PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

"ยอดส่งเสริมลงทุนอีสานตอนบนปี 57 ทรุด เหตุขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาทกระทบทั้งระบบ"..

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอีสานตอนบนปีงูเล็กทรุด ยอดรวมส่งเสริมทั้งปีแค่ 45 โครงการ วงเงินลงทุน 13,047 ล้านบาท เผยยอดโครงการลดลงกว่า 36% มูลค่าเงินลงทุนลดกว่า 52% เหตุขึ้นค่าแรงงาน 300 บาทกระทบต้นทุนผลิต จังหวัดขอนแก่น-อุดรธานี ยังเด่นนักลงทุนแห่ตั้งโรงงาน เชื่อภาวะส่งเสริมการลงทุนปี 57 ยังทรงตัวจากปัจจัยการเมืองไม่นิ่ง 

วันนี้ (13 ม.ค.) น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ปี 2556 บีโอไอภาค 3 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 13,047 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 ที่อนุมัติทั้งสิ้น 71 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 27,076 ล้านบาท ยอดการลงทุนลดลง 36.62% เงินลงทุนลดลง 51.81%

สาเหตุที่ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน เนื่องจากปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาจากพิษค่าแรง 300 บาท/วัน ทำให้ต้นทุนผลิตและค่าครองชีพสูง ขาดแคลนแรงงาน ทั้งภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว กระทบภาคการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่ผันผวน ที่สำคัญความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไว้ก่อน

ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงงานที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ พบว่า ไม่ได้ทำให้แรงงานเคลื่อนย้ายกลับถิ่นฐาน แรงงานอีสานที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ยังคงทำงานอยู่โรงงานเดิม จากความคุ้นเคยในการทำงาน รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานเชื่อว่าโรงงานที่ส่วนกลางให้สวัสดิการดีกว่าโรงงานในต่างจังหวัด

โดยโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติปี 2556 ส่วนใหญ่ตั้งสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดขอนแก่นได้รับส่งเสริม 14 โครงการ มูลค่าลงทุน 3,568 ล้านบาท รองลงมาคือจ.อุดรธานีได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 11 โครงการแต่มีมูลค่าลงทุนถึง 6,537 ล้านบาท และกลุ่มที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมมากที่สุดเป็นประเภทเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร 19 โครงการ เงินลงทุน 7,006 ล้านบาท รองลงมาเป็นประเภทบริการและสาธารณูปโภค 13 โครงการ มูลค่าลงทุน 5,230 ล้านบาท

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กำลังได้รับความสนใจมาก เฉพาะไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 มีผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริมถึง 36 โครงการเงินลงทุน 7,306 ล้านบาท จ้างงาน 669 คน กระจายไปในพื้นที่ต่างๆของภาคอีสานตอนบน จากศักยภาพของพื้นที่ ที่มีทรัพยากรด้านพลังงานทดแทนจำนวนมาก รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แล้วขายให้การไฟฟ้าในรูปผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โดยมีเงินสนับสนุนให้และได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

น.ส.รัตนวิมล กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในปี 2557 ว่า คาดว่าจะทรงตัว ปัจจัยหลักจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น รวมถึงปัญหาราคาวัตถุดิบ ค่าแรงขั้นต่ำ ภัยธรรมชาติ การระบาดของโรคในสัตว์เลี้ยงและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของยุโรปและอเมริกา

ด้านนายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ ที่ปรึกษาประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญกระทบการลงทุนในภาคอีสาน จุดที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า อาจต้องคืนถิ่นฐานกลับไปพัฒนาประเทศตนเอง อาจซ้ำเติมปัญหาแรงงานยิ่งขึ้น ในอนาคตโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานน้อย หรืออาจนำเครื่องจักรมาปรับใช้ในการผลิต เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนปี 57 น่าจะลดลง หากการเมืองจบเร็ว น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวซึ่งมีการผลักดันร่วมกันมาและมีนักลงทุนเอกชนของจีนมาลงทุนที่ ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น บนเนื้อที่ กว่า 4,000 ไร่ ขณะนี้ขั้นตอนการยื่นเอกสารทุกอย่างครบหมดแล้วเหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น มั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมสีเขียว จะเกิดขึ้นที่จ.ขอนแก่นอย่างแน่นอน เพื่อให้การพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างยั่งยืน

http://astv.mobi/AV7PPQV
4

ไม่มีความคิดเห็น: