PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

เดือดก่อนเลือกตั้ง! ‘แรมโบ้’ แฉภูมิใจไทยซื้อเสียง ป้องอย่าสาดโคลนใส่คสช.

เดือดก่อนเลือกตั้ง! ‘แรมโบ้’ แฉภูมิใจไทยซื้อเสียง ป้องอย่าสาดโคลนใส่คสช.

เดือดก่อนเลือกตั้ง! เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ก.ย. ที่สำนักงานกกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ประธานกลุ่มรักแผ่นดินบ้านเกิด พร้อมชาวบ้านในเขต อ.ครบุรี และอ.เสิงสาง จำนวน 40 คน ได้มายื่นร้องเรียนผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและขอให้ยุบพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่อนายศิริชัย วิริยพงศ์ ผอ.กต.จว.นครราชสีมา
นายสุภรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนถึงพฤติการณ์ของนายพรชัย อำนวยทรัพย์ สมาชิกสภาอบจ.นครราชสีมา เขต 2 อ.ครบุรี และว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต พรรคภท. และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล หรือกำนันป้อ ประธานกรรมการ บริษัท แป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ฝ่าฝืนจงใจกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขัดคำสั่งคสช. ห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1.จ้างอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม) เก็บบัตรประจำตัวประชาชน โดยให้ค่าตอบแทนรายละ 50-100 บาท อ้างนำไปสมัครสมาชิกพรรคและหลอกล่อให้ความหวังจะมีค่าตอบแทนให้กับเจ้าของบัตรภายหลัง โดยอสม.ที่เก็บบัตรให้นำมาแลกเงินที่โรงแป้งมันเอี่ยมเฮง อ.เสิงสาง และร้านอาหารต้นยางปลาเผา อ.ครบุรี
2.นำชาวบ้านในพื้นที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด เพื่อหาเสียงให้กับตนเองและพรรค ภท. จึงมาร้องเรียนให้ กกต.นครราชสีมา สอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อลงโทษตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดและสั่งยุบพรรคภท.
จากนั้นนายสุภรณ์ โชว์หลักฐานการเก็บบัตรประจำตัวประชาชน รายชื่อผู้ที่ถูกเก็บบัตร ภาพถ่ายและคลิปนำชาวบ้านอ.ครบุรี และอ.เสิงสาง ไปเที่ยวเพื่อหวังผลทางการเมือง พร้อมกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุด ช่วงสายวันนี้ ได้นัดอสม.และประธานชมรมแม่บ้านในเขต ต.ลำเพียก และต.โคกกระชาย อ.ครบุรี มารับเงินค่าตอบแทนเก็บบัตร ที่ร้านอาหารต้นยางปลาเผา ตั้งอยู่ทางเข้าเทศบาลตำบลแชะ อ.ครบุรี
ขณะนี้ทั้ง อสม.และประธานชมรมแม่บ้าน แย่งกันเก็บบัตร ซึ่งมีแรงจูงใจให้ผลตอบแทน 50-100 บาท ถือเป็นรายได้ที่ดีมาก จนเกือบจะมีเรื่องวิวาทกัน ฝากชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตาให้ข้อมูลทุจริตการเลือกตั้ง มิเช่นนั้นบรรยากาศจะกลับไปสู่วังวนเดิมอีก
นายสุภรณ์ กล่าวถึงนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ระบุเกี่ยวกับการเก็บบัตรในพื้นที่โคราชมาว่า อย่าสาดโคลน ดีใส่ตัวชั่วใส่คนอื่น ทั้งที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง อ้างเบื้องหลังการเก็บบัตรใส่ร้าย คสช.และนายกฯ รวมทั้งสิ่งดีๆ ที่ชาวบ้านได้จากโครงการประชารัฐ
ต่อมาเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสืบสวนสอบสวน กกต.นครราชสีมา ได้เชิญนายสุภรณ์ และชาวบ้านให้ข้อมูล เพื่อนำไปเป็นพยานหลักฐานประกอบสำนวนเพิ่มเติม ด้านนายศิริชัย ผอ.กต.จว.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่มีผลบังคับใช้
แต่กกต.กลาง ให้นโยบายว่าให้ดำเนินการตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. มาตรา 22 วรรคสอง ซึ่งมีอำนาจ ควบคุม กำกับดูแลและสอดส่องหรือสืบสวนหาข่าว เพื่อป้องกันและขจัดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆ อันจะก่อให้เกิดความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง รวมถึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานสืบสวนลงพื้นที่แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อรายงาน กกต.กลางต่อไป

มั่นใจผบ.เหล่าทัพใหม่

“บิ๊กป้อม” มั่นใจ และ มั่นคง 

ไม่ได้มั้นใจ แค่”บิ๊กแดง”ผบ.ทบ.คนใหม่ คนเดียว ในการดูแลตวามสงบเรียบร้อย แต่มั่นใจ ผบ .เหล่าทัพใหม่ ทุกคน ยันเลือกมาแล้ว มีทั้งความสามารถ อาวุโส เหมาะสม

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ตอบคำถามที่ว่า มั่นใจใน พลเอกอภิรัขต์ คงสมพงษ์  ผบ.ทบ.คนใหม่ ในการดูแลความสงบเรียบร้อย ในนาม ผบ.กกล.รส. คนใหม่ หรือไม่ ว่า   มั่นใจใน ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ ทั้งหมด เพราะดูมาแล้วว่า เขามีความสามารถ มีอาวุโสและเหมาะสมทุกเหล่าทัพมั่นคง และ มั่นใจได้ แล้วเขาสนิทสนมกันทุกเหล่าทัพ ทั้งผบ.สส.ผบทบ.ผบ.ทร, ผบ.ทอ. เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง

ยังไม่รู้

“บิ๊กป้อม” ท่าทีเปลี่ยน!! ไม่ปฏิเสธ จะช่วยงาน บิ๊กตู่ ต่อ หากเป็นนายกฯอีกสมัย.... บอก” ไม่รู้ ไม่รู้”.

จากที่เคยประกาศว่า จะวางมือทางการเมือง หลังหมดเทอม คสช.

“บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร พี่ใหญ่ ประกาศหนุน”บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อ  ฝ. เพื่อทำงานต่อให้จบ  ปัดตอบ  เป็นห่วง บิ๊กตู่หรือไม่  ไปทำงานกับนักการเมือง เชื่อนายกฯเป็นผู้นำ สามารถคิดเองได้ 

แต่ไม่พูด อนาคตทางการเมืองของตัวเอง ว่า จะมาช่วย นายกฯต่อหรือไม่ บอก! ยังไม่รู้ๆ“

อนาคตการเมืองลุงตู่

ตกใจ!! เจอ รอยยิ้ม ของ “นายกฯบิ๊กตู่”

เมื่อเช้าว่า ใส่เสื้อสีขมพูหวาน แต่หน้าไม่ยิ้ม !!!  บ่ายนี้ “นายกฯลุงตู่” เลย  ส่งยิ้มมมม  มาเลยยยย !!Good!! 

วันนี้ นายกฯ นิ่งๆ ยังไม่ตอบตัดสินใจอนาคตทางการเมืองอย่างไร ในกย.นี้ เผย ให้ รอกม.ลูก  และ ให้มีการปลดล็อค ก่อน  โดยจะพิจารณาสถานการณ์ในตอนนั้น ว่า จะอยู่ต่อ หรือไม่ 

“วันนี้รู้ตัวอยู่แล้ว ว่าจะต้องเจอคำถามใด คำถามแรกที่สื่อถามว่านายกฯจะตัดสินใจทางการเมืองหรือยัง แนวโน้มจะเป็นอย่างไร ขอตอบว่า เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว และเมื่อมีคำสั่ง ม.44 คลายล็อคพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ จากนั้นขั้นตอนต่อไป คือการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่จะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โดยสถานการณ์ในช่วงนั้น จะเป็นผลในการตัดสินใจของตน ว่าจำเป็นต้องอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ  หรือด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าจำเป็น แล้วจะเป็นได้อย่างไร ซึ่งจะตัดสินใจอีกครั้งในสถานการณ์ช่วงนั้น เพราะวันนี้คงตอบได้เท่านี้ 

ทั้งนี้ ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชน นำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูป และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว นี่คือคำตอบของตน ดังนั้น ขอร้องอย่าถามบ่อยนัก  เพราะวันนี้ยังไปไม่ถึงไหนเลย

นิวส์โน้ต : ‘บิ๊กแดง’เลือกนายกฯ

นิวส์โน้ต : ‘บิ๊กแดง’เลือกนายกฯ



มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง 935 นายทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯรับสนองพระราชโองการ
รายชื่อเป็นไปตามบัญชี เหล่าทัพเสนอ ที่ออกมาก่อนหน้านี้
ระดับแม่ทัพไม่พลิก
‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผงาด ผบ.ทบ. ‘บิ๊กณัฐ’ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม
‘บิ๊กกบ’ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส.,
‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ‘บิ๊กต่าย’ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน แม่ทัพฟ้า คุมทหารอากาศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น นายทหารใหญ่ ซุปเปอร์บิ๊ก 5 เสือ
นอกจากภารกิจความมั่นคง ประคองบ้านเมือง คุมเลือกตั้ง เปลี่ยนผ่าน
บิ๊กๆ ทหาร ยังมีบทบาทสำคัญ รัฐธรรมนูญใหม่เขียนประกันเก้าอี้เอาไว้

ล็อกชื่อปลัดกลาโหม ผบ.ทสส. แม่ทัพบก เรือ อากาศ (และผบ.ตร.)
นั่ง ส.ว.ชุดใหม่โดยตำแหน่ง
เป็น ส.ว. ที่มาจากโควต้า คสช. เซ็นตั้งตรง 194+6 เก้าอี้
ที่เหลือนอกนั้น สายอ้อมสรรหา ส่งชื่อเสนอมา ตั้งแท่นให้ ‘บิ๊กตู่’ จิ้มเลือก 50 คน
ส.ว.ชุดแต่งตั้ง ก็อย่างที่รู้กัน กติกาใหม่
250 อรหันต์สภาสูง บวก ส.ส.500 คน รวมเป็น 750 สมาชิกรัฐสภา
มีสิทธิโหวตชี้ขาด เลือกนายกฯ
แม่ทัพนายกองป้ายแดง ทั้งหมดนี้
จึงจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ กุมชะตา จะดันใครนั่งนายกฯ

การคลายล็อกทางการเมือง

การคลายล็อกทางการเมือง



ช่วงปลายเดือนสิงหาฯที่ผ่านมา มีกระแสการเคลื่อนไหวการ “คลายล็อก” ทางการเมืองแทนความคาดหวังของคนหลายคนที่เชื่อว่า “การปลดล็อกทางการเมือง” น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งที่มีแนวโน้มค่อนข้างจะแน่นอนว่าน่าจะประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562
เรื่องใหญ่สองเรื่อง ท่ามกลางหกถึงเก้าเรื่อง (แล้วแต่จะนับและวิเคราะห์) ก็คือเรื่องของการเปิดให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมกับสมาชิกของตนได้ นัยว่าเพื่อเตรียมการเข้าสู่การจัดทำไพรมารี (อธิบายง่ายๆ คือ การสรรหาผู้สมัครแข่งขันการเลือกตั้งในแต่ละเขต ซึ่งน่าจะเป็นขั้นตอนต่อจากการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งพรรคใหม่ทำได้มานานแล้ว แต่พรรคเก่ายังทำไม่ได้) ซึ่งเรื่องนี้ก็เริ่มจะมีกระแสการตั้งคำถามว่าตกลงไพรมารีจะทำได้ไหม ทำได้ทันไหม และจะมีหน้าตาอย่างไร เพราะเกรงกันว่าพรรคใหม่ๆ ที่มีทีท่าว่าจะสนับสนุนระบอบการเมืองที่ดำรงอยู่อาจจะไม่ค่อยพร้อม
เรื่องที่สองที่เป็นข่าวก็คือ การห้ามทำกิจกรรมของพรรคกับประชาชน (แต่ให้ทำได้กับสมาชิกพรรคเท่านั้น) ทั้งการพบปะ และการใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในนามของสมาชิกแต่ละท่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับประชาชนอยู่แล้ว ทั้งนี้เหมือนกับระบอบรัฐประหารที่ยังปกครองประเทศอยู่มองว่า การพบปะกับประชาชน และการใช้สื่อโซเชียลที่ไม่ได้ออกมาในนามพรรคนั้น ถือว่าเป็นการ “หาเสียง” ซึ่งขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น
เรื่องสื่อโซเชียลกับการคลายล็อกทางการเมืองนั้น อาจจะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นด้วยเหตุผลหลายประการ
หนึ่ง สื่อโซเชียลน่าจะมีอิทธิพลสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเรื่องของการต่อสู้กันทางการเมืองและการหาเสียงทางการเมืองที่จะถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ด้วยบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่บางส่วนพยายามออกจากระบอบอำนาจนิยมรัฐประหารที่เป็นอยู่ หรือบางส่วนพยายามที่จะคงลักษณะการครองอำนาจและครองอำนาจนำของระบอบอำนาจนิยมรัฐประหารต่อไป
จากเดิมที่การหาเสียงนั้นแม้ว่าจะโดยทางการแล้วจะเริ่มหลังจากการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ในรอบนี้จะเห็นถึงความยุ่งยากซับซ้อนของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง (ไม่นับถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ลึกซึ้งกว้างขวางกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง) เพราะเดิมนั้นเขาหาเสียงกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เว้นแต่ป้ายหาเสียง และการนับรายจ่ายในการหาเสียงที่ต้องแจ้ง กกต. นั้น จะเริ่มจากช่วงที่ประกาศการเลือกตั้ง
แต่มารอบนี้ นอกจากการหาเสียงแบบที่ไม่เป็นทางการก็ยังทำไม่ได้ ดังนั้นการที่จะใช้สื่อโซเชียลในการหาเสียงนั้นก็คงจะต้องถูกห้ามเช่นกัน
เว้นแต่กลุ่มก๊วนที่พยายามอ้างตัวเองว่าสนับสนุนรัฐบาลนี้ และมีทีท่าที่จะสนับสนุนผู้นำรัฐบาลนี้ และการนำเอานโยบายรัฐบาลนี้อาจจะมีข่าวและหลักฐานเริ่มหลุดมาเรื่อยๆ ว่ามีวิธีการมากมายที่จะหลุดรอดสายตาของการตรวจสอบ หรือบางครั้งสายตาที่ตรวจสอบอาจจะหลับตา หรือพักสายตานานหน่อย
สอง มีความเห็นจำนวนหนึ่งในสังคมมองว่า การที่ระบอบรัฐประหารนั้นพยายามที่จะสอดส่องและคุมเข้มในเรื่องของสื่อโซเชียลนั้น อาจจะเกิดจากสองเหตุผล หนึ่งคือ ตามที่เขาอ้างก็คือ ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกเร็วนัก แต่กลายเป็นคนก็มองว่า อีกไม่กี่เดือนจะเลือกตั้งแล้ว จะกลัวอะไรกันนักหนา
จึงนำมาสู่ความคาดเดาว่า เหตุผลเบื้องหลังจริงๆที่ระบอบนี้ไม่ต้องการให้โซเชียลมีเดียของนักการเมืองทำงานนั้น อาจจะเกิดมาจากการที่ระบอบรัฐประหารนั้น “กลัว” ประชาชนและฝ่ายตรงข้ามที่จะใช้จังหวะนี้โจมตีกลับ หลังจากที่ถูกกดมานาน
เอาเข้าจริงผมก็พอจะคล้อยตามความเห็นทำนองนี้อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ผมกลับรู้สึกว่าแนวคิดแบบนี้มักจะให้ราคากับการต่อต้านระบอบรัฐประหารมากจนเกินไป เอาเข้าจริงระบอบการปกครองที่ถูกท้าทายโดยสื่อโซเชียลนั้น ถ้าสื่อโซเชียลนั้นทำงานจริงและทรงพลังจริงๆ ต่อให้ห้ามอย่างไรก็ไม่สำเร็จหรอกครับ
ถามว่าวันนี้เว็บใต้ดินต่างๆ ไม่มีเหรอครับ การจัดการเว็บต่างๆ ในวันนี้เอาเข้าจริงอาจจะมีหน้าที่ในทางยุทธศาสตร์มากกว่า เช่นเป็นไปเพื่อปิดกั้นไม่ให้เว็บใต้ดินกับเว็บบนดินเชื่อมโยงกัน ในแง่ที่ว่าสื่อกระแสหลักยังไม่กล้าที่จะนำเอาเว็บอื่นๆ เข้ามาอ้างอิงในฐานะแหล่งข่าวตรงๆ เสียมากกว่า แต่ในบางครั้งสื่อกระแสหลักก็กินดีหมีหัวใจเสือเอาเหมือนกัน บทจะลงก็ลงข่าวของคนหลายคนที่ถูกไล่ล่าโดยระบอบที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลว่า ก็มันเป็นข่าวที่ประชาชนสนใจน่ะครับท่าน
ผมจึงอยากให้ความเห็นไปอีกแนวว่า เวลาระบอบเผด็จการเขาออกคำสั่งบางอย่างในการบังคับควบคุม แล้วเราไปมองว่าเขาทำ “ไม่สำเร็จหรอก” มันคือความล้มเหลวที่ออกกฎเกณฑ์มาแล้วปฏิบัติไม่ได้จริง ความคิดที่ดูหมิ่นดูแคลนเผด็จการแบบนี้แหละครับที่หล่อเลี้ยงความหวังของเรา แต่ไม่ใช่ความจริงในแบบที่เผด็จการต้องการ
เพราะระบอบเผด็จการในหลายที่ทั่วโลกนั้น เขาไม่ได้ออกคำสั่งมาเพื่อให้ทำได้จริง แต่เขาออกคำสั่งมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขายังออกคำสั่งได้
การปฏิบัติจริงจะทำได้ไหมไม่ใช่สาระสำคัญที่คนออกคำสั่งจะต้องออกมาคิด มันเป็นปัญหาของฝ่ายปฏิบัติมากกว่า และเมื่อฝ่ายปฏิบัตินั้นอยู่ภายใต้ฝ่ายสั่งการ เขาก็มีหน้าที่ต้องทำให้ได้ และแข่งกันเสนอผลงานให้เข้าตาฝ่ายสั่งการ
รวมไปถึงความมุ่งหมายทางอ้อมที่การสั่งการนั้นอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้บังคับกับคนทุกกลุ่ม แต่อาจมีไว้เพื่อจัดการกับบางกลุ่มบางพวกที่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับตน หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอลง

สาม ผมคิดว่าเราควรจะต้องเข้าใจว่าสื่อโซเชียลนั้นมันมีทั้งประโยชน์และประเด็นท้าทาย โดยตัวของมันเองนั้นมันมีแนวโน้มที่จะเน้นความขัดแย้ง เสนอภาพที่สุดโต่ง แม้ว่ามันจะมีประโยชน์ในหลายด้าน เช่นเปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และ ติดตามตรวจสอบรัฐบาลได้กว้างขวางและลึก โดยเฉพาะในช่วงที่ความชอบธรรมของรัฐบาลตกต่ำลง
ข่าวลือและเรื่องราวที่ถูกส่งออกมาจากสื่อโซเชียลจำนวนมากนั้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลนั้นมีความนิยมลดลง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปกล่าวโทษฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่อาจมาจากความอ่อนแอและล้มเหลวของรัฐบาลเองที่ทำให้ประชาชนนั้นไม่สามารถเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะอาจเป็นเพราะสมรรถนะและประสิทธิภาพของรัฐบาลลดลง หรือการไม่เปิดโอกาสให้ข่าวสารต่างๆ นั้นไหลเวียน
ในด้านหนึ่งนั้นเราอาจจะไม่ไว้ใจให้รัฐบาลนั้นควบคุมสื่อโดยตรง เพราะเราก็ไม่ไว้ใจรัฐบาลเช่นกัน ที่ผ่านมาเราจึงต้องการให้มีองค์กรกลาง และองค์กรอิสระเข้ามากำกับดูแลสื่อ
แต่เมื่อเรื่องราวผ่านไป เราก็เริ่มคลางแคลงใจกับความเป็นกลางและความอิสระขององค์กรเหล่านั้นมากขึ้น
ในมิติเรื่องของการกำกับดูแลสื่อโซเชียลในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เราจะเริ่มตั้งคำถามว่า สังคมนี้ทำไมเริ่มตั้งคำถามกับจิตเจตนาของระบอบนี้ในการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มไม่ได้คาดหวังอะไรมากนักกับองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งมากนัก
น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มรณรงค์การเมืองในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในเรื่องการหาเสียงโดยตรง เพราะนั่นเป็นเรื่องนักการเมือง แต่เริ่มรณรงค์กันในเรื่องของการสังเกตการณ์และกำกับดูแลกระบวนการเลือกตั้งจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐที่เริ่มแสดงท่าทีอยากอยู่ในอำนาจต่อในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และตนเองก็วางรากฐานทางอำนาจต่อเนื่องไปบ้างแล้วในโครงสร้างรัฐธรรมนูญ กลุ่มผู้ที่อยากผนวกตัวเองกับระบอบที่กุมอำนาจ กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ และกลุ่มที่ขาดแคลนอำนาจอีกหลายกลุ่ม
การควบคุมกระบวนการเลือกตั้งในวันนี้เป็นเรื่องที่มีลักษณะคับแคบยิ่ง คือ เน้นไปที่เรื่องของกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมือง ส.ส. ส.ว. และการกำกับการหาเสียง ประชาชนถูกทำให้เข้าใจว่าจะต้องรอให้กระบวนการทุกอย่างเสร็จก่อนจึงจะมีโอกาสเลือกตั้งในช่วงเวลาที่ไม่ยาวนานนัก
ช่องทางของประชาชนที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนว่าเป็นพรรคไหนมีอยู่น้อย รัฐบาลยังเชื่อว่าตนเองนั้นยังผูกขาดการดูแลประชาชนเอาไว้จนนาทีสุดท้ายก่อนกระบวนการการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น และประชาชนไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะยุทธศาสตร์ชาติก็มีไว้แล้ว การเมืองแบบนักการเมืองและการเลือกตั้งก็รอให้พร้อมเสียก่อน ช่วงนี้มีอะไรก็รอรับความช่วยเหลือและเรียกร้องกับศูนย์ดำรงธรรมไปอีกระยะหนึ่ง
อย่าลืมว่าในการเมืองแบบรัฐสภานั้น พรรคการเมืองนั้นไม่ได้เข้มแข็งได้ด้วยกฎระเบียบ แต่ต้องแข็งแกร่งได้จากเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและเปลี่ยนข้อมูล แสดงความคิดเห็นและใฝ่ฝัน และแข็งแกร่งจากการมีกลุ่มก้อนทางการเมืองหลากหลายรูปแบบที่เรียกร้องกับระบบการเมือง เพื่อที่พรรคการเมืองจะมองเห็นและไปรวบรวมแนวทางเหล่านั้นเข้ามาจัดทำนโยบาย นอกจากนี้พรรคการเมืองจะแข็งแกร่งได้ก็ต้องมีสื่อมวลชนที่มีคุณภาพในการตรวจสอบพรรคการเมืองด้วย
แต่ผมยังมองไม่เห็นว่ากระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้นจากวันนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพทางการเมืองของประเทศและของพรรคการเมือง รวมทั้งของสถาบันทางการเมืองอื่่นๆ ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ได้อย่างไร
ที่สำคัญประชาชนควรจะเป็นศูนย์กลางในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มากกว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นเรื่องของกระบวนการบริหารจัดการนักการเมืองและพรรคการเมืองรวมทั้งเสรีภาพในการรวมตัวของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่
ถ้าสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งยังเป็นแบบนี้ ผมยังทำนายอนาคตหลังการเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไรไม่ออกเลยครับ

บทเรียน จากอดีต จอมพล ป.ถึง สุจินดา เทียบ ‘ประยุทธ์’

บทเรียน จากอดีต จอมพล ป.ถึง สุจินดา เทียบ ‘ประยุทธ์’



ทันทีที่เข้าสู่โหมด “เลือกตั้ง” สถานะทางการเมืองของ คสช.และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็อยู่ในสภาพซึ่งเรียกได้ว่า
เป็นการรุกในลักษณะตั้งรับ
เหมือนๆ กับที่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ตัดสินใจจัดตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาและเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500
เหมือนๆ กับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร จัดตั้งพรรคสหประชาไทยและเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512
เหมือนๆ กับที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 และนำประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522
เหมือนๆ กับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะ รสช.ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 และนำประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535
หลังจากนั้นก็เข้าไปอยู่ในสภาพ “ตั้งรับ” อย่างเป็นด้านหลัก
ขอให้ศึกษาบทเรียนจาก จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เพราะภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ก็ประสบกับการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษา
เกิดความขัดแย้ง “ภายใน”
เหมือนกับจะเป็นระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่ม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แท้จริงแล้วเป้าคือ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม
ในที่สุดก็เกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2500
หลังการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร อาจยังอยู่ในอำนาจและยังสามารถทำรัฐประหารได้ในเดือนพฤศจิกายน 2514
แต่พอถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็ต้องไป
หลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 ก็ต้องไป

เช่นเดียวกับสถานะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในเดือนพฤษภาคม 2535
สภาพการตั้งรับของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่มีใครสามารถดำรงอำนาจอยู่ได้อย่างยืนยาว
จอมพลแปลก พิบูลสงคราม จากเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2500
จอมพลถนอม กิตติขจร จากเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2514 และต่อท่ออำนาจด้วยกระบวนการรัฐประหาร
แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2516 ก็อยู่ไม่ได้
พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเดือนเมษายน 2522 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.สุจินดา คราประยูร จากเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2535
สถานการณ์จาก “อดีต” เสมอเป็นเพียง “บทเรียน”
ในความเป็นจริง ภายหลังการเลือกตั้งไม่ว่าภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 จะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครตอบได้
“ประวัติศาสตร์” ก็เสมอเป็นเพียง “เครื่องย้ำเตือน”
หากนำเอาบทเรียนจากยุค จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร มาเทียบกับยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เด่นชัดว่า “โหมด” แห่งการเลือกตั้งเริ่มขึ้นแล้ว
สภาพของ คสช. สภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร ยังเป็นฝ่ายรุกและดำเนินการรุกอย่างสม่ำเสมอ หรือว่าจากรุกก็เริ่มมีการตั้งรับ
เหล่านี้ “นักการทหาร” ย่อมมองออก อ่านทะลุ

สุดท้ายอยู่ที่ ‘บิ๊กแดง’!

สุดท้ายอยู่ที่ ‘บิ๊กแดง’!



ม้วนเดียวจบ รายชื่อขุนศึกในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 แทบทั้งหมดเป็นไปตามที่หนังสือพิมพ์ได้กางโผเสนอข่าวล่วงหน้าเกือบเดือนมาแล้ว
โฟกัสอยู่ที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จ่าฝูงกองทัพบกคนใหม่
ไม่ใช่แค่นั้น ทีมข่าวสายทหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ยังแกะรอยตามไลน์ไปถึงคิวของ “บิ๊กบี้” พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ตท.22 ที่ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เข้าไลน์ขึ้นแท่น 5 เสือ ทบ.
จ่อคิวรับไม้ต่อจาก “บิ๊กแดง” ในอีก 2 ปีถัดไป
สรุปได้ว่า “วงศ์เทวัญ” กลับมากุมดุลอำนาจกองทัพ สลับฉาก “บูรพาพยัคฆ์” ที่ลากยาวมาหลายปี
และมาถึงตรงนี้ พูดได้เลยว่า “บิ๊กแดง” คือบุคคลสำคัญ ในฐานะเบอร์หนึ่งคุมกำลังฝ่ายความมั่นคง
ผู้ควบคุม “ตัวแปร” ไปสู่การเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง
ตามสถานะเบื้องหลังที่รู้กันทั้งวงการ “บิ๊กแดง” คือ “น้องรัก” ของ “พี่ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ที่ใช้งานสำคัญกันมาตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ
ถึงจุดที่ “บิ๊กแดง” คุมกำลัง คุ้มกันหลังให้ “พี่ตู่” แบบเต็มไม้เต็มมือ
ในจังหวะพอดี “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณผ่านการสนทนากับคนใกล้ชิด และมีการเปิดเผยคลิปผ่านโซเชียลมีเดีย เพจ “ROOM.44”
“ผมพอแล้ว โดนด่าพอแล้ว”
ตามแนวโน้มสถานการณ์ภายหลังการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ต่อเนื่องกับอาการป่วยอาหารเป็นพิษในช่วง ครม.สัญจรจังหวัดอุบลราชธานี ถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด
สุขภาพคือจุดสำคัญ “พี่ใหญ่” ไม่เต็มร้อยที่จะไปต่อกับ “น้องเล็ก”
จากท่าทีค่อนข้างชัด “บิ๊กป้อม” จะถอยมาอยู่เบื้องหลัง โดยใช้บารมีที่ยังแน่นปึ้กทั้งในกองทัพและแวดวงการเมือง เป็นตัวช่วยดันหลัง “บิ๊กตู่” ตีตั๋วต่อหลังเลือกตั้ง
ตามรูปการณ์ที่รับรู้ทั้งประเทศ “บิ๊กตู่” ไม่ต้องประกาศสังกัดเป็นทางการ
เพราะชิงเล่นกระแสมาตั้งแต่ “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ “หงายไพ่” ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อ เพราะเป็นคนดี ทำบ้านเมืองสงบ เอื้อต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
โดยสถานการณ์ที่ต่อจิ๊กซอว์ได้ “ลุงตู่–บิ๊กป้อม–จอมยุทธ์กวง” นี่แหละคือ “3 ประสาน” ในยุทธศาสตร์คุมเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศครั้งสำคัญ โดยมี “บิ๊กแดง” เป็นหน่วยคุ้มกัน
วันนี้พอจะเห็นภาพรถไฟขบวนไปต่อของ “นายกฯลุงตู่”
ไล่จาก 250 ส.ว.สรรหา ที่กองไว้เป็นต้นทุนหน้าตัก บวกกับตัวเลขของพรรคพลังประชารัฐ
โฟกัสพรรคแนวร่วม ไล่จากพวกที่มีต้นทุนเก่า ใส่ตัวเลขล่วงหน้าได้ ก็คือพรรคชาติไทยพัฒนา ภายใต้การนำของ “เสี่ยท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะ “พันธมิตรชั้นพิเศษ” ที่ยังยึดแนวทาง “สัจจะ กตัญญู” ของอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา พร้อมชูมือให้ “นายกฯลุงตู่”
ขณะที่ป้อมค่ายที่กำลังตั้งไข่ ลุ้นแจ้งเกิด ก็มีพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขาใหญ่ กปปส. ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ไก่โห่ เช่นเดียวกับพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เปิดหน้าลุ้น “ลุงตู่” ตั้งแต่หัววัน
ยังมีพรรคทวงคืนผืนป่า ที่กำลังเปลี่ยนเป็นพรรค “รักษ์ผืนป่า” ภายใต้การนำของ “เดอะเอี้ยง” นายดำรงค์ พิเดช อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
หมายเหตุ ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ยี่ห้อประชาธิปัตย์ยังไงก็จูบปาก “ทักษิณ” ไม่ได้
นี่คือต้นทุนตีตั๋วต่อของ “นายกฯลุงตู่”
หันไปดูอีกขั้วอำนาจพรรคเพื่อไทย ที่หนีสภาพ “บริษัทจำกัด” ไม่ได้ วนไม่พ้นคนตระกูล “ชินวัตร” ล่าสุด “ลูกเขย” นายใหญ่อย่างนายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ สามี “เอม” พิณทองทา ชินวัตร โผล่มาเป็นแคนดิเดต
“นอมินีรุ่น 3” ยังไม่ชัดจะเป็นใคร แต่ที่ชัดก็คือเกม “แยกกันเดินรวมกันตี”
ถึงตรงนี้เปิดหน้าชัดเจน แนวร่วมยี่ห้อ “ทักษิณ” ทั้งพรรคอนาคตใหม่ของ “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ “นายใหญ่” เคลมตัวเลขล่วงหน้าที่ 40 เก้าอี้
ล่าสุดพรรคประชาชาติที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาฯเป็นหัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นเลขาธิการพรรค เห็นหน้าก็โชว์ยี่ห้อ “ทักษิณ”
แน่นอน เปิดไพ่มาตาแรก ถือว่า “นายใหญ่” กิน “ลุงตู่” ในทางกระแสเลือกตั้ง
แต่ยังต้องลุ้นตาต่อไป เพราะภาพแฝงมันหมิ่นเหม่ความมั่นคง ทั้งปม ม.112 และปมไฟใต้
แล้วมันก็วนไปที่ “บิ๊กแดง” ผู้คุมปัจจัยแปรผันเลือกตั้ง.
ทีมข่าวการเมือง