PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

“สังคมข่าวสารแบบ “ใบเตยธิปไตย?”

ธาม เชื้อสถาปนศิริ, 
==================================
คุณคิดว่าข่าวนักร้องไปทานข้าวกับนักการเมือง เป็นข่าวบันเทิง หรือข่าวการเมือง?
บอกตรงๆ ผมก็ไม่รู้! แต่ที่ผมสนใจคือ “สังคมข่าวสารในแบบ ใบเตยธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร?”


…….
ส่วนตัวผมตั้งข้อสงสัยว่า ข่าวนักร้องสาวไปกินข้าวกับนักการเมือง อาจเป็นแผนการตลาดของค่ายเพลงในการเรียกกระแสความนิยมและการได้ตกเป็นข่าว สำหรับมิวสิควีดีโอตัวใหม่ที่เธอกำลังโปรโมทอยู่ ซึ่งจะมีผลประโยชน์ในทางธุรกิจมากกว่าถ้าสามารถแย่งชิงพื้นที่ข่าวฉาวๆ ได้

ว่าที่จริงแล้ว ข่าวลือเรื่องนักร้องสาวไปทานข้าวกับนักการเมือง หรือเรื่องการซื้อบ้านหลังใหญ่นั้น เป็นข่าวมานานแล้ว แต่ทำไมถึงมาตกเป็นข่าวในช่วงนี้?
จึงเดาเอาว่า อาจเป็นองค์กรสื่อต้นสังกัดเอง ที่ต้องการปั่นข่าวนี้ เพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง?

ที่ว่าเธอไปทานข้าวกับนักการเมือง 2 ครั้ง รับค่าตัวรวม 1 ล้านบาท และกระเป๋าแบรนด์เนม และบอกว่านักการเมืองคนนี้เป็นคนดี! สามารถสร้างกระแสข่าวในเฟซบุ๊ค หน้าข่าวสื่อโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ได้มากมาย จนกลายเป็นกลบข่าวสารอื่นๆ ไปพอสมควรในระยะหนึ่ง

โดยมีประเด็นลูกหลง คือ ทัศนคติและจุดยืนทางการเมืองของนักร้องสาวผู้นี้ ที่หลงเหลือให้เราเอามาปู้ยี่ปู้ยำเป็นของแกล้มเล่น

มองในมุมกระแสความเห็นที่มีต่อนักร้องสาว ผู้นี้ ชัดเจนว่ามี 2 ทาง ทางหนึ่งคือความไม่พฤติกรรมความเหมาะสม และอีกทาง คือเรื่องปกติและเฉยๆ เพราะทำหน้าที่ของนักร้องที่ต้องมอบความบันเทิงใจให้กับลูกค้า/ผู้ชม ส่วนรายละเอียดประเด็นมากกว่านั้น คือ คำถามข้อสงสัยที่ลงไปที่ประเด็นทางเพศและความสัมพันธ์อาจเกินเลย ฤาการทำหน้าที่ที่มากกว่าศิลปินสร้างความบันเทิงใจให้กับผู้รับฟัง

อ่านคำสัมภาษณ์กันอีกครั้งดูอีกครั้ง,

"ท่านก็เป็นคนดีในระดับหนึ่ง ท่านไม่รู้จักเรา เพราะท่านอยู่ต่างประเทศตลอด พอได้เจอ ฟังเพลงก็เลยรู้จักว่าเรา คือ นักร้อง และได้ร้องเพลงเก่าๆ ให้ท่านฟัง ความจริงแล้วดิฉันบอกได้เลยว่าน่าเห็นใจ ท่านอยากฟังเพลงไทยมาก ท่านอยากกลับบ้านเกิด ดิฉันก็มีหน้าที่ส่วนหนึ่งได้ทำให้ท่านรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเกิดได้ฟังเพลงไทย"

"ถามว่าจะมีทริปพิเศษอีกไหม คือ ดิฉันไม่ได้ซีเรียสเรื่องค่าจ้าง แค่ได้ไปเที่ยวก็มีเป็นกำไรแล้ว นอกเหนือจากนั้น ก็อยู่ที่วาระของผู้ใหญ่ทางท่านท. ก็สนิทกับทางค่ายกับเฮียอยู่แล้ว ได้เรียกใช้อาร์เอสมาตลอด"

(คำให้สัมภาษณ์นักร้องสาว, ผู้จัดการรายวัน, 19 กันยายน 2556)

คำสัมภาษณ์นักร้องสาวคนนี้ สะท้อนนัยยะอะไรหลายอย่าง ที่ผมถอดรหัสได้ ก็คือ ความรู้สึกภาคภูมิใจ ยินดี เป็นสุขที่ได้ไปทำหน้าที่ร้องเพลงขับกล่อมนักการเมืองใหญ่ท่านนี้ ด้วยลีลาภาษาและการเป็นนักร้องของเธอ กับความรู้สึกปีติยินดีที่ได้รับค่าตัวในการทานข้าว และ ความเชื่อมั่นว่านักการเมืองผู้นี้เป็นคนดี

ความคิดความอ่านของเธอ สะท้อนว่า "คนดีของเธอ" ก็คือ คนที่จ่ายค่าตัวการทานข้าวได้ด้วยเงิน และอภิสิทธิ์ต่างๆ ทางสังคม การเข้าสู่การพึ่งพิงเชิงอำนาจของนักการเมือง และสายสัมพันธ์ทางเครือข่ายธุรกิจ การเมืองในวงการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ความคิดเห็นเธอ อาจชี้นำหลายๆ คนที่ชื่นชอบเธอ ด้วยความไม่รู้และหลงเชื่อ,นักการเมืองอาจได้ประโยชน์เมื่อคนดัง ศิลปิน นักร้องที่เป็นที่นิยม ออกมาพูดชื่นชอบและการันตีว่าเขาเป็นคนดีจริงๆ
หลายคนอาจเชื่อ, หลายคนอาจไม่เชื่อ!


ในทางหนึ่ง ผมอยากชื่นชมเธอในฐานะนักร้องหญิงที่ทำหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดีในการมอบความบันเทิงหรรษาแก่มิตรรักแฟนเพลงอย่างรู้หน้าที่ และรู้มูลค่าของตนเองจากค่าตัวสูงลิ่วของการทานข้าวและร้องเพลงขับกล่อม, เรื่องนี้ไม่แปลกอะไร และมีมาแต่ไหนแต่ไร ที่นักการเมืองผู้มีอิทธิพล บารมี จะเรียกนักร้องสาวไปบอบความบันเทิงให้เป็นการส่วนตัว

แต่ในอีกทางหนึ่ง ผมก็สงสัยกลายๆ ว่าทัศนคติ คำให้สัมภาษณ์เธอนี้ มีนัยยะชี้นำและบ่งบอกความหมายจุดยืน ความคิดความเชื่อของเธอด้วย ซึ่งเธอเชื่อมั่นในความดี

ผมก็ไม่เชื่อสักเท่าไร ตามที่เธอพูด และมิอยากจะเดาว่าเธอมีพื้นฐานข้อมูลทางการเมืองจริงเท็จ/มากน้อยเพียงใดในการตัดสินคนๆ หนึ่ง (นักการเมือง) ว่าดีหรือเลว

และมันก็น่าสนใจเมื่อเธอแสดงความคิดทางการเมือง ที่ออกไปจากเรื่อง เสื้อผ้า หน้า ผม นม เอวและอวัยวะเพศ ที่ผสมกับท่าเด้งหน้าเด้งนมจนเป็นกระแสฮือฮา, ซึ่งนั่นทั้งหมดก็ทำให้ตัวเองเป็นวัตถุทางเพศแบบที่เธอภูมิใจ

เธอจะพูดถึงนักการเมืองผู้นี้เป็นอื่นไปได้อย่างไร? ก็เพราะเธอได้รับ “ค่าทานข้าว” นับล้าน และนั่นนำมาสู่ความอวดอ้างภูมิใจในอภิสิทธิ์และการเรียกใช้บริการเสียอีก มันก็ประมาณว่า เราไม่มีทางด่าลูกค้าเราแน่ แม้ว่าลูกค้าเราจะโกหก โสมมม ลวงโลก แต่ก็ลูกค้าคือพระเจ้านั่นเอง

ว่าที่จริง มันยิ่งยากกว่าด้วยซ้ำที่จะมองไปว่า "เหตุใด และทำไม" เธอจึงรู้สึกเข้าใจว่านักการเมืองนั้นเป็นคนดี ด้วยการอธิบายว่า "เป็นคนดี เพราะท่านเลี้ยงข้าว ค่าตัวครั้งละ 5 แสนบาท ไปสองครั้ง และ ได้ส่วนลดจากการซื้อบ้านหลังหนึ่ง"

ผมอาจเข้าใจผิด ที่จะตั้งคำถามนี้, “ใช่ไหม ว่าเธอตัดสินความดีความเลวของคนมาจากสิ่งที่เธอได้รับ, การได้ไปทานข้าว ได้ไปเที่ยว ได้ไปร้องเพลง หรือได้ไปรับใช้นักการเมืองผู้หนึ่ง โดยได้รับอามิสสินจ้างตามสมควร?” กับตามกำลังซื้อย่อมแตกต่างกัน

และไม่แน่ใจว่า เธอเข้าใจปัญหา รากเหง้าทางการเมืองไทยในมุมมอง ทัศนคติเช่นใด?
ผมไม่ในใจด้วยซ้ำว่าถ้าเราเอาคำถามเด็กเดนเจอเรชั่นนี้ไปถามเธอ เรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย เธอจะตอบว่าอย่างไร และบอกตามตรงว่า ผมก็อยากจะฟังไม่น้อยว่าเธอจะพูดว่าอย่างไร?

บางทีเราน่าจะไปถามเธอว่า คิดอย่างไรกับการนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญ หรือ แก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองแลสังคมในประเทศ?
เป็นสิ่งที่นักข่าวบันเทิง และการเมืองน่าจะลองทำดู

ด้วยไม่แน่ใจว่าเราควรรู้สึกต่อความคิดเห็นของนักร้องสาวผู้นี้อย่างไรดี? ยิ่งชาวเน็ตมุ่งเพ่งให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเธอ นั่นยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่า สังคมไทยกำลังให้ความสำคัญกับเธอมากเกินไป แต่ก็ด้วยเพราะ นักร้องสาวผู้นี้ คือบุคคลสาธารณะ (บันเทิง) กินข้าวกับอดีตนายกรัฐมนตรี (การเมือง) จึงกลายเป็นเหมือนการใช้ประโยชน์ทางการเมืองและการบันเทิงมากกว่า

มองอย่างหยาบๆ, ผมจึงสงสัยว่าเรื่องนี้เป็นแผนการตลาด ผสมๆ กับเรื่องการเมืองมากกว่า และรอให้ข่าวเรื่องนี้จุดพลุขึ้นมาตรงที่ตรงเวลาเพื่อหวังผลทางการบันเทิงในช่วงที่เธอกำลังออกมิวสิควิดีโอตัวใหม่ “โป๊ (ใจมันเพรียว)” ซึ่งกำลังโหมกระแสการตลาดเพื่อมุ่งสร้างความนิยมอีกครั้งโดยค่ายเพลง

มองในมุมหนึ่ง ก็เห็นว่า ศิลปินนักร้องบ้านเราใช้มุมมอง ระดับสติปัญญาเท่าใดในการคิด ใคร่ครวญปัญหาบ้านเมือง ที่มากไปกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ด้วย "ค่าตัวของการทานข้าวกับนักการเมือง" มันคือภาพสะท้อนความไร้เดียงสาทางการเมือง คือความไม่ประสีประสาต่อความดี ความเลว จริยธรรมขั้นพื้นฐานของการมองว่าใครเป็นคนดี ความคิดของเธอสะท้อนว่าเธอไม่สามารถคิดอะไรได้มากกว่าสิ่งที่เป็นจุดขายของเธอ
มองไปมากกว่านั้น เรา/ผม/คุณ ต่างก็อาจตกเป็นหลุมพรางข่าวสาร ยิ่งสื่อโหมกระพือข่าว ยิ่งชาวเน็ตถาโถมโจมตี และมุ่งไปที่ประเด็นจริยธรรม ความเหมาะสม หรือค่านิยม ทัศนคติความเข้าใจทางการเมืองของเธอ

“เธอ หรือ เขา” อาจไม่สนใจจริยธรรมถูกผิด และเราก็ไม่รู้, พวกเขาอาจสนเพียงแค่ว่า พวกคุณ พวกเรา พวกผม ต้องรับฟังข่าวสารของเธอ/เขา และถูกหลอกใช้ หลอกเชื่อ หลอกให้ชมกันไปตามสภาพ จนหลงลืมวาระอื่นๆ ในสังคมที่กำลังรอปัญหาให้ใส่ใจจริงๆ

สิ่งที่นักร้องสาวนึกคิดกระทำ มันสะท้อนว่า “ธิปไตย” ทางการเมือง หรือ ความรู้สึก นึกคิด เข้าใจต่อการเมือง ในสังคมที่เธออาศัยอยู่นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครได้ผลประโยชน์ และถ้าเราพร้อมที่จะได้ประโยชน์ เราก็พร้อมที่จะบอกได้ว่าใครถูก ใครผิด ใครดี ใครเลว

“ข่าวสารธิปไตย” แบบนี้ คือ การช่วงชิงกระแสข่าวบันเทิงเพื่อใช้สื่อเป็นตัวล่อ
เอาผลประโยชน์ส่วนตัว ทางธุรกิจเป็นที่ตั้ง?
เอากระแสความสนใจของสังคมมาเป็นกับดักล่อ?
เอาความลุ่มหลงมัวเมา กระหายใคร่รู้ของประชาชน
มากลบเกลื่อนความตื้นลึกหนาบางของข่าวสารที่เราควรรู้จริงๆ?

น่ากลัวที่ “ข่าวสารใบเตยธิปไตย” แบบนี้ตัดสินกันด้วยกระแส ความหวือหวา ฮาบฉวย
ใช่หรือไม่ว่า เรากำลังถูกอำนาจเงิน และผลประโยชน์จนไม่รู้ว่าอะไรคือถูกผิด ดีเลว?
คุณอาจมีคำถามย้อนแย้งแบบเท่ห์ๆ ว่า อะไรคือความถูกความผิด ความดีความเลว

เช่นนั้นผมก็เถียงไม่ออก!

…….
ที่ผมกลัวคือ “สังคมข่าวสารธิปไตย” แบบนี้ หากมันถูกนำมาให้ในทางการตลาด การบันเทิง เพื่อเพื่อหวังกระแสเรตติ้งและความวูบวาบหวือหวาจากผู้คน โดยอาศัยความไร้เดียงสาของเธอ เขา และเราทุกคน

สังคมแบบใบเตยธิปไตย คือ สังคมที่เน้นข่าวสารหวือหวา ปลุกเร้าอารมณ์มวลชนด้วยเรื่องไร้สาระ วัดคุณค่าคนที่ใครให้เงิน และสร้างศรัทธาที่มาจากผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม และแสดงออกถึงความถูมิใจในสิ่งที่เป็นวิบัติศีลธรรม
สังคมที่หมกมุ่น ถูกยุปั่นด้วยใครบางคน ด้วยข่าวดารากินข้าวนักการเมือง และสามารถมากลบเกลื่อนข่าวสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญมากกว่าไปใด้ ให้หลงลืมข่าวสารความเดือดร้อนของประชาชน ของส่วนรวม ของสังคม สังคมนั้นคงเป็นสังคมที่ไร้สาระอย่างถึงที่สุด

ผมมีแต่คำถามว่า “สังคมแบบนี้ / ธิปไตยแบบนี้” มันคืออะไร?

คำนูน บอกฝ่ายค้านชกไม่สุดหมัดซัก พรบ.กู้๒.๒ล้านล้านบาทวันแรก

จืดไปนิดนะ ถ้าออกรูปนี้ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านวาระ 2-3 ฉลุยแน่ภายในวันพรุ่งนี้ ฟังผิว ๆ วาทะเชือดเฉือนอาจจะยังคมคายและมีชวนทะเลาะบ้างตามมาตรฐานของพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งอาจจะดุเดือดขึ้นเมื่อลงในรายละเอียดของแต่ละโครงการตามเอกสารประกอบ แต่ลงลึกไปเนื้อ ๆ แล้วแม้จะมีผู้สงวนคำแปรญัตติถึง 143 คน แต่แนวทางต่อสู้ของพรรคฝ่ายค้านครั้งนี้กลับดูแผ่วและขาดพลังเท่าที่ควร

เหมือน 'ชกไม่สุดหมัด' อย่างไรอย่างนั้น !!

คือถ้าจะสู้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตัวเลขเงินกู้ย่อมไม่สำคัญ กู้เท่าไรก็ขัด จะกู้ 2 ล้านล้านบาทหรือกู้บาทเดียวก็ขัด ! 

พอขุนพลเศรษฐกิจของพรรคไปแปรญัตติลดวงเงินกู้จาก 2 ล้านล้านบาทลงมาเหลือ 4 แสนล้านบาทบ้าง 5 แสนล้านบาทบ้าง ก็เท่ากับไป 'กัดลิ้นตัวเอง' ให้เขาย้อนได้ว่าถ้าอย่างนั้นก็แปลว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญล่ะซี

น่าจะเป็นเพราะพรรคฝ่ายค้านไปติด 'กับดักไทยเข้มแข็ง' ที่ตัวเองวางไว้เอง เพราะเมื่อปี 2552 คราวพ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งกู้เงินนอกงบประมาณ 4 แสนล้านบาทก็ทำแบบนี้แหละ คืออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและใช้เงินกู้นั้นโดยไม่ปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ เหตุผลของกฤษฎีกาคณะที่ 12 'เงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน' เมื่อธันวาคม 2552 ออกมาก็เพื่อช่วยให้ไทยเข้มแข็งเดินหน้าไปได้ โดยรัฐบาลพรรคฝ่ายค้านยุคนั้นก็ไม่ได้พยายามทำให้ข้อสงสัยไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

นี่กระมังที่ทำให้ชกได้ไม่สุดหมัด ?

คำแปรญัตติเดียวที่ดีที่สุดและตรงเป้าที่สุดคือคำแปรญัตติของคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่แปรแก้ไขคำว่า 'กู้เงิน' และ/หรือ 'เงินกู้' ตั้งแต่ชื่อกฎหมายไปจนในทุกมาตราเป็น 'เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย'อันเป็นคำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคห้า (3) เพราะด้านหนึ่งเป็นการปฏิเสธการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ไม่ปฏิบัติตามกรอบวินัยการเงินการคลังโดยสิ้นเชิง อีกด้านหนึ่งยังได้สร้างนวัตกรรมที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าโครงการทั้งหมดจะเดินหน้าต่อเนื่องไปได้ในระบบงบประมาณปรกติ แต่น่าเสียดายที่เป็นคำแปรญัตติที่ถูกวินิจฉัยว่าขัดหลักการ พอแพ้ในยกแรก ท่านก็ไม่ได้อภิปรายอีกในยกต่อไปมาตราต่อไป

และน่าเสียดายที่สุดที่ท่านไม่ได้อรรถาธิบายนัยยะสำคัญที่สุดของการนำคำในรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคห้า (3) 'เงินที่ถูกกำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย' มาใส่แทนที่ไว้ทุกตำแหน่งแทนคำว่ากู้เงินหรือเงินกู้ !

ถ้าขุนพลเศรษฐกิจของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรค ใช้คำแปรญัตติในแนวทางของคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์เป็นหลัก น่าจะมีพลังเพิ่มขึ้นในสารัตถะมากกว่าที่เห็นที่เป็นอยู่

เอนก ชำแหละมาร์ค! ตัวตนภายใต้ หน้ากากอภิสิทธิ์…ภาวะการนำไม่สร้างสรรค์-ปั้นหน้าหล่อด้วยปาก !!


เอนก ชำแหละมาร์ค! ตัวตนภายใต้ หน้ากากอภิสิทธิ์…ภาวะการนำไม่สร้างสรรค์-ปั้นหน้าหล่อด้วยปาก !!
การกระทำของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าวิทยาลัย “อีตัน” และมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ในดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองผู้ดี” ประเทศอังกฤษ 
ด้วยการ “ผรุสวาท” คำดูหมิ่น เหยียดหยาม “สตรีเพศ” …บนเวทีปราศรัยของ “พรรคประชาธิปัตย์” หลายครั้งหลายครา 
จริงอยู่ที่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ยืนยันว่า “คำพูด” ดังกล่าวไม่ได้หมายถึงใคร ???
แต่จะ “สมควรหรือไม่” ที่ “บุคคล” ที่ได้ชื่อว่าเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศไทย” จะแสดงพฤติกรรม สนุกสนานกับการใช้ “ถ้อยคำ” อันเป็นการ เหยียบย่ำ“เพศหญิง” !!
ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงของ “คนผู้มีสามัญสำนึก” อยู่บ้าง รับรู้เป็นอย่างดีว่าควรที่จะ “ลด-ละ” การดูถูกเหยียดหยามเพศแม่!!! 
แต่เหนืออื่นใด … หาก “ใคร” เข้าใจถึง “ความเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในส่วนลึก จะไม่แปลกใจเลยว่า เพราะอะไร “ไอ้หนุ่มมาดเนี้ยบ” ที่พลพรรคโอ้อวดกันว่าเป็น “ปัญญาชน” จาก “มหาวิทยาลัย” ดัง “เมืองผู้ดี” คนนี้ กลับ “นิยม-ชมชอบ” ที่จะใช้ “คำพูด” อันแสดงให้เห็นถึงการ “ดูถูก-เหยียบหยาม” และ “ทำลายล้าง” อย่างไม่เคอะเขิน …
“เอนก เหล่าธรรมทัศน์” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” คนสำคัญ และอดีตหัวหน้าพรรคมหาชน ได้วิเคราะห์ตัวตน “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เอาไว้ในหนังสือ “ย้อนชีวิต พิศการเมือง เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เรื่อง “สัญชาตญาณของอภิสิทธิ์” หน้า 88-92 เอาไว้อย่างชัดเจนว่า “…ผมประเมินว่าภาวะการนำของคุณอภิสิทธิ์ เป็นแบบท้วงติงและตอบโต้ (reactive) มากกว่าริเริ่มนำเสนออะไรใหม่ๆ (proactive) เพราโดยพื้นฐานแล้ว คุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนชอบเสนออะไรที่ท้าทายและแปลกใหม่ทางความคิด แต่ถ้ามีคนอื่นนำเสนอขึ้นมาก่อน คุณอภิสิทธิ์จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเป็นระบบ คุณอภิสิทธิ์จึงมีลักษณะของผู้นำแบบวิพากษ์วิจารณ์ (critical) มากกว่าสร้างสรรค์ (creative) บุคลิกของคุณอภิสิทธิ์ นี้จะเรียกว่าเป็นบุคลิกของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงพอได้…”
“ข้อวิเคราะห์” ของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”  ถนัดที่จะ “วิพากษ์วิจารณ์” มากกว่าการ “นำเสนอสิ่งใหม่”
ชัดเจนว่า “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จะนำเสนอในสิ่งที่ “สร้างสรรค์” แต่มีลักษณะเด่น ในด้านของการ “ทำลายล้าง” ฝ่ายตรงข้าม เสียมากกว่า ที่จะทำให้ “ฝ่ายตัวเอง” ก้าวหน้าหรรือพัฒนา เพื่อต่อสู้ในวิถีทางที่สร้างสรรค์
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร หากในช่วงที่ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นรับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จะไม่ได้เห็น “นโยบายใหม่” ที่น่าสนใจหรือประทับใจประชาชน
และดูเหมือน “นโยบายใหม่ที่สุด” ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมไทย ในช่วง”รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กลับกลายเป็น “นโยบายไข่ชั่งกิโลฯ” 
ในทางกลับกัน ก็พบว่า “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” ที่นำโดย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั้นมีจุดเด่นในการ “ไล่ล่า-ทำลายล้าง” ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างในทางการเมือง
mak