางช่อง) เพื่อใช้นักวิชาการมารุนมตำหนิ ประณามกลุ่มผู้ชุมนุม แล้วแต่ช่อง ไม่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ นักวิชาการซ้ำกันมากพอสมควร!

    (10) สิ่งที่หายไปจากข่าว
    เท่าที่ดู วันนี้ ไม่ค่อยเห็นแต่ละช่องให้เสียง สัมภาษณ์แกนนำสักเท่าไร มีบ้างบางช่องเดินตามเดินสัมภาษณ์ ส่วนนายกรัฐมนตรี และแกนนำรัฐบาล ไม่ค่อยเห็นในข่าวสักเท่าไร อาจเพราะมีนโยบายไม่ให้ข่าว ปิดเงียบ หรืออะไรก็ไม่ทราบได้

    ตามนั้น หรือเห็นต่าง ตามใจท่าน!

"ยอดส่งเสริมลงทุนอีสานตอนบนปี 57 ทรุด เหตุขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทกระทบทั้งระบบ"..

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอีสานตอนบนปีงูเล็กทรุด ยอดรวมส่งเสริมทั้งปีแค่ 45 โครงการ วงเงินลงทุน 13,047 ล้านบาท เผยยอดโครงการลดลงกว่า 36% มูลค่าเงินลงทุนลดกว่า 52% เหตุขึ้นค่าแรงงาน 300 บาทกระทบต้นทุนผลิต จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี ยังเด่นนักลงทุนแห่ตั้งโรงงาน เชื่อภาวะส่งเสริมการลงทุนปี 57 ยังทรงตัวจากปัจจัยการเมืองไม่นิ่ง 

วันนี้ (13 ม.ค.) น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ปี 2556 บีโอไอภาค 3 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,047 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่อนุมัติทั้งสิ้น 71 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 27,076 ล้านบาท ยอดการลงทุนลดลง 36.62% เงินลงทุนลดลง 51.81%

สาเหตุที่ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน เนื่องจากปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาจากพิษค่าแรง 300 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนผลิตและค่าครองชีพสูง ขาดแคลนแรงงาน ทั้งภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว กระทบภาคการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่ผันผวน ที่สำคัญความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไว้ก่อน

ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ พบว่า ไม่ได้ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐาน แรงงานอีสานที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังคงทำงานอยู่โรงงานเดิม จากความคุ้นเคยในการทำงาน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานเชื่อว่าโรงงานที่ส่วนกลางให้สวัสดิการดีกว่าโรงงานในต่างจังหวัด

โดยโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติปี 2556 ส่วนใหญ่ตั้งสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดขอนแก่นได้รับส่งเสริม 14 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,568 ล้านบาท รองลงมาคือจ.อุดรธานีได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 11 โครงการแต่มีมูลค่าลงทุนถึง 6,537 ล้านบาท และกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมมากที่สุดเป็นประเภทเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 19 โครงการ เงินลงทุน 7,006 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบริการและสาธารณูปโภค 13 โครงการ มูลค่าลงทุน 5,230 ล้านบาท

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กำลังได้รับความสนใจมาก เฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 มีผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมถึง 36 โครงการเงินลงทุน 7,306 ล้านบาท จ้างงาน 669 คน กระจายไปในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสานตอนบน จากศักยภาพของพื้นที่ ที่มีทรัพยากรด้านพลังงานทดแทนจำนวนมาก รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แล้วขายให้การไฟฟ้าในรูปผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โดยมีเงินสนับสนุนให้และได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

น.ส.รัตนวิมล กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในปี 2557 ว่า คาดว่าจะทรงตัว ปัจจัยหลักจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น รวมถึงปัญหาราคาวัตถุดิบ ค่าแรงขั้นต่ำ ภัยธรรมชาติ การระบาดของโรคในสัตว์เลี้ยงและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปและอเมริกา

ด้านนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญกระทบการลงทุนในภาคอีสาน จุดที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า อาจต้องคืนถิ่นฐานกลับไปพัฒนาประเทศตนเอง อาจซ้ำเติมปัญหาแรงงานยิ่งขึ้น ในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย หรืออาจนำเครื่องจักรมาปรับใช้ในการผลิต เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนปี 57 น่าจะลดลง หากการเมืองจบเร็ว น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งมีการผลักดันร่วมกันมาและมีนักลงทุนเอกชนของจีนมาลงทุนที่ ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น บนเนื้อที่ กว่า 4,000 ไร่ ขณะนี้ขั้นตอนการยื่นเอกสารทุกอย่างครบหมดแล้วเหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จะเกิดขึ้นที่จ.ขอนแก่นอย่างแน่นอน เพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน

http://astv.mobi/AV7PPQV
4

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ :ข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง : ข้อเสนอที่มองไม่เห็นหัวคน


ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ โดยในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ และได้มีการสมัครรับเลือกตั้งเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปเป็นส่วนใหญ่ คงมีบางเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง และมีข้อเรียกร้องจากบุคคล องค์กร หน่วยงาน และสถาบันบางแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้มีการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป โดยอ้างปัญหาเกี่ยวกับการจัดการการเลือกตั้ง และมีกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการขับไล่รัฐบาล ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อน ซึ่งเป้าหมายก็คือ การต้องการให้อำนาจนอกระบบเข้าแทรกแซงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญขึ้น และดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปสู่ระบอบการปกครองที่ตนมุ่งประสงค์นั้น 

เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ และขาดเหตุผลความชอบธรรมอย่างยิ่ง ดังที่จะได้ชี้ให้เห็น ดังต่อไปนี้ 

๑. การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๘ กำหนดให้กระทำเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปภายในไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันและไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวไว้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ โดยที่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นการคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจแสดงเจตจำนงทางการเมืองตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย จึงเท่ากับว่าบัดนี้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจกำลังรอคอยที่จะใช้อำนาจของตนอยู่ในวันที่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่องค์กรใดๆ ในการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ให้เลื่อนวันเลือกตั้ง ทั้งๆที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้นเลยได้ การเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ทั้งๆที่ยังไม่เกิดการเลือกตั้งขึ้น หรือมีปัญหาใดๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง จึงเป็นการเรียกร้องหรือเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีที่รักษาการอยู่ในขณะนี้กระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย การเสนอให้คณะรัฐมนตรีกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเช่นนี้ เป็นการเสนอที่ไร้ความรับผิดชอบ 

๒. มีผู้กล่าวอ้างว่าหากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในวันเลือกตั้ง หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆขึ้น ก็จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง ดังนั้นการเลื่อนการเลือกตั้งเสียตั้งแต่ขณะนี้จึงเหมาะสมถูกต้องแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวเป็นข้ออ้างที่อำพรางความต้องการที่แท้จริง คือ ความต้องการที่จะขับไล่คณะรัฐมนตรีรักษาการและการตั้งคณะรัฐมนตรีนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง หากถึงวันเลือกตั้งแล้วมีเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถไปออกเสียงลงคะแนนได้ ไม่ว่าจะเป็นการจลาจล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นใด เจ้าหน้าที่ที่จัดการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจประกาศการงดลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๘ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสามารถกระทำได้ตามเหตุที่กฎหมายกำหนดซึ่งต้องพิจารณาเป็นหน่วยเลือกตั้งไป ไม่ใช่เอาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นมีขึ้นในวันเลือกตั้งหรือวันที่ใกล้เคียงกันก่อนวันเลือกตั้ง และอาจเกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยเลือกตั้งนั้นมาเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งประเทศออกไป 

๓. นอกเหนือที่อาจเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบแล้ว ยังมีผู้กล่าวอ้างเช่นกันว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ นั้น อาจเป็นโมฆะด้วยเหตุผลต่างๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลที่ในบางเขตเลือกตั้งไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ผู้เขียนเห็นว่าการไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้นั้นเป็นความรับผิดชอบของ กกต. เพราะ กกต.ไม่ขยายระยะเวลาการสมัครรับเลือกตั้งออกไป ทั้งๆที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมาอ้างให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ หลังจากการเลือกตั้งหากปรากฏว่าเขตเลือกตั้งใดยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนครบจำนวนในภายหลัง ในกรณีที่ยังไม่สามารถเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ คณะรัฐมนตรีรักษาการย่อมีความชอบธรรมที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป 

๔. มีข้อสังเกตว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากที่ยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้วในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งในฐานะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการนานเกินไป ดังนั้นผู้ที่เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งทั้งหลาย พึงสำเหนียกไว้ด้วยว่า หากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ก็เท่ากับว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการก็จะต้องอยู่รักษาการนานต่อไปด้วย จนกว่าคณะรัฐมนตรีคณะใหม่ที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ 

ด้วยเหตุนี้ ความพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง ความพยายามให้เลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป จึงเท่ากับการยอมให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องอยู่ในตำแหน่งนานต่อไปเช่นกัน หากผู้ใดเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่ให้คณะรัฐมนตรีรักษาการต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ (ซึ่งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญรองรับให้กระทำได้) หรือแม้ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรักษาการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่ภายในใจต้องการเช่นนั้น ข้อเสนอเช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเสนอที่เรียกว่า “เอาแต่ได้” เป็นข้อเสนอที่น่าชิงชังรังเกียจ เพราะผู้เสนอมองไม่เห็นหัวของผู้คนจำนวนมหาศาลที่รักสันติภาพ เคารพความแตกต่างในระบอบประชาธิปไตย และต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามวิถีทางของอารยะชน ไม่ใช่วิถีทางของอันธพาล..."

ตกหลุมพรางตัวเอง

นายชูวิทย์ กมุลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสผ่านเฟสบุ๊ค ชูวิทย์ I'm No.5 ว่า

///
วันนี้ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ปรากฎว่าได้ผลเกินคาด เพราะถนนโล่ง การจราจรคล่อง ไปไหนสะดวกรถไม่ติด ทั้งๆที่เป็นวันทำงาน ไม่ใช่วันหยุด

หากยังชัตดาวน์อย่างนี้ต่อไป ผู้รับเคราะห์หนักคือประชาชน ตั้งแต่พ่อค้าแม่ขายไปยันเด็กนักเรียน เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยน บิดเบี้ยวให้ผิดแปลกแตกไปจากเดิม 

แต่ไม่มีผลกระทบใดๆต่อรัฐบาล

ถ้าเกิดเลือกตั้งขึ้นจริงๆ พรรคประชาธิปัตย์เดินตกหลุมพรางที่ตัวเองและคุณสุเทพขุดเอาไว้ เมื่อไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ปิดได้ปิดไป ชุมนุมได้ชุมนุมไป คนเดือดร้อนคือประชาชน ไม่ใช่รัฐบาล ไม่ใช่ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ทักษิณ ยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน จะมีม็อบใหม่มาประท้วงม็อบเก่า หรือประท้วง เพื่อประท้วง คนที่ประท้วง

คุณสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์บินสูง และมองไกลเกินไป จนลืมคนที่อยู่ข้างล่าง ว่านี่เป็นธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ที่ห่วงเรื่องปากเรื่องท้องมากกว่าล้มระบอบทักษิณ

ผมแปลกใจจริงๆ ที่คนมาบอกว่าผมจะไปร่วมกับคุณสุเทพหากม็อบนกหวีดชนะ แต่ดันไม่มีใครบอกคุณอภิสิทธิ์ให้ออกมาชัดๆ เดินเคียงข้างคุณสุเทพ ช่วยถือถุงรับเงินบริจาคจากประชาชน เลิกกล้าๆกลัวๆเสียที เพราะหากคุณสุเทพชนะ คนที่ดีใจที่สุดต้องเป็นคุณอภิสิทธิ์

คุณสุเทพอยู่ในสภาฯมา 35 ปี ไม่ได้ปฏิรูป แม้แต่พรรคที่เคยสังกัด ก็ยังปฏิเสธแนวทางการปฏิรูปพรรคตัวเอง แต่ด้วยเวลาเพียง 70 กว่าวัน จะให้รัฐบาลลาออก เลิกเลือกตั้ง ยอมปฏิรูป เปลี่ยนโฉมประเทศใหม่ ไร้คอรัปชั่น การเมืองบริสุทธิ์ยุติธรรม ตำรวจไร้บ่อนไร้ส่วย ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อย่างชื่อเต็มของ กปปส. หากทำได้จริง อย่าว่าแต่ไปร่วมเป่านกหวีดเลยครับ

ให้ผมขายบ้านขายรถ แล้วไปกราบตีนคุณสุเทพงามๆสามทีผมก็ยอม ใครอยากเชื่อก็เชื่อไปเถอะครับ สติสัมปชัญญะผมยังดีอยู่


ศาลปค.สูงสุดยังไม่ได้รับเชิญถก15มค.ปมเลื่อนลต.

โฆษกศาลปกครองสูงสุด ระบุ ยังไม่ได้รับหนังสือจากรัฐบาล เชิญหารือปมเลื่อนเลือกตั้ง 15 ม.ค. ขอดูก่อนเข้าร่วมหรือไม่

นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล ระบุว่า จะเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมาหารือในวันที่ 15 ม.ค.นี้ รวมถึงศาลปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย ว่า ตนเพิ่งทราบข่าวจากสื่อมวลชน โดยยังไม่มีการประสานใดๆ ทั้งด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษรมาจากฝ่ายใด ขณะที่เรื่องการจัดเลือกตั้งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับศาลปกครอง หากจะมีคงเป็นเรื่องของคดีความที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องกัน ดังนั้นหากจะมีการประสานจากรัฐบาล หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต). ที่จะให้ร่วมประชุมพูดคุย คงต้องให้ออกมาเป็นหนังสือราชการ และผู้ที่จะพิจารณาคือ ผู้บริหารของศาลปกครอง ขณะนี้ยังตอบอะไรไม่ได้

นปช.ปราศรัยใหญ่4จังหวัดวันนี้ ค้านปิดกรุง

นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า นปช.เดินขบวนรณรงค์เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57 และคัดค้านการปิดกรุงเทพ ของม็อบกปปส.วันนี้(13ม.ค.)

จากนั้นในช่วงเย็นวันนี้เวลาประมาณ 16.00 น.จะจัดเวทีปราศรัยใหญ่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย เวที จ.เชียงใหม่ มีนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช.เป็นผู้ปราศรัย, เวที จ.ขอนแก่น มีนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นำปราศรัย, เวที จ.อุบลราชธานี มีนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.นำปราศรัย และเวที จ.อยุธยา มีตนและนายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกนปช.เป็นผู้ดำเนินการปราศรัย ที่สนามกีฬาอยุธยา

ภาพรวมการมอนิเตอร์สื่อโทรทัศน์ ในการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.13/1/57

สรุปภาพรวมการมอนิเตอร์สื่อโทรทัศน์ ในการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส. ในวันที่ 13 ม.ค. 57 ในช่วงเวลา 10.30-16.00 น.

ฟรีทีวี

- ช่อง 3 เน้นรายงานสถานการณ์ชุมนุม ในรายการข่าวตามผังปกติและรายการพิเศษ ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การชุมนุม ผลกระทบเรื่องการจราจร และเศรษฐกิจ 

- ช่อง 5 นำเสนอสถานการณ์การชุมนุมในรายการข่าวตามผังปกติ รายงานสถานการณ์ทั่วไปไม่เจาะลึก และมีปริมาณน้อย แต่พบว่ามีจอแทรกด้านล่าง เป็นระยะๆ

- ช่อง 7 เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุม ในรายการข่าวตามผังปกติและรายการพิเศษ เน้นการรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. และผลกระทบเรื่องการจราจร มีจอแทรกด้านล่าง เป็นระยะๆ

- ช่อง 9 เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมในรายการข่าวตามผัง มีทั้งการรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. และ กลุ่ม นปช. มีจอแทรกด้านล่าง เป็นระยะๆ

- ช่อง 11 เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมในรายการข่าวตามผังและรายการพิเศษ เน้นการรายงานเรื่องผลกระทบการจราจรเป็นหลัก

- ช่อง TPBS เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมในรายการข่าวตามผังและรายการพิเศษ มีทั้งการรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. และ กลุ่ม นปช. รวมถึงการให้ข้อมูล/วิเคราะห์สภาพการจราจร เป็นช่องเดียวที่พบว่ามีการสัมภาษณ์ผู้ชุมนุม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

ทีวีดาวเทียมช่องข่าว

- ช่องเนชั่น เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมในรายการข่าวตามผังและรายการพิเศษ มีการสัมภาษณ์ผู้ร่วมรายการเพื่อหาทางออก สลับกับการรายงานสดอย่างต่อเนื่อง

- ช่องสปริงนิวส์ เน้นการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวและบรรยากาศการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ในจุดต่างๆ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. ในต่างจังหวัด และผลกระทบของการชุมนุมที่มีต่อการจราจรและเศรษฐกิจ

- ช่อง TNN เน้นการเกาะติดสถานการณ์การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เน้นความเคลื่อนไหว และบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. พบว่ามีทั้งการสัมภาษณ์ผู้ร่วมรายการเพื่อหาทางออกของปัญหาสลับกับการรายงานสด เน้นการให้ข้อมูลและการวิเคราะห์สภาพการจราจร

‪#‎มีเดียมอนิเตอร์‬ ‪#‎เกาะติดการรายงานข่าวชุมนุม‬ ‪#‎ฟรีทีวี‬ ‪#‎ทีวีดาวเทียม‬


แบบจำลอง 5 วง โมเดลในการทำสงคราม


แบบจำลอง 5 วง เป็นโมเดลที่ใช้ในการทำสงคราม กล่าวคือเปรียบเทียบการยากในการเข้าถึง โดยวงในสุดจะเข้าถึงได้อยากที่สุด และหากเข้าถึงได้การที่จะมีชัยชนะก็จะมีมากกว่า โมเดลดังกล่าว บอกว่าวงที่ยากในการเข้าถึงมากที่สุดเรียงลำดับ ได้ดังนี้
1. ผู้นำ – Leadership ซึ่งหมายถึงผู้นำรัฐ หรือผู้นำหน่วย ตราบใดจับได้คือจบ
2. สิ่งจำเป็น – System Estentials หมายถึง ยุทธภัณฑ์ ยุทโธปกรณ์และเสบียงที่ใช้ในการทำสงคราม
3. สาธารณูปโภค – Infrastructures เช่นช่องทางการสื่อสาร ไฟฟ้าถนน หนทาง
4. พลเมือง – Population คือมวลชนที่สนับสนุนในการที่จะทำการปกครอง
5. กำลังทหาร – Military คือส่วนที่จะดำรงค์สถานะความเป็นรัฐชาติและความมั่นคง

The Five Rings include:
1.Leadership / ยังดูดีนายกฯสบายๆ และตปท.หนุนสุดๆ
Organic
2.System Essentials/Key Production // ระบบการเดินทางเฉพาะในกทม.ติดขัดระยะสั้นไม่เคยยาวนานกว่าสองวัน ส่วนภาคการผลิด/เกษตร/อาหารยังไม่ได้รับผลกระทบ
3.Infrastructure / ไฟฟ้า ประปา การบิน ท่าเรือ ทีวี อินเตอเนท น้ำมัน / ยังโอเค
4.Population / มวลชนมหาประชางงหายงงแล้ว / เสื้อขาว / ลูกโป่งขาว / เหนืออีสานประชากรมากกว่าครึ่งปท.
5.Fielded Military Forces / ตำรวจ Ok / ทหาร ปท.มหาอำนาจส่งสัญญานโดยตรงถึง ผบ.สส./ทบ.

MV นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (กบฏ ร.ศ.๒๓๒)



นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (กบฏ ร.ศ.๒๓๒)
robinhood nine ได้ทำคลิปMV  นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ (กบฏ ร.ศ.๒๓๒)เผยแพร่ในยูทูฟเมื่อ 7 ม.ค. 2014 โดยระบุว่า

ผมทำ MV นี่ เสร็จตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.57 แต่ก็ยังไม่ได้อัปโหลดเสียที ด้วยเพราะเสียงทักท้วงจากมิตรที่หวังดี สรุปหลักๆ มี 2 ข้อที่กังวลกัน

บ้างก็ว่า เนื้อหาดูรุนแรงไป ดูเหมือนให้รู้สึกเเกลียดตำรวจ อาจขัดกับแนวทางของแกนนำการชุมนุม ต่างชาติจะมองว่าเป็นการชุมนุมที่มีการใช้­ความรุนแรง

บ้างก็ว่า เพลงประกอบหลักเป็นของวง "น้าแอ๊ด" อาจขัดใจมิตรสหายหลายท่านที่ต่อต้านกันอยู­่
แต่อย่างไรเสียก็ต้องขอบคุณมิตรรักทุกๆ ท่าน ที่ได้ให้คำแนะนำด้วยความหวังดี

สุดท้าย..คนที่ปลุกความกล้าให้กับผม ก็ดันกลายเป็นเจ้าลูกชายตัวน้อยอายุ 7 ขวบที่คงรำคาญกับอารมณ์สับสนของผม ซึ่งเขาได้รับผลกระทบจากการที่ผมไม่ค่อยมี­อารมณ์พาเขาไปซื้อขนมได้บ่อยๆ เลยเอาคำพูดที่ผมเคยสอนเขามาย้อนกลับเข้าใ­ห้บ้างว่า " พ่อจะกลัวไปทำไม ในเมื่อใจเราบริสุทธิ์ และคนที่ได้
ประโยชน์ ไม่ใช่เรา แต่เป็นส่วนรวม "
เอ้ออออออ...ใช่เน้อะ....เลี้ยงมาไม่เปลือ­งนมกล่องจริงๆ เจ้าลูกคนนี้..

สุธา ยิ้มประเสริฐ: รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องยืนหยัด


หลังจากเห็นวันแรกของการปิดกรุงเทพฯแล้ว ผมมั่นใจว่า ฝ่ายคุณสุเทพ เทอกสุบรรณ ไม่มีวันชนะได้แน่นอน เพราะการยกระดับการต่อสู้ของพวกเขา ก่อปัญหาใหม่หลายอย่างเช่น 

เมื่อเปิดเวทีหลายเวที ค่าใช้จ่ายต่อวันจะเพิ่มหลายเท่าตัวกลายเป็นภาระทางการเงินมหาศาลที่ต้องแบกรับ
การกระจายกำลังคนและพล่ากำลังคน ดังนั้น ยิ่งชุมนุมหลายแห่งเป็นเวลาหลายวัน กำลังคนจะเหนื่อยอ่อน และถ้าคนลดลงจะส่งผลกระทบต่อกำลังใจ
ถ้าแบกรับไม่ไหวแล้วลดถอยมาเหลือเวทีเดียวอย่างเดิม จะเป็นความความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์
ยิ่งชุมนุมหลายวันจะยิ่งขัดแย้งกับชาวบ้านกรุงเทพมากขึ้น สถานการณ์ของม็อบจะตึงเครียด เสี่ยงต่อการถูกโจมตี เพราะม็อบเป็นเป้าเปิด แต่ถ้าลงทุนสร้างป้อมค่ายจะเสียเงินเพิ่มอีก และเป็นอุปสรรคแก่ประชาชนที่จะมาชุมนุม
ดังนั้น ปัญหาไปตกอยู่บนบ่าของฝ่ายคุณสุเทพมากยิ่งกว่าฝ่ายรัฐบาล ขอเพียงแต่คุณยิ่งลักษณ์อย่าถอดใจ ถอยด้วยวิธีการอันไม่เข้าท่า หรือไปยอมจำนนกับศาล กกต. หรือองค์กรอิสระให้ม็อบสุเทพชนะ โดยยอมเลื่อนเลือกตั้ง เป็นต้น ให้คิดว่า ถอยหรือยอมครั้งนี้ ประชาธิปไตยจะเสียหาย บ้านเมืองพินาศ การสนับสนุนของประชาชนคนเสื้อแดงและชาวบ้านต่างจังหวัดจำนวนมากจะไร้ความหมาย และจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ชีวิตคนเสื้อแดงจะต้องเซ่นสังเวย
ถ้าหากทหารจะยึดอำนาจปล่อยให้เขาทำ เพราะความชอบธรรมไม่มีเลย จะกลายเป็นการรัฐประหารอันน่าอับอาย เพราะเป็นการยึดอำนาจเพื่อช่วยคุณสุเทพ นานาชาติจะไม่รับ ให้เตรียมตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพราะรัฐประหารกับฝ่ายสุเทพจะพังแน่
บอกกันฉันมิตรอย่างนี้่ครับ

เกษียณ : โต้พิรุณ ฉัตรวณิชกุล ว่าด้วยงานแนวร่วมกับความรุนแรง


๑) ในฐานะอดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คุณพิรุณย่อมทราบดีว่าแนวร่วมมีความเห็นต่างภายใน ไม่ได้ตรงกันหมด เมื่อมีจุดร่วมก็ร่วมกัน ข้อต่างก็ถกเถียงโต้แย้งกันต่อ พยายามแลกเปลี่ยนความเห็นกันและกันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนพคท.จะไม่ค่อยเข้าใจข้อนี้ งานแนวร่วมของพคท.จึงล้มเหลวมาตลอดไม่ใช่หรือครับคุณพิรุณ?

๒) เครือข่ายฯคัดค้านความรุนแรงทุกรูปแบบ หากรัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี ๕๓ เราก็คัดค้าน หากผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่แบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกปสส.บุกปิดล้อมสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของกกต. เราก็คัดค้าน อันนี้ชัดเจน

แต่หากผู้ชุมนุมละเมิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรงเข้าล่วงละเมิดสิทธิในร่างกายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือกระทำต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความรุนแรงเข้าระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าวหรือป้องกันตนเองโดยควรแก่เหตุ เราย่อมคัดค้านความรุนแรงทั้งหมดนั้นแหละครับ แต่เราคงมุ่งคัดค้านไปที่ความรุนแรงที่เป็นมูลเหตุเป็นสำคัญ และเน้นให้ฝ่ายรัฐใช้กำลังระงับยับยั้งหรือป้องกันตนเองเท่าที่ควรแก่เหตุ

ท่าทีแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลหรือครับคุณพิรุณ? คุณพิรุณมีข้อแนะนำอย่างไรเป็นรูปธรรมครับ? ช่วยบอกที นอกเหนือจากยกประเทศให้กปปส.ไปปฏิรูปตามใจชอบโดยไม่ผ่านมติเห็นชอบของคนไทยเจ้าของประเทศและไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ?

พิรุณ ฉัตรวนิชกุล:"2 เอา 2 ไม่เอา"


โดนจริงๆครับ โดนโห่นะ ฮากันตรึม ใครหนอเป็นฝ่ายครีเอทีฟให้ หนึ่งคือภาษาที่ใช้ ฟังไม่สุภาพเลย เหมือนตอนนายกฯพูดว่า "เอาอยู่"แล้วในที่สุดก็"เอาไม่อยู่" 
คราวนี้ท่านนักปราชญ์ทั้งหลาย"เอาใจ"นายกฯหรือไงครับ แต่ผมว่ายังไงก็ "เอาไม่อยู่" 

สองคือโลโก้ที่ใช้ สร้างความสับสนครับ ผิดกาละเทศะ อาจผิดพรบ.การเลือกตั้งที่นับถือบูชากันนักโดยไม่ตั้งใจ 2บน 2ล่าง ตรงกับวันเลือกตั้งที่เจาะจงต้องเลือกวันนี้กันให้ได้ จะหัวเด็ดตีนขาดก็เลื่อนไม่ได้(กลุ่ม ดร.พวงทอง) ถ้าใช้เป็นโปสเตอร์รณรงค์แนวคิดไปทั่ว จะไปก่อกวนให้การรณรงค์กาบัตรดีบัตรเสียของกกต.วุ่นวาย เพราะบัตรดีต้องกากบาทเท่านั้น กาเครื่องหมายถูกเป็นบัตรเสีย กาทั้งสองเครื่องหมายยิ่งแย่เลย ผลอีกประการคือ โลโก้นี้เป็นผลเสียต่อพรรคถิ่นกาขาวและผู้สมัครที่ได้หมายเลข 2 ผู้ใช้สิทธิ์อาจกาถูก กาผิด ทำให้บัตรเลือกตั้งเสีย พรรคถิ่นกาขาวฟ้องร้องเครืิอข่าย 2เอา 2 ไม่เอาได้ครับ 

สามคือเนื้อหาหลักที่สำคัญๆถูกบิดเบือนโดยเฉพาะเมื่อมาสรุปสั้นๆว่า "เอา" "ไม่เอา" เช่น"เอาการเลือกตั้ง"ฟังดร.พวงทองคือต้องเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภา เลื่อนไม่ได้เด็ดขาด แต่ดร.สมเกียรติบอกถ้าเลื่อนได้ก็ดี อย่ายึดกฎหมายตายตัวจนไม่ยืดหยุ่นถ้าเห็นๆอยู่ว่าจะเกิดหายนะ แต่ประเทศไทยเราต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งประการนี้ ผมไม่เห็นว่า "2เอา"กับ"มวลมหาประชาชน"จะขัดแย้งอะไรกัน ฝ่ายหลังก็ประกาศชัดเจนว่าต้องมีการเลือกตั้ง แถมเลือกมากกว่าเดิมคือจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย 

เพราะฉะนั้น "เอาเลือกตั้ง"เห็นตรงกัน ที่ขัดกันคือ กลุ่มดร.พวงทองเห็นตามรัฐบาลว่าต้องเลือก 2 กุมภา แต่มวลมหาประชาชนให้เลือกหลัง 2 กุมภา ขอปฏิรูปก่อน กลุ่ม"2เอา"ที่เห็นผ่อนปรนตามมวลมหาประชาชนก็คงมี ขอให้มีช่องทางเจรจากันได้บ้าง 

แต่การนำเสนอผ่านสื่อ ความเห็นเกือบจะเป็นแนวของกลุ่มดร.พวงทองด้านเดียว เนื่องจากสื่อของรัฐและเอกชนอิงชินวัตรจะเสนอแต่"เอาเลือกตั้ง 2 กุมภา" 

ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ ต้องการติงว่า การใช้"เอา" "ไม่เอา"สั้นๆ ทำให้ความหมายบิดเบือน และทรรศนะของนักวิชาการบริสุทธิ์จำนวนหนึ่ง จะถูกใช้เป็นเครื่องมือ 

สี่คือไม่แน่ใจว่า"2 เอา 2ไม่เอา จะเอายังไงกันแน่" เครือข่าย"2x2" บอก ไม่เอาการใช้ความรุนแรงทุกรูปแแบบ แต่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์ราษฎรของ2x2เขียนไว้ในมติชนว่า กลุ่มสุเทพกับมวล(มหาประชา)ชน--[วงเล็บตามนิธิ] เป็นพวกอาชญากร เป็นอันธพาลการเมืองและซ่องโจร กระทำเรื่องเลวร้ายกว่าการรัฐประหารของทหาร นิธิจึงแนะยิ่งลักษณ์ว่า รัฐจะเจรจากับอาชญากรไม่ได้ "คุณยิ่งลักษณ์ต้องใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งโดยผ่านกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผ่านการใช้กองกำลังทั้งหมดของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บล้มตายที่ไม่จำเป็น(ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำอยู่อย่างเหมาะสมในวันที่ 28ธ.ค.)" 

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดเป็นของนิธิคำต่อคำครับ นิธิยังย้ำอีก "แม้ต้องใช้มาตราการแข็งกร้าวก็ตาม (โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น)" และ "หากจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงเด็ดขาดก็ต้องใช้ (แต่อย่าทำเกินกว่าเหตุ)" "2x2" เห็นว่า ที่นิธิยุยงยิ่งลักษณ์ทั้งหมด ไม่ใช่ความรุนแรงหรือครับ ตกลงจะเอาหรือไม่เอาความรุนแรงครับ ดร.ที่มีชื่อระดับโลกหลายท่านที่เชิดชูสันติ อหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรงใน2x2 เห็นด้วยกับนิธิหรือครับ "ไม่เอาความรุนแรง"คือความปราณีในวงเล็บว่า(โดยระวังมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายเกินกว่าที่จำเป็น) กับ(อย่าทำเกินกว่าเหตุ)หรือครับ ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายเท่าไหร่ครับ จึงไม่เกินกว่าเหตุ ไม่เกินร้อย ไม่เกินพัน หรืออย่าให้เกินห้าพันนะ เดี๋ยวพวกโลกสวยจะตกใจ เอาไงดีครับ "ไม่เอาความรุนแรง"เป็นแค่วาทกรรมอำพรางใช่ไหมครับ "2 ไม่เอา" ทำไมถึงอำมหิตโหดเหี้ยมจังครับ

"สถาปนา ทภ.1 ไร้เงาวงศ์เทวัญ “บิ๊กตู่” ติดดูชุมนุม มทภ.1 พร้อมฟัง ไม่เน้นปราบ ปชช."..

งานสถาปนากองทัพภาค 1 ค่อนข้างเงียบไร้เงา สามพี่น้องสายวงศ์เทวัญ ผบ.ทบ.ติดถก 5 เสือทบ.เกาะติดชุมนุม มทภ.1 ย้ำทำตาม ผบ.ทบ. เห็นใจมรสุมแยะ ย้ำอยู่ข้าง ปชช. ขออย่าคาดเดาปฏิวัติ มีอะไรให้คุยกัน ซัดไม่เหมาะปลุกระดมจับลูก ผบ.ทบ. เผยมีหน้าที่ดูแลที่ราชการ จัดปฐมพยาบาล ปชช.40 กองร้อยช่วนรัฐเพียงพอ ลั่นไม่เน้นปราบ ปชช. 

วันนี้ (13 ม.ค.) ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานในงานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบรอบ 104 ปี โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้บังคับบัญชาระดับสูงในสังกัดกองทัพภาคที่ 1 เดินทางมาร่วมงาน อย่างไรก็ตาม บรรยากาศภายในงานค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ต่างไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ยกเลิกการเดินทางมาเป็นประธานในพิธีอย่างกะทันหัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมปิดกรุงเทพร่วมกับนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพบกอยู่ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.)

โดย พล.ท.ธีรชัย ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของกองทัพภาคที่ 1 ต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า กองทัพภาคที่ 1 ทำตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ พวกเรากำลังพลในกองทัพภาคที่ 1 เห็นใจ ผบ.ทบ.ที่ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากต่อมรสุมต่างๆ กองทัพภาคที่ 1 และกำลังพลมีความเข้าใจในเจตนาและการตกลงใจของท่านทุกอย่างว่า ท่านจะตกลงใจไปในทางที่ถูกต้องและกำลังพลของกองทัพภาคที่ 1 พร้อมจะปฏิบัติตาม โดยเราอยู่เคียงข้างประชาชน

เมื่อถามว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปฏิวัติ กองทัพภาคที่ 1 พร้อมดำเนินการใช่หรือไม่ พล.ท.ธีระชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เลิกพูดกันได้แล้ว ขอยืนยันว่ากำลังพลของกองทัพภาคที่ 1 และตน เชื่อมั่นการตกลงใจของ ผบ.ทบ.ทุกกรณี ท่านยืนอยู่บนความถูกต้องและตัดสินใจถูกต้องแล้ว เมื่อถามย้ำว่า หากจำเป็นที่ ผบ.ทบ.ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปฏิวัติ พล.ท.ธีรชัยกล่าวว่า ตนไม่ใช่หมอดู ส่วนความเป็นไปได้ในการปฏิวัตินั้นอย่าเพิ่งไปคาดเดาเพราะยังไม่มีใครคิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะนี้อยากให้มองว่าเราทุกคนมาช่วยเหลือกัน เพราะคนไทยทุกคนไม่อยากให้มีการทะเลาะกัน เราพูดภาษาเดียวกัน มีอะไรขอให้คุยกัน อย่าต้องให้มีเรื่องมีราวกัน ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนพยายามปลุกระดมให้จับตัวลูกสาวของ ผบ.ทบ.หากปฏิวัตินั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

เมื่อถามว่า กองทัพภาคที่ 1 ให้นโยบายกำลังพลในการเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมอย่างไร พล.ท.ธีรชัยกล่าวว่า ผบ.ทบ.ได้สั่งการและมอบนโยบายไว้ชัดเจน ในฐานะที่กองทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติ เราเข้าไปดูแลรักษาสถานที่ต่างๆ พร้อมจัดชุดปฐมพยาบาลเพื่อบริการประชาชนหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ส่วนกำลังทหาร 40 กองร้อยที่ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ถือว่าเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติม โดยเน้นให้ดูแลสถานที่ ช่วยเหลือและทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่เน้นการปราบปราม เพราะเรายืนอยู่กับประชาชน นอกจากนี้ กองทัพภาคที่ 1 ยังดูแลในส่วนของ 26 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที 1 ด้วย เมื่อถามว่า หากสถานการณ์มีความรุนแรงและมีการใช้อาวุธจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.ธีระชัยกล่าวว่า ผบ.ทบ.ได้สั่งเตรียมการไว้หมดแล้ว ในทุกกรณีทุกปัญหา

http://astv.mobi/AYjXEip


แถลงข่าว เครือข่าย "สองเอา สองไม่เอา" 10-01-14


เสกสรรค์ ประเสริฐกุล : ‘ผมคิดว่าในเวลานี้สังคมไทยของเรากำลังเดินอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟ เราควรจะต้องมีสติ ไม่อนุญาตให้ตัวเองพลัดตกลงไปในหล่มหลุมที่มิอาจกลับคืนมาได้ สิ่งที่เราต้องฝากความหวังไว้เพียงอย่างเดียวคือ สติและปัญญา ในเวลานี้สภาพของบ้านเมืองเหมือนกับว่ากลไกของรัฐไปกันคนละทิศละทาง ประชาชนทั่วๆ ไปรู้สึกว้าเหว่เหมือนไม่มีคนคุ้มครอง ซึ่งถ้าเลยขั้นนั้นไป ถึงขั้นประชาชนจะต้องป้องกันตัวเอง มันก็จะเป็นเรื่องน่ากลัว ผมคิดว่าสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีอย่างยิ่งคือสติและปัญญาที่จะถอยห่างออกจากสถานการณ์อันตรายเหล่านี้...’

" พิชิต" ชี้ม็อบกปปส.หวังสร้างจลาจล

"พิชิต"ระบุปิดกรุงเทพฯวันนี้จำนวนคนน้อยกว่าที่คาดไว้มาก รวมประมาณ3หมื่นคน เป็นคนใต้ แต่ช่วงเย็นสลิ่มกรุงเทพเข้าร่วม หวังสร้างจลาจล

นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊คว่า การปิดกรุงเทพฯวันนี้ เริ่มต้นด้วยจำนวนคนที่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก คือรวมทุกเวทีแล้ว ประมาณ 3 หมื่นคน ส่วนใหญ่ขนมาจากภาคใต้ สลิ่มเหลืองกรุงเทพยังเข้าร่วมไม่มาก อาจเป็นเพราะว่า คมนาคมถูกตัดขาด เดินทางเข้ามาไม่ได้ สลิ่มเหลืองกรุงเทพฯที่เข้าร่วมเช้านี้ จึงเป็นพวกที่อาศัยหรีอทำงานใกล้ๆ กับจุดชุมนุมปิดถนน

คาดว่า ช่วงเย็น-ค่ำวันนี้ สลิ่มเหลืองกรุงเทพฯจะเข้าร่วมมากขึ้น น่าจะเป็นช่วง peak แล้ว

จุดหมายของม็อบเทือกคือ สร้างภาวะจลาจลและรัฐบาลล้มเหลว ให้คนกทม.เดือดร้อนอย่างหนักจนทนไม่ไหว ถึงขั้นที่ว่าจะทำอะไรก็ได้ ถูกผิดไม่สนใจแล้ว ขอแค่ให้ม็อบหยุดเป็นใช้ได้ ซึ่งก็คือให้นายกฯลาออกไปซะ เพื่อที่ม็อบจะหยุด และชีวิตกลับคืนปกติ ทำเหมือนปี 51 ที่ม็อบพันธมิตรสร้างความปั่นป่วนถึงขั้นยึดสนามบิน จนคนกทม.ทนไม่ไหว ไม่สนใจถูกผิด อยากให้รัฐบาลนายกฯสมชายไปพ้นๆซะด้วยวิธีไหนก็ได้ ทุกอย่างจะได้จบ

รัฐบาลคงทำได้เพียงปล่อยให้พวกมันยึดท้องถนนไป และคอยป้องกันไม่ให้มีการยึดสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น สนามบิน ศูนย์วิทยุการบิน สถานีดาวเทียม ฯลฯ พยายามยื้อไปให้ถึงเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 และในระหว่างนี้ ก็รอเวลาถูกปปช.หรือศาลรธน.เชือด ตามด้วยการยึดอำนาจโดยทหารไปพลาง

ภาพแยกปทุมวัน ภาพมุมสูงจากหลังเวที กปปส. เวลา 15.38 น.

(@ noppatjak )


"ประวิตร-ประยุทธ์-อนุพงษ์" ยกเลิกร่วมงานสถาปนาทัพภาค 1

วันที่ 13 ม.ค.57 ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานงานวันสถาปนากองทัพภาคที่ 1 ครบรอบ 104 ปี โดยมีพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีตผบ.ทบ. และผู้บังคับบัญชาระดับสูงสังกัดกองทัพภาคที่ 1 มาร่วมงาน อย่างไรก็ตามบรรยากาศงานค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. ไม่ได้เดินทางมาร่วมงาน

ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ยกเลิกเดินทางมาเป็นประธานในพิธีอย่างกะทันหัน เพราะติดภารกิจร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การชุมนุมปิดกรุงเทพฯ ร่วมกับนายทหารระดับ 5 เสือกองทัพบก ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์(ร.1รอ.)

พล.ท.ธีรชัย ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนกองทัพภาคที่ 1 ต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า กองทัพภาคที่ 1 ทำตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ กำลังพลกองทัพภาคที่ 1 รู้สึกเห็นอกเห็นใจผบ.ทบ.ที่ต้องใช้ความอดทนอย่างมากต่อมรสุมต่างๆ กองทัพภาคที่ 1 และกำลังพลเข้าใจในเจตนา และการตกลงใจของท่านทุกอย่างว่า ท่านจะตกลงใจไปในทางที่ถูกต้องและกำลังพลของกองทัพภาคที่ 1 พร้อมปฏิบัติตาม โดยเราอยู่เคียงข้างประชาชน

เมื่อถามว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปฏิวัติ กองทัพภาคที่ 1 พร้อมดำเนินการใช่หรือไม่ พล.ท. ธีระชัย กล่าวว่า เรื่องนี้เลิกพูดกันได้แล้ว ขอยืนยันว่ากำลังพลของกองทัพภาคที่ 1 และตน เชื่อมั่นการตกลงใจของผบ.ทบ.ทุกกรณี ท่านยืนอยู่บนความถูกต้องและตัดสินใจถูกต้องแล้ว เมื่อถามย้ำว่าหากจำเป็นที่ ผบ.ทบ.ต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการปฏิวัติ พล.ท.ธีรชัย กล่าวว่า ตนไม่ใช่หมอดู ส่วนความเป็นไปได้ในการปฏิวัตินั้น อย่าเพิ่งไปคาดเดา เพราะยังไม่มีใครคิด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขณะนี้อยากให้มองว่าเราทุกคนมาช่วยเหลือกัน คนไทยทุกคนไม่อยากให้มีการทะเลาะกัน เราพูดภาษาเดียวกัน มีอะไรขอให้คุยกัน อย่าต้องให้มีเรื่องมีราว ส่วนกรณีมีกลุ่มคนพยายามปลุกระดมให้จับตัวลูกสาวของผบ.ทบ.หากปฏิวัตินั้น ถือเป็นการกระทำไม่เหมาะสม

เมื่อถามว่ากองทัพภาคที่ 1 ให้นโยบายกำลังพลในการเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมอย่างไร พล.ท.ธีรชัย กล่าวว่า ผบ.ทบ.สั่งการและมอบนโยบายไว้ชัดเจน ในฐานะที่กองทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ปฏิบัติ เราเข้าไปดูแลรักษาสถานที่ต่างๆ พร้อมจัดชุดปฐมพยาบาล เพื่อบริการประชาชน หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ส่วนกำลังทหาร 40 กองร้อยที่ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ถือว่าเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติม โดยเน้นให้ดูแลสถานที่ ช่วยเหลือและทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่เน้นการปราบปราม เพราะเรายืนอยู่กับประชาชน นอกจากนี้กองทัพภาคที่ 1 ยังดูแลในส่วนของ 26 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 ด้วย

เมื่อถามว่าหากสถานการณ์รุนแรงและมีการใช้อาวุธจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.ธีระชัย กล่าวว่า ผบ.ทบ.ได้สั่งเตรียมการไว้หมดแล้วในทุกกรณีทุกปัญหา


เบื้องหลัง”ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”ปรับแผนเปลี่ยนกุนซือชิงเสนอ พ.ร.ฎ.สภาประชาชน

เบื้องหลัง”ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”ปรับแผนเปลี่ยนกุนซือชิงเสนอ พ.ร.ฎ.สภาประชาชน โต้จุดตาย “ไม่จงรักภักดี” ฝ่าย”สุเทพ”ดิ้นระดมเงิน-ปัญญาชน-กองเชียร์วีไอพี สู้ศึกครั้งสุดท้าย

12 มกราคม 2014

ทุกโครงสร้างอำนาจ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-กองทัพ องค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปอย่างทั่วด้าน ที่เห็นต่างมีเพียงเรื่อง
ระยะเวลา ก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เท่านั้น

หากนับเฉพาะประเด็น “ปฏิรูป” ถือว่ากลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในนามของเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เคลื่อนไหวสำเร็จทั้งการมีส่วนทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องเรื่องการปฏิรูป และเกิดผลทางการเมืองทำให้ฝ่ายเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง



หากจะนับผลงานของฝ่าย กปปส. ในรอบ 70 วัน มีไม่น้อยกว่า 5 ประเด็นหลัก อาทิ 1. ทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องยุบสภา 2. ทำให้รัฐบาล-พรรคเพื่อไทยถอนกฎหมายนิรโทษกรรมออกจากวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3. ทำให้ฝ่ายเพื่อไทยถอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม-กฎหมายปรองดอง รวม 5 ฉบับ พ้นจากระเบียบวาระที่รอบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 4. รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา แม้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระแล้ว แต่ต้องกราบทูลฯ ขอพระราชทานคืนจากการทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไทย 5. ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เพราะการร้องเรียนของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์

ไม่นับรวม “ผลทางอ้อม” ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดย กปปส. ที่ขับเคลื่อนคู่กับพรรคระชาธิปัตย์ ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย ต้องกลับบ้านมือเปล่า อาทิ 1. ไม่สามารถผลักดันกฎหมายการกู้เงิน 2
ล้านล้านให้มีผลบังคับใช้ได้ 2. ไม่สามารถผลักดันกฎหมายการกู้เงินเพื่อลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง 3.5 แสนล้านได้ 3. ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามที่หาเสียงไว้

เบื้องหลังการเดินทาง 70 กว่าวันของ “ม็อบสุเทพ” มีการบัญชาการและการร่วมจัดการหลายฝ่าย
ฝ่ายแรก คือ กองกำลัง-กองเงิน ในฝ่ายนี้ มีทั้งกลุ่มฐานเสียงที่ขนเงินมาบริจาคบนเวทีราชดำเนิน และกลุ่มนักธุรกิจขาใหญ่ในเมืองไทย นักธุรกิจรายย่อย ที่เปิดหน้าจ่ายต้นทุนเป็นเงินสด บางรายจ่าย
เป็นงวด บางรายจ่ายแบบกระแสรายวัน บางรายจ่ายผ่านนอมินีหน้าเวที

แต่การร่วมจ่ายต้นทุนจากทุกฝ่ายก็ไม่เพียงพอต่อการจัดการการเคลื่อนไหวที่ครบเครื่องครบสูตรทั้งการตลาด-การเมืองด้วยตัวเลขที่ต้องจ่ายวันละ 5-10 ล้านบาท ดังนั้น ฝ่ายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ต้องควักทุนของตระกูลมาร่วมจ่าย จึงมีโฉนดที่ดินของนายสุเทพแปลงหนึ่งในพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ถูกนำมายั่วน้ำลายเศรษฐีใหญ่ย่านสีลมให้ช่วยซื้อ ข่าววงนอกบอกเจ้าสัวรายนั้น
ปฏิเสธไม่กล้ารับซื้อที่ดินร้อน แต่ข่าววงในบอกเจ้าสัวแบ่งรับ-แบ่งสู้

ฝ่ายที่สอง กองกำลังปัญญาชน ในกลุ่มนี้มีนักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ที่เปิดหน้าขึ้นเวที เช่น ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ, ดร.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และเครือข่าย กลุ่มที่ไม่เปิดหน้า แต่ช่วยค้นหาข้อเสนอและแกะปมเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ,ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ และในช่วงที่นายสุเทพอยู่ระหว่างการรับข้อเสนอปัญญาชนเพื่อจัดทำ “สภาประชาชน” ในห้องประชุมที่สนามม้านางเลิ้ง ก็มี ศ.ธีรยุทธ บุญมี ปรากฏตัวอยู่ด้วย

ในกลุ่มนี้ มีบุคคลระดับ “ทนายเทวดา” อย่างนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ปรากฏตัวร่วมเป็นกำลังใจเกือบทุกค่ำคืน และร่วมคิดค้นประเด็น ข้อกฎหมาย ในการเปิดเกมรุกเรื่องกฎหมาย ทั้งการเปิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ควบคู่มาตรา 7 และการอ้างถึงมาตรา 113 ที่จะเป็นเครื่องมือในการทะลุไปถึงการแต่งตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหาร ของสภาประชาชน

ที่สำคัญ ยังมีกลุ่มนักกฎหมายมหาชนระดับ “พญาครุฑ” ที่ไม่เปิดหน้า แต่เปิดตำรากฎหมาย ให้คำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ส่วนตัว และเตรียมการอย่างเงียบๆ ตั้งรับและรุกในเหตุการณ์ทีเด็ด ทีขาด ที่ต้องการตัวช่วยทางกฎหมาย

ฝ่ายที่สาม กองกำลังตัวช่วยวีไอพี มีทั้งนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้ง “พี่เมีย” นายสุเทพ และผู้ที่เคยร่วมปฏิบัติการพิเศษ-สัญญาณพิเศษในการ “ตั้งผบ.ตร.” ยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จนนายนิพนธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อสังเวยการไม่ตอบรับ “สัญญาณพิเศษ” แต่การณ์ครั้งนี้นายนิพนธ์ต้องรับบทหนักกว่าคราวก่อน เพราะนายสุเทพมีพันธมิตรระดับที่ “เข้าถึง” ร่วมวงอยู่ด้วยหลายคน ดังนั้น สัญญาณพิเศษจึงมีหลายระดับ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้กลยุทธ์ตั้งรับ และใช้ยุทธวิธีชิงพื้นที่ข่าวแบบวันต่อวัน และบางเหตุการณ์ใช้ปฏิบัติการตอบโต้แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ภายใต้กองกำลังสนับสนุน ดังนี้

กองกำลังแรก เป็นฝ่ายทีมตึกไทยคู่ฟ้า ที่ร่วมปฏิบัติการตอบโต้ กปปส. ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการ “ถอนตัว” และการ “เปลี่ยนตัว” โดยทุกตัวเล่นเป็นการเลือกจาก “คนที่สูงที่สุดในหมู่คนเตี้ย” เลือกจากทีมรองนายกรัฐมนตรี เช่น ครั้งแรกจะใช้บริการ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวหลักใน ศอ.รส. แต่ พล.ต.อ.ประชาขอถอนตัวอย่างไม่เป็นทางการ เพราะกลัวถูกม็อบไปล้อมบ้านพักตัวเอง

จากนั้นมีการเสนอชื่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี แต่ทีมตึกไทยคู่ฟ้าประเมินแล้วว่า ท่าทีของนายพงษ์เทพเหมือนไม่ค่อยอยากร่วมสู้ในศึกที่โหดร้าย ตาต่อตา ฟันต่อฟัน จึงข้ามชื่อนี้ไป

ชื่อต่อมาคือนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี แต่ชื่อนี้ไม่ผ่านการประเมินรอบแรก เพราะท่าทีที่ชอบพูดตอบโต้รุนแรง ชอบเปิดสงครามกับทุกฝ่าย ทำให้เสียแผนการ จึงไม่ถูกหยิบขึ้นมาใช้งานในภาวะฉุกเฉิน

จึงมีการเลือกนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้ามาแทน เพราะคุณสมบัติที่ “รับฟัง-พร้อมรับใช้-ให้บริการ” จากทั้งนายกรัฐมนตรีในเมืองไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

กองกำลังที่สอง เป็นกองกำลังฝ่ายกฎหมาย ที่มอบหมายให้นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหมายเลขหนึ่ง อย่างเป็นทางการ โดยมีกองกำลังหนุนจากฝ่ายกฎหมายที่พรรคเพื่อไทย คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส่วนมือกฎหมายที่เคยมีบทบาทในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างนายโภคิน พลกุล ถูกเก็บไว้ในกรุชั่วคราว

กองกำลังที่สาม เป็นทีมเฉพาะกิจ ที่มีการเซ็ตขึ้นเพื่อต่อสู้ในโลกโซเชียลมีเดียอย่างเป็นระบบ เพื่อปฏิบัติการ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่ง ตอบโต้ แก้ไข ให้ข้อมูล กรณีข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดี” ด้านที่สองยืนยันว่าฝ่ายเพื่อไทยต่อสู้ภายใต้ระบบประชาธิปไตย

ทีมงานชุดนี้ เตรียมออกแคมเปญ “รัฐบาลแห่งการปฏิรูป” และ “เลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป” ในเร็วๆ นี้

กองกำลังที่สี่ เป็นกองกำลังซูเปอร์คอนเนกชัน ในกลุ่มนี้ จะปฏิบัติการเชื่อมความสัมพันธ์กับ “คนที่เข้าถึง” ผู้มีบารมีตัวจริงในเมืองไทย ในกรณีที่ต้องออกกฎหมาย หรือตราพระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ทั้งการเลือกตั้ง และเตรียมการสำหรับการรองรับอุบัติเหตุทางการเมืองทุกรูปแบบ

ในฝ่ายนี้ มีบางชื่อ บางคน ที่ติดต่อกับฝ่ายนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ในภาวะฉุกเฉิน

ปฏิบัติการนี้ แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยอ้างถึงชื่อนายวัฒนา เมืองสุข ที่เคยรับงานเคลื่อนไหวเรื่อง “ปรองดอง” และการ “ปฏิรูป” โดยใช้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคง
(คมช.) เป็นผู้เสนอกฎหมายให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว

ข้อวิเคราะห์ปมปัญหาการเมือง ที่ทีมนอกตึกไทยคู่ฟ้ารวบรวมส่งถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 7 ข้อ คือ 1. มีการใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ และประธานสภาผู้แทนคุมเกมการเมืองไม่ได้ 2. นโยบาย
รับจำนำข้าว ไม่เฉพาะเรื่องปัญหาการระบายสต็อก แต่มีปัญหาชาวนาไม่ได้รับเงิน ทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยม 3. มีการจัดการพรรคด้วยคนในตระกูล “ชินวัตร” เท่านั้น ไม่มีการกระจายอำนาจ 4. เครือข่ายในพรรค มีการแต่งตั้งข้าราชการ แล้วอ้างว่าเป็นคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ 5. ไม่มีการแก้ข้อกล่าวหาเรื่องคุกคามสถาบัน 6. การให้กรรมการบริหารพรรคตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่ยอมรับอำนาจศาล เป็นก้าวที่พลาดที่สุด ที่ไปโจมตีกรรมการตัดสินคดีการเมือง เพราะแม้โจมตีอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้พลิกคดีกลับมาได้ 7. กลุ่มคนเสื้อแดงในพรรคเพื่อไทยขาดเอกภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในการนี้ ได้แนบข้อเสนอ-ทางออกไปด้วย 3 ข้อ คือ 1. ให้ปรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคใหม่ เพื่อกระจายอำนาจในพรรค 2. แต่งตั้งคนการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกพรรค เพื่อเป็นทีมเจรจา-ประนีประนอมบางปัญหา เช่น เจรจากับคนในกองทัพ ผู้มีบารมีนอกกองทัพ 3. หากถึงเวลาที่ถูกกดดันเรียกร้องจนถึงที่สุด ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้คนในตระกูล “ชินวัตร” รับความเสี่ยงทางการเมือง ควรมอบอำนาจให้ผู้อาวุโสทางการเมืองที่เป็นเครื่อข่ายของอดีตพรรคร่วมรัฐบาลไปทำการแทน

ทั้งทีมกุนซือฝ่ายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างเดินทางมาถึงจุดที่อันตราย ล่อแหลม ต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่มีใครคาดคิดได้ ว่าหากฝ่ายนายสุเทพชนะ การจัดการโครงสร้างอำนาจทั้งหมดจะเป็นอย่างไร และหากฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณชนะ การกำหนดเกมระยะต่อไปจะเป็นเช่นไร

ฝ่ายของนายสุเทพมีคำตอบไม่ยาวนัก แต่มีนัยคือ จะมีฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ 8-15 เดือน

ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและนางสาวยิ่งลักษณ์ ร่วมกันให้คำตอบผ่านกุนซือ คือ จะเป็นรัฐบาลแห่งการปฏิรูป ไม่มีการพิจารณาโครงการลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น และจะพยายามทูลเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาตั้ง “สภาประชาชน” ตามข้อเสนอของ 19 องค์กร เพื่อสรุปแนวทางการปฏิรูปประเทศภายใน 12 เดือน

โดย 19 องค์กรดังล่าวประกอบด้วย 1. ตัวแทน 7 องค์กรภาคเอกชน 2. สมัชชาปฏิรูป 3. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 4. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 5. มูลนิธิการส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย 6. สถาบันพระปกเกล้า 7. ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล 8. มวลมหาประชาคุย 9. สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 10. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 11. ขบวนองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป 12. มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค 13. มูลนิธิชีววิถี 14. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม 15. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 16. เครือข่ายจังหวัดจัดการตนเอง 17. สสส. และ 18. Center for Humanitarian Dialogue 19. กลุ่ม 2 เอา 2 ไม่เอา

วันที่ 13 มกราคม 2557 เป็นต้นไป “คำตอบ” จากทั้ง 2 ขั้วการเมืองจะชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เมื่อ “คำถาม” จากทุกขั้วการเมือง ทุกฝ่ายที่ไม่สังกัดกลุ่มอำนาจการเมือง ดังขึ้น สว่างขึ้น ชัดเจนขึ้น จากทั่วทุกสารทิศ